อานนท์ ชวาลาวัณย์ (แว่น)
ในตอนเริ่มต้นรีเสิร์ช เราคิดว่าอยากจะสำรวจตัวอักษรผ่านพื้นที่นอกแวดวงออกแบบ และสถานที่ที่เราสนใจที่สุดก็คือพื้นที่ประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อสองปีที่ผ่านมา เราคิดว่าน่าจะดีถ้าได้สำรวจผ่านวัตถุสิ่งของจากพื้นที่ประท้วงที่บรรจุด้วยข้อความสื่อสารทางการเมือง จึงติดต่อไปยังคุณแว่น ผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์สามัญชน ที่สะสมสิ่งของสามัญจากการชุมนุม โดยมุ่งไปที่เรื่องของเสื้อยืด ที่เรามองว่าเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวผู้คน ถึงแม้จะเน้นไปที่เรื่องของเนื้อหาที่ปรากฏในสิ่งของ แต่การพูดคุยครั้งนี้ก็ทำให้ได้มุมมองที่น่าสนใจในการทำงานต่อกับเรื่องของตัวอักษร
แว่น — ผมเป็นพวกสะสมเสื้อยืดแต่ไม่ใส่ สมัยเรียนก็มีใส่บ้าง เสื้อไล่ทักษิณก็มี เสื้องานรำลึกสามจังหวัด เสื้อ 14 ตุลาฯ เสื้อสืบ นาคะเสถียร เช กูวารา ดาวแดง ถ้าอธิบายตามศัพท์สมัยนี้ก็คือเป็นพวกเบียว อยากใส่ให้คนรู้ว่าเราสนใจการเมืองโว้ย
ยีน — รู้สึกว่าเสื้อยืดการเมืองก็สนุกดีเวลาเห็น เหมือนมีแมสเสจที่มีความแอบๆ บอก?
แว่น — มันแล้วแต่ โชว์ตรงๆ เลยก็เยอะ ถ้าต้องตีความเยอะอาจจะผิดวัตถุประสงค์ของเสื้อยืดการเมืองหรือเปล่า เพราะคนใส่คือคนที่ต้องการประกาศว่านี่คือจุดยืนของกู ถ้าคนดูแล้วไม่เข้าใจก็อาจจะไม่ต่างกับเสื้อยืดทั่วไป อันนี้มุมผมนะ เสื้อในฐานะเครื่องมือรณรงค์ทางการเมืองจะประสบความสำเร็จ แมสเสจต้องเข้าใจง่าย เพราะคนเดินผ่านมีเวลามองแค่แป๊บเดียว
ยีน — จากที่เก็บสะสมมา มีแมสเสจแนวไหนบ้าง พอจะจับเป็นกลุ่มก้อนได้มั้ย?
แว่น — คือเสื้อที่เก็บจะเป็นเสื้อที่ทำขายกันในม็อบ ที่เห็นเยอะก็จะมีโลโก้ของกลุ่มที่มีอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองบางอย่าง รูปบุคคลสำคัญ เช่น กำนันสุเทพ (สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย) สามเกลอ (วีระ มุสิกพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เสธ.แดง
ยีน — ตัวเก่าสุดที่เก็บคือของปีไหน?
แว่น — น่าจะมีประมาณปี 2548-2549 (สมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) แต่ว่าเป็นคนอื่นให้มา
ยีน — มีเกณฑ์ในการเก็บมั้ย?
แว่น — จะเป็นเกณฑ์กว้างๆ ว่าอยากเอาของทุกฝักฝ่าย ทุกกลุ่มเคลื่อนไหว แต่ที่เข้าถึงได้จริงๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสามกีบ เสื้อแดง ส่วนฝั่งกปปส. มันยากที่จะไปเจอน่ะ แต่ถ้าเจอก็เอา จริงๆ ก็ไม่ใช้หลักวิชาการอะไรในการเลือก เป็นอัตวิสัย อย่างไปม็อบมีเสื้อ 58 แบบ เราก็อาจจะมีกำลังซื้อแค่ 5 ถึง 10 แบบ แต่ก็จะพยายามคละข้อความให้มันกว้างๆ หน่อย เนื่องจากพิพิธภัณฑ์มันยังไม่ได้มีความเป็นองค์กรแข็งแรงขนาดนั้น ยังใช้ความชอบส่วนตัวเลือกอยู่
จั๊ก — ตอนนี้มีเสื้ออยู่กี่ตัว?
แว่น — น่าจะเกือบ 500 ตัว ใบปลิวหาเสียงก็เก็บ ถ้าเอามาเรียงๆ กันน่าจะได้เห็นว่าความต้องการของประชาชนแต่ละยุคสมัยมันคืออะไร มันก็สะท้อนผ่านคำสัญญา นี่คือหลักฐานชั้นต้นเลยของพวกที่เรียนประวัติศาสตร์การเมือง
จั๊ก — พิพิธภัณฑ์นี้ทุนเป็นของต่างชาติหรือเปล่าคะ?
แว่น — แน่นอนฮะ ผมมันพวกชังชาติ (หัวเราะ) ทีนี้พูดอย่างจริงจัง สำหรับผมงานพิพิธภัณฑ์มันก็เป็นเหมือนการโฆษณาชวนเชื่ออย่างอ่อนๆ เป็นการบอกเล่าความยิ่งใหญ่ ความดีงามบางอย่างผ่านวัตถุสิ่งของและสร้างอารมณ์ร่วมผ่านการเล่าเรื่อง การจัดวาง แต่งสี แต่งกลิ่นอะไรแบบนั้น
ในมุมของรัฐที่มีแนวคิดอำนาจนิยม สิ่งที่รัฐจะนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่รัฐอุดหนุนก็น่าจะสะท้อนอุดมการณ์คุณค่าแบบอนุรักษ์นิยมหรืออำนาจนิยม ส่วนของสะสมของพิพิธภัณฑ์สามัญชน อย่างพวกเสื้อหรือป้ายจากม็อบ ซึ่งบ่อยครั้งมีเนื้อหาท้าทายรัฐ หรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐ ของเหล่านั้นคงไม่ถูกรัฐรับรองหรือยอมรับว่าเป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรอก ในระยะสั้นการทำโครงการของผมก็เลยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่เขาสนใจงานด้านนี้จากต่างประเทศ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้มากมายอะไร และแน่นอนทิศทางการทำงาน การเก็บของ ทุกอย่างทางพิพิธภัณฑ์เป็นคนตัดสินใจเลือกเองโดยที่คนที่สนับสนุนการทำงานของเราไม่ได้มามีสิทธิ์กำกับอะไรตรงนั้น
และที่สำคัญพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้ตั้งใจจะท้าทายอำนาจของรัฐหรือไปท้าทายว่าประวัติศาสตร์ หรือของที่รัฐบันทึกและเก็บรักษามันไม่มีค่า เราแค่หวังว่าสิ่งที่เราทำจะช่วยเติมเต็มให้การบันทึกประวัติศาสตร์มันครบถ้วนขึ้นเท่านั้นเอง และถ้าในอนาคตจะมีผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์จากในประเทศเราก็จะยินดียิ่งหากเป็นการสนับสนุนที่ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของเรา
ยีน — เสื้อยืดนับเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของของที่คุณแว่นเก็บ?
แว่น — 30 เปอร์เซ็นต์น่าจะได้มั้ง
จั๊ก — เพราะมันเป็นของที่ผลิตง่ายหรือเปล่า
แว่น —ใช่ และมันเก็บง่าย มีคนทำเยอะ ช่วงโควิดมีเพจทำเสื้อการเมืองเต็มเลย เมื่อก่อนจะมี 3-4 เพจที่ผมตามอยู่
จั๊ก — มีเพจอะไรบ้างคะ?
แว่น — Shirtpaganda อันนี้ก็เป็นคนใน “ม็อบ ก.ไก่” เสื้อยืดการเมือง
จั๊ก — เป็นสามกีบหมดเลยใช่มั้ย?
แว่น — ใช่ครับ ฝั่งกปปส. ไม่ค่อยเห็นเลยนะ
จั๊ก — เหมือนช่วงกปปส. แบรนด์แฟชั่นทำให้เยอะ รู้สึกว่าเสื้อธงชาติถูกกปปส. ยึดครองความหมายไปแล้ว ไม่แน่ใจคนอื่นเป็นมั้ย หรือพี่เฉยๆ
แว่น — ผมว่ามันกว้างกว่านั้นนะ กปปส. เป็นกลุ่มคนที่ชูอุดมการณ์ชาตินิยม พันธมิตรก็ชูอุดมการณ์ชาตินิยม ธงก็ถูกนำมาใช้ แต่กปปส. อาจจะใช้เยอะหน่อยก็เป็นไปได้ นปช. เองก็มีการโบกธงชาติ แง่นึงเวลาที่คุณชูธงชาติคือคุณแสดงออกว่าต่อต้านรัฐบาลแต่คุณไม่ได้ต่อต้านประเทศ มันเป็นการแสดงความชอบธรรมบางอย่าง ม็อบนปช. ม็อบไหนๆ ก็ชูธงชาติ อาจจะยกเว้นการชุมนุมของราษฎรที่ธงชาติไม่ได้ถูกชูเป็นพรอพหลักหรือชูอย่างกว้างขวางแต่มีการชูธงอื่น เช่น ธงสีรุ้ง หรือธงพันธมิตรชานม อาจเป็นเพราะคุณค่าที่เขาชูไม่ได้อยู่ที่ธงชาติหรือขวานไทยแบบข้าคือที่หนึ่งในใต้หล้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต่อต้านการมีอยู่ของรัฐชาตินะ ถ้าเราไปดูจากแมสเสจที่มันออกมาจากที่ชุมนุมก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีการปฏิเสธความเป็นชาติ เพียงแต่เขาชวนตีความคำว่าชาติใหม่ให้มีความหมายกว้างขึ้น ให้ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น ในมุมของผมนะ
จั๊ก — เสื้อจากการประท้วงที่เก็บไว้เก่าที่สุดคือครั้งไหน อย่าง 6 ตุลาฯ นี่ไม่มีใช่มั้ย?
แว่น — ไม่มีแน่นอนครับ ยุคนั้นอาจจะมีเสื้อแต่ผมไม่ทราบ วัฒนธรรมเสื้อยืดสกรีนข้อความอันนี้บอกไม่ได้จริงๆ ว่ามาจากยุคไหน ยุคพฤษภาฯ 35 นี่ไม่แน่ใจว่ามีมั้ย แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมี ยุค 6 ตุลาฯ อาจจะมีก็ได้เพราะเสื้อยืดมันก็มีแล้ว เทคโนโลยีบล็อกสกรีนก็ไม่ใช่อะไรที่ล้ำสมัย ขณะนั้นน่าจะทำได้แล้ว แต่ไม่เคยเห็นเองกับตา
ยีน — การใส่เสื้อยืดมันสะท้อนความเป็นกลุ่มก้อนด้วยหรือเปล่า?
แว่น — คิดว่านะ อย่างมีเสื้อตัวนึงที่ส่งไปให้ในโจทย์ว่า เสื้อแบบไหนที่ถ้าเป็นคนไม่ตามการเมือง ดูคงไม่เข้าใจ เป็นเสื้อที่กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ที่ถูกดำเนินคดีทำใส่กันเองเวลาไปรายงานตัว เสื้อ MBK39 อะไรแบบนี้ ตอนนั้นการเมืองมันไม่ได้ป็อปขนาดนี้ไง ถ้าตอนนี้ใส่คนอาจจะไม่ได้เก็ต เทียบกับว่าถ้าใส่เสื้อหมุดคณะราษฎร เสื้อสามกีบไปเดิน แล้วให้ลุงป้ามา พนักงานออฟฟิศ หรือคนเดินผ่านไปมาทายเทียบกัน เชื่อว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ทายเสื้อสามกีบถูก แต่เสื้อ MBK ไม่รู้หรอก อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของเสื้อเฉพาะกลุ่ม อย่างผมเวลาไปสังเกตการณ์ชุมนุมหรือไปเก็บของสะสมก็จะหลีกเลี่ยงไม่ใส่เสื้อลายที่แสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองเพราะไปในฐานะพิพิธภัณฑ์
จั๊ก — ขอถามนอกเรื่องเสื้อยืด คือนอกจากเสื้อยืดมันก็จะมีสติกเกอร์ที่เห็นเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ พี่เห็นอย่างอื่นอีกมั้ย
แว่น — พัด กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคยทำอยู่ แล้วก็มีซองกันน้ำที่เขาทำไปแจกตรอกข้าวสารช่วงสงกรานต์ เป็นรูปหน้าประยุทธ์จมูกยาว ปฏิทินคนก็ทำกันเยอะ พรรคการเมืองก็ทำกัน ตอนปี 2564 ก็เห็นกลุ่ม “Prachathipatype“ กับ “HeadacheStencil” ก็ทำปฏิทินปีที่คนเท่ากัน ปฏิทินป๋วย ปฏิทินคืนชีพ 12 คณะราษฎรเวอร์ชั่นอเมริกันคอมิค ประชาไทน่าจะเป็นคนแรกๆ เลยมั้งที่ทำปฏิทิน มีปฏิทินไข่แมว จะเห็นว่ามีการใส่วันสำคัญที่ปฏิทินกระแสหลักไม่นับ เช่นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์บนปฏิทิน สติกเกอร์จริงๆ เฉพาะกลุ่มนะ ไม่ได้ประจำวันขนาดนั้น นาฬิกาแขวนก็มีทำ พรรคการเมืองชอบทำ มีนาฬิการูปทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือถ้ายุคเก่าแก่เลยก็มีชามกินข้าวสังกะสีต่อต้านคอมมิวนิสต์
สติกเกอร์นี่ผมว่าเฉพาะกลุ่มกว่าเสื้อนะ คือคนที่อายุน้อยหน่อยอาจจะมีวัฒนธรรมการเอาสติกเกอร์มาติดคอมพิวเตอร์ ไอแพด เพื่อแสดงออกทางการเมือง ส่วนคนที่มีอายุหน่อยอาจจะไม่ได้นิยมติดสติกเกอร์อะไรแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ซื้อหรือไม่สะสมนะ เพียงแต่เสื้อยืดอาจจะเป็นอะไรที่เขาคุ้นชินในการหยิบมาใช้มากกว่า
ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง การทำของพวกนี้มันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย พอการเมืองมันกลายเป็นป็อปคัลเจอร์ แมสเสจทางการเมืองก็สามารถเอามาแปลงเป็นสินค้าได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นการค้าเพื่อเอากำไรอะไรขนาดนั้น อย่างองค์กรที่ทำงานเคลื่อนไหวการทำสินค้ารณรงค์ขายมันคือวิธีหนึ่งในการทำให้แมสเสจของเขาขยายออกไป ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้ผู้ที่อยากสนับสนุนได้มีช่องทางในการสนับสนุนการทำงานด้วย แต่การขายของที่ระลึกพวกนั้นก็อาจจะไม่ได้ถึงขั้นเป็นงบประมาณหลักสำหรับการทำงาน
พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ (บูม)
น่าจะดีที่ได้ทำความเข้าใจถึงพื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกับนักออกแบบและคนอื่นๆ ในสายงานที่เกี่ยวข้อง บูมเป็นคนแรกๆ ที่เราอยากชวนคุยเพราะทำงานวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ตัวอักษรอย่างจริงจังตั้งแต่ยังทำงานอยู่ที่คัดสรร ดีมาก และตอนนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาโทเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรโดยตรงที่ Type Media, KABK, กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ยีน — ฟอนต์กับไทป์มันต่างกันมั้ย?
