ปวีร์ (ปั๋ม) — อยากจะให้ช่วยแนะนำตัวเองว่าเป็นใครแล้วทำอะไรบ้างครับ?
นวลขนิษฐ์ (เบล) — ชื่อเบลนะคะ นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ลักษณะงานจะพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมในแง่มุมที่เราสนใจ โดยเอาเรื่องราวมาเล่าในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก หรืออินสตอลเลชั่น บางทีก็ทำสารคดี หรือส่วนที่เชื่อมต่อกับการทำข่าว อย่างปี 2560 เราทำแพลตฟอร์มชื่อ ACED กับเพื่อนคนดัตช์ นอร์ตเจอร์ ฟาน เอคเลน (Noortje Van Eekelen) ที่พาดีไซเนอร์กับนักข่าวมาทำงานร่วมกัน เพื่อดูว่าการทำงานระหว่างสองสายอาชีพจะเป็นยังไง ทำเต็มเวลาอยู่ประมาณสองปี ตอนนี้ก็ถอยออกมาเป็นคอลลาบอเรเตอร์ ปัจจุบันทำแพลตฟอร์มของตัวเองชื่อ Non Native Native (NNN) เป็นหลัก ซึ่งเอางานที่เคยทำมารวมกัน โดยมีงานหลักคือพับบลิกโปรแกรมที่เกี่ยวกับดีไซเนอร์เอเชียในยุโรป
ปั๋ม — แบคกราวด์ของพี่เบลเป็นดีไซเนอร์ เลยสงสัยว่าทำไมถึงเลือกการทำข่าวเข้ามาใช้ในการทำงาน เพราะเป็นหัวข้อที่เราจะพูดในวันนี้ด้วย
เบล — สิ่งที่เราเห็นในสื่อ เรื่องสังคม การเมือง ประเด็นต่างๆ ข่าวเป็นเหมือนแหล่งข้อมูลให้เราเอามาทำงาน นอร์ตเจอร์ก็มีความสนใจคล้ายๆ กัน งานเราพูดเรื่องการเมืองไทย งานเขาพูดเรื่องเศรษฐกิจกับการเมืองซีกโลกตะวันตก อย่างโปรเจกต์นึงเขารวบรวมรูปเสื้อของ อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกของเยอรมนีจากสื่อต่างๆ มาทำเป็นแพนโทน จากการสังเกตว่าแมร์เคิลใส่เสื้อหลายสีมากแต่เป็นแพทเทิร์นเดียวกันตลอด เหมือนเป็นมุกเล็กๆ แล้วก็มีงานที่เขาสังเกตจากสื่อว่าภรรยาของอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส คาร์ล่า บรูนี่ (Carla Bruni) ชอบใช้กระเป๋าแพงๆ เขาก็รวบรวมภาพกระเป๋าเอามาเรียงเป็นคอลเลกชั่น ซึ่งโปรเจกต์นี้ก็ถูกเอาไปลงเป็นข่าว มันเป็นมุมมองที่อยู่ในข่าวอยู่แล้ว แต่เอามาดีไซน์ให้เห็นประเด็นอะไรบางอย่าง นอร์ตเจอร์ก็หันเหไปทำงานในสำนักข่าวอยู่ประมาณปีกว่าจนรู้สึกไม่แฮปปี้เลยออกมา เลยคุยกันว่าเราลองมาทำอะไรด้วยกันมั้ย
รูป 1 — Pantone Merkel โดย นอร์ตเจอร์ ฟาน เอคเลน © Noortje van Eekelen
รูป 2 — The Bags of Carla Bruni โดย นอร์ตเจอร์ ฟาน เอคเลน © Noortje van Eekelen
เราจบจากแซนด์เบิร์ก (Sandberg Instituut) ที่อัมสเตอร์ดัม ไปเรียนตั้งแต่ปี 2554 สาเหตุที่ไปคือเราได้เจอกับ แอนเนอลิส เดอ เวท (Annelys de Vet) ผู้อำนวยการหลักสูตรของแซนด์เบิร์ก ตอนเรียนอยู่ที่ลอนดอน ได้เห็นงานที่เขาทำ ซึ่งก็เป็นงานดีไซน์แหละ แต่พูดเรื่องการเมือง เขาทำโปรเจกต์ Subjective Atlas ซึ่ง atlas หมายถึงแผนที่ประเทศ แต่ว่าเขาทำในลักษณะที่ซัปเจคทีฟ คือเขาเข้าไปในประเทศที่มีข้อขัดแย้งเรื่องอัตลักษณ์อย่างปาเลสไตน์ หรือว่าแม้แต่ในยุโรปเอง ทำเวิร์กชอปกับคนในพื้นที่ แล้วสร้างแผนที่อัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ได้ใช้โทนสีธงชาติ หรือสัญลักษณ์ประจำชาติ เพื่อที่จะบอกว่าทุกคนมีวิธีคิดที่ต่างกัน เรารู้สึกว่างานแนวนี้น่าประทับใจ อยากศึกษาให้มากขึ้น ก็เลยไปเรียนที่แซนด์เบิร์ก แล้วพบว่ามันค่อนข้างปกติมากในวงการดีไซน์ที่นั่น ที่ดีไซเนอร์หรือศิลปินจะทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม อย่างในไทยถ้าพูดว่าทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์จะมีมุมมองอีกแบบ อย่างการทำเว็บไซต์ โลโก้ ซึ่งเหล่านั้นเราก็ทำ แต่เราก็สนใจเส้นทางนี้ด้วย
รูป 3 — Netherlands by the Dutch (Nederland door Nederlanders) โดย อินเน ฟาน เดอ แอลเซน จากหนังสือ Subjective atlas of the Netherlands © Annelys de Vet http://subjectiveatlas.info
รูป 4 — Give us today our daily bread (Geef ons heden ons dagelijks brood) โดย จีนีน เอสสิก จากหนังสือ Subjective atlas of the Netherlands © Annelys de Vet http://subjectiveatlas.info
รูป 5 — News That Will Change the World เป็นเวิร์กชอปที่เบลจัดให้กับโปรแกรมที่ชื่อ Porto Design Biennale คิวเรทโดย ฟรานซิสโก ลาแรนโจ (Francisco Laranjo) จากนิตยสาร Mode of Criticisism โดยที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ค้นคว้าวิธีการเล่าเรื่องของการนำเสนอ ‘ความจริง’ ทั้งในบริบทของงานข่าวและอื่นๆ เวิร์กชอปใช้เวลาสามวันเพื่อพูดคุยกันเรื่องบทบาทของนักออกแบบ การเสพข่าว การนำเสนอข่าว เช่นคำถามที่ว่าเส้นแบ่งของซัปเจคทีฟ และออปเจคทีฟ ฟิกชั่น และนอนฟิกชั่น อยู่ตรงไหน มีการเข้าไปเก็บข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ที่ห้องสมุดประชาชนของเมืองปอร์โต้ (Porto Municipal Library) เพื่อหาประเด็นที่สนใจและทำโปรเจกต์ เช่น การเลือกประเด็นมาเล่าด้วยรูปแบบ และจุดยืนของแต่ละคน หรือ การสร้างการเล่าเรื่องในทิศทางที่เรากำหนดโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริง © ACED
ปั๋ม — การที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ACED และมีโอกาสร่วมงานกับสำนักข่าวมาก่อน พี่เบลมีมุมมองต่อวงการข่าวหรือว่าสำนักข่าวยังไงบ้าง?
