EXHIBITION 05 • Book Nomad at BANGKOK ART BOOK FAIR 2022, initiated by abC Art Book Fair China and organized by BOOKSHOP LIBRARY

‘Book Nomad’ ริเร่ิมโดย abC Art Book in China เป็นนิทรรศการจัดแสดงสิ่งพิมพ์ศิลปะเคลื่อนที่ โดยมีเส้นทางจากไทเป สิงคโปร์ กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ และจบลงที่สถานที่จัดงาน abC Art Book Fair ณ เซี่ยงไฮ้ สิ่งพิมพ์จากแต่ละพื้นที่จะถูกเพิ่มเข้าไปในนิทรรศการของแต่ละเมืองก่อนส่งต่อไปแสดงยังเมืองถัดไป เพื่อเชื่อมสัมพันธ์และเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดอันหลากหลายผ่านการตีพิมพ์ส่ิงพิมพ์ศิลปะในทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ก่อนจะจบลงในเดือนมกราคม 2566

BOOKSHOP LIBRARY ร่วมงานกับ abC มาตั้งแต่ปี 2563 โดยส่งหนังสือศิลปินที่ตีพิมพ์โดย BANGKOK CITYCITY GALLERY เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ abC Art Book Fair Beijing Online ในปี 2563 และ 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิดในขณะนั้นทำให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปยังเทศกาลฯ ได้  

ถึงแม้ว่าหลายประเทศในเอเชียในตอนนี้จะเริ่มเปิดให้เดินทางถึงกันได้ แต่สำหรับประเทศจีนที่ยังคงมีความยากลำบาก การรับเชิญเข้าร่วมโปรเจกต์ ‘Book Nomad’ ของ BANGKOK ART BOOK FAIR และ BOOKSHOP LIBRARY จึงเป็นการร่วมสนับสนุนการข้ามผ่านข้อจำกัด เพื่อสร้างการเชื่อมต่อทางความคิดในพื้นที่เอเชีย เช่นเดียวกับที่บรรณาธิการของหนังสือ ART AND SOLIDARITY READER (2565) แคทยา การ์เซีย-แอนตอน ได้กล่าวไว้ว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในช่วงเวลานี้คือเรื่องเร่งด่วนที่ชุมชนศิลปะควรต้องพิจารณาร่วมกัน

สำหรับหนังสือที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้จากประเทศไทย ได้ผ่านการคัดเลือกจาก Open Call ที่จัดขึ้นในเดือนกันยายน 2565 และผ่านการชักชวนของทีมงาน BOOKSHOP LIBRARY ภายใต้ธีม ‘Asianess’ ซึ่งคัดสรรเรื่องราวที่กินความตั้งแต่เรื่องเล่าในชีวิตประจำวัน ประวัติศาสตร์ส่วนตัว ไปจนถึงประวัติศาสตร์ของประเทศ หนังสือจำนวน 5 เล่ม จากศิลปิน 5 คน ได้จัดแสดงภายในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 25—27 พฤศจิกายน 2565 และจัดแสดงในจุดหมายถัดไปที่ KL Art Book Fair 2022 ในกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 2—4 ธันวาคม 2565 และสุดท้ายที่ abC Art Book Fair ในเดือนมกราคมปี 2566 ในเซี่ยงไฮ้ ความเป็นเอเชียจะถูกพูดถึงร่วมกันอย่างไร ภายใต้วิธีการทำงานผ่านสิ่งพิมพ์ศิลปะจากหลายประเทศในเอเชียเป็นสิ่งที่เราสนใจ 

รายการหนังสือจากประเทศที่ผ่านมาอย่างจีน ประกอบขึ้นจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมการเมือง วัฒนธรรมย่อย และศิลปะ เช่น Dispatches from TETRIS: A March from the highlands to the Mountain City and the Island (2564) ตีพิมพ์โดย Institution for Provocation (IFP) พื้นที่ศิลปะอิสระในปักกิ่ง จากโปรเจกต์ในชื่อเดียวกันที่เร่ิมต้นในปี 2563 ซึ่งกลุ่มศิลปิน นักวิจัย ภัณฑารักษ์ และนักข่าว ได้ออกเดินทางร่วมกัน 15 วันไปยังสถานที่ 7 แห่งในซีหนิง ชายแดนจีนและทิเบต และร่วมถกเถียง พูดคุยเกี่ยวกับบริบทสภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและสังคม เรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติ หรือการก่อร่างขึ้นใหม่ของพื้นที่นอกเขตเมือง 