บูม — ฟอนต์คือฟอร์แมต เหมือนกับ mp3 mp4 เป็นดิจิทัลฟอร์แมต ส่วนไทป์หรือเต็มๆ คือไทป์เฟส (typeface) คือหน้าตาของตัวอักษร เพราะมีหน้าตาแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเลยมีชื่อของหน้าตา
ยีน — ถ้าพูดถึงการเรียนออกแบบตัวอักษรทุกวันนี้มันมีอะไรบ้าง?
บูม — การเรียนออกแบบตัวอักษรทุกวันนี้สามารถทำได้หลายทาง ถึงแม้ว่าในไทยยังไม่มีคอร์สอนอย่างเป็นทางการแบบจบมาได้ดีกรีหรือใบประกาศ แต่ก็สามารถศึกษาได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลทั้งในอินเทอร์เน็ต หรือหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษร ทุกวันนี้เราสามารถเรียนรู้พื้นฐานหรือเริ่มลองได้โดยการเข้าร่วมเวิร์กชอปต่างๆ ถึงแม้ว่าการทำเวิร์กชอปเกี่ยวกับตัวอักษรทุกวันนี้ จะเป็นเลทเทอริ่ง (lettering) ขั้นพื้นฐานหรือการเรียนเขียนตัวอักษรแบบวิจิตร แต่ถ้าเป็นไทป์ดีไซน์ (type design) พื้นฐานจริงๆ มันลึกมาก มันคือการสร้างผลงานขึ้นมาชิ้นนึง เช่น เบสิกละติน A-Z ตัวอักษรที่ยุโรปกลางทั่วไปใช้กัน เช่นตัวที่มีเครื่องหมายแสดงการออกเสียง (diacritic) ต่างๆ ที่ใช้ในภาษาฝรั่งเศสหรือเยอมัน ตัวพวกนี้ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมกันหน่อยว่าหน้าตาแบบไหนคุ้นชินหรือว่าเป็นที่ยอมรับของเจ้าของภาษานั้นๆ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ดูมีเยอะ แต่มันทำได้ทุกวันนี้ข้อมูลมีให้เข้าถึงได้ พอเราได้ผลงานมา นักออกแบบฟอนต์หรือไทป์ดีไซเนอร์ก็มีทั้งที่เขาเอาฟอนต์ไปฝากขาย มีทั้งมือโปรมือสมัครเล่น ถ้าตั้งตัวเองเป็นมืออาชีพก็จะเรียกตัวเองเป็นไทป์ฟาวดรี (type foundry) หรือค่ายฟอนต์
ยีน — ไทป์ฟาวดรีมันมีที่มายังไง คนขายไทป์เขาขายกันยังไงเหรอ?
บูม — ถ้าตามหลักประวัติศาสตร์มันเป็นเมทัลไทป์ (metal type) ก่อนเนอะ หลังจากท่ีกูเตนเบิร์กคิดค้นแท่นพิมพ์ (ราวปี 1450 หรือ พ.ศ. 1993) ถ้าเป็นในยุโรปแต่ละประเทศก็จะมีช่างฝีมือเหมือนเป็นคราฟท์แมนในการทำเมทัลไทป์ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นเป็นเครื่องจักร มีทั้งการแกะตะกั่วด้วยมือ การทำพันช์คัตเตอร์ (punch cutter) การหล่อแม่พิมพ์ขึ้นมา โปรๆ วันนึงก็ทำได้ 4 ตัว แล้วก็จะใส่เป็นเคส (case) ไว้ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่าอัปเปอร์เคส (upper case) กับโลวเวอร์เคส (lower case) เวลาขายก็จะแบ่งเป็นบริษัทฟาวดรี (foundry) เวลาซื้อไทป์ก็จะซื้อเป็นเคส ส่วนมากการซื้อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไทป์ฟาวดรีปิดตัว หรือพันช์คัตเตอร์ตายไป สิ่งที่เป็นเคสที่เหลืออยู่ก็จะกระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ หรือเวลาขายก็ขายทั้งตึกเลย รูปแบบของเมทัลไทป์ที่เป็นเครื่องจักรหล่อกับที่คราฟท์แมนหล่อก็จะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน เช่นถ้าเป็นเครื่องจักรต้องผลิตแบบจำนวนมาก (mass production) แค่กด a เครื่องก็จะหล่อตัวอักษรออกมา ใช้เสร็จก็เอาไปหลอมใหม่ได้
รูป 1 — ภาพวาดของระบบการหล่อตัวอักษรของกูเตนเบิร์กในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตัวปั๊มเหล็กกล้า (A.) ถูกใช้เพื่อปั๊มลงไปในแมทริกซ์ (B.) ทองเหลืองที่อ่อนนุ่มกว่า หลังจากนั้นก็นำแมทริกซ์ไปประกอบกับโมลด์ (C., D., E) ที่สามารถแยกออกได้เป็นสองชิ้นเพื่อหล่อตัวอักษรขึ้นมา
รูป 2 — ภาพวาดของเครื่องพิมพ์ยุคแรกที่คิดค้นโดยกูเตนเบิร์ก
รูป 3 — เคสที่เป็นที่มาของการเรียกตัวอักษรว่า อัปเปอร์เคส กับ โลวเวอร์เคส
หลังจากนั้นก็เปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคโฟโต้ไทป์เซ็ทติ้ง (phototypesetting) หรือเครื่องพิมพ์ฉายแสง ก่อนเข้าสู่ดิจิทัล
การจัดประเภทตัวอักษร (type classification) ตามหน้าตาและวิธีการสร้างตัวอักษร เกิดขึ้นโดย AtypI (The Association Typographique Internationale) ก็จะแบ่งเป็นช่วงตามวิวัฒนาการของหน้าตา ในตอนแรกๆ มาจากก๊อปปี้ลายมือมาเป็นตัวตะกั่วก่อนเพื่อให้เกิดการพิมพ์ซ้ำได้ง่าย ลายมือบิดเบี้ยวประมาณไหนก็จะคัดออกมาตามนั้น ซึ่งเรียกว่าโอล์ด สไตล์ (Old Style) ประเภทต่อมาเรียกว่าทรานสิชันนอล (Transitional) จะเป็นฟอนต์ที่เก็บรายละเอียดขึ้นมานิดนึงให้ดูสมมาตรและเห็นความผิดพลาดจากมนุษย์น้อยลง หลังจากนั้นจะเป็นยุคโมเดิร์น (Modern) อย่างตัวอักษรพวก Didot หรือ Bodoni ที่เกิดจากการเปลี่ยนเครื่องมือ จากปากกาหัวตัดมาปากกาหัวแหลม (pointed nib) จากการที่คนเริ่มหาสิ่งใหม่และอะไรที่เป็นแฟชั่นขึ้น ต่อมาก็จะเป็นตัวสแลบ เซอรีฟ (Slab Serif) หรือตัว egyptian และซาน เซอรีฟ (Sans Serif) ต่อมา หน้าตาของแต่ละแบบก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ทุกวันนี้ AtypI เองก็จัด Type Conference ทุกปีตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็จะเป็นออนไลน์ จริงๆ ของไทยเราก็มีอย่าง BITS Conference เท่าที่รู้ตอนนี้เป็นที่เดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานเหล่านี้เขาก็จะเชิญนักออกแบบตัวอักษร หรือคนในวงการที่เกี่ยวข้องมาพูดถึงแง่มุมต่างๆ ของตัวอักษร ถ้าอยากรู้เนื้อหาคร่าวๆ หาฟังย้อนหลังได้เลยจากยูทูป
ตัวอักษรในยุคเก่าก่อนดิจิทัล บางตัวที่ยังไม่ถูกดิจิไทซ์ก็ยังมีอยู่เยอะ เมื่อคนเกิดความสนใจอยากเอามาดิจิไทซ์ เราจะเรียกสิ่งนี้ว่ารีไววัล (revival) หรือการเอาฟอนต์เก่ามาทำใหม่ มีทั้งเหมือนเก่าเลยและตีความใหม่ แก้จุดที่เห็นต่างอยากปรับปรุง หรือใช้เป็นแรงบันดาลใจจากฟอนต์เก่าๆ ก็มี แต่เรื่องพวกนี้ต้องดูลิขสิทธิ์ให้ดีก่อนทำโดยเฉพาะแบบที่เหมือนเก่าเลย หรือเอาแบบเก่ามาตีความใหม่
รูป 4 — เครื่องมือที่ใช้ทำโฟโต้ไทป์เซ็ทติ้ง
รูป 5 — Digi Grotesk เป็นตัวอักษรแบบดิจิทัลตัวแรกที่ถูกออกแบบขึ้นในปี 1968
ย้อนกลับมาเรื่องการออกแบบตัวอักษร จะมีช่วงพรีโปรดักชั่นซึ่งก็คือช่วงที่เราตามหาว่าสิ่งนี้เราจะเอาไปใช้ยังไง เช่นจะเอาไปใช้เป็นตัวพาดหัว (display type) เป็นชื่อเรื่อง (titling type) หรือเอาไปใช้เป็นตัวเนื้อความ (text type) มันจะมีฟังก์ชั่นต่างกันชัดเจน ความจริงตัวพาดหัวเป็นอะไรก็ได้ไม่ต้องฟังก์ชั่นมาก เพราะมันทำหน้าที่แค่ดึงดูดความสนใจ พอไซส์ใหญ่แล้วมันเล่นได้เยอะ แต่ทันทีที่มันเป็นเนื้อความ มันจะต้องการมากกว่านั้น เพราะว่าคนเราเวลาอ่านเราจะชินกับอะไรที่เราคุ้นเคย ไทป์มันคือการแปลภาษาใช่มั้ย เหมือนเราเอามาเข้ารหัส (encode) คนอ่านเป็นคนถอดรหัส (decode) มันเลยจะมีหน้าตาของรูปร่างและรูปทรงที่คนจะคุ้นชินอยู่ เพราะปกติคนเราไม่ได้อ่านตัวหนังสือเป็นคำๆ แต่สายตาจะกวาดไปเรื่อยๆ ความจริงแล้วเราจำเป็นกลุ่มคำ หน้าตาตัวอักษรมีผลมากที่จะทำให้เราอ่านเร็วหรืออ่านช้า ถ้าหน้าตาตัวอักษรมันแปลกมากๆ แปลว่าระหว่างที่เราอ่านเราต้องหยุดดูทุกครั้งว่าตัวนี้ตัวอะไร เราจะต้องใช้สมองเยอะมาก อันนี้คือเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์นะ
ถ้าเราเอาตัวอักษรขนาดเล็กมาขยายเป็นใหญ่เราจะเห็นรายละเอียดแปลกๆ เพราะจริงๆ การออกแบบตัวอักษรมันจะมีเรื่องของการลวงตา เช่นเส้นที่หนาบางไม่เท่ากันเพื่อหลอกตาให้มันดูเท่ากัน สิ่งเหล่านี้เราจะเรียกว่าออพติคอล คอเรคชั่น (optical correction) มันก็จะเยอะขึ้นไปอีกเวลามันเป็นตัวเนื้อความ มันไม่มีทางที่จะออกแบบให้ทุกอย่างเท่ากันแบบเมทริกร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเส้นตั้งต้อง 10 เส้นนอนต้อง 10 ปกติเส้นนอนจะบางจากเส้นตั้งเพื่อลวงตาให้มันดูหนาเท่านั้น ทุกอย่างมันเฉลี่ยด้วยตา อาจเริ่มด้วยเมทริกได้ แต่เวลาที่ออกแบบจริงๆ เราจะต้องคำนึงถึงเท็กซ์เจอร์ภาพรวมไทป์เฟซว่าได้เกรย์แวลู่ (grey value) เท่ากันรึเปล่า มีอะไรสะดุดมั้ย หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงโปรดักชั่น พอได้แบบตัวอักษรเราก็เอามาขยายให้มันครบทุกช่องตัวพิมพ์ เช่นตัวภาษาอังกฤษ ตัวภาษาไทย วรรณยุกต์ต่างๆ ตัวเลข รวมถึงสัญลักษณ์ (symbols) และเครื่องหมายวรรคตอน (puctuation) จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย นั่นก็คือโพสต์โปรดักชั่น ขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการเช็คข้อมูล เติมข้อมูล เพื่อให้มันครอบคลุมการใช้งานในโปรแกรมที่หลากหลาย
ยีน — แล้วรูปแบบตัวอักษรไทยมันเริ่มต้นยังไง ในประวัติศาสตร์ไทย?