เบล — การทำข่าวที่เนเธอร์แลนด์ค่อนข้างจริงจัง มันเป็นประเทศที่ผู้คนจริงจัง ชอบวิเคราะห์ ชอบการถก การสนทนา สืบเสาะเบื้องลึก ข่าวประเภท sensational news ที่มันบันเทิงอย่างข่าวชาวบ้านจะไม่ได้มีพื้นที่เท่าไหร่ คือมีแต่น้อยมากๆ อย่างเมืองไทยก็จะสุดๆ ไปเลย (หัวเราะ) ส่วนวงการดีไซน์ที่ยุโรปมีรากฐานที่ค่อนข้างแน่นอยู่แล้ว อย่างสิ่งพิมพ์กางมาแบบสวยงาม ถ้าเทียบกับสื่อไทยใหญ่ๆ ที่เราเติบโตมาด้วย หน้าข่าวมันไม่ได้กังวลเรื่องความสวยงามมาก แต่จะมีความกังวลเรื่องว่ามันดูน่าตื่นเต้นมั้ย หรือมันทำให้คนสะเทือนใจมั้ย มันเล่นกับตรงนั้นมากกว่า ที่นู่นจะละเอียดอ่อน เขาระวังเรื่องการใช้ภาพ ไม่ให้มันกระทบกับคนที่เป็นประเด็นในข่าว อีกอย่างคือการเปิดกว้าง ตอนทำ ACED เรายังใหม่ไม่ได้มีชื่อเสียงในวงการข่าว แต่ก็ลองติดต่อเข้าไปหาอาร์ตไดเรกเตอร์ของสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่นู่น แล้วเขาตอบกลับมาว่า น่าสนใจ อยากทำอะไร ก็ไปนั่งดื่มกาแฟคุยกัน เขาก็ยินดีที่จะเปิดพื้นที่ให้เราลอง มีประมาณสี่ห้าสำนักข่าวที่พยายามเข้าไปร่วมงานกับเขา ก็มีติดๆ ขัดๆ บ้าง แต่เรานับถือในความที่เขารู้สึกว่าอยากจะลองอะไรใหม่ๆ รู้สึกว่าการทำงานข่าวต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นกันทั่วโลกที่การวางโพซิชั่นของสำนักข่าวไม่ได้แข็งแรงเท่าเมื่อก่อน ด้วยความที่มันมีสื่อทางอื่นๆ ที่รับข่าวได้มากกว่าจากหนังสือพิมพ์อย่างเดียว เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพยายามหาวิธีในการเชื่อมโยงกับคน หรือทำให้การเป็นสำนักข่าวมีคุณค่ามากกว่าแค่บอกว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้น
ปั๋ม — ผมเองเคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์กับสำนักข่าวแบบดั้งเดิมมาก่อน เห็นด้วยว่าตอนนี้มันเป็น เอ็กซิสเทนเชียลไครสิส (existential crisis) ของสำนักข่าว ว่าด้วยโลกที่มันเปลี่ยน มีทั้งสื่อดิจิทัล และโซเชียลมีเดีย ผมรู้สึกว่านอกจากเรื่องรูปแบบทางธุรกิจแล้ว เรื่องคุณค่าหลักของอุตสาหกรรมข่าวก็โดนตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน ในอนาคตที่สำนักข่าวอาจจะหายไป แต่เจอร์นัลลิสซึมก็อาจจะไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่คงเปลี่ยนไปมาก คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่นี้ได้ เพราะทุกคนสามารถถ่ายภาพ สร้างคอนเทนต์ อัพโหลดบนอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เลยรู้สึกว่าเราก็ต้องกลับมาทบทวนคำว่าเจอร์นัลลิสซึม เหมือนกันว่าคืออะไร พี่เบลว่ามองว่าเจอร์นัลลิสซึม จริงๆ มันคืออะไรกันแน่?
