[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 10 — LISTEN TO COOPERATION, LISTEN TO LIBERATION


รูปแบบของความร่วมมือ


ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ (เม้ง)
อยากถามทั้งพี่พีทกับฟ้า ช่วยอธิบายก่อนได้มั้ยว่า Co-SOLID กับ blozxom คืออะไรในความคิดของตัวเอง? 

ศรัณย์รัชต์ สีลารัตน์ (ฟ้า) — Co-SOLID ก็คือคอมมูนิตี้นั่นแหละ จุดเริ่มต้นมันมาจากตอนช่วงโควิดปีที่แล้ว พี่เบนซ์ Giantsiam ที่เป็นดีเจกับเป็นโปรโมเตอร์เขารู้จักดีเจรุ่นอายุยี่สิบต้นๆ ประมาณเจ็ดแปดคน เขาตั้งคำถามว่าทำไมซีนนี้ดีเจไม่ค่อยไปคอนเนคกัน เวลาไปงานก็ไม่ค่อยเข้าไปคุยกันเยอะ เหมือนต้องมีตัวเชื่อม เขาเลยคิดว่าถ้าชวนน้องๆ พวกนี้มารวมกันอาจจะเกิดอะไรขึ้น ก็เลยจัดงานเดบิ้วท์ขึ้นที่ Never Normal ให้ทุกคนมาเล่น หลังจากวันนั้นพี่เบนซ์ก็ถามว่ามีใครสนใจอยากทำต่อบ้าง สรุปว่ามีฟ้า มีไรอัน มีเอสเธอร์ ตกลงกันว่าอยากทำต่อ พอได้มาทำร่วมกันเลยรู้ว่าแต่ละคนสนใจเพลงอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเองแต่ไปด้วยกันได้ อย่างไรอันก็จะเป็นสายมิวสิกเนิร์ด สายเทคโนโลยี อย่างฟ้าก็จะเป็นสายปาร์ตี้ สายคอนเสิร์ตโกเออร์ เอสเธอร์ก็จะมีแอททิจูดแบบสายออร์แกนิค สายรักสิ่งแวดล้อม พอสามลอจิกมารวมๆ กันก็เกิดเป็นโปรเจกต์ต่างๆ ทั้งเล่นคลับ ทั้งนิทรรศการ โดยไม่ได้จำกัดกรอบสถานที่เล่น ส่วนมากพอมีบริบทอะไรที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์เราก็ทำกันเลย

เม้ง — แปลว่าหลักๆ คือการรวมกันของสามคนนี้?

ฟ้า — ที่จริงรวมกันได้เจ็ดแปดคนเลยนะ แต่ว่าช่วงเริ่มต้นโปรเจกต์เมื่อปีที่แล้ว บางคนเขาก็ทำอย่างอื่นหรือบางคนก็โฟกัสการเป็นดีเจในแบบของเขาซึ่งมันแน่นอนกว่า อาจจะไม่ได้มีเวลามาแชร์ไอเดียกันเท่าพวกเรา แล้วตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Co-SOLID คืออะไร รู้แค่ว่าเราสามคนคุยกันเรื่องเพลงบ่อยมาก เจอกันบ่อย แชร์ไอเดียกันตลอด คุยเรื่องอีเว้นท์ เรื่องงานต่างๆ ไปฟังเพลงด้วยกัน ไปงานอีเว้นท์ด้วยกัน ตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าถ้ามาเข้าทีมจะต้องใช้เวลากับทีมอะไรแค่ไหน ต้องทำงานยังไง รู้แค่ว่าสนุกดี 

เม้ง — Co-SOLID มีความหมายว่าอะไร ทำไมถึงตั้งชื่อนี้? 

ฟ้า — ตอนนั้นฟ้าเป็นคนคิดนี่แหละ ฟ้ารู้สึกว่ายังไงก็ต้องมีคำว่าโค เพราะมันเป็นช่วงโควิดด้วย

เม้ง — (หัวเราะ) อ๋อ นึกว่าโคออเปอเรชั่น (cooperation)

ฟ้า — มันทั้งโคออเปอเรชั่น โคจร คอลแลป (collaboration) คอลเลจ (college) เพราะทุกคนยังเรียนมหาลัยฯ อยู่ ตอนนั้นคิดถึงหลายโคมาก เลยต้องมีคำว่าโคแน่ๆ อีกอย่างถ้าออกแบบเป็นโลโก้ตัวเคิฟมันน่าจะสวย เลยเอาโคขึ้นต้น ส่วนตัวฟ้าชอบคำว่าโซลิด (solid) อยู่แล้ว ก็เลยเป็น Co-SOLID เลยแล้วกัน

เม้ง — จริงๆ แล้วโควิดมันก็มีผลต่อการตัดสินใจรวมกลุ่มด้วยใช่มั้ย?

ฟ้า — ใช่พี่ เพราะว่าที่ผ่านมาเราไปอีเว้นท์ เราไปข้างนอกได้ แต่พอมันมาถึงจุดที่ไปไหนไม่ได้ คำถามคือ หนึ่ง ปาร์ตี้ยังจำเป็นกับเราอยู่มั้ย สอง อิเล็กทรอนิกส์มันเป็นอะไรนอกจากปาร์ตี้ได้บ้าง อิเล็กทรอนิกส์คือชีวิตประจำวันไปแล้วสำหรับพวกฟ้า แต่ก็ใช่ค่ะ โควิดเป็นจุดสำคัญเลย 

เม้ง — แปลว่ามันถูกคิดเป็นออนไลน์ตั้งแต่แรก?

ฟ้า — ใช่ เพราะข้อจำกัดเรื่องล็อกดาวน์ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าถ้าไม่มีโควิด จะเกิดเป็นโปรเจกต์ไลฟ์สตรีมแบบนี้มั้ย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่พลาดถ้ามีจังหวะจัดในคลับได้

เม้ง — แล้วสำหรับพี่พีท นิยามของ blozxom คืออะไรครับ?

ธนาธย์ รสานนท์ (พีท) — มันซิมเปิ้ลมากๆ เป็นการให้เพื่อนที่อยู่แวดวงทำงานสร้างสรรค์โดยเฉพาะด้านดนตรีมารู้จัก แลกเปลี่ยน ทำอะไรร่วมกัน โดยเน้นที่ว่ามาจากคนละเมือง คนละรัฐ คนละประเทศ ก่อนหน้านี้เราใช้ชื่อว่า Pink Flower อาจจะดูหวานนิดนึง แต่เราอยากได้ชื่อประมาณดอกไม้ คำว่า pink ที่ใช้ไม่ได้หมายถึงสีชมพูอย่างเดียว แต่ในคำกริยาหมายถึงการแหวก แตกต่าง ตอนหลังอยากเปลี่ยนให้มันง่ายขึ้นแต่ยังอยากได้ความรู้สึกเบ่งบานและแหวกออกไป เลยได้มาเป็นคำว่า blossom แต่ก็คิดว่าถ้าไม่ใช่ b-l-o-s-s-o-m จะใช้แบบไหนดี เลยพยายามหาคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน จนไปเจอคำว่า apex ที่แปลว่าไปสุด และคำว่า zenith ที่แปลว่าแหวกออกไปสุด รู้สึกชอบตัว x กับตัว z ในสองคำนี้เลยเอามาใส่แทน ss ที่อยู่ตรงกลางในคำว่า blossom

ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่า blozxom จะเป็นฟิสิคอลหรือดิจิทัลอย่างใดอย่างนึง ความจริงมันมาก่อนโควิด ตอนเราไปอยู่อเมริกาช่วงสั้นๆ เราเริ่มทำอีเว้นท์ขึ้นมาครั้งหนึ่งผ่าน Pink Flower พอกลับมาไทยสักพักโควิดก็เริ่มมา ก็เลยต้องเป็นออนไลน์ blozxom เลยมีว็บไซต์ แล้วก็มีอีเว้นท์ชื่อ E.DEN ด้วยในตอนเริ่มต้น เป็นการแจมโดยใช้โปรแกรมหลายๆ อัน ใช้ซูม (Zoom) สไกป์ (Skype) โดยที่มีเต้ (เต้ ภาวิต) ช่วยทำโปสเตอร์ ตอนนั้นมีตั๋งที่ช่วยทำวิชวลให้จากเมลเบิร์น มีเพื่อนที่ทำดนตรีเชิงทดลองแนวแอมเบียนต์จากแอลเอ แล้วก็มีเพื่อนที่นิวยอร์ก มีมินท์ ภาวิดา ที่อยู่กรุงเทพฯ เพื่อนจากญี่ปุ่นที่เคยชวนไปเล่นงานเดียวกันที่โตเกียว พอมีกลุ่มเพื่อนตรงนี้เราก็ให้พวกเขามาแลกเปลี่ยนกัน ที่ผ่านมาก็ให้ชัค เพื่อนที่แอลเอเล่นสดแล้วตั๋งก็ทำวิชวลสดจากเมลเบิร์น เหมือนกับว่าซิงโครไนซ์กัน จริงๆ มันจะมีความเหลื่อมๆ อยู่ เม้งพอจะรู้ใช่มั้ยว่าถ้าแจมดนตรีกันออนไลน์ พวกโปรแกรมต่างๆ มันจะเหลื่อมกัน ภาพมันอาจจะโกงได้นิดหน่อย แต่ดนตรีแค่นิดเดียวมันก็รู้สึกแล้วว่าจังหวะมันไม่แมทช์กัน แจมแอมเบียนต์อาจจะพอได้ถ้าไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของจังหวะ พอจะอิมโพรไวซ์ได้ แบบบางทีพุ่งเข้ามา เป๊ะบ้างไม่เป๊ะบ้าง

เม้ง — แต่มันก็ไปด้วยกันได้ 

พีท — มันคือการแจมกันระหว่างคนทำงานต่างสาย หลักๆ คือสายวิชวลกับดนตรี แล้วเราก็ดูฟีดแบค คนที่แสดงได้เข้ามาแชทกันสักพักนึงด้วยเวลาที่เราเปลี่ยนซีนหรือเปลี่ยนโชว์ คนมันเชื่อมต่อกัน เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างประสบความสำเร็จประมาณนึง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีคนดูเยอะมาก แต่มันทำให้ตัวศิลปินที่อยู่กันคนละเมืองและคนละรัฐเกิดผู้ติดตามต่อกันไปเรื่อยๆ

ในส่วนของ blozxom sessions จะมีดนตรี มีศิลปิน ดีเจ ที่หมุนเวียนไม่ให้อยู่ในเมืองๆ เดียว พยายามดึงคนที่มีไอเดียดนตรีที่น่าสนใจ โดยการสลายเส้นแบ่งของอะไรต่างๆ ทั้งเรื่องของรัฐ ชาติ ชาติพันธุ์ เพศ เราพยายามที่จะเฉลี่ยไปในเรื่องของสังคมด้วย ในขณะเดียวกันก็ซัพพอร์ตดนตรีที่ค่อนข้างอยู่นอกเมนสตรีม ส่วนในอนาคตก็อาจจะพัฒนาส่วนที่เป็นค่ายเพลง ปล่อยอะไรที่ blozxom เป็นคนผลักดันออกมาด้วย แต่ก็ยังคงไอเดียของการแลกเปลี่ยนระหว่างกำแพงของรัฐ

เม้ง — ในฝั่งของ Co-SOLID มีคอนเนคกับต่างประเทศ หรือข้ามพรมแดนบ้างมั้ย?

ฟ้า — มีค่ะ ส่วนมากจะมาจากรุ่นพี่ในวงการแนะนำต่อๆ กันมา หรือบางทีก็มีพวกต่างชาติเขาเห็นเราในไอจี ในยูทูป ก็ติดต่อเข้ามาให้ทำโปรเจกต์ต่างๆ อย่างล่าสุดไรอันก็ไปช่วยโปรเจกต์ของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Underground Creators Community อย่างที่ผ่านมาก็จะมีคลับที่เจ้าของเป็นต่างชาติเช่น 12×12 หรือ Jam ก็มีการทาบทามไปเล่น เอาจริงๆ ดีเจชาติอื่นที่อยู่ในไทยก็มีเยอะ แล้วพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในซีนอยู่แล้ว


นิยามทางดนตรี


เม้ง —
เมื่อกี้ทั้งพี่พีทและฟ้ามีการพูดถึงคำว่านอกเมนสตรีมหรือคำว่าอันเดอร์กราวน์ด้วย แต่ด้วยความที่มันเป็นโลกอินเทอร์เน็ตที่ทุกอย่างเชื่อมกันหมด รู้สึกว่าคำพวกนี้มันถูกทำลายไปแล้วมั้ย เราเข้าใจนะว่ามันก็มียังมีความเฉพาะกลุ่มอะไรบางอย่างของดนตรีแบบที่พวกเราเล่น แต่รู้สึกมั้ยว่ามันเบลอมากขึ้น หรือคิดยังไงกับมัน?

ฟ้า — ทุกคนใน Co-SOLID คิดตรงกันว่าในยุคอินเทอร์เน็ต บางทีคำนี้อาจจะไม่ต้องพูดถึงขนาดนั้นแล้วก็ได้ ทุกวันนี้แต่ละคนมีเส้นทางในการฟังเพลงหลากหลายมาก อินเทอร์เน็ตเหมือนเกทเวย์ในการเจอเพลง ซึ่งจะไปทะลุอะไรบ้างก็ไม่รู้ ล่าสุดฟ้าเห็นดีเจที่เบอร์ลินที่ชื่อ FJAAK คือเค้าเล่นเทคโนแบบดีพๆ เลยนะ แต่ว่าวิธีนำเสนออารมณ์ทางศิลปะ (artistic expression) ของเขาในการแสดงวิชวลหรือกราฟิกมันดูปั่นๆ แล้วก็สว่างสดใสมาก ลบภาพเทคโน ที่ทั้งดีพและดาร์กออกไปเลย คนดูเยอะด้วย อย่างนี้ก็น่าตั้งคำถามว่าจะเรียกอันเดอร์กราวน์อยู่มั้ย บางทีสมัยก่อนอาจจะโฟกัสกันแค่คนนี้เล่นฌอง (genre) นี้แนวนี้ถึงเรียกว่าอันเดอร์กราวน์ ซาวน์แบบที่ไม่คอมเมอร์เชียล แต่ทุกวันนี้มันหลากหลายขึ้น เพราะว่าเรามีทั้งภาพและเสียง มีทุกอย่าง มันเกิดการแสดงออกที่มากกว่าซาวน์แล้ว ซึ่งมันอาจจะข้ามผ่านคำว่าอันเดอร์กราวน์หรือเมนสตรีมไปแล้ว

เม้ง — เรารู้สึกว่าคำว่าอันเดอร์กราวน์ หรือว่าอินดิเพนเดนท์ หรือว่าเมนสตรีม จริงๆ มันคือการเรียกเชิงการตลาดด้วยซ้ำไป อาจจะหมายถึงกลุ่มตลาด หรือว่าหมายถึงพื้นที่ในการเล่นถ้าเป็นสมัยก่อน แต่ว่าสิ่งนี้กลายเป็นนิยามของซาวน์ขึ้นมาก็มี สนใจเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วนิยามมันน่าจะถูกเบลอไปหมดแล้ว?

ฟ้า — คนในซีนเองตอนนี้ก็กำลังพยายามที่จะเลิกพูดอะไรอย่างนี้อยู่นะ หลายๆ คนเรียกอิเล็กทรอนิกส์เป็นแดนซ์มิวสิกแต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ ก็คิดว่าหรือจะเรียกอัลเทอร์เนทีฟแดนซ์มิวสิกกันดี ให้มันก้าวผ่านคำว่าอันเดอร์กราวน์หรือเมนสตรีมกันบ้าง

เม้ง — พี่พีทมองเรื่องนี้ว่ายังไง?

พีท — แม้แต่คำว่าเอ็กซ์เปอริเมนทัล (experimental) ก็ตาม เอาจริงๆ ทุกแนวมันก็สามารถทดลองได้ มันขยายไปทุกพรมแดนไม่ใช่แค่ดนตรีด้วย เราพยายามไม่ใช้คำว่าเอ็กซ์เปอริเมนทัล คำว่าอันเดอร์กราวน์ หรือคำอื่นๆ เพราะดนตรีก็คือดนตรี แต่การแบ่งแบบ Top Best Experimental Electronic Album This Year หรือ Top Best of the Year หรือการแบ่งประเภทของหนังตามฌองมันเป็นอะไรที่ทุนนิยมมาก การไปแบ่งประเภทก็คือการสร้างคีย์เวิร์ดที่เป็นศูนย์รวมของสิ่งๆ นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วในฐานะคนทำ เราไม่ได้คิดถึงฌองเลย การแบ่งประเภทมันคือการสร้างลำดับชั้น และจัดการชนชั้นในพื้นที่สร้างสรรค์ 

ยกตัวอย่างคนที่ทำเฮ้าส์มิวสิกหรือเทคโน ก็ได้ ในตอนเริ่มเขายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเขาทำแนวนี้อยู่ เทคโน มันเริ่มจากคนผิวดำในดีทรอยท์ (Detroit) ที่ตอนแรกก็ยังเล่นฟังก์เล่นดิสโก้กันอยู่ ก่อนที่จะมีคนเอาเครื่องทำจังหวะเข้ามาทำให้ได้ซาวน์ที่ล้ำขึ้น ลองไปเสิร์ชในยูทูป จะมีวิดีโอปาร์ตี้ในแวร์เฮ้าส์ช่วงปีแปดศูนย์ที่เล่นดนตรีเทคโน เล่นเฮ้าส์ยุคแรกๆ ซึ่งเป็นหัวใจของเส้นแบ่งฌองในตอนที่มันยังไม่เป็นฌองขึ้นมา แต่เมื่อคนในซีนหรือคนจัดรายการวิทยุเอาไปพูดถึงก็เลยเกิดเป็นฌอง แต่ฌองจะเริ่มมีปัญหาพอมันเกิดความไม่ชัดเจน เช่นเพลงของศิลปินที่ชื่อ fire-toolz ที่ในเพลงๆ เดียว อยู่ดีๆ ก็เป็นเมทัล อยู่ดีๆ ก็เป็นนิวเอจ แล้วช่วงนิวเอจก็ว้ากแบบแบล็กเมทัลเข้าไปอีก

เม้ง — ฌองทำให้เราเสิร์ชอะไรง่ายขึ้นใช่มั้ย? ผมรู้สึกว่าการจัดประเภทมันทำให้คนมารวมกันง่ายขึ้นรึเปล่า? หมายถึงในฝั่งที่มีประโยชน์น่ะ มันทำให้เกิดคอมมูนิตี้ง่ายขึ้น ก่อนที่เราจะสลายเส้นแบ่งอันนั้นออก

ฟ้า — มันก็เป็นวิธีการนึงที่ทำให้เราหาอะไรเจอ อาจจะเจอซาวน์ประเภทที่เราชอบ แต่เห็นด้วยกับพี่พีทประมาณนึงเลย ทุกวันนี้ขนาดเล่นดีเจเซ็ทแต่ละคนจะนิยามได้มั้ยว่าเพลงนี้เพลงนี้ฌองอะไร บางทีมันก็บอกไม่ได้แล้วนะ บางทีซาวน์อินดัสเทรียลแต่โครงสร้างไม่ใช่ ฟ้าคิดว่ามันเป็นแค่หนทางนึงที่จะได้เจอในสิ่งที่เราชอบ

เม้ง — เราโอเคกับการมองว่ามันเป็นแค่เกทเวย์นะ แต่มันไม่ควรถูกเอามาล็อกกับซาวน์ เรารู้สึกว่าเกิดการล็อกซาวน์ในโลกอินเทอร์เน็ตในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อย่างอินดี้ป๊อปมันเหมือนกันไปหมดเลย มันเกิดเป็นซาวน์กีตาร์บางอย่าง

ฟ้า — มองในมุมว่าถ้าเราได้จัดงานหรือเป็นโปรโมเตอร์ เราไม่ต้องล็อกไอเดียด้วยการใช้คำเหล่านี้ก็ได้

พีท — ด้วยความเป็นแนวมันก็มีประโยชน์ในการเข้าไปดูภาพรวมของซาวน์นั้นๆ เชื่อมโยงไปสู่ศิลปินคนนี้คนนั้นที่มันกระจายอยู่ในซาวน์ของฌองนั้นฌองนี้ได้ แล้วก็อาจจะช่วยให้คนสามารถค้นหาอะไรได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นความจริงที่ตายตัว 

เม้ง — เอาเป็นว่าผมไม่มองเป็นฌอง แต่ใช้คำว่าเฉพาะกลุ่มแล้วกัน มองทิศทางการทำงานกับดนตรีในแนวทางของตัวเองยังไง? วางแผนว่าจะไปต่อแบบไหน? และผลักดันมันยังไงต่อในโลกที่มีโควิด?

ฟ้า — อยากทำให้อิเล็กทรอนิกส์มิวสิกเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น อย่างล่าสุด Co-SOLID ไปเล่นที่คาเฟ่จังหวัดตรัง เราต้องทำการบ้านก่อน เราดูก่อนว่าลำโพงร้านนั้นเหมาะกับซาวน์แบบที่เราเล่นในคลับมั้ย เราทำการบ้านเพราะเราแคร์คนฟัง แคร์บริบท ไม่ได้อยากจะยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างเดียว อยากให้คนฟังแฮปปี้ด้วย ล่าสุดที่เล่นก็เลือกซาวน์ที่เหมาะกับคาเฟ่ เพลงไหนหนักไปก็จะไม่เล่น ถ้ามีโอกาสให้ไปเล่นในสถานที่อื่นๆ ก็สามารถทำได้ โดยจะเอาสถานที่กับคนฟังเป็นตัวตั้ง แล้วเอาดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในแบบที่เราคิดว่าเหมาะตาม ฟ้าคิดว่า right music right people right time มันถึงจะถูกต้อง 

เม้ง — อย่างงาน Velox ที่ Co-SOLID จัดกับคนหลายๆ คน ถึงแม้มันจะขึ้นอยู่กับดีเจว่าเขาอยู่ที่ไหน และเป็นออนไลน์ มันก็ดูแคร์สเปซประมาณนึงเลย สเปซมันเกี่ยวมากๆ เลยใช่มั้ย?

ฟ้า — เกี่ยวมากพี่ เป็นลอจิกที่เราแคร์มากๆ การเล่นที่ไหนคือหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญมาก ทีม Co-SOLID ทุกคนเป็นสายเบื้องหลังด้วย เพราะทุกคนจบนิเทศฯ มา เราจะแคร์งานที่มันออกไปมากๆ ว่าคอนเซปต์คืออะไร ว่ามันจะมีผลยังไง

เม้ง — เราเข้าใจนะว่าออนไลน์มันมีแง่มุมของวิชวล แต่ในแง่ของสเปซคนส่วนใหญ่จะคิดตอนเล่นสด แต่ถ้าเป็นออนไลน์นี่คิดถึงสเปซยังไง?

ฟ้า — ถึงจะเป็นออนไลน์แต่ดีเจที่เล่น ณ ตรงนั้นก็เพอร์ฟอร์มออกมาจากสเปซตรงนั้นอยู่ดี ถ้าเพอร์ฟอร์มตรงนั้นมันใช่ คนที่ดูออนไลน์ที่บ้านก็จะรู้สึกได้ อย่างงาน Velox ที่จัดไป พวกไลท์ติ้ง อาร์ทไดเรคชั่น มีผลต่อดีเจตอนเล่นมาก ถ้าไม่มีการจัดไฟหรือการจัดสถานที่ก็อาจจะเพอร์ฟอร์มไม่ออกก็ได้ และมันมีผลต่อเซ็ทแน่นอน 

เม้ง — แล้วทางฝั่ง blozxom คิดแผนการในช่วงนี้หรือว่าต่อๆ ไปยังไงบ้าง?

พีท — อาจจะเริ่มมีโปรเจกต์ที่ผลิตขึ้นมาโดยมี blozxom เป็นตัวผลักดัน หรือเริ่มมีโปรดักชั่นที่จะปล่อยอัลบั้มเพลงออกมาเป็นแพ็กเกจ ก็อาจจะเน้นไปทำดนตรีเยอะหน่อยเพราะเราเข้าใจมันเยอะที่สุด แล้วอาจจะมีการรวบรวมและทำค่ายเพลงขึ้นมา ยังไงก็ตาม blozxom ก็จะยังเป็นคอมมูนิตี้ของคนทำงานสร้างสรรค์ที่เราจะคอยขยายมันออกไปเรื่อยๆ และจะเร่ิมมีออริจินัลโปรเจกต์หรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจาก blozxom เองด้วย

เราอยากให้งานที่ผลิตออกมาสามารถที่จะออกไปอยู่ที่อื่นๆ บนโลกได้ด้วย เราอยากให้มันไปอยู่หลายๆ ที่ในโลก แต่ก็คิดว่าการที่มันไปอยู่ในโซนอเมริกาหรือยุโรปตะวันตกน่าจะช่วยได้ ในแง่ที่ว่ามันยังเป็นพื้นที่ที่ร่ำรวยทั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มันก็ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องประวัติศาสตร์ของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี จากการเป็นเจ้าอาณานิคมที่มันดึงเอาทรัพยากรโลกไปอยู่ที่นั่น เรามีความคิดว่าเราต้องแลกเปลี่ยนอะไรกันบ้าง ต้องบอกว่าในประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าอาณานิคม ประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้น หรือกึ่งอาณานิคม มันพึ่งพาการนำเข้ามากกว่าการส่งออก เราเลยคิดถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนขึ้นมาว่าน่าจะดี ดีกว่าการที่เราแค่จับจ่ายใช้สอยกันเองอยู่ในพื้นที่ มันอาจจะช่วยให้พื้นที่แข็งแรงก็จริง แต่ว่ามันก็อาจจะแข็งแรงขึ้นอีกถ้าเกิดการแลกเปลี่ยนกับข้างนอกด้วย 

เรามีไอเดียของการเป็นทูตที่เป็นอิสระจากรัฐของประเทศใดประเทศนึงด้วย เช่นการที่คนไทยทำงานสร้างสรรค์จากทุนเกอเธ่ (Goethe-Institut) ของเยอรมัน หรือทุนจากเจแปนฟาวน์เดชั่น (The Japan Foundation) ซึ่งก็เป็นภาษีของคนในประเทศที่ให้ทุน เรามองว่ามันน่าจะมีทางเลือกออกไปจากตรงนั้นได้โดยที่ไม่ต้องโยงกับเรื่องของรัฐต้นทาง เราอยากสร้างอะไรที่มันกระจายศูนย์ในเชิงวัฒนธรรม ไม่รู้ว่าสามารถทำถึงจุดนั้นได้มั้ยแต่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่อยากทำไปด้วย 

ในส่วนของ  blozxom ที่จะทำต่อก็คือพัฒนาเว็บไซต์ให้มีมากกว่าแค่บล็อกหรือบทความ อยากให้มีส่วนที่คนเข้ามาคอลแลบ หรือสามารถเข้ามาร่วมทำอะไรได้แบบเรียลไทม์ ก็จะเป็นในแง่ของการพัฒนาซอฟแวร์ให้เกิดการเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น

เม้ง — หาทุนจากไหนเหรอพี่ตอนนี้?

พีท — ตอนนี้คือกินเงินตัวเองอยู่ (หัวเราะ) แต่ว่ามันก็ต้องหา ตอนนี้เหมือนยังไม่มีองค์กรที่ตายตัว การจะได้ทุนก่อนอื่นเราต้องทำตัวอย่าง ทำโมเดลให้มันเคลียร์ ตอนนี้มันยังกระจัดกระจาย ยังเป็นแค่ไอเดียที่เราพูดออกไปอยู่

เม้ง — แล้วเรื่องของทุนในฝั่ง Co-SOLID ล่ะ?

ฟ้า — เหมือนกัน


ลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์


เม้ง —
ในแง่นึงในการที่มีอินเทอร์เน็ต มันเลยทำให้ต้นทุนถูกลงด้วยมั้ย? การเป็นแพลทฟอร์มออนไลน์ทำให้ต้นทุนมันลดลงมั้ย สมมติเทียบการทำผ่านยูทูปกับการไปจัดงาน? มองเรื่องนี้ว่ายังไง?

ฟ้า — ฟ้าคิดว่ามันอาจจะไม่เกี่ยว บางคนที่ถนัดทำเป็นสตรีมมิ่งแล้วทำอย่างสม่ำเสมอ ต้องซื้อเพลงบ่อย เขาหารายได้จากแพลทฟอร์มออนไลน์ เขาก็อาจจะลงทุนกับการทำกราฟิก การทำโชว์ในแบบที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งก็มีราคาในรูปแบบของมัน ส่วนการจัดงานจริงก็ใช้ต้นทุนตั้งแต่ต่ำไปถึงสูง อยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ถ้าถามว่าอะไรต้นทุนสูงกว่าน่าจะแล้วแต่งานเลยว่าวัตถุประสงค์คืออะไร 

พีท — เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ถ้าทำดีเจเซ็ทขึ้นมาในยูทูป โดยมีลิขสิทธิ์ของดนตรีหรือของศิลปินคนอื่นในช่องปุ๊ปมันจะไม่ทำเงินละ เพราะเวลาเราอัพโหลดลงยูทูป มันจะสแกนก่อนเลยว่ามีเพลงอะไร ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเพลงพวกนั้น ดีเจเซ็ทมันจะทำเงินไม่ได้นะ เงินพวกนี้มันจะถูกเอาไปให้กับศิลปินที่ถูกตรวจเจอในวิดีโอ แล้ววิดีโอนั้นก็จะถูกห้ามไม่ให้สร้างรายได้ พวกไลฟ์เซ็ทอาจจะหาเงินได้ แต่ก็ต้องมียอดวิวที่เยอะมากประมาณนึงเลย ซึ่งก็ต้องไปพึ่งพาความป๊อปปูล่าอยู่ดี 

เม้ง — ผมอยากรู้เรื่องหลักการของลิขสิทธิ์เพลงในดีเจเหมือนกัน เพราะทั้ง blozxom และ Co-SOLID มีดีเจเซ็ททั้งคู่ ฟ้าเคยเล่าว่ามันต้องซื้อเพลงตอนเล่นดีเจเซ็ท แล้วเราเอาไฟล์นั้นไปเล่นในยูทูป เฟซบุ๊ค หรือในสตรีมมิ่งอะไรก็ตามแต่ มันก็ยังจะตรวจจับแล้วป้อนเงินให้กับศิลปินเจ้าของลิขสิทธิ์เหล่านั้นใช่มั้ย? แล้วเพลงคนอื่นที่เราเล่นโดนเอาออกมั้ย? หลักการทางลิขสิทธิ์มันเป็นยังไง?

พีท — โดนครับ 

ฟ้า — (หัวเราะ) ฟ้ารู้สึกว่ายังไม่มีใครเคลียร์เรื่องนี้ได้เลย ทีแรกเคยมีคนบอกว่าถ้าเพลงนั้นดังมากๆ มีโอกาสสูงที่จะโดนตัดออกจากยูทูป แต่งาน Velox ล่าสุด เซ็ทของฟ้าโดนตัดไปหนึ่งเพลงเต็มๆ โดยที่ไม่ใช่เพลงดังอะไร ตัดฉึบไปเลย แล้วพี่บางคนใน Velox ก็โดนตัดไปสองเพลง เลยไม่ชัวร์เหมือนกัน อาจจะเป็นที่บางค่ายมากกว่าที่บอกว่าไม่ให้เล่นในประเทศไหนเลย หรือไม่ให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ 

พีท — เออใช่ มันมีสัญญาอะไรอย่างนั้นอยู่ ของ blozxom ก็มีเซ็ทนึงที่เราให้เพื่อนที่ไซ่ง่อนถ่ายแล้วทำมาเป็นดีเจเซ็ทซึ่งก็มีประมาณสองสามเพลงเลยที่ถูกบล็อกทุกพื้นที่ นโยบายของเพลงพวกนี้จะทำให้ยังดูได้สองสามวันก่อนที่มันจะหายไป จะยังไม่ทำทันทีตอนสแกนครั้งแรก

เม้ง — ผมนึกว่าหลักการคือ พอเราซื้อไฟล์มาแล้วเนี่ย ไฟล์ที่เราเล่นจะถูกตรวจว่าซื้อในฐานะดีเจแล้ว ลิขสิทธิ์ก็ถูกต้องแล้ว

พีท — มันไม่เกี่ยวกับไฟล์ต้นทางแล้วไง เพราะสุดท้ายมิกซ์ที่เราเรคคอร์ดมามันก็กลายเป็นไฟล์ใหม่อยู่แล้ว เราจะซื้อไม่ซื้อก็ไม่เกี่ยวแล้ว

เม้ง — อ๋อ เพิ่งรู้นะเนี่ย งั้นดีเจเซ็ทแต่ละครั้งก็แอบแรนด้อมว่าจะโดนเอาออกกี่เพลง 

ฟ้า — ใช่หวยจะไปออกที่ใครบางคน โดนบล็อกที่ประเทศแบบเซอร์เบีย อะไรแบบนี้ แต่บางทีก็บล็อกทุกประเทศ บอกไม่ถูกเลยทั้งเพลงดังเพลงไม่ดัง

เม้ง — แต่พวก Boiler Room หรือ Vinyl Factory มันเกิดการดีลได้เพราะว่ามันเหมือนเป็นค่ายด้วยรึเปล่า?

พีท — ถ้ามันใหญ่พอก็เหมือนจะดีลได้ เช่น Boiler Room สามารถลงเป็นเซ็ทในเฟซบุ๊คได้ ถ้ามันใหญ่พอมันจะมีพลังที่จะโน้มน้าว ไม่เชิงว่าโกง แต่มันก็จะมีนโยบายที่ละเว้นไว้ให้พวกองค์กรที่ดูน่าเชื่อถือ

เม้ง — คนที่ซื้อไฟล์คุณภาพถูกลิขสิทธิ์กับคนที่ดาวน์โหลดไฟล์มาฟรี ถ้าเอาไปเล่นดีเจเซ็ทก็จะมีโอกาสถูกเอาออกเท่ากันเลยสิ

พีท — ใช่ แต่ว่าบางทีถ้าเซ็ทที่ดีเจคนนั้นเล่น ถ้าเป็นแนวที่ต้องการพิทช์ ต้องการทำบีทแมชท์ ก็อาจจะตรวจไม่เจอ เพราะบางทีเพลงมันเปลี่ยนพิทช์ เหมือนเวลาเราใช้ Shazam (แอปพลิเคชั่นจับเสียงหรือคลื่นเพลงเพื่อตรวจสอบว่าคือเพลงอะไร) จับเซ็ทดีเจสักคนแต่ไม่เจอทั้งๆ ที่มีเพลงนั้น เป็นเพราะคอมพิวเตอร์หาค่าสัญญาณความถี่จากพิทช์ที่ถูกเปลี่ยนไม่เจอ มันก็มีได้หลายปัจจัย

เม้ง — ในที่สุดมันก็เกี่ยวกับค่าย องค์กรที่สังกัด ดีเจในสังกัดไหนอยู่ดี

พีท — มันก็เกี่ยวโยงกันหมดน่ะ ค่ายเพลง นโยบายของแพลทฟอร์ม หรือตัวศิลปิน ก็ต้องลุ้นเอาเอง แต่อย่างของ blozxom จากที่ทำดีเจเซ็ทก็ไม่ได้มีอะไรที่โดนบล็อกไปเลยทีเดียว จะมีก็แต่ของที่จัดที่ไซ่ง่อน ที่โดนเอาออกไป

เม้ง — แปลกดี ผมเพิ่งรู้เรื่องลิขสิทธ์ิในเชิงดีเจ ว่าหลักการมันเป็นแบบนี้ 

ฟ้า — พอมันมีเพนพอยท์เรื่องนี้ คนก็ย้ายแพลทฟอร์มไปอยู่ทวิช (Twitch) กันหมดเพราะไม่โดนตัด


การแลกเปลี่ยนระหว่างขอบเขตลวง


เม้ง —
พูดถึงการแลกเปลี่ยนในโลกกันนิดนึง อย่างล่าสุดที่พี่เจ้ยเพิ่งได้พรีเมียร์ Memoria ที่คานส์ มันชุบชูใจมาก ผมฟังในคลับเฮ้าส์วันนั้นที่มีคนมาเปิดห้องคุย มีคนใช้คำว่าปล่อยให้พี่เจ้ยเป็นพลเมืองโลกไปเถอะ ปล่อยให้เขาทำงานไป ทั้งคู่มีความเห็นว่ายังไงกับการเป็นพลเมืองโลก เพราะทั้ง blozxom และ Co-SOLID มันก็มีไอเดียของสิ่งนี้อยู่?

พีท — เรามองได้ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาก็เป็นพลเมืองโลกอยู่แล้ว แต่ถูกครอบด้วยกำแพงของรัฐ 

เม้ง — แล้วฟ้าคิดยังไงกับคำว่าพลเมืองโลก พอทั้งคู่เป็นคอมมูนิตี้ของการเชื่อมต่อคน นอกจากในประเทศแล้วมันอาจจะไปถึงต่างประเทศได้? 

ฟ้า — ก็คุยกันใน Co-SOLID ตลอดว่าเรามีทรัพยากรอะไรกันบ้างในตัวเอง ไม่ได้เอาคำว่าไทยมาใช้ หรือคำว่าชาติมาใช้ขนาดนั้น ถ้ามีโอกาสก็จะแลกเปลี่ยนเรื่องวัฒนธรรมกับคอมมูนิตี้อื่น ล่าสุดคุยกันว่าอยากหยิบเอาคอนเทนต์เรื่องคัลเจอร์ช็อคของต่างประเทศมาเหมือนกัน 

เม้ง — ในแง่ไหน 

ฟ้า — อย่างล่าสุดเห็นว่า Mixmag ก็มีเขียนเรื่องเกี่ยวกับเพลงอิเล็กทรอนิกส์ที่ bpm (beats per minute) มากกว่า 120 โดนแบนในยิมอะไรแบบนี้

เม้ง — จริงป่ะ 

ฟ้า — ใช่ๆ เค้าบอกว่ามีโอกาสที่คนออกกำลังในยิมไปพร้อมกับเพลงที่มันเร็วเกินอาจจะหัวใจวาย หายใจไม่ทัน เราก็อยากจะเสพข่าวสาร เรื่องอื่นๆ รอบตัว ผสมกับเรื่องเพลง หรือว่ามองโลกไปให้ไกลมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างประมาณนั้นมากกว่า ไม่ได้ว่าจะต้องพัฒนาซีนในไทยเฉพาะเรื่องเพลงแบบเอาเป็นเอาตาย หรือว่าคนไทยต้องยังไง เป็นการพยายามทำความเข้าใจโลกไปด้วยกันมากกว่า

พีท — อืมๆ เราค่อนข้างเห็นด้วย ว่ามันไม่ใช่การแบ่งระหว่างไทยหรือต่างชาติขนาดนั้น การบอกว่าทำอะไรให้โลกแต่ไม่ได้ทำอะไรให้กับประเทศไทย หรือในทางกลับกัน มันดูจะไม่เชื่อมกัน เหมือนกับเราพยายามกีดกันอีกพื้นที่นึง เราคิดว่าควรจะมองว่าเราเป็นมนุษย์คนนึงที่อยู่ในเส้นแบ่งของรัฐชาติที่ถูกสร้างขึ้น ดังนั้นแล้วเราสามารถที่จะแลกเปลี่ยนกันในฐานะมนุษย์คนนึง เป็นการเชื่อมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่มีแอตทิจูดคล้ายกัน แล้วก็ขยายความคล้ายกันนี้ของมนุษย์ต่อไปเรื่อยๆ


ชุมชนจินตกรรม


เม้ง —
แต่เราก็ไปปฏิเสธอำนาจของพื้นที่ไม่ได้ ณ ตอนนี้ ผมเลยอยากถามว่าประเทศไทยตอนนี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเยอะมากในช่วงโควิด รวมถึงมีศิลปินและนักดนตรีออกมาเคลื่อนไหวด้วย มองบทบาทตัวเองยังไง และมีความคิดเห็นยังไงกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้?

พีท — มันก็มีทั้งศิลปินที่เรารู้จักกันอยู่แล้วอย่างพี่เดื่อง (พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง) ที่เขาทำงานเกี่ยวกับดนตรีหรือซาวน์ ซึ่งการสร้างงานของเขาเห็นได้ชัดว่าคือการเอาเพลงหรือเอาเสียงพูดจากการเมืองไทยมาใช้โดยตรง พูดถึงประเทศนี้แบบตรงๆ สำหรับ blozxom มันอาจจะไม่ได้พูดเจาะจงโดยตรงถึงการเมืองไทยแบบนั้น เราพยายามแสดงออกในวิธีแบบเรา เราไม่ได้เชื่อในอำนาจรัฐไทยแบบที่มันเป็นตอนนี้ และเรามองไปถึงระดับที่มันเป็นรัฐชาติด้วย ความเป็นรัฐชาติที่พยายามจะใช้ประโยชน์จากคน 

เบเนดิกส์ แอนเดอร์สันเคยเขียนถึงขบวนการชาตินิยมว่ามันไล่เรียงมายังไง (แนะนำให้อ่าน Imagined Community โดย เบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน) และเราชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมืองทั้งของไทยและที่อื่นๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้วและประเทศที่ไม่เหลือประชาธิปไตยเลย อย่างซีเรีย หรือว่าพม่า ประเทศไทยตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงประมาณนึง เกิดการประท้วง เกิดการตื่นตัว มันคงไม่ตื่นตัวไม่ได้ถ้าจะชัดเจนขนาดนี้ว่าประเทศเราเป็นประเทศมาเฟีย ซึ่งมันเป็นมานานแล้วด้วย แต่เป็นมาเฟียแบบสงวนท่าทีในพื้นที่ของรัฐไทยที่จะไม่ฆ่ากันโต้งๆ เหมือนพม่า แต่เป็นการฆ่าด้วยวิธีละมุนละม่อม คอมโพรไมซ์แบบแยบยล เช่นการใช้กฎหมาย การอุ้มหายอย่างวันเฉลิม เหมือนทำให้กลัวแล้วค่อยๆ ตัดกำลัง 

กลับมาที่พื้นที่การทำงานสร้างสรรค์ เราว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่เวลาเราพูดว่าคนในพื้นที่ไม่ซัพพอร์ตไอเดียของคนทำงานสร้างสรรค์ มันอาจจะไม่ใช่เพราะปัจเจกซะทีเดียวแต่อาจจะเป็นที่สังคม หรือบทบาทของรัฐที่ปกครองในตอนนั้นมันบังคับให้คนอยู่ในกรอบ อะไรที่แปลกไป ใหม่ไป เป็นสิ่งที่เสี่ยง คนก็ไม่กล้าใช้เงินกับสิ่งหล่านั้น เพราะพื้นที่ที่มันไม่มีเสรีภาพและความเสมอภาคจริงๆ มันไปจำกัดมวลรวมของสังคม คล้ายกับที่ฟ้าบอกว่าฟ้าต้องการผลักดันเพลงที่ไม่ใช่แบบเดิม แต่การผลักดันนี้มันต้องเกิดควบคู่กับการบริหารจัดการของรัฐด้วย ทำไมวัฒนธรรมแบบนึงมันโตในพื้นที่นึงได้แต่ไม่โตในอีกพื้นที่นึงเป็นสิ่งที่เราตั้งคำถาม 

blozxom มองดนตรีในแง่ของวัฒนธรรมที่ถูกการเมืองแบบรัฐชาติที่ครอบไว้อยู่ และเราต้องการที่จะไม่ให้มีสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวกำกับอีกต่อไป

เม้ง — ฟ้ามองเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสิ่งที่พี่พีทพูดยังไง?

ฟ้า — พอพี่พีทพูดถึงเรื่องมาเฟียเสตทก็รู้สึกเห็นด้วย เอาง่ายๆ เลย แค่ในวงการเพลงอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังมีลอจิกของการเป็นมาเฟียอยู่ ที่ว่าถ้าจะเล่นงานนี้ต้องรู้จักคนนี้ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่ง Co-SOLID ที่ผ่านมาพยายามจะเอาเรื่องนี้ทิ้งไป โดยหาจุดร่วมแค่อย่างเดียวก็คือผลงาน เซ็ท เราจะฟังผลงานของเขาเวลาเราจะเลือกคนที่จะมาเล่นดีเจ ถ้าเราไปเจอดีเจในซาวน์คลาวด์ (SoundClound) ที่อาจจะไม่เคยเล่นที่คลับ แต่ผลงานเซ็ทเค้ามันสามารถเอาไปเล่นได้ในที่ที่เราจะจัดเราก็ชวน เราพยายามจะทิ้งความคิดที่ว่าชวนคนนี้มาคนจะเยอะนะ เราไม่ได้แคร์ตรงนั้น โฟกัสกันที่ผลงาน หรืออย่างง่ายที่สุดเราก็เป็นเหมือนคนฟังคนนึงที่อยากได้ยินคนนั้นคนนี้เล่นก็เลยชวนมาสนุกด้วยกัน เพราะยังไงพื้นฐานที่สุดก็คงเป็นการสนับสนุนอิสระทางความคิดกันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ในฐานะคนทำงาน คงจะทำได้มากที่สุดก็คือการเปิดกว้าง ทุกคนควรมีโอกาสในการแสดผลงานในแบบของตัวเอง



ดนตรีและการเมือง


เม้ง —
ผมรู้สึกว่างานของทั้งคู่มันค่อนข้างชัดเจนว่าเกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นซาวน์ที่ผมรู้สึกว่าไม่ได้เล่าเรื่องแบบเพลงทั่วไป ไม่ใช่เมนสตรีม เลยอยากรู้ถึงมุมมองของพี่เดื่องกับแคนว่ามองว่ามันส่งสารออกไปในรูปแบบไหน?

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง (เดื่อง) — อืม ใครก่อนครับ? (หัวเราะ)

พันแสน คล่องดี (แคน) — ผมหรอ (หัวเราะ) เหมือนจริงๆ แล้ว DOGWHINE ตอนตั้งต้นน่ะพี่ ผมตั้งใจจะทำทั้งดนตรีแนวแจ๊ส เพราะว่ามันเคยเป็นดนตรีที่เป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นสูง และดนตรีแนวพังก์ที่มีความขบถ เลยลองเอาทั้งสองแบบมามิกซ์กันดู อาจจะเคยมีมาแล้วล่ะ แต่ผมคิดว่าในประเทศไทยมันยังไม่ได้เป็นวงกว้างขนาดนั้นน่ะครับ ผมเลยสนใจการผสมผสานของสองแนวนี้มากๆ 

เม้ง — เหมือนมันก็มีเรื่องชนชั้นในซาวน์ด้วยใช่มั้ย?

แคน — ประมาณนั้น ผมอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แล้วก็ความหมายของเพลงก็พยายามจะเล่าเรื่องสังคมน่ะครับ อัลบั้มที่แล้วเป็นการพูดถึงสังคม ณ ปัจจุบันที่ตัวผมเผชิญ แต่ในอัลบั้มนี้ผมพูดเรื่องการแก้อดีตหรือไทม์ไลน์อดีต ส่วนเรื่องซาวน์ ผมเลือกพวกเอฟเฟกต์ที่มันขยี้ๆ บดแบบแหลกๆ พังๆ เละๆ แต่ว่าเล่นเป็นสเกลแบบแจ๊ส อะไรอย่างนี้ครับ ให้มันมีความงงๆ นิดนึง  

เม้ง — ทำไมถึงเลือกเขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษด้วย?

แคน — จริงๆ แล้วผมอยากสื่อสารให้มันไปไกลที่สุดน่ะพี่เม้ง เลยคิดว่าถ้าใช้เป็นภาษาอังกฤษ คนต่างชาติก็น่าจะเข้าใจมันได้ด้วย คนไทยก็เข้าใจด้วย

เม้ง — อ๋อ เป็นความตั้งใจเลย

แคน — ใช่ครับ ตั้งใจ คำที่ใช้ก็ไม่ได้ยากหรือลึกซึ้งขนาดนั้น อยากให้มันไปไกลมากว่า เลยเลือกใช้ภาษาอังกฤษ 

เม้ง — พี่เดื่องล่ะครับ

เดื่อง — จริงๆ แล้วเราเริ่มทำเพลงเมื่อปี 2558 แล้วก็สนใจว่าจะเจอเสียงใหม่ๆ ได้ยังไง หรือเสียงนี้มันทำปฏิกิริยาอะไรกับตัวเรา เราสนใจที่มันถูกใช้ควบคุมการเต้นของคน ควบคุมความรู้สึกของคนตั้งแต่เริ่ม ตอนนี้ออกมาสามอัลบั้มแล้ว อัลบั้มแรกชื่อว่า BLACK COUNTRY เป็นนอยซ์หนักๆ แล้วค่อยเอาเสียงมามิกซ์กัน มันก็จะนัวๆ หน่อย ส่วนอัลบั้มที่สองมีชื่อว่า SO SLEEP เป็นการทำเพลงที่พูดถึงเรื่องพ่อ ไทม์ไลน์การเสียชีวิตของพ่อเราตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลจนถึงสวดในงานศพ มันเหมือนกับอัลบั้มแรกเลยที่คอนเซปต์ของตัวอัลบั้มมันไม่ได้ฟิกซ์ ไม่ได้คอนโทรลเสียงเพลงด้วยคอนเซปต์แต่ผันเปลี่ยนไปตามอารมณ์มากกว่า 

แต่พอไปอัลบั้มที่สาม Absolute C.O.U.P. เราพยายามจะสร้างคอนเซปต์ขึ้นมา โดยที่ในแต่ละเพลงจะเป็นการพูดถึงองค์กร หรือสถาบันที่มันเกี่ยวของกับรัฐประหารในแต่ละครั้ง แล้วค่อยสร้างเพลงแต่ละเพลง มันก็จะมีโครงสร้างที่ค่อนข้างชัดเจน เหมือนกับเราสร้างคอนเซปต์ขึ้นมาเพื่อครอบเพลงนั้น สมมติว่าเราพูดเรื่องทหารอย่างในเพลง ArArMyMy เราได้สร้างพาร์ทไว้สี่พาร์ท พาร์ทแรกพูดเรื่องเพลงที่เกี่ยวกับทหาร พาร์ทสองพูดเรื่องเสียงที่เกี่ยวกับทหาร พาร์ทสามพูดเรื่องการทำงานของทหาร เช่นเรื่องทหารเกณฑ์ การซื้อเรือดำน้ำ การใช้งบประมาณ พาร์ทสี่จะเป็นการพูดเรื่องการตาย เช่นเรื่องการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ สรุปคร่าวๆ เพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มจะแบ่งเป็นสี่พาร์ทคือ ดนตรี เสียง งาน และความตาย

เม้ง — ข้อสังเกตอีกอย่างในอัลบั้มที่สามของพี่ คือมีการใช้แซมพ์ (sampling) เพลงของรัฐอยู่เยอะ อย่างในเพลง MoMoNarNarChy ก็เหมือนจะมีเมโลดี้ของเพลงสรรเสริญใช่รึเปล่า? อยากรู้ว่าในกระบวนการทำงาน สมมติว่าพี่วางคอนเซปต์เสร็จพี่เอาแซมป์ตั้งต้น หรือว่าคิดอย่างอื่นก่อน แล้วสิ่งอื่นๆ ค่อยมาประกอบสุดท้ายเพื่อให้คอนเซปต์มันชัดขึ้น?