บูม — ขอเล่าจากละตินคอมแพร์กันละกัน แบบตัวอักษรละตินคือเกิดจากเครื่องมือ จากปากกาแบบต่างๆ มันจะมีทฤษฎีนึงที่อยู่ในเล่ม The stroke ของเกอเร็ท นอร์ทไซด์ (Gerrit Noordzij) เป็นกึ่งไบเบิ้ลของชาวไทป์ ทฤษฎีของเขาคือเครื่องมือมันส่งอิทธิพลให้เกิดหน้าตาของแบบ เช่นการใช้ปากกาหัวตัดเขียน มันก็จะให้เส้นหนาบาง วิธีการเขียนและเครื่องมือส่งผลต่อแบบ
ซึ่งมันก็เป็นเหตุเป็นผลนะ ถ้าเราเอาทฤษฎีนี้มาใส่ในตัวอักษรของไทย (ซึ่งจริงๆ ยังไม่มีใครเขียนไว้อย่างจริงจังว่าทำไมหน้าตาเป็นแบบนี้) ถ้าดูตามรากภาษาประกอบกันคือเริ่มต้นมาจากตัวอักษรเขมร เครื่องมือที่ใช้เขียนคือเข็มจรดบนใบลาน หน้าตาที่เอามาจากตัวเขมรตอนเริ่มจะเป็นหัวลูปเล็กมากๆ พอเป็นช่วงอยุธยาก็จะเป็นอีกข้อสันนิษฐานนึงเลย หัวลูปมันจะวิจิตรกว่า ถ้าเทียบยุคในยุโรปคือยุคเรเนซองส์ เกิดการตกแต่งที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น คิดว่ามันทำให้ตัวอักษรไทยเอียงนิดนึง มีตวัดหางด้วย ก่อนที่รูปแบบจะลดความซับซ้อนลงในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนมาถึงทุกวันนี้ บูมเข้าใจว่ามันเกี่ยวกับการโคโลไนซ์แหละ แม้กระทั่งตัวนริศ ตัวอักษรไม่มีหัวที่เขาเคลมกันว่าเป็นของไทย ก็เกิดจากปากกาหัวตัดซึ่งมาจากเทคโนโลยีที่ต่างชาตินำเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเริ่มใช้กันในวังก่อน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นตัวนริศที่ใช้กันนอกวัง บูมเคยบรรยายเรื่องวิวัฒนาการของตัวไม่มีลูปของไทย เพราะต้องทำเลคเชอร์ตอนทำงานอยู่กับคัดสรร ดีมาก แต่ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานอยู่ มันต้องมีหลักฐานมาอุดช่องว่างตรงนี้มากกว่านี้
รูป 6 — ภาพตัวอย่างการเขียนตัวอักษรด้วยปากกาหัวตัดโดยกรมพระยานริศฯ ที่เป็นที่มาของตัวอักษรแบบไม่มีหัวที่เรียกกันว่าตัวนริศ
ยีน — ตัวนริศมาจากกรมพระยานริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ใช่มั้ย? เขาก็เป็นสถาปนิกด้วยนี่ เขาดูจะอยู่ในทุกวงการออกแบบเลย
บูม — ใช่ เขาเป็นคนที่ทำทุกอย่าง อันนี้ขอเล่าแบบไม่พีซีแล้วกันนะ ลึกไปกว่านั้นที่ดูเหมือนเขาทำทุกอย่าง ถ้าดูในหนังสืออาร์ไคฟ์ของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2019 (Prince Naris: A Siamese Designer) รวบรวมโดยหลานของเขา จะมีสเก็ตช์แบบที่เห็นการเขียนด้วยดินสอต่างๆ เข้าใจว่าเขาน่าจะมีลูกมือด้วยแต่ไม่มีใครรู้ เพราะมันไม่ได้ถูกบันทึกไว้ ซึ่งก็เดาได้ว่าจริงๆ อาจจะมีช่างฝีมือคนอื่นอีก เพราะเมื่อก่อนถ้าใครมีฝีมือก็จะถูกส่งเข้าวัง แต่ก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นรายบุคคล เราเลยไม่มีทางที่จะเห็นชื่อของช่างฝีมือท้องถิ่นเลย และบันทึกก็ยังมีไม่มากเพราะคนส่วนใหญ่ยังอ่านออกเขียนไม่ได้ อีกอย่างคือการเขียนบันทึกในสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 นั้น นอกจากต้องรู้ภาษาแล้วก็ทำได้ยาก โทษของการเขียนบันทึกมันก็มีอยู่ ถ้าถูกฟ้องจากที่เขียนอะไรไม่ถูกใจผู้ใหญ่ก็มีสิทธิจะถูกตัดมือกันไป ดังนั้นการบันทึกโดยชาวบ้านทั่วไปมันเลยหายาก
ยีน — เคยอ่านเรื่องที่ว่าการบันทึกเป็นของชนชั้นนำในวารสารอ่าน
รูป 7 — บทความเรื่อง ‘บันไดแห่งความรัก: เธอลิขิตชีวิต บนหลุมศพสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เขียนโดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในวารสาร อ่าน ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 คอลัมน์ ‘อ่านใหม่/Reread’ ที่พูดถึงวรรณกรรมในรูปแบบบันทึก และการเขียนบันทึกที่จำกัดอยู่ในแวดวงชนชั้นสูง วิเคราะห์กันว่าที่มาของรูปแบบการเขียนบันทึกในไทย ได้รับอิทธิพลจากการเขียนไดอารีของฝรั่งที่เข้ามาในสยามช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 แต่เดิมงานเขียนของไทยที่ใกล้เคียงกับบันทึกประจำวันนั้นอยู่ในรูปจดหมายเหตุโหร และให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่รายล้อมกษัตริย์และราชวงศ์เป็นหลัก ในตะวันตกรูปแบบการเขียนนี้เกิดขึ้นคู่ขนานกับสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัจเจก เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ส่วนตัวของคนธรรมดาสามัญ แต่สำหรับกลุ่มชนชั้นนำสยามที่รับเข้ามาช่วงแรกได้เปลี่ยนมุมมองในฐานะปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นไพรเวทเซลฟ์ให้เป็นการนำเสนอตัวตนต่อสาธารณะซึ่งเป็นพับลิกเซลฟ์แทน
บูม — แต่พัฒนาการต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมาจากเจ้า เช่น ช่วงรัชกาลที่ 5 ก็เป็นช่วงรวมศูนย์ มีโรงเรียนเกิดขึ้นทั่วประเทศ (โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย พ.ศ. 2427) โดยมีเป้าหมายว่าเราต้องซิวิไลซ์นะ ก็เลยเกิดโรงเรียนช่างฝีมือขึ้น เพื่อทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นของไทย หรือที่จะสามารถเอามาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
ยีน — คนที่สอนเรื่องตัวอักษรก็อยู่ในโรงเรียนช่างฝีมือนั้นใช่มั้ย?
บูม — ใช่ อย่างช่างที่อยู่ในช่วงยุควาดโปสเตอร์หนังก็มาจากโรงเรียนช่างฝีมือ มันจะมีเฟซบุคเพจอันนึงชื่อ Thai Movie Posters ยุคนั้นตัวอักษรไทยสวยมาก กราฟิกต่างๆ ก็เห็นได้ชัดถึงการได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ แต่ก็ทำให้เราเห็นว่าเรามีช่างฝีมือของเรา ตอนนั้นลองคุยกับนักสะสมจากเพจอันนั้น เขาเคยแนะนำให้ไปเจอคนที่เป็นช่างเขียนโปสเตอร์ เขาก็เล่าให้ฟังว่ายุคนั้น มันก็จะแบ่งเป็นคนวาดภาพ และคนวาดตัวอักษร มือเขียนอักษรก็จะมีที่มือฉมังอยู่ไม่กี่คน เอาภาพอะไรมาก็เขียนข้อมูลใส่เข้าไปได้หมด ช่างเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นที่รู้จักกันก็อย่างเปี๊ยก โปสเตอร์ เหม เวชกร แต่คนที่เป็นคนเขียนตัวอักษรอย่างเดียวเรายังชื่อหาไม่เจอ
ยีน — แล้วบูมทำอะไรอยู่ตอนนี้?
บูม — ตอนนี้บูมเรียนออกแบบตัวอักษรอยู่ที่ Type Media ที่ KABK กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เรามาชอบไทป์ดีไซน์ตอนที่ไปเรียนป.โทใบแรกที่สวิสฯ ตอนนั้นบูมได้เริ่มเรียนออกแบบตัวอังกฤษก่อน แล้วจากนั้นก็ค่อยๆ หย่อนขาเข้าวงการ ก็ยื่นไปฝึกงานในฟาวดรีต่างประเทศ จากนั้นก็อยากจะเรียนรู้การทำตัวภาษาไทยก็เลยกลับมา และไปสมัครงานที่คัดสรรดีมากเพื่อที่จะดูว่าไทป์ภาษาไทยทำงานยังไง แล้วก็โชคดีระหว่างที่ทำงานที่นั้น เขาก็ให้ทำรีเสิร์ชต่างๆ ควบคู่กับการทำงานไปด้วย ทำได้สามปีช่วงนั้นเป็นช่วงที่เลิร์นนิ่งเคิร์ฟตั้งมาก ได้รู้ทั้งการออกแบบตัวไทยและมีเวลาค้นคว้าประวัติศาสตร์ตัวอักษรไทยเยอะขึ้น แต่พอกลับมาที่ตัวละตินหรือตัวภาษาอังกฤษเราก็รู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ รู้สึกว่าต้องการเรียนตัวละตินเพิ่มเติมเลยมาสมัครเข้าเรียนโทอีกใบที่นี่
ธนัช ธีระดากร
จากคำแนะนำของทีมงานว่าธนัช ศิลปินที่เคยร่วมงานกับบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ก็สนใจเรื่องของตัวอักษร ถึงแม้ว่าผลงานจะออกมาเป็นงานทดลองกับเสียงและภาพที่ไม่ได้แสดงถึงตัวอักษรตรงๆ แต่ความคิดเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาพแทนและอัตลักษณ์ความเป็นชาติก็เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับตัวอักษรไทยที่น่าสนใจที่ธนัชชวนตั้งคำถาม
ธนัช — ผมสนใจไทโปกราฟีผ่านมุมมองแบบนักมานุษยวิทยา ผมสนใจศึกษาวัฒนธรรมว่ามันเกิดขึ้นยังไง ช่วงเวลาไหนมีวิธีการนำเสนอ (represent) ข้อมูลแบบไหนที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ส่วนตัวผมไม่ได้สร้างไทป์ขึ้นมาใหม่แต่ศึกษาสิ่งที่อยู่รอบๆ มันมากกว่า เวลาที่ผมมองไทโปกราฟีผมมองเป็นภาพเดียวกันของแต่ละช่วงเวลา แล้วแต่ว่าผมอินอะไร เช่นตอนที่ผมสนใจเครื่องเสียงรถยนต์ที่ไทย แง่นึงผมก็มองไปที่สติกเกอร์ของชุมชนรถแต่งที่เขาทำขึ้นมา และเรียนรู้จากเขาผ่านการมองจากเขา รีเสิร์ชของผมหลายครั้งจะเกี่ยวกับการลงพื้นที่ โดยเฉพาะเวลาที่ผมอยู่ในบริบทประเทศไทย แต่ทุกวันนี้ผมสนใจอีกแง่มุมนึง ถ้าเราลงพื้นที่ไม่ได้เราก็ใช้เทคโนโลยีแทน ช่วงหลังๆ ออนไลน์อาร์ไคฟ์สำหรับผมเป็นเหมือนพอร์ทอล (portal) ในการมองโลก ผมสนใจผลลัพธ์ต่างกันที่ขึ้นอยู่กับว่าเรามองไปที่สื่อแบบไหนและมองมันโยงกันหมด เหมือนเป็นเครือข่ายอะไรสักอย่าง
ยีน — ตอนทำเรื่องชุมชนรถแต่งคือก่อนที่จะไปเรียนต่อใช่มั้ย ส่วนออนไลน์อาร์ไคฟ์เข้าใจว่าทำหลังจากไปเรียนที่ Werkplaats (Werkplaats Typografie)?
รูป 1-2 — ภาพจากการค้นคว้าในโปรเจกต์ ‘Dance Non-Stop Mix (2016)’
ธนัช — ใช่ เรื่องออนไลน์อาร์ไคฟ์คือยุคที่ผมมาอยู่ในบริบทของวัฒนธรรมตะวันตก ก่อนที่ผมจะมาเรียนต่อ เวลาอยู่ในโรงเรียนกราฟิกดีไซน์ไทย ผมคอยสังเกตเวลานั่งเรียน ดูว่าเขาสอนอะไรเรา ดูว่าองค์ความรู้นั้นมาจากไหน ผมพยายามจะทำความเข้าใจให้ถึงรากของมัน จะมีรากหรือไม่มีรากผมก็ไม่แน่ใจ พอเรียนไปผมพบว่าในองค์ความรู้กราฟิกดีไซน์ที่เข้ามาใช้สอนในบ้านเรารวมถึงเรื่องไทโปกราฟี ส่วนหนึ่งเป็นความรู้แบบหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงหลังปฏิวัติการพิมพ์ด้วย หลังจากที่หมอบรัดเลย์เริ่มใช้ระบบการพิมพ์และกระดาษแบบเลทเทอร์เพรส (letter press) ในประเทศไทย
ยีน — เพิ่งซื้อหนังสือมาอ่าน (สยามพิมพการ (พิมพ์ครั้งที่ 2, พ.ศ. 2565)) พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย เนื้อหาเริ่มเข้มข้นขึ้นจากตอนแท่นพิมพ์เข้ามาในไทยช่วงประมาณรัชกาลที่ 3-4 บรรณาธิการของเล่มคือคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นนักประวัติศาสตร์
ธนัช — ผมเคยเข้าไปดูอยู่เพราะเขามีพูดถึงเส้นทางดนตรีในบ้านเราอยู่ ฟังไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ อ่านไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าตอนนี้ต้องมองทุกอย่างหลายๆ ด้าน ย้อนไปตอนผมเรียนที่ไทย ตอนนั้นมันก็มีดีเบตที่ไทยหาว่าอะไรคือวัฒนธรรมไทย อะไรไม่ไทย เป็นประเด็นการถกเถียงเชิงอัตลักษณ์ เวลามันมีข้อถกเถียงอันนี้ขึ้นมาปุ๊ป ใครที่จะเป็นคนเคลมความถูกต้องได้ ขึ้นอยู่กับอะไร? อันนี้เป็นคำถามกลับไปของผม ถึงจะกลับไปอ้างอิงนู่นอ้างอิงนี่ ผมก็สงสัยว่ามันอ้างอิงจากอะไรอีก อย่างตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐไทยก็พยายามที่จะเคลมเรื่องอัตลักษณ์ของความเป็นชาติในหลายๆ แง่มุม อย่างเช่นเสาไฟที่เป็นพญาครุฑ พญานาค ที่เป็นทองๆ ฟอนต์แบบเรารักในหลวง รูปหัวใจ หรือฟอน์แบบแหลมๆ ผมก็พยายามหาว่ามันจริงมั้ย และใช้เวลาไปส่วนนึงหาว่าที่มาของภาพแทน (representation) แบบนั้นมาจากไหน ผมมองมันเป็นเหมือนทางเข้า เป็นประตู เป็นพื้นผิวที่รองรับสัญญะ ไทโปกราฟีก็เป็นสัญญะรองรับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ
รูป 3-4 — อัตลักษณ์ความเป็นชาติที่สะท้อนออกมาในสิ่งของและตัวอักษรในมุมมองของธนัช เช่น เสาไฟกินรี ตัวอักษรที่ใช้กับตราสัญลักษณ์ ‘เรารักในหลวง’
ยีน — ไทโปกราฟีเป็นหนึ่งในสิ่งที่รีเสิร์ช แต่จริงๆ แล้วสนใจภาพแทนโดยรวมของความเป็นชาติ?
ธนัช — โดยรวมผมสนใจภาพแทนของความเป็นชาติ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ มันโยงกันหมด และเรื่องเทคโนโลยีที่มันเข้ามาเอื้อให้ภาพแทนเหล่านั้นเกิดขึ้น
ยีน — สนใจเทคโนโลยีของช่วงเวลาไหนเป็นพิเศษมั้ย?
