BOOK TALK VOL.04 • CITY ON THE EYELIDS เมืองบนเปลือกตา

22.11.2020

14:00 - 16:00 hrs

A talk by Aroon Puritat, Piyapong Bhumichitra, Narong Othavorn

กิจกรรม BOOK TALK VOL.04 • CITY ON THE EYELIDS เมืองบนเปลือกตา ของ อรุณ ภูริทัต เป็นการพูดคุยระหว่างศิลปิน อรุณ ภูริทัต กับ ปิยพงศ์ ภูมิจิตร ผู้รับหนัาที่บรรณาธิการและออกแบบรูปเล่มหนังสือ ดำเนินรายการโดย ณรงค์ โอถาวร สถาปนิกและอดีตบรรณาธิการนิตยสาร art4d

อรุณ ภูริทัต ใช้ชีวิตที่ย่านบางลำพูระหว่างปี 2535–2542 เขาย้ายจากเชียงรายมากรุงเทพฯ หลังสอบติดเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หลังเรียนจบก็ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ร่วม 20 ปี ปลายปีที่แล้วมีเหตุจำเป็นทางสุขภาพทำให้ อรุณต้องกลับมาใข้ชีวิตที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง และครั้งนี้เขาอาศัยอยู่ละแวกนางเลิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ไม่ต่างจากสมัยเรียนที่วังท่าพระ  เขาเริ่มบันทึกภาพสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันขณะที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพของตัวเอง ในช่วงเวลาเดียวกับการปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา CITY ON THE EYELIDS หรือ เมืองบนเปลือกตา คือหนังสือที่รวบรวมภาพถ่ายที่บันทึกด้วยโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ผู้คน อนุสาวรีย์ และโบราณสถานต่างๆ วิธีมองกรุงเทพฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ความทรงจำใหม่ที่ซ้อนทับและเชื่อมโยงไปสู่ความทรงจำในอดีตสมัยเรียนศิลปากร และความทรงจำปลีกย่อยของการมาเยือนกรุงเทพฯ เป็นครั้งคราวในช่วงก่อนหน้านี้ ที่เขาอธิบายไว้ว่าต่อให้หลับตา ภาพเหล่านั้นก็ยังตกค้างอยู่ในบางส่วนของความทรงจำ ทั้งพร่าเลือนและชัดเจนผสมกันจนแยกไม่ออก

Facebook.com/Cityontheeyelids
Instagram.com/Cityontheeyelids

เกี่ยวกับศิลปิน

อรุณ ภูริทัต สนใจศิลปะตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความตั้งใจทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแต่ก็ไม่บรรลุผล ระหว่างเรียนปริญญาโทด้านผังเมืองที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาจึงหาโอกาสไปพูดคุยกับ มณเฑียร บุญมา (2496-2543) เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องศิลปะ จนมีโอกาสได้ออกแบบสตูดิโอศิลปะให้กับมณเฑียรแต่ไม่ได้ก่อสร้าง เพราะมณเฑียรล้มป่วยลงเสียก่อน ในปี 2542 อรุณเดินทางไปสหราชอาณาจักรและยุโรปเพื่อหาสถานที่ศึกษาต่อ และได้เข้าชมเทศกาลศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ในปีนั้น ซึ่งมี Harald Szeemann เป็นผู้อำนวยการจัดงาน เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยเขาเริ่มต้นเขียนบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ออกแบบและศิลปะให้นิตยสาร art4d รวมไปถึงนิตยสารศิลปะและออกแบบอื่นๆ และเคยเป็นผู้ช่วยศิลปินชาวจีน Huang Yong Ping ในนิทรรศการ cities on the move ที่กรุงเทพฯ ปลายปี 2542 อรุณย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และได้ร่วมงานกับฤกษ์ฤทธิ์ในโครงการ the land ทำหน้าที่ช่วยประสานงานให้กับศิลปินและสถาปนิกที่มาสร้างผลงาน ในช่วงปี 2553–2554 อรุณได้รับทุนจาก Nippon Foundation เดินทางไปศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่มีผลต่อเมือง ที่ญี่ปุ่น ในปี 2561 เข้าร่วมโครงการ Art-Architecture ที่เชียงใหม่ ซึ่งจัดโดย the land Foundation, Japan Foundation และ Center for Contemporary Art, CCA ปลายปีเดียวกัน เขาได้รับเชิญไปบรรยายที่ Lituania Pavilion ในงาน 16th Venice International Architecture Biennale

เกี่ยวกับวิทยากร

ปิยพงศ์ ภูมิจิตร ทำงานออกแบบกราฟิกที่นิตยสาร art4d ตั้งแต่ปี 2543-2552 ก่อนจะก่อตั้งสตูดิโอออกแบบชื่อ Shake & Bake Studio ในปี 2012 รับงานออกแบบทั้งอัตลักษณ์องค์กร ระบบป้ายนำทาง สิ่งพิมพ์และหนังสือ เริ่มงานเขียนบทความว่าด้วยงานออกแบบและศิลปะลงนิตยสารทั้ง art4d, Wallpaper* Thailand และนิตยสารคิด ของ TCDC ในปี 2014 เปิดสำนักพิมพ์ BONSAI BOOKS ร่วมกับนักเขียนธันยพร หงษ์ทอง และกลับมาร่วมงานกับ art4d อีกครั้งในตำแหน่งบรรณาธิการให้นิตยสาร art4d (2016-2018) ปัจจุบัน ปิยพงศ์เป็นอุปนายกฝ่ายต่างประเทศสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย และเป็นบรรณาธิการร่วมของเว็บไซต์ ThaiGa.or.th

ณรงค์ โอถาวร จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี 2543 เขาเริ่มต้นวิชาชีพสถาปนิกที่เมืองเดลฟท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขา Architecture and Urban Culture : Metropolis ที่ Universitat Politecnica de Catalunya บาร์เซโลนา ประเทศสเปน และก่อตั้งสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม ‘SO’ (Situation-based Operation) รับผิดชอบหน้าที่ผู้อำนวยการด้านออกแแบบตั้งแต่ปี 2550 นอกจากงานออกแบบที่สะท้อนความเชื่อของณรงค์ที่มีต่อพื้นที่ เวลาและข้อจำกัดที่ต่างกันตามสถานการณ์ของแต่ละโครงการแล้ว เขาเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร art4d เมื่อปี 2559-2561 และยังร่วมดำเนินรายการออนไลน์สัตตะกับธเนศ วงศ์ยานนาวาในเรื่องที่ว่าด้วยสถาปัตยกรรมอยู่เป็นประจำ