หนังสือที่จัดแสดงที่ Pon Ding ไทเปประเทศไต้หวัน มาจากโปรเจกต์ศิลปะของหลากหลายศิลปิน เช่น A Firetime Story (2564) โดย เอวา ลิน ที่ซึ่งศึกษาเมืองทางใต้ของไต้หวัน พื้นที่ของคนพื้นถิ่นไถตง เพื่อจินตนาการถึงโลกในระดับจิตวิญญาณ และความรู้ที่เกิดขึ้นผ่านผัสสะทางร่างกายและความทรงจำที่ย้อนแย้งกับความรู้และตรรกะในปัจจุบัน 

หนังสือที่จัดแสดงที่ Temporary Unit ในสิงคโปร์ ส่วนมากเป็นหนังสือศิลปิน ที่ทำให้เห็นถึงรูปแบบการเล่าเรื่องหลากหลายในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น The Great Pretenders (special issue for the 26th Phylliidae Convention) (2552) โดยโรเบิร์ต จ้าว เหรินฮุย ศิลปินที่ทำงานกับภาพถ่าย โดยในโปรเจกต์นี้จำลองหนังสือของเขาเป็นวรสารวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอภาพของแมลงทั้งที่มีอยู่จริงและจินตนาการขึ้น

ส่วนหนังสือที่สมทบเข้ามาในส่วนของกรุงเทพฯ นั้นมีจำนวน 5 เล่ม มีทั้งผลงานจากศิลปิน นักออกแบบและนักวิจัย ที่สนใจถ่ายทอดเรื่องราวและวัฒนธรรมของพื้นที่ ประกอบไปด้วย Our Table (2565) โดยนัชชา เตชะจันตะ ที่เล่าถึงวัฒนธรรมการรับประทานอาหารร่วมกันของครอบครัวไทย ผ่านมุมมองของสมาชิกแต่ละครอบครัว Weather Report (2565) โดยพรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ งานเขียนและภาพประกอบในรูปแบบบันทึกที่ถ่ายทอดความรู้สึกของการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย Whisper game (จากบุรุษสรรพนามที่ 1 สู่บุรุษสรรพนามที่ 3) (2565) โดยอธิปัตย์ พุกศรีสุข เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ครอบครัวที่สัมพันธ์กับประเด็นสังคมการเมืองและอิทธิพลชาตินิยมในช่วงสงครามเย็น และ The Art of Thai Comics—A Century of Strip and Strips (2564) โดยนิโคลาส เวร์สแตปเปิน (Nicolas Verstappen) งานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยแบบคอมิคที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปี 2443-2563

READING GROUP 02 (ONLINE) • A Conversation with the Sun

กิจกรรม Reading Group ครั้งที่สอง จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เป็นการชวนอ่านหนังสือศิลปิน A Conversation with the Sun ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จากนิทรรศการในชื่อเดียวกัน โดย BOOKSHOP LIBRARY และแขกรับเชิญสามคนได้แก่ ธีรวัฒน์ ธนิษฐเนตรศิริ (ปุ่น) ก๊อปปี้อิดิเทอร์ของเล่ม ชยภัทร อาชีวระงับโรค (ปั๊บ) นักเขียนและนักวิจัยจาก spaceth.co และทราย โชนะโต (ทราย) นักออกแบบข้อมูลและนักเขียนที่สนใจการเล่าเรื่องด้วยดาต้า 

จุดเริ่มต้นความสนใจในการหยิบเอาหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านคือบทแรกของหนังสือที่เป็นบทสนทนาของตัวละครไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปินเอง พระอาทิตย์ ซัลบาโด ดาลี กฤษณมูรติ และอื่นๆ ที่ถูกประมลผลขึ้นมาด้วยเอไอ 