ธนัช — ช่วง 1990-1991 ที่ผมเกิดและต่อมาเรื่อยๆ ช่วงที่เรียกว่าพรีอินเทอร์เน็ตกับโพสต์อินเทอร์เน็ตไปจนถึงเมตาเวิร์ส ผมพยายามจะเข้าใจองค์ความรู้ที่มันไหลเวียนอยู่ในโลก ซึ่งส่วนนึงมันมาจากตะวันตก ผมก็อยากจะรู้ว่าผมต้องเจอกับอะไรถ้ามาเรียนที่ตะวันตก อยากเอาตัวเองมาจุ่มดูในจุดนี้ว่ารู้สึกยังไงก็เลยตัดสินใจมาเรียน
ตอนอยู่ที่ไทยผมได้สัมผัสกับระบบการศึกษาดีไซน์ในไทยแล้วพบว่าการเมืองของภาพแทนในกราฟิกดีไซน์มันเต็มไปหมด ในโรงเรียนผมเห็นการเมืองอย่างนึงแต่นอกโรงเรียนมันไม่ใช่ลอจิกแบบเดียวกันเลย เช่นชุมชนรถแต่ง ร้านสติกเกอร์ เขาไม่ได้มีวิธีการออกแบบเหมือนที่ผมได้เรียนเลย ผมเลยอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คาดว่าอาจจะเป็นเรื่องของอินเทอร์เน็ตรึเปล่า เขาใช้อะไรก็ได้ เอาอะไรมาผสมกันก็ได้ มันเลยเป็นที่มาของความสนใจเรื่องความเข้าใจผิด บิดเบือนให้เป็นเรื่องตลกหรือชวนคิด ไทโปกราฟีคือการให้ข้อมูลก็จริง แต่ถ้าเราเอามาใช้สร้างความสับสนโดยจับนู่นชนนี่ เราจะอ่านอะไรได้บ้างที่ไม่ใช่เพียงแค่อ่านผ่านตัวหนังสือ
ผมขอโชว์ Are.na ให้ดู อันนี้เป็นเหมือนอาร์ไคฟ์ที่ผมสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด หลักๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องบทบาทของวัฒนธรรมทางสายตา (visual culture) กับภาพแทน ผมสนใจว่ามันเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีคิด อุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมโดยรวมของประเทศประเทศหนึ่งยังไง รวมไปถึงอิทธิพลตะวันตกที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่มาตั้งแต่การสร้างแผนที่ การสร้างอัตลักษณ์ที่มากับแนวคิดชาตินิยม การพรีเซ็ทเรื่องการอ่านสัญญะ ภาพแทน และผมก็สนใจว่าเราไปเข้าใจสิ่งนั้นได้ยังไง
ผมขุดไปเรื่อยๆ และพบว่าผมสนใจปรากฏการณ์ที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็สามารถผลิตภาพได้โดยไม่ต้องเข้าไปในกระบวนการศึกษากราฟิก อย่างปรากฏการณ์เรื่องมีมที่มากับการชุมนุม มันเป็นตรรกะเดียวกับการมองชุมชนรถแต่งเสียง ผมเห็นว่าหลังจากเกิดโควิดมีมเหล่านี้มีพลังมาก ในการทำให้คนคิดไปกับมันไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ในเรื่องของการต่อต้านระบบอำนาจนำ เวลารัฐไทยเห็นว่ามีคนสามารถทำอะไรแบบนี้กันเองได้เขาก็เริ่มสร้างเทคโนโลยีบ้าง ผมเจอเอกสารหลายส่วนมากๆ ที่พูดถึงว่ารัฐไทยสร้างทวิตมากระจายข้อมูลปลอมหรือที่รู้กันว่าคือไอโอ (IO: Information Operation หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร”) ทำให้ถูกปิดไปหลายแอคเคาท์ ผมไม่เคลมว่าเอกสารจริงหรือปลอม แต่ผมแค่เห็นว่ามันมีเอกสารที่หลุดออกมาเยอะมาก
ในผ้าเฮดสคาร์ฟที่เราทำ ถ้าสแกนก่อนหน้านี้มันจะไปเจอเว็บไซต์ที่พูดถึงไอโอ แต่ตอนนี้มันหายไปแล้ว นี่คือสาเหตุที่เราสนใจเก็บข้อมูลไว้ก่อนเลย เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตความคิดเกี่ยวกับพื้นที่จัดเก็บมันมีสิทธิ์ที่จะหายไปเลย มีนักทฤษฎีคนนึงพูดว่ามันคือยุคจบสิ้นของประวัติศาสตร์ อันนี้คือไฟล์ .pdf ที่เราเจอตอนนั้น (แชร์สกรีน) แต่กลับไปที่แหล่งข้อมูลตอนนี้จะเข้าไม่ได้แล้ว มันจะขึ้นว่า “เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติปรับปรุงใหม่”
รูป 7-9 — ผ้าคลุมศีรษะจากโปรเจกต์ ‘DOOM LOOP: DISRUPTIVE COLORATION/MEMORY PARASITE (2021)’ ที่ธนัชรวบรวมเนื้อหาและภาพที่กระจัดกระจายจากช่วงเวลาหลากหลายเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ รวมไปถึงรัฐชาติ
ธนัช — จริงๆ ประเด็นหลักๆ ที่เราสนใจพูดตรงๆ เลยก็คือ Psychological Operations (PSYOP) และที่รัฐไทยทำคือ Information Operation (IO) มันมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพรีโปรแกรมสมองเรา เพราะเราอยู่ภายใต้เน็ตเวิร์กที่เชื่อมสมองเราต่อกันไปหมด สองวันที่แล้วไปเจอเรื่อง Collective Unconsciousness มาแต่ยังไม่ได้เซฟ มันพูดถึงว่าภายใต้ภาพที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน มันพรีเช็ทความเชื่อและค่านิยมของเรา เช่นทำให้เชื่อว่าแว่นเป็นสีชมพูได้เท่านั้น ผมรู้สึกว่าในโลกที่มันหมุนเร็ว (acceleration) มันพาเราไปไกลมาก แต่ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจว่าสีชมพูคืออะไรให้ได้ก่อน ผมเจอบทความหนึ่งในบีบีซีที่บอกว่าข้อมูลที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตมันขยายตัวเป็นร้อยเป็นพันเท่าแล้วในแหล่งจัดเก็บ ปัญหาคือเวลาของมันทับถมกันขึ้นไปเรื่อยๆ เราอาจจะละเลยเรื่องของรากฐานของมันที่เป็นแก่นของของสิ่งนั้น อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นมากๆ ที่ตัวเราเองจะต้องเข้าใจ ไม่งั้นเราจะเกิดอคติกับสิ่งต่างๆ เยอะมาก
ผมสนใจเรื่องการสร้างรูปทรงของความเชื่อ เรื่องเล่าที่มันเกี่ยวกับการลดทอนสู่ความมินิมัล ทั้งความงามและเป้าหมาย แต่ในการผลิตงานผมสนใจการทำให้มันซับซ้อนมากขึ้น ที่บอกว่าลดทอน คือผมสนใจการทับถมกันขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผมทำคือผมจะลากเส้นโคจรไปที่ประวัติศาสตร์ของมันแล้วเอาทั้งหมดมากองไว้หน้ามัน ผมจะพยายามเอาของมาชนกัน เหมือนทำรีมิกซ์ในเพลง สำหรับคนทำเพลง การรีมิกซ์มันมีอะไรคล้ายกันอยู่ อย่างตอนที่ผมทำเรื่องดนตรีแด๊นซ์ในบ้านเราตอนปี 2016 ชื่อ Dance Non-Stop Mix ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผัสสะ สิ่งที่เข้ามากระทบกับสมองทำให้เรารู้สึกขัดแย้ง โปรเจกต์นี้มาจากตอนที่เราเปิดเพลงของเราอยู่ที่บ้าน แล้วตรงข้ามบ้านเป็นอู่มอเตอร์ไซค์ เขาเปิดเพลงบีทหนักๆ ตอนที่เรานั่งทำงานเปิดเพลงอยู่ที่บ้านชิลล์ๆ เราเลยสนใจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการขยายการรับรู้ทางความคิดผ่านการกระทำสิ่งเหล่านี้
ถ้าผมพูดไปเรื่อยๆ มันจะเหมือนรากไร้ระเบียบ แต่ผมเป็นยังงี้แหละเพราะผมคิดว่าทุกอย่างเกี่ยวกันหมด
Wanwai Shum (วันไว ชุม)
จากข้อสันนิษฐานว่าความคุ้นชินในการเขียนภาษาบ้านเกิดของนักออกแบบ น่าจะส่งอิทธิพลต่อการมองตัวอักษรและการใช้งานตัวอักษรต่างกัน จึงนึกถึงวันไว นักออกแบบกราฟิกชาวจีน ปัจจุบันทำงานอยู่ในเนเธอร์แลนด์กับ Studio Dumbar ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการทดลองกับตัวอักษรของเธอนั้นมาจากประสบการณ์เขียนอักษรด้วยพู่กันจีนในสมัยที่เรียนในโรงเรียนตอนเด็กๆ
ยีน — การทำงานไทโปกราฟีและกราฟิกของคุณได้รับอิทธิพลมาจากการคัดตัวจีนด้วยพู่กันใช่มั้ย?
วันไว — ใช่เลย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นเลยที่ฉันได้รู้จักกราฟิกดีไซน์และไทโปกราฟี การเรียนเขียนพู่กันจีนมันค่อนข้างมีพิธีรีตรองและเป็นศิลปะ ตอนที่ฉันเรียนไทโปกราฟีที่ยุโรป สิ่งที่พวกเขาแคร์มักจะเกี่ยวกับเรื่องส่วนโค้งส่วนเว้าหรือเคิร์นนิ่ง (kerning) แต่สำหรับฉันตอนที่เรียนเขียนตัวจีนมันเกี่ยวกับจังหวะและการใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปมากกว่า เหมือนการสร้างชิ้นงานศิลปะ ฉันคิดว่ามันคือจุดแตกต่างหลักในการเรียนเกี่ยวกับไทโปกราฟีทั้งสองฝั่ง
ยีน — จุดแตกต่างนี้ส่งผลต่อการทำงานของคุณมั้ย?
วันไว — ส่งผลมากเลย ยกตัวอย่างเช่นการทำงานกับ Studio Dumbar ฉันได้รับโอกาสให้ทำโปรเจกต์ที่ให้อิสรภาพในการสร้างสรรค์ เขายินดีที่จะให้ฉันทำงานกับรูปทรง ทดลองกับจังหวะที่สามารถผสมผสานกับตัวอักษรละติน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลย แต่สำหรับคนที่มีพื้นหลังทางวัฒนธรรมต่างกัน การที่พวกเขาได้เห็นว่าพวกรูปทรงหรือจังหวะมันสามารถเข้าไปอยู่ในไทโปกราฟีได้ด้วยมันน่าสนใจ ฉันคิดว่ามันเปลี่ยนวิธีการทำงานส่วนตัวของฉันมากเหมือนกัน
ยีน — ฉันเห็นว่าตัวอักษรที่คุณสร้างขึ้นมามันลื่นไหลมาก
วันไว — ใช่ เพราะฉันชอบที่จะทำให้มันเหลวๆ น่ะ อาจจะเป็นเพราะที่ยุโรปทุกอย่างมันเป็นเส้นตรงมาก และสนใจในรายละเอียดเล็กๆ ในขณะที่ฉันชอบมองภาพใหญ่มากกว่า ดังนั้นเลยสนใจว่าสโตรกของเส้นมันจะอยู่ยังไงรอบๆ รูปภาพ หรือมันจะเป็นรูปทรงแปลกๆ ได้ยังไงบ้าง
รูป 1 — โลโก้ที่วันไวออกแบบให้กับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ชื่อว่า Unknown Art
จั๊ก — สนใจที่คุณบอกว่าตัวอักษรจีนมันคือเรื่องของอารมณ์ สำหรับในไทยมันมีสองวิธีที่เห็นในการทำงานไทโปกราฟี จะมีแบบที่สนใจฟังก์ชั่นมากๆ เน้นเรื่องการอ่าน และอีกแบบคือทดลองมากๆ ไปเลย สงสัยว่ามันมีความเป็นระบบฐานสองแบบนี้ในจีนมั้ย?
วันไว — โดยทั่วไปแล้วการทำงานไทโปกราฟีมันก็ควรจะอ่านได้ แต่ส่วนตัวฉันสนใจการทดลองมากกว่าในการที่จะสามารถเอาตัวตนใส่ลงไปได้ด้วย คนส่วนใหญ่ของฝั่งออกแบบย่อมอยากที่จะให้มันอ่านได้และมีสัดส่วนที่ดี แต่ถ้าพูดถึงการออกแบบตัวอักษรขึ้นมาเป็นไทป์เฟซชุดหนึ่ง เนื่องจากตัวอักษรจีนมันเยอะมากและแต่ละตัวมันต่างกันมาก ทุกชิ้นมีองค์ประกอบหลายๆ รูปทรงมารวมกัน แต่ละองค์ประกอบก็มีความหมายในตัวมันเองอีก มันใช้เวลานานมากที่จะทำตัวอักษรที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา สำหรับฉันการทำให้มันทดลองไปเลยมันสนุกและง่ายมากกว่า (หัวเราะ)
ตัวอักษรจีนก็มีทั้งซานเซอรีฟ (San serif) และเซอรีฟ (Serif) สำหรับเซอรีฟมันเกี่ยวกับจังหวะ เพราะรูปทรงมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงมันมีเยอะมาก อย่างเช่นเวลาคุณพิมพ์มันออกมา มันเล็กที่สุดได้แค่ไหน ช่องว่างของแต่ละเส้นมันต้องทำยังไง ฉันว่ามันเป็นงานที่มากเกินไปหน่อยสำหรับคนๆ เดียว รวมๆ แล้วก็น่าจะใช้เวลาสัก 5 ปีในการทำตัวอักษรขึ้นมาสักชุดนึง
ยีน — ฉันตามดูสัมภาษณ์ของคุณอยู่ใน It’s Nice That คุณบอกว่าคุณมีโอกาสได้ทำงานแบบทดลองมากขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้เป็นยังไงบ้าง กำลังทดลองอะไรอยู่?