เดื่อง — เราใช้แซมพ์เฉพาะพวกเพลงที่มันมีเนื้องร้อง หรือว่าเสียงที่มันเกิดจากคน แต่ส่วนใหญ่เราเขียนโน้ตขึ้นมาใหม่ อย่างเพลงสรรเสริญ หรือว่าที่ได้ยินเป็นเสียงพิณ เสียงแคน นั้นถูกเขียนขึ้นมาใหม่โดยใช้ซินธิไซเซอร์ เราจะเรียบเรียงด้วยเบสของมันก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไร แล้วหลังจากนั้นค่อยเข้าไปดูโครงสร้างของเพลงสี่พาร์ทที่เราบอก ส่วนเลเยอร์ที่มันซ้อนเข้าไปคือเลเยอร์ของดนตรีพื้นบ้าน ถ้าสังเกตมันจะมีดนตรีที่เป็นพื้นบ้านในแต่ละแนวของเพลงอีสาน เพลงกันตรีมก็มี เพลงใต้ก็มี เพลงเหนือก็มี เราพยายามจะเอาทั้งสี่ภาคเข้ามาอยู่ในเส้นนี้น่ะครับ 

เม้ง — อย่างพี่เดื่องเขามีการวางโครงเรื่องที่ชัดเจน เผลอๆ ทั้งอัลบั้มเลย ทุกอัลบั้มที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ามีการเรียงลำดับเรื่อง แคนมองว่าสำหรับ DOGWHINE เรามีวิธีการเล่าเรื่องยังไงบ้าง? และอยากรู้ว่าการแจม การเล่นกับคนอื่นมันมีผลกับการเล่าเรื่องนี้ด้วยมั้ย?

แคน — อัลบั้มที่กำลังทำอยู่มันจะมีเส้นเรื่องเหมือนกันคือ อดีต ปัจจุบัน แล้วก็อนาคต แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเรื่องสังคม เป็นเรื่องของผมที่เจอกับสังคม หรือสังคมที่ผมเผชิญ ณ ตอนนั้น เช่นเพลงล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมา (Masquerade ball) มันเป็นเรื่องของรัชกาลที่ 5 เรื่องการล่าอาณานิคม การเลิกทาส เป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาแล้วผมเอามาตีความต่อ เหมือนเขียนประวัติศาสตร์ใหม่น่ะครับ 

ส่วนการแจม ถ้าเป็นพาร์ทกีตาร์สองตัวแบบนี้ผมเป็นคนคิดเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ให้เพื่อนลองเล่นในแบบคาแรกเตอร์ของเขาดู แล้วตัดสินว่าได้หรือไม่ได้ ส่วนถ้าเป็นแซ็กผมจะบอกแค่อารมณ์เฉยๆ ออกตัวก่อนเพราะว่าผมไม่ได้รู้สเกลแจ๊สนะ (หัวเราะ) ใช้ความรู้สึกล้วนๆ เลยครับ บอกเขาว่าอยากได้มู้ดโทนประมาณไหน แล้วก็ให้เขาเป่ามา อัดมา แล้วฟังว่าเข้ากับเครื่องอื่นมั้ย

เม้ง — อันนี้ก็น่าสนใจ เพราะนอกจากคอนเซปต์แล้ว พาร์ทดนตรีก็จะมีเรื่องอารมณ์อยู่ด้วย สองอัลบั้มแรกของพี่เดื่องจากที่เล่าก็อิงจากอารมณ์ ผมอยากถามทั้งคู่ต่อว่าบาลานซ์สิ่งที่เป็นอารมณ์กับเนื้อหาที่เป็นการเมืองหรือเชิงสังคมยังไง?

แคน — อย่าง DOGWHINE ตัวที่มันขับอารมณ์ก็คือข้อเท็จจริง (fact) อัลบั้มที่แล้วคือข้อเท็จจริงเป็นส่วนใหญ่เลยครับพี่ จะมีความทีเล่นทีจริงแซมๆ มานิดนึง อย่างท่อนพีคก็จะแหลมไปเลย ส่วนกีตาร์จะเน้นเสียงคีย์ กับเสียงที่มันประหลาดๆ ผมไม่รู้คนฟังรู้สึกยังไง แต่ผมฟังแล้วรู้สึกสับสน เหมือนจะเพราะแต่ก็ถูกรบกวน ซาวน์มันก่อก่วน แล้วอยู่ๆ ก็มีเสียงแซ็กที่เพราะๆ หวานๆ เข้ามา แล้วอยู่ๆ ก็กลับมาเร็ว มีความงงๆ อยู่ในตัวเพลงโดยส่วนใหญ่ครับ ผมไม่เรียกว่าบาลานซ์ดีกว่าพี่ ในแต่ละเพลงผมจะหนักไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง (หัวเราะ) แบบหนักทางพาร์ทดนตรีไปเลย หรือว่าหนักทางอารมณ์ไปเลย

เดื่อง — ตั้งแต่อัลบั้มแรกเลยเราจะใช้หูอย่างเดียวเลยที่จะฟังว่ามันทำให้เรารู้สึกแบบไหน ที่สำคัญคือเราสนใจว่ามันทำปฏิกริยายังไงกับสมอง หมายความว่าค่อนข้างจะเป็นเรื่องสัมผัสด้วย ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เนี่ยมันจะใช้โวลุ่มของลำโพงเยอะ ของมวล ของเบส ของคีย์ เราสนใจว่า การทำงานของซาวน์ที่ทำให้ลอยได้ หรือกดให้ต่ำลงได้ ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดอารมณ์อย่างเดียว แต่มันเล่นกับหูในตอนที่เสียงมันเปลี่ยน ปฏิกิริยาของหูมันเปลี่ยน มันเป็นสิ่งที่เรามองเวลาเราทำเพลง เพราะเราทำอยู่ทั้งในเครื่องซินธิไซเซอร์และในคอมฯ ในสองอัลบั้มแรกเราจะหูอย่างเดียวเลยว่ามันเข้ากับสิ่งนี้ยังไง แต่พออัลบั้มสามเนี่ยก็จะเป็นเรื่องของการคิดคอนเซปต์ 

การเอาคอนเซปต์มาครอบคือความท้าทายว่าเราจะจัดการกับมันยังไง สี่พาร์ทอย่างที่เล่าให้ฟังมันเรียงด้วยคอนเซปต์ ไม่ได้เรียงด้วยโน้ต เมโลดี้ หรือเสียงเลย เวลาเราทำงานก็จะไปหาเพลงที่ต้องการใช้มา แล้วดูว่ามันมีดนตรีแบบไหนบ้างที่มันเข้า ก็จะเอามาวางเตรียมไว้แล้วก็ตัด คือเราตัดฟุต (ฟุตเทจ) เยอะมาก แซมพ์ของแต่ละพาร์ทไว้เยอะมาก แล้วก็เลือกจากแต่ละพาร์ท การจะร้อยมันเข้ากันคือความยาก เพราะว่ามันมาจากคนละโทน แต่เราก็จะพยายามท้าทายกับอาการของคนฟังด้วย 

ยกตัวอย่างที่เราบอกว่าในสองอัลบั้มแรกมันคือการเล่นกับโสตประสาท แต่อัลบั้มล่าสุดมันคือการที่ดึงอารมณ์คนดูไปมา ในหนึ่งเพลงแต่ละพาร์ทที่กำลังจะเปลี่ยนและในพาร์ทนี้จะบอกว่าจะเล่าเรื่องอะไร ในแต่ละเพลงเลยจะไม่มีมู้ดแอนด์โทน มันแทบจะเหมือนๆ กันคือดึงไปดึงมา วิธีการเรียบเรียงจะเอาจากความรู้สึกว่าอันนี้มันควรจะต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเพลงนี้เป็นเพลงเบา เพลงนี้เป็นหนัก เพลงนี้จะทำให้ฮึดสู้ แต่คือทุกๆ เพลงมันจะมีช่วงฮึด ช่วงเบา ช่วงขึ้น อยู่ในเพลงเดียวกันหมดเลย ช่วงช้า ช่วงเศร้า มันจะอยู่ในเพลงเดียวกันไปเลย มันก็เลยไม่เกิดการบาลานซ์แบบที่ดนตรีมันควรจะเป็น 

เม้ง — ผมพูดได้มั้ยว่าในแง่ซาวน์มันมีความปะทะกันนิดนึง?

เดื่อง — มันจะไม่ปะทะเพราะว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มันจะมีเลเยอร์ คือทุกๆ ดนตรีก็มีเลเยอร์แหละแต่อิเล็กทรอนิกส์จะมีเลเยอร์ที่ซ้อนไปเรื่อยๆ ยี่สิบเลเยอร์ก็ยังได้ มันสามารถเอารายละเอียดของสิ่งนึงไปอยู่ซ้ายสุด ขวาสุด มันสามารถทำได้ในซินธิไซเซอร์ ทำได้ในแซมพลิ้งเลย สำหรับเราเวลาเล่นก็คือการเล่นสดนั่นแหละ มันไม่ใช่การปะทะกัน แต่มันเป็นการเปลี่ยนโซนของหู

เม้ง — เมื่อกี้ที่ฟังแคนก็มีการผสมเหมือนกันนะ มันคล้ายของพี่เดื่องมั้ย ใช้คำว่าดึงกันไปดึงกันมาได้รึเปล่า แคนมองว่ายังไง?

แคน — ถามว่าดึงกันไปกันมามั้ยผมไม่มั่นใจ ผมคิดว่าอยู่ที่คอนเซปต์ของเพลงแต่ละเพลงด้วย บางเพลงอาจจะโดนดึงหายไปเลย (หัวเราะ) หรือถ้าจะดึงขึ้น ก็ขึ้นสุดเลย แบบดึงกันไปกันมาก็น่าจะมีอยู่ในอัลบั้ม แต่การทำงานจะต่างกับของพี่เดื่องตรงที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มันสามารซ้อนเลเยอร์ได้ แต่สำหรับวงผม ผมคำนึงถึงการเล่นสดด้วยครับพี่ พยายามจะเอาให้จบในชิ้นเดียว เอาให้เป๊ะไปเลย เพราะกลัวว่าตอนเล่นสดมันเล่นได้ไม่เหมือนแล้วอารมณ์จะไม่ได้

เม้ง — เข้าใจๆ ดูทั้งคู่จะใส่ใจกับความเล่นสดประมาณนึงเลย

แคน — ผมเคยดูพี่เดื่องเล่นสดโคตรมัน 


ดนตรีในที่ชุมนุม


เม้ง —
ใช่พี่ ผมอยากดูพี่เดื่องเล่นสดอีก (หัวเราะ) ผมอยากให้แชร์หน่อยในฐานะที่เคยเล่นสดกันในม็อบ พูดกันตรงๆ ถ้าเป็นวงเพื่อชีวิตไปเล่นผมจะไม่แปลกใจนะ แต่พอผมเห็นรูปพี่เดื่องเล่นหน้าอนุสาวรีย์ หรือ DOGWHINE ตอนนั้นผมตกใจมาก เห็นเอฟเฟกต์ในบรรยากาศทางการเมืองในนั้นยังไง เพราะงานเรามันก็พูดเรื่องการเมืองด้วย?

แคน — ผมไปเล่นวันที่ 14 ตุลา (2563) ตอนนั้นเหมือนพี่เดื่องจะเป็นคนชวน (หัวเราะ) 

เม้ง — อ้าว เหรอ (หัวเราะ)

แคน — ใช่ พี่เดื่องชวนไปเล่นที่หน้ากระทรวงศึกษาฯ เวทีของ Free Arts ผมเล่นวงสุดท้ายก่อนฉายหนัง ตอนนั้นเล่นๆ อยู่ก็มีตำรวจเข้ามาสองฝั่งแล้วพี่ (หัวเราะ) ตอนเล่นอยู่เขายังไม่เข้ามาแต่พอเล่นเสร็จตำรวจก็เข้ามาเลย ขับรถเข้ามาก่อน มือเบสวงผมถอดเสื้อแล้วยืนขวาง ตอนแรกก็ตกใจครับพี่ ไม่รู้จะทำยังไงดี ไม่เคยอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น แต่ก็ผ่านไปได้

เม้ง — เครียดเหมือนกันนะ

แคน — คืนนั้นผมเก็บเครื่องดนตรีอะไรเรียบร้อยแล้วก็อยู่กับคนแถวนั้น มันมีหนังเรื่อง The Kingmaker (2562) ฉายด้วย ผมนั่งดูจนตีสองนิดๆ ก็ได้ยินว่าเค้าเริ่มสลายการชุมนุมแล้ว มันแย่มากพี่เพราะคนแถวนั้นยังหลับอยู่เลย ลุง ป้า รถเข็นขายของยังพักกันอยู่เลย แต่ตำรวจก็เข้ามาเรื่อยๆ ผมต้องวิ่งปลุกคนแถวนั้นเป็นเส้นยาวมาก แล้ววิ่งหนีออกไปเส้นนางเลิ้ง บรรยากาศรวมๆ ไม่อยากพูดว่าสนุกได้เต็มปาก มันค่อนข้างเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีเลยซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เราใช้ดนตรีเพื่อเอนเตอร์เทนคนแถวนั้นได้ก็จริง แต่สำหรับผมวันนั้นคือไม่โอเคแล้ว

เม้ง — เหมือนกับว่าจำได้แต่เรื่องสลายการชุมนุมไปเลย

แคน — ใช่ๆ คือส่วนนึงผมอยากให้คนตรงนั้นอยู่จนจบด้วยซ้ำ ไม่ได้จบแค่ดนตรีแต่จบการชุมนุมน่ะ รู้สึกว่าพอรูปแบบงานกลายเป็นเฟสติวัลผมไม่มั่นใจว่าคนที่มาจะอยู่จนถึงท้ายกิจกรรมรึเปล่า วันนั้นที่ผมเลือกอยู่เพราะผมรู้สึกว่าไม่อยากทิ้งคนดูเลยนั่งอยู่จนจบ ก็ตามนั้นแหละพี่ เครียดเลยวันนั้น พี่เดื่องก็เครียด

เม้ง — แล้วฝั่งของพี่เดื่องเป็นยังไงบ้าง?

เดื่อง — เดี๋ยวค่อยกลับมาเล่าเรื่อง 14 ตุลานะ (หัวเราะ) เรามองว่าเพลงมันควรจะมีทุกแบบ การที่เรามาเรียกร้องหรือว่ามาทำงานการเมือง ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวเราเองหรือว่าสิ่งที่เราสนใจเข้ามาสู่จุดมุ่งหมายเดียว เพราะว่าประชาธิปไตยในคำจำกัดความของเราคือต้องหลากหลายมากพอที่จะทำให้ทุกมิติได้เข้ามา เรารู้สึกว่าทุกๆ แนวดนตรีควรจะต้องถูกรวมเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง อย่างท่ีเบอร์ลินมันก็มีเฟสติวัลการประท้วง มีการเดินขบวนที่ใช้เพลงเทคโน ครั้งแรกที่เราเล่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเราก็รู้สึกอยากเล่นในสิ่งที่เราสนใจนะ อย่างน้อยที่สุดมันหลากหลาย ก็ไม่คิดว่าฟีดแบคมันจะดีขนาดนั้นในแง่ที่ว่าคนรู้สึกกับเพลงอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าที่เราคิด ไม่ได้มองว่ามันแนวทดลองหรืออะไรนะ เราคิดว่าเพลงมันก็คือเพลงนั่นแหละ การที่ได้เห็นคนจับใจความของเพลงที่เราเล่นได้หลายส่วนทั้งตอนปี่ไฉนกลองชนะ ที่เอามาจากเพลงมโหรีของงานศพของกษัตริย์ หรือว่าเพลงที่มีเสียงแคนในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แบบคิกหนักๆ ทำให้รู้สึกว่าเสียงไม่มีพรมแดนในการทำความเข้าใจ เขาได้ยินเสียงนั้นด้วยการเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นด้วย มันทำให้เรารู้สึกว่าดนตรีแนวไหนก็ควรได้รับการสนับสนุน เพราะมันคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน วันที่ 14 เราชวน DOGWHINE เพราะเรารู้สึกว่าเล่นสดได้ดี ดีกว่าในเพลงอีก 

แคน — (หัวเราะ) 

เดื่อง — วันที่ 14 เป็นวันที่เรารู้สึกว่ามันโหดเหี้ยมมาก

แคน — เขาตัดไวไฟด้วยนะพี่ วันนั้นต่อไวไฟเข้ามิกซ์เซอร์ไม่ได้

เดื่อง — ใช่ๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องด่ากันต่อไป เพราะว่าเราใช้สิทธิเสรีภาพของเรา แต่เราก็ยังคิดว่าทุกแนวดนตรีควรจะแสดงออกได้ในพื้นที่ของม๊อบ เพราะมันคือพื้นที่ของการเรียกร้องสิทธิทุกประเภท


คอลเอาท์


เม้ง —
คิดยังไงกับการออกมาเคลื่อนไหวของนักดนตรี มันมีนักดนตรีออกมาเคลื่อนไหวบ้างแล้ว ทั้งในฝั่งของพี่เดื่องหรือของ DOGWHINE เองตั้งแต่ตอนประท้วง แล้วตอนนี้ก็มีนักดนตรีกระแสหลักออกมาด้วย มองเรื่องน้ียังไงบ้าง? 

เดื่อง — เรามองนักดนตรีทุกคนเท่ากัน หมายความว่าเราไม่ได้มองว่าใครเป็นเมนสตรีม ใครเป็นอินดี้ ใครเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เรามองว่าเวลาคอลเอาท์ ทุกๆ คนมันสำคัญ แต่แน่นอนว่าในการกระจายเสียงหรือเรื่องของภาพลักษณ์คนที่อยู่ในกระแสหลักก็จะได้รับมากกว่า 

สำหรับเราประชาธิปไตยมันต้องทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เลือกในทุกรูปแบบจนเกิดกลุ่มก้อนของตัวเองจากคนที่สนใจเพลงแบบเดียวกัน เรารู้สึกว่าการที่นักดนตรีทุกรูปแบบออกมาคอลเอาท์อยู่บนระนาบเดียวกันทำให้เราสามารถที่จะเลือกได้ว่าเราสนใจอะไร ในอนาคตมันอาจจะเหมือนกับในยุโรปก็ได้ที่คนสามารถเลือกฟังในสิ่งที่คุณชอบโดยที่ไม่มีใครมาตัดสินว่าคุณฟังเพลงอินดี้หรือคุณฟังเพลงตลาด

เม้ง — เข้าใจนะ แต่พี่มองว่าไทยไปถึงจุดไหนแล้วในเรื่องนี้? 

เดื่อง — แต่ก่อนนี้เล่นในไทยด้วยคนดูเกินห้าสิบก็ดีใจตายแล้วสำหรับเพลงแบบเรา ในยุโรปอาจจะหลักร้อยหลักพัน แต่ตอนที่อยู่ในม็อบมันทำให้เราได้มีโอกาสเล่นต่อหน้าคนดูอย่างต่ำสามหมื่นกว่าคนในวันนั้น ด้วยเนื้อหาที่ไม่มีคำร้อง ไม่มีคำปลุกใจ แต่มีคนเฮฮา งงไปด้วยเต้นไปด้วย ยังสนุกไปด้วยกัน เรารู้สึกว่าคนน่าจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นในอนาคต และดนตรีหรืองานศิลปะที่มันไปสู่อนาคตก็ต้องถูกทดลองอะไรใหม่ๆ มันกำลังเป็นอย่างนั้นอยู่

เม้ง — แล้วแคนมองว่ายังไง?

แคน — เรื่องแรกก่อน ตอนนี้เราเห็นศิลปินหลายๆ คนออกมาแล้ว เพราะว่าปัญหามันเป็นวงกว้างจริงๆ แล้วมันจวนตัวจัดเลยๆ สำหรับคนในวงการดนตรี ผมรู้สึกโอเคนะครับที่คนออกมาคอลเอาท์ถึงปัญหาตรงนั้น แต่ก็ไม่อยากให้เขาลืมปัญหาที่แท้จริงด้วยว่ามันคืออะไร ผมไม่สามารถไปบอกคนได้ว่าออกมาคอลเอาท์ตรงนั้นตรงนี้หรอกครับ คนเรามันเป็นฟันเฟืองแหละพี่ ทำได้ในสิ่งที่เราอยากจะทำ แค่อยู่ในหลักเดียวกันหรือปลายทางเดียวกันผมว่าดีกว่า คนเหล่านั้นเขามีกระบอกเสียงที่ใหญ่กว่าแน่นอนครับพี่ อย่างที่พี่เดื่องพูดตอนแรก ผมเห็นด้วยกับพี่เดื่องหมดเลย (หัวเราะ)

เม้ง — แล้วอย่างที่พี่เดื่องพูดเรื่องความเมนสตรีม อินดี้ อะไรแบบนี้ แคนมองซีนตอนนี้เป็นยังไง?  หรือมีมุมมองคล้ายๆ พี่เดื่องว่ามันหายไปหมดแล้ว? รู้สึกว่าคนเปิดรับแนวดนตรีใหม่ๆ มากขึ้นมั้ย?

แคน — มันอาจจะเป็นเรื่องร้ายนะครับพี่ ที่ว่าแนวดนตรีมันค่อนข้างจะผูกขาดนิดนึง เหมือนกับแน่นอนว่าเพลงรักต้องดังน่ะครับ ผมเคยเรียนกับอาจารย์คนนึง เขาบอกว่าถ้าอยากรู้ว่าประเทศนั้นเป็นยังไงให้ดูศิลปะบ้านเขา อย่างช่วงนี้ที่คนฟังเพลงการเมืองเยอะเพราะมันมีปัญหาที่แทบจะกอดคอขี่ไหล่เราแล้ว คนเลยต้องการอะไรที่ปลุกใจแน่นอน ผมคิดว่าแนวดนตรีตอนนี้มันน่าจะใกล้ถึงยุครีเซ็ทได้แล้วนะครับพี่ คนอาจจะเลือกฟังอะไรที่ไม่ใช่เพลงรักแล้ว เขาอาจจะต้องการเปิดรับสิ่งใหม่และมีเวลาหาอะไรใหม่ถ้าคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น วันนี้ไถฟีดก็เจอแต่ข่าวการเมือง ข่าวโควิด การปล่อยเพลงออกมาตอนนี้คนไม่น่าจะสนใจแน่นอน ผมคิดว่าต้องแก้ที่คุณภาพชีวิตของประชาชนก่อน แล้วให้ประชาชนเลือกเองว่าจะเสพดนตรีแนวไหน หรือว่าจะทำอะไรต่อนะครับพี่ 

เม้ง — คือความหลากหลายน่าจะมาเองทีหลัง หลังจากที่พวกเราไม่ตายล่ะนะ (หัวเราะ)

แคน — ใช่ๆ ความหลากหลายน่าจะมาเองหลังจากที่ชีวิตเราดีขึ้น ผมเชื่อแบบนั้น แต่ว่าผมเชื่อแน่นอนว่าจะมีพื้นที่ให้กับวงที่มีแนวดนตรีแตกต่างจากเดิม และมีพื้นที่ให้เขาก้าวขึ้นมามากขึ้น


ขับเคลื่อนเพื่อเสรีภาพ


เม้ง —
ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ทั้งเรื่องม๊อบ เรื่องวัคซีน เรามองว่ามันคือข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถสื่อสารเรื่องอื่นได้มั้ย? หรือมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องสื่อสาร ณ ตอนนี้เพราะคนไม่ได้อยากฟังเรื่องอื่น?

แคน — ถ้าสำหรับผม ตอนนี้ผมขับเคลื่อนด้วยสภาพสังคมไปแล้วล่ะ (หัวเราะ) รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเครื่องจักรไปแล้วยังไงก็ไม่รู้ ถ้ารัฐบาลเหี้ยก็ต้องโดนด่าแน่นอนอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นเชื้อไฟในการทำงานมากขึ้นนะพี่ ผมรู้สึกมันที่ได้ด่า รู้สึกมันที่ได้ใส่อารมณ์ตัวเองลงไปในงาน ทำให้มันดูซอฟท์ลง หรือให้มันอ้อมหลังไปตบหัว ในผลงานของเราเราไม่ได้ด่าเค้าตรงๆ นะครับ ถ้าคนในอีกสิบยี่สิบปีกลับมาฟัง เขาจะได้รู้เลยว่ารัฐบาลปีนี้ ยุคนี้ ที่มีวงนี้ด่าก็เพราะรัฐบาลเหี้ย คิดว่ามันไม่ได้เป็นข้อจำกัดให้ผมพูดอะไรได้หรือไม่ได้ ผมก็ยังพูดได้เสมอ 

เม้ง — พี่เดื่องมองว่ายังไง? 

เดื่อง — สำหรับเราเวลาเคลื่อนไหวทางการเมืองเราไม่ได้ไปในฐานะศิลปิน เราไปในฐานะประชาชน เป็นภาพที่เราเป็นประชาชนคนนึงไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม แต่ในการทำงานศิลปะมันก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำงานเกี่ยวกับการเมือง เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเราในช่วงเวลานี้ แล้วเราก็โดนผลกระทบจากการเมืองตรงๆ มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเบื่อหรือทำให้ทำเรื่องอื่นไม่ได้ เอาง่ายๆ คือแพชชั่นในชีวิตเรามีสองอย่าง หนึ่งคือเราอยากใช้ชีวิตปกติให้ได้ในสังคมที่ดีกว่านี้ อยากทำอะไรก็ได้ อยากรู้สึกว่าเศรษฐกิจดี อยากแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ นี่คือแพชชั่นหนึ่งที่รู้สึกว่าอยากทำไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม จะให้ออกไปประท้วง ออกไปเขียนด่า ออกไปพูดคุย ออกไปอะไรก็แล้วตาม สองคือเราอยากที่จะเห็นอนาคตใหม่ๆ เห็นสิ่งใหม่ๆ เราไม่อยากอยู่กับที่ ไม่อยากรู้สึกว่ามันไม่มีอนาคต อยากเจอเพลงใหม่ๆ เสียงใหม่ๆ งานใหม่ๆ ดูส่ิงที่เราตื่นตาตื่นใจ ได้ดูงานศิลปะที่ดี ได้ดูหนังดีๆ เรารู้สึกสองสิ่งนี้มันเคลื่อนไปพร้อมกันสำหรับเรา 

การทำสิ่งใหม่มันเป็นสิ่งยากเพราะว่าต้องรู้ว่าควรจะรวมอะไรเข้าด้วยกัน แบบไหนที่มันทำให้เห็นอนาคตใหม่ๆ ไม่รู้ว่าจะทำได้รึเปล่า ในงานเพลงเราคิดถึงสิ่งนี้เสมอมันก็เลยเป็นเพลงที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง (หัวเราะ) แต่ว่าในเชิงการทดลอง เราทำงานกับโครงสร้างดนตรีเพื่อที่จะเห็นสิ่งใหม่ๆ ในเพลงของเราเสมอ

เม้ง — ขอถามถึงสเตปต่อไปนิดนึงแล้วกัน ในเชิงซาวน์ก็ได้หรือสิ่งที่อยากพูดก็ได้ มอง DOGWHINE เป็นยังไงหรือว่าอยากเล่นอะไรใหม่ ณ ตอนนี้?

แคน — กลัวพูดไปพี่ขำ แต่มันก็ได้อยู่นะ (หัวเราะ) ตอนนี้ผมอยากเล่นกับวงออร์เครสตรามากเลยพี่ ผมพยายามดูคลิปที่มีคอนดักเตอร์ หรือวงที่มันใหญ่ๆ ผมไม่รู้หรอกว่าจะมีโอกาสเล่นมั้ย ผมว่ามันมีความหลากหลายจริงๆ เครื่องนี้มันเล่นแบบนี้ เครื่องนั้นมันเล่นแบบนั้น แต่สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นกลุ่มก้อน แล้วเพลงมันดันเพราะอีก ผมพยายามจินตนาการว่าถ้าเราอยู่ในจุดนั้นได้เราจะทำอะไร เราจะเรียบเรียงยังไง เราจะเล่นแบบไหน ผมก็ไม่มีสกิลดนตรีนะ ไม่ได้เรียนดนตรีมาเหมือนกัน แค่อยากทำ อันนั้นน่าจะแปลกใหม่สำหรับผมนะ พยายามรีเสิร์ชกับทำการบ้านอยู่ครับพี่ น่าจะอีกสักสองสามปี

เม้ง — เหมือนเคยเห็นมีศิลปินเทคโน ที่เล่นกับออร์เคสตรานะ ชื่อเจฟ มิลส์ (Jeff Mills) พูดถึงออร์เคสตราก็น่าสนใจ พี่เดื่องอยากเล่นกับออร์เคสตราบ้างมั้ย?

เดื่อง — ยัง ตอนนี้ยัง (หัวเราะ) 

เม้ง — ซาวน์มันดูใหญ่เนอะ

แคน — แล้วมันดูหลากหลายจริง ถ้าจะพูดเรื่องความหลากหลาย ผมว่านี่แหละ ใช่เลย (หัวเราะ)

เดื่อง — ออร์เครสตรามันมีความสกิลน่ะ อย่างการเล่นดนตรีแบบ DOGWHINE มันมีสกิล เยอะด้วย ในการสร้างทำนอง จังหวะ แต่ว่าอย่างของเรา สิ่งที่เราสนใจมากกว่าคือการไปเล่นกับชนเผ่าหรืออะไรที่เป็นเสียงอื่น เสียงของชนเผ่า เสียงแบบแอฟริกัน มันมีความพื้นถิ่น แต่ว่าออร์เคสตรามีแพทเทิร์นที่ต้องมีสกิลอย่างน้อยที่สุดก็ต้องรู้โน้ต รู้คอร์ดในการเรียบเรียงมัน แต่เรารู้สึกว่าความพริเมทีฟ (primitive) มันน่าสนใจอีกแบบนึงนะ (หัวเราะ) 

เม้ง — เพลงแบบพวกมองโกลอะไรแบบนี้มั้ย?

เดื่อง — อย่างเครื่องดนตรีแปลกๆ ในลาวอะไรแบบนี้ คือมันเยอะมากพวกวงดนตรีชนกลุ่มน้อย

เม้ง — เวิลด์มิวสิก (World Music) อะไรแบบนั้นรึเปล่าพี่?

เดื่อง — มันไม่ใช่แบบเวิลด์มิวสิก มันคือการเล่นใหม่ อย่างค่ายเพลงอิเล็กทรอนิกส์ในอูกันดาที่มีซาวน์แบบแอฟริกันยุคใหม่น่ะ เวิลด์มิวสิกมันให้ความรู้สึกเป็นดนตรีของชนกลุ่มน้อยที่โหยหาอดีต แต่แบบสมัยใหม่คือมันมาจากโลกใบเดียวกัน แต่ใช้เสียงกับเทมโปจากโลกของตัวเอง ซึ่งมันเท่าเทียมกันมากกว่าสำหรับเรา 

เม้ง — เข้าใจครับ เวิลด์มิวสิกเป็นอะไรที่ตะวันตกเอามาขายความเป็นชนกลุ่มน้อยด้วยซ้ำ


ขับเคลื่อนเพื่อเท่าเทียม


เม้ง —
พูดถึงเรื่องต่างประเทศ ช่วงนึงพี่เดื่องเคยไปเล่นต่างประเทศใช่มั้ย? อย่าง DOGWHINE มีเข้าไปเกี่ยวกับเฟสติวัลในฝั่งต่างประเทศบ้างมั้ย? ผมรู้สึกว่า การเชื่อมต่อกับโลกมันกว้างขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ต เรามองพื้นที่ทางดนตรีของเรายังไง? อยากขยายไหม? เราวางแผนอะไรกับมันบ้าง? 

แคน — เคยแค่มีติดต่อมา แต่ว่าติดช่วงโควิดครับพี่ งานอะไรสักอย่าง น่าจะของไต้หวันหรือเกาหลีนี่แหละ จริงๆ ผมอยากเป็นกระบอกเสียงนะพี่ ถ้าได้ไปเล่นตรงนั้นจริงๆ อยากมีชื่อเสียงเพื่อจะกลับมาคอลเอาท์เพื่อทำอะไรซักอย่างต่อที่นี่ครับ อยากเป็นกระบอกเสียงที่ใหญ่ขึ้น

เดื่อง — จริงๆ เราก็หากินด้วยการเล่นดนตรีต่างประเทศ ในสามสี่ปีที่ผ่านมาเราได้เงินจากที่นั่น แล้วปีที่แล้วก็เป็นปีที่แย่มาก จริงๆ เราต้องทัวร์ด้วย แต่ก็โดนแคนเซิลหมด สถานการณ์มันบังคับให้เราไปเล่นที่นั่นเพราะว่ามันได้เงินไง มันใช้ชีวิตอยู่ได้ เราไม่ได้อยากไปเล่นต่างประเทศเพราะอยากมีชื่อเสียงแต่มันคือการได้เห็นว่ามีคนซัพพอร์ทคุณ มีกลุ่มคนที่ฟังเพลงของคุณจริงๆ ที่พร้อมจะจ่ายเงินให้คุณ อย่างเราไปทัวร์ยุโรปยี่สิบประเทศ ไม่ว่าจะไปสโลวาเนีย เซอร์เบีย ก็มีกลุ่มคนที่ฟังเพลงอิเล็กทรอนิกส์แบบที่เราทำ เราอยากเห็นสิ่งนี้ในไทย 

กับการเมือง เราไม่เชื่อเรื่องคนดังแล้วจะทำให้เสียงเราใหญ่ขึ้น แต่แน่นอนเราก็หมั่นไส้พวกคนดังอยู่แล้ว (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าไม่อยากเป็นคนดังเพราะว่าจะมีคนหมั่นไส้กับสิ่งนี้ แล้วเราก็จะรำคาญเวลามีคนสรรเสริญเยินยอกัน มันทำให้ความเป็นคนของอีกคนนึงมันหายไป เสียงเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นลม แต่กับอีกคนกลับเป็นดินที่พร้อมจะถล่มได้ เราไม่เชื่อสิ่งนั้น 

การออกนอกประเทศ มันคือการทำให้เราเปิดโลก ทำให้เราเห็นว่าถึงคุณภาพบางอย่างที่น่าสนใจกว่าในไทย ต่างประเทศจะใส่ใจกับการซาวน์เช็คของเรามากกว่า ไม่เหมือนกับที่ไทยที่จะบอกว่าเล่นอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องซาวน์เช็ค เสียบปลั๊กแล้วเล่นได้เลย การไปทัวร์ทำให้เราเรียนรู้ความเป็นสากลมากขึ้นว่าต้องซาวน์เช็คยังไงต้องคุยกับซาวน์เอ็นจิเนียร์ยังไง ต้องดูห้องแมพยังไง ประสบการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในประเทศไทย

เม้ง — พี่เดื่องบอกว่ามันสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วย คนที่ทำงานนอกกระแสหลัก ณ ตอนนี้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพด้วยเงินทุนต่างประเทศอย่างเดียวรึเปล่า?

เดื่อง — เอาจริงๆ แล้วเราคิดว่าเราเลี้ยงชีพในประเทศไทยไม่ได้ แต่เราสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้ อย่างในปี 2563 เราก็มีทำ Neighbours Collective กับเพื่อน เอาเงินที่ได้มาจากการไปเล่นต่างประเทศมาชวนนักดนตรีที่ดังๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเล่น แล้วก็จ่ายเงินทุกอย่างให้เป็นเรทปกติ มีค่าที่พัก เพอร์เดียม ค่าตัวศิลปิน ทุกอย่างที่เวลาเราไปต่างประเทศแล้วเราได้รับ เราใช้สเกลนั้นเลย แล้วก็เจ๊งระนาว แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราทำได้ เรารู้สึกว่าส่ิงนี้ต้องถูกสร้างให้เป็นมาตรฐานขึ้นมา มันไม่ใช่แค่การจะจัดงานนึงก็ชวนเพราะเป็นเพื่อนกัน มาสุมหัวกัน เล่นแล้วได้เงินน้อยนิด แบบนั้นก็ทำได้ แต่ถ้าเราอยากให้มันเป็นระบบจริงๆ ก็ควรจะต้องสร้างมาตรฐานของวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ฝั่งเล่นสดเขามีมาตรฐานกันมานานแล้วล่ะ เฟสติวัลก็มี แต่เราอยากให้ดนตรีแบบเราได้รับการดูแลด้วยสแตนดาร์ดเท่ากับแบบอื่นเหมือนในฝั่งยุโรป ตัวเราเองไม่คิดว่าที่นี่จะหาเลี้ยงชีพได้ด้วยสิ่งนี้ได้ในเร็ววัน แต่ว่าในอนาคต เมื่อคนมันอยากเจอสิ่งใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบ้านเมืองเซ็ทระบบได้ เมื่อมีรัฐสวัสดิการ เมื่อมันมีพื้นที่ทางสังคม เมื่อรัฐมีคลับให้กับคนหนุ่มสาว หรือว่ามีสวัสดิการให้กับประชาชน รัฐที่มันเริ่มสมบูรณ์ เริ่มที่จะตั้งตัวได้ เริ่มมีประชาธิปไตยเต็มใบ มันจะค่อยๆ ดีขึ้นสำหรับเรา ถ้าหวังกับรัฐที่มันเป็นเผด็จการแบบนี้ก็คงจะอีกนาน

แคน — ในส่วนของวง ผมมองว่ามันยังหากินไม่ได้แน่นอน เพราะยิ่งคนเยอะเราก็หารกันเยอะ เวลาจัดอีเว้นท์ใหญ่ๆ ผู้จัดเขาก็ต้องหวังการขายบัตรอยู่แล้ว ซึ่งฐานแฟนเพลงผมมีไม่ถึงสองร้อยเลยด้วยซ้ำ เขาก็ไม่ได้จ้างในราคาที่จะได้กำไร พอจ้างในราคาถูกแล้วต้องหารกันอีก อย่างวงผมมีตั้งหกเจ็ดคน บางทีหารออกมาได้แค่ค่ารถ เป็นมาสองสามปีได้ ผมเพิ่งจะมารับค่าตัวเต็มๆ ปีที่แล้วเอง แล้วก็โดนโควิด กำลังจะตั้งตัวได้แล้วต้องมาโดนเรื่องนี้อีก ผมเลยมองอย่างเดียวกับพี่เดื่องว่าบ้านเมืองต้องเซ็ทระบบจริงๆ จังๆ ให้ความสำคัญกับทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ควรได้รับสวัสดิการ ควรมีพื้นที่ให้เขาเล่น หรือมีอะไรให้เขารู้สึกอุ่นใจกับสิ่งที่เขาทำ 

ผมมองว่าช่วงสี่ห้าปีนี้อาจจะไม่ได้แน่นอนครับพี่ กว่าจะเซ็ทระบบและหลายๆ อย่าง ผมเชื่อว่าอีเว้นท์ที่กลับมาจัดได้คงต้องมีเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่จัดๆ เลย สปอนเซอร์น้ำดื่มหรือเบียร์ ซึ่งมันก็จะมีวงที่ผูกขาดอยู่แล้วเพราะพวกเขาทำเงินได้แน่นอน วงเล็กๆ อย่างผม หรือคนรอบข้างผม เหมือนถูกหลอกมาตลอดเลยว่าต้องเล่นด้วยแพชชั่น ได้เล่นยังดีกว่าไม่ได้เล่น ผมกลับมาตระหนักรู้ว่ามันไม่ได้นะ ผมก็ไม่ได้มีเงินอะไรมากมาย อย่างน้อยก็ควรจะได้ค่าแรงขั้นต่ำห้าร้อยพันนึงมั้ย กลไกลพวกนี้ก็ต้องย้อนกลับไปตอนต้นเลยคือเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าคนมันมีเงินก็คงพร้อมซัพพอร์ทแน่นอน เหมือนอย่างเช่นงานหางบัตรมันก็ยังมีอยู่ มันอยู่ที่ใจแหละซึ่งผมไม่ได้ว่านะ แต่ผลกระทบกับตัวนักดนตรีก็คือต้องเตรียมใจไว้แล้วว่าอาจจะเข้าเนื้อ หรืออาจจะได้น้อย ซึ่งผมไม่ค่อยอยากให้เกิดในยุคนี้ ผมอยากให้ได้รับผลตอบแทนทั้งคนมาเล่น ทั้งคนจัด ทั้งผู้ชมครับ 

เม้ง — ณ ตอนนี้คงหวังพึ่งรัฐไม่ได้อยู่แล้ว เรามองว่าการรวมกันเป็นคอมมูนิตี้มันจะช่วยเรื่องนี้มั้ย? การรวมตัวกันมันช่วยอะไรได้มั้ย?

แคน — ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี แน่นอนว่าการรวมกลุ่มมันต้องมีความหลากหลาย เช่นคนนี้อาจจะมีแนวคิดตรงนี้ คนนั้นอาจจะมีแนวคิดตรงนั้น แล้วเอามาคุยกับ ระดมความคิดกัน มันน่าจะเกิดเรื่องที่ดีกว่า เช่นถ้าพูดกันตรงๆ ผมไม่ได้มีคอนเนกชั่นทางดนตรีเลย ผมเรียนถ่ายรูปมาที่ลาดกระบัง เป็นวงจากลาดกระบัง มหาลัยฯ ที่ไม่มีคณะดนตรีเลยด้วยซ้ำ แต่ที่ผมได้มาเล่นและผมได้เจอคนก็เพราะว่าคอมมูนิตี้ของเด็กฝั่งศิลปากร เด็กฝั่งมหิดลที่มาเจอผมตามงาน ชวนไปทำนั่นทำนี่ ถ้าเกิดเป็นคอมมูนิตี้นักดนตรีก็อาจจะดี เพราะบางคนก็อาจจะมีสเปซให้เล่น บางคนก็อาจจะมีเครื่องดนตรีที่พอจะทำไลฟ์เซสชั่นปล่อยออกไปก่อนไม่ให้วงมันหายไปน่ะครับ

เม้ง — มองมั้ยว่าสิ่งนี้มันช่วยเราได้แค่ไหนในระบบทั้งหมดที่มันยังแย่อยู่ มองว่าเรามีอำนาจต่อรองมากขึ้นแค่ไหน? 

แคน — เหมือนอย่างที่เขาบอกกันเลยพี่ ว่าประชาชนต้องช่วยกันเอง มันคือความจริงร้อยเปอร์เซนต์ พี่เดื่องว่าไงพี่ ผมว่ายากมากเลย

เดื่อง — ก็ช่วยกันเองแหละ แต่มันช่วยได้แค่ช่วงเวลานึง ในการช่วยกันเองมันก็ต้องช่วยตัวเองด้วย คอมมูนิตี้มันก็จำเป็นอยู่แล้วในซีนดนตรีปกติน่ะนะ แต่ต้องอย่าลืมว่าคอมมูนิตี้มันต้องมีมาตรฐานด้วย ไม่ใช่แค่คุณภาพของงาน แต่หมายถึงมาตรฐานการให้ค่าแรง มาตรฐานของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เหมือนอย่างที่แคนบอกว่า คนบอกให้เราเล่นด้วยแพชชั่น คอมมูนิตี้มันก็ไม่ควรเป็นเรื่องของแพชชั่นอย่างเดียว มันควรจะมีระบบที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ถึงจะเป็นคอมมูนิตี้ที่ดี คุณต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราจะได้เงินแบบไหน เราจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นมั้ย หรือทำให้เห็นภาพหลากหลายมากขึ้นยังไง เพราะคอมมูนิตี้มันไม่ได้หมายความว่าต้องมองไปทางเดียวกันนะ คอมมูนิตี้คือการที่สามารถปรับตัวเมื่อเจอสิ่งใหม่ๆ และสามารถพัฒนาไปได้ มันควรเป็นภาพแบบนั้นสำหรับเรา 

อย่างที่เราบอกคือประเทศไทยมันช่วยตัวเองมาตลอดอยู่แล้ว แต่การช่วยเหลือแบบพวกเรามันก็ทำได้ในระยะเวลาจำกัด ซึ่งมันไม่ได้ทำให้ปัญหามันหายไปไหนเลย เรารู้สึกว่าเราช่วยกันเองมาเยอะมากแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ต้องให้เขามาช่วยแล้วล่ะ ต้องเรียกร้องให้เขามาช่วย มันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลแล้ว ในยุคนึงเคยคิดว่าการทำสิ่งนี้มันเวิร์กนะ แต่ในจุดที่ทุกคนเจอปัญหาร่วมกัน เห็นเลยว่ายากมากที่จะบอกให้เราไปช่วยกันเองโดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลก็ได้ เราคิดว่าอาจจะช่วยกันเองก่อนแล้วค่อยไปตีรัฐบาล มันต้องคิดดีๆ นะ อะไรแบบนี้  

เม้ง — มันก็คือเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ก่อน แบบนั้นรึเปล่า? 