เบล — มันเป็นคำถามที่ทำให้เรากับนอร์ตเจอร์ทำ ACED ตั้งแต่แรก ว่าสรุปแล้วเจอร์นัลลิสซึม คืออะไรในยุคนี้ คุณค่าของมันคืออะไร ถ้าสมมติว่าคุณสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านใครสักคนที่เดินผ่านไฟไหม้แล้วถ่ายวิดีโอมา คุณรับรู้ถึงมันได้เร็วกว่าสิ่งที่อยู่ในข่าวอีก หรือการสืบสวนเบื้องลึกแนวสื่อพลเมือง (citizen journalist) ก็มีคนเปิดเพจที่รู้เรื่องหรือกล้าเจาะประเด็นมากกว่านักข่าว ซึ่งอันนี้เรายังไม่มีคำตอบนะ แต่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาร่วมกัน เราอาจจะต้องเปิดกว้างมากขึ้นมั้ย ว่าการทำงานสื่อสารมวลชน มันอาจจะไม่สามารถเป็นทิศทางแบบเก่าได้แล้ว คุณจะต้องโอบอุ้มวิธีการใหม่ๆ ด้วย ซึ่งในงานออกแบบและศิลปะก็เป็นด้านหนึ่ง
เราคิดถึงการแสดงของ จอห์น โอลิเวอร์ (John Oliver จากรายการ Last Week Tonight with John Oliver) เขาพูดถึงสังคมที่ลึกกว่าสำนักข่าวปกติ แต่พูดให้มันตลก อย่างอันนี้ก็เป็นวิธีการนึงมั้ย คุณอาจจะบอกว่ามันไม่ใช่การทำข่าว มันคือการเล่นตลก ซึ่งตอนทำ ACED เราสนใจประเด็นแบบนี้ ว่าอะไรถูกนับว่าเป็นข่าว อย่างการทำเป็น VR นับมั้ย แล้วงานอินเทอร์แอคทีฟล่ะ แล้วถ้าคุณทำสารคดีที่มันเล่าเรื่องจริงแต่ปนด้วยเรื่องแต่ง จะนับว่ามันเป็นวัตถุดิบของข่าวได้มั้ย ส่วนสำคัญจะน่าจะอยู่ที่ตัวคนเลือกเสพอะไรในพื้นที่นั้นๆ อะไรคือความจริงสำหรับเขา สำหรับเราข่าวหรือการทำข่าว พื้นฐานมันคือการรายงานโลกแห่งความจริง ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าโลกแห่งความจริงมันไม่ได้มีเวอร์ชันเดียว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละเวอร์ชันมีจุดมุ่งหมายด้านไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำงานสื่อสารมวลชนในยุคเก่าอาจจะมีจุดยืนที่ต้องทำทุกอย่างให้มีความเป็นออปเจคทีฟ ที่สุด ให้คนเชื่อว่าเป็นการมองจากมุมกลางที่ผ่านการกรองทุกอย่างมาแล้ว เราต้องตั้งคำถามว่าสิ่งนี้มันยังเป็นไปได้อยู่มั้ย การทำข่าวยังต้องยืนหยัดเพื่อสิ่งนี้มั้ย ไม่อย่างนั้นข่าวก็จะเป็นคลิกเบตไปหมดรึเปล่า
ปั๋ม — ผมรู้สึกว่าคุณค่าหลักของการทำงานสื่อสารมวลชนคือการให้ข้อมูลที่ช่วยให้คนตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น เคยดูซีรีส์ชื่อ Newsroom เขาพูดว่าสิ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยคือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งควรได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน ซึ่งข่าวหรือสำนักข่าวมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลพอที่คนจะตัดสินใจไปเลือกตั้ง ซึ่งผมรู้สึกว่าจริงๆ มันก็เกี่ยวกับทุกเรื่องในชีวิต สำนักข่าวอาจเคยเป็นเหมือนสถาบันมาก่อน แต่ว่าถึงวันนึงมันอาจจะไม่ใช่สถาบันแล้ว เจอร์นัลลิสซึมจึงเหมือนเป็นวิธีการของใครก็ตามที่สามารถส่งข้อมูลออกไปได้ คำถามคงไม่ได้อยู่ที่ว่าสำนักข่าวจะมีพัฒนาการยังไง แต่อยู่ที่คนรับสารจะเปลี่ยนแปลงเร็วพอที่จะเลือกรับข้อมูลที่ดีได้รึเปล่า
เบล — เราไม่ได้ทำงานในวงการข่าวที่ไทย เลยไม่สามารถตัดสินสิ่งต่างๆ ได้ แต่เท่าที่เห็นในโทรทัศน์ แม้จะเป็นสื่อกระแสหลักที่ควรจะต้องมีความน่าเชื่อถือสูงมากๆ แต่ทุกอย่างกลายเป็น เซนเซนเซชันแนล นิวส์ (sensational news) ไปหมดเลย มันอาจจะเป็นทางรอดเพราะว่าต้องแข่งกันสร้างยอดวิวเพื่อให้มีสปอนเซอร์เข้า ตรงนี้ค่อนข้างเป็นกับดักที่อันตราย แต่เอาจริงๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าทางออกมันคืออะไร อาจจะต้องแบ่งสัดส่วน มีส่วนที่ทำงานเซนเซชันแนล และอีกส่วนที่ใช้เวลานานๆ แล้วทำงานแบบสืบสวนสอบสวน ข่าวที่มันจะสร้างความต่างให้กับสังคมได้
ปั๋ม — มันเป็นธรรมชาติของคนที่อยากจะเสพอะไรที่เซนเซชันแนล เราไปปรับอะไรมากไม่ได้ แต่ว่าปัญหามันจะเกิดขึ้นเมื่อมันปนกันเกินไประหว่างอินโฟเมชันแนล กับเซเซชันแนล พอพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสื่อ ผมรู้สึกว่าภาพเข้ามามีบทบาทในเรื่องข่าวมากเหมือนกัน อาจจะอยากให้พี่เบลเล่าให้ฟังหน่อยว่า กระบวนการออกแบบภาพมันเข้าไปในกระบวนการข่าวยังไงบ้าง?