“เราสนใจความสัมพันธ์ของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ และดาลีกับดาวอังคาร” เป็นแง่มุมที่แบ่งปันโดยปุ่น ในการชวนกันอ่านครั้งนี้ ปุ่นได้แชร์อินไซท์ในการจัดการกับตัวหนังสือ ที่งานนี้ถือเป็นความท้าทายเพราะเป็นครั้งแรกที่ต้องจัดการ ‘บทสนทนา’ ที่ไม่มีผู้พูดให้กลับไปซักถาม ปุ่นสนใจที่พระอาทิตย์ถูกแต่งขึ้นเหมือนกับตัวละคร และพระจันทร์ที่มีสถานะเป็นทั้งสถานที่และตัวละครลึกลับที่พระอาทิตย์ทั้งชื่นชมและมองเป็นคู่แข่ง สำหรับปุ่นมันเป็นไดนามิกที่ดูเป็นธรรมชาติทั้งที่สร้างขึ้นด้วยเอไอ 

ปั๊บ แขกรับเชิญที่คุ้นเคยกันดีกับ BOOKSHOP LIBRARY เพราะเคยมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับโบราณคดีและอนาคตครั้งที่มีกิจกรรมสนทนากับศิลปินนวิน หนูทอง ในวันเปิดนิทรรศการ ‘THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS’ เมื่อปี 2564 แชร์ต่อว่าในตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอาทิตย์พระจันทร์ก็มักจะแทนค่าด้วยความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี GPT-3 เอไอแพลทฟอร์มที่ถูกใช้ในการผลิตบทสนทนาในบทแรก ว่าเป็นการดึงเอาฐานข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่สิ้นสุดเมื่อปี 2563 มาใช้ และชวนจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการใช้งานเอไอในศิลปะ ตั้งคำถามว่างานศิลปะที่สร้างโดยศิลปินต่างจากเอไอแค่ไหน และการที่กล่าวว่าเอไอไม่สร้างสรรค์เพราะดึงเอาข้อมูลจากอดีตออกมาใช้ได้เท่านั้น ความจริงแล้วต่างจากที่มนุษย์ทำอย่างไร

ในขณะที่ทราย ตั้งข้อสังเกตว่าเอไอเป็น “นักโกหกที่สร้างสรรค์” จากการที่ได้ทดลองสร้างข้อมูลด้วย GPT-3 ด้วยตนเอง ด้วยความอยากรู้ว่าเอไอเล่าเรื่องแบบไหนได้บ้าง อีกแง่มุมที่น่าสนใจคือ ทรายคิดว่าเอไอไม่มีความต้องการของตัวเอง ไม่มีข้อสงสัย ทุกอย่างที่เอไอตอบได้อาจจะเป็นได้แค่ประสบการณ์มือสอง นี่คือสิ่งที่ทำให้เอไอต่างจากมนุษย์หรือไม่ ทรายคาดหวังว่าในอนาคตเอไอจะสามารถตอบคำถามได้อย่างแนบเนียนเท่ามนุษย์เพราะในอนาคตอาจจะอยากคุยกับเอไอในวัยเกษียณ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอีกมากมายที่แบ่งปันโดยผู้ร่วมสนทนาท่านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษากับเอไอ อนาคตของเอไอกับโลกหลังความจริง (post-truth) ความสามารถในการรับมือกับข่าวปลอมของเอไอ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับฟังกิจกรรมสนทนาฉบับเต็มนี้ได้ที่


เกี่ยวกับแขกรับเชิญ (กรอบซ้ายไปขวา)

ชยภัทร อาชีวระงับโรค (ปั๊บ)
นักเขียนที่ spaceth.co โปรแกรมเมอร์ นักวิจัยฝึกหัด และคนจัดเทคอีเวนต์ในไทย สนใจเกี่ยวกับโครงสร้างของธรรมชาติ มนุษย์ คอมพิวเตอร์ และองค์ความรู้แบบไม่แบ่งศาสตร์

นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน)
ทีมงานจาก BOOKSHOP LIBRARY

ธีรวัฒน์ ธนิษฐเนตรศิริ (ปุ่น)
นักแปล/ล่าม/ก็อปปี้ไรเตอร์ ภาษาไทย/อังกฤษ/จีน/รัสเซีย สนใจเกี่ยวกับการตีความและถ่ายทอดในและข้ามรูปแบบต่างๆ เช่น การดัดแปลงบทละครมาสู่ภาพยนตร์

ทราย โชนะโต (ทราย)
นักออกแบบเว็บไซต์ที่ Punch Up สตูดิโอ Data Storytelling ที่ทำงานกับข้อมูลและการเล่าเรื่อง สนใจจุดสัมผัสระหว่างศิลปะและเทคโนโลยี บางวันเป็นนักเขียน

