A room, where they are COEVALs [Precise at a dig site door]

A room, where they are COEVALs [Precise at a dig site door] เป็นนิทรรศการโดยศิลปิน นวิน หนูทอง ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดแสดงในงาน OVR: Portals, Art Basel’s first curator-led edition of Online Viewing Rooms ซึ่งจัดขึ้นแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน–20 มิถุนายน 2654 และจัดขึ้นในพื้นที่ของ BOOKSHOP LIBRARY ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน–7 กรกฎาคม 2564 ซึ่งผลงานในครั้งนี้พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบของประติมากรรมและวิดีโอที่เป็นผลงานต่อยอดมาจาก THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS ที่จัดแสดงที่บางกอกซิตี้ซิตี้แกลเลอรี่ในช่วงต้นปี 2564

ใน A room, where they are COEVALs [Precise at a dig site door] หนูทองดำดิ่งลงไปใน ‘ธรณีประตู’ ประตูที่นำไปสู่พื้นที่ของการปะทะกันของความจริงหลากหลาย และความจริงเหนือจริงที่สร้างขึ้นโดยศิลปิน โดยเริ่มต้นจากการจินตนาการถึงบทสนทนาระหว่าง นิโค โรบิน นักโบราณคดีจากมังงะที่ชื่อว่า วันพีซ และสิงห์ทวารบาลคู่ที่ติดตามตัวละครที่ชื่อว่า สกัด จากวิดีโอเกม สตรีทไฟเตอร์ มันถูกจินตนาการขึ้นท่ามกลางพื้นที่เสมือนที่มีตัวละครจากต่างพื้นที่ในวัฒนธรรมป๊อปอาศัยอยู่ร่วมกัน ในพื้นที่นี้ยังมีทั้งแบบจำลองความจริงและเรื่องแต่งที่ถูกจัดวางขึ้นเพื่อสังเกตเหตุการณ์การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2325 และสันนิษฐานถึงการก่อตัวขึ้นใหม่อีกครั้งของเรื่องเล่าหลักที่งอกเงยขึ้นมาจากอดีต

หนูทองเสนอเส้นทางแห่งการซักไซ้และการทำความเข้าใจโลกผ่านโบราณคดีของสื่อ โดยให้ความสนใจต่อแนวคิดของมาตราส่วนและระยะทางภายใต้โลกจริงจำลอง สอบสวนถึงแนวคิดพื้นฐานของการวัดค่าในโลกร่วมสมัยที่สร้างขึ้นมาจากสื่อ เพื่อคลี่คลายคำถามที่กว้างกว่านั้นเกี่ยวกับระบบแลกเปลี่ยนคุณค่าของโลกและวิธีการที่เราทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานของนวิน หนูทอง ได้จาก https://bangkokcitycity.com/activity/the-immortals-are-quite-busy-these-days/

SUNDAY WALK • Get Your Back Off the Fourth Wall…

เราจะสามารถหาเศษเสี้ยวของกำแพงที่แบ่งโลกจริงกับโลกเสมือนเจอมั้ย? ถ้าโลกจริงกับโลกในเกมมันหลอมรวมจนไม่ต่างกันแล้ว เราจะเล่นเกมไปทำไม?

หนึ่งในวิธีการทำงานในนิทรรศการ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 30 มีนาคม 2564 ของ นวิน หนูทอง คือการเข้าไปหยิบยืมสิ่งของจากโลกเสมือนในเกมออกมาจัดเรียงใหม่ เพื่อตามหาลำดับความสำคัญของความจริงของประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ในเกม และประวัติศาสตร์นอกเกม และสิ่งที่ถูกนำออกมาข้างนอกโดยศิลปินนั้นถูกมองอย่างไรในสายตาของเกมเมอร์อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการอิสระด้านการเงิน และเป็นที่รู้กันว่าเป็นนักเล่นเกมตัวยง