วันไว — ฉันได้ทำโปรเจกต์แรกกับเพื่อน ยู่-เฉิน เฉา (Yu-Cheng Hsiao) ที่ตอนนี้อยู่ปักกิ่ง ในโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘2020 Calendar (2020)’ เราทำอะไรที่ทดลองมากๆ ด้วยการก่อสร้างตัวอักษรจีนเลข 1-12 ออกมาเป็นปฏิทิน เราพบว่ามันน่าสนใจที่ได้เห็นมันเป็นภาพที่ทุกส่วนถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากตัวอักษรจีน เพราะตัวอักษรจีนจริงๆ แล้วมันเป็นภาพนะ เราเลยคิดว่ามันสามารถมองด้วยมุมที่หลากหลายมากกว่าความหมาย ฉันคิดว่าการมองมุมอื่นๆ นั้นช่วยสร้างภาพใหม่ และภาพใหม่นี้มันคือการทดลองทางไทโปกราฟี
รูป 2-3 — โปรเจกต์ ‘2020 Calendar’ ที่นำตัวอักษรเลข 1-12 ที่เขียนด้วยตัวอักษรจีนมาสร้างรูปทรงใหม่
สำหรับตอนนี้ ฉันสนใจว่าฉันจะสามารถทดลองเชิงไทโปกราฟีกับตัวอักษรละตินได้มากขึ้นยังไง ประกอบกับทำวิจัยว่าพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปมันส่งผลต่อวิธีที่ผู้คนเขียนยังไง มันเปลี่ยนรูปทรงของตัวอักษรไปยังไง การรีเสิร์ชนั้นเรียบง่ายมาก แค่สังเกตการเขียนด้วยเครื่องมือที่ต่างกัน เมื่อคนใช้ปากกาที่ไม่ได้มีหมึกเยอะมากเขียน เราจะเห็นความแรนด้อมของจังหวะ อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่ฉันกำลังรวบรวมอยู่ เพราะฉันคิดว่าความแรนด้อมมันน่าสนใจเมื่อประยุกต์เข้ากับการออกแบบไทโปกราฟีที่เน้นความเป๊ะมากๆ
ยีน — คุณดูจะสนใจการทดลองกับรูปทรงของตัวอักษร อะไรพวกนี้มันเกี่ยวข้องกับงานที่ผ่านๆ มาของคุณมั้ย ฉันจำได้ว่าคุณทำงานเกี่ยวกับภาพดิจิทัลที่พังทลาย?
วันไว — ก็ไม่เชิง ในงานเก่าๆ ฉันสนใจโค้ดกับข้อผิดพลาดและภาษาในโลกดิจิทัล ตอนนี้ฉันกลับมามองการเขียนด้วยมือมากกว่า มันเป็นอะไรที่เป็นคนละวิธีการกันเลยในการทำความเข้าใจไทโปกราฟี ก่อนหน้านี้ฉันคิดว่าฉันสนใจชีวิตในโลกดิจิทัลที่มันส่งผลหรือสร้างประเภทของภาษาใหม่ๆ ให้กับเรา ซึ่งมันสามารถเข้าใจได้ผ่านรหัสแบบสุ่มหรือตัวเลขแบบสุ่ม ฉันสนใจว่าภาษาหรือภาพที่ไม่คาดคิดนั้นถูกผลิตออกมาโดยคอมพิวเตอร์ยังไง
จั๊ก — ที่คุณบอกว่ารวบรวมตัวอักษรพวกนั้นคือรวบรวมมาจากไหนบ้างเหรอ คุณสนใจในลายมือของคนใช่มั้ย แล้วที่มาของลายมือพวกนั้นมาจากไหน?
วันไว — ส่วนมากจากเพื่อนนะ แต่ละคนลายมือต่างกันมาก ทั้งจากสตูดิโอ หรือเพื่อนๆ เวลาหยิบปากกาขึ้นมาแบบแรนด้อม ก็สามารถสร้างรูปทรงใหม่ๆ ได้
ยีน — คุณได้รับอิทธิพลเรื่องการมองไทโปกราฟีจากภายนอกบ้างมั้ยตอนที่อยู่ที่จีน? อย่างในภาษาไทยฉันตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อสักยี่สิบปีที่แล้วคนเริ่มเขียนลายมือแบบน่ารักกันเต็มไปหมด สันนิษฐานว่ามาจากอิทธิพลของลายมือน่ารัก (maru-moji) ที่มากับวัฒนธรรมคาวาอิและสินค้าเครื่องเขียนญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามเย็น (หลัง 1970) และเข้ามาถึงไทยช่วงที่ญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันไว — ไทโปกราฟีที่ส่งผลกับฉันคือสิ่งที่ฉันเห็นจากฮ่องกง จริงๆ แล้วตอนเด็กๆ หรือแม้กระทั่งตอนนี้ ฉันได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเยอะมากจากฮ่องกง ฮ่องกงเป็นสถานที่ที่ทดลองและทำอะไรที่สนุกอย่างมากในเชิงไทโปกราฟี ไม่ว่าจะเป็นกับทีวี บนท้องถนน หรือหนังสือพิมพ์ ฉันได้เห็นฟอนต์หลากหลายและแตกต่างกันมากๆ ทั่วเมือง ซึ่งมันส่งอิทธิพลต่อการทำงานไทโปกราฟีของฉันมากทีเดียว
รูป 4 — ภาพของตัวอักษรจีนที่ใช้ในป้ายและสื่อต่างๆ ในฮ่องกงในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ที่หล่อหลอมวิธีการมองตัวอักษรของวันไว
จั๊ก — แยกออกระหว่างงานออกแบบของนักออกแบบฮ่องกงกับนักออกแบบจีนได้ด้วยเหรอ?
วันไว — ฮ่องกงจะเชิงพาณิชย์กว่าและมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าในเชิงงานออกแบบ มันเป็นเมืองที่ค่อนข้างนานาชาติ และชาวตะวันตกอยู่ที่นั่นเยอะมาก เขาเลยรู้เรื่องการออกแบบมากกว่าที่จีน ที่จีนแผ่นดินใหญ่ก็รู้มากขึ้นเกี่ยวกับการออกแบบแล้วนะ แต่ว่าก็ยังคงติดกับมาตรฐานความสวยงามแบบเดียว แต่นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ เริ่มทดลองมากขึ้นแล้วล่ะ ฉันคิดว่าตอนนี้งานในจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มน่าสนใจกว่าในฮ่องกงแล้ว แต่ก่อนหน้านี้สมัยที่ฉันยังอยู่ที่โรงเรียน ฉันพบกว่าฮ่องกงก้าวหน้ากว่าที่จีนมาก
ยีน — แล้วสามารถแยกการออกแบบในแต่ละภูมิภาคของจีนได้มั้ย?
วันไว — ค่อนข้างเศร้าที่มันคล้ายๆ กันทุกอย่าง ถ้ามองไปที่ฮ่องกงหรือไต้หวันคุณจะเห็นความแตกต่างมากกว่าในการออกแบบ ฉันรู้สึกว่าฉันต้องคอยมองหาสิ่งต่างๆ จากที่อื่น เพราะถ้ามองไปแต่ที่องค์กรใหญ่ๆ ในจีน มันจะค่อนข้างเหมือนกันหมด และทุกที่ใช้ Helvetica อย่างเพียนเพียนที่คุณเคยสัมภาษณ์เขาทำงานน่าสนใจมากนะ แต่คุณจะพบได้จากสตูดิโอเล็กๆ มากกว่านั่นแหละ
ยีน — ในประเทศไทยก็เป็นอะไรคล้ายๆ แบบนั้นนะ
จั๊ก — โดยเฉพาะในวงโฆษณา
วันไว — สำหรับฉันการได้เห็นคาแรกเตอร์ในงานมันน่าสนใจกว่ามาก
จั๊ก — ในโอกาสแบบไหนหรือประเภทงานแบบไหนที่คุณเอาตัวอักษรจีนเข้าไปใช้ในงานบ้างที่ยุโรป?
วันไว — สำหรับคนตะวันตกเขาไม่เข้าใจภาษา ดังนั้นเขาเลยชื่นชมมันผ่านรูปฟอร์ม สำหรับพวกเขาอาจจะเรียกว่าเอ็กซอติก การเป็นคนเอเชียที่เรียนหรือทำงานในยุโรปมันไม่มีโอกาสเท่าไหร่ที่จะมีโอกาสได้แสดงศักยภาพผ่านรูปแบบไทโปกราฟีจากภาษาของตัวเอง ฉันคิดว่าน่าจะดีถ้ามีโอกาสได้ใช้มันเพื่อพูดถึงวัฒนธรรมเอเชียมากขึ้น
รูป 5 — ภาพผลงานอัตลักษณ์นิทรรศการ ‘Ancestral Fortune (2021)’ ให้กับพื้นที่ทางศิลปะ MAMA ในรตเตอร์ดัม คิวเรตโดยฮันนี่ ไกรวีร์ ศิลปินอิสระและคิวเรเตอร์ชาวไทยที่พำนักอยู่ที่รตเตอร์ดัม
พชร์ เอื้อเชิดกุล (เพชร)
จากความสนใจเรื่องน้ำเสียงที่ยังขาดไปในตัวอักษรไทย จึงอยากพูดคุยกับนักออกแบบตัวอักษรที่สนใจการออกแบบตัวอักษรไทยรุ่นใหม่ๆ ไม่นานมานี้ก็ได้มีโอกาสเห็นผลงานของสตูดิโอออกแบบเปิดใหม่ชื่อว่า Recent Practice หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจคือตัวอักษรที่ชื่อว่า ‘หวย (2020)’ โดย เพชร หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอ จึงได้ติดต่อเพื่อพูดคุยถึงความคิดเห็นที่มีต่อการออกแบบตัวอักษรไทยในเวลานี้
ยีน — มองภาพรวมของตัวอักษรไทยยังไง?
เพชร — ขอมองเทียบกับช่วงก่อนที่เราจะมาโฟกัสที่การออกแบบตัวอักษรละกัน ซึ่งคือสามสี่ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่าประมาณปี 2020 หลังจากที่เรากลับมาจากเรียนต่อที่ Maryland Institute ก็เห็นคนทำเยอะขึ้นมากๆ แต่สิ่งที่สวนทางคือความหลากหลายของรูปแบบและคุณภาพ มันไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นตามจำนวนคนที่สนใจ แต่มันก็คงกำลังเติบโตอยู่ ก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก
จั๊ก — ที่ว่าเยอะขึ้นดูมาจากไหนบ้าง?
เพชร — เราเห็นจากที่คนแชร์เรื่อยๆ พวกรายย่อยที่มีจำนวนเยอะขึ้น อย่าง “fontcraft” หรืออย่างเว็บ f0nt เรานึกว่าจะตายแล้ว เพราะมีแต่หน้าเก่าๆ มาอัพเดท แต่แบบ อ้าว ไม่ตายว่ะ อยู่ๆ มันก็บูมขึ้นมาในช่วงสองปีนี้ แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามาจากไหน แล้วก็เห็นมีเพจ in font of หรือว่ากลุ่ม Prachatipatype เราว่ามันมีสื่อเกี่ยวกับฟอนต์เยอะขึ้นเฉยเลย ทั้งที่ก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรขึ้นมา ก็แปลกดี
ยีน — หรือคนมีเวลามากขึ้นช่วงโควิด เลยมีเวลาว่างทำ?
เพชร — เออ มีสิทธิ์
จั๊ก — กลับมาที่เรื่องสวนทางกับคุณภาพคือยังไงนะ?
เพชร — พอจำนวนมันเพิ่มขึ้น แทนที่คุณภาพมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปตาม มันกลับมีอยู่เท่าเดิม
จั๊ก — ช่วยเล่าแบบ 101 ให้ฟังหน่อยว่าเวลาจะดูคุณภาพ เราดูจากคุณสมบัติอะไรบ้าง?
เพชร — ภาษาไทยดูง่ายมากเลย มันจะมีพวกสระ วรรณยุกต์ทับยั้วเยี้ยไปหมดเลย ภาษาไทยเป็นการทำที่เหนื่อยเพราะมันต้องใช้ส่วนของคุณภาพเยอะมากๆ แล้วพอไม่ทำมันจะเห็นชัดมาก ทั้งเรื่องสระลอย สระจม วรรณยุกต์ลอย จม เช่น ญ สระ อุ ที่หางของ ญ ยังไม่ถูกจัดการ ก็ทับกัน หรือพวก ใ ไ ที่ไปเกยกับสระข้างหน้า อันนี้เบื้องต้นนะ
ยีน — แล้วเรื่องความหลากหลายของฟอนต์ล่ะ?
เพชร — เราว่ามันหลากหลายตั้งแต่ก่อนเราไปเรียนต่อละ มีทั้งลายมือ ทั้งฟอนต์แนวลูกทุ่ง สิบล้อ ตัวริบบิ้น นริศ แล้วพอกลับมาปุ๊บ มันก็ยังวนอยู่เท่านี้ ถ้าเทียบกับเว็บอย่าง dafont หรือ font squirrel ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คล้ายๆ กับ f0nt เราว่าหลากหลายกว่านี้
ยีน — คนออกแบบตัวอักษรมองตัวอักษรเป็นตัวแทนของน้ำเสียงหรือเปล่า?
เพชร — แรกๆ เรามองอย่างนั้นนะ ช่วงที่เรากำลังเปลี่ยนโฟกัสมาทำไทป์ดีไซน์จริงจัง อย่างทีสิสจบที่อเมริกา เราก็ยังทำฟอนต์ที่สะท้อนตามอารมณ์ (‘State‘ (2019)) แต่หลังจากจุดนั้น เรามองเป็นอีกแบบไปแล้ว ความเป็นน้ำเสียงก็ยังมีอยู่นะเวลาทำคัสตอมฟอนต์ (custom font คือฟอนต์ที่ถูกทำขึ้นใหม่เพื่อลูกค้าหรือองค์กรนั้นๆ โดยเฉพาะ) เรายังใช้เรื่องน้ำเสียงในการอธิบายลูกค้าเพราะมันเห็นภาพมากกว่า แต่สิ่งที่โฟกัสเพิ่มขึ้นมาคือเราพยายามจะเล่นกับความเป็นไปได้ของรูปทรง ในกรณีที่มันจะส่งผลต่อความสามารถในการอ่าน ว่าเราจะเล่นกับมันได้แค่ไหน เราไปสนุกกับการเล่นกับฟอร์มตรงนี้มากกว่า เหมือนเรารีเสิร์ชไปเรื่อยๆ แล้วเห็นว่าฟอร์มนี้มันยังไม่มีคนทำเลย ถ้าเราทำจะเป็นไงวะ จะมีปัญหาอะไรมั้ย จะอ่านออกหรือเปล่า พอลองแล้วอ่านไม่ออกก็โอเคไม่ทำก็ได้
รูป 1 — ตัวอย่างฟอนต์ State ที่นำเสนอแบบ Variable font
จั๊ก — ก็คือมีสองทาง หนึ่งคือ Form Follows Function นึกถึงการใช้งานก่อน จะไปใช้บนอะไรบ้าง น้ำเสียงที่ตอบโจทย์การสื่อสาร กับสองคือ Function Follows Form ซึ่งจะเริ่มจากความเป็นไปได้ของรูปทรงแบบที่พี่เพชรกำลังสนใจตอนนี้
เพชร — ใช่ๆ งานลูกค้าก็จะเป็นแบบแรก งานส่วนตัวจะเป็นแบบสอง
จั๊ก — แล้วฟอนต์ ‘หวย’ เป็นแบบไหน?
เพชร — จะกึ่งๆ เพราะเรามีโจทย์จากตอนสมัยเรียนเป็นกรอบ แต่ขณะเดียวกันเราก็ดื้อทำตามใจฉันพอสมควร
รูป 2 — น้ำหนักต่างๆ ของฟอนต์หวย
จั๊ก — โจทย์นั้นคืออะไร?