เดื่อง — มันเปลี่ยนแปลงภาพเล็กมาตลอดเวลา แต่มันต้องดันไปจนถึงภาพใหญ่ให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ สะท้อนภาพใหญ่ออกไปให้ได้ ไม่ได้อยู่แค่ในปัญหาของตนเอง ไม่ได้อยู่แค่ในปัญหาของปัจเจกหรือกลุ่มใดกลุ่มนึง เหมือนที่บอกว่านักดนตรีที่ออกมาคอลเอาท์ ความจริงต้องทำไปให้ไกลถึงการเปลี่ยนแปลงระบบของสังคมด้วยไม่ใช่แค่ถึงจุดที่ได้รับเงินอุดหนุน หรือว่าการเรียกร้องเรื่องชุมชนอะไรบางอย่าง มันก็ควรไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม เพราะว่าสุดท้ายเมื่อคุณได้สิ่งที่เรียกร้องมาแต่ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง คุณก็จะเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำอีกรอบนึงอยู่ดี ถ้าไม่เปลี่ยนระนาบที่มันใหญ่ มันก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ มันก็จะกลับมาวนเวียนอยู่อย่างนี้ เพราะว่าคนที่มันทำให้คุณเป็นแบบนั้นมันยังอยู่ที่เดิม

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 09 — Unnatural Natural Reasons about Sex: เพศและเหตุผล


เพศ ธรรมชาติ วัฒนธรรม


นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน) —
คิดยังไงกับคำว่าเป็นธรรมชาติ หรือไม่เป็นธรรมชาติ ในเรื่องของเพศกำเนิด (sex) กับเพศสภาพ (gender)

มุกดาภา ยั่งยืนภารดร (มุก) — พูดในทางภาษาศาสตร์ คำว่า nature มีรากมาจากคำละติน natus แปลว่าการเกิด (birth) จากนั้นก็ขยับมาเป็น natura ที่หมายถึงความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ลักษณะโดยทั่วไป จักรวาล ซึ่งมันสื่อรวมๆ ถึง ‘สิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด’ แต่สิ่งนี้เองที่เป็นข้อถกเถียงของนักปรัชญาหลายๆ คน ว่าจริงๆ คนเราเกิดมาเป็นเป็นผืนผ้าสีขาวว่างเปล่า หรือเกิดมาพร้อมคุณลักษณะนิสัยบางประการเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

เราเคยอ่านงานชื่อ Is Female to Male as Nature is to Culture? (2517) ของเชอร์รี่ บี. ออร์ตเนอร์ (Sherry B. Ortner) ที่พยายามสำรวจหลักฐานแบบเป็นสากล ว่าอะไรทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายมีแนวโน้มในการทำกิจกรรมต่างๆ ต่างกัน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการบอกว่าการให้นมของผู้หญิงเป็นกิจกรรมตามธรรมชาติ แต่เรื่องของศาสนา ปรัชญา หรือศิลปะ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นของผู้ชาย ส่วนตัวรู้สึกว่ามันแคบเกินไปที่จะเอาคำว่าธรรมชาติไปผูกอยู่กับกิจกรรมของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว เรามักจะเอาทัศนะของมนุษย์ใส่ลงไปเวลาพูดถึงคำว่าธรรมชาติ ซึ่งมันพัวพันอยู่กับวิธีที่เราคิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับโลก และการที่โลกมีปฏิสัมพันธ์กับเรา การแบ่งเส้นระหว่างบทบาทที่เป็น ‘ธรรมชาติ’ กับ ‘วัฒนธรรม’ แบบนี้จึงเป็นการแบ่งขั้วทวิลักษณ์แบบผิดๆ (false binary) เพราะความหมายมันโอนย้ายถ่ายเทกันไปมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 

การแบ่งบทบาททางเพศโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็คือการควบคุมประชากรของรัฐเพื่อตอบสนองทุนนิยม ภาพโมเดลสุดคลาสสิกของคนขาวในสังคมตะวันตกที่ผู้ชายทำงานนอกบ้านส่วนผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกก็คือแนวคิดแบบปิตาธิปไตยนั่นแหละ ซึ่งมันไปตอกย้ำตำแหน่งแห่งที่ของลำดับชั้นทางสังคม การเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงานจากการออกไปทำงานนอกบ้าน ไปอยู่ในแวดวงชนชั้นปกครอง เช่นไปเป็นผู้ออกกฎหมาย ไปอยู่ในสภา ไปเป็นผู้นำประเทศ อำนาจในการออกนโยบายก็ตกเป็นอำนาจของผู้ชาย ซึ่งไปกำกับวิถีชีวิตของคนในสังคมให้ติดอยู่ใต้เลนส์แบบเดียว 

ส่วนตัวเราคิดว่าคำว่าธรรมชาติเองไม่ได้บริสุทธิ์ เพราะมันเปื้อนอิทธิพลอันเป็นผลจากชีวิตทางสังคมของมนุษย์ เลยไม่ค่อยเชื่อเวลาบอกว่าอะไรเป็นไปโดยธรรมชาติเท่าไหร่


แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน
และ ฝันเปียกกรุงเทพฯ


หฤษฎ์ ศรีขาว (
เพิท) — ผมเพิ่งอ่าน แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน ที่มุกแปลไปครึ่งเล่ม ชอบมากๆ รู้สึกว่าน่าจะดีถ้าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กประถม มันน่าจะช่วยหลายๆ คนได้ ช่วงมัธยมหรือมหาลัยฯ ผมมีความต้องการที่จะนิยามเพศของตัวเอง แนวคิดของฟูโกต์ (มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)) เรื่องการประกอบสร้างของหญิงชายมันช่วยผมได้มากเลย ผมอ่านมันจากหนังสือ เพศ (เพศ:จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ (2559)) ของอาจารย์ธเนศ (ธเนศ วงศ์ยานนาวา) ที่พูดถึงการใช้เรื่องเพศมาควบคุมสังคม เช่นหลายสังคมในยุคก่อนสมัยใหม่ มีการใช้กิจกรรมทางเพศในฐานะพิธีกรรมในการก้าวผ่านจากเด็กชายไปสู่ชายหนุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องทางธรรมชาติ หรืออย่างในแซมเบีย (Sambia) ที่เด็กอายุประมาณเจ็ดถึงสิบขวบต้องดื่มน้ำอสุจิของผู้ใหญ่ทุกคืน จนพวกเขาอายุประมาณสิบสี่ถึงสิบหก วัยที่สามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้ถึงจะหยุดดื่ม เพราะพวกเขามีแนวคิดว่าน้ำอสุจิจะทำให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ มันคือการเชิดชูอำนาจความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ของแท้ หรือในสังคมจีนเองก็เพิ่งมาซีเรียสกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงมากขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งในหนังสือของอาจารย์ธเนศตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์แบบนี้พอรับได้ในจีน ตราบใดที่มันไม่มากระทบอำนาจนำของผู้ชาย 

อีกอย่างที่ผมสนใจในหนังสือของมุกคือเรื่องของการเติบโต ตอนเด็กเราใส่กระโปรงได้เพราะคนมองว่าเป็นแค่การละเล่น แต่พอโตแล้วเราทำแบบนั้นไม่ได้ เรื่องเพศกับการเติบโตตามธรรมชาติคืออะไร เส้นแบ่งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่คืออะไร ทำไมตอนเด็กผู้ชายจับมือกันได้ แต่โตมาแล้วทำไม่ได้


รูป 1 — แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) (2564) แปลโดยมุกดาภา ยั่งยืนภารดร จากต้นฉบับของอลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) เกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชายจริงหญิงแท้ และมายาคติที่ฝังอยู่ในโครงสร้างอำนาจในสังคม


รูป 2 — เพศ:จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ (2559) โดยธเนศ วงศ์ยานนาวา ตั้งคำถามกับความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สัมพันธ์กับเรื่องศีลธรรม จริยธรรม และการที่เรื่องเพศที่ถูกใช้ในการควบคุมสังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

มุก — ตอนที่แปลเล่มนี้ก็กลับมาตกตะกอนว่าประเด็นเรื่องการเติบโตเป็นสิ่งที่คับแคบในความคิดของเราตอนเด็กเหมือนกัน เพราะถูกบรรทัดฐานทางสังคม คำพูดของผู้ใหญ่ หรือคนรอบตัวกำกับว่าเราควรจะต้องเติบโตไปเป็นแบบไหน เราอยากให้ทุกคนรู้และโอบรับการเติบโตในแบบอื่นๆ อาจจะต้องมาจินตนาการคำว่า ‘การเติบโต’ กันใหม่ ถามว่าถ้าไม่ใช่การเติบโตจาก a ไป b แต่เป็น a ไป c ได้มั้ย เส้นทางของการเติบโตไม่ใช่การกระโดดจากจุดนึงไปอีกจุด มันคือการค่อยๆ เดินไปและพบเห็น จดจำ โอบรับสิ่งรายล้อมข้างทาง ซึ่งจริงๆ แล้วนี่เป็นประเด็นของกลุ่มทรานส์ (trans) ด้วย เวลาเราเรียกคนข้ามเพศแบบนี้ มันมีนัยยะของการพลิกจากหนึ่งไปเป็นอีกหนึ่ง แต่จริงๆ ความเป็นทรานส์มันไม่ใช่การพลิก แต่เป็นการค่อยๆ สั่งสมวิธีการแสดงออก (expose) ตัวเองแบบต่างๆ แน่นอนว่าจินตนาการถึงตัวตนแบบนี้เป็นอะไรที่สำคัญ แต่คนไม่ค่อยนึกถึงอัตลักษณ์ในแง่นี้เท่าไหร่ เรามักจะมองไปที่จุดหมายปลายทางว่าเขา ‘ข้ามเพศ’ ไปเป็นเพศอะไร แต่ไม่ได้ย้อนกลับไปดูมากนักว่าเส้นทางที่ผ่านมาของเขามันคืออะไรและเป็นยังไงบ้าง ซึ่งมันอาจจะเผยให้เห็นอะไรที่สำคัญมากไม่แพ้กันเลย

อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม (บีม) — เราว่าแต่ละคนให้ความหมายเกี่ยวกับเพศไม่เหมือนกัน ล่าสุดเราดูข่าวคนนึงที่เป็นเกย์ เขาโดนผู้หญิงเรียกว่าเป็นข้ามเพศ ถึงมันจะสุภาพ แต่คนๆ นั้นกลับไม่แฮปปี้ เรารู้สึกว่าความหมายของแต่ละคนที่รู้สึกกับตัวเองไม่เหมือนกัน เรารู้สึกว่าคำที่ใช้เรียกเพศอาจจะยังไม่พอด้วยซ้ำไป เพราะความต้องการแต่ละคนมันเยอะมาก

ยีน — ในอินสตาแกรมของ IWANNABANGKOK© แต่ละคนให้ความหมายต่อเพศตัวเองผ่านการแต่งตัวและการแสดงออกหลากหลายมากจริงๆ ซึ่งสำหรับเรามันเป็นภาพแทนของคนรุ่นใหม่มากๆ วัยรุ่นในเจเนอเรชั่นซี (z) ไม่ได้สนใจการแบ่งแยกเพศขนาดนั้น 

บีม — สำหรับ IWANNABANGKOK© มันเป็นการเอาวัยรุ่นมาโปรโมทกรุงเทพฯ เราไม่ได้ย้ำประเด็นเรื่องเพศ แทบไม่ได้พูดถึงเลย หลายคนบอกว่าแบรนด์เราเป็น LGBTQ+ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้น เราหมายถึงทุกๆ คน


รูป 3 — สกรีนชอตจากอินสตาแกรมเพจ IWANNABANGKOK©

ยีน — ถึงจะไม่ได้พูดเป็นหลักใน IWANNABANGKOK© แต่ใน BANGKOK WET DREAM ค่อนข้างชัดเจนและจริงจังขึ้นเรื่องเพศใช่มั้ย?

บีม — ใน BANGKOK WET DREAM เราสนใจโฮโมอีโรติก (homoerotic) แล้วก็ยูนิฟอร์ม มันพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เริ่มต้นจากยูนิฟอร์มตำรวจ มาเป็นชุดลูกเสือ ชุดนักเรียน ตอนนั้นช่วงเวลาที่ปล่อยมันออกมามันไปประสบกับช่วงที่มีประท้วง ซึ่งมีเรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และนักเรียนเลวที่ออกมาพูดเรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียนพอดี


รูป 4 — ภาพจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM

เพิท — จริงๆ ตอนทำ BANGKOK WET DREAM มันสะใจดี เพราะภาพความเป็นชายในสังคมไทยมันแข็งทื่อมาก ผมแค่หมั่นไส้ อยากทำลายมัน เอาจริงๆ ผมสนใจภาพรวม ยกตัวอย่างหนัง Call Me by Your Name (2560) ที่หนังมันดูได้ทั้งชายหญิง และทุกคนสามารถที่จะชื่นชมมันได้ ผมคิดว่าผมอยากจะให้ภาพถ่ายความเป็นชายมันสามารถถูกชื่นชมได้ ภาพโฮโมอีโรติก เป็นภาพที่เวลาผู้ชายดูอาจจะยังเคอะเขิน ผมคิดว่าเป้าหมายของผมคือการสร้างภาพแทนของเกย์ที่ไม่ต่างกับภาพแทนของชายหญิง ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมันมีภาพของเกย์แบบคนรุ่นก่อน และมันแคบไป

ยีน — ตอนเห็น BANGKOK WET DREAM ครั้งแรกทำให้นึกถึง Tom of Finland อยู่เหมือนกัน ที่เป็นภาพวาดแนวอีโรติกของเกย์ในชุดเครื่องแบบรัดรูปที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุคเจ็ดศูนย์ เรื่องชุดตำรวจเราคิดว่าอิมแพคมาก แล้วชุดยูนิฟอร์มอื่นๆ ที่วางแผนไว้ว่าจะใช้อีกมีอะไรบ้าง

เพิท —​ คอนเซปต์คือทำให้สุดๆ ไปเลย ผมมองว่าผมจะทำทุกชุด ทำระยะยาว ทุกชุดที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมไม่รู้ว่ามันแอบเชยไปมั้ย ต่างประเทศทำเยอะแล้ว แต่เราก็อยากทำให้เกิดในไทย ผมก็อยากรู้ว่ามันจะพ้นไปจากนี้ได้ยังไง


รูป 5 — Tom of Finland เป็นผลงานภาพวาดแนวอีโรติกระหว่างชายชายของทอม (Tom) หรือ ตูก้า วาลิโอ ลาคโซเน็น (Touka Valio Laaksonen) (2463-2534) ศิลปินชาวฟินแลนด์ เขาเข้าร่วมเป็นทหารกับกองทัพของฟินแลนด์ (ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายนาซี) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพวาดของเขาได้แรงบันดาลใจจากชุดยูนิฟอร์มของทหารและเรือนร่างของผู้ชายในชุดหนัง เกิดข้อถกเถียงว่าผลงานของทอมเป็นการเชิดชูภาพของอำนาจนิยม หรือลดความศักดิ์สิทธิ์ที่มากับภาพจำของยูนิฟอร์มที่มีความเป็นชายแท้กันแน่ อย่างไรก็ตามผลงานของเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในสหรัฐอเมริกา และเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาราวทศวรรษที่ 1970 Tom of Finland กลายเป็นภาพอัตลักษณ์ของเกย์ในศตวรรษที่ 20 และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของกลุ่ม LGBTQ+

ยีน — ตอนเห็นชุดลูกเสือทำให้เรานึกถึงการก่อตั้งลูกเสือของรัชกาลที่ 6 แล้วก็เรื่อง นายใน (“นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 (2556)) 

มุก — เรื่อง นายใน เป็นการตีแผ่ให้ฟังถึงชีวิตความเป็นอยู่ของข้าหลวงผู้ชายฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่ 6 เช่นเรื่องที่มีการสร้างตำหนักให้กับคนที่ทรงโปรดมากๆ บางคนบอกว่ามันเป็นข่าวลือเล็กๆ ในราชวงศ์ แต่เราไม่ชอบที่จะให้เรียกแบบนั้น เพราะมันจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องผิดบาป 

บีม — ตอนที่ทำเราไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นนะ แค่มันเป็นยูนิฟอร์มที่น่าสนใจ ถ้าเทียบกับชุดนักเรียนชายทั่วไป เราสนใจในความเป็นคอสตูมของมัน


รูป 6 — ภาพจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM


รูป 7 — กองเสือป่าก่อตั้งขึ้นในปี 2454 โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็กพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีลักษณะคล้ายทหารรักษาดินแดนของอังกฤษ (Territory Army) เป็นอาสาสมัครที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศในขณะที่ทหารออกไปรบ เครื่องแต่งกายของเสือป่ามีรายละเอียดคล้ายเครื่องแบบทหารเสือฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13-14 เช่นการสวมกางเกงขี่ม้า หรือกางเกงขาสั้นแล้วสวมถุงเท้าดำยาวถึงเข่า มีริบบิ้นปล่อยชายห้อยด้านข้าง สวมหมวกสักหลาดปีกกว้างพันรอบด้วยริบบิ้นลายเสือและปักขนนกสีขาว ส่วนเครื่องแต่งกายของเด็กชายลูกเสือ ใช้รูปแบบที่มาจาก The Boy Scouts Association ของบาเดน-เพาเวลล์ (Baden Powell) ผู้ก่อตั้งลูกเสือในอังกฤษ เป็นเสื้อเชิ้ตคอปกสีกากี กางเกงขาสั้น ถุงเท้ายาวถึงเข่า หมวกสักหลาดปีกกว้างคาดเชือกใต้คาง และผ้าผูกคอที่มีสัญลักษณ์ของหมู่กองที่ลูกเสือนั้นสังกัด (อ้างอิง https://www.gqthailand.com/style/article/boy-scouts-and-the-wild-tigers / https://scoutsmarts.com/scout-uniform-history-and-importance/)




ซีรีส์วาย (ไอตัววุ่นวาย)


มุก —​
ปัญหาเรื่องความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศหรือโฮโมโฟเบีย (homophobia) เป็นวิธีคิดของความเป็นชายที่มันแข็งมากๆ วิธีที่จะทลายสิ่งเหล่านี้ต้องทำไปพร้อมๆ กับสร้างการรับรู้ ไม่ว่าจะผ่านศิลปะ ภาพถ่าย วรรณกรรม ความจริงความเป็นชายหญิงมันลื่นไหลได้มากกว่านั้น มันทำให้นึกถึงภาพของเกย์ในไทยที่ค่อนข้างติดกรอบจากการผลิตซ้ำภาพในสื่อกระแสหลัก พวกซีรีส์วายต่างๆ ถึงจะบอกว่ามันสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และให้ภาพในเชิงบวกกับ LGBTQ+ แต่เราไม่แน่ใจเพราะมันก็ยังอยู่ในกรอบและเส้นเรื่องที่จำกัดอยู่ดี แทนที่จะทำให้สังคมยอมรับได้มากขึ้น กลายเป็นการไปตีกรอบให้การแต่งตัวและการแสดงออกบางแบบเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับ ซีรีส์หลายเรื่องมันผลิตซ้ำภาพจำที่ไม่สร้างประโยชน์กับคนใน LGBTQ+ คอมมูนิตี้เลย เราต้องการคนทำสื่อที่เข้าใจ ไม่ก็มีประสบการณ์ตรง ส่วนใหญ่มันยังเป็นสายตาของคนนอกที่มองเข้าไปอยู่

บีม —​ เราคิดว่าซีรีส์วาย มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้หญิง ภาพเกย์ในซีรีส์มันคนละเรื่องกับเกย์จริงๆ เคยดู POSE (2561-2564) มั้ย อันนั้นทำเพื่อสะท้อนสังคมจริงๆ มันเป็นซีรีส์เกี่ยวกับ LGBTQ+ ในปี 2530 ในนิวยอร์ก เนื้อหามันน่าชื่นใจ


รูป 8 — POSE (2562-2564) เป็นซีรีส์มิวสิคัลแนวดราม่าเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ+ ในปี 2530 ในนิวยอร์ก ตัวละครหลักเป็นสาวข้ามเพศที่สร้างคอมมูนิตี้ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Ball Culture ที่กลุ่ม LGBTQ+ จะมารวมตัวกันเพื่อแข่งขันเต้นรำหรือทำการแสดงต่างๆ ด้วยคอสตูมแดรก (Drag)

ยีน — เพิ่งได้ดู Happiest Season (2563) มันเป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้เกี่ยวกับเลสเบี้ยนที่มีปัญหาเรื่องเปิดเผยตัวตนกับครอบครัว เราว่าในซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศมันช่วยสื่อสารประเด็น LGBTQ+ ได้มีประโยชน์ดี


รูป 9 — Happiest Season (2563) เล่าถึงคู่เลสเบี้ยน ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการการเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวหัวอนุรักษ์นิยม ในขณะที่ต้องไปเยี่ยมบ้านเกิดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ยีน — ส่วนเรื่องวาย เราเคยฟัง The Daily Topics ตอน วาย101 ที่คุณอรรถ บุนนาค มาเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมวาย ซึ่งมันน่าสนใจดีเหมือนกันนะ และมันยาวนานกว่าที่คิด และจำได้ว่าดูอีกตอนนึงของอาจารย์วาสนา (วาสนา วงศ์สุรวัฒน์) เกี่ยวกับการผลิตซีรีส์วายในไทยที่มันเพิ่มมากขึ้น ส่วนนึงมาจากที่จีนในช่วงประมาณปี 2559 เซ็นเซอร์ฉากเลิฟซีนในซีรีส์วายที่ผลิตในประเทศ คนจีนเลยมุดวีพีเอ็น (vpn) ออกมาดูซีรีส์ไทยกันเยอะ เพราะมีฉากที่น่าตื่นเต้นมากกว่า

มุก — ด้วยความที่จีนมันใหญ่ และประชากรบนอินเทอร์เน็ตเขาแอคทีฟมาก เขาหาทางซอกแซกออกมาดูได้ เราว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจดี มองในเชิงการเมืองระหว่างประเทศได้ด้วย การที่ไทยทำสื่อ LGBTQ+ เยอะทำให้ดูเป็นมิตรกับเพศหลากหลาย ดูเกย์เฟรนด์ลี่ แต่จริงๆ แล้วสังคมเรายอมรับความหลากหลายทางเพศได้แค่ไหน เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไขมั้ย คนยังมีอคติบางอย่างอยู่มั้ย รัฐพร้อมที่จะโอบรับสิทธิเสรีภาพของคนที่มีความหลากหลายทางเพศผ่านนโยบาย หรือกฎหมายต่างๆ มากน้อยแค่ไหน ในญี่ปุ่นเองถึงแม้จะผลิตสื่อที่เรียกว่า Boy’s Love หรือ BL ออกมาเยอะมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นจริงๆ กับกลุ่มคนเหล่านี้มันต่างกันเลย 

บีม — BANGKOK WET DREAM ส่วนนึงก็มาจากการล้อเลียนซีรีส์วาย อย่างชื่อตัวละครในภาพที่เราทำออกมาก็มีชื่อสารวัต ซึ่งมันเป็นชื่อตัวละครจากซีรีส์ที่ดังมากตอนนั้น (2gether: The Series (เพราะเราคู่กัน) (2563)) แล้วก็จะเรียกตัวเอกอีกตัวว่าตัววุ่นวาย ถึงภาพมันจะออกมาดูแรงในงานของเรา แต่เราอยากให้คนมองมันเหมือนหนังวาย ให้มันน่ารัก ให้ฟีลแบบคนดูซีรีส์วาย

มุก — ยูนิฟอร์มตำรวจมันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจนิยมด้วยแหละ พอมันมีความไวลด์ผสมกับอีโรติกมันอาจจะดูแรง แต่มันก็ดึงดูดตาน่าสนใจและชวนให้หยุดดู


รูป 10 — 2gether: The Series (เพราะเราคู่กัน) (2563) เป็นซีรีส์แนวโรแมนติกดราม่าของสองตัวละครหลัก ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจนเกิดกระแสคู่จิ้น และ #คั่นกู ขึ้นอันดับหนึ่งทวิตเตอร์ในทุกคืนที่ออกอากาศ


ความผิดบาปของการมีเซ็กส์


เพิท — ในงาน BANGKOK WET DREAM อีกอย่างที่ผมสนใจมากก็คือเรื่องการมีเซ็กส์ ที่ถูกเอามาแทนความหมายแบบลบ การแสดงออกเช่นการเลียรองเท้า หรืองานของวสันต์ สิทธิเขต ที่เอานักการเมืองมาเย็ดกัน บางทีมันเก่า และผมก็แค่รู้สึกว่าเวลาคนพูดถึงการเมือง ทำไมต้องใช้เรื่องการมีเซ็กส์เป็นภาพแทนของสิ่งที่ไม่ดี ไม่สุภาพด้วย ทำไมการจูบกันมันถึงผิด

มุก — ตรงนี้กลับมาตั้งคำถามเรื่องธรรมชาติได้อีก ทั้งๆ ที่คนชอบบอกว่าเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่กลายเป็นว่าในสังคมปัจจุบันมันเป็นหัวข้อต้องห้าม เกิดการใส่คุณสมบัติไม่ดี ความร่าน ความแพศยา พ่วงไปกับการมีเพศสัมพันธ์ และยังถามได้อีกว่าท้ายที่สุดแล้วเซ็กส์หลุดออกจากธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน เมื่อเราเอาความชอบหรือสิ่งเร้าอารมณ์ต่างๆ ไปผูกกับเซ็กส์ อย่างเรื่องเลียรองเท้า เฟติช (fetish) ในการมีเซ็กส์ หรือความพึงพอใจรูปแบบอื่นๆ ในกิจกรรมทางเพศ


รูป 11 — ภาพจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM

บีม — เฟติชมันเป็นธรรมชาติมั้ย เช่นในหนังโป๊ก็มีหลายรูปแบบ

มุก — หรือว่าต้องโดนฉี่ใส่ เราว่ามันเยอะมากจริงๆ เราอาจจะตอบไม่ได้ว่ายังไง แต่ประเด็นคือไม่ไปตัดสินมากกว่า ถ้าพูดกันตามชีววิทยา เวลาเราบอกว่าธรรมชาติเต็มไปด้วยความหลากหลาย ถ้าอย่างนั้นเรื่องของรสนิยมทางเพศก็หลากหลายได้เหมือนกัน

เพิท — ความผิดในเรื่องการมีเซ็กส์ มันมาจากประวัติศาสตร์การควบคุมคนโดยใช้เพศเป็นเครื่องมือเยอะมาก

มุก — มันก็มีแนวคิดที่แยกความเป็นมนุษย์เป็นของสูงส่ง แต่การมีเซ็กส์เป็นของต่ำเหมือนกัน ส่วนนึงก็มีรากมาจากแนวคิดของชนชั้นสูงในยุคกลางในตะวันตกแหละที่เชิดชูความรักเหนือความสำราญจากการมีเพศสัมพันธ์ ในยุคที่ร่วมสมัยขึ้นมาก็เกิดความคิดที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านพิธีกรรมซึ่งรับรองโดยรัฐ อย่างการแต่งงานแล้วเท่านั้น แล้วมันยังเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการควบคุมประชากรด้วย อย่างในยุควิคตอเรียน การกำกับการสืบพันธุ์ทำให้ผู้หญิงชนชั้นสูงต้องรักษาพรมจรรย์ ต้องมีการใส่กางเกงในเหล็ก (chastity belts) เพื่อกันไม่ให้ช่วยตัวเองและไม่ให้มีอวัยวะเพศชายสอดใส่เข้ามาได้ มันเป็นหลักฐานที่ชัดมากๆ ว่าเรื่องเพศสัมพันธ์โดนสังคมกำกับควบคุมมาแต่ไหนแต่ไร

เพิท — นอกจากเรื่องเพศก็มีเรื่องของลำดับชั้นทางสังคมด้วย ที่ผมอ่านจากหนังสือของอาจารย์ธเนศ มันมีความผิดในเรื่องของการมีเซ็กส์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันในประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องความผิดระหว่างชนชั้น อย่างสังคมญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 17 ผู้ชายที่มักเป็นชนชั้นสูง เช่นกษัตริย์หรือภิกษุในนิกายเซน สามารถมีอะไรกับผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายก็ได้ แต่พวกผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือในสังคมกรีกโบราณที่โด่งดังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายด้วยกันเองการมีแนวคิดคล้ายๆ กับในญี่ปุ่น ผู้ชายที่มีสถานะสูงกว่าต้องเป็นฝ่ายกระทำเท่านั้น บทบาทของผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำที่ไม่เป็นไปตามลำดับชั้นทางสังคมจะถือว่าเป็นความผิด


จากเล้าเป็ดถึงรางวัลซีไรต์


ยีน —​
แล้วในแวดวงวรรณกรรมเป็นยังไงบ้าง ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นวรรณกรรมไทยที่พูดถึงประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเท่าไหร่?

มุก —​ ยังไม่พูดถึงวรรณกรรมเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในแวดวงวรรณกรรมในไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียถือว่าโตค่อนข้างช้า หนังสือถูกตีพิมพ์ออกไปก็ยาก แล้วรัฐก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องการเขียนมากเท่าไหร่ แถมจะเขียนอะไรสักอย่างยังต้องสอดรับไปกับการถามว่าคนอ่านอยากอ่านอะไร เรายกตัวอย่างซีไรต์ (S.E.A. Write) น่าจะชัดที่สุด ว่ากันตามตรงค่อนข้างมีกรอบในการยอมรับงานเขียนชิ้นไหนว่าเป็นวรรณกรรมควรค่าแก่การอ่าน เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดเดิมๆ มีอำนาจแบบเดิมๆ ทำให้ในแวดวงวรรณกรรมกระแสหลักมันไม่ค่อยมีคนผลิตงานที่พูดถึงความรักแบบอื่นนอกจากเรื่องความรักแบบชายหญิง งานเขียนนอกบรรทัดฐานความรักแบบชายหญิงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตมากกว่า นิยายชายรักชายในพื้นที่อย่างเล้าเป็ด, เว็บบอร์ด Dek-D, ธัญวลัย, Fiction Log หรือ readAwrite มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เลยพูดไม่ได้ว่าเราผลิตงานด้านนี้น้อย แค่หลักแหล่งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามขนบเท่านั้นเอง นักเขียนรุ่นใหม่ๆ เห็นแล้วว่าการพิมพ์หนังสือแบบดั้งเดิมกับสำนักพิมพ์ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะสื่อสารความคิดของพวกเขา พื้นที่ออนไลน์ยังทำให้งานเขียนถูกมองเห็นได้มากกว่าจนเกิดงานตีพิมพ์เอง (self-publish) เยอะขึ้นมาก หลายคนพบเจองานน้ำดีที่มีคุณภาพทั้งในแง่เนื้อหา ภาษา วรรณศิลป์ จากโลกออนไลน์ แถมมันยังให้ชื่อเสียงกับนักเขียนได้มากกว่าในแวดวงสิ่งพิมพ์ คิดว่าหนังสือจะไม่หายไปหรอก แต่อาจจะมีอะไรเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับการอุบัติขึ้นของคอนเทนต์ออนไลน์จำนวนมากด้วย


รูป 12 — Queer Publishing – A Family Tree Poster Edition (2562) เป็นโปสเตอร์ที่แสดงภาพของสิ่งพิมพ์เควียร์ตั้งแต่ปี 2423 จากโปรเจกต์วิจัยโดยเบิร์นฮาร์ด เซลล่า (Bernhard Cella) ภาพของสิ่งพิมพ์ที่เลือกมามุ่งเน้นไปที่ภาพที่สร้างอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตแบบเควียร์ งานตีพิมพ์เอง (self-publish) นอกกระแส ถูกใช้ในการสื่อสารโดยกลุ่มวัฒนธรรมย่อยมาอย่างยาวนาน และตื่นตัวมากในตะวันตกในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 ในรูปแบบของซีน ไม่ว่าจะเป็นซีนจากกลุ่มวงดนตรีพังก์ เฟมินิสต์ รวมไปถึงกลุ่ม LGBTQ+

มุก — มองไปที่แวดวงการศึกษา อย่างในโรงเรียนถ้ายังพูดถึงนิยายไทยที่เราได้เรียนกันก็มีอยู่ไม่กี่คน ถ้าไม่ใช่งานของเจ้า ก็อาจจะเป็นนักเขียนเก่ามาก อารมณ์ ว.วินัจฉัยกุล หรือ ทมยันตี ซึ่งมันก็ล้าหลังไปเยอะแล้ว ส่วนตัวคิดว่าน่าจะต้องเร่ิมหยิบจับงานใหม่มาให้เด็กเรียนมากขึ้น ถ้าจะบอกว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคม เราก็อยากเห็นพลวัตของงานเขียนไทยไปปรากฏในแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย

หนังสือนอกเวลาสมัยที่เราเรียนก็น่าจะเป็น อยู่กับก๋ง (2519) ฉันอยู่นี่…ศัตรูที่รัก (2501) เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (2515) ตอนนี้ไม่รู้เปลี่ยนไปอ่านอะไรกัน แต่สำหรับเราที่เคยได้อ่านมัน มันประเพณีนิยมมาก วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลของไทยในปัจจุบันน่าจะได้รับการเผยแพร่มาสู่วงการศึกษาบ้าง


รูป 13 — (จากซ้ายไปขวา) อยู่กับก๋ง (2519) โดยหยก บูรพา เป็นเรื่องราวของเด็กที่เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่กับก๋งที่อพยพมาจากจีน, ฉันอยู่นี่…ศัตรูที่รัก (2501) โดย ส. เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 6 เรื่องที่เล่าถึงวิถีชีวิตของเด็กและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (2515) โดยทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมในอดีตในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึง 7

เพิท —​ ช่วยแนะนำวรรณกรรมที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ให้หน่อยได้มั้ย

มุก — มีเล่มนึงของนักเขียนไทยที่ใช้นามปากกาว่า Moonscape ที่ชื่อ Blue Hour สมุดบันทึกกับแท่งถ่าน คิดว่าหนังสือแนววัยผู้ใหญ่ตอนต้น (young adult) ในโลกตะวันตกมีพูดถึงเรื่องตัวละครเอกที่เป็น LGBTQ+ เยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นแนวก้าวข้ามวัย (coming of age) อย่างที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างก็มี Simon vs. the Homo Sapiens Agenda (2558) ที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Love, Simon (2561) อีกเรื่องที่หลายคนชอบกันแต่ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านก็มี Aristotle and Dante Discover the Secret of the Universe (2555) 

ถ้าให้แนะนำภาพยนตร์ เราเห็นงานเชิงนี้เพิ่มขึ้นเยอะเหมือนกัน ตั้งแต่ Carol (2558), Portrait of a Lady on Fire (2562) หรือ The Half of It (2563) อะไรแบบนี้ ส่วนซีรีส์ที่ชอบมากๆ ที่พูดถึงประเด็น LGBTQ+ ได้ดีมากๆ น่าจะเป็น Sex Education (2562-ปัจจุบัน) กับเรื่อง POSE (2561-2564) ที่บีมก็ชอบ การที่สื่อทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์มันมีจำนวนเพิ่มขึ้น ก็อาจจะสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมได้เหมือนกัน จากที่เมื่อก่อนแทบไม่มี หรือถ้ามีก็เป็นไปในเชิงตอนจบไม่สมหวัง


รูป 14 — (จากซ้ายไปขวา) Simon vs. the Homo Sapiens Agenda (2558) โดย เบ็คกี้ แอลเบอร์ทาลลี (Becky Albertalli) นิยาย LGBTQ+ มีตัวละครเอกเป็นหนุ่มวัยรุ่นที่เป็นเกย์ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการเปิดเผยตัวตน การถูกกลั่นแกล้ง และการมีความรัก, Aristotle and Dante Discover the Secret of the Universe (2555) โดย เบนจามิน อาลีเร ซาเอนซ์ (Benjamin Alire Saenz) เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มสองคนที่เติบโตขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวในครอบครัวชาวละตินอเมริกัน ที่ค่อยๆ ทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคม


รูป 15 — Love, Simon (2561) ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ Simon vs. the Homo Sapiens Agenda (2558)


รูป 16 — Carol (2558) เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงสาวแต่งงานแล้วที่กำลังจะหย่าร้างกับสามีเพราะถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์กับเพื่อนสาว การหย่าร้างนำไปสู่ความสัมพันธ์ครั้งใหม่ และการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิของความเป็นแม่คืนมา


รูป 17 — Portrait of a Lady on Fire (2562) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของหญิงสาวคู่หนึ่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ฝ่ายหนึ่งเป็นจิตกรที่ได้รับการว่าจ้างให้มาวาดภาพของอีกฝ่ายซึ่งเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่กำลังจะถูกจับคลุมถุงชน


รูป 18 — The Half of It (2563) เป็นหนังแนวก้าวข้ามวัย ที่เกี่ยวกับการยอมรับตัวตนของตัวเองของตัวละครวัยรุ่นหญิงว่าชอบเพศเดียวกัน หลังจากถูกเพื่อนชายจ้างให้เขียนจดหมายรักให้กับผู้หญิงที่เขาแอบชอบ


รูป 19 — Sex Education (2562-ปัจจุบัน) ซีรีส์ที่พูดถึงเพศศึกษาผ่านตัวละครหลักที่เปิดให้คำปรึกษาเรื่องเซ็กส์ในโรงเรียนไฮสคูล และกลุ่มตัวละครวัยรุ่นเพศหลากหลาย ที่แต่ละคนค่อยๆ ค้นหาอัตลักษณ์และทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตนเอง เพื่อน คนรัก และครอบครัว

มุก — ขอย้อนกลับไปเรื่องวรรณกรรมในหลักสูตร มันยากที่คนในกระทรวงศึกษา หรือครูอาจารย์จะเอาเรื่องพวกนี้ไปสอน เพราะเขายังต้องทำความเข้าใจในการจะนำเสนอเรื่องพวกนี้กันอยู่เลย  เขายังต้องกลับไปรื้อความคิดเดิมๆ ว่าเขาไม่สามารถพูดเรื่องรักร่วมเพศในโรงเรียนได้เพราะจะเป็นการไปสนับสนุนให้เด็กไปเป็นเกย์ เราคิดว่าวัยรุ่นปัจจุบันเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายและถูกต้องได้มากกว่าด้วยซ้ำ เวลาเห็นเด็กออกมาประท้วงกันในม็อบหรือพูดถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การต่อต้านกฎระเบียบเรื่องการแต่งตัว เป็นหลักฐานว่าเขาสามารถใช้ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับมาเอามาตกผลึกทำความเข้าใจตัวตนของตัวเอง และสิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมือง และในฐานะมนุษย์ได้ดีขึ้น

ยีน — ช่วงนี้เห็นโรงเรียนหญิงล้วนออกมาแชร์กันเยอะมากเกี่ยวกับกฎระเบียบที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล พอพูดถึงโรงเรียนหญิงล้วน ทำให้นึกถึงเรื่องเลสเบี้ยน ส่วนตัวเรารู้สึกว่าพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนหรือทำความเข้าใจเลสเบี้ยนมันถูกพูดถึงน้อยกว่าเกย์  เราสงสัยว่าการแสดงออกแบบเป็นผู้ชายของเลสเบี้ยนบางกลุ่ม มันสวนทางกับทิศทางการเคลื่อนไหวที่พยายามจะทำลายระบบอำนาจนำที่มีชายเป็นใหญ่รึเปล่า และมันจริงรึเปล่าว่าการแต่งตัวและแสดงออกแบบผู้ชายของเขามันไปผูกโยงกับอำนาจแบบผู้ชาย ปัญหามันอยู่ที่เราไม่เข้าใจความต้องการของกลุ่มเลสเบี้ยนในสังคมจริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่พูดถึงกันน้อย มันถูกตีความและตัดสินจากพฤติกรรมภายนอกมากกว่า

มุก — ใช่ จริงๆ ไม่ใช่แค่ในไทย ในต่างประเทศด้วย พอพูดเรื่องโฮโมเซ็กส์ชวลแล้วมันไปยึดกับเพศแบบชายชายก่อน ก่อนจะรีเคลมเพื่อรวมเพศอื่นๆ เข้าไปด้วย

ยีน — แต่ในภาพรวม ดูเหมือนว่าทางเลือกของเพศสภาพ เพศวิถี LGBTQ+ และการยอมรับในสังคมโดยทั่วไปในประเทศไทยดูจะเปิดกว้าง ถ้าเทียบกับหลายประเทศในโลก ที่ถึงกับมีการใช้คำว่า against the law of nature ในกฎหมายที่ใช้เอาผิด กับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ใช่ชายหญิงตามเพศกำเนิด เช่นในอินเดีย หรือเลบานอน แล้วยังงี้เรายังจำเป็นที่จะต้องคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศกันอยู่มั้ย?

มุก — คิดว่าจำเป็นแน่นอน เราคิดว่าการยอมรับในไทยเกิดขึ้นในลักษณะที่เราเรียกว่าเป็น ‘การยอมรับแบบมีเงื่อนไข’ คืออยู่ภายใต้กรอบที่ค่อนข้างจำกัดกับภาพจำของเพศหลากหลายแบบนึง รวมถึงมีอคติหลบในที่ยังแฝงฝังอยู่ ถ้ามองกันตามกฎหมาย ไทยเราไม่มีบทลงโทษกระทำความผิดฐานเป็นเพศหลากหลายก็จริง แต่สิทธิเสรีภาพ อย่างเรื่องการแต่งงาน สวัสดิการคู่ชีวิต บริการทางสาธารณสุข และอคติที่สะท้อนออกมาตามแผนนโยบายต่างๆ มันก็ยังชัดมาก การผลักดันเรื่องเพศหลากหลายมันเลยไม่ใช่แค่การทำให้คนรับรู้แค่ว่า สังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศอยู่นะ แต่จะทำยังไงให้คนในสังคมรู้สึกว่านี่ก็เป็นประเด็นสำคัญในชีวิต  แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มของเพศหลากหลายก็ตาม

ก็เลยนำมาสู่หนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชายฯ ที่อยู่ในซีรีส์ พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย อยากให้มันเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ไปสะกิดอะไรในใจคนอ่าน คงไม่ใช่ว่าทุกคนจะไฟแรงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศทันทีหลังอ่านจบ แต่อย่างน้อยที่สุด การอ่านมันเชื่อมผสานชีวิตของเราเข้ากับชีวิตของคนเพศหลากหลายอย่างอลก หนังสือเล่มนี้แง้มประตูให้เราได้เห็นการโดนลิดรอนสิทธิหรือการตกเป็นเป้าของอคติด้วยเหตุแห่งเพศ การเริ่มจากการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสายตาของคนอีกคนที่มีหัวใจและมีชีวิตเหมือนเรา อาจจะนำไปสู่อะไรที่ยิ่งใหญ่ขึ้นก็ได้ ตั้งแต่การโอบรับและทำความเข้าใจมิติชีวิตอันแตกต่างหลากหลาย ไปจนถึงการให้การศึกษาและปรับปรุงนโยบายในระดับที่กว้างขึ้น เรายังอยู่ห่างไกลจากสังคมที่ยอมรับเพศหลากหลายได้โดยปราศจากเงื่อนไขอยู่ ถ้าถามเรานะ


All About Love


ยีน —
ตอนนี้หนังสือแปลจากโปรเจกต์ พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย ออกมาสองเล่มแล้วคือ แด่การผลัดทิ้งฯ กับ ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% (Feminism for the 99%) ต่อจากนี้จะเป็นเล่มอะไรอีกบ้าง แล้วนอกจากนี้มุกทำโปรเจกต์อื่นๆ ไปด้วยมั้ย

มุก — ตอนนี้ทำอยู่โปรเจกต์เดียวเลยคืออันนี้ ซึ่งตอนนี้ก็มาได้ครึ่งทางแล้ว กำลังปิดเล่มที่สามในซีรีส์ที่ชื่อว่า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด (The Promise of Happiness (2553)) ต่อจากนี้ก็จะเป็นเล่ม Trans* (2561) กับ All About Love (2561)

ทั้งห้าเล่มจะมีมวลใกล้เคียงกัน ทั้งหมดจะเป็นนักเขียนที่เราไม่ค่อยได้ยินชื่อนัก ทั้งคนผิวสี หรืออินเดียนอเมริกัน ซึ่งคนเหล่านี้ผลิตผลงานเกี่ยวกับเรื่องเพศออกมากันเยอะมาก สองเล่มแรกเป็นเล่มที่เราเคยได้อ่านอยู่แล้ว ส่วนเล่มที่สาม จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด (The Promise of Happiness) โดยซารา อาเหม็ด (Sara Ahmed) เกี่ยวกับการพยายามทำความเข้าใจ ‘ความรู้สึกมีความสุข’ ในสังคมปัจจุบัน โดยหยิบยืมความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เช่นประวัติศาสตร์สีผิวและอาณานิคม สตรีนิยม ทฤษฎีเควียร์ มาใช้เป็นเครื่องมือสำรวจเรื่องของความสุขที่ส่งผลต่อการกระทำและทิศทางการใช้ชีวิตของเรา ส่วนเล่มที่สี่ Trans* เป็นเล่มที่เรากับพี่เจน (ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ซอย) สนใจแนวคิดของนักเขียน แจ็ค ฮาลเบอร์สตัม (Jack Halberstam) ซึ่งเป็นนักเขียนทรานส์เม็น โดยในเล่มนี้เป็นเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทรานส์ ที่เปลี่ยนจากมุมมองว่าเป็นอาการทางจิตสู่มุมมองว่าเป็นเรื่องของความลื่นไหนทางเพศ เล่มสุดท้าย All About Love: New Visions เป็นงานเขียนของเบลล์ ฮุคส์ (Bell Hooks) เกี่ยวกับความรักในโลกสมัยใหม่ในแง่มุมต่างๆ ที่พยายามจะแยกตัวออกจากวิถีปฏิบัติของความรักในสังคมที่ยังอยู่ภายใต้แนวคิดปิตาธิปไตย


รูป 20 — ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% (Feminism for the 99%) (2564) แปลโดย อรชร ดำรงจิตติ จากผู้เขียน ชินเซีย อารุซซา (Cinzia Arruzza), ติถี ภัฏฏาจารย์ (Tithi Bhattacharya), แนนซี่ เฟรเซอร์ (Nancy Fraser) รวบรวมแถลงการณ์ของเฟมินิสม์กระแสใหม่ที่ต่อต้านทุนนิยม มุ่งเน้นแนวคิดเชิงสังคมนิยม และผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศโดยการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง


รูป 21 —​ (จากซ้ายไปขวา) The Promise of Happiness (2553) โดยซารา อาเหม็ด เกี่ยวกับการพยายามทำความเข้าใจ ‘ความรู้สึกมีความสุข’ ในสังคมปัจจุบัน, Trans* (2561) โดยแจ็ค ฮาลเบอร์สตัม เป็นเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทรานส์, All About Love (2561) โดยเบลล์ ฮุคส์ เกี่ยวกับความรักในโลกสมัยใหม่ในแง่มุมต่างๆ

ยีน — นอกจาก IWANNABANGKOK© กับ BANGKOK WET DREAM ตอนนี้บีมทำอะไรอยู่บ้าง

บีม — ตอนนี้ก็มีอีกโปรเจกต์ชื่อ bangkoknaughtyboo เป็นความร่วมมือกับ shapeshifteronline สร้างอินฟลูเอนเซ่อแบบเวอร์ชวลขึ้นมา ปีนี้ตั้งใจว่าจะโฟกัสสองโปรเจกต์นี้และทำมันออกมาให้ดีขึ้น ส่วน BANGKOK WET DREAM กำลังจะมีถ่ายเซ็ทใหม่ ซึ่งน่าจะออกมาในอีกสองสามเดือน ใช้ชื่อว่า ไอควายน้อย


รูป 22 — ตัวละครจาก bangkoknaughtyboo

ยีน — เข้าใจว่าโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM เกิดขึ้นก่อนที่เพิทจะไปเป็นศิลปินพำนักที่เบอร์ลิน ตอนไปเบอร์ลินไปทำอะไร แล้วตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

เพิท —​ ก่อนที่จะไปเบอร์ลิน นอกจาก BANGKOK WET DREAM ผมทำโปรเจกต์ของตัวเองด้วย งานก่อนๆ ของผมจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพถ่ายกับโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในไทย ผมไปถ่ายภาพเศษรูปปั้นปูนปลาสเตอร์ตัวเล็กๆ ที่ถูกใช้เป็นโปรโตไทป์ของรูปปั้นขนาดจริง ที่ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นของกษัตริย์ที่ช่างสิบหมู่ ความจริงผมตั้งใจที่จะหารูปปั้นที่ใช้ประดับพระเมรุของรัชกาลที่ 9 ผมสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างรูปถ่ายกับความจริง และรูปปั้นกับความจริง และสนใจในรูปปั้นที่ปั้นจากภาพสองมิติ เพราะมันมีองศาของข้อเท็จจริงที่จำกัด จริงๆ แล้วมันมีความเชื่อเกี่ยวกับการปั้นประติมากรรมว่าทำได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นๆ เสียชีวิต รูปถ่ายเลยเป็นสิ่งที่ใช้ในการอ้างอิงโดยประติมากร ซึ่งก็ต้องอาศัยจินตนาการด้วยส่วนนึง และสุดท้ายจินตนาการของนักปั้นก็กลายเป็นสิ่งแทนความจริง ผมรู้สึกว่าขั้นสุดยอดของภาพจำก็คือประติมากรรม มันเป็นภาพแทนลัทธิราชาชาตินิยมแบบเก่าจริงๆ

ตอนอยู่ที่ไทยผมศึกษาการปั้นหุ่นแบบศิลป์ พีระศรี ซึ่งมันสะท้อนแนวคิดชาตินิยมแบบอิตาลี แต่ตอนไปเบอร์ลิน ผมถึงเริ่มสนใจเรื่องร่างกาย และได้เจอกับรูปปั้นอีกตัวที่เรียกว่า Transparent Man ที่ทำขึ้นจากแก้วที่เผยให้เห็นตับไตไส้พุงด้านใน ผมขอเข้าไปถ่ายรูปที่ German Hygiene Museum ในเดรสเดน (Dresden) ที่จัดแสดงรูปปั้นพวกนี้ ผมสนใจในมิติด้านความงามของมันที่ไปโยงใยกับเรื่องการเมืองในประวัติศาสตร์กับเรื่องของร่างกายมนุษย์ เช่นร่างกายของนักกีฬาที่ต้องรับใช้ชาตินิยมโดยการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ในขณะเดียวกันผมก็พยายามที่จะจินตนาการไปถึงยุคสมัยข้างหน้าด้วย


รูป 23 — ภาพจากรีเสิร์ช Transparent Man

งานของผมใน BANGKOK WET DREAM กับงานส่วนตัวจะใช้คนละสำเนียง ผมมองว่า BANGKOK WET DREAM เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผมได้พูดเรื่องเดียวกันด้วยความมั่นใจแบบโฉ่งฉ่าง มันเป็นพื้นที่ที่ผมได้ทดลองทั้งด้านเทคนิคและการวิจัย ซึ่งพอมันตกผลึกผมสามารถเอามันไปใช้ในงานส่วนตัวได้ ผมมองมันเป็นการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานระหว่างสองพื้นที่นี้กลับไปกลับมา

ตอนนี้ผมกับพี่บีมกำลังเห็นลู่ทางของ NFT คิดว่าน่าจะผลิตโปรดักส์ขึ้นมาทดลองขายในโลกนั้น อาจจะเป็นผ้าขนหนูแบบสามมิติ ตอนนี้เราก็พยายามที่จะสำรวจความเป็นไปได้ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน


เครดิตภาพ


รูป 1 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 2 — ภาพจาก goodreads
รูป 3 — ภาพจาก IWANNABANGKOK©
รูป 4 — ภาพจาก BANGKOK WET DREAM
รูป 5 — ภาพจาก ICA
รูป 6 — ภาพจาก BANGKOK WET DREAM
รูป 7 — ภาพจาก silpa-mag
รูป 8 — ภาพจาก The Standard
รูป 9 — ภาพจาก beartai
รูป 10 — ภาพจาก Sanook
รูป 11 — ภาพจาก BANGKOK WET DREAM
รูป 12 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 13 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 14 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 15 — ภาพจาก The Momentum
รูป 16 — ภาพจาก Medium
รูป 17 — ภาพจาก mainakmisra
รูป 18 — ภาพจาก The Orion 
รูป 19 — ภาพจาก Unilad
รูป 20 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 21 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 22 — ภาพจาก bangkoknaughtyboo
รูป 23 — ภาพจาก หฤษฎ์ ศรีขาว

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 08 — In a Room with a View: ในห้องที่มีหน้าต่าง


VUTH LYNO, SA SA ART PROJECTS, PHNOM PENH, CAMBODIA



pic. 1 — Sa Sa Art Projects’ backyard garden where the team eats, socializes and hangs out with artists and friends. They also work there sometimes. It’s this nature of this green, flexible, and nurturing space that is central to the essence of where Lyno lives and wants to live.


วุธ ลีโน, SA SA ART PROJECTS, พนมเปญ, กัมพูชา



รูป 1 — สวนด้านหลังของ Sa Sa Art Projects ที่ทีมงานใช้ทานอาหาร สังสรรค์ และพักผ่อนกับศิลปินและเพื่อนๆ และบางทีก็ใช้เป็นสถานที่นั่งทำงาน พื้นที่ของความเป็นธรรมชาติ ยืดหยุ่น และปลอบประโลมแบบนี้ ที่เป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของสถานที่ที่ลีโนอาศัยอยู่และอยากที่จะอยู่


Napisa Leelasuphapong  — We just heard that the new wave of COVID-19 in Phnom Penh made you postpone the opening of Orawan Arunrak’s exhibition from March to the end of April. How is the situation in Phnom Penh at the moment? How does the country’s pandemic policy affect the city’s life and Sa Sa Art Projects?


Vuth Lyno — We are experiencing a new episode of community spread, and this time is a new COVID variant in Phnom Penh and some provinces. The government just introduced targeted lockdowns and regulated a new law to enforce restrictions on gatherings and cultural events and penalties on those who do not comply with quarantine and wearing masks and social distancing in required settings. Big gatherings are currently banned, whereas cultural life is limited. At Sa Sa Art Projects, we have introduced a rotating schedule for in-office work among our team members and migrated some physical programs to virtual sessions, including a recent exhibition opening of our graduate exhibition and our English for Artists class.


pic. 2 — Online opening of Anonymous Heirloom exhibition by Koeurm Kolab


pic. 3 — English for Artists class migrated to Zoom


นภิษา ลีละศุภพงษ์ — เราเพิ่งได้ยินมาว่ามีโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นที่พนมเปญ ทำให้คุณต้องเลื่อนงานเปิดนิทรรศการของ อรวรรณ อรุณรักษ์ จากเดือนมีนาคมเป็นสิ้นเดือนเมษายน สถานการณ์ในพนมเปญตอนนี้เป็นยังไง? นโยบายในการจัดการกับโรคระบาดส่งผลต่อเมืองและ Sa Sa Art Projects ยังไง?