เบล — มีโปรเจกต์นึงเป็นการรวบรวมหน้าหนึ่งของ New York Times ตั้งแต่ฉบับแรกเริ่ม แล้วเอามาทำเป็นสต็อปโมชั่น ไล่มาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่เป็นข้อความทั้งหมด เริ่มมีรูปขาวดำขึ้นมารูปนึง รูปขาวดำสองรูป รูปสี จนปัจจุบันคือรูปกินไปเกินสี่สิบห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของหน้า ซึ่งนี่คือสิ่งพิมพ์ พอเป็นดิจิทัล สิ่งแรกที่ทำให้คุณกดเข้าไปอ่านอาจไม่ใช่พาดหัวข่าว แต่เป็นเพราะรูปมากกว่า คนเสพภาพเยอะขึ้น มันเลยเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอข้อมูล ที่ไม่ใช่แค่ภาพประกอบแล้ว
รูป 6 — ภาพจากคลิป Every NYT front page since 1852 https://vimeo.com/204951759 © Josh Begley
ถึงแม้ว่าการทำข่าวที่เนเธอร์แลนด์จะค่อนข้างเปิดกว้าง และพยายามจะมีพัฒนาการ แต่ก็ยังมีวิธีการที่ค่อนข้างเก่า นักข่าวก็คือนักข่าว คุณมีหน้าที่ไปหาข่าวหาข้อมูลมา เสร็จแล้วก็สรุปให้บรรณาธิการที่มีหน้าที่คัดกรอง พอได้ข้อมูลมาก็ส่งต่อให้ดีไซเนอร์ หรือคนที่ทำอาร์ตไดเรกชั่นไปหารูปมาประกอบ ในที่นี้ดีไซเนอร์ หรือคนสร้างภาพ ก็อยู่ที่ปลายทางอยู่ดี เป็นแค่ภาพประกอบ ไฮโซหน่อยก็มีอินโฟกราฟิก หรูหราขึ้นมาก็มีอินเทอร์แอคทีฟ แต่ทำจากข้อมูลที่กองอยู่ตรงหน้า ซึ่งเรารู้สึกว่าทิศทางนี้มันไม่ได้ไปด้วยกัน ในเมื่อภาพก็สำคัญ คนที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภาพ มักจะมีความไวต่อสัญลักษณ์ สี หรือว่าการเก็บข้อมูลด้วยภาพ มันน่าจะเวิร์คกว่ามั้ยถ้าให้ดีไซเนอร์กับนักข่าวทำงานร่วมกันตั้งแต่แรก ลองพัฒนาเรื่องราวโดยใช้ภาพเป็นส่วนประกอบ แล้วให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันไปมา สิ่งนี้เป็นทิศทางในยุคแรกเริ่มของ ACED ซึ่งเรานำเสนอไปกับสำนักข่าว แล้วก็ลองทำดู
ซึ่งเราก็เจอปัญหาหลายๆ อย่าง ด้วยธรรมชาติการทำงานของสองสายอาชีพมันต่างกัน วงการศิลปะและออกแบบ กว่าจะทำงานออกมาเป็นผลลัพธ์มันใช้เวลาเยอะ ในการสังเกต รวบรวม เก็บข้อมูล ตกตะกอน ส่วนการทำงานในห้องข่าว มันรวดเร็วรุนแรงมาก ถ้าดีไซเนอร์มานั่งขบคิดอะไรกันไปด้วยกันมันจะใช้เวลาเยอะกว่าที่เขาทำกันอยู่หลายเท่า เพราะฉะนั้นในสมการนี้เราอาจจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้ สิ่งที่อาจทำได้คือต้องเปิดมาเป็นแผนก หรือโปรเจกต์พิเศษที่ทำการสืบค้นประเด็นร่วมกัน แล้วมีงบประมาณหรือว่าระยะเวลาให้ทำงาน แต่ทำโดยไม่ได้อยู่ในระบบเดิมที่มันมีอยู่แล้ว
ปั๋ม — ผมเห็นด้วยมากๆ ว่าในกระบวนการทำข่าวปกติดีไซเนอร์อยู่ปลายน้ำมากๆ อย่างการทำอินโฟกราฟิก ในไทยคำว่าอินโฟกราฟิกมันเฟ้อมากๆ ในสี่ห้าปีที่ผ่านมา ยังไม่ต้องพูดถึงว่าอินโฟกราฟิกจริงๆ ควรจะทำให้สื่อสารได้ดีขึ้น แต่บางอันมันไม่ได้ทำหน้าที่ของมันด้วยซ้ำ เป็นแค่การเอาข้อความมาเปลี่ยนเป็นรูปเฉยๆ ทีนี้ก็เลยสงสัยว่าจริงๆ ดีไซน์มันน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการทำอินโฟกราฟิกให้กับข่าวให้มันดูง่ายรึเปล่า? สำหรับพี่เบล ดีไซน์เข้ามาช่วยอะไรในการทำข่าวหรือในการสื่อสารทั่วไป?
เบล — ภาพ ศิลปะ หรือการออกแบบ มีหน้าที่ในการสื่อสารที่ลึกซึ้ง ภาพเปิดให้คนตีความสิ่งต่างๆ สมมุติเราทำข่าวที่ซับซ้อนมากๆ หรือเป็นประเด็นอ่อนไหว แล้วเราไม่มีคำตอบหรือไม่สามารถหาบทสรุปให้กับสิ่งนั้นได้ แต่ว่าเราสามารถนำเสนอผ่านภาพที่ทำให้คนตีความได้ด้วยตัวเอง มันเป็นคุณสมบัติของภาพที่ช่วยในการทำข่าวได้
เรารู้สึกว่านักข่าวจะต้องคอยตัดจบ เก็บประเด็น ในขณะที่ถ้าเป็นนักออกแบบหรือศิลปินเนี่ย บางทีคุณไม่รู้หรอกว่ามันตกประเด็นรึเปล่า คุณมีหน้าที่นำเสนอสิ่งนี้ไป มันอยู่ที่คนดูที่จะเป็นคนปิดประเด็นด้วยตัวเอง อันนี้เป็นอีกหนึ่งอันที่ในการทำงานร่วมกันมันก็ต้องเคลียร์ว่าคุณจะจบเนื้อหาที่ตรงไหน ภาพอนุญาตให้ความซับซ้อน หรืออะไรที่มันอยู่สีเทาๆ สามารถโผล่ขึ้นมาได้
ช่วงนี้อยู่ไทย เวลาเราเปิดทีวีดูข่าวเราก็ตกใจมากกับการที่ข่าวทุกวันนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อหนึ่งประเด็น มีการสร้างภาพสามมิติให้กับข่าว อย่างเรื่องที่มีผู้ชายคนนึงไล่พ่อแม่ออกไปนอนเต็นท์หน้าบ้าน เพราะกลัวพ่อแม่ติดโควิด ก็มีการจำลองรูปบ้าน แล้วก็รูปผู้ชายที่กำลังไล่พ่อแม่ออกไป รูปพ่อกับแม่นอน เขามีทรัพยากรในการทำสิ่งเหล่านี้ได้แบบอลังการ ภาพมันช่วยได้ถ้าคุณใช้ในทางที่ถูก ถ้าใช้ในแง่ภาพประกอบเฉยๆ มันไม่ได้ช่วยให้เกิดความคิดอะไรขึ้นมา เรารู้สึกว่าคุณค่าของงานศิลปะหรืองานออกแบบคือการทำให้คนฉุกคิดอะไรแบบนี้มากกว่า
ปั๋ม — กำลังนึกอยู่ว่าจริงๆ แล้วการเอาศิลปะหรือการออกแบบเข้ามา มันจะช่วยแก้ปัญหาอะไรในวงการสื่อหรือว่าในการเสพสื่อหรือข่าวได้รึเปล่า?