STUDIO VISIT 01 • MAL STUDIO

ถ้าถามสมาชิก Mal Studio ว่าพวกเขาคิดว่าตัวเองมีจุดร่วมอะไร คำตอบแบบตรงไปตรงมาคือ “ความเนิร์ด ความกี๊กในอะไรก็ได้ ประเด็นสังคม การเมือง ศาสนา วิทยาศาสตร์” และมากไปกว่านั้นคือ “ชอบความเท่ ชอบอะไรที่มันเฟี้ยวๆ ที่มันไม่เหมือนกัน ซึ่งเราว่ามันดีที่สามารถเปิดโหมดรับการรับความต่างกันได้มากกว่าที่เราเคยมีปกติ”

Mal Studioใช้พื้นที่ของตึกสำนักงานแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 31 เพื่อเปิดร้านสัก จัดอีเวนท์ เวิร์คช็อป นิทรรศการ และห้องสมุด มีสมาชิกทั้งหมด 4 คนคือ ณณฐ ธนพรรพี (จั้ม) ชารีรัส ชูศักดิ์ (เจน) วสวัตติ์ สมโน (เกี้ยง) และทิวไพร บัวลอย (ทิว) การรวมตัวของพวกเขาเริ่มต้นจากการเห็นหน้าค่าตากันคร่าวๆ ตามนิทรรศการหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ  จนต่อมาได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น การเจอกันแต่ละครั้งนอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์และคิดทำโปรเจกต์ด้วยกันแล้ว มันยังทำให้ค้นพบความสนใจใหม่ๆ ของตนเองด้วย อย่างจั้มเองซึ่งเป็นศิลปิน และผลงานที่ผ่านมาของเขาส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องผ่านงานภาพเคลื่อนไหวมาตลอด จนได้รู้จักเกี้ยง อดีตนักเรียนแพทย์ที่เปลี่ยนมาสายโปรแกรมเมอร์ ผู้ที่สนใจในดิจิทัลอาร์ทและโค้ดดิ้ง “ในช่วงระหว่างที่ทำโปรเจกต์มันทำให้เห็นความสนใจของเกี้ยงที่ไม่เหมือนเรา แต่เราก็เพิ่งรู้ตัวว่าเราชอบมันเหมือนกัน มันก็เลยเกิดการแลกเปลี่ยน เออจริงๆ งานที่เราทำอยู่ มันสามารถไปแบบอื่นได้ สามารถมีแนวคิดแบบอื่นอีก”

ก่อนหน้านี้พวกเขาจะนัดเจอกันตามคาเฟ่หรือไปเช่าห้องประชุม จนถึงช่วงที่เจนกำลังมองหาพื้นที่ใหม่สำหรับร้านสัก ไอเดียการตั้งสตูดิโอจึงเกิดขึ้น จากตอนแรกที่เป็นห้องโล่งจึงกลายเป็นพื้นที่รวมความสนใจของทุกคนเอาไว้ เจนเล่าเพิ่มเติมว่าสตูดิโอแห่งนี้ตั้งต้นมาจากความชอบส่วนตัว 100%

“เราชอบสถานที่ที่มีความสบายตัวและสามารถทำอะไรอย่างอื่นได้นอกจากมาสัก หรือมานั่งรอคนสัก อย่าง Mal ก็จะมีโซนสัก โซนอ่านหนังสือ นั่งทำงาน และกาแฟ ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรารัก เราต้องการให้สถานที่ทำงานของเราล้อมรอบไปด้วยกิจกรรม หรือสิ่งต่างๆที่เราชอบ เพราะมันคือที่ๆเราใช้ชีวิต” 