วุธ ลีโน — เรากำลังประสบกับการแพร่ระบาดในระดับชุมชนรอบใหม่ และครั้งนี้เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบในพนมเปญและจังหวัดอื่นๆ รัฐบาลเพิ่งประกาศมาตรการล็อคดาวน์เฉพาะบางพื้นที่และออกกฎหมายใหม่เพื่อบังคับใช้การจำกัดการชุมนุมและการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และบทลงโทษต่อผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎการกักตัวและการไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการรักษาระยะห่างในพื้นที่บางแห่ง การรวมตัวกันในสเกลใหญ่ถูกห้าม ในขณะที่กิจกรรมและชีวิตในเชิงวัฒนธรรมเป็นไปอย่างจำกัด ที่ Sa Sa Art Projects เราเริ่มทำงานแบบผลัดเวียนกันเข้ามาที่ออฟฟิศระหว่างสมาชิกในทีมด้วยกันเอง และโยกย้ายกิจกรรมบางส่วนไปจัดแบบออนไลน์ ซึ่งรวมถึงงานเปิดนิทรรศการผลงานการจบการศึกษาล่าสุดของเรา และชั้นเรียนภาษาอังกฤษสำหรับศิลปิน


รูป 2 — งานเปิดนิทรรศการ Anonymous Heirloom โดยเกือม กุหลาบ (Koeurm Kolab) แบบออนไลน์


รูป 3 — ชั้นเรียนภาษาอังกฤษที่ย้ายไปอยู่บนโปรแกรม Zoom


Napisa — Have your ways of working and collaborating with artists and art practitioners changed? Could you share with us who you are collaborating at the moment?


Lyno — 
Amidst this situation, we have explored how to effectively work with artists, partners, and students and interact with our audience. For our residency program, we have shifted from engaging with regional and international artists (whose travel is no longer feasible and safe) to work with young Cambodian artists who need time, space, and a support platform to explore the development of their practices. We migrated our classes to virtual meetings while also revised our class structure and activities. For the exhibition program, we asked the artists to explore ways to present works without their physical presence while maintaining their connection, energy, and intimacy in the show and with the audience.

Currently, with Orawan’s show, she won’t be able to be there to install and introduce the work to the audience personally and physically. I was glad that Orawan was very flexible and had quickly adapted to this condition. We have been communicating via online calls. Her artworks just arrived from Berlin last week. Orawan’s work is essentially intimate at heart, and that’s the core of what we want to achieve in the exhibition design and how the audience experiences the work. We are also thinking about how she can engage virtually during the exhibition period. I’m more interested in beyond just a video call or virtual talk but instead exploring an integrated physical-virtual interaction that enriches the work and experience.


pic. 4 — Unboxing Orawan’s works shipped from Germany


นภิษา —
แนวทางในการทำงานและร่วมงานกับศิลปินและคนทำศิลปะของคุณเปลี่ยนไปมั้ย? ช่วยแชร์ให้เราฟังหน่อยได้มั้ยว่าตอนนี้ทำงานร่วมกับใครอยู่บ้าง?


ลีโน — 
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เรากำลังหาทางที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับศิลปิน พาร์ตเนอร์ และนักเรียน รวมถึงคงปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม สำหรับโปรแกรมศิลปินในพำนักของเรา เราปรับจากการทำงานกับศิลปินในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ (ซึ่งการเดินทางตอนนี้เป็นไปได้ยากและไม่ปลอดภัยอีกต่อไป) มาเป็นการทำงานร่วมกับศิลปินเขมรรุ่นใหม่ที่ต้องการเวลา พื้นที่ และการสนับสนุนในการสำรวจและพัฒนากระบวนการสร้างงานของตัวเอง เราย้ายการเรียนการสอนไปเป็นแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ปรับโครงสร้างชั้นเรียนและกิจกรรมในชั้นเรียน สำหรับโปรแกรมนิทรรศการ เราขอให้ศิลปินที่เราทำงานด้วยลองคิดหาวิธีในการนำเสนองานในรูปแบบที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง แต่ยังคงความเชื่อมโยง พลัง และความสนิทชิดเชื้อในรูปแบบของนิทรรศการที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้

ตอนนี้อย่างในกรณีนิทรรศการของอรวรรณ เธอไม่สามารถบินมาติดตั้งและแนะนำผลงานของเธอกับผู้ชมงานโดยตรงได้ด้วยตัวเอง ผมดีใจที่อรวรรณยืดหยุ่นและปรับการทำงานให้เข้ากับเงื่อนไขได้อย่างรวดเร็ว ชิ้นงานของเธอเพิ่งส่งมาถึงจากเบอร์ลินเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว งานของอรวรรณมีความเป็นส่วนตัวมาก เป็นหัวใจหลักของสิ่งที่เราต้องการนำเสนอให้ได้ในนิทรรศการผ่านการออกแบบนิทรรศการและประสบการณ์การชมงานของผู้เยี่ยมชม เรากำลังคิดถึงวิธีที่เธอจะสร้างปฎิสัมพันธ์กับคนดูทางออนไลน์ว่าเป็นแบบไหนได้บ้างในช่วงนิทรรศการ ผมกำลังคิดถึงอะไรที่เกินกว่าแค่วิดีโอคอลล์มา หรือการทอล์กแบบออนไลน์ แต่เป็นการสำรวจที่รวมปฏิสัมพันธ์ทั้งในโลกกายภาพและโลกเสมือนที่จะช่วยเพิ่มมิติให้กับงานและประสบการณ์ต่องานมากขึ้น


รูป 4 — แกะกล่องผลงานที่อรวรรณส่งมาจากประเทศเยอรมนี


Napisa — You mentioned that you have shifted from engaging with regional and international artists to work with young Cambodian artists. May I ask what your aim is for reaching out young Cambodian artists and what kind of support you want to provide for them? How do young artist communities usually are in Cambodia? In Thailand, universities and teachers play important roles in connecting and pushing young artists. The graduated students from each university prefer to team up among their friends from the same university to work together and are supported (in terms of sharing connections) by their university teachers for a few years after graduation. While in Indonesia, the art community is a place for people from different professions/ages to gather up. How is the current situation of young artists there in Cambodia? What kind of relationship do they have among each other, leaning toward the social or the commercial side?


Lyno — The art ecology in Cambodia is not strong. Young or recently graduated artists have limited platforms to further their practice. There are a few initiatives here to engage with this group including awards and exhibition opportunities, and that’s almost it. We started to see a trend of people going into Architecture studies but also practice both in architecture and art, for employability reasons. At Sa Sa, we focus on building a stronger community of young artists. Our art classes attract young people from various disciplines and backgrounds from science to humanity, and that’s what makes it interesting. We opened
Pisaot residency to a select number of outstanding graduates from our classes who could benefit from an intensive period with dedicated resources to develop their practice through research and mentorship.


นภิษา —
อย่างที่คุณบอกว่าคุณเปลี่ยนจากการร่วมมือในระดับภูมิภาค และศิลปินต่างชาติมาทำงานกับศิลปินกัมพูชารุ่นใหม่ในช่วงนี้ ถามได้มั้ยว่าเป้าหมายในการทำงานกับกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้คืออะไร และคุณได้ให้ความช่วยเหลือกับพวกเขายังไงบ้าง? กลุ่มชุมชนศิลปินรุ่นใหม่ที่กัมพูชาโดยทั่วไปเป็นยังไง? ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยและอาจารย์มีบทบาทสำคัญในการที่จะเชื่อมต่อและผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ๆ นักศึกษาจบใหม่จากแต่ละมหาวิทยาลัยชอบที่จะรวมกลุ่มระหว่างเพื่อนจากสถาบันเดียวกันในการทำงานร่วมกัน และพวกเขาก็ได้รับการสนับสนุน (ในแง่ของการแบ่งปันเส้นสาย) โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยในช่วงเวลานึงหลังจากเรียนจบ ในขณะที่ในอินโดนีเซีย ชุมชนทางศิลปะเป็นสถานที่สำหรับผู้คนหลากหลายสาขา/อายุ มารวมตัวกัน สถานการณ์ในตอนนี้ของศิลปินรุ่นใหม่ในกัมพูชาเป็นยังไง? ความสัมพันธ์แบบไหนที่พวกเขามีระหว่างกัน และเอนเอียงไปในการทำงานเพื่อสังคมหรือเพื่อการค้า?


ลีโน — ระบบนิเวศทางศิลปะในกัมพูชายังไม่แข็งแรง ศิลปินหนุ่มสาวหรือที่เพิ่งจบการศึกษาไม่ค่อยมีพื้นที่ให้พวกเขาได้พัฒนากระบวนการทำงานศิลปะของตัวเอง ยิ่งขึ้นไปไม่ค่อยมีโครงการศิลปะที่ทำงานกับกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่เท่าไหร่ ซึ่งนั่นรวมถึงรางวัล การประกวดงาน และโอกาสในการแสดงนิทรรศการด้วยสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ คือมีอยู่เท่านี้จริงๆ เราเริ่มเห็นกระแสคนสนใจเรียนเรื่องสถาปัตยกรรมมากขึ้น รวมถึงการทำงานสถาปัตย์ควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะเพื่อให้มีรายได้ ที่ Sa Sa เราเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายชุมชนศิลปินรุ่นใหม่ให้แข็งแรงขึ้น ชั้นเรียนศิลปะของเราดึงดูดหนุ่มสาวจากหลากหลายศาสตร์และภูมิหลัง มีตั้งแต่สายวิทยาศาสตร์ไปจนถึงสายมนุษยศาสตร์ ซึ่งทำให้มันน่าสนใจมาก เราเปิดโครงการศิลปินในพำนัก Pisaot และคัดเลือกศิลปินจบใหม่ที่โดดเด่นจากชั้นเรียนศิลปะของเรา คนที่เราคิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ทั้งจากสถานที่และจากทรัพยากรที่เรามี ในการพัฒนาการทำงานศิลปะของพวกเขา ผ่านการศึกษาค้นคว้าและการได้รับคำปรึกษา


Napisa — Does Sa Sa Art Projects get a new location for art activities already? How long have you been moved to the new place? Is this the place after moving out of
White Building? In the case of White Building, there is an interesting historical context of the space which would have affected the way artworks presented there. Could you tell us about the context of this new space?


Lyno — Fortunately, we just secured a leasing extension for three more years of the current space, expanding to upstairs. So we won’t be moving but have a bigger exhibition space on the ground floor for Orawan’s show. Now the whole space is more like a house (compared to before as a flat). Actually, it’s part of a huge modern Khmer house built at least in the 1970s. Originally an open space, the ground floor has been turned into our exhibition space and main floor. Upstairs remains mostly the same structurally as it was. Our exhibition space always had the atmosphere of a home gallery. With the space expansion, we will renovate and upgrade the exhibition floor to be cleaner and more professional.


pic. 5 — Sa Sa Art Projects newly expanded space


pic. 6 — Sa Sa Art Projects’ exhibition and office space


นภิษา — Sa Sa Art Projects ได้พื้นที่ใหม่ในการจัดกิจกรรมแล้วใช่มั้ย? คุณย้ายมาอยู่ในพื้นที่อันใหม่นี้นานรึยัง? สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่คุณย้ายมาหลังจาก
White Building เลยใช่มั้ย? ในกรณีของ White Building มันมีบริบททางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของพื้นที่ที่ส่งผลต่อวิธีที่ศิลปะถูกนำเสนอที่นั่น คุณสามารถเล่าให้ฟังได้มั้ยว่าบริบทของพื้นที่ใหม่นี้เป็นยังไง?


ลีโน —
โชคดีที่เราเพิ่งจะต่อสัญญาเช่าพื้นที่ออกไปอีกสามปี ซึ่งรวมถึงการขยายพื้นที่ขึ้นไปชั้นบน เราไม่ได้ย้ายไปไหน และมีพื้นที่นิทรรศการชั้นล่างให้อรวรรณเพิ่มขึ้น ตอนนี้พื้นที่ทั้งหมดเปรียบได้เหมือนเป็นบ้าน (เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ให้ความรู้สึกเหมือนแฟลตมากกว่า) จริงๆ แล้วที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเขมรแบบโมเดิร์นที่สร้างขึ้นอย่างน้อยก็ในช่วงทศวรรษ 1970 แรกเริ่มเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ชั้นล่างเราเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและพื้นที่กิจกรรมหลัก ส่วนโครงสร้างชั้นบนยังคงไว้เหมือนเดิม พื้นที่จัดนิทรรศการของเราให้ความรู้สึกและมีบรรยากาศเหมือนเป็นแกลเลอรี่ในบ้าน ด้วยพื้นที่ที่เราเช่าเพิ่มนี้ เรามีแผนจะปรับปรุงและอัพเกรดพื้นที่จัดแสดงของเราให้สะอาดและเป็นมืออาชีพมากขึ้น


รูป 5 — ส่วนต่อขยายของพื้นที่ Sa Sa Art Projects ในปัจจุบัน

 
รูป 6 — พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการของ Sa Sa Art Projects และออฟฟิศ


Napisa —
Are the supports from art patronages still going on as usual? I learned that you have done fundraising every year and sell artworks to get the money to manage the space. I see that many non-profit organizations in the field of art have been affected by the pandemic. Orawan told us about the financial situation at the Berlin Program for Artists where she is now in residence. The alumni of this program try to help funding the younger artists. How does the pandemic have any influences on non-profit organizations?


Lyno —
Being self-sufficient financially has always been our goal, as funding from grants and foundations is shrinking globally. Our principal funding partner
Rei Foundation is concluding their 3-years support at the end of March this year. We had planned the online fundraising auction before the pandemic. We were worried that we might not harness much support due to people experiencing financial difficulties during the pandemic. Nevertheless, we were very thrilled and moved by the pouring support from our artistic communities and supporters locally, regionally and internationally who believe in what we do and what we contribute to the development of contemporary art in Cambodia. This is really encouraging and reaffirming. It is time to work even harder to foster a growing and stronger local supportive community and ecology. We are looking at multiple streams of income generation for immediate and long-term support.


นภิษา —
การสนับสนุนจากผู้อุปถัมภ์ยังคงดำเนินไปตามปกติมั้ย? เรารู้มาว่าคุณมีการเรี่ยไรเงินทุกๆ ปี และขายงานศิลปะเพื่อที่จะนำเงินมาบริหารจัดการพื้นที่ เราเห็นว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งหลายในแวดวงศิลปะต่างก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด อรวรรณเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ทางการเงินที่
Berlin Program for Artists ที่เธอเป็นศิลปินพำนักอยู่ ศิลปินรุ่นก่อนที่เข้าร่วมโครงการพยายามที่จะช่วยสนับสนุนในการให้ทุนกับศิลปินหน้าใหม่ จากนโยบายปรับลดเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน โรคระบาดนี้มันส่งผลต่อองค์การไม่แสวงหาผลกำไรยังไง?


ลีโน —​ การสามารถพึ่งพาตัวเองทางการเงินได้เป็นเป้าหมายของเราตลอดมา เมื่อทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนและมูลนิธิต่างๆ ค่อยๆ ลดลงทั่วโลก พาร์ตเนอร์หลัก Rei Foundation ที่ให้ทุนสนับสนุนการทำงานของเราจะครบวาระสิ้นสุดการสนับสนุนราย 3 ปีภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เราได้วางแผนการประมูลงานศิลปะระดมทุนออนไลน์ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด และค่อนข้างกังวลว่าจะไม่สามารถจัดหาทุนสนับสนุนได้จากการที่ผู้คนต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินในช่วงโควิด ยังไงก็ตาม เราดีใจมากๆ และซึ้งใจมาก จากการสนับสนุนที่หลั่งไหลเข้ามาจากชุมชนศิลปะของเรา และจากผู้สนับสนุนในท้องถิ่น ในภูมิภาค และจากต่างประเทศ ที่เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราสร้างเสริมให้กับศิลปะร่วมสมัยในกัมพูชา ให้ทั้งกำลังใจและความมั่นใจว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถึงเวลาที่เราจะต้องทำงานให้หนักกว่าที่เคย เพื่อหล่อเลี้ยงและสนับสนุนชุมชนและนิเวศของศิลปะร่วมสมัยให้แข็งแกร่งขึ้น เรากำลังพิจารณาช่องทางรายได้ที่จะช่วยสนับสนุนเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


Napisa —
Could you tell us about the situation of Pisaot Artist Residency at the moment? With the pandemic, what are the changes in arranging of this residency? What is your view about this uniqueness of online residency where artists in residence are not present in person in the residency space? While still living in the other places, they are also not much influenced by the atmosphere and culture of the city that the space is located.


Lyno —
As mentioned, we have shifted to engage with younger Cambodian artists who could benefit from our residency program instead of regional and international artists. I’m a bit skeptical about online residency as the artist cannot immerse with the new context/place. It is also hard to engage and connect. There the question: what’s the difference between an online residency and independent research? I think this online residency format only works well if the artist is interested in theoretical research or their own locale, and that doesn’t require physical immersion. I know some residency programs are exploring other ways to do this, for example, by having a local partner in the local context to assist and converse with. This model so far has received mixed responses from artists. At the end, I think it’s important to hear the needs and priorities of the artists who want to continue developing their practice. Residency is not always the only answer.


นภิษา
 สถานการณ์ตอนนี้ของ Pisaot Artist Residency เป็นยังไงบ้าง? ด้วยเหตุการณ์โรคระบาดทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดพื้นที่ให้ศิลปินพำนักยังไง? คุณมีมุมมองต่อความพิเศษของการทำศิลปะพำนักแบบออนไลน์ ที่ศิลปินไม่สามารถที่จะปรากฏในพื้นที่อย่างเป็นตัวเป็นตนนี้ยังไง? เพราะการที่ได้ไปพำนักในพื้นที่อื่นๆ มันทำให้พวกเขาได้มีโอกาสซึมซับบรรยากาศและวัฒนธรรมของเมืองที่พื้นที่นั้นตั้งอยู่ด้วย


ลีโน
อย่างที่บอกว่า เราโยกไปทำงานกับศิลปินเขมรรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น ที่น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการศิลปินในพำนักของเรา แทนศิลปินจากในภูมิภาคและศิลปินต่างชาติ ผมไม่ค่อยแน่ใจเรื่องโครงการศิลปินในพำนักแบบออนไลน์เท่าไหร่ เพราะศิลปินไม่สามารถหลอมตัวเองเข้ากับบริบท/พื้นที่ใหม่ได้ แถมยังยากที่จะทำงานและเชื่อมต่อกันอีกด้วย เลยมีคำถามว่า: อะไรคือความแตกต่างระหว่างโครงการศิลปินในพำนักแบบออนไลน์ และการค้นคว้าวิจัยแบบอิสระ? ผมคิดว่ารูปแบบของโครงการศิลปินในพำนักแบบออนไลน์จะได้ผลก็ต่อเมื่อศิลปินสนใจในหัวข้อค้นคว้าเชิงทฤษฎี หรือในท้องถิ่นของตัวเอง ที่ไม่ต้องอาศัยการซึมซับตัวเองลงไปในบริบทของพื้นที่ใหม่ๆ ในเชิงกายภาพ ผมรู้ว่ามีโปรแกรมศิลปินในพำนักอื่นๆ กำลังค้นหาวิธีการทำงานที่ต่างออกไป ตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในแต่ละท้องถิ่นในบริบทท้องถิ่นนั้นๆ ในการให้ความช่วยเหลือและต่อบทสนทนาแลกเปลี่ยนกับศิลปิน จนถึงตอนนี้โมเดลนี้ได้รับเสียงตอบรับทั้งบวกและลบปนๆ กันจากศิลปิน ท้ายที่สุดแล้ว ผมคิดว่าเราต้องฟังความต้องการและลำดับสิ่งสำคัญจากศิลปินที่ต้องการพัฒนากระบวนการทำงานมากกว่า และการทำโปรแกรมศิลปินในพำนักก็ไม่ใช้คำตอบเดียวเสมอไป


Image credits


pic. 1-5 — Image courtesy of Sa Sa Art Projects
pic. 6 — Image courtesy of Prum Ero


เครดิตภาพ


รูป 1-5 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จาก
Sa Sa Art Projects
รูป 6 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จากปรม อีโร (Prum Ero)





ELAINE W. HO, DISPLAY DISTRIBUTE, HONG KONG



pic. 7 — Lucky view Elaine got from quarantine


อีเลน ดับเบิ้ลยู. โฮ, DISPLAY DISTRIBUTE, ฮ่องกง



รูป 7 — วิวแสนสวยที่อีเลนเห็นในช่วงกักตัว


Napisa —
A few weeks ago, you were in Hong Kong, now in Guangzhou, China and going to go to Beijing. So, now you can travel across borders again?


Elaine W. Ho —
The border between Hong Kong and China is always such an absurd and complex issue! It is real, but highly uneven and variable depending upon whether we are talking about the movement of people (and which ones), goods, or finance. Display Distribute’s work began as a research inquiry centred upon certain straggling outliers of these movements, and the LIGHT LOGISTICS project can be viewed as one experiment to test the possibilities for such ‘outliers’ to create other relations on the margins—underneath and from within the larger infrastructures to which we are all subject. I entered China in late December, choosing specifically to fly to Fujian Province instead of crossing the border at Shenzhen, because it was quite crowded at that time (because of the fourth wave of the pandemic in Hong Kong at that time, most schools were not in session and many mainlanders who live in Hong Kong were returning home early for the Lunar New Year holiday), also because I was couriering a great number of publications with me, some of which are sensitive material that would be problematic if checked by border patrol (see further details of this route, dispatch HQL-382). So after arriving in Fuzhou, I was immediately sent into quarantine for 14 days in a hotel in Fuzhou, thereafter shuttled into another seven days in quarantine at a relative’s house. Nearly one month and about five or six COVID tests later, I travelled back down to Guangdong Province to visit friends in the Chaoshan region (near the coast across from southern Taiwan). Since then I’ve been mostly in Guangzhou, because my original plans to travel to Beijing for the holiday were thwarted by a sudden outbreak there, which led to a tightening of restrictions and a bit of fear on my part about travelling another long distance. Actually, because one of my relatives works for customs in Fuzhou, I had learned classified information that there had been someone on my flight from Hong Kong who had tested positive, and this person had been seated only a few rows in front of me! So while I am extremely grateful that I’ve been able to travel a bit, it certainly is a whole other paradigm than how we may have experienced freedom of movement in the past. Because I am not a mainland citizen, many things are also slightly more complicated for me here, and I spend additional energy of my own principle to try to stay off of the China surveillance grid as much as I can. There is a nationwide QR code check-in system here to monitor individuals’ health status and movements, so the additional game I’ve been playing while here is to carve out mini loopholes and diversions to avoid having to fully check into the system (of course I know it’s highly impossible to go completely dark, but there is a futile stubbornness in me that tries my best). Since some of my other work plans have changed recently, I did finally decide this month to come to Beijing after restrictions were loosened a bit, and I am quite proud to say I have made it all the way to Beijing now without even having a working mobile phone (the easiest way to avoid having to scan your details everywhere you go)!


pic. 8 — HQL-382 is LIGHT LOGISTICS’ courier route. The stops include Hong Kong, Beijing, Guangzhou, Shenzhen, Fuzhou and Jieyang. In the picture is
dispatches in relay in Guangzhou at the LIGHT LOGISTICS relay station across the street from a ‘real courier station’.


pic. 9 — Image taken through the peephole of people getting their meals during lunchtime at a quarantine hotel (image from the route HQL-382)


นภิษา —
เมื่อหลายอาทิตย์ก่อนคุณยังอยู่ที่ฮ่องกง ตอนนี้คุณอยู่ที่กว่างโจวและกำลังจะเดินทางไปปักกิ่ง สรุปว่าตอนนี้คุณสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้อีกครั้งแล้วใช่มั้ย?


อีเลน ดับเบิ้ลยู. โฮ —
ประเด็นเรื่องพรมแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนเป็นประเด็นที่ทั้งซับซ้อนและไม่มีเหตุผลเลยเสมอมา! มันมีอยู่ แต่ไม่เสมอไป และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด ขึ้นกับว่าเรากำลังพูดถึงการเคลื่อนย้ายของผู้คน (จากฝั่งไหนไปฝั่งไหน) ของสินค้า หรือของการเงิน งานของ Display Distribute เริ่มต้นจากการเป็นการสอบถามผ่านการค้นคว้าวิจัยที่ตั้งอยู่บนศูนย์กลางที่ผิดปกติของความเคลื่อนไหวนี้ และโปรเจกต์ LIGHT LOGISTICS อาจมองเป็นการทดลองที่ทดสอบความเป็นไปได้ของ ‘ค่าที่ผิดปกติ’ ในที่นี้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์บนชายขอบ ทั้งภายใต้และจากภายในโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่กว่าที่เราทุกคนอาศัยอยู่ ฉันเดินทางข้ามมาฝั่งจีนเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยตั้งใจเลือกบินไปลงที่ฝูเจี้ยนแทนการข้ามพรมแดนทางบกผ่านทางเชินเจิ้นที่ช่วงนั้นค่อนข้างคนเยอะ (เนื่องจากการระบาดระลอกที่สี่ที่ฮ่องกง โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีการเรียนการสอน คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ฝั่งฮ่องกงเลยข้ามกลับบ้านช่วงตรุษจีนกันเร็วกว่าทุกปี) แล้วอีกอย่างนึงก็คือ ฉันขนสิ่งพิมพ์ไปค่อนข้างเยอะ บางเล่มมีเนื้อหาล่อแหลมซึ่งอาจเกิดปัญหาได้ถ้าโดนตม. สุ่มตรวจ (ดูรายละเอียดได้จากรายการจัดส่งรหัส HQL-382) หลังจากลงที่ฝูโจว ฉันถูกส่งไปกักตัวทันทีที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเป็นเวลาสิบสี่วัน ต่อด้วยกักตัวที่บ้านญาติอีกเจ็ดวัน หลังจากเกือบหนึ่งเดือนที่ต้องกักตัวและตรวจโควิดไปราวห้าหรือหกรอบ ฉันเดินทางกลับลงมาที่กว่างดง เพื่อเยี่ยมเพื่อนคนนึงที่อยู่แถวเฉาซ่าน (เมืองท่าริมชายฝั่งตรงข้ามกับทางตอนใต้ของไต้หวัน) ตั้งแต่นั้น ฉันไปๆ มาๆ อยู่แถวกว่างโจวเป็นส่วนใหญ่ เพราะแผนเดิมที่จะเดินทางขึ้นไปพักร้อนที่ปักกิ่งล่มไป ส่วนหนึ่งจากการระบาดระลอกใหม่อย่างกระทันหันที่ทำให้มาตรการต่างๆ เข้มงวดขึ้น อีกอย่างคือฉันเองก็ค่อนข้างหวาดๆ การต้องเดินทางไกลอีกครั้ง อันนี้จริงๆ แล้ว เป็นเพราะฉันมีญาติคนนึงทำงานตรวจคนเข้าเมืองอยู่ที่ฝูโจว ฉันเลยได้ข้อมูลวงในมาว่าในไฟลท์ที่ฉันบินมาจากฮ่องกงมีผู้โดยสารคนนึงที่ผลตรวจโควิดเป็นบวก และผู้โดยสารคนนี้นั่งหน้าฉันขึ้นไปไม่กี่แถวเอง! เพราะอย่างนี้ ขณะที่ฉันรู้สึกโชคดีอย่างมากแล้วที่ยังเดินทางได้อยู่บ้าง แต่ก็แน่นอนว่ามันคนละเรื่องเลยกับกระบวนทัศน์ของประสบการณ์การเดินทางได้อย่างอิสระที่เราเคยสัมผัสมาในอดีต เนื่องจากฉันไม่ได้เป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ สิ่งต่างๆ ก็ค่อนข้างยุ่งยากเล็กน้อย ฉันต้องใช้พลังเพิ่มจากหลักการที่ฉันมีในการหลบหลีกการตรวจจับความเคลื่อนไหวของทางการจีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั่วประเทศจีนใช้ระบบการเช็คอินผ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อเฝ้าระวังสถานะสุขภาพและการเคลื่อนไหวของประชาชน นี่เลยเป็นเหมือนมินิเกมที่ฉันต้องหาทางเอาชนะมัน ผ่านช่องโหว่เล็กๆ น้อยๆ และการซิกแซกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบในระบบ (แน่นอน ฉันรู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่โดนตรวจเลย แต่ฉันก็ดื้อพอที่จะพยายามทำให้ดีที่สุด) และเนื่องจากแผนงานอื่นๆ ของฉันก็ขยับไปหมดแล้ว ฉันเลยตัดสินใจเดือนเองนี้ว่าจะไปปักกิ่ง ภายหลังมีการผ่อนคลายมาตรการลงมานิดนึง และก็ค่อนข้างภูมิใจว่า ฉันรอดมาถึงปักกิ่งได้โดยไม่ต้องควักมือถือขึ้นมาใช้เลยแม้แต่ครั้งเดียว (ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการถูกสแกนข้อมูลไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็ตาม)



รูป 8 — HQL-382 เป็นเส้นทางขนส่งหนังสือของ LIGHT LOGISTICS จุดแวะได้แก่ฮ่องกง ปักกิ่ง กว่างโจว เชินเจิ้น ฝูโจวและ เจียหยาง ในรูปภาพเป็นการจัดส่งหนังสือที่กว่างโจวบริเวณที่ทำการของ LIGHT LOGISTICS บริเวณตรงข้ามสถานีจัดส่งจริงๆ


รูป 9 — ภาพที่ถ่ายผ่านช่องมองตรงประตูของคนที่ออกมารับอาหารมื้อเที่ยงที่โรงแรมสำหรับการกักตัว (ภาพจากการเดินทางด้วยเส้นทาง HQL-382)


Napisa —
We saw that BOOKED: 2021 Art Book Pop-Ups!
 changed its format to a pop-up event. Is it on a smaller scale compared to the event in 2019 or 2020? How does the scale and format of this year’s fair affect the way each exhibitor organized their booth? We were very much impressed by how enthusiastic the locals and expats were for the event and saw its potential to grow back in 2019 when we joined the fair. But with the current political and pandemic situation in Hong Kong that affects traveling, working, living, among other restrictions, are there a lot of changes in terms of content and audiences this year? What kind of conversation the exhibitors had at the fair after the new censorship law? What kind of content the exhibitors this year are focusing on? Your attempt to print the new book in Thailand is the result of the new law? Actually I had a similar conversation with PianPian and Max of ‘Info and Updates’, the graphic designers based in China. They told me about their struggle with printing their publications, paan, since the beginning of the pandemic in 2019.


Elaine — We can’t speak for Tai Kwun, of course, but as far as I understand, the smaller scale and re-titling of BOOKED as a pop-up was exactly an administrative distinction to work around certain restrictions in the time of pandemic. Because events such as ‘fairs’ and other large-scale gatherings are prohibited, moving the event from the gallery spaces into the smaller retail venues of the Tai Kwun compound were a way that it could be legally possible at all. Unfortunately, I was not able to attend the event a few weeks ago (February 25-28, 2021) because I have been away from Hong Kong, but other Display Distribute
co-conspirators Irene and paperbridgeee reported quite a lively event despite the changes. If I compare the kinds of restrictions that we face in Hong Kong compared to China, both are progressively tightening, but Hong Kong cultural activities by far still much more relaxed than China. For example, a current project of mine with another collective has just today been censored by institutional authorities in Guangzhou, and this is quite common here. Back in Hong Kong, the Display Distribute table at BOOKED:2021 featured quite a few sensitive publications which most certainly would not have been possible to show in China. Regarding the book that I have recently inquired for help with from you and comrades in Thailand, it’s also still more a conflux of China security issues and Hong Kong economics (rather than Hong Kong censorship). We would be able to print in Hong Kong, but simply cannot afford it. So the original intention was to print in Mainland, but because of some of the content, we were turned down by several factories, and I felt there was no choice but to begin looking outwards. Of course while I hope it doesn’t give you too much trouble, I do hope that these forms of mutual aid are a sign that the BKKABF CO-OP and our own visions of networked collaboration can occur. Most certainly, if there is anything that we can do to similarly aid others in this constellation, we are on board the pirate ship.


pic. 10 — Display Distribute booth at BOOKED: 2021 Art Book Pop-Ups!. Bags on the wall are a project of Display Distribute in collaboration with NZTT Sewing Co-op. These bags were sewn with RFID blocking pockets, a technology that help preventing data scanning from devices with RFID technology.


pic. 11 — Display Distribute booth at BOOKED: 2021 Art Book Pop-Ups!.


นภิษา —
เราเห็นว่าปีนี้ BOOKED: 2021 Art Book Pop-Ups!
 เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นงานป๊อป-อัพ มันมีขนาดเล็กลงจากงานในปี 2562 หรือ 2563 มั้ย? ขนาดและรูปแบบของงานในปีนี้มันส่งผลต่อการจัดการบูธของผู้เข้าร่วมยังไง? ตอนที่เราไปออกบูธกันเมื่อปี 2562 เราประทับใจมากกับความตื่นตัวของผู้ชมทั้งคนในพื้นที่และต่างชาติที่เข้ามาทำงานในฮ่องกง และเราเห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตขึ้นอีก แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและโรคระบาดในฮ่องกงมันส่งผลให้เกิดข้อจำกัด เช่นการเดินทาง การทำงาน การอยู่อาศัย มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมั้ยในแง่ของเนื้อหาและผู้ชมในปีนี้? บทสนทนาแบบไหนที่ผู้เข้าร่วมแบ่งปันกันหลังจากมีกฎหมายเซ็นเซอร์ฉบับใหม่? เนื้อหาแบบไหนที่ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจ? ความพยายามที่จะพิมพ์สิ่งพิมพ์ของคุณในไทยเป็นผลมาจากกฎหมายอันนี้รึเปล่า? เราได้เคยมีบทสนทนาคล้ายๆ กันนี้กับ เพียนเพียน (PianPian He) และแม็กซ์ (Max Harvey) จากกลุ่มกราฟิกดีไซเนอร์ชื่อ Info and Updates ที่พักอยู่ในประเทศจีน ถึงการที่พวกเขามีปัญหาในการพยายามจะตีพิมพ์วรสารที่พวกเขาออกแบบชื่อ paan ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเกิดโรคระบาดในปี 2562


อีเลน — เราพูดแทนต่ายกู๋น (BOOKED: 2021 Art Book Pop-Ups! หรือ BOOKED: 2021 – Tai Kwun) ไม่ได้นะ แต่เท่าที่ฉันเข้าใจคือการปรับสเกลงาน BOOKED ให้เล็กลงเป็นป๊อป-อัพ เป็นการจัดการที่ตัดสินใจได้ดีมาก ในแง่การเลี่ยงข้อจำกัดบางประการในช่วงการแพร่ระบาด เพราะงานอีเวนท์อย่างพวกงาน ‘เทศกาล’ และการรวมตัวกันในสเกลใหญ่ถูกสั่งห้าม การย้ายพื้นที่จัดงานจากพื้นที่จัดแสดงในแกลเลอรี่ออกมายังพื้นที่ค้าปลีกด้านนอกของต่ายกู๋น ก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้จัดงานได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โชคไม่ดีที่ฉันไปร่วมงานที่เพิ่งจัดไปไม่เมื่อกี่อาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ได้ (25-28 กุมภาพันธ์ 2564) เพราะไม่ได้อยู่ฮ่องกง แต่ผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่นๆ ของ Display Distribute ก็มาเล่าให้ฟังว่างานจัดได้ดีมีชีวิตชีวาไม่เลว แม้รูปแบบงานต้องปรับเปลี่ยนไปก็ตาม ถ้าจะให้เปรียบเทียบเรื่องข้อจำกัดที่เราต้องเผชิญที่ฮ่องกงกับที่เมืองจีน ทั้งสองแห่งก็เข้มงวดเรื่องการจัดงานขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ฮ่องกงการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมยังดูผ่อนคลายกว่าถ้าเทียบกันกับที่จีน ยกตัวอย่างเช่น โปรเจกต์ของฉันกับกลุ่มปฏิบัติการอีกกลุ่มนึงเพิ่งถูกหน่วยงานเชิงสถาบันที่กว่างโจวเซ็นเซอร์ไปวันนี้เอง ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นเรื่องปกติสำหรับที่นี่ กลับมาที่ฮ่องกง โต๊ะของ Display Distribute ที่ BOOKED:2021 ปีนี้ มีสิ่งพิมพ์เนื้อหาล่อแหลมอยู่สองสามเล่มที่เอาไปโชว์ที่จีนไม่ได้แน่ๆ นอกจากหนังสือเล่มที่ฉันเพิ่งขอความช่วยเหลือจากคุณและมิตรสหายที่เมืองไทยไปแล้ว มันยังคงเป็นเรื่องประเด็นปัญหาทางความมั่นคงในกรณีของจีนและเรื่องของเศรษฐกิจในกรณีของฮ่องกง (มากกว่ากรณีของการเซ็นเซอร์ถ้าที่ฮ่องกง) เรายังสามารถพิมพ์งานที่ฮ่องกงได้ แต่เรื่องของเรื่องคือเราจ่ายค่าพิมพ์ไม่ไหว ความตั้งใจแรกเริ่มคือไปพิมพ์งานที่แผ่นดินใหญ่ แต่เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนล่อแหลม เราถูกปฏิเสธจากโรงพิมพ์สองสามแห่ง ฉันเลยรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกและเริ่มมองหาตัวช่วยจากข้างนอก แน่นอนว่า ในขณะที่ฉันหวังว่าจะไม่ได้กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับคุณ ฉันก็หวังว่ารูปแบบการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันนี้เป็นสัญญาณว่าวิสัยทัศน์ของ
BKKABF CO-OP และของเราในการร่วมมือสร้างเครือข่ายนั้นเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่า ถ้ามีอะไรที่เราสามารถช่วยเหลือกลับไปได้ในกลุ่มดาวนี้ เราก็พร้อมลงเรือโจรลำเดียวกัน


รูป 10 — บูธของ Display Distribute ที่งาน BOOKED: 2021 Art Book Pop-Ups! กระเป๋าที่แขวนบนกำแพงเป็นโปรเจกต์ที่ Display Distribute ทำร่วมกับ NZTT Sewing Co-op โดยที่ตัวกระเป๋ามีการเย็บติดช่องใส่ตัวระงับสัญญาณ RFID เทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการสแกนข้อมูลออกจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีสแกน RIFD


รูป 11 — บูธของ Display Distribute ที่งาน BOOKED: 2021 Art Book Pop-Ups!


Napisa — I read conversations last year you had with Nihaal Faizal from Reliable Copy on the BKKABF CO-OP’s
Open Access article Reliable Display Copy Distribute and on the MARCH magazine website. Though, physically we couldn’t move much due to the pandemic but you seem to be very active in collaboration. What else did you do last year and focused on? Where were you?


Elaine — I was mostly in isolation in my home studio, like many everywhere,
haha! The turn towards online activity amplifies shimmery facades that everyone else is more active and doing so much, but it is a distorted mirror to the struggling realities that most of us have had to deal with since the pandemic. To be honest, I was quite low most of the year, and several of Display Distribute’s projects were put on hold or severely stunted. But also like most everyone else, we simply have had to wait, to slow down, and/or to rework plans, and we have been lucky despite all of the obstacles to have been able to develop fruitful online collaborations and dialogues with co-conspirators like Nihaal or Distribution Assembly East.




pic. 12-13 — Screenshots from Open Access’ article Reliable Display Copy Distribute; a conversation between Display Distribute from Hong Kong and Reliable Copy from India


นภิษา — ฉันอ่านบทสนทนาที่คุณคุยกับ นีฮาล ไฟซาล (Nihaal Faizal) จาก Reliable Copy ที่ชื่อ
Reliable Display Copy Distribute เมื่อปีที่แล้วภายใต้โปรเจกต์ Open Access บนหน้าเว็บของ BKKABF CO-OP และบนเว็บไซต์นิตยสาร MARCH ถึงแม้ว่าในทางกายภาพแล้วเราไม่สามารถเคลื่อนที่ได้มากเนื่องจากโรคระบาด แต่คุณก็ดูเหมือนจะยังตื่นตัวในการร่วมงานกับคนอื่นๆ มีอะไรบ้างที่คุณทำเมื่อปีที่แล้วและให้ความสนใจ? คุณอยู่ที่ไหนในตอนนั้น?


อีเลน — ส่วนใหญ่ฉันอยู่คนเดียวในบ้านที่เป็นสตูดิโอทำงานด้วย เหมือนกับคนอีกจำนวนมากตอนนี้
ฮ่าๆ! การหันไปหากิจกรรมออนไลน์ขยายให้เห็นแค่ฉากหน้าที่มองดูระยิบระยับจับตา ทุกคนดูแอ็คทีฟ ทุกคนดูทำโน่นทำนี่เยอะแยะไปหมด แต่มันคือภาพสะท้อนที่บิดเบี้ยวของความจริงที่ทุกคนกำลังต้องดิ้นรนรับมือตั้งแต่เกิดการระบาด เอาจริงๆ แล้ว ฉันค่อนข้างอยู่เงียบๆ เป็นส่วนใหญ่ และโปรเจกต์ของ Display Distribute เองก็ถูกพักไว้หรือไปต่อไม่ได้ แต่ก็เหมือนกับคนอื่นๆ อีกมาก เราแค่ต้องรอ เรียนรู้ที่จะช้าลง และ/หรือวางแผนใหม่ เรายังโชคดีที่ยังสามารถพัฒนาความร่วมมือทางออนไลน์ที่สำเร็จเห็นผลได้ แม้จะมีอุปสรรคต่างๆ นานา กับผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิดอย่างนีฮาลหรือ  Distribution Assembly East


รูป 12-13 — ภาพสกรีนช็อตจากหน้าบทความ Reliable Display Copy Distribute ของ Open Access ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่าง Display Distribute จากฮ่องกง กับ Reliable Copy จากอินเดีย


Napisa — I’m very interested in the movement of underground or independent groups that came in different forms in trying to resist authoritarianism and a corrupted government. As you may already know from Nuttha, in Thailand last year, people were widely awakened to call for democracy, I believe, partially we were influenced by the movement in Hong Kong. The movement from the different group of protesters came in different forms whether a subversive rap song by Rap Against Dictatorship, a Mob Fest by a group of university students, a performance event by Bad Student, with the voice that ranges from sarcasm to seriousness, and more and more independent publishers now focusing to publish the content that leans towards the idea of liberation from authoritarianism. I read your conversation in
MARCH that you mentioned publishing as an act of protest, what is the situation of publishing (as an act of protest) in Hong Kong at the moment? Publishing by the mean to make it public as you also mentioned.


Elaine —
Ah, yes, I did remember seeing among the images from BOOKED this year a small zine that described and illustrated the current movement in Thailand in English! This desire or need to communicate our struggles to others, to find networks of solidarity and support, has been historically ubiquitous. That is what the scriptures and every print form thereafter have always been—for motivations better and/or worse. The acts of publishing from below, for example by marginalised individuals, underground groups and those struggling against tyranny, are the ones that Display Distribute is most interested in, and the ones that we can only gradually watch disappear from Hong Kong as it follows the lead of the Mainland. The
Queer Reads Library initiative, for example, began after a selection of LGBT-related books were pulled from open access at Hong Kong schools and libraries. Censorship in the cultural and education sectors has also definitely occurred increasingly over the years, but as mentioned already before, the freedom of access ‘from below’ in Hong Kong I still believe to be more an economic question over a political one. Restriction of publishing acts of dissent in Hong Kong are—for the time being—still far from the level of control in the Mainland, where government-managed surveillance of the internet allows access to all files that pass through printing factory offices. If caught printing subversive literature, authorities can then proceed to shut the entire factory down, so even if sympathetic to a cause, many printers will not want to take such risks. With regards to the 2019 anti-Extradition Law Amendment Bill protests, the amount of renegade publishing of posters, pamphlets and other propaganda material both digital and in print was astounding, but how that related to difficulties in production were more often related to the polarised nature of Hong Kong society, including the political affiliations of print shops and ‘yellow’, pro-movement material not being able to be printed with a ‘blue’, pro-establishment printer. For anyone who is interested to read more, we can recommend TONG Kin-Long’s article DIY print activism in Digital Age: Zines in Hong Kong’s Social Movements that was published last year in the first issue of ZINES journal.


pic. 14 — Display Distribute’s interest for Semi-autonomous zine include a printed guerrilla intervention that happened in Hong Kong in 2019. This zine in particular inviting passersby to play hopscotch on the faces of pro-Beijing politicians. In this case, the zine itself does not move, but invites its readers to jump and move upon it to ‘read’ its contents.


pic. 15 — Semi-autonomous zine in a form of political poetry placards by a graffiti writer, Jannie Kwan on the exit B1, between Prince Edward MTR station and Mongkok Police Station in 2019. Jannie Kwon developed her style of folding her work as origami or mini-packets and distributes it by hand-to-hand method. The poems and manifests she writes are her views on the fragile and oppressive relations between Hong Kong and China. 


pic. 16 — Photos taken from Prince Edward station in Mongkok, where violent incidents led to the prolonged closing of this station exit and numerous memorial interventions for citizens who were attacked and/or mysteriously disappeared on 31 August 2019.



pic. 17-19 — Another “semi-autonomous zine” discovered by Display Distribute and produced by dianaband in the form of a Wi-fi server device is called Wi-Fi Zine Throwies. It functioned as a messenger machine through naming one line Wi-Fi username. Once connected to the server, a user is brought to a single webpage that hosts the contents of its maker.


pic. 20 —
Fong Fo, a monthly zine produced by a collective in Guangzhou & Shunde, in-house printed by cheap inkjet printers and sold for only 1 RMB per copy in the Mainland, or for 1 unit of whichever currency of the country they are sold. The general direction of the zine is a lo-fi version of a variety culture magazine, including short stories, poetry, illustrations and poorly printed photography.