เบล — ถ้าภาพถูกใช้อย่างถูกต้อง มันก็จะไม่ใช่แค่ภาพประกอบ มันคือการช่วยสืบค้นด้วยซ้ำ มีโปรเจกต์นึงเมื่อนานมาแล้ว ในยุคที่ลอนดอนมีโรคระบาด หมอคนนึงชื่อ จอห์น สโนว์ (John Snow)(https://www.theguardian.com/news/datablog/2013/mar/15/john-snow-cholera-map) ต้องการสืบว่าคนติดโรคนี้จากอะไร เขาก็เอาแผนที่มากาง วาดจุดบนบ้านที่มีคนตาย แล้วสังเกตเห็นว่าในวงของคนที่ตายมันจะมีทางที่เดินไปตักน้ำมาจากบ่อน้ำของหมู่บ้านร่วมกันอยู่อันเดียว เขาเลยตั้งคำถามว่ามันเป็นไปได้มั้ยที่บ่อน้ำนั้นมันติดเชื้ออยู่ ซึ่งพอไปเช็คแล้วก็มีเชื้ออยู่ในนั้นจริงๆ ก็เลยปิดบ่อน้ำไป รักษาชีวิตคนรอบๆ ไปได้เยอะ
รูป 7 — ภาพแสดงตำแหน่งผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรค โดย ดร.จอห์น สโนว์ (2356-2401)
หรืออย่าง Forensic Architecture ที่เป็นกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ (Gold Smith, University of London) ก็เป็นการรวมตัวกันของคนหลากหลายสาขา ทั้งสถาปนิก คนทำหนัง ดีไซเนอร์ ศิลปิน และนักข่าว สิ่งที่เขาทำคือ สืบสวนประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การยิงกันด้วยเหตุผลด้านการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ หรือการที่ประเทศไปทิ้งระเบิดใส่อีกประเทศอย่างไม่ถูกต้อง เขาก็เก็บข้อมูลรูปภาพแล้วเอามาแปลงเป็นภาพสามมิติบ้าง แผนที่บ้าง แต่การแปลงของเขาค่อนข้างอ้างอิงจากข้อเท็จจริงแบบสุดๆ มันก็เป็นงานศิลปะด้วยนะ แต่ก็สามารถเอาไปใช้เป็นหลักฐานในศาลเพื่อเอาผิดกับคนผิดได้ ในแง่นึงภาพมันไม่ได้เป็นแค่ภาพประกอบแต่เป็นสิ่งที่มีส่วนร่วมในการสืบค้นประเด็นที่มันซับซ้อนได้เหมือนกัน
รูป 8 — ภาพจากโปรเจกต์ The Bombing of Rafah โดย Forensic Architecture, 2558 © CC
ปั๋ม — มันไปแตะกับเรื่องความแตกต่างระหว่างออปเจคทีฟ กับซัปเจคทีฟ ด้วย หลายๆ คนคิดว่าข่าวมีความเป็นออปเจคทีฟ มากกว่า ซึ่งในท้ายที่สุดมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น การเลือกว่าเรื่องไหนควรจะเป็นข่าว ก็มาจากความเข้าใจบางอย่างที่เรามีอยู่แล้วว่า เรื่องนี้ควรจะต้องถูกสื่อออกมาแบบนี้ ซึ่งมันก็มีความซัพเจคทีฟ อยู่เหมือนกัน
เบล — อย่างตอนที่ทำ ACED ก็มีการทำเวิร์คชอปไปสอนในมหาวิทยาลัย จะมีสองส่วนคือ ส่วนแรกไปสอนที่โรงเรียนออกแบบและศิลปะ เป็นไปได้ด้วยดี เพราะเราก็มาจากสายนั้นอยู่แล้วเลยรู้ว่าเขาต้องการอะไร เราให้เขาลองจับประเด็นสังคม ทำให้เป็นประเด็นของตัวเอง แล้วนำเสนอความจริงนั้นออกมา แต่พออีกส่วนคือไปสอนที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เป็นคอร์สปริญญาโทด้านสื่อสารมวลชน ก็เป็นอีกโลกนึงที่น่าสนใจมากเหมือนกันนะ (หัวเราะ) มันจะมีความเซนซีทีฟบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน เช่น ถ้ากระตุ้นให้ทำอะไรที่ซัปเจคทีฟ เขาจะต่อต้านรุนแรงมาก เพราะเขาถูกเทรนให้คิดหรือนำเสนอแบบออปเจคทีฟ เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่า ทำอะไรแบบที่ซัปเจคทีฟ มันเหมือนเป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณ ซึ่งเราก็มีการถกกันเหมือนที่ปั๋มพูดว่าแล้ว ความเป็นออปเจคทีฟที่แท้จริงมันมีเหรอ ในความรู้สึกเรามันไม่มีหรอก มันอยู่ที่ว่าคุณจะโปร่งใสกับมันแค่ไหน เลือกที่จะเผยจุดยืนของคุณมากน้อยแค่ไหน คือทุกๆ สำนักข่าวเขามีเป้าหมายอยู่แล้ว พยายามทำตัวเป็นกลาง หรือเป็นขวาเป็นซ้าย หรือแม้แต่ตัวคนนำเสนอเอง นำเสนอข่าวแล้ววิพากษ์วิจารณ์ว่า “ทำอย่างนี้แย่จริงๆ เลยนะคะ” สองประโยคต่อท้าย มันก็คือความเห็นส่วนตัวของคนนั้นที่ปล่อยเข้าไปสู่คนดูแล้ว ซึ่งเรารู้สึกว่ามันสำคัญที่คุณต้องค่อนข้างซื่อสัตย์กับความเป็นซัปเจคติวิตีของตัวเอง ถ้าไปปฏิเสธว่ามันไม่มี แบบนี้น่าจะอันตราย