คนที่แวะเวียนเข้ามาในสตูดิโอแห่งนี้มีหลายกลุ่ม พวกเขาอาจจะเป็นลูกค้าที่ตั้งใจมาเพื่อสัก มาเพื่อดูนิทรรศการหรือมาเวิร์กช็อป แต่เพราะที่นี่แบ่งพื้นที่ใช้งานหลายส่วน จึงเป็นไปได้ว่าเหล่านี้อาจจะได้อะไรติดตัวกลับไปโดยไม่ได้คาดคิดไว้ตอนแรก อย่างโซนห้องสมุดเองนอกจากเป็นพื้นที่รวมความสนใจของสมาชิกแล้วยังใช้เพื่อต้อนรับคนที่เข้ามา “ห้องสมุดตรงนี้มันก็จะเป็นการรวมความชอบของพวกเราทุกคนเลย ซึ่งมันหลากหลายมากๆ พอเรามีพื้นที่ตรงกลาง เราก็เปิดให้คนมาแชร์ มาอ่าน มาดูได้ มันก็เหมือนสร้างพื้นที่ให้คนมาจอยกัน จุดสำคัญหนึ่งของโซนหนังสือมันคือสามารถแชร์ความสนใจกับคนที่เรารู้จักได้มากขึ้น เช่น สมมติเราชวนเพื่อนมากินกาแฟ เราก็แชร์ว่าเออมึงน่าจะชอบเล่มนี้ แล้วมันก็นำไปสู่การคุยเรื่องต่างๆ ที่มันมีในหนังสือ ซึ่งเราว่ามันดีนะ” 

สำหรับฝั่งงานทดลองของจั้ม เกี้ยง และทิวที่เชื่อมเรื่องเทคโนโลยีและศิลปะเข้าด้วยกัน ภายใต้การทำงานผ่านคอลเลกทีฟชื่อ  JAAG (Joint Artist Amateurs Group) พวกเขาได้ทดลองเริ่มด้วยด้วย ‘ไบท์ ไบท์ บิท บิท: สัญญาณจากเคอร์เนลที่สูญหาย’ กิจกรรมสำหรับงานแกลเลอรี่ไนท์เมื่อปลายปี 2563 ที่นำมาซึ่งความงุนงงปนเซอร์ไพรส์กับคนจำนวนมากที่เข้ามา โดยฝั่งร้านสักทำกาชาปองแทตทูและฝั่งเทคก็จะเล่นดนตรีพร้อมโชว์วิชวล และหลังจากนั้นจัดนิทรรศการกลุ่มครั้งแรกของสตูดิโอ ‘จำนองฝัน บัญชีอนาคต ’ เปิดงานไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนิทรรศการนี้ตั้งต้นจากความสนใจในเรื่องวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต ผนวกรวมเข้ากับบรรยากาศของ Alternative Reality ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ “เราคิดว่าคนรุ่นเรารับประสบการณ์เรื่องนี้อยู่แล้ว เช่นของบางอย่างในบ้านหายไป บรรยากาศในบ้านเปลี่ยนไป หรือบางทีได้รับรู้เรื่องราวจากคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เราเลยจินตนาการว่าถ้าไทยกลายเป็นเสือตัวที่ห้าขึ้นมาจริงๆ ถ้ามันไม่เกิดวิกฤต ไม่ต้องเป็นหนี้ IMF ประเทศมันจะเป็นอีกทางนึงรึป่าว”

การทำงานศิลปะ สิ่งที่ง่ายสุดคือการพูดความอยากออกมา แต่ในทางปฏิบัติจริงแค่ความต้องการอย่างเดียวไม่สามารถหาเลี้ยงชีวิตได้ การได้มาซึ่งทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่พวกเขามองว่าในบางครั้งการรอคอยก็ไม่เป็นผล เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งก็จะมีคอนเนกชั่นในวงของตัวเอง จึงเป็นเรื่องยากที่กลุ่มทางวัฒนธรรมใหม่ๆ จะได้ทุนสนับสนุน “ทางที่เป็นไปได้มากกว่าคือการไปคอนเนกกับหน่วยงานของเอกชน มันคือการหาโมเดลไปเรื่อยๆ อย่างต่างประเทศเองที่บริษัทเทคโนโลยีต่างๆที่สนใจเทคอาร์ตก็เข้ามาให้ทุนสนับสนุนมากขึ้นอย่าง พวกฮุนไดหรือ thoughtworks ที่มีเปิดโปรแกรมเรสซิเด้นท์ซี่และรวมไปถึงมองหาโมเดลใหม่เช่นการขายของหรือทำงานร่วมกันกับซักที่หนึ่ง เราก็ว่ามันเป็นไปได้หลายแบบ อย่างการรวมตัวกันเป็นคอลเลกทีฟในไทยถือว่าเป็นโมเดลที่เหมาะ แต่หลักๆ คือเรื่องเงินสนับสนุน จากที่เคยทำมา ทุกคนพร้อมที่จะอินพุต เพอร์ฟอร์มร่วมกัน แต่แค่ว่าพอทำไปเรื่อยๆ แล้วมันไม่มีอะไรมาเสริมด้านอื่นนอกจากด้านความรู้สึกที่ได้ทำ มันก็ทำให้เบิร์นเอาท์ไป กลายเป็นว่าไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง” 