นภิษา — เรารู้สึกสนใจกับกลุ่มเคลื่อนไหวใต้ดินและกลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสระ ที่มาในรูปแบบที่หลากหลายในการต่อด้านระบบอำนาจนิยม และรัฐบาลทุจริต คุณอาจจะเคยรู้จากณัฐา ผู้ประสานงานโปรเจกต์ BKKABF CO-OP ว่าประเทศไทยเมื่อปีก่อน ผู้คนเกิดการตื่นตัวกันอย่างกว้างขวางในการเรียกร้องประชาธิปไตย เราเชื่อว่าส่วนนึงก็ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวในฮ่องกง รูปแบบการเคลื่อนไหวที่ต่างกันนั้นมีตั้งแต่การแต่งเพลงแร็ป โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship กิจกรรมการจัดม็อบในชื่อ Mob Fest โดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และการแสดงโดยกลุ่มนักเรียนเลว พวกเขาต่างพูดด้วยน้ำเสียงที่มีตั้งแต่เสียดสีไปจนถึงจริงจัง แล้วยังเกิดสำนักพิมพ์อิสระที่ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่ค่อนไปทางเสรีนิยมเพื่อปลดแอกจากอำนาจนิยมอีก เราอ่านบทสนทนาของคุณใน
MARCH ที่คุณพูดว่าการตีพิมพ์เป็นท่าทีหนึ่งในการประท้วง สถานการณ์ของการตีพิมพ์ (ในท่าทีของการประท้วง) ในฮ่องกงเป็นยังไงตอนนี้? การตีพิมพ์ด้วยความหมายที่จะทำให้มันเป็นสาธารณะแบบที่คุณเคยบอก


อีเลน — อา ใช่ ฉันจำได้ว่าเห็นภาพจากงาน BOOKED ปีนี้ เห็นซีนเล่มเล็กๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในไทยประกอบภาพในภาษาอังกฤษ!  ความปราถนาหรือความต้องการจะสื่อสารความอึดอัดคับข้องใจของเราไปสู่คนอื่นๆ  ความต้องการแสวงหาเครือข่ายของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการสนับสนุน เป็นไปอย่างแพร่หลายมานับแต่อดีต นี่คือสิ่งที่ข้อเขียนและงานพิมพ์ทุกรูปแบบเป็นอยู่ตลอดมา เพื่อเป็นแรงจูงใจที่ดีขึ้นและ/หรือแย่ลง  การเผยแพร่ในรูปแบบจากเบื้องล่าง เช่น โดยปัจเจกชนชายขอบ กลุ่มใต้ดิน และผู้ที่ต่อสู่กับการกดขี่ข่มเหงเป็นสิ่งที่ Display Distribute ให้ความสนใจมากที่สุด และสิ่งที่เราค่อยๆ เห็นว่าหายไปจากฮ่องกงเมื่อต้องเป็นไปตามการนำของจีนแผ่นดินใหญ่ ตัวอย่างเช่น โครงการ Queer Reads Library เริ่มขึ้นภายหลังมีการดึงหนังสือเกี่ยวกับ LGBT ออกจากการเข้าถึงโดยเสรีตามโรงเรียนและห้องสมุดในฮ่องกง การเซ็นเซอร์ในภาควัฒนธรรมและการศึกษาก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อพูดถึงเสรีภาพในการเข้าถึง “จากเบื้องล่าง” ในฮ่องกง ฉันยังเชื่อว่านี่เป็นคำถามทางเศรษฐกิจมากกว่าทางการเมือง ข้อจำกัดของการเผยแพร่การกระทำที่ไม่เห็นด้วยในฮ่องกง – ในขณะนี้ – ยังห่างไกลจากระดับการควบคุมในแผ่นดินใหญ่ ซึ่งการเฝ้าระวังอินเทอร์เน็ตที่จัดการโดยรัฐบาล ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงไฟล์ทั้งหมดของโรงพิมพ์ หากถูกจับได้ว่ามีการพิมพ์งานวรรณกรรมเชิงล้มล้างสถาบัน เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการปิดโรงงานได้ ดังนั้นแม้ว่าจะเห็นอกเห็นใจกันแค่ไหน โรงพิมพ์จำนวนมากก็ไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงดังกล่าว ถ้ามองถึงการประท้วงร่างกฎหมายต่อต้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2562  จำนวนการเผยแพร่โปสเตอร์ แผ่นพับ และสื่อโฆษณาอื่นๆ ทั้งแบบดิจิทัลและแบบพิมพ์มีจำนวนสูงจนน่าประหลาดใจ แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบากในการผลิต มักเกี่ยวกับการแบ่งขั้วของสังคมฮ่องกง รวมถึงความผูกพันทางการเมืองของร้านรับพิมพ์งาน ในแบบที่เนื้อหาสนับสุนความเคลื่อนไหวของฝ่าย ‘เหลือง’ ไม่สามารถนำไปพิมพ์กับโรงพิมพ์ฝ่าย ‘น้ำเงิน’ ที่สนับสนุนฝั่งแผ่นดินใหญ่ได้  สำหรับใครก็ตามที่สนใจอ่านเพิ่มเติมเราสามารถแนะนำบทความของ ถ่อง กิน-ล๊อง (TONG Kin-Long) เรื่อง DIY print activism in Digital Age: Zines in HongKong’s Social Movements ที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วในวารสาร ZINES ฉบับแรก


รูป 14 — ความสนใจต่อซีนกึ่งอิสระ (Semi-Autonomous Zine) ของ Display Distribute นั้นรวมไปถึงสิ่งพิมพ์ก่อกวนแบบกองโจรที่เกิดขึ้นในฮ่องกงในปี 2562 ซีนฉบับนี้เชื้อเชิญให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาเล่นเกมฮ๊อปสก๊อตช์ กระโดดลงไปบนภาพหน้าของนักการเมืองที่สนับสนุนปักกิ่ง ถึงแม้ว่าสิ่งพิมพ์นี้จะอยู่กับที่ แต่มันก็เชื้อเชิญผู้อ่านให้กระโดดและเคลื่อนไปพร้อมๆ กับอ่านเนื้อหาในนั้น


รูป 15 — ซีนกึ่งอิสระในรูปแบบใบประกาศบทกวีทางการเมืองโดยนักเขียนกราฟฟิตี้ แจนนี่ ควาน (Jannie Kwan) ที่ทางออก B1 ระหว่างสถานีรถไฟ Prince Edward กับสถานีตำรวจมงก๊ก (Mongkok) ในปี 2562 แจนนี่ ควอน พัฒนารูปแบบการพับกระดาษโอริกามิหรือเป็นห่อเล็กๆ และแจกจ่ายมันออกไปแบบตัวต่อตัว บทกวีและแถลงการณ์ที่เธอเขียนเป็นมุมมองต่อความสัมพันธ์ที่เปราะบางและบีบคั้นระหว่างฮ่องกงและจีน


รูป 16 — ภาพถ่ายจากสถานีรถไฟ Prince Edward ในย่านมงก๊ก ที่ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงนำไปสู่การยืดเวลาปิดทางออกจากสถานี และนำไปสู่การทำให้สถานีกลายเป็นอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงประชาชนที่ถูกทำร้าย และทำให้สูญหายอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562



รูป 17-19 — ซีนกึ่งอิสระที่พบโดย Display Distribute และผลิตโดยกลุ่ม dianaband ที่มาในรูปแบบเครื่องส่งสัญญาณไวไฟขนาดเล็กในชื่อ Wi-Fi Zine Throwies  ใช้งานเหมือนกับอุปกรณ์ส่งข้อความสั้นๆ ผ่านการตั้งชื่อสัญญาณไวไฟ เมื่อเชื่อมต่อเข้ากับเซิร์ฟเวอร์แล้ว ผู้ใช้งานจะถูกนำไปสู่หน้าเว็บที่มีคอนเทนต์ของผู้ที่เป็นเจ้าของสัญญาณไวไฟนั้น


รูป 20 — Fong Fo ซีนแบบรายเดือนโดยกลุ่ม Guangzhou & Shunde พิมพ์เองที่บ้านด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทราคาถูก และขายในราคาเล่มละแค่ 1 หยวนในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือราคาแค่ 1 หน่วยของค่าเงินประเทศอะไรก็ตามก็จะถูกนำไปขาย ทิศทางโดยทั่วไปเหมือนกับแมกาซีนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเวอร์ชั่นคุณภาพต่ำ ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น บทกวี ภาพประกอบ และภาพถ่ายที่พิมพ์อย่างห่วยๆ


Image credits


pic. 7-9, 15-16 — Image courtesy of Elaine W. Ho
pic. 10 — Image courtesy of Irene Hui
pic. 11 — Image courtesy of paperbridgeee
pic. 12-13 — Screenshot from Open Access, BKKABF CO-OP
pic. 14 — Image courtesy of Ahkok Wong
pic. 17-19 — Image courtesy of dianaband
pic. 20 — Image courtesy of Display Distribute


เครดิตภาพ


รูป 7-9, 15-16 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จากอีเลน ดับเบิ้ลยู. โฮ
รูป 10 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จากไอรีน ฮุย (Irene Hui)
รูป 11 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จาก paperbridgeee
รูป 12-13 — สกรีนช็อตจาก Open Access, BKKABF CO-OP
รูป 14 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จากอาฮ์ก๊ก หว่อง (Ahkok Wong)
รูป 17-19 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จาก dianaband
รูป 20 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จาก Display Distribute




THU MYAT, STREET ARTIST, YANGON, MYANMAR



pic. 21 — Myanmar political situation on the street in Yangon as seen through the window by citizen media


ตู เมียะ, ศิลปินสตรีท, ย่างกุ้ง, พม่า



รูป 21 — ภาพจากหน้าต่าง มองลงไปบนท้องถนนของประเทศพม่าในเมืองย่างกุ้ง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมือง ถ่ายโดยนักข่าวอิสระ


Napisa —
How is the protest situation in Myanmar at the moment? I read from the news that millions of people of all ages and social backgrounds have come out on the streets daily across the country but also the subjugation by the coup has applied intensely for a month long. How is it like in the city where you live? How are you doing?


Thu Myat — Protests continue everywhere. It declined in Rangoon and remained in rural areas. The decline in Rangoon is not the result of mass surrender by the protester, but by the overuse of force and in search for new ways. This is not to say that shootings are a raid on homes, but act as an operation. For example, in places like Hlaing Thar Yar, Yangon, Marshall Law was declared and arrested people, who are leading or participating in the protest, without any question. It was stationed in a place such as a town hall, and it was kept as a battlefield and shot everything on the streets. During these couple of days, no one was allowed to leave their homes. In the rest of the townships, regular protests were held in the early hours of the morning. In the evening, they threaten by gunfire on the main road of the surrounding area that some of the houses that kept the protester during the protest. As they do so, citizens have put some barriers to prevent terrorists from entering and they were destroyed by bulldozers. Not only did some of the townships were rebuilt daily, but they also bulldozed the parked cars in the neighborhood until they were unreasonably damaged. Beating and destroying shop doors; shouting and threatening to kill people along the way. These are some of the reasons for declination.

In order to do so, government hospitals and schools in each township are firmly stationed. Believe it or not, these are the current situations in Yangon. At night, a large number of people came to the house of CDMers and arrested them, and charged them with defamation, which carries a maximum sentence of 20 years in prison. International pressure to ceasefire has led to arrests at night, beatings to death, and the release of dead bodies in the morning. 

What we are doing is not going to answer here for our security reasons. To be sure, a military coup is totally unacceptable.


pic. 22-23 — Myanmar political situation on the street in Yangon as seen through the window by citizen media


นภิษา —
สถานการณ์ในพม่าเป็นยังไงบ้างตอนนี้ เราอ่านจากข่าวว่าประชาชนทุกเพศทุกวัยกว่าล้านคนและจากทุกชนชั้นออกมาเรียกร้องบนถนนทุกวันกันทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันการปราบปรามโดยกลุ่มรัฐประหารก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาร่วมเดือนแล้ว เมืองที่คุณอยู่ตอนนี้เป็นยังไง? และคุณเป็นยังไงบ้าง?


ตู เมียะ — การประท้วงยังคงดำเนินไปทุกหนทุกแห่ง แม้จะแผ่วลงไปที่ย่างกุ้งแต่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท การประท้วงที่ลดลงที่ย่างกุ้งนี้ ไม่ได้เป็นเพราะจากการยอมจำนนของมวลชน แต่เกิดจากการใช้อำนาจมากเกินไปและวิธีการจัดการใหม่ๆ ที่ไม่ได้ออกมาในรูปแบบของการยิง หรือการบุกค้นตามบ้านเรือน แต่เป็นปฏิบัติการ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่อย่างเขตอุตสาหกรรมลานตายา (Hlaing Thar Yar) ในย่างกุ้ง มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและมีการจับกุมประชาชนที่เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยไม่มีการสอบปากคำใดๆ โดยมีศูนย์กลางการบัญชาการอยู่ที่ศาลากลาง เป็นเหมือนป้อมบัญชาการการรบที่ยิงทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ช่วงสองสามวันที่ผ่านมานี้ ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน มีการประท้วงเป็นประจำในช่วงเช้ามืดในพื้นที่อื่นๆ ของเมือง ส่วนในช่วงเย็น จะมีการยิงขู่บนถนนสายหลักและพื้นที่รอบๆ ในบริเวณที่บางบ้านได้ให้การช่วยเหลือผู้ชุมนุมไว้ จากการกระทำเช่นนี้เอง ทำให้ประชาชนตั้งแนวป้องกันบ้านเรือนเพื่อกันไม่ให้ผู้ประท้วงเข้ามาในพื้นที่ แต่แนวป้องกันเหล่านี้ก็ถูกทำลายโดยรถดันดิน บางเขตในเมืองมีความเสียหายกันแบบรายวัน และยังมีการใช้รถดันดินทำลายรถที่จอดทิ้งไว้ริมถนนจนพังแบบไม่มีเหตุผล ผู้คนทุบและทำลายประตูร้านค้าต่างๆ ตะโกนและข่มขู่จะฆ่าผู้คนไปตามทาง นี่คือเหตุผลที่การประท้วงในเขตย่างกุ้งแผ่วลงไป

เพื่อที่จะยังคงสถานการณ์ไว้ได้ โรงพยาบาลของรัฐและโรงเรียนในแต่ละเขตกลายเป็นศูนย์บัญชาการ เชื่อหรือไม่ก็ตาม นี่คือสถานการณ์ในย่างกุ้งตอนนี้ เมื่อคืนกลุ่มคนจำนวนมากไปที่บ้านของผู้ร่วมขบวนการอารยะขัดขืนและจับกุมพวกเขาด้วยข้อหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แรงกดดันจากนานาชาติให้รัฐบาลทหารทำการหยุดยิงนำไปสู่การจับกุมในชั่วข้ามคืน สู่การซ้อมจนเสียชีวิต ทิ้งไว้แต่ร่างไร้วิญญาณในเช้าวันถัดมา สิ่งที่เรากำลังทำอยู่จะไม่ถูกเล่า ณ ที่นี้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของเรา แต่เชื่อได้เลยว่า รัฐบาลทหารทำเป็นสิ่งที่เกินกว่าจะรับได้จริงๆ



รูป 22-23 — ภาพจากหน้าต่าง มองลงไปบนท้องถนนของประเทศพม่าในเมืองย่างกุ้ง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมือง ถ่ายโดยนักข่าวอิสระ


Napisa — I have read an interview by some Myanmar street artists in 2016 about how they use graffiti to express their interests in art rather than political viewpoints. They didn’t use it for calling out democracy or fighting with repression from the military government. They think of a wall as another kind of canvas. Many artists see spray painting on the wall as the way to add beauty to places which are decaying while trying to avoid sacred and beautiful places such as monasteries or temples and the city like Kalaw or Taunggyi in Shan State.

But lately I saw the news about the street artists, Zayar Hnaung, Ja Sai and Naw Htun Aung who painted the wall to inform the news about COVID-19. They were arrested by violating article 295A of the Myanmar penal code, which relates to blasphemy, because there is a character in the mural that looks similar to a monk spreading the virus. However, everyone knows it is not about blasphemy more than about the limitation of free speech because the news on the pandemic is an issue that the government tried to conceal from the mainstream media.

And latest, I found that Myanmar street artists are more and more using graffiti to call for democracy and against the coup d’etat. What do you think about this change? Do you think the way you work has changed from the beginning of your practice as a street artist? 


Thu Myat — I don’t think we can say it consistently. For the past ten years, they have been writing quite freely. On the one hand, I think it has an indirect effect on the political landscape. It was around 2008 when many young people in our country became interested in graffiti. It started in 2010 with a quasi-civilian government. That government released many of them in order to gain international acceptance. Then came a truly civilian government. As the political impact on young people diminishes, they tend to focus more on their emotions. But they did not give up on any revelation. This is my thought what happened in Myitkyina was mainly due to the generation gap. It is just a misconception of some of the elders in charge. There was a lot of protest in the country. Certainly not in connection with the government’s overthrow of Covid-19. 

As for the religious structure, it will be directly related to Asian culture. 

I want to use it as an artist’s reality rather than a change. I myself wrote political issues early on. Then I leaned towards contemporary art. These sudden, out-of-control changes have also created confusion in the drawing. Coup d’etat policy, thoughts, and ideas are far behind the people.


นภิษา —
เราได้อ่านบทสัมภาษณ์ของศิลปินสตรีทหลายคนในพม่าเมื่อปี 2559 เกี่ยวกับว่าพวกเราใช้กราฟฟิตี้ในการแสดงออกถึงความสนใจในศิลปินมากกว่าความสนใจทางการเมือง พวกเขาไม่ได้ใช้มันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหรือต่อสู้กับการกดขี่จากรัฐบาลทหาร พวกเขามองกำแพงเหมือนกับผ้าใบชนิดหนึ่ง ศิลปินหลายคนมองการพ่นกำแพงในการที่จะสร้างความสวยงามให้กับสถานที่ที่เสื่อมโทรม โดยพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสถานที่สำหรับเคารพบูชาหรือสวยงามอยู่แล้วอย่างสำนักสงฆ์หรือวัด และหลีกเลี่ยงเมืองอย่างกะลอ (Kalaw) หรือ ตองยี (Taunggyi) ในรัฐฉาน


แต่เมื่อไม่นานมานี้มีบทความที่พูดถึงศิลปินสตรีท จะยา นอง (Zayar Hnaung) จา ไซย (Ja Sai) และหน่อ ธุน อ่อง (Naw Htun Aung) ที่ทำงานเพื่อสื่อสารเรื่องโควิด-19 ถูกจับกุมด้วยกฎหมายหมิ่นศาสนามาตรา 295A เพราะในภาพมีตัวละครที่มีลักษณะคล้ายพระ เป็นผู้ที่เอาไวรัสมาเผยแพร่ แต่ความจริงแล้วการจับกุมเกิดขึ้นมาจากเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่า เพราะไปพูดถึงเรื่องของโรคระบาดซึ่งเป็นข่าวที่รัฐบาลพยายามจะปกปิดข้อมูล ไม่เผยแพร่ออกไปผ่านสื่อกระแสหลัก

และล่าสุดเราเห็นว่าศิลปินสตรีทของพม่าใช้ผลงานเรียกร้องประชาธิปไตยกันอย่างกว้างขวาง คุณมีความคิดเห็นยังไงกับทิศทางความสนใจของศิลปินที่เปลี่ยนไปนี้? และตัวคุณเองคุณมองการทำงานของคุณเปลี่ยนไปจากตอนที่คุณเริ่มทำงานกราฟฟิตี้แรกๆ มั้ย?


ตู เมียะ —
ผมไม่คิดว่าเราพูดอย่างนั้นได้เสมอไป ช่วงสิบปีที่ผ่านมา พวกเขาสามารถสร้างงานได้อย่างค่อนข้างมีอิสระ ในทางกลับกัน ผมคิดว่ามันส่งผลทางอ้อมต่อภูมิทัศน์ทางการเมือง ช่วงราวปี 2551 เป็นช่วงที่หนุ่มสาวในประเทศของเราเริ่มสนใจงานกราฟฟิตี้ มันเริ่มต้นในปี 2553  ตอนที่เรามีรัฐบาลผสมกึ่งพลเรือน เพื่อให้ได้การยอมรับจากนานาชาติพวกเขาปล่อยให้มันเกิดขึ้น จากนั้น เราก็มีรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง และขณะที่ผลกระทบทางการเมืองต่อคนหนุ่มสาวลดน้อยลง พวกเขามักจะสนใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากกว่า แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยอมแพ้ให้กับการเปิดโปง ในความคิดของผมสิ่งที่เกิดขึ้นที่มยิจีนา (Myitkyina) หลักๆ เป็นผลมาจากช่องว่างระหว่างรุ่น เป็นความเข้าใจผิดของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้รับผิดชอบ เกิดการประท้วงมากมายในประเทศ และแน่นอนว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการป้องปราบโควิด-19 โดยรัฐบาล


ส่วนโครงสร้างทางศาสนา ก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัฒนธรรมความเป็นเอเชีย 

ผมคิดถึงมันในฐานะความจริงของการเป็นศิลปินมากกว่าความเปลี่ยนแปลง ผมทำงานเชิงการเมืองตั้งแต่ช่วงแรกๆ ก่อนจะขยับมาทางศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกินการควบคุมและฉับพลันนี้ ทำให้เกิดความสับสนในการสร้างงาน นโยบาย ความคิดเห็น และแนวความคิดของรัฐบาลทหารล้าหลังผู้คนไปมาก


Napisa — We saw the movement of graffiti artists on political issues emerging widely on social media. But learning from the news that the internet is blocked all over the country. Using social media as a tool for a political movement still working? How has it helped in spreading the message within and across the country? Apart from social media, what about working in public space? Can street artists work in public space as usual?


Thu Myat —
Visual artists like‚ Graffiti Artists are doing their best to get clear messages to people. Social media is being put to good use by the general public, who understand the need to end the military dictatorship. It would be more accurate to use the Internet in a variety of ways. There are services that the Terrorist Council cannot shut down even though the Internet is blocked but it is compatible with certain systems. People in these areas also respond in ways such as giving free WiFi. Many are working on how to keep the news going, as they are considering shutting down the Internet. There is less and less live streaming from the ground using Facebook. But before the Internet was shut down, politicians, Data collectors I think it’s a success to get journalists and opinion experts on what to do. Writing in public now is very dangerous. Not only he can be arrested but also his life is in danger.



pic. 24-25 — Artworks in protesting against Coup d’état made by Thu Myat


นภิษา — เราเห็นข่าวความเคลื่อนไหวของศิลปินกราฟฟิตี้ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย แต่เราทราบมาจากอเล็ก เฟส ว่าการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบากตอนนี้ในการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต การใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางประท้วงทั้งภายในประเทศและนอกประเทศมันได้ผลดีมั้ย? ศิลปินโดยส่วนใหญ่นอกจากสื่อสารบนโซเชียลมีเดียแล้ว ยังคงทำงานในพื้นที่สาธารณะด้วยมั้ยในตอนนี้? ศิลปินต่างเมืองได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและทำงานร่วมกันยังไง?


ตู เมียะ — ศิลปินเชิงทัศนศิลป์อย่างศิลปินกราฟฟิตี้กำลังทำงานอย่างดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ในการส่งสาส์นออกไปยังผู้คน สื่อโซเชียลถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยสาธารณชน ผู้เข้าใจความต้องการจะหยุดรัฐบาลเผด็จการทหาร อาจจะถูกต้องมากกว่าที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตในวิถีทางต่างๆ มีบริการอินเทอร์เน็ตที่คณะต่อต้านผู้ก่อการประท้วงไม่สามารถสั่งระงับการใช้งานได้ แม้อินเทอร์เน็ตจะถูกบล็อคแต่ยังมีระบบที่ยังเปิดใช้งานแทนกันได้อยู่ คนในพื้นที่ก็ให้ความช่วยเหลือ เช่น เปิดให้ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตฟรี มีคนหลายคนยังทำงานให้แน่ใจว่ายังคงมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พวกเขากำลังประเมินสถานการณ์ว่าจะปิดอินเทอร์เน็ตหรือไม่ มีการรายงานสดภาคสนามผ่านเฟซบุ๊คน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ก่อนที่จะมีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ผมคิดว่านักการเมืองและนักเก็บข้อมูลประสบความสำเร็จในการสอบถามความคิดเห็นจากนักหนังสือพิมพ์และผู้เชี่ยวชาญว่าต้องจัดการสถานการณ์ยังไงไว้เรียบร้อยแล้ว การสร้างงานในพื้นที่สาธารณะตอนนี้อันตรายมาก ไม่เพียงแต่จะถูกจับเท่านั้น แต่อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตอีกด้วย




รูป 24-25 — ภาพผลงานของตู เมียะ ที่ใช้ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร


Napisa — I learned that there are many street artist collectives like ROAR (Release Of Artistic Rage) or
YSA (Yangon Street Association) that are based in Myanmar. Are there any collaborations between each collective that is running the communication campaign against coup d’etat? Or are there any kinds of collaboration across different artist collectives?


Thu Myat — We all have a brotherly relationship outside. We all work together. They also work to get people on the streets to give a clear message. To this day, they continue to write pictures, raise funds, and provide where needed. All “graffiti artists” across the country are united in their opposition.


pic. 26-27 — Artworks by graffiti artists in protesting against the military coup in the downtown area of Yangon.


pic. 28 — Protesters gathered up in the downtown area of Yangon


pic. 29 — Street art made by protesters in Myay Ni Gone, Sanchaung Township, Yangon


นภิษา — เรารู้มาว่ามีศิลปินหลายกลุ่มเช่น ROAR
(Release Of Artistic Rage) หรือ YSA (Yangon Street Association) ที่รวมตัวกันอยู่ในพม่า มันมีการทำงานร่วมกันระหว่างต่างกลุ่มมั้ยในการทำเคมเปญเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับการต่อต้านการรัฐประหาร? หรือมีความร่วมมือแบบไหนอีกระหว่างต่างกลุ่มศิลปิน?


ตู เมียะ —​ บนท้องถนน เรามีความเป็นพี่เป็นน้องกัน พวกเราสร้างงานด้วยกัน พวกเขากำลังสร้างงานที่ดึงผู้คนลงมาที่ท้องถนนเพื่อสื่อสารอย่างชัดเจน จนถึงทุกวันนี้ พวกเขายังคงพ่นภาพงาน ระดมทุน และสนับสนุนให้กับที่ๆ ต้องการ ศิลปินกราฟฟิตี้ทุกคนทั่วประเทศกำลังรวมตัวกันเพื่องัดค้าน


รูป 26-27 — ผลงานโดยศิลปินกราฟฟิตี้ที่ใช้ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหารบริเวณใจกลางเมืองย่างกุ้ง


รูป 28 — กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันบริเวณใจกลางเมืองย่างกุ้ง


รูป 29 — ผลงานศิลปะบนท้องถนนโดยกลุ่มผู้ประท้วงใน เม นิ กอง ย่านซานจวน ย่างกุ้ง (Myay Ni Gone, Sanchaung Township, Yangon)


Image credits


pic. 21-23 — Image courtesy of Min Thant Zin
pic. 24-29 — Image courtesy of Thu Myat


เครดิตภาพ


รูป 21-23 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จาก มิน แตน ซิน (Min Thant Zin)
รูป 24-29 — ภาพโดยความอนุเคราะห์จาก ตู เมียะ

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 07 — โหมโรง: คุยข้างหลุม


ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน (เติ้ล) —
อย่างโปรเจกต์ DNA ของเรา เรามองว่าเป็น anti-disciplinary คือไม่มีกฎระเบียบอยู่เลย


เติ้ลและปั๊บจาก Spaceth.co แนะนำตัวกับเราผ่านโปรเจกต์
MESSE (Molecular Encoded Storage for Space Exploration) ที่พวกเขานำเพลง ความฝันกับจักรวาล ของบอดี้สแลมมาแปลงให้เป็น DNA เพื่อที่จะส่งขึ้นไปอวกาศ เป็นโปรเจกต์ที่แทนความเชื่อของพวกเขาต่อการแยกจากกันไม่ออกของศิลปะและวิทยาศาสตร์


รูป 1 — Payload ที่มีหลอดทดลองบรรจุ DNA หรือข้อมูลในระดับโมเลกุล ที่แปลงมาจากโน๊ตเพลงความฝันกับจักรวาลของบอดี้สแลม

ธรรดร กุลเกลี้ยง (ดร) — เราว่ามันคือยุคที่น่าตื่นเต้นของวิชาการ ที่มันไม่มีการแบ่งแล้วว่าคุณทำเรื่องชีววิทยา คุณทำเรื่องฟิสิกส์ หรือโบราณคดี ทุกอย่างมันโยงได้หมด ไม่ใช่แค่เรานำของใครมาประยุกต์ใช้ แต่มันสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด

ชยภัทร อาชีวระงับโรค (ปั๊บ) — อย่างที่พี่แทนพูดว่าศิลปะมันจะทำให้เราเปิดไปสู่มุมมองใหม่ ที่จะนำไปสู่สังคมในอนาคต มันทำให้ผมคิดถึง The Krebs Cycle of Creativity

เขาเปิดภาพของ The Krebs Cycle of Creativityให้เราดูเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการหลอมรวมกันของศาสตร์หลายแขนง อย่างที่พวกเขาเรียกมันว่า antidisciplinary ปั๊บรู้จักกับแผนภาพนี้จากรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่กับ MIT Media Lab ที่ที่นักวิจัยชื่อเนริ อ๊อกซ์แมน (Neri Oxman) ทำงานอยู่ เธอเขียนแผนภาพนี้ประกอบบทความที่ชื่อ Age of Entanglement บนเว็บไซต์ JoDS เมื่อห้าปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่ปั๊บเรียนอยู่ม.1 ซึ่งแผนภาพอธิบายการเชื่อมโยงกันของศิลปะ วิทยาศาสตร์ การออกแบบ และวิศวกรรมศาสตร์

ปั๊บ — วิทยาศาสตร์มันจะก่อให้เกิดวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้เข้าถึงคนหมู่มากก็จะดึงการออกแบบเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การรับรู้อย่างเป็นศิลปะ ก่อนที่มันจะย้อนกลับไปสร้างแรงขับเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์อีกที

เติ้ล — นอกจากจะมีอิทธิพลต่อกันเป็นวัฏจักรแล้ว ถ้าสังเกตแผนภาพนี้ เราจะเห็นการแบ่งซ้ายขวา กับบนล่างด้วย ด้านซ้ายคือวัฒนธรรม ด้านขวาคือธรรมชาติ ด้านบนคือการรับรู้ ด้านล่างคือการนำไปใช้


รูป 2 — แผนภาพ Krebs Cycle of Creativity โดยนักวิจัยชื่อเนริ อ๊อกซ์แมน จาก MIT Media Lab ที่นำเสนอวัฏจักรของความรู้ ระหว่างศิลปะ วิทยาศาสตร์ การออกแบบ และวิศวกรรมศาสตร์


เกี่ยวกับแผนภาพ Krebs Cycle of Creativity


แผนภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยจากกลุ่ม MIT Media Lab ซึ่งแตกสาขาการวิจัยออกไปหลายกลุ่มโดยไม่ได้แบ่งตามสาขาการศึกษาทั่วไป นับว่าเป็นโครงการวิจัยที่ทลายการแบ่งศาสตร์ออกแขนงต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นกลุ่ม Fluid Interfaces ที่ศึกษาการเสริมสร้างทักษะการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ของมนุษย์ ผ่านการสร้างระบบและพัฒนาอินเตอร์เฟซ หรือกลุ่ม Mediated Matter ที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่สร้างสรรค์โดยธรรมชาติ และสิ่งที่ถูกสร้างจากแรงบันดาลใจทางธรรมชาติ


ดร —
ช่วงปี 1980 ที่การศึกษาโบราณคดีเริ่มบูม ก็เริ่มเกิดการแยกไม่ออกว่าสิ่งที่ตัวเองศึกษาอยู่ อยู่ในฝั่งของศิลปะหรือเทคโนโลยีกันแน่ เพราะพอเราศึกษาเรื่องศิลปะมันก็จะสะท้อนกลับไปถึงเรื่องการศึกษาเทคโนโลยี หรือวิศกรรมอยู่ดี เขาเถียงกันว่าเครื่องมือหินเป็นงานศิลปะหรือเทคโนโลยี และนักโบราณคดีก็มูฟออนจากเรื่องนี้กันไม่ได้ซักที


รูป 3 — แผนภาพแสดงเครื่องมือหินจากยุคหินสามช่วง ได้แก่ยุคต้น ยุคกลาง ยุคปลาย


รูป 4 — เครื่องมือหินที่เรียกว่า Acheulean Handaxes เป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ กระเทาะได้จากหิน นับเป็นเครื่องมือหินที่เก่าแก่ที่สุด พบเห็นได้ทั่วไป และเป็นรูปทรงที่เป็นทางการมากที่สุดในอดีตที่เคยถูกสร้างโดยมนุษย์


เติ้ลให้ความเห็นว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) 
ทำให้เรื่องการหลอมรวมของศาสตร์มันพังทลาย ในช่วงประมาณปี 1800 ทั้งในอังกฤษและอเมริกา นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเร่งการเติบโตของสังคมแบบก้าวกระโดด เกิดการพัฒนาเครื่องจักรและระบบสายพานเพื่อเร่งอัตราการผลิต ผลสืบเนื่องคือความต้องการแรงงานที่มีความรู้เฉพาะทางเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการวางหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การแบ่งแยกของศาสตร์ทำให้วิธีมองของมนุษย์ต่อธรรมชาติเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ความรู้ที่เคยเป็นผืนเดียวถูกตีกรอบด้วยเลนส์ของสาขาวิชาที่เข้าไปสังเกตุการณ์ในเรื่องต่างๆ อีกทีหนึ่ง

เติ้ล — แต่ตอนนี้เรากำลังกลับไปหาความเชื่อมโยงของทุกอย่างอีกครั้งนึง

นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน) — ยุคโมเดิร์นเป็นการเข้าไปจัดระเบียบ โพสต์โมเดิร์นพยายามสลายมัน

ดร — เราเลยโพสต์โมเดิร์นไปแล้ว เรียกว่าโพสต์-โพสต์โมเดิร์นได้มั้ย

เติ้ล — พูดถึงโมเดิร์นแล้วนึกถึงยานโบอิ้งลำใหญ่ๆ

นวิน หนูทอง (แทน) — นี่ไง มันคือ Ontological Turn


เกี่ยวกับ Ontological Turn


Ontological Turn เป็นหัวเลี้ยวทางแนวคิดที่เกิดขึ้นในแวดวงมานุษยวิทยาปัจจุบัน โดยเสนอให้มองโลกและปรากฏการณ์อย่างไม่จำกัดอยู่ที่แค่ตัวมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างเดียว แต่ต้องหันไปทำความเข้าใจในตัวแสดงต่างๆ ที่ก้าวพ้นมนุษย์ไปอีกด้วย — อ้างอิงจาก เล่าคํา ถกความหมาย: สรุปความจากชุดโครงการเสวนา “ความจํากัดคํา | คําจํากัดความ” โดย พีรวัฒน์ คําพวง


แทน — 
เราสนใจเรื่องวิธีวิจัยที่อาศัยแกนตั้งแกนนอนของโบราณคดีอย่างที่ดรเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้


ดร —
โบราณคดีไม่ได้เป็นแค่การศึกษาสิ่งของ แต่ว่าเป็นการศึกษาสิ่งของในช่วงเวลาหนึ่ง ในวิธีคิดทางโบราณคดีแกนตั้งก็คือเวลา เรื่องของวิวัฒนาการ แต่นอกจากศึกษาช่วงเวลาก็ต้องศึกษาสิ่งที่อยู่รอบๆ ช่วงเวลา ซึ่งก็คือแกนนอน ต้องดูว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นยังไงในช่วงแนวดิ่งนั้น พอได้ทั้งสองแกนก็เอามาเชื่อมโยงกัน ถ้ามองดูจริงๆ ก็จะมีชั้นดินซอยย่อยๆ ลงไปอีก ซึ่งก็จะต้องมาดูว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไรยังไง

แทน — แล้วนักโบราณคดีจะไปทำอะไรบนดวงจันทร์ เพราะแกนตั้งที่หมายถึงเวลา บนดวงจันทร์มันเป็นเวลาอีกแบบนึง

ยีน — เราสนใจในโบราณคดีบนอวกาศด้วย ไม่ใช่แค่การไปขุดบนดวงจันทร์ ชั้นบรรยากาศมองเป็นเลเยอร์ของชั้นดินได้มั้ย

ดร — ความจริงแล้วเราส่งคนหรือยานอวกาศไปดวงจันทร์กี่ครั้งแล้วนะ

เติ้ล — จนถึงตอนนี้ก็ห้าสิบครั้งแล้วมั้ง

ดร — ผมเพิ่งอ่านงานนึงระหว่างเดินทางบน MRT พูดถึงการศึกษาโบราณคดีบนดวงจันทร์มันเริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 มีการพูดถึงดาวเทียมแวนการ์ด 1 (Vanguard I) ดาวเทียมขนาดเล็กของอเมริกา ว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีทางอวกาศชิ้นแรกๆ เลย ถ้าถามว่าโบราณคดีบนดวงจันทร์ทำอะไร มันก็คือการลำดับเรียงแกนตั้งเนี่ยแหละ ผมเชื่อว่าการขึ้นไปบนอวกาศแต่ละครั้งเราก็ทิ้งสเปซจังค์ไว้เยอะใช่มั้ย นักโบราณคดีอวกาศก็จะรวบรวมรูปภาพการปฏิบัติการ กับขยะอวกาศพวกนี้เอาไว้ งานโบราณคดีก็คือการศึกษาเรื่องของมนุษย์ งานโบราณคดีของอวกาศก็คือการศึกษาร่องรอยของมนุษย์ในอวกาศ 

แต่ถ้าพูดถึงการขุดชั้นดินบนโลก การขุดชั้นดินนึงประมาณ 1 เซนติเมตรอาจศึกษาช่วงเวลาได้ประมาณ 10 ปี ไปถึง 100 ปีก็ยังได้ แต่มันก็เป็นการศึกษาการย่อยสลาย การทับถมที่เป็นกฎเกณฑ์ของโลก ภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก แต่พอไปอยู่ข้างบนดวงจันทร์แบบนั้น เราจะใช้วิธีแบบนี้บนนั้นได้มั้ย


รูป 5 — ดาวเทียมแวนการ์ด 1 เป็นดาวเทียมขนาดเล็กขนาดประมาณผลส้มโอ ของสหรัฐอเมริกา ที่นับว่าเป็นวัตถุโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในวงโคจรรอบโลก ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในปี 1958 ได้รับออกแบบเพื่อใช้ทดสอบสมรรถนะการปล่อยของยานปล่อยสามขั้น ผลของสิ่งแวดล้อมต่อดาวเทียม และเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ผ่านการวิเคราะห์วงโคจร

เติ้ลมองว่าบทบาทของการศึกษาในบริบทของอวกาศมันมีมากกว่าแค่การมองในช่วงเวลาที่สั้นเพียงแค่จากที่มนุษย์เริ่มสำรวจอวกาศเมื่อไหร่ แต่มันมองไปถึงวันแรกที่มนุษย์เกิดขึ้นมา การศึกษาในแง่มุมของอวกาศสนใจว่าทำไมโลกต้องเกิดขึ้นตรงนี้ มีผู้สร้างหรือไม่ ซึ่งอาจจะมองเกินขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์ เช่นเราอาจมองไปในอนาคตว่านักประวัติศาสตร์จะมองย้อนกลับมาการตีความอดีตยังไง ถ้าในอนาคตมนุษย์เกิดการแยกย้ายกันไปอยู่บนดาวคนละดวง เทียบกับการมองประวัติศาสตร์อยุธยาหรือสุโขทัย ที่เป็นการมองเวลาแบบเป็นเส้นตรง เราอาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะเวลาของมนุษย์ดาวอังคาร มนุษย์ดวงจันทร์ มนุษย์โลกนั้นไม่เหมือนกันอีกต่อไป

แทน — ในวันแรกที่มนุษย์เกิด อวกาศเป็นยังไง

เติ้ล — เรานึกถึงหนังสือ Foundation (1951) ของไอแซค อะซิมอฟ (Isaac Asimov)

แทน — กฎสามข้อของ AI ที่อยู่ในหนังสือ I, Robot (1950) ของเขาก็น่าประทับใจนะ


รูป 6 — กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ปรากฎอยู่ในนวนิยายไซไฟ I, Robot เขียนโดยไอแซค อะซิมอฟ ตีพิมพ์ในปี 1950 


กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์


1. หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้
2.หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก
3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง


ปั๊บ — จริงๆ NASA เองก็มีแผนกประวัติศาสตร์ของตัวเอง เรื่องของอวกาศไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวของมันเอง แต่มักจะเกี่ยวพันกับเรื่องสงครามเย็น ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอวกาศ เช่นการไปดวงจันทร์ เราต้องดูด้วยว่าทำไมถึงไป มันคงไม่ใช่แค่นักการเมืองพูดว่าเอาตังค์ไปเลยพันล้าน เราอยากเห็นดวงจันทร์ว่ามันเป็นยังไง ผมรู้สึกว่าในอนาคตมันจำเป็นต้องศึกษาว่าทำไมเราไปดาวอังคาร ทำไมมนุษย์อยากอพยพย้ายถิ่นฐาน ทำไมถึงเกิดการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ (mass migration) รู้สึกบริบทการเมืองและสังคมมันสัมพันธ์กัน

แทน — การไปอวกาศดูเป็นโกลบอลโพลิติกมากเลยเนอะ ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นแค่การไปเพื่อค้นคว้า ในยุคสงครามเย็นมันคือการได้ชัยชนะทางการเมือง

ดร — ผมว่าการวิจัยเรื่องแวนการ์ดมันน่าทึ่งมาก นอกจากจะตีความช่วงเวลาแล้วแต่ยังตีความเชิงลึกว่ามันไปอยู่ตรงนั้นได้ยังไง แวนการ์ดมักถูกนำมาศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของวัตถุที่อยู่บนอวกาศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อดาวเทียม คล้ายกับการศึกษากระบวนการแปรสภาพของแหล่งโบราณคดี (site formation process) ที่ศึกษากระบวนการก่อตัวของพื้นที่จากการเสื่อมสลายและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสภาพปัจจุบันของวัตถุ นอกจากนี้มันยังถูกตีความถึงนัยยะซ่อนเร้นที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมือง เช่นการถอดนัยยะความสำคัญของโครงการอวกาศในช่วงสงครามเย็น เหตุผลในแง่ของสังคมและวัฒนธรรมที่ผลักดันให้แต่ละประเทศต้องแข่งขันกันขึ้นสู่อวกาศ


เติ้ล —
ผมเคยเขียนว่าทุกอย่างเป็นสัญญะไว้ในบทความ บนนี้ไม่มีพระเจ้า สัญญะสำคัญที่อวกาศถูกใช้เพื่อการเมือง


รูป 7 — ภาพโฆษณาจากสหภาพโซเวียต เป็นภาพของยูริ กาการิน นักบินอวกาศจากรัสเซียที่เดินทางท่องอวกาศเป็นคนแรกของโลก ประกอบกับคำว่า Boga Net! ที่แปลว่า ไม่มีพระเจ้า หรือไม่เห็นพระเจ้า แต่จากบันทึกการสื่อสารของกาการินบนเว็บไซต์ firstorbit.org ไม่ปรากฏหลักฐานว่ากาการินเป็นเจ้าของวาทกรรมนี้


แทน —
ใช่ๆ เคยอ่าน

เติ้ล — มองทุกอย่างต้องมองสัญญะ อย่าแค่มองสิ่งที่มันเป็น ให้มองบริบทรอบมันถึงจะเข้าใจมัน อวกาศมันก็คือเรื่องนี้นี่แหละ Spaceth.co มันเกิดขึ้นมาเพราะอย่างนี้นี่แหละ เราไม่ได้มองอวกาศเป็นแค่อวกาศแต่เรามองเรื่องราวที่อยู่รอบๆ มัน

ดร — ถึงแม้จะถูกห้ามไม่ให้พูดเรื่องอื่นน่ะนะ ผมตามดราม่าเพจคุณอยู่ เขาบอกว่าอยากให้เพจนี้เป็นเพจที่นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอวกาศครับ ไม่อยากให้เป็นเพจที่นำเสนอเรื่องการเมือง (หัวเราะ)

แทน — เรื่องสัญญะต่ออวกาศ ที่สนใจเรื่องอวกาศเป็นเพราะอยากรู้ว่ามันกว้างแค่ไหน หรือว่ามันมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่รู้สึกสนใจ เช่นฟิสิกส์ใหม่

เติ้ล — อวกาศเป็นเรื่องของฟรอนเทียร์ (frontier) ซึ่งมันก็เป็นสัญญะรูปแบบนึงนั่นแหละ อาจจะเรียกได้ว่าฟรอนเทียร์ คือชายแดนของมนุษย์ เวลาเราสร้างหรือค้นพบอะไรใหม่ที่เป็น state of the arts หรือ การขยายชายแดนนั้นออกไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เราค้นพบอะไรใหม่มากขึ้น อย่างเมื่อก่อนกาลิเลโอสร้างกล้องโทรทัศน์ทำให้เราเห็นดาวดวงอื่นๆ ขยายความเข้าใจของเราในด้านดาราศาสตร์มันก็คือฟรอนเทียร์ นิวตันค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงสากลมันก็คือฟรอนเทียร์ แล้วพวกนี้มันก็จะเป็นรากฐานไปสู่การข้ามฟรอนเทียร์ ในยุคต่อไป

ดร — เป็นแฟน Star Trek รึเปล่าครับ The Final Frontier (Star Trek V: The Final Frontier, 1989)


รูป 8 — โปสเตอร์จากภาพยนตร์ Star Trek V: The Final Frontier

เติ้ล — มันเป็นยังงั้นจริงๆ เพราะมันเกินกว่าที่เราจะเอื้อม ลองไปดูนิทานอิคะเริส ที่บอกว่าข้าจะบินให้ถึงดวงอาทิตย์ แล้วปีกก็โดนพระอาทิตย์เผาละลาย หรือโรมิโอที่เปรียบจูเลียตเป็นดวงอาทิตย์ เรามองว่าอวกาศเป็นฟรอนเทียร์ของมนุษย์มาโดยตลอด ดังนั้นอวกาศสำหรับเรามันไม่ใช่แค่สถานที่ แต่มันคือสิ่งที่อยู่ในจิตใจมนุษย์ แล้วทุกคนมีความปรารถนาที่จะไปอยู่ตรงนั้น แล้ว ณ วันนี้ เราเหมือนกับอยู่ในยุคที่ตัดฉับของโลกที่มนุษย์ไม่เคยสัมผัสอวกาศกับมนุษย์ไปสัมผัสอวกาศมาแล้วมากมาย แม้แต่งาน DNA ของเราก็ไม่น่าเชื่อว่าเราจะส่งของไปอวกาศได้ ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องอวกาศ เราก็ไม่รู้จะพูดถึงเรื่องอะไรแล้ว โอเคว่าในอนาคตมันอาจจะมีอะไรที่เป็นอวกาศ แต่มีความเป็นฟรอนเทียร์มากกว่านั้น เช่นเราสำรวจกันครบระบบสุริยะของเราแล้ว เราก็คงอยากรู้ว่าระบบสุริยะอื่นมีอะไรนะ แทนที่เด็กจะถามพ่อแม่ว่าบนท้องฟ้ามีอะไร อาจจะเป็นพ่อลูกที่ขับยานกันอยู่แล้วถามว่ากาแลคซี่นู้นมีอะไร


รูป 9 — ภาพพิมพ์ไม้เกี่ยวกับตำนานเทพเจ้ากรีก-โรมัน เป็นภาพอิคะเริส บุตรชายของเดลาลัส มนุษย์พ่อลูกที่ถูกจองจำอยู่ในหอคอยบนเกาะครีต อิคะเริสต้องการอิสรภาพ จึงได้ฆ่านกนางนวลและเด็ดปีกมาทาขี้ผึ้งติดเข้าที่แขนของตนเพื่อบินหนี อะคิเริสบินสูงเกินไปจนอะพอลโล เทพเจ้าแห่งแสงอาทิตย์โกรธเพราะเห็นว่าเป็นการท้าทายของมนุษย์ต่อเทพเจ้า อะพอลโลจึงเร่งแสงอาทิตย์ให้แรงขึ้น ทำให้ปีกของอิคะเริสหลอมละลาย และสุดท้ายก็ตกลงมาจมน้ำตาย


รูป 10 — ภาพจากภาพยนตร์ Romeo + Juliet ปี 1996 ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ โรมีโอและจูเลียต โดย วิลเลียม เชกสเปียร์ ที่เขียนขึ้นในปี 1595 ฉากที่โรมิโอแอบไปพบกับจูเลียดที่ระเบียง เป็นหนึ่งในฉากที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดฉากหนึ่งของบทประพันธ์ต้นฉบับ โรมิโอเปรียบตัวเองเป็นดวงจันทร์และจูเลียตเป็นดวงอาทิตย์ (It is the east, and Juliet is the sun. Arise, fair sun, and kill the envious moon,…)


แทน —
ตั้งแต่วันแรกที่เราตั้งคำถาม สิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนไปมั้ย เพราะเราเรียนรู้เพิ่มขึ้น ทิศทางการค้นคว้าหรือทัศนคติเราเปลี่ยนไปมั้ย


เติ้ล —
มันยังเป็นอันเดิม แต่สเกลก็ไม่ได้กว้างขึ้นมากน่าจะด้วยข้อจำกัดการรับรู้ของมนุษย์ ถ้าในอนาคตมนุษย์ขยายข้อจำกัดนี้ออกไปได้ คำถามก็น่าจะไปไกลได้มากขึ้น ประธานาธิบดีนิกสัน (Richard Nixon) ของสหรัฐฯ พูดว่าการไปอวกาศของมนุษย์ทำให้สวรรค์กับโลกกลายเป็นโลกเดียวกัน ตอนที่โทรคุยกับนักบินอวกาศสองคนบนดวงจันทร์ ที่ไปกับโครงการอะพอลโล 11 (Apollo 11) ไม่มีสวรรค์อีกต่อไปแล้วเมื่อกฏทางฟิสิกส์มันใช้อธิบายได้ครอบจักรวาล

แทน — เราสนใจเรื่องกาลิเลโอ อย่างในประวัติศาสตร์ศิลปะมันก็มีแนวคิดของมันเนอะ ในวันที่กาลิเลโอเข้าไปประกาศในโบสถ์ว่าพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่ใช่โลก ในคิโนะจะมีหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใหญ่อยู่ถ้าเราเอาปีนั้นไปคั่นในหน้าหนังสือ มันก็จะชัดเลยว่าก่อนหน้านั้นก็จะเป็นเรื่องเจ้าเรื่องกษัตริย์ ศาสนา ภาพคน ภาพนักบุญ คนไม่เคยสนใจวาดแลนด์สเคปมาก่อน ภาพแนวตั้งกลายเป็นแนวนอน ต้นไม้น่าสนใจ เพื่อนมนุษย์น่าสนใจว่ะ ที่จริงมันเปลี่ยนวิธีมองไปหมด สิ่งที่ประวัติศาสตร์ศิลปะมันตั้งคำถามในทุกวันนี้น่ะมันไปมองในจุดที่เรามีคอมพิวเตอร์ มีไอโฟน มีเกม เราพยายามจะเข้าใจอยู่ว่าการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนวิธีคิดวิธีมองไปทางไหน มันเปลี่ยนเหมือนกับตอนนั้นมั้ย


รูป 11 The Arnolfini Portrait โดย ยาน ฟาน แอค (Jan Van Eyck) เขียนขึ้นในปี 1434


รูป 12 The Madonna of the Rabbit โดย ไททัน (Titan) เขียนขึ้นในปี 1525


รูป 13 The Harvesters โดย ปีเตอร์ บรูเกล (Pieter Brueghel) เขียนขึ้นในปี 1565


รูป 14 Die Landschaft mit den drei Bäumen หรือ The Three Trees โดย เรมแบรนท์ (Rembrandt) เขียนขึ้นในปี 1643

ยีน — เรื่องการขยายขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Arrival (2016)


เกี่ยวกับภาพจิตรกรรมในช่วงต้นของศิลปะตะวันตกยุคกลาง (Medieval art) และภาพทิวทัศน์


ภาพจิตรกรรมในช่วงต้นของศิลปะตะวันตกยุคกลาง แทบจะไม่ปรากฏความสนใจในภาพทิวทัศน์ โดยส่วนมากจะนำเสนอภาพรูปเคารพ นักบุญ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคริสตศาสนา ภาพวาดที่มีทิวทัศน์เป็นฉากหลังเริ่มได้รับความนิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15 และเริ่มปรากฏภาพทิวทัศน์โดดๆ โดยไม่มีผู้คนในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 15 


ดร ​—
ถ้าเป็นเรื่อง Arrival มันคือการศึกษาที่วางอยู่บนขอบเขตการรับรู้เวลาของมนุษย์ ที่เรารับรู้เรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต แบบที่เรารับรู้ เราอาจจะตั้งคำถามกับเรื่องการมีอยู่ (being) ของเวลา แต่สุดท้ายเราก็ยังวิเคราะห์ด้วยข้อจำกัดการรับรู้เวลาของเรา แต่ว่าถ้าเราต้องศึกษาวัฒนธรรมหรืออารยธรรมอย่างอื่น เช่นถ้าเราเจอ ET จริงๆ วิธีการศึกษามันจะเปลี่ยนไปยังไง แม้กระทั่งตอนที่นางเอกเรื่อง Arrival ที่ศึกษาเรื่องภาษา เราก็ยังติดบั๊กอยู่ว่าการรับรู้ภาษามันผูกพันกับเวลา การที่เราจะศึกษาคนอื่นจากมุมมองของเรามันต่างกัน อย่างเราเป็นนักโบราณคดี พอเราต้องศึกษาอดีต แต่ต้องไปศึกษาวัฒนธรรมอื่นที่ไม่มีอดีตน่ะ เพราะเส้นเวลาเขาแตกต่างจากเรา รูปแบบมันจะต้องเปลี่ยนไปยังไง


รูป 15 — ภาพจากภาพยนตร์ Arrival ปี 2016 ตัวละครหลัก ดร.หลุยส์ แบงค์ส พยายามที่จะบอกเอเลี่ยนที่มายังโลกว่าเผ่าพันธุ์ของเธอคือมนุษย์ โดยเขียนคำว่า HUMAN บนกระดานไวท์บอร์ด (ชมคลิป)


เติ้ล —
เรารู้ละ เพราะเซนเตอร์มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง ไม่ได้อยู่ที่นักโบราณคดี มันไปอยู่ที่สิ่งของ หรือคนหรืออะไรก็ตามที่เราหยิบขึ้นมาได้จาก ณ เวลานึงในประวัติศาสตร์ แล้วสิ่งที่มันเป็นสภาพแวดล้อมที่สังเกตุได้ (observable surrounding) ของสิ่งที่เราศึกษาอยู่นั้นคืออะไร และความเชื่อมโยงเป็นแค่จุดตัด แต่เราไม่สามารถเอามาวางเป็นเส้นตรงได้