ปั๋ม — เหมือนออปเจคทีฟร้อยเปอร์เซ็นต์มันไม่ได้มีอยู่ในโลก สุดท้ายประเด็นคือคนอ่านรับรู้รึเปล่าว่าสิ่งที่รับอยู่มันคืออะไร เขาจะได้รับมือถูก เมื่อกี้เราพูดในแง่ว่าดีไซน์มันเข้าไปช่วยข่าวได้ยังไง อยากรู้ในอีกด้านนึงว่าในฐานะนักออกแบบ ได้รับรู้วิธีการทำงานหรือว่าวิธีคิดของความเป็นนักข่าวด้วยรึเปล่า มีอะไรที่น่าสนใจบ้างสำหรับคนที่ไม่ได้มีแบคกราวด์ด้านข่าวแล้วมาเจออะไรอย่างนี้
เบล — เรารู้สึกว่าบางประเด็นบนโลกไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยความพยายามของมนุษย์คนเดียว คุณอาจจะต้องลองไปสอบถามคนที่เขาเชี่ยวชาญกว่าคุณ ซึ่งรู้สึกว่าในการทำงานร่วมกับนักข่าวทำให้เราได้เรียนรู้ตรงนั้น เพราะนักข่าวไม่ได้นั่งเก็บข้อมูลอย่างเดียว เขาไปสัมภาษณ์ มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยความเป็นสำนักข่าวก็ต้องระวังในสิ่งที่นำเสนอออกไป ถ้ามันซัปเจคทีฟ ถึงขั้นที่กลายเป็นความเห็นส่วนตัวของคนคนเดียวที่มีต่อประเด็นนั้นๆ เขาจะไม่สามารถยอมรับให้มันเป็นข่าวได้ สมมติว่าเราทำประเด็นเรื่องสังคมการเมืองใดๆ ก็ตาม ข้อมูลต้องแน่น ก่อนที่จะใส่การคาดคะเน หรือแฟนตาซีเข้าไป ถ้าเราทำออกมาอลังการมาก แต่คนกลับไปดูข้อเท็จจริงแล้วมันผิดตั้งแต่เริ่ม พลังของสิ่งที่คุณทำมามันก็ไม่มี จริงๆ รู้สึกว่าไม่ใช่แค่ทำงานกับนักข่าว ดีไซเนอร์ที่ทำงานประเด็นเรื่องสังคมควรทำงานกับสายอาชีพอื่นให้มากขึ้น อย่างที่ช่วงนี้เราเริ่มทำงานพวกสารคดี หรือทำงานกับนักมานุษยวิทยา เราก็ได้เรียนรู้ผ่านเขาเพื่อจะเข้าใจประเด็นนั้นๆ ก่อนที่จะสรุปออกมาเป็นงาน
ปั๋ม — แสดงว่าจริงๆ ยังมองว่างานสื่อสารมวลชน ก็มีคุณค่าในแง่ของความน่าเชื่อถืออยู่ประมาณนึง?
เบล — คล้ายๆ ที่ปั๋มบอกว่ามันเป็นวิธีคิด เขาจะมีจุดยืนที่แข็งแรงอะไรบางอย่าง เหมือนการเช็คว่าสิ่งนี้คุณเอามาจากไหน มาจากใคร เมื่อใด และมาอย่างถูกต้องมั้ย ถ้าเป็นคนที่ทำงานในสำนักข่าวแบบดั้งเดิม
ปั๋ม — มันมีกฎว่าถ้าเป็นเรื่องที่เพิ่งได้ข้อมูลมาจากแหล่งข่าวนึง มันจะต้องถูกยืนยัน จะอีกหนึ่งหรือสอง แหล่งข้อมูลนอกเหนือจากแหล่งแรก ซึ่งผมเชื่อว่ามันยังมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่วุ่นวายมากๆ อย่างช่วงโควิดนี้ เราแค่ต้องการอะไรที่มันน่าเชื่อถือ
เบล — ใช่ วันก่อนฟังทอล์กของช่างภาพข่าว เขาเล่าว่า สมมุติคุณถ่ายภาพข่าวภาพนึง ที่มีความสวยงาม แล้วจะส่งไปประกวด World Press Photo มันจะมีข้อกำหนด ว่ารูปต้องไม่มีการดัดแปลง ถ้าโดนจับได้ก็จะโดนถอดถอนจากรางวัล คนส่วนใหญ่ถ้าถูกจับได้ ก็จะตอบว่า ส่งรูปผิด บังเอิญส่งรูปที่เอาไว้ใช้ในนิทรรศการไป กลายเป็นว่ารูปเดียวกัน ที่นำเสนอสถานการณ์เดียวกัน แต่พออยู่ในบริบทของศิลปะ คุณดัดแปลงมันได้ ไม่มีใครว่า แต่ถ้ามันเป็นเวอร์ชันของภาพข่าว เขาก็จะให้คุณค่ากับความตรงไปตรงมา เราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในยุคนี้ที่ทุกอย่างมันสามารถดัดแปลงแก้ไขได้
ปั๋ม — ได้ติดตามสำนักข่าวหรือวงการข่าวของไทยที่ผ่านมาแล้วรู้สึกว่ามันมีอะไรน่าสนใจบ้าง?