เพชร — ต้องเป็นฟอนต์แบบตัวเนื้อความและต้องกำหนดว่าจะใช้บนสื่อไหน ซึ่งจะต้องกำหนดละเอียดเลย เช่นจะใช้กับนิตยสารกีฬา แล้วเราก็ดื้อไม่ฟังคอมเมนต์เลย คิดว่ามันต้องทำแบบนี้ได้สิวะ
จั๊ก — กำหนดไว้ว่าจะใช้กับสื่ออะไร?
เพชร — เราคิดซื่อๆ เลย ว่าจะใช้บนหวยนี่แหละ เราเริ่มจากรีเสิร์ชว่าหวยตอนนี้ใช้กี่ฟอนต์ ก็เลยเห็นว่าฉิบหายละ 6-7 ฟอนต์เลย ตอนแรกกะจะหยิบหนึ่งตัวมาพัฒนาต่อ แต่ปรากฏว่าหนึ่งใบมันมีฟอนต์ยั้วเยี้ยไปหมดเลย เราก็เลยล้างใหม่ ไม่ต้องใช้บนหวยแล้วก็ได้ แต่ต้องพยายามหาสื่อให้มันอิงกับชาติตัวเอง เพราะเพื่อนคนอื่นก็อิงกับชาติตัวเองหมดเลย เพื่อนจีนทำกับเต้าหู้ยี้ ก็รู้สึกว่าอยากทำไรสนุกๆ แบบนี้บ้าง
รูป 3 — ภาพรีเสิร์ชตัวอักษรที่นำมาใช้ในการออกแบบฟอนต์หวย
บวกกับเรามีคำถามนึงที่ติดอยู่ในใจมานาน คือทำไมฟอนต์ไทยไม่มีหัวถึงต้องหน้าตาคล้ายภาษาอังกฤษขนาดนั้น เช่น ทำไม ล ต้องใกล้ a ร กับ s ท กับ n รูปทรงมันแปลกกว่านี้ไม่ได้เหรอ ส่วนโค้งมันเยอะกว่านี้ไม่ได้เหรอ แล้วตอนนั้นเราได้เรียนคาลิกราฟี (calligraphy) ของตัวละติน เลยเพิ่งเริ่มเจอว่าการเขียนตัว n มันไม่เหมือนเวลาเขียน ท คือเวลาเขียนตัว n เราต้องลากสองเส้น เกิดการยกปากกา ในขณะที่ ท ไม่ต้องยก ลากเส้นเดียวจบ ก็เลยเกิดไอเดียว่าในเมื่อตัวละตินมีอิทธิพลกับไทยได้ งั้นเราเอาไทยกลับไปมีอิทธิพลกับละตินได้มั้ย โดยที่ไม่ใช่การมีอิทธิพลแบบตรงไปตรงมาหรือจับยัด เลยเลือกเอาประเด็นการเขียนไม่ยกมือของไทยไปใส่ในละติน ซึ่งส่วนใหญ่จะเขียนยกมือ บวกกับเราใช้อ้างอิงจากพวกป้ายลายมือแถวบ้าน ขายที่ดิน ขายหอ ขายคอนโด ลายมือวินมอเตอร์ไซค์ ลายมือคนในตลาด คือถ้ามีใครถามว่าทำไมยังใช้ชื่อหวย เราก็จะบอกว่าเราเอามาจากลายมือคนซื้อหวย เราเอามานั่งดูแล้วก็คิดว่าอยากเก็บวิธีการเขียนแบบไหนไว้ แล้วเอาวิธีที่ได้ไปวาดตัวละติน พอวาดตัวละตินเสร็จ ก็ล้างเรฟเฟอเรนซ์พวกนั้นทิ้งหมด แล้วเอาผลลัพธ์ตัวละตินที่ได้กลับมาวาดภาษาไทย ตัวไทยที่ได้ก็จะไม่เหลือเค้าภาพเรฟเฟอเรนซ์เดิมเลย
รูป 4 — โปสเตอร์ตัวอย่างการใช้งานฟอนต์หวย ทุกน้ำหนักในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ยีน — ต่างชาติเห็นตัวละตินของหวยแล้วรู้สึกยังไง?
เพชร — สิ่งที่เราอยากให้เขารู้สึกคืออ่านออกเลย ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามันมาจากอะไรก็ได้ เพราะย้อนกลับไปโจทย์แรกที่ต้องทำตัวเนื้อความ ดังนั้นถ้าคนดูแล้วต้องคิดว่านี่ตัวอะไรคือไม่โอเคละ จริงๆ การเขียนแบบไม่ยกมือในตัวละติน จะมีอยู่ในการเขียนคาลิกราฟีแบบที่เรียกว่า Upright Italic แต่ตัวของเราจะไม่ได้คล้ายกับตัวอักษรตระกูลนั้น
จั๊ก — ต่างชาติเห็นตัวละตินแล้วรู้สึกมั้ยว่าคนทำต้องไม่ใช่เจ้าของภาษาแน่เลย
เพชร — ไม่ อิงจากอาจารย์นะ มีบางคนที่รู้สึกว่าคนทำน่าจะรู้วิธีการเขียนตามขนบดี แต่เลือกที่จะไม่ทำตาม และบางคนที่รู้สึกว่ามันต้องเป็นการเขียนที่ผสมมาจากการเขียนของภาษาอื่นแน่เลย หนึ่งในความยากของฟอนต์ลายมือแบบนี้คือ มันมีรายละเอียดที่ต้องตัดสินใจเยอะว่าจะเก็บอะไรไว้บ้าง ถ้าเก็บอะไรไว้ ก็ต้องกระจายใช้ให้ทั่วทั้งระบบ แล้วมันต้องทำไปตรวจสอบไป ว่าพอมาลองเขียนแล้วมันเขียนแบบนี้ได้จริงมั้ย
จั๊ก — สรุปหวยจัดอยู่ในหมวดฟอนต์ลายมือเหรอ
เพชร — นั่นดิ คือถ้าต้องติดแท็กก็คงติด handwriting นะ ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่ามันก้ำกึ่งมากๆ จั๊กคิดว่าไง?
จั๊ก — ก็รู้สึกว่ามันคือลายมือนะ แต่ไม่ได้ดิบเท่าฟอนต์ลายมือทั่วไป ดิบในความหมายที่ว่าเอาลายมือที่เขียนมาลงโปรแกรมเลย ซึ่งของพี่เพชรมันแปลงมาเยอะ ไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น
เพชร — ใช่
จั๊ก — ซึ่งฟอนต์ที่อยู่กึ่งๆ แบบนี้ดูมีไม่ค่อยเยอะเนอะ
เพชร — เราว่ามันใช้งานยาก คนเลยไม่ค่อยทำ พอทำเสร็จถูกถามว่าจะเอาไปใช้ในไหน เราก็แบบ เออไม่รู้ คือทำสนองไอเดียตัวเองไว้ก่อนเลยงานนี้ พอต้องทำตัวอย่างการใช้งานไปให้คนอื่นดูถึงค่อยมานึกว่าจะใช้บนอะไรบ้างดี
จั๊ก — ตัวที่สะดุดตาสุดในเซ็ตคือ ห อันนี้เป็นตัวไฮไลท์รึเปล่า?
เพชร — ก็คงงั้น แต่จริงๆ ตัวที่เราทำแล้วพอใจกับตัวเองสุดคือ G ทั้งที่หน้าตาออกมาอาจจะดูธรรมดา แต่เราหาวิธีเขียนมันนานมากเลย
จั๊ก — น้ำหนักไหนของหวยที่ภูมิใจนำเสนอสุด?
เพชร — Black
รูป 5 — เวทหรือน้ำหนักตัวอักษรแบบ Black ของฟอนต์หวย
ยีน — ใช้เครื่องมืออะไรเขียน?
เพชร — ปากกาหัวตัด
ยีน — ใช้เวลาทำนานมั้ย?
เพชร — ถ้าตามปกติ 2 ภาษาก็ 2-3 เดือน แต่ถ้าอังกฤษอย่างเดียวจะเร็วกว่าเพราะเราวาดอังกฤษจนคุ้นละ
ยีน — ชอบทำฟอนต์ไทยมั้ย?
เพชร — ตอนแรกรู้สึกว่าอยากทำมากเลย แต่พอทำไปได้ 2-3 ตัว เริ่มเหนื่อยละ มันมีรายละเอียดที่ต้องเก็บเยอะกว่าที่คิดไว้มาก เยอะกว่าภาษาอังกฤษเยอะเลย โดยเฉพาะส่วนเอ็นจิเนียริ่งที่ทำตอนหลังเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาตอนพิมพ์
จั๊ก — คิดยังไงกับฟอนต์ที่ทดลองมากๆ
เพชร — อิจฉานะ บางทีเราก็อยากทำแบบนั้นบ้าง แต่มันทำไม่ไป เพราะตามันแคร์การอ่านออกไปแล้ว เราก็จะไม่กล้าวาดอะไรที่มันเพี้ยนสุด เหมือนพอรู้หลักการไปแล้ว มันกลับไปไม่รู้ไม่ได้แล้ว
เราต่างคุ้นเคยกับการโหลดฟอนต์จากแฟลตฟอร์ม f0nt.com มาตั้งแต่สมัยยังไม่ได้เรียนออกแบบอย่างจริงจัง เมื่อได้มีโอกาสค้นคว้าเรื่องตัวอักษรทำให้เราคิดว่าอยากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในแพลตฟอร์มทั้งในเชิงความหลากหลายของรูปฟอร์ม ความนิยมในการออกแบบและดาวน์โหลดไปใช้งาน ในพื้นที่ที่เรียกว่าอยู่ก้ำกึ่งระหว่างมืออาชีพและมือสมัครเล่นของนักออกแบบตัวอักษร
iannnnn (แอน)
วิเคราะห์ด้วยข้อมูลที่ดึงมาจากแพลตฟอร์ม เราได้นำข้อสังเกตและข้อสงสัยไปสอบถามกับผู้ก่อตั้งคุณแอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ iannnnn ว่าแพลตฟอร์มตั้งแต่เริ่มเปิดเว็บไซต์มาตั้งแต่ปี 2004 เว็บ f0nt ได้เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
จั๊ก — พอเริ่มมีโซเชียลมีเดียมาก็เริ่มไม่ได้เข้าเว็บอะไรโดยตรง ส่วนมากจะเข้าจากเฟซบุ๊ก แต่พอต้องรีเสิร์ชก็เลยไปดูในเว็บ f0nt ดูข้อมูลหลังบ้านอย่างที่ส่งให้คุณแอนดู
แอน — มันละเอียดมากเลยครับ ประทับใจในการทำการบ้าน
จั๊ก — เหมือนเว็บก็เก็บข้อมูลแบบมีสตรัคเจอร์ประมาณนึง ดึงเอาไปใช้ต่อได้เลย แล้วก็เซอร์ไพรส์ในแง่ที่มันแอคทีฟอยู่มาก และมีฟอนต์อัพเดทอยู่เรื่อยๆ นึกว่าคนเลิกปล่อยฟอนต์ในเว็บบอร์ดกันแล้ว เลยอยากถามว่ายุคหลังโซเชียลเป็นต้นมา ลักษณะของคนที่มาใช้งาน f0nt เป็นยังไง และเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?
แอน — ความจริงเรื่องที่ผมจะพูดฟังดูแล้วอาจจะเป็นมายเซ็ตโบราณของคนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพราะตัวเว็บฟอนต์มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2004 แน่ะ ตามสแตทที่ดูมา จำนวนฟอนต์ไปพุ่งสุดขีดที่ปี 2005 ที่ใครๆ ก็กระโดดลงมาก็เพราะโนวฮาวภาษาไทยมันยังไม่มี แต่พอมีอินเทอร์เน็ตมันมีคนที่รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เข้ามาแชร์มาช่วยกันทำ เมื่อก่อนทุกคนกระโดดเข้าไปในเว็บบอร์ดเค้าออนกันเหมือนห้องแชทเลยครับ เราจะเห็นว่ามีสองร้อยคนกำลังออนอยู่และนั่งคุยกันอย่างดุเดือด แล้วก็จะมีคนที่เข้ามาเพราะว่าชื่อเว็บฟอนต์แต่จริงๆ แล้วเขาก็สนใจเรื่องดีไซน์ ศิลปะ การถ่ายภาพหรือเทคโนโลีอื่นๆ ด้วย ก็พบว่าเขาก็กระโดดเข้ามาคุยกันเรื่องอื่นๆ ด้วย เหมือนคอมมูนิตี้ทุกวันนี้น่ะ ต้องบอกก่อนว่าตัวเว็บไม่ได้ถูกออกแบบมาเป็นแพลตฟอร์มที่มองอนาคตไปไกลมาก แค่รู้สึกว่าอยากทำ และมองเป็นสหกรณ์ฟอนต์ เอามารวมกันแล้วปล่อยให้แจกฟรี ถ้าใครที่เอาไปใช้แล้วมาบอกก็จะดีใจ กลุ่มคนที่ทำฟอนต์มากที่สุดในเว็บฟอนต์ตอนนั้นจะเป็นเด็กมัธยมถึงมหาลัย มันเป็นเว็บงานอดิเรกจริงๆ
พอมาปี 2008 กลุ่มคนที่เคยเข้ามาคุยสัพเพเหระเขาไปใช้สื่ออื่น เว็บบอร์ดในประเทศไทยผมว่าสิบแห่งน่าจะตายเก้าแห่ง แต่ตัวเว็บฟอนต์ยังอยู่ได้ และที่อยู่ๆ ก็กลับมาในช่วงนี้ก็คือหมวดที่คนเอาฟอนต์มาซับมิท กับสอบถามเรื่องออกแบบ ทุกวันนี้ก็ยังแอคทีฟเหมือนเดิมและพุ่งกว่าเดิมด้วย เข้าใจว่ามันเป็นร่องของเทคโนโลยีพอดี อย่างที่บอกตอนแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนกว่าจะได้ฟอนต์ฟอนต์นึงขึ้นมานี่หัวผุเลย ต้องพยายามจะหาวิธีแกะฟอนต์ภาษาอังกฤษมาให้มันแสดงผลอย่างถูกต้องกับภาษาไทย แต่พอมีเทคโนโลยี มีโปรแกรมทำฟอนต์ มีไอแพดที่ทำฟอนต์ได้ คนก็เห็นว่ามันทำง่าย แค่กูเกิ้ลหาว่าทำยังไงก็ทำได้แล้ว ในสแปนที่หายไปสิบกว่าปีเนี่ย คนที่ทำจริงๆ เหลือแต่มืออาชีพ เช่นเขาเป็นฟรีแลนซ์ ดีไซน์เนอร์ ฟาวดรีเล็กๆ ที่ทำฟอนต์ขายแล้วก็ปล่อยตัวทดลองมาให้ใช้ดูก่อน ถ้าสนใจก็ค่อยไปซื้อ หรือกลุ่มที่ใหญ่ๆ ไปเลยคือร้านทำป้าย ก่อนหน้านี้คนที่ทำป้ายคือเขียนมือใช่มั้ยครับ วันนึงพอไวนิลมาทุกคนก็กระโดดไปทำไวนิล แล้วทักษะการเขียนมืออันเป็นเอกลักษณ์ของวงการป้าย งานบุญ งานบวชของประเทศไทย งานกระถินก็โดดมาอยู่ในฟอนต์กันเพราะคนทำป้ายเขาเห็นว่ามันทำง่ายนี่นา ใช้แค่โปรแกรมเว็กเตอร์บางตัว มันก็เป็นลูปคล้ายๆ กันน่ะครับ เขาก็เข้ามาดู เอาไปพัฒนาแล้วก็เอามาขาย จนในที่สุดบางคนหันมาทำฟอนต์อย่างเดียว
จั๊ก — เช่นครีเอเตอร์คนไหนนะคะที่ทำป้ายแล้วผันตัวมาทำฟอนต์?