ดรเล่าว่าปัจจุบันเราอยู่ในกระแสของการกระจายอำนาจทางโบราณคดี (decentralize) จากที่ผ่านมานักโบราณคดีมองว่าตัวเองเป็นผู้จัดการอดีต เป็นผู้จัดเรียงอดีต การจัดการอดีตของนักโบราณคดีมันมองจากมุมมองคนนอกเข้าไปหาอดีต เล่าในมุมมองคนนอก แล้วเราตั้งค่าให้มันเป็นความจริงแท้ ซึ่งมันย้อนแย้งกับกระแสการต่อต้านจักรวรรดินิยม (anticolonialism) ท้องถิ่นนิยม (localism) ในปัจจุบัน จึงต้องมีการตีความหน้าที่ของนักโบราณคดีกันใหม่ 

สำหรับดร โบราณคดีในปัจจุบันควรหลุดกรอบแนวคิดวิชาการแบบจักรวรรดินิยม แต่ควรเปิดพื้นที่ให้กับอัตวิสัย (subjective) หรือการตีความ  และการจัดการมรดกวัฒนธรรมโดยมุมมองของคนท้องถิ่นมากขึ้น นักโบราณคดีจะไม่ใช่นักสืบที่เข้าไปไขคดีแล้วบอกว่าอะไรคือคำตอบที่ถูกต้องอีกต่อไป แต่ควรเป็นผู้สนับสนุน ทั้งงานโบราณคดีวิชาการ หรืองานโบราณคดีจากท้องถิ่น ให้มีพื้นที่ในการนำเสนอความจริงเท่าเทียมกัน นักโบราณคดี จะเป็นผู้ที่ช่วยทำความเข้าใจโครงสร้างของเส้นเวลาประวัติศาสตร์ และปัจจัยที่ก่อให้เกิดการตีความหรือเส้นทางนั้นๆ การลดอีโก้และการปล่อยให้การตีความลื่นไหลอาจเป็นหนทางที่ทำให้นักโบราณคดีสามารถทำลายขีดจำกัดของการศึกษาอดีตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


รูป 16 — #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ เกิดขึ้นจากคนบนอินเตอร์เน็ตรวบรวมภาพของสัตว์หิมพานต์ที่มักใช้ประดับวัด ที่ปัจจุบันถูกลดทอนรูปทรงไปอย่างมากด้วยขาดช่างฝีมือ กลายเป็นกระแสที่คนหลายพื้นที่ช่วยกันรวบรวมภาพสัตว์หิมพานต์จากวัดท้องถิ่น นำไปสู่แฟนอาร์ต และผลิตภัณฑ์ต่างๆ นับว่าเป็นการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นอย่างหนึ่ง

เติ้ล — อันนี้มันก็เกิดขึ้นกับทุกศาสตร์ แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่สามารถพูดว่าเป็นผู้คุมความจริงได้

ยีน — เคยได้ยินคำว่า Object Oriented Ontology มั้ย มันเป็นปรัญชาที่เสนอวิธีอธิบายสิ่งอื่นๆ ผ่านมุมมองของสิ่งของ แทนที่จะผ่านสายตาของมนุษย์ เราคิดว่าแนวคิดในช่วงนี้วนเวียนอยู่กับการเอามนุษย์ออกไปจากศูนย์กลาง

แทน — ขอกลับมาเล่าถึง Ontological Turn มันเกิดมาจากความอิ่มตัวขององค์ความรู้ที่ถามถึงความจริงต่อสิ่งของผ่านมุมมองของมนุษย์ เป็นจุดเปลี่ยนของแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางการอธิบายสรรพสิ่ง ไปสู่การทิ้งให้สิ่งของนั้นมีความจริงของตัวเองมากที่สุด ยกตัวอย่างแลนด์สเคปใหญ่ๆ ก็คือ โซเมีย (Zomia) ที่ราบสูงที่พาดผ่านเนปาล พม่า ไทยตอนเหนือ จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม เขมร ซึ่งในยุคสงครามเย็น ถูกอธิบายไว้ด้วยวิธีมองของการเป็นประเทศอาณานิคม ที่ใช้เกณฑ์แบบตะวันตกเป็นตัวชี้วัด อย่างการเป็นพื้นที่ห่างไกล ป่าเถื่อน เอ็กซ์ซอติก ความไม่เข้าใจจากความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ ทำให้การอธิบายผ่านวัฒนธรรม ตำนาน อย่างเรื่องเสือสมิง ใช้เล่าถึงตัวมันเองได้ดีกว่า


รูป 17 — แผนที่แสดง South East Asian Massif (SEA Massif) ที่นำเสนอโดยนักมนุษยวิทยา ฌอง มิโช (Jean Michaud) ในปี 1997 เพื่อที่จะพูดถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง 300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งไม่ใช่การมองพื้นที่โดยรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไป พื้นที่ราบสูงที่ว่านี้พาดผ่านไปถึง 10 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ทางตอนใต้ของจีน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย บังกลาเทศฝั่งตะวันออก และที่ราบสูงในประเทศพม่า ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และไต้หวัน

แนวคิดของ SEA Massif นี้คาบเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่วิจัยที่เรียกว่าโซเมีย ของ ฟาน เชนเดล (VAN Schendal) ที่นำเสนอในปี 2002 และ เจมส์ ซี. สก๊อต (James C. Scott) ที่นำเสนอในปี 2009 โดยเจมส์ ซี. สก๊อต ได้เขียนหนังสือที่ชื่อ The Art of Not Being Gorverned ถึงรูปแบบสังคมของชาวเขาในพื้นที่โซเมีย ผู้ซึ่งอพยพขึ้นที่สูงมาจากพื้นที่ลุ่ม ว่าเป็นพื้นที่ที่ควรถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจแยกตัวจากรัฐ และผลักการกลืนกินของรัฐให้ออกจากตัว

แทนให้ความเห็นว่าคนเอเชียไม่ได้พยายามทำความเข้าใจทุกอย่างแบบเดียวกับคนตะวันตก เราละความไม่เข้าใจไว้และอยู่กับมันได้ สิ่งที่น่าจะอธิบายให้เห็นภาพที่สุดก็อาจจะเป็นการ์ตูนดิสนีย์กับการ์ตูนจิบลิ อย่างเรื่อง Frozen (2013) กับ Spirited Away (2001) จะเห็นว่าในเรื่อง Frozen จะมีสโนว์แมน มีม้า ที่ทำท่าทางเหมือนมนุษย์ มันเป็นวัฒนธรรมในการเล่าเรื่องแบบตะวันตก เทียบกับเจ้าชายมังกรใน Spirited Away ที่เป็นตัวละครที่คาดเดาไม่ได้เลย อารมณ์ความรู้สึกเหวี่ยงไปมา มีความเป็นเด็กผู้ชาย ฉุนเฉียวเหมือนผู้หญิงมีประจำเดือน หรืออย่างในเรื่อง Princess Mononoke (1997) ที่ตัวละครอย่างหมูป่า หรือเทพเจ้าป่านั้นมีการกระทำที่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ วัฒนธรรมการทำสื่อของญี่ปุ่นมันเข้าใจในความไม่เข้าใจนั้น


รูป 18 — โอลาฟ หนึ่งในตัวละครจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Frozen ปี 2013 เป็นมนุษย์หิมะที่แสดงทางทางเหมือนกับคน


รูป 19 — เทพมังกรจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Spirited Away ปี 2001 


รูป 20 — เทพเจ้าป่าที่มีหน้าตาเป็นสัตว์ผสมหลากหลายชนิด จากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Princess Mononoke ปี 1997

แทน — เราสนใจด้วยว่าในศตวรรษนี้ความไม่เข้าใจนั้นมันไม่ได้อยู่แค่ในป่าหรอก มันอยู่ในโลกดิจิตอลด้วย ผีมันอยู่ในไวไฟ ทำให้เรานึกถึงนิทรรศการ GHOST:2561


เกี่ยวกับ GHOST:2561


ในปี 2018 กรกฤต อรุณานนท์ชัย คิวเรทเทศกาลศิลปะการแสดง วิดีโอ และศิลปะจัดวาง ในชื่อว่า GHOST:2561 ที่มีการจัดแสดงในหลายพื้นที่ทางศิลปะในกรุงเทพฯ รวมไปถึงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ นิทรรศการมีแนวคิดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เราอาศัยอยู่ในตอนนี้ที่ขีดความสามารถของเทคโนโลยี และปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลในอินเทอร์เน็ต เข้ามาเปลี่ยนแปรให้ศักยภาพมุมมองการรับรู้ของมนุษย์ที่มีต่อส่ิงอื่นรอบตัวนั้นยืดขยายมากขึ้น จนทำให้มีชุดความจริงหลากหลายแบบถูกสร้างขึ้นมาและซ้อนทับกันอยู่

นิทรรศการมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อว่ามีวิญญาณในธรรมชาติและจักรวาล (animism) และการตีความคำว่าผีหรือ ghost ถึงมิติที่มองไม่เห็นที่รวมไปถึงมิติของเทคโนโลยีด้วย


รูป 21 — ภาพจากนิทรรศการ Emissary Sunsets the Self ปี 2018 โดย เอียน เฉิง ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ผลงานชิ้นนี้มีลักษณะของวิดีโอเกมที่เล่นเอง ศิลปินสร้างระบบนิเวศน์จำลองที่มีตัวละครต่างๆ ที่ถูกควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนอาศัยอยู่ ตัวละครเหล่านี้ใช้ชีวิตโดยโต้ตอบกันเอง และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานของ เอียน เฉิง ได้ใน Live Simulation)


แทน —
อยากถามความเห็นเรื่องสื่อทางวัฒนธรรมหน่อย เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (oral history) ตำนานเทพปกรณัม (mythology) นิทานพื้นบ้าน (folklore) ที่ออกมาเป็นการ์ตูนอย่างเซนต์เซย่า (Saint Seiya) หรือนิทานเมขลาล่อแก้ว มันทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์และอนาคตมากขึ้นหรือทำให้เราไขว้เขว


รูป 22 — ภาพจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง เซนต์เซย่า เริ่มจากเป็นหนังสือการ์ตูนที่แต่งโดย มาซามิ คุรุมาดะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่ม 5 คนที่เรียกว่า เซนต์ (saint) ต่อสู้โดยใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธเพื่อปกป้องคิโดะ ซาโอริ ผู้เป็นอวตารของเทพีอะธีนา และต่อสู้กับศัตรูแห่งความชั่วร้าย ในโลกร่วมสมัยที่มีบรรยากาศของเทพปกรณัมกรีก


รูป 23 — เมขลา หรือ มณีเมขลา เป็นตัวละครในนิทานพื้นบ้านของไทย เป็นเทพธิดาอารักทะเลผู้ถือดวงแก้ว ความงามของเมขลาทำให้รามสูรไล่จับ นางจึงล่อให้รามสูรขว้างขวานจนทำให้เกิดฟ้าร้อง อีกทั้งโยนแก้วล่อไปมาทำให้เกิดฟ้าแลบ เมขลาได้รับมอบหมายจากโลกบาดาลให้คอยช่วยเหลือผู้มีบุญที่ตกน้ำ โดยปรากฏตัวในชาดกเรื่อง พระมหาชนก ช่วยเหลือเจ้าชายมหาชนกจากเรืออัปปาง หรือในสมุทรโฆษคำฉันท์ ก็มีการกล่าวถึงเมขลาเข้าช่วยพระสมุทรโฆษที่ลอยคออยู่กลางทะเลเจ็ดวัน


เติ้ล —
ถ้าถามคนอย่างเรา เราก็ต้องตอบว่าทำให้เราเข้าใจมากขึ้น (หัวเราะ) แต่ถ้าคุณเป็นมาร์กซิส หรือเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) คุณอาจจะบอกว่ามันไม่จำเป็นก็ได้

ปั๊บ — เราว่ามันช่วยสร้างแรงผลักดันที่จะทำให้เกิดการสำรวจ แต่ไม่ได้ทำให้ความรู้จากการสำรวจนั้นไขว้เขว เพราะฝั่งนักสำรวจก็จะมีกระบวนทัศน์ที่เป็นวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่จะพยายามควบคุมปัจจัยในการหาความรู้ มีสิ่งที่เรียกว่าขอบเขตการวิจัย ซึ่งเป็นวิธีที่มีความเป็นกลางไม่มีเอนเอียง

ยีน — ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านหน้าต่วยตูนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่เขียนให้น่าตื่นเต้นแบบแฝงเรื่องลี้ลับที่อธิบายไม่ได้ สำหรับเราในตอนนั้นยังอยู่ในวัยที่ไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตในการหาข้อมูลขนาดนั้น มันก็ทำให้เราจำเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ ได้ในรูปแบบตำนานนะ มันอาจจะไม่ได้ทำให้เราไขว้เขว แต่ก็สงสัยว่าถ้าเทียบกับตอนนี้มันถือว่าเป็นเฟคนิวส์มั้ย


ดร — หน้าที่ของตำนานคือการสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ผมคิดว่าอย่างเรื่องเมขลาล่อแก้วคือการสร้างความเข้าใจของคนในยุคนั้นๆ เท่าที่ขอบเขตความเข้าใจเขาจะไปถึง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาตอบคำถามเรื่องปรากฏการณ์ฟ้าผ่าแล้ว แต่มันไม่ได้ทำให้ความจริงของคนในยุคนั้นมันเปลี่ยนไปนะ เพราะมันเป็นชุดความเข้าใจของคนในช่วงเวลานึงเท่านั้น แต่ถามว่ามันจะส่งผลต่อการสร้างมายาคติของเรามั้ย ผมคิดว่าอาจจะมีส่วนก็ได้ อย่างเช่นเรื่องภาพของจรวดที่ปรากฏในจารึกอาจจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดรูปทรงของการออกแบบจรวดในปัจจุบัน หรือในทางกลับกันเรื่องของยานอวกาศที่อ้างว่าถูกพบในภาพเขียนโบราณ ความจริงมันก็คือสิ่งที่คนปัจจุบันเอาไปโยงกันเองจากการเสพเรื่องแต่งในสื่อบันเทิง เราอาจจะเอาตัวจินตภาพที่เรามี ไปสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งของ หรือโยงเรื่องแต่งเข้ากับความจริง โดยทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว


ดรเล่าว่าเรื่องนี้ทำให้เขานึกถึงงานออกแบบ หรือภาพจากจินตนาการถึงอนาคต เช่นภาพคนขี่จักรยานไปอวกาศในยุคเรเนซองส์ ภาพวาดในราวปี 1900 ของฌอง-มาร์ค โคเตอ (Jean-Marc Côté) และศิลปินคนอื่นๆ ที่นำเสนอเป็นครั้งแรกในงาน World Expo ซึ่งเป็นงานที่นำเสนอนวัตกรรมหรือความเป็นไปได้เกี่ยวกับอนาคต ผลงานศิลปะในช่วงปี 1930 ที่มาจากนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ และการ์ตูนไซไฟ เขาคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ความจริงในปัจจุบันไขว้เขว แต่เป็นสิ่งที่อาจมีอิทธิพลต่อการออกแบบ และพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต


รูป 24 — ภาพวาดของฌอง-มาร์ค โคเตอ จินตนาการถึงปี 2000 จัดแสดงในงาน World Expo ที่ประเทศฝรั่งเศสช่วงปี 1900


รูป 25 — ภาพจากคอมมิคเรื่อง Buck Rogers ที่เขียนขึ้นในปี 1931 ภาพจินตนาการถึงยานอวกาศในอนาคต

เติ้ล — เหมือนภาพในภาพยนตร์เรื่อง A Trip to the Moon (1902) ที่การไปดวงจันทร์ของมนุษย์คือการเอาคนใส่เข้าไปในปืนใหญ่แล้วยิงขึ้นไปใช่มั้ย


รูป 26 — ภาพอันโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง A Trip to the Moon ปี 1902 โดย ฌอร์ฌ เมลิเยส์ (Georges Méliès) เป็นภาพยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ จากการบรรจุมนุษย์เข้าไปในแคปซูลแล้วยิงขึ้นไปด้วยปืนใหญ่ (ชมคลิป)

เติ้ลได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่องการไปดวงจันทร์ของมนุษย์จากการได้มีโอกาสทำนิทรรศการครบรอบ 50 ปีไปดวงจันทร์ โดยได้มีโอกาสอ่านงานเขียนงานแรกที่พูดเรื่องคนไปดวงจันทร์ ที่อยู่ในหนังสือ A True Story โดย ลูเซียน (Lucian of Samosata) จนถึงยุคที่ปรากฏภาพของคนไปดวงจันทร์จากภาพยนตร์ A Trip to the Moon


รูป 27 — ภาพจากหนังสือ A True Story หรือ Vera Historia เวอร์ชั่นภาษาดัชต์ที่ตีพิมพ์ในปี 1647 เป็นภาพสงครามระหว่างมนุษย์ดวงจันทร์ และมนุษย์ดวงอาทิตย์ บนสนามรบที่ทอด้วยใยจากแมงมุมยักษ์


รูป 28 — ภาพเด็กทารกเกิดจากน่องของมนุษย์ วาดขึ้นประกอบหนังสือ A True Story ในปี 1894 เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ โดย ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์ (Aubrey Beardsley) นักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษ แต่ไม่เคยถูกตีพิมพ์

แทน — เคยดูหนังเรื่อง Hugo (2011) ใช่ปะ เรื่อง A Trip to the Moon มันไปอยู่ในหนังเรื่อง Hugo ของมาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งเล่าถึงผู้กำกับหนัง ฌอร์ฌ เมลิเยส์ ที่ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเขาอยากให้มนุษย์มีความฝัน โดยเอาคาร์นิวัล ความบันเทิงต่างๆ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ตัวผู้กำกับคนนี้เลยเผาทุกอย่างที่เขาทำมาทิ้งไปหมด


รูป 29 — ภาพจากภาพยนตร์ Hugo ปี 2011 โดยมาร์ติน สกอร์เซซี จำลองฉากการถ่ายทำภาพยนตร์ของฌอร์ฌ เมลิเยส์ เรื่อง Le Voyage Dans La Lune ในปี 1902


รูป 30 — ภาพจากภาพยนตร์ Le Voyage Dans La Lune ปี 1902

ยีน — เราไม่ค่อยชอบจริตการทำหนังของมาร์ติน สกอร์เซซี (หัวเราะ) แต่อาจจะเพราะล่าสุดดู Gangs of New York (2002)

เติ้ลและปั๊บช่วยเสริมว่าความจริง NASA ตั้งชื่อโครงการเล่นกับตำนานและสัญญะเยอะมาก อย่างชื่อโครงการอะพอลโล ตั้งขึ้นเพราะเป็นเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ โดยมากภาพของอะพอลโลจะเป็นภาพนั่งราชรถข้ามดวงอาทิตย์ เปรียบได้กับความยิ่งใหญ่ของโครงการไปดวงจันทร์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ส่วนชื่อโครงการ Artemis ซึ่งเป็นโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 ถูกตั้งเพราะตามตำนานแล้วเป็นแฝดผู้หญิงของอะพอลโล อีกทั้งจะมีการส่งผู้หญิงไปดวงจันทร์เป็นครั้งแรกอีกด้วย

นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ของโครงการอะพอลโล ยังถูกออกแบบโดยแฝงสัญญะอยู่ตลอด เช่น อะพอลโล 11 เป็นภาพนกอินทรีย์คาบช่อมะกอก นกอินทรีย์เป็นสัญลักษณ์ของอเมริกา ส่วนมะกอกเป็นเครื่องรางให้การเดินทางไปดวงจันทร์นั้นราบรื่น หรือของ อะพอลโล 12 เป็นภาพเรือแล่นไปดวงจันทร์ เพราะนักบินอวกาศสามคนที่ร่วมโครงการเป็นทหารเรือทั้งหมด เรือยังเปรียบได้กับการไปถึงฝั่งของความเข้าใจใหม่ๆ ในอวกาศ โดยผิวของดวงจันทร์ในภาพเป็นส่วนที่ยานจะลงจอดซึ่งเรียกว่า The Ocean of Strom หรือทะเลแห่งพายุ การแล่นไปของเรือในภาพเปรียบกับกะลาสีผู้กล้าเดินทางฝ่าทะเลแห่งพายุ ส่วน อะพอลโล 13 ใช้ภาพราชรถของอะพอลโล เทพเจ้าแห่งแสงอาทิตย์ สื่อถึงการทำให้ความรู้ส่องสว่างสู่มวลมนุษยชาติ และมีคำภาษาละตินกำกับด้วยว่า Ex Luna, Scientia means หรือ From the Moon, Knowledge 

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งชื่อโครงการของ NASA ใน Origins of NASA Names)


รูป 31 — ตราสัญลักษณ์โครงการอะพอลโล 11
รูป 32 — ตราสัญลักษณ์โครงการอะพอลโล 12
รูป 33 — ตราสัญลักษณ์โครงการอะพอลโล 13

เติ้ล — NASA ถึงจะล้ำวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ โคตรเบียว


แทน —
อีกเรื่องที่อยากชวนคุย ตอนที่เราไปไต้หวันเราได้ไปพิพิธภัณฑ์ของบริษัทขุดฟอสซิลมา เพราะไต้หวันอยู่ในพื้นที่ของแผ่นเปลือกโลก เลยทำให้ช่องทางในการลงไปขุดเอาฟอสซิลเยอะมาก ซึ่งเราไปได้ฟันเม็กกาโลดอนอันใหญ่มาราคาแค่ 3,700 บาทเอง พอเข้าไปอ่านแถลงการณ์ของบริษัท เขาเขียนแบบโกรธมาก ถึงเรื่องการผูกขาดความร่ำรวยจากฟอสซิลพวกนี้โดยพวกพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งปริมาณของฟอสซิลที่เขาขุดได้มันมีมากพอที่จะสามารถแจกให้เด็กไปสร้างพิพิธภัณฑ์ของตัวเองได้เลยด้วยซ้ำ เขาเลยทำธุรกิจขายมันในราคาถูกให้ดู อยากรู้ว่าในฝั่งของอวกาศคิดยังไงกับการแจกจ่ายความเป็นไปได้ในการถือครองความเป็นเจ้าของความรู้ทางอวกาศต่างๆ


รูป 34-35 — หลักฐานการซื้อฟอสซิลฟันเม็กกาโลดอนจากบริษัท Shishang ของไต้หวัน และฟันเม็กกาโลดอน


เติ้ล —
เรื่อง Space Democratization เป็นเทรนด์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา เราเพิ่งบินไปประชุมเรื่องนี้ที่บอสตันมา ความจริงปีนี้ก็ต้องบินไปด้วยแต่ติดที่มีโควิดซะก่อน

ปั๊บ — ถ้าเป็นเมื่อห้าสิบหกสิบปีที่แล้ว ผู้เล่นหลักคือรัฐบาลอเมริกากับรัสเซีย แต่ตอนนี้มันมีทั้ง SpaceX, Sierra Nevada, Virgin Galactic และอื่นๆ เค้ามองว่าภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้น โลกเป็นทุนนิยมมากขึ้น อย่าง NASA ก็ไม่ได้เล่นบางอย่างเองแต่จ้างหรือซัพพอทบริษัทเอกชนให้ทำบางอย่าง เป็นเทรนด์ที่จะทำให้วงการมันพัฒนาไปไกลมากขึ้น ไวมากขึ้น ราคา ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ถูกลง


รูป 36 — ยานอวกาศโดย SpaceX


รูป 37 — ยานอวกาศโดย Virgin Galactic


ดร — น่าจะได้บทเรียนจากสมัย East India Company บริษัทล่าอาณานิคมโลกใหม่แล้วนะ

ปั๊บ — จริงๆ มันก็มีความลักลั่นอยู่เหมือนกัน เช่นในแอนตาร์กติกา ความจริงก็เป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ถูกวางให้เป็นพื้นที่วิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีหลายชาติที่เข้าไปปักธงไว้แล้วก็ปล่อยเบลอไว้อย่างนั้น

เติ้ล — ล่าสุดจีนก็มีไปปักธงบนดวงจันทร์ แสบมาก (หัวเราะ)


รูป 38 — ภาพที่เผยแพร่โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เป็นภาพธงชาติจีนบนพื้นผิวดวงจันทร์ ถ่ายโดยกล้องของยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ในเดือนธันวาคม 2020 ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่สามารถนำธงขึ้นไปปักบนดวงจันทร์ได้สำเร็จต่อจากสหรัฐอเมริกา

แทน — เราสนใจเรื่องมีเดียมาก และสนใจตั้งคำถามในเกมและการเอา 2D 3D ของในจอนอกจอมาอยู่รวมกัน แล้วถามหาลำดับชั้นของมัน เราเล่นเกมอย่าง Fortnite ที่สามารถซื้อของในเกมได้ แต่ถ้าตัวเซิฟเวอร์เกิดปิดขึ้นมา เราก็มีปัญหาเรื่องจะเอาของที่ซื้อไปอยู่ที่ไหนได้บ้าง เรามีความสงสัยในความเป็นเจ้าของเกม เกมเป็นของใคร อย่างบางเกมมันไม่มีเรื่องเล่าแล้วเช่น Minecraft เกิดขึ้นมาเป็นสิบปีแล้วไม่มีเนื้อเรื่องเลย แต่มันก็ปล่อยให้คนดูเล่นไปเรื่อยๆ เอง


รูป 39 — ภาพจากเกม Fortnite

 
รูป 40-41 — ภาพจากเกม Minecraft


นอกจากนี้แทนยังสงสัยเรื่องการหมุนเวียนทางการตลาดของโลก อย่างเทคโนโลยีกล้องจับการเคลื่อนไหวที่พัฒนาโดย Xbox ถูกเอาไปพัฒนาเป็นเครื่องจับผี (ghost detection)โดยกลุ่มชุมชนคนล่าผี แต่ถ้า Xbox ไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อ คนเหล่านั้นก็ไม่สามารถซื้อมันในราคาถูกได้อีกแล้ว คำถามคือการทำแบบนี้นับว่าเป็นการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยบริษัทที่ผลิต สร้างการผูกขาดเครื่องมือหรือไม่


รูป 42 — ภาพเด็กโบกมือกลับมาที่กล้องในมุมมืดที่ไม่น่าจะมีเด็กยืนอยู่ ที่ผู้ใช้งานกล้องจับการเคลื่อนไหวจาก Xbox


รูป 43 — กล้องจับการเคลื่อนไหวที่พัฒนาโดย Xbox เป็นที่นิยมในกลุ่มนักล่าผี ได้มีการนำอุปกรณ์นี้ไปพัฒนาต่อเป็นอุปกรณ์จับสัญญาณผี


ดร —
ความจริงงานพี่นอกจากจะพูดเรื่องการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) ในการเข้าถึงเกมแล้ว ยังมีเรื่องเสรีภาพในการตีความสัญญะ (semiotic democratisation) ด้วย  ซึ่งจะไปคาบเกี่ยวกับเรื่องเรดคอน (red con) เรื่องแฟนอน (fanon) แฟนฟิค (fan fiction) และแคนอน (canon)


แทน —
แต่เดี๋ยวปั๊บกับเติ้ลต้องไปแล้ว


ติดตามบทสนทนาตอนต่อไปได้ในวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2564 ในวันเปิดนิทรรศการ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS โดย นวิน หนูทอง (แทน) ในกิจกรรมที่ชื่อว่า คุยข้างหลุม They Dig into the Soil and Talk by the Hole เวลา 14:00-16:00 น. ที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่


เครดิตภาพ


ภาพปกจาก Metalight

รูป 1 — ภาพจาก Spaceth.co
รูป 2 — ภาพจาก JoDS
รูป 3 — ภาพจาก Research Gate
รูป 4 — ภาพจาก Sciencebuzz
รูป 5 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 6 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 7 — ภาพจาก Spaceth.co
รูป 8 — ภาพจาก Film on Paper
รูป 9 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 10 — ภาพจาก Youtube
รูป 11 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 12 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 13 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 14 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 15 — ภาพจาก NPR
รูป 16 — ภาพจาก MGR Online
รูป 17 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 18 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 19 — ภาพจาก Giphy
รูป 20 — ภาพจาก Doraemon.asia
รูป 21 — ภาพจาก Bangkok CityCity Gallery
รูป 22 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 23 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 24 — ภาพจาก Washington Post
รูป 25 — ภาพจาก Artcontrarian
รูป 26 — ภาพจาก Film School Rejects
รูป 27 — ภาพจาก Public Domain Review
รูป 28 — ภาพจาก Public Domain Review
รูป 29 — ภาพจาก Film-grab
รูป 30 — ภาพจาก Lune Station
รูป 31 — ภาพจาก NASA
รูป 32 — ภาพจาก NASA
รูป 33 — ภาพจาก NASA
รูป 34 — ภาพจาก นวิน หนูทอง
รูป 35 — ภาพจาก นวิน หนูทอง
รูป 36 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 37 — ภาพจาก Wikipedia
รูป 38 — ภาพจาก BBC
รูป 39 — ภาพจาก Epic Games
รูป 40 — ภาพจาก Game Banana
รูป 41 — ภาพจาก Metalight
รูป 42 — ภาพจาก ABC
รูป 43 — ภาพจาก IGN

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 06 — HOW TO NOT FORGET: IN COMMEMORATION OF THINGS PAST


Paphop Kerdsup (Graf) — Prima, can you briefly introduce yourself and talk a little bit about how you get yourself into the topic about monuments? How have your works been involved in these struggles?


Prima Jalichandra-Sakuntabhai (Prima) — My name is Prima. I’m a Thai artist based in LA. I think the question about monuments came up a lot in my work because I was looking at architecture as a vehicle for ideology: how space materializes the dominant ideology and how it exerts itself on the body. I guess it came to me because I grew up in Europe, surrounded by these commemorative monuments and the culture around it. So I’m interrogating monuments in Western culture, to begin with. But progressively as I developed my work, particularly in performance, I started to become interested in monuments that we infer meaning into and not necessarily the ones that are supported by the state. So, for instance, I do a lot of navigating myself through the city of LA, all the while thinking of different layers of histories — whether they are translated to murals that people have left here or even structures of freeways, especially the destruction of the freeways that a lot of people are talking about right now as being monuments to racial segregation. Through that research, it connected with my attempt to connect with Thai history. Therefore, I was drawn to the history of the 1973 (October 14, 1973) Uprising and how only a few physical remnants of this occurrence have left in Thailand.

Pic. 1 — 1973, a performance by Prima observing Thai political history of the student revolt in 1973.


ปภพ เกิดทรัพย์ (กราฟ) — พรีมา คุณช่วยแนะนำตัวเองสั้นๆ และพูดให้เราฟังได้มั้ยว่าคุณมาสนใจในหัวข้อเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ และได้เข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นที่ยุ่งยากนี้ได้ยังไง?


พรีมา ชาลีจันทร์ ศกุนตาภัย (พรีมา) — เราชื่อพรีมา เป็นศิลปินไทยที่ตอนนี้อาศัยอยู่ที่แอลเอ เราคิดว่าคำถามเกี่ยวกับเรื่องอนุสาวรีย์เกิดขึ้นในงานของเราอยู่บ่อยๆ เพราะเราสนใจสถาปัตยกรรมในฐานะเป็นสิ่งขับเคลื่อนอุดมการณ์ สนใจว่าพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม ช่วยทำให้อุดมการณ์ปรากฏรูปร่างชัดเจนได้ยังไง  และพื้นที่นั้นส่งอิทธิพลต่อร่างกายยังไง เราเดาว่ามันเกิดจากการที่เราโตที่ยุโรป รายล้อมไปด้วยอนุสาวรีย์ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับมัน เราเลยมีคำถามมากมายต่ออนุสาวรีย์ในวัฒนธรรมตะวันตก แต่พอเราได้ต่อยอดการทำงานของตัวเองมาในสายการแสดง เราถึงเริ่มที่จะสนใจในอนุสาวรีย์ที่ถูกอนุมานความหมายลงไป ซึ่งก็ไม่ใช่แค่อนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างโดยรัฐเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เราพาตัวเองท่องไปในเมืองแอลเอ พร้อมๆ กับคิดถึงแง่มุมอันหลากหลายของประวัติศาสตร์ ไม่ว่ามันจะถูกแปลงเป็นภาพวาดฝาผนังบนกำแพง (mural) ที่ถูกทิ้งไว้โดยประชาชน หรือแม้กระทั่งเรื่องที่คนพูดถึงกันอยู่ตอนนี้อย่างการทำลายโครงสร้างทางด่วน ในฐานะที่เป็นอนุสาวรีย์ของการแบ่งแยกเชื้อชาติ จากการลงไปศึกษาเรื่องเหล่านี้ มันเชื่อมความพยายามของเราเข้ากับประวัติศาสตร์ไทย มันดึงเราเข้าไปสู่ประวัติศาสตร์การจลาจลในปี 2516 (เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516) และร่องรอยทางกายภาพที่หลงเหลือเพียงน้อยนิดจากเหตุการณ์นั้นถูกทิ้งไว้ยังไงในประเทศไทย


รูป 1 — 1973, การแสดงโดยพรีมา สำรวจประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรื่องการต่อสู้ของนักศึกษาในปี 2516 (14 ตุลา)


Graf — Now, I guess a lot of people (outside the art world) may have recognized you from your recent book จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง: ศิลปะและศิลปินแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 9 (Chuap Chan Chaem Fa Napha Phong: Art and Artists in the Reign of King Rama IXpublished by Fa Diew Kan (Same Sky Books) earlier this year which is now one of its best-selling titles. But, many may not know exactly what your PhD dissertation, titled Revolution versus Counter-Revolution: the People’s Party and the Royalist(s) in Visual Dialogue, is all about. So, perhaps can you start from that, Thanavi? And what is your interest and practice at the moment?


Thanavi Chotpradit (Thanavi) —
My name is Thanavi Chotpradit. I’m a lecturer of art history, specializing in modern and contemporary art in Thailand with a specific interest in politics and memory studies. I’m also a member of an editorial collective of a peer-reviewed journal Southeast of Now: Contemporary and Modern Art in Asia. My interest in monuments and the business of remembering and forgetting began with my PhD thesis in 2011. I studied the monuments and memorials built by the People’s Party and how it plays within the ideological battle between royalism and constitutionalism, which is now understood as democracy. My PhD thesis covers the period from 1932 to 1947 and 2010 when the Red Shirts held many of their political activities at the monuments built by the People’s Party. 

I also look into contemporary artworks from Thai artists who have been doing what in relation to politics. I think in the current political situation, it is interesting to observe how the practices around monuments and memory include the history of people from different periods, not limited to the People’s Party: Why do people revive them, in what form, and how they appear in the protests? It’s not being revived just to know what happened in the past, they also have something to do with the current political conflict. For example, the People’s Party became something like a forefather for Thai democracy, that’s why the Red Shirts and also people in the current protest always refer to them. Constructions like buildings, monuments, memorials, and works of art from that period are revitalized within the protest. 

There is also an emergence of monument online archives that came from people who use their phones to take pictures of the monuments, such as a record of the demolition of the Constitution Defense Monument that was distributed on the internet. So, it’s not easy to make people forget anymore. It’s not like in the past that you might burn down the books, close the libraries, tear down the monuments, and people would forget within five years or ten years. You don’t need to work at the National Archive to create an archive. You can do it on your own, in any forms of reproduction. Whether something that already disappeared like the original People’s Party Plaque, or something that still exists like the Democracy Monument; they have become cookies, pancakes, or keychains. You still need the actual authentic monuments, but there are some other things that can function in making people not to forget. As a Thai citizen, this is not a nice time but an interesting period for me.


Pic. 2 — Constitution Defense Monument was erected in 1936 to commemorate the newly established constitutional democracy after Prince Boworadet’s failed revolt. It was placed in Bang Khen District’s Lak Si Circle and later removed on 2016. In 2018, the monument was removed without notice or explanation by persons unknown


Pic. 3 — In 1936, four-and-a-half years later from the revolution in Thailand, one of the leaders of that uprising and the first post-revolution prime minister Phraya Phahol held a small ceremony, embedding the People’s Party plaque into The Grounds of the Dusit Palace where he had first announced the end of the absolute monarchy. The inscription on it read: “Here on 24 June 1932 at dawn, the People’s Party proclaimed a constitution for the country’s advancement.” 


Pic. 4 — In 2017, the plaque was removed by persons unknown and replaced with the new plaque with an inscription: “May the country of Siam prosper forever. To love and respect the Buddhist trinity, one’s own state, one’s own family, and to have a heart faithful to your monarch, will bring prosperity to the country.”


Pic. 5 — 2020 People’s Party Plaque is a new plaque to commemorate the 1932 revolution, made by the pro-democracy protesters. It was installed in the morning of September 20 on the Sanam Luang field during a protest. Part of the inscription on the plaque read: “At the dawn of Sep 20, 2020 here is where the people proclaim that this country belongs to the people,” This 2020 People’s Party Plaque was removed on September 21.


Pic. 6 — Pancake by Tokyo Hot, made into an image of 2020 People’s Party Plaque.


กราฟ — ตอนนี้เราคาดว่ามีหลายคน (นอกวงการศิลปะ) อาจจะจำคุณได้จากหนังสือของคุณที่เพิ่งออกมาไม่นานนี้ จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง: ศิลปะและศิลปินแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในเล่มที่ขายดีที่สุดของสำนักพิมพ์แล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วปริญญานิพนธ์ของคุณที่ชื่อว่า Revolution versus Counter-Revolution: the People’s Party and the Royalist(s) in Visual Dialogue นั้นเกี่ยวกับอะไร บางทีคุณอาจจะเริ่มเล่าจากตรงนี้มั้ย ธนาวิ? ความสนใจของคุณและสิ่งที่คุณกำลังศึกษาอยู่ในตอนนี้คืออะไร?


ธนาวิ โชติประดิษฐ (ธนาวิ) —
เราชื่อธนาวิ โชติประดิษฐ เป็นอาจารย์อยู่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของศิลปะสมัยใหม่ และร่วมสมัยในประเทศไทย แต่ก็สนใจเป็นพิเศษในเรื่องของการเมืองและการศึกษาเรื่องความทรงจำ เรายังเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการของวารสารวิชาการที่ชื่อ Southeast of Now: Contemporary and Modern Art in Asia ด้วย ความสนใจในเรื่องอนุสาวรีย์ เรื่องของการจดจำและการลืม เริ่มต้นตอนที่เราทำปริญญานิพนธ์ในปี 2554 เราศึกษาอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานที่สร้างโดยคณะราษฎร และวิธีที่มันถูกใช้ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยม และฝ่ายรัฐธรรมนูญนิยม หรือประชาธิปไตย อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ช่วงเวลาที่เราศึกษาเริ่มตั้งแต่ปี 2475 ถึงปี 2490 รวมถึงปี 2553 เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงได้ใช้อนุสาวรีย์ที่สร้างโดยคณะราษฎรในการจัดกิจกรรมทางการเมือง

เรายังศึกษางานศิลปะร่วมสมัยโดยศิลปินไทย ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง เราคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่า ปฏิบัติการที่รายรอบอนุสาวรีย์และความทรงจำ ได้นับรวมเอาประวัติศาสตร์ของผู้คนจากหลายยุคสมัย โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่คณะราษฎรไว้ยังไง ทำไมผู้คนจึงรื้อฟื้นสิ่งเหล่านี้ รื้อฟื้นในรูปแบบไหนบ้าง การรื้อฟื้นนี้ปรากฏตัวออกมายังไงในการชุมนุม? มันไม่ใช่แค่การรื้อฟื้นเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต แต่มันเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันด้วย ยกตัวอย่างเช่น คณะราษฎรที่ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของประชาธิปไตยไทยนั้นถูกอ้างถึงในชุมนุมการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มอื่นๆ อยู่เสมอ สิ่งก่อสร้างอย่างอาคาร อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน และงานศิลปะในยุคนั้น ได้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง

ยังมีเรื่องของการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ที่ถูกจัดเก็บไว้บนโลกออนไลน์ ที่เกิดจากใครก็ตามที่ใช้มือถือถ่ายภาพอนุสาวรีย์ต่างๆ ไว้ อย่างบันทึกวิดีโอภาพการรื้อทำลายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ถูกแพร่กระจายไปบนอินเทอร์เน็ต มันไม่ง่ายอีกต่อไปที่จะทำให้ผู้คนลืมอะไรง่ายๆ ไม่เหมือนกับในอดีตที่คุณอาจจะเผาหนังสือ ปิดห้องสมุด หรือทำลายอนุสาวรีย์ แล้วผู้คนจะลืมมันภายในห้าปีหรือสิบปี คุณไม่ต้องทำงานที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อที่จะเก็บบันทึก คุณสามารถทำได้ด้วยตัวคุณเอง ในรูปแบบของการผลิตซ้ำแบบไหนก็ได้ ทำกับสิ่งที่หายไปแล้วก็ได้ อย่างหมุดคณะราษฎรของจริง หรือสิ่งที่ยังคงอยู่อย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พวกมันกลายเป็นคุกกี้ แพนเค้ก พวงกุญแจ คุณอาจจะยังต้องการอนุสาวรีย์อันจริง แต่มันก็มีสิ่งอื่นที่สามารถทำหน้าที่ในการทำให้ผู้คนไม่ลืมได้เหมือนกัน ในฐานะที่เป็นประชากรไทย มันอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักในตอนนี้ แต่สำหรับเราก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ


รูป 2 — 
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2479 โดยรัฐบาลคณะราษฎร เพื่อรำลึกถึงการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างคณะเจ้ากับคณะราษฎร อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน  ต่อมาได้มีเคลื่อนย้ายตำแหน่งในปี 2559 และถูกรื้อถอนโดยบุคคลนิรนาม โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่มีการอธิบายในปี 2561


รูป 3 — ในปี 2479 สี่ปีครึ่งหลังจากที่มีการปฏิวัติในประเทศไทย หนึ่งในผู้นำกลุ่มปฏิวัติ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้จัดพิธีกรรมเล็กๆ ในการปักหมุดคณะราษฎรลงที่พื้นของลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ซึ่งเป็นจุดแรกที่เขาได้ประกาศยุติระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บนหมุดมีการจารึกไว้ว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” 

 
รูป 4 — ในปี 2560 หมุดคณะราษฎรได้ถูกเปลี่ยนโดยบุคคลนิรนามพร้อมกับคำจารึกใหม่บนหมุด “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”


รูป 5 — หมุดคณะราษฎร 2563 เป็นหมุดใหม่โดยกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย จัดทำขึ้นเพื่อระลึกถึงการปฏิวัติ 2475 หมุดนี้ถูกติดตั้งที่สนามหลวงในวันที่ 20 กันยายน ระหว่างที่มีการประท้วง คำจารึกบางส่วนบนหมุด: “20 กันยายน 2563 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร…” หมุดคณะราษฎรนี้ได้ถูกรื้อถอนออกไปในวันที่ 21 กันยายน


รูป 6 — แพนเค้กจากร้านโตเกียวฮอท ทำเป็นรูปหมุดคณะราษฎร 2563


Graf — Since the word that has brought us together in this conversation is ‘monument’, I would like to begin with this simple question: What is a monument? And from your perspective, to what extent can we call something a monument? Does its physicality matter or that’s equally fine for it being transformed into digital data or, to cite Hito Steyerl’s term, ‘a poor image?


Prima — I really like the point you brought up, Thanavi, about how in the absence of authentic monuments, its memory of potency may be actually multiplied by digital reproductions and transformations of the object. My loose definition of monument these days is more a device that helps memory. Throughout history, a certain type of collective memory is tied to nationalism. It is used to promote the value of the state and whatever the state wants people to feel connected to. The word state is also kind of a loose term that is not tied to a specific place or culture. To the more specific case of whether it is necessary that monuments are material anymore, I guess that has been mostly how I relate to monuments in Thailand. A lot of the People’s Party monuments and architectures have already been demolished. So, I feel like the process of learning has been through looking for traces of things that no longer exist. I am starting to wonder if it’s specific to the history of Thailand because the politics have been so repressed, especially concerning the People’s Party legacy throughout the physical landscape of Thailand itself. And then on top of that, since I’m a person who relies heavily on these digital images and reproductions, I do think that it is exciting that they have become a vehicle for these memories because we might be able to infer that they would never really die.


Pic. 7 — Screenshot from Chloropsis Aurifrons Pridii, a lecture performance by Prima.


กราฟ — เนื่องจากคำที่พาเรามาพูดคุยกันในวันนี้คือคำว่า ‘อนุสาวรีย์’ เราอยากที่จะเริ่มด้วยคำถามง่ายๆ ว่าอนุสาวรีย์คืออะไร? ขอบเขตของการเรียกบางสิ่งว่าเป็นอนุสาวรีย์คืออะไรในมุมมองของพวกคุณ? ความเป็นกายภาพนั้นจำเป็นมั้ย หรือก็เป็นไปได้พอๆ กันที่มันจะถูกแปลงไปอยู่ในรูปแบบของข้อมูลดิจิทัล หรือในรูปแบบของ ภาพกาก’ (a poor image) อย่างที่ฮิโตะ ชไตเยิร์ล นิยามไว้?


พรีมา — เราชอบประเด็นที่ธนาวิยกมาพูด เกี่ยวกับว่า การหายไปของอนุสาวรีย์ของจริง และการหายไปของความทรงจำของอำนาจนั้น แท้จริงแล้วเพิ่มเป็นทวีคูณด้วยการผลิตซ้ำแบบดิจิทัล และการเปลี่ยนรูปแบบของสิ่งๆ นั้น นิยามแบบหลวมๆ ที่เรามีต่ออนุสาวรีย์ทุกวันนี้ คือเรามองมันเป็นเครื่องมือช่วยจำ ตลอดเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ การสร้างความทรงจำร่วมประเภทนึงถูกยึดโยงอยู่กับลัทธิชาตินิยม มันถูกใช้ในการส่งเสริมคุณค่าของรัฐ และส่งเสริมอะไรก็ตามที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมโยงถึง คำว่ารัฐในที่นี้คือนิยามแบบหลวมๆ ที่มันไม่ได้ยึดโยงอยู่กับสถานที่หรือวัฒนธรรมใดเป็นพิเศษ ในกรณีที่พิเศษกว่านั้นว่าจำเป็นมั้ยที่อนุสาวรีย์ยังคงต้องมีกายภาพ เราคิดว่านี่คือสิ่งที่เรารู้สึกกับอนุสาวรีย์ในประเทศไทยเป็นส่วนมาก อนุสาวรีย์และสถาปัตยกรรมหลายแห่งของคณะราษฎรถูกทำลายไปแล้ว ดังนั้นเรารู้สึกว่ากระบวนการเรียนรู้กลับเกิดขึ้นผ่านการดูร่องรอยที่ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เราเริ่มสงสัยว่ามันเป็นเฉพาะกับประวัติศาสตร์ไทยรึเปล่า เพราะการเมืองมันค่อนข้างถูกควบคุม โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตำนานของคณะราษฎร อย่างภูมิทัศน์ทางกายภาพในประเทศไทยเอง ยิ่งไปกว่านั้น เราเองก็เป็นคนนึงที่อ้างอิงภาพดิจิทัลและการผลิตซ้ำหนักมาก เราคิดว่ามันน่าตื่นเต้นที่มันกลายเป็นตัวขับเคลื่อนความทรงจำเหล่านี้ เพราะเราอาจจะสามารถอนุมานได้ว่าคณะราษฎรไม่มีวันตาย


รูป 7 — สกรีนชอตจากงานวิดีโอ Chloropsis Aurifrons Pridii งานแสดงบรรยายโดยพรีมา


Graf — What about you?


Thanavi —
I think we can start with the broader terms like ‘memory’ and ‘commemoration’. Monument is one of the memory devices. It’s a construction built to commemorate something, some incidents, some people, or something that is important, or something that the nation thinks it is important for anyone to know, to remember, to hand on to other generations. The conventional way of making a monument is to build something very visible, a landmark of a city, or a spot where something happened and you want to mark the place that things happen there. Therefore, the monument is one of the many ways that makes people remember something. 

Other than monuments, there’s also a memorial. We might not talk about the People’s Party Plaque as a monument because it’s flat on the ground, not so visible, but it’s an object that commemorates something. You can build a hospital and dedicate it to a person, whatever she/he did in the past, and use the name of that person as the name of the hospital, or you put the bench in the park with the name of someone that you dedicate it to. These objects basically function as a commemorative device of the society but there are other things too. History for example, textbooks also make people not to forget something. I think for monuments, it’s very visible and materialistic, but for now, the definition of monument expands into something that is probably quite intangible. 

I also have another work that has to do with memory. It’s my research that I work with Kornkrit Jianpinidnan that was published into a photobook titled Prism of Photography: Dispersion of Knowledge and Memories of the 6th October Massacre. It’s about the memory of the 6th October Massacre, which happened in the seventies. There is a small monument of the 6th October Massacre at Thammasat University. You have to go there to see it. But in other forms, something else other than monuments, you probably don’t have to travel to the place to know about the story. To me, a monument is still important and relevant but it’s not the only way to remember.


Pic. 8 — Prism of Photography: Dispersion of Knowledge and Memories of the 6th October Massacre by Kornkrit and Thanavi.


Pic. 9 — A monument of the 6th October Massacre at Thammasat University.


กราฟ —
แล้วสำหรับคุณล่ะ?