เบล — คิดว่าช่วงหลังๆ สำนักข่าวมีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ใช่ทางการเมือง แต่มีน้ำเสียงของตัวเองในการทำประเด็นต่างๆ ชัดขึ้น เราว่ามันก็เป็นแนวโน้มที่ดี มีทางเลือกให้คนมากขึ้น รสนิยมในการนำเสนอข่าวก็จะแตกต่างกันไปตามสไตล์ของคนที่ดู เราว่ามันก็มีพัฒนาการ แต่ว่าจุดอ่อนอย่างนึงคือสำหรับคนดู ถ้าเราเสพสิ่งที่อยู่ในวงนั้นอย่างเดียวมากๆ แล้วไปเจอสิ่งที่อยู่ในอีกวงนึงก็จะรู้สึกไม่อยากรับ เราจะรู้สึกว่าฝ่ายตรงข้ามคือข่าวปลอม ซึ่งเมื่อก่อนมันไม่ต้องมามีข้อถกเถียงตรงนี้หรอกเพราะว่า ก็มีแค่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด บางกอกโพสต์ ที่นำเสนอข่าวในรูปแบบที่ในความรู้สึกเราอาจจะไม่ได้ต่างกันมาก
ปั๋ม — สุดท้ายผมก็รู้สึกว่าหลายๆ เรื่องมันกลับมาที่ผู้ชม เพราะไม่ว่ามันจะใช้การออกแบบเยอะหรือน้อยยังไง จะเป็นซัปเจคทีฟ หรือออปเจคทีฟ มันก็มีเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นนิยามที่พูดยากเหมือนกัน เราเองยังตอบไม่ได้เลยว่าจริงๆ แล้วความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อที่ทุกคนควรจะมีมันคืออะไร
เบล — การทำข่าวมันเป็นชุดความคิดใช่มั้ย หรือมันเป็นวิธีการหรือวิธีคิด อาจจะเป็นสิ่งที่คนควรจะต้องมี ณ ปัจจุบันนี้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างเช่น ในฐานะที่ทุกคนเป็นสื่อได้ คุณก็ควรจะรู้จักตรวจสอบข้อเท็จจริง หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้ที่มาที่ไปของสิ่งที่แชร์ หรือคุณไม่ควรกดแชร์เร็วเกินไป อย่างพ่อแม่เราแชร์จุกจิกมาในไลน์ เราก็ต้องไปบอกพ่อว่า “ป๊า ไปดูว่า ใครเป็นคนแชร์”(หัวเราะ) มันมาจากไหน มันจริงรึเปล่า ทำอย่างนี้บ่อยๆ จนคราวหลังเขาต้องยื่นมาให้อ่านก่อน ให้ช่วยดูหน่อยว่าอันนี้มันจริงหรือไม่จริง เราว่ามันฝึกได้ แต่คุณจะเห็นความสำคัญและให้ความสำคัญกับการฝึกอันนี้รึเปล่า ว่าอย่าไว้ใจทุกสิ่งที่ปรากฏบนโลกใบนี้หรือโลกอินเทอร์เน็ต คุณมีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ตรวจสอบมันให้ดีก่อน
ปั๋ม — เหมือนสิ่งที่เรียกว่าจรรยาบรรณหรือหลักจริยธรรมของนักข่าว จริงๆ ก็ปรับใช้กับคนทั่วไปได้ สมมุติการหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เราก็ต้องเลือกสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ หรือรู้จักตรวจสอบ สมมุติเราเห็นข่าวนี้เล่าแบบนึง ก็ต้องไปดูกับที่อื่นๆ ด้วยว่าข่าวเรื่องเดียวกัน เล่าเหมือนกันรึเปล่า มันก็มาปรับใช้กับคนทั่วไป ที่เป็นทั้งคนเสพและคนผลิตในสมัยที่ใครๆ ก็ผลิตสื่อได้ด้วยเหมือนกัน
เบล — เราว่ามันอาจจะเป็นอาวุธที่ค่อนข้างสำคัญในยุคนี้ ที่ทุกคนรู้ไว้ก็ปกป้องตัวเองและสังคม ไม่ให้โหมกระพือความดราม่าแบบผิดๆ มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
ปั๋ม — แล้วตอนนี้กำลังทำโปรเจกต์อะไรที่เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่บ้างมั้ยครับ?
เบล — หลังออกจาก ACED ก็ทำสารคดีเกี่ยวกับไทยเยอะ เริ่มหัดทำสารคดีเพราะเรารู้สึกว่าการถ่ายมันเป็นเครื่องมืออันนึง ที่สามารถเล่าเรื่องในแบบที่อินโฟกราฟิก หรืออะไรที่เราเคยทำมาก่อนทำไม่ได้ มันมีความเป็นมนุษย์อยู่มาก มันมีจิตใจอยู่ในนั้น เราทำหนังสั้นเรื่อง Capital of Mae La เกี่ยวกับเรื่องค่ายผู้ลี้ภัยที่จังหวัดตาก ทำกับพี่ที่เป็นนักมานุษยวิทยา เข้าไปทำวิจัยในพื้นที่กับเขาประมาณสี่ห้าปี ไปๆ กลับๆ แล้วก็ทำเป็นหนังสั้นที่เล่าเรื่องของชีวิตของคนที่อยู่ในค่าย ที่จริงๆ อยู่มาสามสิบกว่าปีแล้ว มันตั้งในปีที่เราเกิด แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าเมืองไทยมีค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ขนาดนี้และอยู่มานานขนาดนี้ แล้วก็ได้ทำสารคดีเกี่ยวกับห้วยขาแข้งให้กับ Bangkok Design Week ทำกับ STUDIO 150 ฉายในนิทรรศการที่พูดถึงเรื่องการอนุรักษ์เสือ เราก็ตามเขาไปสังเกตการณ์ ถ่ายทำการทำงานร่วมกันของดีไซเนอร์ซึ่งเป็นคนเมืองที่เริ่มจากไม่รู้อะไรมาก แล้วเข้าไปในป่าเพื่อคุยกับคนที่ทำงานในนั้น มองจากมุมคนนอกเข้าไป ลักษณะการทำงานของเราคือการเล่าประเด็น อาจจะเรียกว่ามันคือสกู๊ปข่าวก็ได้ แต่อย่างที่บอก เราจะใส่ซัปเจคทิวีที ไปค่อนข้างเยอะ ในงานเรา เราจะบอกตลอดว่าเราเป็นคนเล่า แล้วเราคือใคร มองด้วยสายตายังไง ตอนเริ่มและตอนจบ มันก็จะมีความต่างจากการไปทำข่าวเฉยๆ