กิจกรรม SUNDAY WALK• Get Your Back Off the Fourth Wall… เป็นการพาไปสำรวจนิทรรศการ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS โดย นวิน หนูทอง และ สฤณี อาชวานันทกุล พร้อมพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ เช่นความสนใจของนวินถึงสัญญะของหนังสือในเกมที่ไม่อาจถูกเปิด แต่มักถูกใช้เป็นภาพแทนของขุมพลังและความรู้ เรื่องของศาสตร์แห่งการศึกษาเกมหรือที่เรียกว่า Ludology หนึ่งในสาขาของวัฒนธรรมศึกษาที่พูดถึงเกมประเภทต่างๆ ผ่านวิธีการศึกษาทางคติชนวิทยา มรดกทางวัฒนธรรม สังคมวิทยา และจิตวิทยา มุมมองในการสร้างเกม ผู้เล่นในเกม และบทบาทของเกมในสังคมและวัฒนธรรม คำถามที่ว่าการที่ผู้คนหลบหลีกจากความจริงผ่านการเล่นเกมกันมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์โรคระบาด ที่ทำให้ตลาดเกมโตขึ้นอย่างมากนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร

เกี่ยวกับ • นวิน หนูทอง (แทน) 
จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังสาขาการผลิตสื่อภาพยนตร์ แต่สุดท้ายชอบการจัดการนิทรรศการและการทำงานศิลปะมากกว่า แทนสนใจในเรื่องของอดีต เรื่องเล่า ตำนาน ที่เข้าไปอยู่ในสื่อทางวัฒนธรรม อย่างเกม การ์ตูน ภาพยนตร์ และการที่เทคโนโลยีส่งผลต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

เกี่ยวกับ • สฤณี อาชวานันทกุล (ยุ้ย)
จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เอกเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เอกการเงิน ปัจจุบันทำงานวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืนในฐานะกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ณ พรมแดนความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจที่ยั่งยืน พลังพลเมือง และเกม ในศตวรรษที่ 21 สฤณีเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมจนสามารถเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม
https://en.wikipedia.org/wiki/Home_of_the_Underdogs
http://www.facebook.com/SarineeA
https://steamcommunity.com/id/Fringer

คุยข้างหลุม | They Dig into the Soil and Talk by the Hole

คุยข้างหลุม | They Dig into the Soil and Talk by the Hole เป็นกิจกรรมสนทนาภาคต่อในชื่อเดียวกันจาก [BOOKMARK MAGAZINE] ฉบับที่ 7 ซึ่งเป็นการพูดคุยระหว่าง นวิน หนูทอง (แทน) ศิลปินที่กำลังมีนิทรรศการในชื่อ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS อยู่ในขณะนี้ ธรรดร กุลเกลี้ยง (ดร) นักศึกษาโบราณคดีปีที่ 4 เจ้าของเพจ The PITT ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน (เติ้ล) และ ชยภัทร อาชีวระงับโรค (ปั๊บ) ตัวแทนจากแพลตฟอร์มเล่าเรื่องอวกาศ Spaceth.co

จัดขึ้นในวันเปิดนิทรรศการ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS วันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2564 เวลา 14:00–17:00 น. ทั้งสี่คนพูดคุยกันถึงเรื่องของอารยธรรมในอดีต ดวงดาว การค้นพบ ตำนาน ศาสนา นิทาน การ์ตูน ภาพยนตร์ อนาคต เกม ประวัติศาสตร์ โดยกิจกรรมสนทนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ ตอนที่ 1: โบราณคดีของโบราณดคี โบราณคดีของอวกาศ โบราณคดีของเกม ตอนที่ 2: อนาคตของโบราณคดี อนาคตของอวกาศ อนาคตของเกม ตอนที่ 3: โลกที่ไม่มีเส้นแบ่ง โลกแห่งความเป็นไปได้ โลกที่ไม่มีศูนย์กลาง