ธนาวิ —
คิดว่าเราสามารถเริ่มจากนิยามกว้างๆ อย่างคำว่า ‘ความทรงจำ’ และ ‘การรำลึก’ อนุสาวรีย์เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยจำ โครงสร้างของมันถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงบางสิ่ง เหตุการณ์บางอย่าง คนบางคน อะไรที่มีความสำคัญ หรืออะไรที่ชาติคิดว่าสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องเรียนรู้ จดจำ ส่งต่อสู่รุ่นต่อไป วิธีการโดยดั้งเดิมในการสร้างอนุสาวรีย์คือการสร้างอะไรที่เห็นเด่นชัด เป็นจุดสังเกตของเมือง หรืออยู่ในจุดที่มีอะไรเคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นอนุสาวรีย์คือหนึ่งในหนทางที่จะทำให้ผู้คนจดจำอะไรบางอย่าง

นอกเหนือจากอนุสาวรีย์แล้ว ก็ยังมีอนุสรณ์สถาน เราอาจพูดไม่ได้ว่าหมุดคณะราษฎร เป็นอนุสาวรีย์เพราะมันแบนราบอยู่กับพื้น ไม่ได้เห็นเด่นชัด แต่มันก็เป็นสิ่งของที่เอาไว้รำลึกถึงบางอย่าง คุณสามารถสร้างโรงพยาบาล อุทิศมันให้กับคนผู้ซึ่งทำประโยชน์อะไรก็ตามในอดีต และใช้ชื่อของคนคนนั้นเป็นชื่อของโรงพยาบาล หรือคุณแค่เอาม้านั่งที่มีชื่อของคนที่คุณอุทิศให้ ไปตั้งในสวนสาธารณะ วัตถุเหล่านี้ โดยพื้นฐานแล้วทำงานเป็นเครื่องมือในการรำลึกถึงของสังคม แต่ก็มีสิ่งอื่นๆ ด้วย อย่างประวัติศาสตร์เป็นต้น ตำรา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนไม่ลืมบางอย่าง เราคิดว่าสำหรับอนุสาวรีย์โดยแท้จริง แล้วมันต้องเห็นเด่นชัด และเป็นรูปเป็นร่าง แต่ในตอนนี้ความหมายของมันได้ถูกขยายออก ไปสู่อะไรบางอย่างที่ดูค่อนข้างจะจับต้องไม่ได้

มีอีกงานนึงที่เราทำเกี่ยวกับเรื่องความทรงจำ มันเป็นงานวิจัยที่เราทำงานร่วมกับ กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ที่ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นโฟโต้บุ๊คในชื่อ ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา เกี่ยวกับความทรงจำของการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลา ที่เกิดขึ้นในช่วงยุคเจ็ดศูนย์ มันมีอนุสาวรีย์เล็กๆ ของเหตุการณ์ 6 ตุลานี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณต้องเดินทางไปดูเพื่อที่จะเห็นมัน แต่ในอีกรูปแบบนึง บางสิ่งที่ไม่ใช่อนุสาวรีย์ คุณอาจจะไม่ต้องเดินทางไป ณ สถานที่นั้นเพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องของมัน สำหรับเรา อนุสาวรีย์ยังคงสำคัญและมีความเกี่ยวข้อง แต่มันก็ไม่ใช่หนทางเดียวในการที่จะจำ


รูป 8 — ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา โดย กรกฤช และ ธนาวิ


รูป 9 — 
ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 รำลึกการสังหารหมู่ 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


Graf — At present, we’ve seen an immense proliferation of political memes. Take the second People’s Party Plaque installed on the ground of Sanam Laung on September 20th as an example. It was there for only one day and was removed. And right now it becomes a file for image reproduction, a 3D printing or a LINE sticker. What do you think about this idea of how the internet came into being another powerful, yet very creative and contemporary, platform for demonstration as well as commemoration in this 21st century?


Thanavi — I think it’s very fun. I have been waiting everyday for what’s going on, what comes next, what’s new on the internet today. I think maybe we can use the term ‘commemoration’ to cover everything, all these political memes that are actually on and off, or it’s online and it’s on site. There is a connection between online and offline and the amount of two practices are very high. I also see it as a resistance to the state because they have the power to demolish or to remove the monument as they have been doing for so many years now. Like in the case of the disappeared People’s Party Plaque from the The Grounds of the Dusit Palace that some people have questioned who would be responsible for it. At the same time, some people have tried to make a reproduction or a meme of those disappeared commemorated objects to make people still know about them, or even know more about them. Some people may have never heard about the People’s Party Plaque until it was removed from its place. I think it’s a good thing and it’s the way that ordinary people could resist the state’s attempt to remove these commemorative objects. It’s fun and can be very creative. It is serious but can be fun. Humor is a very important element in the protests. You have to make it fun and satirical, and this could be one of the ways to make it go viral. Mocking the monument for some people is still unacceptable, but some people start to make it speakable. That’s a good sign.


กราฟ — ณ ตอนนี้ เราเห็นการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางของมีมการเมือง อย่างเรื่องของหมุดคณะราษฎรอันที่สอง ที่ล่าสุดถูกติดตั้งบนพื้นที่ของสนามหลวงเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ถูกติดอยู่ได้เพียงแค่วันเดียวก่อนที่จะถูกรื้อถอน และตอนนี้มันได้กลายเป็นไฟล์ภาพเพื่อการผลิตซ้ำ เป็นภาพพิมพ์สามมิติ เป็นไลน์สติ๊กเกอร์ คุณมีความเห็นยังไงกับเรื่องนี้ที่ว่า อินเทอร์เน็ต ได้กลายเป็นอีกพลังที่ทั้งสร้างสรรค์ ร่วมสมัย เป็นพื้นที่ของการแสดงออก และสร้างความทรงจำในศตวรรษที่ 21 นี้?


ธนาวิ — เราคิดว่ามันสนุกมาก รอดูทุกวันว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จะมีอะไรเป็นสิ่งต่อไป อะไรที่เป็นเรื่องใหม่บนอินเทอร์เน็ตตอนนี้ เราคิดว่าบางทีเราสามารถที่จะใช้คำว่า ‘การรำลึก’ เพื่อที่จะครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งมีมการเมืองที่เกิดขึ้นและดับไป หรือการที่มันอยู่บนโลกออนไลน์ และในพื้นที่จริง มันมีความสัมพันธ์ระหว่างโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์อยู่ และจำนวนของวิธีการทั้งสองต่างก็สูงมาก เรามองว่ามันเป็นการต่อต้านรัฐในอีกแง่นึงด้วย เพราะว่ารัฐมีอำนาจในการทำลายหรือเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์อย่างที่เราเห็นกันมาอยู่ตลอดหลายปี อย่างในกรณีของการหายไปของหมุดคณะราษฎรจากลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) ที่หลายคนสงสัยว่าใครจะต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันคนบางกลุ่มก็พยายามที่จะสร้างการผลิตซ้ำ หรือสร้างมีม ให้กับวัตถุเพื่อการรำลึกที่สูญหาย เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับมัน หรือรู้มากขึ้นเกี่ยวกับมัน บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องหมุดคณะราษฎรมาก่อน จนกระทั่งมันหายไปจากที่ที่ควรอยู่ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องดี และเป็นวิธีที่คนทั่วไปสามารถต่อต้านความพยายามของรัฐในการถอดถอนวัตถุเพื่อการรำลึก มันทั้งสนุกและสร้างสรรค์ มีความจริงจังแต่ก็สนุก อารมณ์ขันเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดในการประท้วง คุณต้องทำให้มันสนุกและเสียดสี และมันอาจจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว การล้อเลียนอนุสาวรีย์สำหรับบางคนแล้วก็ยังเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ แต่บางคนก็เริ่มที่จะทำให้มันแตะต้องได้แล้ว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี


Graf — What do you think about this phenomenon, Prima? Any similar situations that are happening at the moment in the States that you would like to share?


Prima — The United States isn’t’ that creative about how to save their monuments compared to people in Thailand. We are in the reverse process of taking down monuments that are related to the history of racism and white supremacy that are present in a lot of places. In LA for instance, in front of the Union Station which is the main train station, there was a statue of Junípero Serra who was the Spanish missionary basically in charge of converting the indegenous people in the area. So, there was an indegenous ceremony that happened around it and ended with the people bringing down the monument with ropes. It reminds me a lot of the early footage of the moment after the fall of the Berlin Wall when people brought down the statues of Lenin and Stalin around Russia. But, going back to the monument being saved by the internet, it makes me think of the idea of living memory and I feel the traditional sense of monuments has been so guarded by the state and removed from the people. Most of the time I feel like monuments are treated that way: they are on pedestals, they are much higher than people. You are not allowed to touch them or climb on them. Only at times of protest do people gravitate to and bring those symbols down to a more profane space and I think that the proliferation of memes seem to be invigorating those monuments with new meaning and connecting the past with the present. So that there’s no longer a difference between the two.


Pic. 10 — The statue of Junípero Serra at the Serra Father Park, Union Station, LA, CA, before being demolished. He was a Roman Catholic Spanish priest and friar of the Franciscan Order. Serra’s reputation and missionary work during the Spanish occupation have been condemned by critics, who point to mandatory conversions to Catholicism, followed by abuse of the Native American converts.


Pic. 11 — The fallen Christopher Columbus statue outside the Minnesota State Capitol after a group led by American Indian Movement members tore it down in St. Paul, Minnesota, on June 10, 2020. (See Toppling Monument, a Visual History.)


กราฟ — แล้วคุณคิดยังไงกับปรากฏการณ์นี้พรีมา? มีเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กันนี้ที่กำลังเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ที่คุณอยากจะเล่าให้ฟังมั้ย?


พรีมา — รัฐที่นี่ไม่ได้มีวิธีที่สร้างสรรค์เท่าไหร่ในความพยายามที่จะรักษาอนุสาวรีย์เอาไว้ เมื่อเทียบกับฝั่งประชาชนที่ไทย ที่สหรัฐ เราอยู่ในกระบวนการที่กลับกันในการรื้อทำลายอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของการเหยียดเชื้อชาติ และความสูงส่งของคนขาว ที่ปรากฏอยู่ในหลากหลายพื้นที่ อย่างในแอลเอ ที่หน้าสถานีรถไฟหลักของเมืองที่ชื่อ Union Station นั้นมีรูปปั้นของจูนิเปอร์โร เซอร์รา นักสอนศาสนาชาวสเปน ที่ได้รับมอบหมายในการทำให้ชนพื้นเมือง  (indegenous) ในพื้นที่เปลี่ยนศาสนา มันเลยมีพิธีกรรมของชนพื้นเมืองเกิดขึ้นในบริเวณนั้น ที่สุดท้ายลงเอยด้วยการดึงเอารูปอนุสาวรีย์นั้นลงมาด้วยเชือก มันทำให้เรานึกถึงภาพฟุตเทจในยุคแรกๆ ของผู้คนที่ดึงเอารูปปั้นของ เลนิน กับ สตาลิน ลง ในช่วงหลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน กลับมาที่เรื่องที่อนุสาวรีย์ถูกรักษาไว้โดยอินเทอร์เน็ต มันทำให้เรานึกถึงแนวคิดเรื่องความทรงจำที่มีชีวิต และเรารู้สึกว่าความเข้าใจดั้งเดิมของอนุสาวรีย์ถูกพิทักษ์ไว้โดยรัฐและถูกทำให้ออกห่างจากประชาชน โดยส่วนใหญ่แล้ว เรารู้สึกว่าอนุสาวรีย์จะถูกจัดการไว้แบบที่ให้อยู่บนทางเท้า และสูงส่งกว่าประชาชน คุณไม่มีสิทธิที่จะเอื้อมไปแตะมันหรือปีนมัน มีเพียงตอนประท้วงเท่านั้นที่ผู้คนได้ถ่วงมันและดึงสัญลักษณ์เหล่านั้นสู่พื้นที่ที่ถูกลดทอนความศักดิ์สิทธ์ิ เราคิดว่าการแพร่กระจายของมีมดูเหมือนจะช่วยเสริมกำลังใหักับอนุสาวรีย์ด้วยความหมายใหม่ๆ และเชื่อมเอาอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกัน มันเลยไม่มีความแตกต่างระหว่างสองสิ่ง (อนุสาวรีย์ในโลกจริง และอนุสาวรีย์ในโลกอินเทอร์เน็ต) อีกต่อไป


รูป 10 — รูปปั้นของจูนิเปอร์โร เซอร์รา ที่สวน Serra Father Park บริเวณ Union Station ในแอลเอ แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะถูกรื้อทำลาย เขาเป็นนักบวชชาวสเปนนิกายโรมันคาธอลิกและเป็นนักบวชของคณะฟรานซิสกัน ชื่อเสียงของเซอร์รา และงานเผยแพร่ศาสนาของเขาในยุคการล่าอาณานิคมของสเปน ถูกประณามโดยนักวิจารณ์ ว่าการบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเป็นคาธอลิก เป็นการล่วงละเมิดกับชาวพื้นเมืองของอเมริกา


รูป 11 — รูปปั้นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ล้มลงที่ด้านนอกอาคารหอประชุมนิติบัญญัติมลรัฐมินนิโซตา หลังจากถูกกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่นำโดยชาวอเมริกันอินเดียนทำลายลง ที่รัฐเซนต์พอล มินนิโซตา ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 (ชม Toppling Monument, a Visual History)



Thanavi —
I want to add something. I think the situation in Thailand is opposite to the rest of the world. Here, it’s the state that tries to tear the monuments down but people want to protect them. Anywhere else, it is the people who ask for the demolition of the statues, whether because the person was racist, he had too many slaves in his house, or he was a representation of the former dictator ideology. The force from the people that wanted to remove was high. Here in Thailand, the state thinks the symbols of non-royalism democracy should be removed because the current government is pro-royalist. People here have tried to protect the symbols of non-royalism democracy because it is an ideology that they want to protect and continue. 

One more thing is about how people treat the monument as sacred. I think you don’t have to worship the monument or the person who became the monument or the statue. For example Aum Neko, a student activist who is now living in exile in France. She climbed up the statue of Pridi Banomyong, one of the leading members of the People’s Party, located at Thammasat University. It was a very controversial action. The question is can we respect people and at the same time, not worship them like god? For now, the reproduction of monuments and memorials in a funny way on the internet is a kind of similar action to me.


Pic. 12 — Pridi Banomyong Memorial Hall at Thammasat University.


BL — I agree. To worship someone like god forbids us to criticize which indirectly repress our opinion thoroughly.


ธนาวิ —
เราอยากจะเสริมอะไรบางอย่าง เราคิดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้มันตรงกันข้ามกับที่อื่นๆ ในโลก สำหรับที่นี่เป็นรัฐเองที่พยายามจะเอาอนุสาวรีย์ลง แต่ประชาชนอยากจะเก็บรักษามันไว้ ในที่อื่นๆ ประชาชนคือคนที่เรียกร้องให้เกิดการทำลายรูปปั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะเป็นรูปปั้นของคนที่เหยียดเชื้อชาติ มีทาสบริวารมากมายในบ้าน หรือเป็นตัวแทนของอุดมการณ์แบบเผด็จการ แรงขับเคลื่อนจากประชาชนที่ต้องการให้มีการย้ายอนุสาวรีย์นี้มีสูงมาก ในประเทศไทยรัฐคิดว่าสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่กษัตริย์นิยมควรถูกกำจัด เพราะรัฐบาลปัจจุบันเป็นพวกกษัตริย์นิยม ผู้คนได้พยายามที่จะปกป้องสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่กษัตริย์นิยม เพราะมันเป็นอุดมการณ์ที่พวกเขาต้องการปกป้องรักษาและอยากให้มันดำเนินต่อไป

อีกอย่างที่อยากจะเสริมเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้คนเคารพบูชาอนุสาวรีย์ เราคิดว่าคุณไม่ต้องบูชาอนุสาวรีย์หรือบุคคลที่กลายเป็นอนุสาวรีย์หรือรูปปั้น ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของอั้ม เนโกะ นักศึกษานักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ตอนนี้ลี้ภัยอยู่ประเทศฝรั่งเศส เธอปีนขึ้นไปบนรูปปั้นของปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำกลุ่มคณะราษฎร ที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันเป็นการกระทำที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คำถามคือพวกเราสามารถที่จะเคารพคนคนนึงไปพร้อมๆ กับที่ไม่ต้องบูชาเขาเหมือนเป็นพระเจ้าได้มั้ย? ในตอนนี้การผลิตซ้ำ ล้อเลียนอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานบนอินเทอร์เน็ต ก็เป็นการกระทำที่คล้ายๆ กันกับกรณีของอั้ม เนโกะ


รูป 12 — ห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


BL — เราเห็นด้วย การบูชาใครก็ตามเป็นพระเจ้าไม่เปิดโอกาสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่กดทับความคิดเห็นของเราโดยอ้อมมาตลอด


Graf — I think the situation in Thailand is weird. I mean, it really shows that the state doesn’t grant us the right to do such a thing and that’s absurd. Talking about worship, do you think this act of worshiping the statue or monument is something commonly found in culture of the eastern world or Thailand specifically? Do people in the States have to pay respect to some monuments?


Prima —
I think it’s definitely only worshipped by the people in power or the people who can find direct use of these monuments for their ideology or derive their ideology from this lineage. I think even more than in Thailand, there’s a bigger cult of worshiping monuments here because history is so scarce in the US. People are grappling for a history to claim, especially the white nationalists because they don’t really have anything to claim. This land is not theirs. They still cannot come to an understanding of that. I think it’s interesting that in the US context there is veneration for that the early foundation of the Republic and the monuments also appear as something very classical, as in representational and belonging to the same canon of European statues of men on horses but there’s also a lot of banalization of memorials.

To bring back to my interest in freeways, I recently realized that sections of freeways in LA and assuming in most US cities, are made into memorials dedicated to different people but most of them are highway officers or LAPD (LA Police Department) police chiefs. I feel like they were telling of who gets privileged in these spaces and obviously it’s seldom people with minoritarian identities. As early as the 1920s, in LA freeway projects have been used as physical barriers to segregate Black and immigrant communities from white communities. If you look at the map of LA, you would see clusters of freeways crossing the poorest neighborhoods, like the Route 110 through South Central, which is majoritarily Black; or the East LA Interstate Interchange cutting up Hispanic neighborhoods of Boyle Heights and East LA. There are no freeways crossing Beverly Hills and Santa Monica. Aside from being physical blockades, freeways bring more pollution to the air quality of these neighborhoods and are sources of noise pollution as well. Since their inception, freeways have been constructed in the interest of those in power against the dispossessed.


Pic. 13 — The East Los Angeles Interchange complex in Boyle Heights, east of Downtown Los Angeles, California, is the busiest freeway interchange in the world.


กราฟ — เราคิดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยมันแปลก เราหมายถึงว่ามันแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่อนุญาตให้เรามีสิทธิในการทำอะไรเลย ซึ่งมันประหลาด พูดถึงเรื่องของการสักการะบูชา คุณคิดว่าการบูชารูปปั้นหรืออนุสาวรีย์โดยทั่วไปแล้วพบได้ในวัฒนธรรมของฝั่งตะวันออก หรือประเทศไทยโดยเฉพาะรึเปล่า? ผู้คนในสหรัฐต้องให้ความเคารพกับอนุสาวรีย์บางแห่งมั้ย?


พรีมา —
เราคิดว่ามันถูกบูชาโดยคนที่มีอำนาจ หรือไม่ก็คนที่สามารถใช้งานมันได้โดยตรงจากอนุสาวรีย์เพื่อส่งเสริมอุดมการณ์ของพวกเขา หรือเพื่อที่จะรับเอาอุดมการณ์จากเชื้อสายนั้น เราคิดว่าที่นี่มันมีวัฒนธรรมในการบูชาอนุสาวรีย์ที่ใหญ่กว่าที่ไทยด้วยซ้ำ นั่นเพราะอเมริกาค่อนข้างขาดแคลนประวัติศาสตร์ แล้วผู้คนต้องการต่อสู้เพื่อที่จะได้มาซึ่งประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพวกกลุ่มชาตินิยมคนขาว เพราะพวกเขาแทบจะไม่มีอะไรในกรรมสิทธิ์ พวกเขายังไม่เข้าใจว่าผืนแผ่นดินนี้มันไม่ได้เป็นของพวกเขา เราคิดว่ามันน่าสนใจในบริบทของสหรัฐอเมริกา ว่ามันมีการเคารพในสิ่งนั้นในช่วงต้นของการก่อตั้งสาธารณรัฐ อนุสาวรีย์ปรากฏขึ้นแบบคลาสสิก ราวกับเป็นภาพแเทน และเป็นของที่มีข้อบัญญัติแบบเดียวกันกับรูปปั้นในยุโรปที่เป็นผู้ชายขี่ม้า แต่ก็ยังมีอนุสรณ์สถานแบบดาษดื่นอีกมากมายด้วยเช่นกัน 

ขอกลับมาที่ความสนใจของเราต่อเรื่องทางด่วน เราเพิ่งเรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ว่า แต่ละช่วงของทางด่วนในแอลเอและคาดว่าในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ถูกทำให้เป็นอนุสาวรีย์ โดยตั้งชื่ออุทิศให้กับพนักงานทางด่วน หรือไม่ก็หัวหน้าสำนักงานตำรวจแอลเอ (LAPD) เรารู้สึกว่าพวกเขากำลังบอกว่าใครที่ได้สิทธิพิเศษจากพื้นที่ตรงนี้ และชัดเจนว่าชนกลุ่มน้อยแทบจะไม่ได้ประโยชน์เลย ในช่วงต้นทศวรรษปี 1920 โปรเจกต์ทางด่วนของแอลเอนี้ถูกใช้เป็นสิ่งกีดขวางทางกายภาพเพื่อแยกชุมชนผิวสีกับชุมชนของคนกลุ่มน้อย ออกจากชุมชนคนขาว ถ้าคุณมองไปที่แผนที่ของแอลเอ จะเห็นหมู่มวลของทางด่วนตัดผ่านกลุ่มชาวบ้านที่จนที่สุด อย่างเส้นทางด่วน 110 ผ่านลงมาที่ภาคกลางตอนใต้ ที่ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี หรืออย่าง จุดตัดที่ซับซ้อนตรงทางด่วนทางตะวันออกของแอลเอ (East LA Interstate Interchange) ที่ตัดผ่านกลุ่มชาวฮิสแปนิกของบอยล์ ไฮส์ท และแอลเอตะวันออก แต่กลับไม่มีทางด่วนข้ามผ่านเบเวอร์ลี ฮิลส์ และ ซานตา โมนิก้า นอกจากที่จะเป็นที่กั้นทางกายภาพแล้ว ทางด่วนยังนำมาซึ่งมลพิษที่ส่งผลต่อคุณภาพของอากาศของชุมชนเหล่านี้ และยังเป็นแหล่งสร้างมลภาวะทางเสียง ตั้งแต่เริ่มต้น ทางด่วนถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของคนที่กุมอำนาจไว้เหนือคนที่ถูกลิดรอนสิทธิ


รูป 13 — East Los Angeles Interchange ในบอยล์ ไฮส์ท ทางตะวันออกของใจกลางแอลเอ แคลิฟอเนียร์ เป็นจุดตัดทางด่วนที่วุ่นวายที่สุดในโลก


Graf — Some say that the way monuments and memorials work very well with one’s’ emotion or psyche is because they engage with people through space—public space so to speak; we are perceiving their meanings while having an experience with the space. But, what if that space does not exist physically anymore since those commemorative objects are being removed from the sites, can we still relate ourselves to their meanings? I’m quite curious because now we’ve seen a lot of historical information being digitized and kept online in places such as the Internet Archive or Monoskop. And thanks to the advent of VR and AR technology, now we can even experience something immersively in the virtual space. Does this emerging Metaverse help people recall or understand more widely what the recorded history is?


Thanavi — I think they are equally important. I mean, an actual space is still relevant. That’s why they protested at Sanam Luang, not anywhere else. Why do people always go to the Democracy Monument when they want to protest? The attempts of the state that tries everything to prevent us to go there, whether by using the Covid-19 restrictions, the Section 116 or Section 112 (lèse majesté) of the Criminal Code, or the Computer Crime Act, have proved that the actual space is still really relevant, although a virtual is also important, especially in this restricted situation. It’s on and off.


กราฟ — หลายคนก็บอกว่าการที่อนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานทำงานได้ดีกับอารมณ์ความรู้สึก หรือจิตใจของคนคนนึงได้ เป็นเพราะมันทำงานกับผู้คนผ่านพื้นที่ ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ เราได้รับรู้ความหมายไปพร้อมๆ กับมีประสบการณ์ต่อพื้นที่ แต่ถ้าพื้นที่นั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในพื้นที่จริงอีกต่อไป เนื่องจากวัตถุเพื่อการรำลึกนั้นถูกเอาออกไปจากพื้นที่ เราจะยังสามารถเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับความหมายนั้นได้มั้ย? เราค่อนข้างสงสัยเพราะว่าเราเห็นว่าข้อมูลทางประวัติศาตร์จำนวนมากถูกทำให้เป็นดิจิทัลและเก็บรักษาไว้ออนไลน์ อย่าง Internet Archive หรือ Monoskop และต้องขอบคุณการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี VR และ AR ตอนนี้เราสามารถที่จะมีประสบการณ์กับอะไรบางอย่างอย่างลึกซึ้งได้ในพื้นที่เสมือน การเกิดขึ้นของพหุภพ(metaverse)นี้ช่วยให้ผู้คนได้เรียกคืน หรือเข้าใจสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ได้อย่างกว้างขวางขึ้นมั้ย?


ธนาวิ — เราคิดว่ามันสำคัญเท่าๆ กัน เราหมายถึงพื้นที่จริงก็ยังคงจำเป็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงประท้วงกันที่สนามหลวง ไม่ใช่ที่อื่น ทำไมผู้คนถึงได้ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่เรื่อยๆ เมื่อพวกเขาต้องการประท้วง? ความพยายามของรัฐที่จะกีดกันพวกเราให้ไปที่นั่น ไม่ว่าจะโดยใช้ระเบียบบังคับของสถานการณ์โควิด-19 ประมวญกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพื้นที่จริงยังคงมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าโลกเสมือนก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่จำกัดมากๆ มันเกิดขึ้นควบคู่กันไป


BL — In the case of Black Lives Matter in the US, I see what happened on the street spreading equally to what happened online. I feel that what happened in the actual space is really powerful, I mean in terms of space disruption and a form of action, whether the taking down of the monuments, painting on the street and so on. In Thailand, I think the important tool of the protest is the internet, probably because it’s led by a younger generation whose social media is their natural weapon. In the US, I’m interested in how the protesters interrupt the public space and how it impacts in terms of scale.


Pic. 14 — Black Lives Matter Mural in San Francisco.


Prima — I think there is definitely something so strong about occupying physical space. And visually seeing bodies come together and taking over a space that otherwise has been presented as something that doesn’t belong to them. Or a space where you are not supposed to be. The painting of Black Lives Matter on the streets mainly happened in Washington, D.C. and in New York. I think in LA the action remained more like mass gathering. What I really enjoy learning through these marches is that different organizations have their own trajectory that they draw across the city to commemorate the fatals shot by the police. For instance, one was going through South Central which is predominantly a Black neighborhood. We walked through the main street and encountered a corner store. The leader of the march told us that the sixteen-year-old son of the store owners had been shot to death by the police. And after that we walked to the office of the mayor where speeches started to happen. I think there is something deeply physical about navigating these spaces and asking for collective memory that maybe aren’t really accessible through general mass information sources. It’s also asking people to be responsible and convey the memory of these places onward. The thing that they do a lot during these protests is asking the protestors to “Say Their Name”—that is an act of saying the names of the victims who passed away. And I think that as a commemorative practice is something very basic but also powerful in invoking the identity or personhood of the people who passed away and also recognizing their lives.


BL — อย่างเรื่องของ Black Lives Matter ในอเมริกา เราเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นบนท้องถนนลุกลามพอๆ กับที่มันเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เรารู้สึกว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่จริงมันยิ่งใหญ่มาก หมายถึงในแง่ของการเข้าไปสร้างความวุ่นวายกับพื้นที่ และรูปแบบของการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการดึงเอาอนุสาวรีย์ลง การทาสีเป็นคำว่า Black Lives Matter บนพื้นถนน และอื่นๆ สำหรับที่ประเทศไทย เราคิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญของการประท้วง อาจเป็นเพราะเป็นการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งมีโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธโดยธรรมชาติ สำหรับในสหรัฐอเมริกา เราสนใจในการที่ผู้ชุมนุมบุกรุกพื้นที่สาธารณะ และการที่มันสร้างแรงสั่นสะเทือนในแง่ของสเกลด้วย


รูป 14 — ภาพวาดเป็นคำว่า Black Lives Matter บนพื้นถนนในซานฟรานซิสโก


พรีมา — เราคิดว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างแข็งแรงในการเข้าไปยึดครองพื้นที่จริง การได้เห็นร่างกายของคนมารวมกัน และยึดครองพื้นที่ที่ถูกมองว่าไม่ได้เป็นของพวกเขา หรือพื้นที่ที่พวกคุณไม่ควรจะเข้าไป ภาพวาด Black Lives Matter นั้นเกิดขึ้นบนถนน หลักๆ เลยคือที่วอชิงตัน, ดี. ซี. และนิวยอร์ก เราคิดว่าในแอลเอ การแสดงออกจะอยู่ในรูปแบบการรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ เรารู้สึกสนุกมากกับการเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านการร่วมเดินขบวนที่จัดขึ้นโดยหลากหลายองค์กรที่มีวิถีของตัวเองในการที่จะรำลึกถึงการยิงประชาชนจนถึงแก่ชีวิตโดยตำรวจ ยกตัวอย่างเช่น มีงานนึงที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ที่ซึ่งชุมชนคนผิวสีอาศัยอยู่เป็นหลัก พวกเราเดินผ่านไปยังถนนเส้นหลักและได้พบกับร้านค้าตรงหัวมุม ที่ผู้นำขบวนบอกกับพวกเราว่าเจ้าของร้านร้านนี้เป็นพ่อแม่ของเด็กชายอายุสิบหกปีที่ถูกยิงเสียชีวิตโดยตำรวจ หลังจากนั้นพวกเราเดินทางไปที่สำนักงานของนายกเทศมนตรีเพื่อเริ่มกล่าวสุนทรพจน์ เราคิดว่ามันมีอะไรที่ลึกซึ้งทางกายภาพในการที่เราเดินสำรวจพื้นที่เหล่านี้ และการเรียกร้องให้เกิดความทรงจำร่วม ถึงเหตุการณ์ที่ไม่อาจเข้าถึงได้จากแหล่งข้อมูลทั่วไป มันยังช่วยให้เกิดการเรียกร้องให้ผู้คนมีความรับผิดชอบและนำพาความทรงจำเหล่านี้ไปข้างหน้าด้วยกัน สิ่งที่พวกเขาทำอยู่บ่อยๆ ระหว่างการประท้วงเหล่านี้ที่เรียกว่าการ ‘Say Their Name’ เป็นการแสดงออกโดยกล่าวชื่อของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อที่เสียชีวิตไปแล้ว เราคิดว่าสิ่งนี้ก็คือการรำลึกรูปแบบนึงที่เรียบง่ายมากแต่ก็ทรงพลัง ในการเรียกร้องให้ตระหนักถึงอัตลักษณ์ หรือความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่เสียชีวิตไปแล้ว และในการรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา


Graf — I just joined the online premiere of Manuel Correa’s Four Hundred Unquiet Graves on October, 1st which is a part of Monument, a collaboration between e-flux Architecture and Het Nieuwe Instituut. The film follows a group of bereaved relatives in the quest to exhume their loved ones—the Republicans—who were murdered from being against the 1936’s coup d’état in Spain and Francisco Franco’s fascist government that came into power afterwards. There is this one scene at the beginning in which a representative of AFFNA36 (the Association of Firing Squad Victims Families of Navarre) announced the Declaration of Reparation and Personal Recognition at Parlamento de Navarra. The declaration itself is really interesting, and the act of paying tribute to people who were massacred from the state agency is also a great move. Do you think it is possible for this thing to really happen here in Thailand?


Pic. 15 — El Valle de los Caídos is located sixty kilometers outside of Madrid. The complex was commissioned by Francisco Franco’s fascist government to commemorate the twentieth anniversary of his victory over democracy. It is potentially the largest mass grave in the world, containing 33,800 bodies from 491 graves from all over the Spanish geography. Buried together with the dead fighters of Franco’s army, there are an unknown number of victims of enforced disappearance.


Thanavi —
It has not happened yet, that’s why people still commemorate the 6th October Massacre. But it’s the right thing to do. The important step to move forward is you have to admit that you did something wrong to some people. In Thailand, the higher status you are, the more impunity you have. That’s why people are still asking for someone to take responsibility for the 6th October Massacre, to the crackdown on the Red Shirts in 2010. 

The 99 Dead performance from the protest last time (September 19, 2020) is very interesting. Using theater is another form of commemoration. It was very touching for me to see one of the volunteer performers, Phayao Akhad, who is the mother of Kamonked Akhad, the nurse who was shot to death in Wat Pathumwanaram, performed with other people. She was wearing a nurse blouse that her daughter had worn that day, and the red thing on that blouse was the real blood. She was different from other performers who wore the white t-shirts, which red powder contained in the bags on the ground would stain as blood when they perform falling. There is this one person with the real blood among others and that was really powerful. I watched the actual performance and also watched the clip. The most touching moment for me is, at one point, when they announced the names of the victims by numbers, and this ‘number 84, Miss Kamonked Akhad’, her mother who was performing her took the bag of the red powder, threw it on her forehead and failed because her daughter was actually shot into the head. How could you do that? It was very cruel and beautiful at the same time. It was painful but she did it. And the impact is nothing can be compared. That is commemoration and that is how art can contribute something. 

What I see in the current protest is the making connection to the past. Not just the People’s Party anymore. People also referred to the Red Shirts, Jit Bhumisak, Tiang Sirikhanth, those in exile in Laos, Uncle Nuamthong, and all others. Remembering those who passed away and those who are still alive but wounded have created a bond between people of different generations, different interests, different social classes. They are referred to as those who have fought before us. But what actually binds them together is a political ideology, that is democracy, that they all demand for.


Pic. 16 — 99 Dead performance poster.


กราฟ — เราเพิ่งได้เข้าร่วมชมรอบปฐมทัศน์ออนไลน์ของภาพยนตร์เรื่อง Four Hundred Unquiet Graves ของ มานูแอล คอร์เรีย ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โปรแกรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Monument ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง e-flux Architecture และ Het Nieuwe Instituut  ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตามกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตในการเรียกคืนเอาบุคคลอันเป็นที่รักกลับคืนมา ซึ่งก็คือกลุ่มรีพับลิกัน ที่ถูกฆาตกรรมจากการต่อต้านการรัฐประหารที่สเปนในปี 2479 และต่อต้าน ฟรานซิสโก ฟรังโก รัฐบาลฟาสซิสต์ที่ขึ้นมามีอำนาจต่อจากนั้น มีตอนนึงในช่วงเริ่มของภาพยนตร์ที่ตัวแทนของ AFFNA36 (สมาคมกลุ่มครอบครัวหน่วยยิงที่ได้รับผลกระทบในเมื่องนาบาร์รา) ประกาศแถลงการณ์การเยียวยา และการรำลึกถึงแต่ละบุคคล ที่อาคารรัฐสภาเมืองนาบาร์รา (Parlamento de Navarra) คำประกาศนั้นน่าสนใจมาก และท่าทีของผู้คนในการประกอบพิธีสรรเสริญผู้คนที่ถูกสังหารหมู่โดยองค์กรภาครัฐเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้มั้ย?


รูป 15 — เอล วาลเล เดอ โลส ไชโดส ตั้งอยู่ห่างออกไปจากเมืองแมดริดหกสิบกิโลเมตร อนุสรณ์ถูกจัดสร้างโดยรัฐบาลฟาสซิสต์ ของ ฟรานซิสโก ฟรังโก เพื่อรำลึกถึงชัยชนะเหนือประชาธิปไตยได้ครบวาระ 20 ปี มีความเป็นไปได้ว่าที่นี่เป็นสุสานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ฝังร่างกว่า 33.800 ชีวิต จากกว่า 491 หลุมที่มาจากทั่วสเปน ฝังร่วมกันระหว่างกองกำลังของฟรังโกกับเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหาย


ธนาวิ —
มันแค่ยังไม่เกิดขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ทำไมผู้คนยังคงรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลา แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำ ก้าวสำคัญในการเดินหน้าต่อไปคือการยอมรับว่าคุณได้ทำบางสิ่งที่ผิดพลาดต่อคนบางกลุ่ม ในประเทศไทย ยิ่งคุณมีสถานะสูงมากเท่าไหร่ คุณก็สามารถหลบเลี่ยงความผิดได้มากเท่านั้น นั่นคือสาเหตุว่าทำไมผู้คนยังคงถามหาความรับผิดชอบจากสังหารหมู่จากเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมไปถึงการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553

การแสดงที่ชื่อ 99 Dead ในการประท้วงครั้งก่อนนั้นน่าสนใจมาก การใช้ละครเวทีเป็นรูปแบบนึงของการรำลึก มันทำให้เรารู้สึกประทับใจมากที่ได้เห็นว่าหนึ่งในนักแสดงอาสานั้นคือ พะเยาว์ อัคฮาด ผู้เป็นแม่ของ กมนเกด อัคฮาด นางพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม ได้มาแสดงร่วมกับคนอื่นๆ เธอสวมชุดนางพยาบาลที่ลูกสาวของเธอสวมใส่ในวันนั้น สีแดงที่ติดอยู่ที่เสื้อนั้นก็เป็นเลือดจริงๆ เธอแตกต่างจากนักแสดงคนอื่นๆ ที่สวมเสื้อยืดสีขาว ที่เมื่อพวกเขาแสดงว่าล้มลง ถุงที่ใส่ผงสีแดงที่พื้นจะแตกกระจายเหมือนกับเลือด การที่มีนักแสดงเพียงคนเดียวที่มีเลือดจริงอยู่ท่ามกลางคนอื่นๆ มันทรงพลังมาก เราได้ดูการแสดงจริงๆ และมาดูย้อนหลังอีกครั้งผ่านคลิปวิดีโอ ช่วงเวลาที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับเรา เป็นจุดที่เมื่อมีการประกาศชื่อของเหยื่อไปตามลำดับ จนมาถึง ‘เบอร์ 84 นางสาวกมนเกด อัคฮาด’ แม่ของเธอที่แสดงเป็นตัวเธอก็ได้หยิบถุงที่มีผงสีแดงโยนเข้าใส่หน้าผากของเธอเองและล้มลง เพราะลูกสาวของเธอถูกยิงเข้าที่ศีรษะ เธอทำอย่างนั้นได้ยังไง? มันทั้งโหดร้ายและสวยงามในเวลาเดียวกัน มันน่าเจ็บปวดแต่เธอก็ทำมัน มันมีพลังแบบที่ไม่มีอะไรจะเทียบได้ นั่นคือการรำลึก และคือวิธีที่ศิลปะจะสามารถเข้าร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เราเห็นจากการประท้วงในปัจจุบันนี้คือการสร้างความเชื่อมโยงกับอดีต ไม่ใช่เพียงแค่กับกลุ่มคณะราษฎรเท่านั้น ผู้คนยังกล่าวถึงกลุ่มคนเสื้อแดง จิตร ภูมิศักดิ์ เตียง ศิริขันธ์ กลุ่มคนที่ลี้ภัยไปที่ลาว ลุงนวมทอง และคนอื่นๆ การจดจำคนที่จากไปแล้ว และคนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่บอบช้ำ ได้สร้างสายสัมพันธ์ของผู้คนต่างรุ่น ต่างความสนใจ ต่างสถานะทางสังคม พวกเขาจะถูกรำลึกถึงในฐานะคนที่ต่อสู่เพื่อเรา แต่สายสัมพันธ์ที่แท้จริงที่เชื่อมคนไว้ด้วยกันนั้นคืออุดมการณ์ทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตยคือสิ่งที่ทุกคนเรียกร้อง


Pic. 16 — โปสเตอร์การแสดง 99 Dead


Graf — I have a discussion with the younger generation born after the 2000s when I joined this Internet Universality Beyond Words workshop organized by UNESCO Bangkok two years ago, and there was one argument from them that I found triggered. They said they didn’t know a lot of information as well as history because they couldn’t find it online, and if something didn’t exist in the digital world, they somehow didn’t know its existence in the physical world as well. The data is there all the time, recorded on the internet, but they just didn’t know where or how to access those memories. The point I would like to discuss here is that now the wind has changed direction and it’s very exciting. Digital and media literacy has allowed them to find the stories and truths even more. I think this is one of the key factors that really draws people together to come out and talk about what was happening in the past at this time. And I want to add that a revival of Midnight University, a Thai virtual university for free public education which was shut down after the 2006’s coup d’état, during this period of time is very significant. To me, the Midnight University is both a monument of public intellectualism and a site of commemoration of its lost co-founder and rector, Associate Professor Somkiat Tangnamo.


BL — Talking about Midnight University makes me think of geocities.com, the early hosting website that is currently closed but still archiving the registered information. What appears on the current homepage is ‘A living memorial on early Web culture and an effort to maintain an amazingly extensive collection of information’.


กราฟ —
ตอนคุยกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2543 ในเวิร์กชอป Internet Universality Beyond Words ที่จัดขึ้นโดย UNESCO ที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีก่อน มันมีข้อถกเถียงอยู่อันนึงจากพวกเขาที่เรารู้สึกถูกกระตุ้นให้ตระหนัก เขาบอกว่ามีข้อมูลและประวัติศาสตร์อีกจำนวนมากที่พวกเขายังไม่รู้เพราะว่าไม่สามารถค้นหาทางออนไลน์ได้ และถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มีอยู่ในโลกดิจิทัล บางครั้งพวกเขาก็ไม่รู้ถึงการมีอยู่ของมันในโลกความเป็นจริงเช่นกัน ข้อมูลมันอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา ถูกบันทึกไว้บนอินเทอร์เน็ต แต่พวกเขาไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนและจะเข้าถึงความทรงจำเหล่านั้นยังไง ประเด็นที่เราอยากจะพูดตรงนี้ก็คือลมมันได้เปลี่ยนทิศไปแล้วและมันน่าตื่นเต้นมากๆ การมีสื่อดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ค้นหาเรื่องและความจริงมากขึ้นกว่าเดิม เราคิดว่านี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนรวมตัวกันออกมาและพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตกันอยู่ตอนนี้ เราอยากจะเสริมด้วยว่าการกลับมาของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิทยาลัยในโลกเสมือนที่เป็นการศึกษาสาธารณะที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกปิดตัวลงเมื่อปี 2549 ตอนที่มีรัฐประหาร ช่วงเวลานี้มันสำคัญมาก สำหรับเราแล้ว มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นอนุสาวรีย์สาธารณะของนักคิด และยังเป็นที่ทางให้เกิดการรำลึกถึงการสูญเสียผู้ก่อตั้งและอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม


BL — พอพูดถึงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทำให้นึกถึง geocities.com เว็บโฮสท์ติ้งยุคแรกๆที่ปิดตัวไปแล้วแต่ยังมีการจัดเก็บข้อมูลเว็บไซต์ที่ลงทะเบียนไว้อยู่ แล้วมีเขียนอธิบายบนหน้าเว็บไว้ว่า ‘อนุสรณ์ของวัฒนธรรมเว็บไซต์ยุคแรกที่ยังมีชีวิต’


BL — Founding a museum by collecting objects to exhibit and talk about certain topics could be called a commemoration? How does it work differently to a public commemoration like a monument?


Thanavi — Museums are to make people remember, but we have very few museums that talk about the recent past. We have a lot of museums about the Ayutthaya period and that’s how the state wants us to remember the glorious kingdom in the past. We don’t have a variety of museums here. And the difficult history such as the 6th October Massacre still doesn’t have a museum. There’s a ‘museum project’ about the 6th October Massacre but they don’t have an actual building to house the collection yet. They collect objects, keep them somewhere, and make exhibitions, probably every year, like now they are having it at Thammasat University. Also there is a problem with budget and maintenance, it’s not just about opening a museum, you have to run it but where are the resources?


Pic. 17 — แขวน exhibition as part of a ‘museum project’ about the 6th October Massacre. The ‘pop up’ museum has been assembled at the main conference hall at Thammasat University’s Tha Prachan campus from October 1 to 11, 2020.


BL — การทำพิพิธภัณฑ์ โดยการเก็บรวมรวมสิ่งของเพื่อที่จะจัดแสดง และพูดถึงเกี่ยวกับประเด็นบางอย่างนับว่าเป็นการรำลึกมั้ย? มันทำงานต่างจากอนุสาวรีย์ในพื้นที่สาธารณะยังไง?


ธนาวิ — พิพิธภัณฑ์คือการทำให้ผู้คนจดจำ แต่เรามีพิพิธภัณฑ์น้อยมากที่พูดถึงเหตุการณ์ในอดีตอันใกล้ เรามีพิพิธภัณฑ์มากมายที่พูดถึงยุคกรุงศรีอยุธยา และนั่นเป็นสิ่งที่รัฐอยากให้เราจดจำ นั่นก็คือราชอาณาจักรอันรุ่งเรืองในอดีต เราไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์ที่หลากหลายที่นี่ และประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องยากอย่างการสังหารหมู่ 6 ตุลาก็ยังไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์ มีแต่ ‘โปรเจกต์ พิพิธภัณฑ์’ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ 6 ตุลา แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีอาคารจริงๆ ที่เอาไว้เก็บรวบรวมคอลเลกชั่น พวกเขารวบรวมสิ่งของ เก็บไว้ในที่ๆ จะเอามาทำเป็นนิทรรศการ บางทีอาจจะเกิดขึ้นทุกๆ ปี อย่างตอนนี้ก็กำลังมีนิทรรศการนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ การบำรุงรักษา มันไม่ใช่แค่การเปิดพิพิธภัณฑ์ แต่รวมไปถึงการดำเนินการอื่นๆ ด้วย แต่เราจะเอาทรัพยากรเหล่านั้นมาจากไหน?


รูป 17 — นิทรรศการ แขวน ภายในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เปิดให้เข้าชมตลอดเดือนตุลาคม 2563 ห้องโถงหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 1 ถึง 11 ตุลาคม 2563.


BL — The reason that I brought the thing about the museum is that when I researched the idea and the concept of the monument and the act of toppling down the statues like in the US and other countries, I found one of the discussions talking about what we should do with the monument if that is not representing the ideology of the time anymore, should it be toppled down by the people, should it be done by a state, and where it should be placed. Should it be just removed and abandoned or move it to the museum to give a context so people can discuss what is the history of this and that monument or statue. Rather than put it in the public and hurt some people’s feelings.


Thanavi — Removing statues is something that needs so many people to engage with. Any democratic country would have people share their different views and debate. If there are people who want to remove the statue of this person because he is racist, there would also be some other people who also believe that this same person contributed something so greatly to the society so they want to keep it. For example, let’s remove this guy from this plaza but put him in the museum, of course people will still complain why does he have a place in the museum. It needs negotiation and it could be very long but that is a learning for everyone. And that’s a process of growing together in society. If you’re not going to be authoritarian, you need to listen.


BL — สาเหตุที่เรายกประเด็นเรื่องพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเพราะตอนที่ศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดและคอนเซปต์ของอนุสาวรีย์และท่าทีของการทำลายอนุสาวรีย์ในสหรัฐอเมริกา และเมืองอื่นๆ เราพบหนึ่งในข้อถกเถียงเกี่ยวกับว่าเราควรจัดการกับอนุสาวรีย์ยังไงถ้ามันไม่ได้เป็นตัวแทนของอุดมการณ์ของยุคสมัยอีกแล้ว มันควรจะถูกเอาลงโดยประชาชนเอง หรือทำโดยรัฐ ที่ไหนที่มันควรจะถูกจัดวาง จริงๆ แล้วควรถูกเอาออกและทิ้งไว้ หรือย้ายมันเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างบริบทแวดล้อมให้กับมัน เพื่อที่ผู้คนจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นนั้น มากกว่าที่จะเอามันไว้ในพื้นที่สาธารณะและสร้างความรู้สึกไม่ดีกับผู้คน


ธนาวิ — การจะรื้อถอนรูปปั้นเป็นสิ่งที่ต้องการผู้คนหลายฝ่ายมาร่วมตัดสิน ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อาจจะให้ผู้คนมาแบ่งปันมุมมองที่ต่างกันแล้วถกเถียง ถ้ามีผู้คนที่อยากจะรื้อถอนรูปปั้นของคนคนนึงที่เหยียดเชื้อชาติ ก็จะต้องมีคนบางกลุ่มเชื่อว่าคนคนเดียวกันนี้ก็สร้างประโยชน์ที่มหาศาสให้กับสังคม พวกเขาจึงอยากให้เก็บมันไว้ ยกตัวอย่างเช่น เดี๋ยวเราจะรื้อรูปปั้นชายคนนี้ออกจากลานนี้ แต่จะเอามันไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แน่นอนว่าก็จะยังมีคนบางกลุ่มเรียกร้องว่าทำไมต้องมีสถานที่อยู่ให้กับมันในพิพิธภัณฑ์ มันต้องการการต่อรองและมันอาจจะยาวนาน แต่ทุกคนก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน นั่นคือกระบวนการเติบโตไปด้วยกันในสังคม ถ้าคุณไม่ต้องการที่จะเป็นเผด็จการ คุณก็ต้องรับฟัง


Graf — Compared to the States, there are a lot more museums that really focus on and talk about the people’s history.


Prima — I think in the specific case of the US, the thing that is frustrating for people who want to have these monuments removed is that there is not the same amount of commemorative places for people who are not white colonialists. But I’m also with you Thanavi, on this idea that it’s not about where the monument is placed or whether it’s removed or not but rather a negotiation of the actual history that those things represent and how people in America can come to an agreement of how to move forward together with all these baggages and not erasing one in order to uplift the other. Because it is all part of the history and it’s all part of the same culture and the things that have brought us to the present that we are in. But I think that there is still a lack of recognition of the contribution of immigrants and African Americans to the history of the US. That still needs to be addressed and still needs to materialize in space.


กราฟ — เทียบกับที่สหรัฐอเมริกาแล้ว มันมีพิพิธภัณฑ์ที่มุ่งไปที่การพูดถึงประวัติศาสตร์ของคนทั่วไปมากกว่า


พรีมา — เราคิดว่าในกรณีเฉพาะอย่างในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนที่อยากให้รื้อถอนอนุสาวรีย์พวกนี้ลง คือการที่มันไม่มีอนุสรณ์สถานในจำนวนที่พอๆ กัน ให้กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่นักล่าอาณานิคมผิวขาว เราเห็นด้วยกับธนาวิในแนวคิดที่ว่ามันไม่เกี่ยวว่าอนุสาวรีย์มันควรถูกตั้งอยู่ที่ไหนหรือถูกรื้อถอนหรือไม่ แต่เกี่ยวกับการต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ที่ซึ่งอนุสาวรีย์นั้นเป็นตัวแทน และเกี่ยวกับว่าผู้คนในอเมริกาจะสามารถตกลงกันยังไงที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันกับสัมภาระเหล่านี้โดยไม่เลือกที่จะลบเหตุการณ์บางอย่างเพื่อที่จะเชิดชูอีกอย่าง เพราะทั้งหมดมันก็เป็นส่วนประกอบของประวัติศาสตร์ และมันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเดียวกัน เป็นสิ่งที่พาเรามาถึงปัจจุบันที่เราอยู่ตอนนี้ แต่เราคิดว่ามันก็ยังขาดการรับรู้เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้อพยพและกลุ่มคนแอฟริกัน อเมริกันในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพูดถึงและจำเป็นต้องทำให้เป็นรูปเป็นกายภาพในพื้นที่จริง


Thanavi — Many people know that Pridi Banomyong is not very into the LGBTQ.  I’m not surprised with his attitude because he has an idea of his generation. But do we need to remove his statue from Thammasat? or can we change the meaning of the monument? You know, the meaning of the monument is not static. Of course every monument could have original meaning, that’s why people build a monument or a statue. But it doesn’t mean it can not be changed.