แอน — มีหลายคน เช่นคุณ “witawas วัสโวยวาย” หรือ ”บางลี่โฆษณา” เป็นฟอนต์แนวลูกทุ่งไทยที่ฮิตมาเลยในช่วงนึง“SBFONT” “เจเคจิ้ง” สิงห์สติกเกอร์ท้ายรถกระบะอะไรยังงี้ มีคนนึงที่เขาทำร้านสติกเกอร์ท้ายรถกระบะแล้วก็ทำสิ่งนั้นมาตลอดเหมือนเป็นลายเซ็นของตัวเอง กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ทำอาชีพประมาณนี้กระโดดเข้ามาทำฟอนต์จริงจัง แล้วก็ทำมาขาย ภาพลักษณ์ของเว็บฟอนต์ที่เป็นลายมือวัยรุ่นหนักๆ เลยก็จะลบหายไปมาเป็นสิ่งนี้แทน
มันน่าสนใจว่าคนที่ทำในช่วงสิบปีที่สูญหายคือกลุ่มสติกเกอร์ พอเขาไปเผยแพร่กันในกลุ่มมันก็จะมาเยอะ แต่ตอนนี้ก็จะกลับมาที่คนทำลายมือ อย่างที่บอกว่าเพราะมันมีแอพชื่อ iFontMaker ในไอแพด ทุกคนสามารถทำฟอนต์ได้ง่ายๆ เลย สามารถหลับหูหลับตาทำจบในสิบนาทีได้ แต่เทรนด์ของเว็บฟอนต์ตอนนี้มันก็จะมีแนวอัตลักษณ์องค์กร เดี๋ยวนี้กลุ่มสตูดิโอทำอะไรแบบนี้กันเยอะ เช่น “fontcraft”
จั๊ก — ลองไล่เฟสถ้ายังงั้นแรกๆ เลยจะเป็นเด็กมัธยม มหาลัย อะไรแบบนี้ใช่มั้ยคะ จากนั้นก็เป็นคนสายอาชีพทำป้ายทำอะไรขาย พอเทคโนโลยีง่ายขึ้นก็มาทำดิจิทัลกัน และอยากลองไปดูเลยว่าฟอนต์แนวลูกทุ่งแนวป้ายสติกเกอร์นี่มันเป็นยังไง ตอนแรกยังไม่ดูฟิลเตอร์ดูพวกนั้นละเอียด
แอน — น่ากลัวมาก ชอบชอบ (หัวเราะ) ส่วนเรื่องความนิยม ถ้าดูระดับความพุ่งปี 2019 คิดว่า 1 ฟอนต์ จะปรากฏอยู่ประมาณ 7 วันต่อ 1 ตัวแล้วค่อยๆ ขยับถี่ขึ้นเรื่อยๆ คนก็จะต่อคิวกัน พอปี 2020 ก็ขยับเป็น 5 วันต่อฟอนต์ 4 วันต่อฟอนต์ 3 วัน วันเว้นวัน ล่าสุดคือทุกวันต้องมีฟอนต์ใหม่
จั๊ก — เอ๊ะ การจองคิวมันเหมือนกับว่าถ้าเราโพสต์ของวันนั้นมันจะได้ขึ้นมาเป็นฟอนต์แรกรึเปล่า เขาจองคิวกันยังไง?
แอน — โพสต์ในเว็บบอร์ดข้างหลังเนี่ยแหละ ง่ายๆ เลย เหมือนยืนต่อแถวกันน่ะครับ ไปดูในเว็บบอร์ดได้ ก็มีกติกา ทุกคนก็จะรู้กันว่ามาปั๊บขอจองคิวหนึ่งสองสามสี่ห้า ระบบจองคิวนี้ก็ค่อยๆ ปรับปรุงมาเรื่อยๆ ต้องมีการขอดูด้วยว่าฟอนต์ที่จะอัพมันสมบูรณ์พอที่จะใช้ได้ด้วยรึเปล่า เรื่องดีไซน์ก็แล้วแต่คน
ยีน — คนที่อัพขึ้นไปก็คือคุณแอนเองใช่มั้ย?
แอน — มันยังเป็นระบบบรรณาธิการอยู่เลยครับ ทุกคนสามารถเข้าไปอีดิทฟอนต์เองได้ แต่การอัพต้องผ่านแอดมิน นี่ก็เป็นสิ่งที่เชยนะใน พ.ศ. นี้ แต่คิดว่าปัจจุบันนี้ถือว่ายังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอยู่ ไม่เละไปทางนึง
จั๊ก — คุณภาพต้องประมาณไหน ฟอนต์แบบไหนที่ไม่ให้ผ่านเลย?
แอน — ตัวดีไซน์เราไม่มีปัญหาเลย อยากดีไซน์แค่ไหนก็ได้ บางคนดีไซน์แบบล้ำจักรวาลก็ยังสามารถขึ้นได้ แต่ถ้าพิมพ์ปั๊ปแล้วมีปัญหา เราจะมีการคริติกกันอยู่ข้างหลังนิดนึง เช่นป ปลา กับสระมันตีกัน มันเหมือนมีคนมาช่วยกันดูกันแนะ รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง คนที่เข้ามาใหม่หัดทำ คนที่ทำแล้วมีปัญหาก็จะมาถาม ถ้าใช้ได้ก็ปล่อย ปิดงานได้ รีลีสได้
จั๊ก — การคอมเมนต์นี่มันเกิดขึ้นในเว็บบอร์ดเหรอคะ?
แอน — ใช่
จั๊ก — (หัวเราะ) โอ๊ย อันนี้เอาจริงเซอร์ไพรส์หลายเรื่องมาก
ยีน — คนที่ยังแอคทีฟนี่อยู่กันมานานแล้วรึเปล่าคะ?
แอน — ก็ไม่เชิง คนเก่าๆ ก็แวะมาบ้าง แต่ด้วยความที่ผมเป็นเจ้าของเว็บผมก็กดเข้าไปดูทุกวัน แต่ถ้าคนทั่วไปออกแบบแล้วไม่ลงตัวซะทีก็จะมีคนเข้ามาช่วยแก้ให้
จั๊ก — แสดงว่าเจ็ดร้อยกว่าฟอนต์ที่มีอยู่ในเว็บตอนนี้ผ่านตาคุณแอนมาหมดแล้วใช่มั้ยคะ เขาจะส่งเป็นไฟล์ฟอนต์มาให้แล้วคุณแอนก็ต้องโหลดมาแล้วก็ลองพิมพ์เหรอคะ?
แอน — ใช่ๆ
จั๊ก — ดูใช้พลังเยอะกว่าที่คิด
แอน — แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระเลยนะ ผมคิดว่ามันดีที่ผมได้คอนทริบิวท์อะไรสักอย่างให้กับโลก ฟอนต์มันมีลักษณะคล้ายกับซอฟแวร์คือพอปล่อยออกมามันก็ยังมีอะไรให้แก้ได้ บางคนอาจจะโหลดไปใช้แล้วพบปัญหาก็จะคอมเมนต์ตรงใต้โพสต์ หรือเอาไปลงในเพจในทวิตแล้วเราก็มาแจ้งคนทำฟอนต์อีกที ซึ่งมันก็จะมีความเป็นเวอร์ชั่นอยู่นะน่ะตัวฟอนต์นี้
จั๊ก — มีการบอกกันเรื่องการจัดกลุ่มติดแท็กฟอนต์ในเว็บบอร์ดมั้ย?
แอน — มีทั้งเราติดเอง แล้วเขาก็เสนอมาก็มี แท็กมันอาจจะงงๆ นิดนึงนะ เพราะเมื่อสมัยก่อนเคยรื้อเว็บทีนึงตอนที่มีฟอนต์อยู่ประมาณสองสามร้อยตัว ตอนนั้นระดมคนในคอมมูนิตี้มานั่งล้อมวงกัน มีโน้ตบุ๊คมาคนละตัวเพื่อย้ายเว็บจากที่นึงไปที่นึง อาจจะแท็กไม่ได้มาตรฐานบ้าง โทษคนอื่นไว้ก่อน (หัวเราะ)
จั๊ก — มันเคยมีซีนที่แบบทุกคนเอาคอมมาสุมหัวทำด้วยกันด้วย
แอน — ผมถึงได้บอกว่าคอมมูนิตี้มันแข็งแรงขนาดนี้เลยนะ เคยมีทีเคพาร์คเชิญไปสอนทำฟอนต์ ก็ระดมคนไปสิบกว่าคนไปสอนก็มี โดยที่ไม่ได้ตังค์ได้อะไรตอบแทน มันเหมือนเป็นอุปนิสัยของคนในยุคเว็บบอร์ด ขอให้นึกว่ามันเป็นมรดกของอินเทอร์เน็ตยุคสองพันต้นๆ ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ถามว่ามันเชยมั้ยก็เชย แต่มันก็มีบางอย่างที่แข็งแรงพอที่ทำให้มันหลงเหลือมาถึงตอนนี้ แต่ใจจริงก็อยากมีเวลาสักหนึ่งเดือนมาแก้เว็บเหมือนกัน (หัวเราะ) ผมยังรักเว็บอยู่นะ สำหรับคนทำฟอนต์ผมไม่อยากให้มันเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม
ย้อนกลับมามองหลังจากการได้คุยกับคุณแว่นจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน นอกจากวัตถุสิ่งของในพื้นที่ประท้วง ป้ายที่ถูกชูในที่ประท้วงนั้นก็น่าสนใจในแง่ที่ว่ามันรวบรวมข้อความสื่อสารทางการมืองด้วยตัวอักษรอันหลากหลาย จึงลองสำรวจผ่านแฮชแท็กยอดนิยมจากที่ประท้วง ไม่ว่าจะเป็น #ออกไปอีสัส #ผนงรจตกม เพื่อที่จะดูว่าข้อความเหล่านั้นถูกเขียนหรือพิมพ์ขึ้นด้วยตัวอักษรบนป้ายกันในรูปแบบไหนบ้าง
อิสระ ชูศรี
เราถอยออกมามองจากตัวอักษรสู่เลเยอร์ของภาษา ด้วยคำถามที่ว่าภาษาที่ใช้ในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมานั้นเป็นยังไง สัมพันธ์กับท่าทีในการเขียนตัวอักษรบนป้ายยังไงบ้าง เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอิสระ ชูศรี นักภาษาศาสตร์ที่สนใจภาษากับการชุมนุม มาช่วยตอบคำถามและสำรวจเพิ่มเติมว่าป้ายประท้วงของอีกฝั่งนั้นหน้าตาเป็นยังไง
อิสระ — นักภาษาศาสตร์อาจไม่ได้สนใจรูปทรงตัวอักษรเท่าไหร่ สนใจระบบการเขียนมากกว่า ตัวเขียนในระบบนั้นแทนเสียงหรือแทนความหมายอะไร การเขียนจริงๆ ก็คือการทำเครื่องหมายแทนหน่วยในระบบภาษา เช่นแทนหน่วยเสียง อย่างในภาษาไทยเว้นวรรคก็คือความเงียบ
แต่หน่วยไม่ได้มีแค่เสียงอย่างเดียว หน่วยความหมายก็เป็นหน่วย หน่วยบางทีก็เป็นคำ หน่วยบางทีก็เป็นวลี เป็นประโยค ในภาษาอังกฤษการเว้นวรรคคำทำให้เราเข้าใจหน่วยคำได้ง่ายขึ้น แต่ยากในการแทนค่าเรื่องการหยุดหายใจ แต่ภาษาไทยระบบเขียนมันช่วยให้อ่านออกเสียงได้สมูทกว่า ภาษาไทยเขียนเหมือนพูดมากกว่า
หน่วยที่เป็นลักษณะทางเสียงว่าออกเสียงด้วยอวัยวะอะไรก็มี อย่างบางภาษาก็ละเอียดกว่าภาษาอังกฤษซะอีก เช่นเกาหลีเนี่ย เพราะมันบอกเลยว่าต้องออกเสียงยังไง ที่คนชอบเล่นมุกตลกหลอกด่าบางคนเขาก็เอาภาษาเกาหลีมาเขียนด่ารัฐบาล เพราะมันง่ายในการที่จะแปลงเสียง ดังนั้นไม่ว่าจะภาษาเขียนหรือภาษาพูดระบบก็คือเครื่องมือกำกับให้ภาษาทำงานนั่นเอง
จั๊ก — อันนี้เป็นสิ่งที่นักภาษาศาสตร์มองย้อนไปและพยายามเข้าใจว่าเขาคิดมาเพื่ออะไรแบบนี้รึเปล่าคะ?