สมาชิก Mal Studio จากซ้ายไปขวา: วสวัตติ์ สมโน (เกี้ยง) ณฐ ธนพรรพี (จั้ม) ชารีรัส ชูศักดิ์ (เจน) และทิวไพร บัวลอย (ทิว)

สำหรับพวกเขาศิลปะคือ “สิ่งที่ต้องทลายกำแพงออกไป มันคือการทำอะไรที่อาจจะถูกตั้งคำถามว่าทำสิ่งนี้ทำไม แต่พอศิลปะมันมีเหตุผลให้ทำได้ เพื่อที่ว่ามันจะไปสปาร์คอะไรบางอย่างให้คนเอาไปใช้ต่อได้เอง” และด้วยความที่แต่ละคนมีความสนใจหลายเรื่อง เราเลยคาดว่าในหัวของพวกเขาต้องมีคิดโปรเจกต์ต่อไปหรือกิจกรรมที่อยากให้เกิดขึ้นอีกซึ่งทาง Mal Studio บอกว่า “จริงๆ อยากทำหลายอย่าง มันก็น่าชวนจัด group reading หรือชวนเพื่อนที่รู้ว่ามันสนใจประเด็นเรื่องนั้นมาทอล์ค แต่พวกเราเองต้องจัดการเวลาให้ได้ดีกว่านี้ (หัวเราะ)”

ONLINE 03 • BOOK LAUNCH ‘TABLES | FACTORIES’ BY HO RUI AN

BOOK LAUNCH ‘TABLES | FACTORIES’ BY HO RUI AN เป็นกิจกรรมเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของโฮ รุย อัน ‘Tables | Factories’ และการพูดคุยร่วมกับศิลปิน ดำเนินรายการโดยณัฐ ศรีสุวรรณ ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การแสดง สู่นิทรรศการ และการตีความออกมาในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ การที่ศิลปินสร้างความหมายใหม่ให้กับภาพ และเล่าเรื่องออกมาผ่านสิ่งพิมพ์ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากนิทรรศการ โดยจัดขึ้นที่พื้นที่ของนิทรรศการ ‘THE ECONOMY ENTERS THE PEOPLE’ โดยโฮ รุย อัน ในวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16:00–18:00 น. ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

“กระบวนการในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ เริ่มจากการดูภาพถ่ายของโต๊ะประชุมขนาดใหญ่ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งจากจีนและสิงคโปร์นั่งเรียงล้อมวงประชุมร่วมกันในระหว่างภารกิจการมาศึกษาดูงานหลายครั้งของรัฐบาลจีนในช่วงทศวรรษที่ 1990 ขณะที่ภาพเหล่านี้อาจดูเหมือนภาพธรรมดาๆ ในเวลาปัจจุบัน แต่การปรากฏตัวของเหล่านักปฏิวัติในยุคเหมาในฐานะเทคโนแครตนั้น นับเป็นการเริ่มต้นครั้งประวัติการณ์ของมโนภาพทางการเมืองอันโดดเด่น  ในช่วงเวลาที่ “เศรษฐกิจ” เข้าแทนที่การต่อสู้ทางชนชั้นในฐานะวาระหลักในการปกครองของจีน

บนโต๊ะตัวนี้เอง ที่กลุ่มเทคโนแครตผู้ได้ปลดแอกตนเองออกจากมวลชน ได้ก่อกำเนิดแนวคิดเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมเพื่อวางกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ประกาศการปฏิรูปดังกล่าวใน ค.ศ. 1978  อย่างที่พวกเขายืนยันว่าเศรษฐกิจแบบตลาดจะเข้ากันได้กับสัญญาประชาคมที่มีอยู่ กลุ่มนักปฏิรูปชี้ชัดถึงการหันไปสู่ตลาดในฐานะการตัดสินใจที่ไม่ได้เกิดจากวิธีการที่ “มองไม่เห็น” ซึ่งตลาดใช้จัดสรรปันส่วนทรัพยากรที่มีอยู่ หากทว่า ตัดสินใจโดยสันนิษฐานบนความโปร่งใสที่คาดว่าจะเห็นจากการไหลเวียนของข้อมูล ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะช่วยเปิดเผยสิ่งที่รัฐในระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียวมองไม่เห็นมาก่อน