รูป 9 — Capital of Mae La © Nuankhanit Phromchanya
รูป 10 — ภาพจากสารคดี Tiger Eyes: A story from Huai Kha Khaeng https://youtu.be/Xe1vE8bAJ70 © Nuankhanit Phromchanya
ปั๋ม — ผมไม่ได้มีแบคกราวด์ด้านศิลปะหรือการออกแบบ แต่จะรู้สึกว่างานที่ชอบไปดู มักจะเป็นงานศิลปะที่พูดถึงประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างนึงคือ เราเชื่อมโยงด้วยได้ง่าย เพราะมันพูดถึงเรื่องที่มันเป็นสากล บางทีก็เหมือนได้เสพทั้งงานศิลปะทั้งข่าว งานนึงที่ผมเคยไปดูพูดถึงแผนพัฒนาประเทศของมาเลเซีย ซึ่งรู้สึกว่าชาตินี้คงไม่ได้ไปอ่านอะไรเกี่ยวกับสิ่งนี้ แต่พอว่าไปดูแล้วรู้สึกว่าเรารับรู้สิ่งนี้แล้วเก็ตเลย มันพูดว่าแผนพัฒนาของมาเลเซียที่ดูยิ่งใหญ่มากๆ จริงๆ เป็นเรื่องที่มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ ผมรู้สึกว่าถ้าไปอ่านจากข่าวทั่วไปคงไม่ได้รู้สึกถึงความสิ้นหวังขนาดนี้ ไปอ่านจากข่าวคงรู้แค่ว่าแผนพัฒนานี้มันถูกเริ่ม แต่สุดท้ายไม่ได้ทำขึ้นจริง ไม่มีงบ ข่าวนี้มันคงไม่ได้ทำอะไรกับตัวเรา แต่พอไปดูในนิทรรศการแล้วรู้สึกว่ามันเก็ตว่ะ ซึ่งมันเป็นผลจากซัปเจคทีฟ ของศิลปินที่มาจากประเทศนั้น วิธีนำเสนอของเขา ทำให้เราเชื่อมโยงกับเขาได้จริงๆ ผมรู้สึกว่าน่าสนใจที่จะเอาศาสตร์นี้มารวมกัน
เบล — ใช่ เราว่าเทรนด์ทางซีกโลกตะวันตกที่พยายามพัฒนาพวกการทำข่าวแบบอินเตอร์แอคทีฟ ความต้องการเขาก็คล้ายๆ กันแหละ คือต้องการจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้คนอ่าน แทนที่จะเล่าเป็นเรื่องเฉยๆ ก็อาศัยเทคโนโลยีให้คนเลื่อนดูภาพแล้วมีเสียง อะไรอย่างนี้ สำนักข่าวอย่าง New York Times หรือ The Guardian เขาก็มีความพยายามที่จะทำให้คนเกิดแรงกระตุ้นจากสิ่งที่เขาเสพ นอกเหนือจากการแค่อ่านเฉยๆ เพราะว่ามันคือคุณค่าของการนำเสนอข้อมูล ที่เขาหามาด้วยความยากลำบาก เขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่โลกมันควรได้รับรู้ ศิลปะและการออกแบบ ก็เป็นทางเลือกที่สามารถเสริมตรงนี้ได้
ปั๋ม — พี่เบลมองตัวเองเป็นศิลปินหรือว่ามองตัวเองเป็นนักข่าว?
เบล — (หัวเราะ) ถ้าคนถามนะ จะไม่เคยเรียกตัวเองว่าศิลปินเลย จะเรียกตัวเองว่าดีไซเนอร์ เรารู้สึกว่าเราชอบศิลปะนะ เราเคยทำสารคดีเกี่ยวกับอาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข เขาเป็นศิลปินแห่งชาติที่เพิ่งเสียไปไม่นานนี้ เราเคารพเขามาก รู้สึกว่าเขามีความเป็น “ศิลปิน” เชื่อมั่นในศิลปะ ผลลัพธ์ของงานอาจจะคล้ายๆ กัน แต่ว่าวิธีคิดคนละแบบ เรามีความพยายามจัดการและควบคุมงานมากพอสมควร อย่างเช่น เราอยากจะเล่าเรื่องนี้ สมมติเล่าด้วยภาพถึงจะเปิดให้คนตีความก็ตาม แต่เราจะชัดเจนในจุดมุ่งหมาย เราจะเปิดให้คนตีความด้วยเวอร์ชั่นอย่างนี้ อย่างนั้น มันเป็นวิธีคิดของดีไซเนอร์ที่เรารู้ว่าสารคืออะไร สารไปสู่ใคร แล้วเขาจะรับมันด้วยรูปแบบไหน เรามีการออกแบบมาแล้วว่าให้เขารับสารแบบไหน ในขณะที่เราว่าศิลปินบางคนอาจจะคิดก็ได้นะ แต่ส่วนใหญ่เขาทำงานจากความรู้สึก เป็นการสื่อสารที่ไม่ใช่ในเชิงการรับรู้มากขนาดนั้น บางทีอาจจะอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำไมเป็นสิ่งนี้ในเวอร์ชันนี้
เครดิตภาพ
รูป 1 — ภาพได้รับความอนุเคราะห์จาก นอร์ตเจอร์ ฟาน เอคเลน
รูป 2 — ภาพได้รับความอนุเคราะห์จาก นอร์ตเจอร์ ฟาน เอคเลน
รูป 3 — ภาพได้รับความอนุเคราะห์จาก แอนเนอลิส เดอ เวท
รูป 4 — ภาพได้รับความอนุเคราะห์จาก แอนเนอลิส เดอ เวท
รูป 5 — ภาพได้รับความอนุเคราะห์จาก ACED
รูป 6 — ภาพสจากคลิป Every NYT front page since 1852 https://vimeo.com/204951759 © Josh Begley
รูป 7 — Snow cholera map “public domain in the US”
รูป 8 — Creative Common The Bombing of Rafah โดย Forensic Architecture ได้รับอนุญาตจาก CC by SA 4.0
รูป 9 — ภาพได้รับความอนุเคราะห์จาก นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา
รูป 10 — ภาพจากสารคดี Tiger Eyes: A story from Huai Kha Khaeng https://youtu.be/Xe1vE8bAJ70 © Nuankhanit Phromchanya