อิสระ — สำหรับนักภาษาศาสตร์เจตนารมณ์ของผู้คิดค้นไม่ได้สำคัญ แต่เป็นการมองย้อนกลับไปว่ามันทำงานยังไง ถ้ามองแบบนี้ภาษาที่ใช้ในปัจจุบันหรือหมื่นปีที่แล้วก็คือภาษาเดียวกัน มันก็คือสัญลักษณ์แทนความคิด เราไม่ได้มองว่าเขาคิดมาเพื่ออะไรแต่มองว่าภาษามันทำงานยังไง
ผมคิดว่าที่คุณถามน่าจะหมายถึงว่ามันถูกเขียนขึ้นมาใช้ทำอะไร ในแง่นั้นก็จะดูว่าเขาเขียนเรื่องอะไร เช่นเรื่องการทำบัญชีค้าขาย จดบันทึกค่าแรงคนงาน การสรรเสริญพระเจ้าก็มี หรือการปกครองก็มี ระบบอักษรที่เก่าแก่ที่สุดบนเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่พบก็คือดินเหนียวในเมโสโปเตเมียเมื่อประมาณ 5000 ปีที่แล้ว
การเกิดขึ้นของภาษาเขียนคุณอาจจะมองหาในแง่ว่ามันเกิดขึ้นเพื่อชดเชยในสิ่งที่ภาษาพูดไม่มี ภาษาพูดต้องพูดกันไง ถ้าผมโทรไปคุณไม่รับสายก็คุยไม่ได้ แต่ถ้าผมส่งข้อความไปตอนแรกคุณไม่เห็นแต่อีก 5 นาที 10 นาทีคุณเห็นน่ะมันก็สามารถสื่อสารได้ ดังนั้นภาษาเขียนมันจะมีความเหลื่อม ไม่ต้องพร้อมหน้า และอาจจะมีอย่างอื่น เช่นแก้ไขได้ ร่างได้ เขียนไปยาวๆ ก็ได้ ไม่เหมือนถ้าเราพูดยาวๆ เราพูดนานขนาดนั้นไม่ได้ ถ้าคุณอยากรู้ความต่างคุณก็ต้องลองเปรียบเทียบเอา เช่นเรื่องของบริบทถ้าเป็นภาษาพูดเรามีบริบทช่วยก็ไม่ต้องพูดเยอะ ภาษาเขียนถ้าบริบทไม่ตรงกันก็ต้องเขียนเยอะหน่อยให้เข้าใจ
คุณเป็นนักออกแบบอาจจะสังเกต เช่นการใช้เครื่องหมายตกใจในการเขียน ถ้าเป็นการพูดคุณก็ทำเสียงตกใจ หรือพวกอักษรประดิษฐ์แบบนี้ ถ้าอยากจะให้มันเหมือนอ่านการ์ตูน เสียงดังก็ต้องเขียนตัวโตๆ เช่นคำว่าโครม ถ้าคุณอยากแสดงถึงคำนี้คุณก็ต้องทำให้มันบิ๊กเบิ้ม
จั๊ก — ดังนั้นการออกแบบฟอนต์ก็คือการชดเชยน้ำเสียงที่มันไม่มี จุดนึงที่ภาษาเขียนใช้แทนภาษาพูดไม่ได้
จั๊กเคยเข้าไปดูบทความของคุณอิสระอย่างใน The101.world เห็นว่าชอบวิเคราะห์คำต่างๆ ที่อยู่ในบริบทการเมืองโดยดูในเชิงปริมาณด้วย เช่นความเยอะของคำๆ นึง หรือคำไหนชอบอยู่คู่กับคำไหน เวลาดูเรื่องป้ายประท้วงมีข้อสังเกตอะไรที่เป็นเชิงปริมาณมั้ยคะ
อิสระ — มันเป็นภาษาพูดมากขึ้น เช่นการแทนเสียง การใช้คำที่ไม่เป็นทางการ สมัยก่อนต้องดูว่าป้ายที่มันอยู่ในการประท้วงหรือการชุมนุมมันอยู่ในตำแหน่งไหน เช่นในเชิงการออกแบบมันเป็นป้ายอะไร แบ็คดรอป ป้ายเดินขบวน ป้ายผ้า ผ้าคาดหัว พวกนี้ก็มักจะผลิตโดยผู้จัดการชุมนุม โดยมากก็สะท้อนประเด็นเรียกร้อง แต่ว่าปัจจุบันผู้ประท้วงต่างคนต่างทำก็มี แล้วก็ต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง พยายามให้มันเป็นส่วนตัวมากขึ้นทางการน้อยลง การเขียนไม่ต้องถูกต้องตามอักขระวิธี เช่นว้าย ถ้าตามระบบภาษาไทยต้องใช้ไม้โทแต่เขาเลือกใช้ไม้ตรีให้มันได้เสียงที่เขารู้สึกว่าตรงความรู้สึกมากกว่า
จั๊ก — ซึ่งในการประท้วงครั้งอื่นๆ มันเห็นไม่ชัดเท่ารอบนี้ใช่มั้ยคะ เช่นอย่างล่าสุด กปปส. เสื้อแดง
อิสระ — อันนี้มันไม่ใช่เรื่องภาษาอย่างเดียว นอกจากตัวภาษากับระบบเขียน มันก็สัมพันธ์กับสื่อด้วย การแชร์บนสื่อ โซเชียลมีเดียมันไม่มากขนาดนี้นะ ก่อนหน้านี้เสื้อแดงเสื้อเหลืองเขาก็ใช้แมสมีเดียกัน อย่าง Bluesky ASTV ดังนั้นก็จะเน้นความอลังการแบ็คดรอปใหญ่ แต่ตอนนี้ใช้มือถือกัน คอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก ก็ถ่ายทอดกันสดๆ เลยเป็นป้ายใครป้ายมันมากขึ้น มันคงไม่เวิร์กถ้าสิ่งเหล่านี้ไปปรากฏในแมสมีเดีย มันไม่ใช่ประเด็นเชิงวิชวลอย่างเดียวแต่เป็นประเด็นเรื่องสื่อแต่ละประเภทด้วย
จั๊ก — ตอนแรกยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงสนใจป้ายรุ่นใหม่ๆ แต่อย่างที่เมื่อกี้ได้ฟังก็น่าจะเพราะว่ามันเป็นปัจเจกมากกว่าในอดีต
อิสระ — ความจริงมันก็ยังมีการรวมกลุ่ม แต่อยู่ในลักษณะของแฮชแท็ก มันก็ต้องถูกคิดขึ้นมาโดยฝ่ายผู้จัดทำ ผมลองเปิดดูที่คุณรวบรวมมาอยู่ มันก็เป็นชื่อของการชุมนุม แล้วมันค่อยถูกเอาไปทำเป็นป้ายอีกที ไม่ได้เป็นลักษณะผู้จัดตั้งเอาป้ายมาแจก อันนี้มันสะท้อนธรรมชาติของสื่อ ป้ายที่ถูกเขียนในสมัยนี้มันไม่ได้ต้องการเอามาชูอย่างเดียว มันต้องการให้ภาพกระจาย ใครเขียนปังกว่าก็ถูกแชร์มากกว่า ก็เหมือนเราทำสื่อส่วนตัว ทำไมคนถึงต้องพยายามทำให้ป้ายมันดูแตกต่างกัน คนรุ่นใหม่ไปชุมนุมเขาไปด้วยการแต่งกาย ไปด้วยพรอพที่มีความน่าสนใจ เพราะเขามองตัวเองเป็นสื่อสื่อหนึ่งด้วยเหมือนกัน
จั๊ก — มีจุดร่วมด้วยกันบางๆ ผ่านแฮชแท็กแล้วปล่อยให้คนมีอิสรภาพได้เต็มที่
อิสระ — แฮชแท็กมันสเกลอัพง่าย มันไม่ได้มากำหนดว่าคุณจะต้องใช้อักษรแบบศิลปากร ฟอนต์เดียวกัน สมัยแมสมีเดียมันอาจจะมีฟอนต์มาตรฐานให้ดูมีพลัง แต่ถึงข้อความจะหลากหลายมันก็ต้องมีประเด็นร่วมกันอยู่ เพราะถ้ามันไม่มีประเด็นร่วมกันเลยมันก็ไม่ใช่การชุมนุม ก็คล้ายกับโฆษณา ไม่ได้ตั้งใจให้ตลกแต่ต้องการขายของแล้วจะทำยังไงให้ขายได้ ถ้าไม่ตลกก็เรียกน้ำตา แต่เป้าหมายจริงๆ ของคุณไม่ใช่สิ่งนั้น คุณชุมนุมคุณก็อยากจะเรียกร้องนั่นแหละ แต่อีโมชั่นแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ชอบมันก็จะเป็นในทางนั้น
เอาเข้าจริงผมก็ไม่ค่อยเข้าใจมากเพราะรุ่นผมไม่ได้ใช้คำพูดเกรี้ยวกราด อย่าง 6 ตุลาฯ คุณลองไปดูป้ายเขาสิ เขาใช้คำใหญ่ๆ คำที่สื่อถึงอุดมการณ์ คำสำคัญๆ เช่น เผด็จการ เสรีภาพ อะไรพวกนี้ ไม่ตลกและซีเรียสแน่นอน ความเกรี้ยวกราดมันจะมีความเป็นนามธรรมไม่เป็นของบุคคล แต่เดี๋ยวนี้ความเกรี้ยวกราดของรุ่นใหม่เป็นคำผรุสวาท เป็นอารมณ์ส่วนตัว เป็นอันที่ผมไม่มีวัฒนธรรมร่วมเท่าไหร่ ให้ผมพูดผมพูดไม่ได้ เพราะมันเป็นอารมณ์ของยุคสมัยด้วยไง แต่ผมเห็นในเชิงระบบ ถ้าถามว่าสิ่งนี้คนทุกรุ่นอินมั้ย ก็ไม่นะ
จั๊ก — ถ้าอย่างคนที่เป็นผู้ใหญ่หน่อยก็จะไม่รู้สึกกับอะไรที่เป็นส่วนตัวมากใช่มั้ย?
อิสระ — การสื่อสารก็มีทาร์เก็ตอยู่แล้ว เป้าหมายหลักของเขาก็คงเป็นคนรุ่นเดียวกัน
ตัวอักษรหรือข้อความหรือลักษณะดีไซน์มันจะไปจับกับความรู้สึกแบบไหนเป็นอะไรที่ผมไม่ค่อยแม่นยำ แต่มันต้องมีแน่ๆ แนวโน้มมันก็คือเน้นความรู้สึกมากขึ้น การเมืองเป็นส่วนตัวมากขึ้น ถ้าเป็นตอนนี้คำที่ใช้ก็คงไอสัส ไอเหี้ย กี คำที่ไม่อยู่ในบริบททางการเมืองถูกนำมาใช้มากขึ้น
อารมณ์มันคือตัวนำพาเฉยๆ น่ะ ตัวนำพาทำให้เราตัดสินใจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง ผมดูเรื่องถ้อยคำและคอนเซปต์มากกว่าหน้าตา ผมจะเห็นว่าคอนเซปต์อะไรเน้น อะไรไม่เน้น ในเชิงการออกแบบอาจจะต้องไปดูว่าอารมณ์แบบไหนเยอะกว่า ยั่ว โกรธ โมโห หรือซาบซึ้ง
จั๊ก — อันนึงที่คิดว่าน่าสนใจ คือหลายๆ ครั้ง ป้ายที่เห็นกับน้ำเสียงมันขัดแย้งกันกับเนื้อหา เช่นคำว่าออกไปอีสัส แต่ว่าตัวอักษรหรือการออกแบบที่ใช้กลับเป็นสไตล์น่ารัก ทำให้ดูไม่ค่อยออกว่าคนพูดอยู่ในอารมณ์ไหน จั๊กเดาว่าคนอาจจะเลือกอย่างที่ชอบมากกว่า ไม่ได้เลือกแบบคนที่ถูกเทรนมาว่าต้องเลือกภาพให้ตรงกับน้ำเสียงหรือกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งป้ายในที่ประท้วงโดยมากก็อาจจะมาจากคนที่ไม่ใช่นักออกแบบ
อิสระ — เราต้องดูอารมณ์โดยรวม ดูว่าสิ่งนี้สะท้อนอะไร สำหรับผมมันคือสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ไม่กลัวรึเปล่า ต่อให้เขียนข้อความที่มีโอกาสจะโดน 112 ก็เป็นไปได้ว่าจะเขียนด้วยสีพาลเทล นั่นก็เพราะกูไม่กลัวไง
เมื่อก่อนที่ผมเป็นพยานในคดี 112 ก็จะเน้นไปที่การพิสูจน์ว่าข้อความนั้นไม่ได้เป็นความตั้งใจที่จะดูหมิ่น แต่เดี๋ยวนี้ท่าทีในการวิเคราะห์แบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะคนตั้งใจจะติดคุก คนไม่กลัว เขาตั้งใจใช้ข้อความแบบนั้น และหลายครั้งใช้สีพาสเทล อย่างคำว่าออกไปอีสัสบางทีก็สะกดเพื่อสื่อถึงอีกอย่างอย่างชัดเจน อันนี้เป็นอาวุธใหม่ คนรุ่นก่อนเขาคิดว่าไม่ติดคุกได้ก็ดี
สำหรับผมมันไม่คอนทราสต์กันแบบที่คุณมอง ผมมองว่าคงมีความรู้สึกอะไรบางอย่างร่วมกันในเชิงอารมณ์ ที่แน่ๆ คือยั่วล้อ เล่น ทำเรื่องที่น่ากลัวให้เป็นเรื่องไม่น่ากลัวเพราะเขาไม่กลัวจริงๆ ไง ผมตีความแบบนี้นะ มันอาจจะไม่ได้สะท้อนรสนิยมอย่างเดียว ผมคิดว่าการบ้านของคุณในฐานะคนที่สนใจเรื่องออกแบบคือมันมีอารมณ์อะไรโดยรวมบนป้ายเหล่านั้น ผมมองว่าอาจจะไม่ได้สะท้อนรสนิยมอย่างเดียว
จั๊ก — จริงๆ ตอนเก็บสะสมภาพมาดูก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าควรวิเคราะห์จากอะไร คุยกันแล้วได้คีย์เวิร์ดมาเยอะเลย
อิสระ — คุณเก็บมาแต่สามกีบรึเปล่า
จั๊ก —ให้ไปเก็บอีกฝั่งด้วยใช่มั้ย?
อิสระ — ไม่ต้องเก็บมาเยอะ แต่เก็บมาเป็นเรฟเฟอร์เรนซ์เพื่อเทียบกัน เอามาทดสอบสมมติฐาน เช่นที่ผมเสนอว่าป้ายของสามกีบมีความปัจเจกใช่มั้ย ถ้าไปดูเทียบกับของฝั่งอนุรักษ์นิยม มันจะเป็นป้ายที่พิมพ์มา อาจจะตีความได้ว่า ป้ายพวกนี้ทำแจกแน่เลย มันอาจจะมีลักษณะที่รวมศูนย์ เพราะมีคนทำให้ ฟอนต์เดียวกัน ข้อความเดียวกัน มีความหลากหลายน้อยกว่า
จั๊ก — แอบกลัวว่าจะหามาได้ไม่เยอะเท่าสามกีบ เพราะไม่รู้จะไปหาจากไหน เพราะก็มักจะอยู่ในวงเอคโค่แชมเบอร์ของตัวเอง
อิสระ — ภาพข่าวก็ได้เพราะเราไม่ต้องการเยอะ เช่น เจอลายมือเยอะกว่ามั้ย รูปแบบของป้ายเป็นยังไง ถ้าเป็นแบบเก่าก็จะเป็นพวกแบนเนอร์ หรือข้อความที่สามกีบใช้ก็อาจจะสั้นๆ แชร์ง่ายๆ แต่ของฝั่งนั้นจะยาวๆ คุณไปหามาเพื่อทดสอบสมมติฐาน อย่างอันนี้ผมก็ตอบจากการสังเกตเหมือนกัน แต่การสังเกตมันยังไม่เป็นระบบ ก็ไม่แน่ใจว่าจะคิดเองเออเองมั้ย อย่างของสามกีบขี้เล่น ยั่วล้อ มีความปัจเจก หลากหลาย เราก็ต้องไปดูว่าอีกฝั่งมันมีลักษณะที่เหมือนกันหรือตรงกันข้าม แต่สมมติฐานก็คือตรงกันข้าม