กระนั้นแล้ว เท่าที่กระบวนการของ “การแสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง” ตามที่กลุ่มนักปฏิรูปว่าไว้นั้น เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการแบ่งแยกในหลายมิติ กล่าวคือ ในมิติการแบ่งแยกรัฐแบบพรรคการเมืองเดียวออกจากมวลชน แบ่งแยกข้อมูลออกจากอุดมการณ์ แบ่งแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่รับประกันการมองเห็นโดยรวมที่โต๊ะตัวนี้มอบให้ คือการปกปิดสิ่งที่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏเป็นข้อมูลเพื่อให้ตรรกะของตลาดยังได้รับการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน

บนพื้นฐานแนวคิดนี้เอง ที่โรงงานสามารถถูกตีความได้ว่าเป็นที่มาที่ถูกลืมเลือนของโต๊ะและเป็นพื้นที่ภายในที่ไม่อาจเข้าแทรกแซงได้ และประตูโรงงานที่วางกรอบพื้นที่ภายในโรงงานนั้น คือขีดจำกัดของศักยภาพของตลาดในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา ประตูโรงงานที่ถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดพื้นที่แรงงานในอุตสาหกรรมและซุกซ่อนการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานจากสายตาโลกสาธารณะ นับเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดที่เทคโนแครตจะเข้าถึงโลกของแรงงานภายใต้แนวคิดการผลิตแบบทุนนิยมได้ ดังที่เห็นได้ในระหว่างพิธีเปิดโรงงาน ดังนั้น ในการนำเสนอเรื่องราวผนวกผสานกันระหว่างโต๊ะและโรงงาน รวมทั้งการวิเคราะห์ระบอบ (อ) ทัศนิวิสัยของทั้งสิ่งทั้งสองในบริบทของสิงคโปร์และจีนในยุคปฏิรูป ภาพถ่ายและข้อเขียนเหล่านี้พยายามทำความเข้าใจว่าโลกที่ดูเหมือนไม่ต่างกันที่เกิดขึ้นบนและภายในสิ่งทั้งสองนี้ แท้จริงแล้วเรียกร้องต่อกันและกันในการผลิตสร้างสภาวะร่วมสมัยไร้ความมั่นคงของเรา สภาวะที่สำนึกรับรู้ทวีมากขึ้นจนความมองเห็นได้เข้าแทนที่เสรีภาพจากการแสวงหาผลประโยชน์ ในฐานะสิ่งที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้มากที่สุดแล้วหลังการปฏิวัติได้สิ้นสุดลงก่อนเวลาอันสมควร ” — โฮ รุย อัน

‘Tables | Factories’ มีวางจำหน่ายในรูปแบบ pre-order จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในราคาพิเศษ 860 บาท (ฟรีค่าจัดส่งในประเทศ) จากราคาปกติ 1,120 บาท หนังสือพร้อมจัดส่งในวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยสามารถสั่งซื้อได้ทางหน้าร้าน กล่องข้อความ และบนเว็บไซต์ https://bookshoplibrary.com/product/tables-factories/

เกี่ยวกับผู้ร่วมสนทนา

โฮ รุย อัน 
เป็นศิลปินและนักเขียนที่ทำงานข้ามศาสตร์สาขาระหว่างศิลปะร่วมสมัย ภาพยนตร์ การแสดง และทฤษฎี เขาทำงานโดยใช้สื่อการบรรยาย เรียงความ และภาพยนตร์เป็นหลัก เขาสำรวจเกี่ยวกับวิธีการสร้าง หมุนเวียน และสูญหายไปของภาพในบริบทของโลกาภิวัตน์และการปกครอง

ณัฐ ศรีสุวรรณ
ศิลปินและภัณฑารักษ์อิสระที่ทำงานและพำนักระหว่างกรุงเทพฯ ประเทศไทย และเบอร์ลิน/ไลป์ซิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มปฏิบัติการศิลปะ เจริญ คอนเทมโพรารี่ส์ ในประเทศไทย ผลงานและความสนใจของเขาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างโลกาภิวัตน์และความทันสมัยที่ประกอบสร้างขึ้นในประเทศหลังอาณานิคมกับระบบนิเวศน์ในวงการศิลปะร่วมสมัย