รายละเอียดกิจกรรม

เมื่อศิลปิน นักศึกษาโบราณคดี และนักเขียนเรื่องอวกาศ มาพบกัน พวกเขาพากันมองไปที่พื้นดินตรงหน้า คิดถึงมันด้วยความรู้สึกที่ต่างกัน แต่คิดเช่นเดียวกันว่าพวกเขาจะลองขุดลงไปดูที่พื้นดินตรงหน้าว่ามีอะไรอยู่ในนั้น นักศึกษาโบราณคดีเริ่มก่อนโดยใช้อุปกรณ์อย่างที่เขาชำนาญ ส่วนนักเขียนมองนักโบราณคดีขุด สลับกับมองไปที่ท้องฟ้า เขาจินตนาการว่าตัวเองอยู่บนพื้นดวงจันทร์และกำลังมองไปยังโลกแบบที่ คาล เซเกน เล่าไว้ใน Pale Blue Dot ศิลปินนั่งลงข้างๆ พื้นดินที่เริ่มยุบตัวลง เปิดคอม แล้วชวนให้ทั้งสามคนนั่งลง ชี้ให้ดูหลุมที่เขาขุดในโลกเสมือนที่ขอบของพื้นดินเป็นพิกเซล แล้วพวกเขาก็คุยกันตั้งแต่เรื่องของอารยธรรมในอดีต ดวงดาว การค้นพบ ตำนาน ศาสนา นิทาน การ์ตูน ภาพยนตร์ อนาคต เกม ประวัติศาสตร์ของเกม พวกเขาคุยกันโดยมีหลุมเป็นพยาน

ตอนที่ 1: โบราณคดีของโบราณดคี โบราณคดีของอวกาศ โบราณคดีของเกม
• เรื่องเล่า ตำนาน การขุด สู่โบราณคดี
• ท้องฟ้าเป็นความใฝ่ฝันของมนุษย์มาตั้งแต่เมื่อไหร่?
• โบราณคดีอยู่ในเกมยังไง อะไรคือโบราณคดีของเกม

ตอนที่ 2: อนาคตของโบราณคดี อนาคตของอวกาศ อนาคตของเกม
• โบราณคดีบนดวงจันทร์ (และที่อื่นๆ)
• นักบินอวกาศจะบินไปไหนกันต่อ?
• เกมจบแล้วจะเล่นต่อยังไง?

ตอนที่ 3: โลกที่ไม่มีเส้นแบ่ง โลกแห่งความเป็นไปได้ โลกที่ไม่มีศูนย์กลาง
• แคนอน และ แฟนฟิค
• ยุคแห่งความพัลวัน

เกี่ยวกับผู้ร่วมสนทนา

นวิน หนูทอง (แทน) จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังสาขาการผลิตสื่อภาพยนตร์ แต่สุดท้ายชอบการจัดการนิทรรศการและการทำงานศิลปะมากกว่า แทนสนใจในเรื่องของอดีต เรื่องเล่า ตำนาน ที่เข้าไปอยู่ในสื่อทางวัฒนธรรม อย่างเกม การ์ตูน ภาพยนตร์ และการที่เทคโนโลยีส่งผลต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน (เติ้ล) ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ด้านอวกาศ Spaceth.co มีความสุขกับการทำงานเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ สนใจในความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มีความเชื่อการสำรวจอวกาศอันเป็นพรมแดนสุดท้ายจะช่วยเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น

ชยภัทร อาชีวระงับโรค (ปั๊บ) เด็กอายุสิบแปดที่ชอบอวกาศเลยมาทำงานเป็นนักเขียนและเทคโนโลจิสต์ให้สื่อออนไลน์ Spaceth.co หลงใหลในศาสตร์ทั้งหลายที่งอกงามขึ้นจากพัฒนาการของสังคมมนุษย์ตั้งแต่ในอดีตเป็นต้นมาและฝันถึงความเป็นไปได้อันหลากหลายของสังคมในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ปัจจุบันกำลังทำงานวิจัยข้ามศาสตร์เกี่ยวกับตัวเก็บข้อมูลในดีเอ็นเอในอวกาศและพยายามเรียนให้จบชั้นมัธยม

ธรรดร กุลเกลี้ยง (ดร) นักศึกษาคณะโบราณคดีชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นเจ้าของเพจ The PITT เพจออนไลน์คอนเทนต์เล็กๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่เชื่อว่าเป้าหมายสำคัญของงานโบราณคดีคือต้องเล่าให้คนทั่วไปเข้าใจและสนุกไปกับมันได้