Graf — This reminds me of Alois Riegl’s distinction between ‘unintentional monument’ and ‘deliberate monument’ that Margrethe Troensegaard mentioned in her 2016’s essay What’s in a Name? Questions for a New Monument. Let me quote, “An unintentional monument could be the church built by a king in order to prove his power to his contemporaries, without deliberately planning for this to gain the status of a monument for future generations. Or it could even be a scrap of paper that later proves to be of historical importance, thus upgrading its role and value from inert matter to that of testimony or historical witness. The deliberate monument, on the other hand, is produced for the sake of being exactly and only that. In the case of the unintentional monument, it is “we modern viewers, rather than the works themselves by virtue of their original purpose [who] assign meaning and significance to a monument,” whereas in the case of the deliberate monument, the commemorative value is dictated to us by the creator. I think the meaning of the word ‘monument or even commemorative object is changeable now.


ธนาวิ — หลายคนรู้ว่าปรีดี พนมยงค์ ไม่ชอบกลุ่ม LGBTQ มากเท่าไหร่ เราไม่แปลกใจกับทัศนคตินี้ของเขาเพราะก็เป็นแนวคิดของคนรุ่นเขา แต่เราจำเป็นต้องรื้อถอนรูปปั้นของเขาออกจากธรรมศาสตร์มั้ย? หรือว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนความหมายของอนุสาวรีย์ได้มั้ย? ความหมายของอนุสาวรีย์มันไม่หยุดอยู่กับที่ แน่นอนว่ามันมีความหมายดั้งเดิมของมัน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้คนถึงสร้างอนุสาวรีย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเปลี่ยนแปลงไมไ่ด้


กราฟ — มันทำให้เรานึกถึงสิ่งที่อโลอิส รีเกล พูดถึงเรื่องความแตกต่างระหว่าง ‘อนุสาวรีย์ที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ (unintentional monument)’ กับ ‘อนุสาวรีย์โดยเจตนา (deliberate monument)’ ที่มาเกร โทรนซีกอด อ้างถึงในบทความของเธอเมื่อปี 2559 ที่ชื่อ What’s in a Name? Questions for a New Monument ตรงที่เธอบอกว่า “อนุสาวรีย์ที่เกิดโดยไม่ตั้งใจอาจจะเป็นโบสถ์ที่สร้างโดยกษัตริย์เพื่อที่จะพิสูจน์ถึงอำนาจของเขาต่อฝูงชน โดยไม่ได้มีการไตร่ตรองวางแผนเพื่อที่จะได้มาซึ่งสถานะของการเป็นอนุสาวรีย์ให้คนรุ่นหลัง หรือมันอาจจะเป็นเพียงแค่กระดาษใบหนึ่งที่ภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มันจึงได้รับการเลื่อนขั้นและให้ค่าจากการเป็นเพียงสิ่งของชิ้นหนึ่งสู่การเป็นหลักฐานหรือพยานทางประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันอนุสาวรีย์ที่ผ่านการไตร่ตรองมาให้สร้างถูกผลิตขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการเป็นอนุสาวรีย์เพียงอย่างเดียว ในกรณีของอนุสาวรีย์ที่เป็นโดยไม่ได้ตั้งใจ “พวกเราที่เป็นผู้ชมจากยุคสมัยใหม่ เป็นผู้ให้ความหมาย และความสำคัญกับอนุสาวรีย์นั้นมากกว่าคุณค่าที่มาจากตัวมันเอง” ในกรณีของอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างโดยเจตนา คุณค่าของการรำลึกนั้นถูกบงการโดยผู้สร้าง” เราคิดว่าความหมายของคำว่า อนุสาวรีย์ หรือแม้กระทั่งวัตถุเพื่อการรำลึกได้เปลี่ยนไปแล้วในตอนนี้


Thanavi — I think erecting monuments is a very masculine thing. Most Thai monuments contain images of men, warriors or the commoners who were the warriors fighting the Burmese, the communists, etc. Especially war monuments or wars figures are very masculine, and very macho. It’s typical to use the word ‘erecting’ for the monument, but I was also thinking about the connotation of something erected. And in erecting monuments as part of war propaganda, you must show strength and masculinity. That’s why all of them are very figurative. But I think to do memorial practice online, it decreases that sense of super masculinity. I don’t have any proof of that but that’s my feeling. To me, it’s more opened, expanded, and inclusive.


Prima — Just the material and financial cost of erecting monuments alone come from places that already have those resources so it’s gonna rarely be coming from the people or groups that are underrepresented. But I don’t think we need more monuments (laughter). It’s nice to have the online world that is constantly being built by multiple actors and that memes or images that would get cropped, used, utilised, reappropriated by different people and that’s how memory lives on. And maybe it is closer to how memory functions in connection with life. Some memories might surface up in a moment rather than the other because it is relevant to the present now. I’m kind of “yes!” for dematerialization of these structures of power or vehicles of power.


ธนาวิ — เราคิดว่าการจัดตั้งอนุสาวรีย์เป็นอะไรที่มีความเป็นชายมาก อนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ในไทยถูกสร้างเป็นภาพของผู้ชาย นักรบ หรือชาวบ้านผู้ซึ่งออกรบกับพม่า กลุ่มคอมมิวนิสต์ เป็นต้น โดยเฉพาะอนุสาวรีย์เกี่ยวกับสงคราม หรือรูปปั้นเกี่ยวกับสงครามก็จะมีความเป็นผู้ชายมาก และแข็งแรงมาก เป็นปกติที่เราจะใช้คำว่า ‘ตั้ง’ (erect) กับอนุสาวรีย์ แต่เราก็คิดถึงเกี่ยวกับความหมายโดยนัยของมันว่าคือบางสิ่งที่ตั้งขึ้นด้วย ในการจัดตั้งอนุสาวรีย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสงคราม คุณต้องแสดงออกถึงความเข้มแข็งและความเป็นชาย นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องทำเป็นรูปคน แต่เราคิดว่าการทำอนุสรณ์สถานบนโลกออนไลน์ได้ลดแนวคิดของความเป็นชายลงไปมาก เราไม่ได้มีข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ แต่เป็นความรู้สึก สำหรับเรามันเปิดกว้างขึ้น มีขอบเขตกว้างขึ้น และเป็นอะไรก็ได้มากขึ้น


พรีมา — แค่เรื่องของวัสดุและค่าใช้จ่ายในการตั้ง อนุสาวรีย์เพียงอย่างเดียวก็ต้องมาจากที่ๆ มีทรัพยากรอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่มันจะมาจากประชาชนหรือคนกลุ่มที่ไม่ได้รับการพูดถึง แต่เราไม่คิดว่าพวกเราต้องการอนุสาวรีย์เพิ่มแล้วนะ (หัวเราะ) มันก็ดีที่จะถูกสร้างอยู่ในโลกออนไลน์ จะได้มีคนจากหลายหลายร่วมกันสร้าง พวกมีม หรือภาพที่จะถูกนำไปตัดต่อ ใช้งาน สร้างประโยชน์ ให้ความหมายใหม่โดยผู้คนที่หลากหลาย มันคือการทำให้ความทรงจำคงอยู่ และบางทีมันใกล้ชิดกับการที่ความทรงจำทำงานเกี่ยวเนื่องกับชีวิต บางความทรงจำอาจลอยเหนือกว่าอีกความทรงจำในบางสถานการณ์เพราะมันเกี่ยวโยงกับปัจจุบันขณะ “ใช่!” เราสนับสนุนให้โครงสร้างอำนาจหรือสิ่งที่ใช้ขับเคลื่อนอำนาจที่มาจากการสร้างอนุสาวรีย์มันหมดไปเสียที


Thanavi — There is the debate going on whether to build the statue of Jit Bhumisak at Chulalongkorn University or not. There are statues of King Rama V and King Rama VI and people start thinking why not a statue of Jit Bhumisak. To see it as a political act is understandable; there are statues of the monarchs so why not a statue of the commoner who contributed so much? But this whole idea of making another statue, is it necessary? Do you really need it, or are there any other ways to remember him, commemorate him, respecting him?


Pic. 18 — The Royal Monument of King Chulalongkorn and King Vajiravudh were built in 1987, on the occasion of the 70th anniversary of Chulalongkorn University establishment. The statues of both monarchs were placed in front of the University’s Main Auditorium.


Pic. 19 — Jit Bhumisak was a Thai author, philologist, historian, poet, songwriter, and Marxism thinker. His most influential book was The Face of Thai Feudalism, written in 1957 under the pseudonym Somsamai Srisootarapan. A student group from Chulalongkorn University were calling for a statue of Jit Bhumisak on the 90th anniversary of his birth in September (there is Jit Bhumisak’s statue located at Ban Nong Kung, Kam Bo, Varishbhum, in Sakon Nakhon). Chit’s statue would not only commemorate his memory but serve as a point of solidarity between those struggling for democracy against continued military interference into politics. The statue would also commemorate other activists and dissidents who were disappeared by the Thai state, most notably Wanchalearm Satsakit who was abducted from his apartment in Cambodia in June.


BL — Instead of spending more on monuments, it’s better to find other ways.


ธนาวิ — มันมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นว่าจะสร้างรูปปั้นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่จุฬาฯ มั้ย ที่นั่นมีรูปปั้นของรัชกาลที่ห้า และรัชกาลที่หกอยู่ และผู้คนเริ่มคิดว่าทำไมจะมีรูปปั้นของจิตร ภูมิศักดิ์ไม่ได้ ถ้ามองมันเป็นการกระทำเชิงการเมืองก็เข้าใจได้ ถ้ามีรูปปั้นของราชวงศ์ได้ ทำไมถึงไม่มีของชาวบ้านผู้ที่ทำประโยช์หลายอย่าง? แต่ในภาพรวมแล้ว การสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมาอีกนั้นจริงๆ แล้วจำเป็นมั้ย? เรายังต้องการมันอีกจริงๆ หรือมันมีทางอื่นที่จะจดจำเขา รำลึกถึงเขา และเคารพเขา?


Pic. 18 — พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถูกสร้างขึ้นในปี 2530 เนื่องในโอกาสก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 70 ปี ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


รูป 19 — จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ กวี นักแต่งเพลง และนักคิดสายมาร์กซิสม์ หนังสือที่ทรงอิทธิพลที่สุดที่เขาเขียนมีชื่อว่า โฉมหน้าศักดินาไทย เขียนขึ้นในปี 2500 ภายใต้นามแฝง สมสมัย ศรีศูทรพรรณ กลุ่มนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เคยเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรูปปั้นของ จิตร ภูมิศักดิ์ เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิด 90 ปีของเขาในเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ทั้งนี้ มีอนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ตั้งอยู่ที่บริเวณที่เขาเสียชีวิต ณ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร) รูปปั้นของจิตรจะไม่เพียงเป็นอนุสรณ์ความทรงจำของเขา แต่ยังเป็นจุดรองรับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยการต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร รูปปั้นนี้อาจเป็นอนุสรณ์แก่นักเคลื่อนไหวและผู้ที่คัดค้านการอุ้มหายโดยรัฐไทย อย่างในกรณีอันโด่งดังของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกลักพาตัวไปจากอพาร์ทเมนท์ในกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน


BL — แทนที่จะต้องจ่ายเงินไปกับอนุสาวรีย์ น่าจะดีกว่าถ้าจะหาวิธีอื่น


Prima — Yeah. Maybe demolishing them all is better. Reuse the metal for something else.


Thanavi — Or making a commemoration in another form. Even better to build schools in the name of this and that.


พรีมา — ใช่เลย ทำลายมันไปให้หมดน่าจะดีกว่า แล้วนำโลหะพวกนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน


ธนาวิ — หรือการสร้างการรำลึกในรูปแบบอื่น เช่น อาจจะดีกว่าก็ได้ถ้าจะสร้างโรงเรียนในนามของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแทน

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 05.4 — SENSE AND SENSIBILITY: ON CONTEMPORARY MIGRATING AND FORAGING


BOOKSHOP LIBRARY (BL) —
Why are you interested in the idea of urban foraging? Living in a city like Bangkok, I think it’s almost impossible to do that. Did this idea begin when you moved to Belgium?


Panita S. (Bume) —
Actually it started in Sweden when I had an internship there for six months in 2014. There is a culture of picking the chanterelle mushrooms and blueberries, swimming in a natural lake with duck poops floating next to you, feeling the stream of hot and cold under your feet. The natural context around you, your surroundings, shifted the way you live, your lifestyle, and your mentality. That makes you realize it is possible to live this way which is different from the way we live in the concrete jungle like in Bangkok. I think it’s a balance I found in Sweden to combine both city life together. When I moved back to Bangkok to an old Bangkokian lifestyle, I easily got used to the same way of living. However, I keep recalling the way life can be in Sweden.

In 2017, I came to Belgium for my master’s degree in the city called Hasselt which is not a big city, it’s a city with a combination of urban life and nature. There is a nature reserve park called Bokrijk where you can bike around and be connected to nature unlike in Brussels or Antwerp.


BOOKSHOP LIBRARY (BL) —
ทำไมคุณถึงสนใจแนวคิดของการหาอาหารในเมือง? การใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ฉันคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำมันที่นี่ แนวคิดนี้เริ่มต้นตอนที่คุณย้ายไปเบลเยียมแล้วรึเปล่า?


พนิตา แสงหิรัญวัฒนา (บุ๋ม) —
ความจริงแล้วมันเริ่มต้นที่สวีเดนตอนที่ฉันไปฝึกงานอยู่ที่นั่นประมาณหกเดือนในปี 2557 มันมีวัฒนธรรมการเก็บเห็ดชานเทอเรล (Chanterelle) และบลูเบอร์รี่ การว่ายน้ำในทะเลสาบธรรมชาติ โดยที่มีอึเป็ดลอยอยู่ข้างๆ การได้รู้สึกถึงน้ำร้อนและเย็นใต้เท้าของคุณ ธรรมชาติที่รายล้อมคุณ สิ่งแวดล้อมรอบๆ มันเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ และสภาพจิตใจของคุณ นั่นทำให้คุณตระหนักว่ามันเป็นไปได้ที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ ซึ่งต่างออกไปจากการใช้ชีวิตในป่าคอนกรีตในกรุงเทพฯ ฉันคิดว่านั่นคือความสมดุลที่ฉันพบที่สวีเดน ที่ฉันได้รวมเอาชีวิตจริงกับธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน ตอนที่ฉันย้ายกลับมากรุงเทพฯ กลับสู่วิถีชีวิตของชาวกรุงเทพฯ แบบเดิม ฉันก็เคยชินกับมันได้อย่างไม่ยาก แต่ก็คอยระลึกถึงวิถีชีวิตที่ฉันเคยมีตอนอยู่สวีเดนเป็นระยะ

ในปี 2560 ฉันมาที่เบลเยียมเพื่อเรียนต่อปริญญาโท ที่เมือง ฮัสเซิลต์ (Hasselt) ซึ่งไม่ใช่เมืองใหญ่โตอะไร มันเป็นเมืองที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างชีวิตแบบเมือง กับชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ที่นั่นมีสวนป่าสงวนชื่อ โบคเลค (Bokrijk) ที่คุณสามารถขี่จักรยานไปรอบๆ และสัมผัสถึงธรรมชาติ ไม่เหมือนกับที่บรัสเซลส์หรือแอนต์เวิร์ป


BL —
What about you Dohee? When does your interest in nature start? In Seoul, Bangkok, or when you’ve spent some time in Chiang Dao?


Dohee Kwon (Dohee) —
For me, it began in 2014 when I started to travel by myself abroad. Thailand is the first country I traveled by myself, mostly in the northern part. Since then I started to feel connected with nature. I was born in the
city on the south coast, moved to Seoul, and surrounded by a concrete jungle more than a real jungle.

Then in 2017, I got a job from a Korean company in Bangkok. Even though I love nature, I also like the city life in Bangkok. I worked there for one year and during that time traveled back and forth between Korea and Thailand. 

I started my illustrator career after quitting the job in Bangkok. I usually draw something and post them on Instagram. There is one time that I drew an airplane and tagged the band called Khruangbin (meaning airplane in Thai) which is the band I love. Luckily the person who works for the band found my illustration on an Instagram and she contacted me to make posters for them. I made three posters for their shows in the States. It gave me good motivation and confidence to keep up with this career.


Pic. 1 — Poster design and illustration for Khruangbin.

Until last year, I got a chance to go to Chiang Dao for the first time. I feel like it is the place where I want to be, so I just decided to live there.


BL —
แล้วคุณล่ะ โดฮี? คุณเริ่มสนใจในธรรมชาติตั้งแต่เมื่อไหร่? ตอนคุณอยู่ที่โซล กรุงเทพฯ หรือตอนคุณได้ไปใช้เวลาอยู่ที่เชียงดาว?


โดฮี ควอน (โดฮี) —
สำหรับฉัน มันเริ่มตอนปี 2557 ตอนที่ฉันเริ่มเดินทางด้วยตัวเอง ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ฉันเที่ยวคนเดียว ส่วนใหญ่จะเที่ยวทางตอนเหนือ ตั้งแต่นั้นมาฉันก็เริ่มรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ฉันเกิดในเมืองทางชายฝั่งตอนใต้ของเกาหลี แล้วถึงย้ายมาโซล โดยส่วนใหญ่ก็รายล้อมด้วยป่าคอนกรีตมากกว่าป่าจริงๆ 

จากนั้นในปี 2560 ฉันได้งานที่กรุงเทพฯ จากบริษัทสัญชาติเกาหลี ถึงแม้ว่าฉันจะชอบธรรมชาติแต่ก็ชอบชีวิตในกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน ฉันทำงานอยู่ที่นั่นประมาณปีนึง เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างเกาหลีและประเทศไทย

ฉันเริ่มอาชีพนักวาดภาพประกอบตอนที่ลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ ฉันวาดภาพลงอินสตาแกรมอยู่เรื่อยๆ และมีครั้งนึงที่วาดภาพเครื่องบิน แล้วแท็กไปที่วงดนตรีชื่อ Khruangbin (เครื่องบิน) ซึ่งเป็นวงที่ฉันชอบ โชคดีมากที่คนที่ทำงานกับวงมาเห็นเลยติดต่อมาให้ฉันทำโปสเตอร์ทัวร์คอนเสิร์ตให้กับพวกเขา ฉันทำโปสเตอร์ไป 3 ชิ้นสำหรับทัวร์ที่อเมริกา มันเป็นจุดที่สร้างแรงผลักดันและความมั่นใจให้ฉันทำงานนี้ต่อไป


รูป 1 — งานออกแบบโปสเตอร์และภาพประกอบให้กับวงดนตรี เครื่องบิน

จนกระทั่งปีก่อน ฉันได้มีโอกาสไปที่เชียงดาวเป็นครั้งแรก มันทำให้ฉันรู้สึกว่าเป็นที่ที่ฉันอยากจะใช้ชีวิตอยู่ ฉันเลยตัดสินใจที่จะอยู่ที่นั่น


BL —
What is your working process in foraging?


Bume —
As we already live in a digital era, I use an application in the mobile phone called
Picture This to check the type of the plant. It takes just a few seconds to analyze an algorithm to show the name of the plant, its family, and other information. Then, I double-check online if it’s edible. It’s always my first question (laughter). 

I sometimes read from the book and still go to libraries to search for more information. There is one forager that I admired who inspires me a lot. His name is Pascal Baudar. He is Belgian but lives in LA. I found his book is very interesting, it is called The New Wildcrafted Cuisine. He collected things like walnuts or cactus and experimented with how he can convert the plants into different tastes. Such as a seaweed dish made out of plantain (a common type of weed). I followed his recipe and tasted it but I thought it could taste more seaweed-like (laughter). I started from there, thought of how it could be more interesting and went further.


Pic. 2 — Pascal Baudar. Excerpts from short documentary, Forest Flavors. Available to watch online at https://vimeo.com/448759950 (password: forage).


BL —
กระบวนการทำงานของคุณในการหาอาหารคืออะไร?


บุ๋ม —
เพราะเราก็อยู่ในยุคดิจิทัลกันแล้ว ฉันก็ใช้แอพลิเคชั่นบนมือถือที่ชื่อว่า
Picture This เพื่อที่จะเช็คดูว่าพืชที่ฉันเก็บมานั้นคือประเภทอะไร มันใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาทีก็สามารถวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึ่มเพื่อที่จะบอกชื่อของพืชชนิดนั้น สกุลของมัน และข้อมูลอื่นๆ แล้วฉันถึงไปเช็คอีกรอบบนอินเทอร์เน็ตว่ามันกินได้มั้ย ซึ่งเป็นคำถามแรกเสมอ (หัวเราะ) 

บางทีฉันก็อ่านเอาจากหนังสือ ไม่ก็ไปที่ห้องสมุดเพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม มีนักหาอาหารคนนึงที่ฉันชอบมาก และได้รับแรงบันดาลใจจากเขา ชื่อว่าปาสคาร์ล โบวดา เขาเป็นคนเบลเยียมแต่อาศัยอยู่ที่แอลเอ ฉันเจอหนังสือที่น่าสนใจที่เขาแต่ง ชื่อว่า The New Wildcrafted Cuisine เขารวบรวมวอลนัท หรือไม่ก็ กระบองเพชร และทดลองว่าจะสามารถแปลงมันให้เกิดรสชาติที่แตกต่างได้ยังไง แล้วยังมีเมนูสาหร่ายที่เขาทำขึ้นจากวัชพืชชนิดหนึ่ง ฉันลองทำตามแล้วก็ลองชิมดู แต่ฉันคิดว่ารสชาติมันน่าจะมีความเป็นสาหร่ายได้มากกว่านี้ (หัวเราะ) ฉันเริ่มจากจุดนี้ ที่คิดว่าจะทำยังไงที่มันจะน่าสนใจขึ้นกว่าเดิม แล้วก็ไปต่อจากตรงนั้น


รูป 2 — ปาสคาร์ล โบวดา ภาพจากสารคดีสั้นชื่อ Forest Flavors รับชมออนไลน์ผ่าน https://vimeo.com/448759950(พาสเวิร์ด: forage)


BL —
It seems like the final product of your research is not always food. Do you see your practice conceptual?


Bume —
I usually analyze the materials, context, and go from there what we can make out of it. What I can develop from that point. I use different mediums such as ceramics, edible installations, or information graphics. I try to combine what I know and put it into my work. I could say I’m a conceptual designer based on the sensory and taste.


Pic. 3 — Climate Reality: An Edible Scape is a weather report of ever-changing climate shifts. The scape has prompted a rethink of food production and consumption. It is a storytelling through food as a medium. The audiences are invited to taste and savour the edible installation.


Pic. 4 — Olfactory Time introduces an alternative way of perceiving time beyond the clock. This artistic intervention encourages us to re-experience the passage of time by exploring the sensorial phenomenon in which we are able to perceive and remember time indirectly through olfactory mediums. The artwork allows audiences to take a sniff from a circular ceramic plate, known as the ’Olfactory Calendar’.


BL —
ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ที่คุณได้มาจากการวิจัย ไม่ได้เป็นอาหารเสมอไป คุณคิดว่าวิธีการทำงานของคุณมัน
คอนเซ็ปชวลมั้ย?


บุ๋ม —
โดยปกติแล้วฉันวิเคราะห์จากวัตถุดิบ กับบริบท และไปต่อจากตรงนั้นว่าเราสามารถทำอะไรกับมันได้ พัฒนาอะไรจากจุดนั้นได้ ฉันใช้สื่อกลางอย่างเซรามิก อินสตอลเลชั่นที่กินได้ หรืออินโฟกราฟิก ฉันพยายามที่จะรวมเอาสิ่งที่ฉันรู้และใส่มันลงไปในงาน อาจพูดได้ว่าฉันเป็นนักออกแบบ
คอนเซ็ปชวล ที่ทำงานโดยยืนพื้นจากเรื่องประสาทสัมผัสและรสชาติ


รูป 3 — Climate Reality: An Edible Scape คือการพยากรณ์สภาพอากาศในปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นโปรเจกต์ศิลปะจัดวางที่ชวนคิดถึงการบริโภคและผลิตอาหารโดยใช้อาหารเป็นสื่อกลาง ผู้ชมสามารถชิมและลิ้มรสมันได้


รูป 4 — Olfactory Time นำเสนอทางเลือกในการรับรู้เวลาที่นอกเหนือการใช้นาฬิกา เป็นผลงานศิลปะจัดวางที่กระตุ้นให้เราสร้างประสบการณ์ใหม่กับการเคลื่อนที่ของเวลาผ่านผัสสะ ที่ซึ่งทำให้เรารับรู้และจดจำช่วงเวลาโดยอ้อมผ่านสื่อกลางที่มีกลิ่น ผลงานชิ้นนี้เปิดให้ผู้ชมดมกลิ่นจากจานเซรามิกทรงกลม ที่ทำหน้าที่เป็น ‘ปฏิทินกลิ่น’


BL —
The way you use colors in your illustration is very unique. It is very expressive and gives such an energetic sense. Can you tell me how you pick your colors? Do you have any work references? And where is your source of inspiration?


Dohee —
I think the way I use colors is inspired by traveling a lot in Southeast Asia and especially in Thailand. Compared to the atmosphere in Korea and Thailand, it’s a different energy. It’s hard to explain. The way Thai people use color is really strong.
I always look up for old random LP cover arts from all over the world but also love to see those chunky, dense, and dynamic compositions from old posters. I get inspired by the things that are close to me. Like where I am, what I do and like, who I met, and even what they do. If you look at my personal works, you can see they are mostly about music but also the culture that’s related to the music I listen to, the cities I traveled, and nature where I stay in and fall in love with. I think when I draw what I really like or what I have experienced and I know it’s what it is, things are so smooth and easy and mostly I get satisfied with the result.


Pic. 5 — Illustration by Dohee Kwon on an instagram. @kimchisuperpower


BL —
การเลือกใช้สีของคุณในงานมันพิเศษมาก มันเต็มไปด้วยพลังและให้ความรู้สึกถึงพลังงานบางอย่าง คุณบอกได้มั้ยว่าคุณเลือกใช้สียังไง? คุณมีผลงานที่คุณอ้างอิงมามั้ย? และแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณมีที่มาจากไหน?


โดฮี —
ฉันคิดว่าการเลือกใช้สีของฉันได้แรงบันดาลใจมาจากการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เยอะ โดยเฉพาะการเที่ยวในประเทศไทย เปรียบเทียบบรรยากาศของเกาหลีกับไทยแล้วมันมีพลังงานที่ต่างกันเลย มันยากที่จะอธิบาย การใช้สีของคนไทยมันจัดจ้านมาก ฉันมักจะดูพวกปกแผ่นเสียงเก่าๆ จากทั่วโลก และยังชอบดูพวกโปสเตอร์เก่าๆ ที่มีการจัดวางคอมโพซิชั่นแบบหนาๆ หนักๆ และมีพลัง ฉันได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรใกล้ๆ ตัว อย่างที่ที่ฉันอยู่ สิ่งที่ฉันทำและชอบ หรือใครก็ตามที่ฉันได้พบ รวมไปถึงสิ่งที่พวกเขาทำ ถ้าคุณดูบรรดางานส่วนตัวของฉัน คุณจะเห็นเลยว่าส่วนใหญ่มันเกี่ยวกับดนตรี หรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวของกับดนตรีที่ฉันชอบฟัง  เมืองต่างๆ ที่ฉันเดินทางไปเที่ยว และธรรมชาติที่ฉันได้ไปพัก และหลงรักมัน ฉันคิดว่าพอฉันได้วาดอะไรที่ฉันชอบมากๆ หรือสิ่งที่ฉันมีประสบกาณ์ร่วม ซึ่งฉันรู้ว่ามันคืออะไร สิ่งที่ฉันวาดก็เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ เป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วฉันก็จะพอใจในผลลัพธ์


รูป 5 — ภาพวาดโดยโดฮี ควอน บนอินสตาแกรม @kimchisuperpower


BL —
Is there any cultural background in your work that is influenced by where you came from or where you have been?


Dohee —
I’d like to say possibly there are a few, like what I have answered in the previous question, my works always reflect the surroundings around me. My hometown is a small city on the south coast. I grew up there till I moved to Seoul for my college. Then I lived in Seoul, which is a huge and crazy busy city for almost ten years. In 2017, I always traveled back and forth between Thailand and Korea and regarded Thailand as my second home always. So I think it’s hard to define where and how I get influenced by my background. All the things are kind of mixed up. I think it makes my work unique and that’s my greatest strength.


BL —
งานของคุณได้รับอิทธิพลจากวัฒธรรมที่คุณจากมา หรือที่ที่คุณเคยไปบ้างมั้ย?


โดฮี —
อาจพูดได้เลยว่าน้อยมาก เหมือนกับคำตอบของฉันจากคำถามก่อนหน้า งานของฉันมักจะสะท้อนสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เมืองที่ฉันเกิดอยู่ทางชายฝั่งตอนใต้ และฉันเติบโตที่นั่นจนกระทั่งย้ายมาโซล ซึ่งเป็นเมืองที่ทั้งใหญ่ และวุ่นวาย ฉันอยู่ที่โซลเกือบสิบปีได้ ในปี 2560 ฉันเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างประเทศไทยกับเกาหลี จนฉันรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง ฉันคิดว่ามันยากที่จะนิยามว่าฉันได้อิทธิพลจากการอยู่ที่ไหน เพราะมันผสมปนเปกัน ฉันคิดว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้งานของฉันมันพิเศษ และนั่นคือจุดแข็งในงานของฉัน


Bume —
I’m curious about Chiangdao. How is it like there?


Dohee —
Chiang Dao has not many tall buildings, two to three stories are the highest, a very few bars, and the only entertainment there is seven-eleven. (laughter) There are not many tourists in Chiangdao compared to Pai.


บุ๋ม —
ฉันสงสัยเกี่ยวกับเชียงดาว มันเป็นยังไงที่นั่น?


โดฮี —
เชียงดาวมีตึกสูงน้อยมาก สูงสุดอาจจะ สองสามชั้นได้ และมีบาร์อยู่ไม่เท่าไหร่ สิ่งที่พอจะให้ความบันเทิงได้มากที่สุดน่าจะเป็นเซเว่นอีเลฟเว่น (หัวเราะ) แล้วก็ยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวที่นั่นมากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับปาย


BL —
Can you tell me about the project you did in the Netherlands? Seems like it’s not only a plant that you worked with. You also participated in a cultural project concerning the local community.


Bume —
Ingrained Flavour is also about food but expands to include social context. I join the
Openset, a platform where you can have lectures and get a tutor to guide you through your project. It has lecture classes every two weeks in Amsterdam over six months. It’s a bit like an extended summer school. I worked on a social project related to Surinamese food in Amsterdam-Southeast (Bijlmer). It turns out that Amsterdam is very multicultural. Back in history, Suriname (a country in South America) was colonized by The Netherlands. Surinamese people worked as housekeepers and workers there. Then later in 1975 Suriname gained their independence but remained their stay in Amsterdam. They formed their kind of subculture and opened their restaurants. As a result of colonization, Indonesian restaurants and Surinamese restaurants are commonly found in Holland, meanwhile, very few can be found in Belgium. Surinamese food got influenced by a lot of tastes and flavors from seven continents in their cuisine. Surinamese food tasted so different to me. I got a chance to work with the Surinamese chef and made a data visualization showing the colonial influence on Surinamese cuisine in Amsterdam.

After this project, I thought of Thai food and wanted to research the influences on Thai cuisine. Some Thai desserts also got influenced by Portuguese cuisine, like eggs, butter, flour but we adapted our local ingredients to it.




Pic. 6-8 — Food in Ingrained Flavour is used as a medium that interconnects society and provokes conversations on the subjects of colonial histories, relocation, heritage and rituals. I delve into Bijlmermeer (Amsterdam Zuidoost) from the historical background of food culture, diversity and multiculturalism, which I observe and investigate.


BL —
คุณเล่าให้ฟังถึงโปรเจกต์ที่คุณทำที่เนเธอแลนด์ได้มั้ย? ดูเหมือนว่าคุณจะไม่ได้ทำงานกับพืชอย่างเดียว คุณยังเข้าร่วมโปรเจกต์ทางวัฒนธรรมที่สนใจเรื่องของชุมชนท้องถิ่นด้วย


บุ๋ม —
มันเป็นโปรเจกต์ที่ยังคงเกี่ยวข้องกับอาหาร แต่ต่อยอดไปถึงบริบททางสังคมด้วย ฉันเข้าร่วมแพลตฟอร์มที่ชื่อ
Openset ซึ่งเป็นที่ที่คุณสามารถมาเข้าฟังเลคเชอร์ และหาคนที่จะคอยแนะนำคุณในการทำโปรเจกต์ มันจะมีเลคเชอร์เกิดขึ้นทุกๆ สองอาทิตย์ เป็นระยะเวลาหกเดือน คล้ายๆ กับซัมเมอร์สคูลที่ขยายเวลาออกไป ฉันได้ไปทำโปรเจกต์เกี่ยวกับอาหารซูรินามในอัมสเตอร์ดัมฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ (ไบล์มเม่อร์) ฉันพบว่าอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่มีหลากหลายวัฒนธรรมมาก ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ซูรินาม (ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาใต้) อยู่ใต้อาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ คนซูรินามทำงานเป็นคนดูบ้านและแรงงาน หลังจากปี 2518 ประเทศซูรินามจึงได้รับอิสรภาพ แต่คนซูรินามก็ยังปักหลักอยู่ในอัมสเตอร์ดัม พวกเขาเริ่มรวมกลุ่มเป็นวัฒนธรรมกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยๆ และเปิดร้านอาหารซูรินาม ผลจากการล่าอาณานิคมทำให้เร้านอาหารอินโดนีเซีย และซูรินามหาได้ทั่วไปในฮอลแลนด์ ขณะที่ในเบลเยียมจะพบได้น้อยมาก อาหารซูรินามได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายรสชาติและรสสัมผัส ในอาหารหนึ่งจานอาจจะได้รับอิทธิพลเรื่องอาหารจากถึงเจ็ดทวีป อาหารซูรินามให้รสชาติที่หลากหลาย ฉันมีโอกาสได้ทำงานกับเชฟชาวซูรินาม และได้ทำแผนภูมิกราฟิกเพื่อแสดงถึงแหล่งกำเนิด รายการของทวีป หรือประเทศ ที่แสดงให้เห็นว่าอาหารซูรินามในอัมสเตอร์ดัม ได้รับอิทธิพลมาจากที่ไหน

หลังจากจบโปรเจกต์ ฉันคิดถึงอาหารไทย และอยากที่จะทำวิจัยถึงอิทธิพลที่อาหารไทยได้รับมา อย่างขนมหวานของเราก็ได้รับอิทธิพลจากสูตรอาหารโปรตุเกส เช่น ส่วนผสม ไข่ เนย แป้ง แล้วปรับเปลี่ยนเอาวัตุดิบท้องถิ่นใส่ลงไป


รูป 6-8 — อาหารถูกใช้เป็นสื่อกลางในโปรเจกต์ Ingrained Flavour เพื่อที่จะเชื่อมต่อสังคมและสร้างบทสนทนาบนหัวข้อที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม การย้ายถิ่น มรดกตกทอด และประเพณี โปรเจกต์นี้เป็นการศึกษาลงพื้นที่ที่ เบจ์เมอเมียร์ (อัมสเตอร์ดัมตะวันออกเฉียงใต้) จากแบคกราวน์ทางวัฒนธรรมเรื่องอาหาร ความหลากลายทางเชื้อชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม


BL —
 Dohee, the project that you’ve launched for CO-OP includes the local people and their wisdom in using Thai herbs in Chiang Dao, right? How do you get connected to them?


Dohee —
There are another two collaborators on this project. One is Note and the other is Will. I’ve met Will at the Wonderfruit Festival. He invited me to his homestay in Chiang Dao so I came up there. He gave me his idea about this project because he was collecting Thai herbs and wanted to make it into a book. He asked me to do illustrations for it. That’s where we started. He lives in Chiang Dao, so he knows everything and everyone there. He visited one elderly in the same village as him. He is the one who communicated with the elder. As I remember he’s almost 80 years old but still strong. He knows every single plant, tree, and flower. With his help, he told us what the usages of each plant are. We documented them and I started to draw the herbs. The village where we live is within walking distance to the forest. So we easily collected or took pictures of the plants. 


Pic. 9 — Spread from Samun Phrai Thai (สมุนไพรไทย) zine.

Talking about my experience with the herbs. I illustrated Kratom plants from my experience when I visited Arunothai village where its border connects to Myanmar. The villagers are Chinese tribes. We went there during the Chinese New Year and ended up making some friends with the local people. We had a chance to visit one of the houses where they served us Kratom tea. It gave a very chill effect but not like weed. We asked how it works and decided to put it in the book. The illustration is a translation of my feeling.


Pic. 10 — Illustration of Kratom in Samun Phrai Thai (สมุนไพรไทย) zine.

There is one time that I got a wound on my arms and legs from falling off a motorbike. The villager used the Buddha Belly plants to heal my wound. They put the liquid from the plant on my arm. It shielded the wound, protected it from dust and my wound healed very fast.


BL —
โดฮี โปรเจกต์ที่คุณเปิดตัวกับ CO-OP มันพูดถึงกลุ่มคนท้องถิ่นที่เชียงดาว และภูมิปัญญาของพวกเขาในการใช้สมุนไพรไทยใช่มั้ย? คุณเชื่อมต่อกับพวกเขายังไง?


โดฮี —
มันมีผู้ร่วมกระบวนการอีกสองคนในโปรเจกต์อันนี้ คนนึงคือนท และอีกคนคือวิล ฉันพบวิลตอนที่ไปเทศกาลวันเดอร์ฟรุ๊ต และเขาชวนฉันไปโฮมสเตย์ของเขาที่เชียงดาว ฉันเลยได้ขึ้นไปที่นั่น เขาเป็นคนเสนอไอเดียเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ เพราะเขากำลังเก็บรวบรวมสมุนไพรไทย และอยากที่จะทำออกมาเป็นหนังสือ เขาขอให้ฉันช่วยทำภาพประกอบให้ มันเริ่มต้นจากตรงนั้น ด้วยความที่วิลอาศัยอยู่ที่เชียงดาว เขาเลยรู้เรื่องทุกอย่างและรู้จักกับทุกคน เขาไปเยี่ยมคุณลุงที่อยู่หมู่บ้านเดียวกับเขา ซึ่งคุณลุงคนนี้ก็เป็นคนคอยพูดคุยกับผู้อาวุโสคนอื่นๆ ให้ เท่าที่ฉันจำได้เขาน่าจะอายุราวๆ 80 ปีได้แล้ว แต่ยังแข็งแรง คุณลุงรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ และดอกไม้ ด้วยความช่วยเหลือของเขา เขาบอกเราว่าพืชอันไหนใช้ทำอะไร พวกเราจึงบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้ และฉันก็เริ่มวาดภาพสมุนไพร หมู่บ้านที่พวกเราอยู่อยู่ไม่ไกลจากป่า เราจึงไปรวบรวมข้อมูลและถ่ายภาพได้อย่างไม่ยาก


รูป 9 — ตัวอย่างจากซีน สมุนไพรไทย

พูดถึงประสบการณ์ของฉันกับสมุนไพร ฉันวาดภาพใบกระท่อมจากประสบการณ์ของฉันตอนได้กินมันตอนไปหมู่บ้านที่ชื่อว่าอรุโณทัย ซึ่งมีเขตแดนติดกับประเทศพม่า ชาวบ้านในนั้นเป็นชนเผ่าชาวจีน เราไปที่นั่นในช่วงตรุษจีนพอดี และสุดท้ายลงเอยด้วยการได้เพื่อนใหม่เป็นคนท้องถิ่น เราได้ไปที่บ้านของเพื่อนคนนึง และเขาเสิร์ฟชากระท่อมให้เราดื่ม มันให้ความรู้สึกสบายๆ แต่ไม่เหมือนกับกัญชา เราถามพวกเขาว่ามันใช้ยังไงและตัดสินใจที่จะใส่มันลงไปในหนังสือ ภาพที่ฉันวาดออกมามันแปลงออกมาจากความรู้สึกของฉัน
 
รูป 10 — ภาพต้นกระท่อม จากซีน สมุนไพรไทย

และมีตอนนึงที่ฉันได้รับบาดเจ็บที่มือและขาเพราะมอเตอร์ไซค์ล้ม ชาวบ้านใช้พืชที่เรียกว่า ต้นหนุมานนั่งแท่นมารักษาแผล พวกเขาใช้ของเหลวในนั้นมาทาแผลที่แขน มันช่วยสมานแผล ป้องกันฝุ่น และยังช่วยให้แผลหายเร็วมาก


รูป 11 — ภาพต้นหนุมานนั่งแท่น จากซีน สมุนไพรไทย


BL —
It reminds me of Bume proposal of CO-OP project that mentioned synesthetic expression which means mismatching explanation of two different senses. Is the way Dohee translates her taste or impression of herbs to visual could be called synesthetic? And how do you use it in your work?


Bume —
I think it’s quite similar. The way you get influenced by the color of Southeast Asia in your work as well. Your brain creates a connection, a kind of cognitive connection between different senses. For example, the sensory impression of magnolia blossoms. When you taste Magnolia blossoms, it begins with a floral scent followed by a strong punching flavor of ginger aftertaste. For me, I think of the sharp line when I taste this, meanwhile visually the magnolia is so soft and delicate. This is how your sensory makes a connection between floral scent and strong ginger taste, and makes relation to sharp lines.

Besides collecting plants from nature, I asked some neighbors if I could collect their plants like magnolia blossoms in their backyard. This way you know there is no pesticide. I brought the magnolia home and made a pickle from magnolia petal with fermentation technique. Keeping it for two weeks, it turns into something quite similar to Japanese pickled ginger (gari) that you eat with sushi. The Japanese eat it to cleanse the palate between different types of sushi.


Pic. 12 — Magnolia petals are fermented for the taste of Japanese pickled ginger (gari).


Pic. 13 — Spread from Tenderly about magnolia blossoms.
 

Pic. 14-15 — Wild strawberry (
Fragaria vesca), illustrations in Tenderly, by Delphine Lejeune. 

Working this way the European plants connect me to my Asian roots. Or I can make wild sushi without using fish because I don’t live near the sea, so it will be more plant-based sushi made by green leaves. I used to use little buds of daisy to ferment capers too. You can find the linkage to your cuisine. The balance I find here is to connect my roots to the local context where I live.


BL —
มันทำให้ฉันนึกถึงที่บุ๋มเขียนเกี่ยวกับโครงการที่จะใช้เข้าร่วม CO-OP มาให้ ที่พูดถึง synesthetic expression ที่หมายถึงการอธิบายความรู้สึก ด้วยประสาทสัมผัสมากกว่าหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน วิธีที่โดฮีใช้แปลรสชาติ หรือความประทับใจจากสมุนไพรออกมาเป็นรูปภาพ เรียกได้ว่าเป็น sysnesthetic มั้ย? และคุณใช้สิ่งนี้ยังไงในงานของคุณ?


บุ๋ม —
ฉันคิดว่ามันค่อนข้างคล้ายกัน อย่างการที่คุณได้รับอิทธิพลเรื่องการใช้สีจากการได้เห็นสีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย สมองของคุณมันทำการเชื่อมโยงความความเข้าใจของคุณกับประสาทสัมผัสอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นประสบการณ์ด้านประสาทสัมผัสที่มีต่อดอกแมกโนเลีย เมื่อคุณลิ้มรสชาติของดอกแมกโนเลีย คุณจะเริ่มจากการได้กลิ่นหอมดอกไม้ แล้วจึงตามด้วยรสชาติรุนแรงของขิงกรุ่นในปาก ซึ่งสำหรับฉัน การชิมรสชาติแบบนี้ทำให้นึกถึงเส้นที่คมกริบ 
ในขณะที่ความเป็นจริง ภาพของแมกโนเลียนั้นอ่อนนุ่ม และละมุน นี่คือการที่ประสาทสัมผัสสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลิ่นของดอกไม้ กับรสแรงๆ ของขิง รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงกับเส้นที่แหลมคม

นอกจากการเก็บเอาพืชพรรณจากธรรมชาติ ฉันก็มีการถามเพื่อนบ้านเพื่อขอเก็บผลผลิตของเขาอย่างเช่นดอกแมกโนเลียจากสวนหลังบ้านของเพื่อนบ้าน ซึ่งคุณมั่นใจได้ว่ามันไม่มียาฆ่าแมลงแน่ๆ ฉันได้นำดอกแมกโนเลียกลับมาบ้านและทำดอกไม้ดองจากกลีบแมกโนเลียด้วยเทคนิคการหมัก ผ่านไปสองอาทิตย์มันก็กลายเป็นอาหารที่คล้ายกับขิงดองญี่ปุ่นที่คุณเอาไว้กินกับซูชิ คนญี่ปุ่นกินมันเพื่อที่จะทำความสะอาดลิ้นระหว่างการกินซูชิต่างประเภทกัน


รูป 12 — กลีบดอกแมกโนเลียนำมาดองเพื่อสร้างรสชาติของขิงดองสไตล์ญี่ปุ่น


รูป 13 — ตัวอย่างจากในหนังสือ Tenderly เกี่ยวกับดอกแมกโนเลีย


รูป 14-15 — Wild strawberry (Fragaria vesca), ภาพประกอบจาก Tenderly โดย
 เดลฟิน เลอเจอน์

การทำแบบนี้กับพืชพันธุ์ยุโรปเชื่อมฉันเข้ากับพื้นเพจากเอเชีย หรือฉันสามารถที่จะทำซูชิป่าโดยไม่ใช้ปลาเพราะฉันไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้ทะเล มันเป็นแพลนท์เบสซูชิที่ทำจากผักใบเขียว ฉันยังเคยใช้ต้นอ่อนเล็กๆ ของดอกเดซี่เอามาหมักเพื่อทำเคเปอร์ (พืชที่ใช้แต่งรสชาติอาหาร) คุณจะพบความเชื่อมโยงในสูตรอาหารของคุณ ความสมดุลที่ฉันพบที่นี่ก็คือการเชื่อมโยงรากเหง้าของตัวเองเข้ากับบริบทท้องถิ่นที่ฉันอาศัยอยู่


BL —
Do you think seasons affect the way you work? Thinking of Thailand we don’t feel that much of the change of seasons. It is like summer all year. The tremendous change in seasons in Europe made us notice more of the changes in nature. Do you agree with that?


Bume —
Actually it’s a big shift. Since I was in Sweden, I can sense the season change radically unlike in tropical countries like Thailand. Our bodies need to adapt accordingly to the season, and our biorhythms change also. It’s more gloomy and rainy here in Belgium. It made me start missing the sun more than ever.

I also notice the micro season. For example at the beginning of spring. There is a particular time when a flower like magnolia will bloom for one week. You can divide the micro season into weeks and we will have fifty-two seasons per year. I can see this week is the week of these plants and later is another. It’s like a timeline of nature to see what you can forage. From there you know when is the time for which plants you can eat. It’s a way to appreciate the context of nature. It’s the beauty of it. If you work too hard and distance yourself from noticing it, you will miss the thing you want to forage and have to wait until next year.


BL —
คุณคิดว่าฤดูกาลส่งผลต่อวิธีการทำงานของคุณมั้ย? คิดถึงประเทศไทยแล้วฉันไม่ค่อยรู้สึกถึงความต่างของการเปลี่ยนฤดูกาลเท่าไหร่ เพราะอากาศร้อนเหมือนฤดูร้อนตลอดทั้งปี การเปลี่ยนแปลงฤดูกาลอย่างชัดเจนในยุโรปทำให้เราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติมากกว่า คุณเห็นด้วยมั้ย?


บุ๋ม —
จริงๆ แล้วมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก ตั้งแต่ตอนที่ฉันอยู่ที่สวีเดนแล้ว ฉันรู้สึกความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรุนแรงมาก ไม่เหมือนประเทศในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย  ร่างกายและจังหวะชีวิตต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ในเบลเยียมฝนตกบ่อยและค่อนข้างหดหู่ ทำให้ฉันเริ่มที่จะคิดถึงพระอาทิตย์มากกว่าปกติ 

ฉันยังสังเกตเห็นฤดูกาลย่อยๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่นในตอนต้นของฤดูใบไม้ผลิ มันจะมีช่วงเวลาเฉพาะที่ดอกไม้อย่างแมกโนเลียจะบานเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ คุณจะเห็นฤดูกาลย่อยๆ นี้ได้แบบรายสัปดาห์ ปีนึงเรามี 52 สัปดาห์ ฉันจะเห็นว่าแต่ละอาทิตย์พืชชนิดไหนจะโต และชนิดไหนจะเกิดขึ้นตามมา เป็นไทม์ไลน์ของธรรมชาติที่เอาไว้ดูว่าคุณจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงไหนบ้าง จากจุดนั้นคุณจะรู้ว่าช่วงเวลานี้จะมีพืชชนิดนี้ให้คุณกิน มันเป็นวิธีนึงที่จะชื่นชมบริบทของธรรมชาติ ฉันคิดว่ามันสวยงาม ถ้าคุณทำงานหนักมากๆ และออกห่างจากการสังเกตการณ์นี้ คุณก็จะพลาดสิ่งที่คุณอยากเก็บ ทำให้ต้องรอไปจนถึงปีหน้า


Dohee —
It’s so romantic!


Bume —
I work more with the context of nature in terms of weather, temperature, and surroundings. It’s about nature and the senses that I perceived through my experience. It could be called conceptual or self-searching.


โดฮี —
มันโรแมนติกมากเลย!


บุ๋ม —
ฉันทำงานกับบริบทธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ อุณหภูมิ และสิ่งรอบตัว มันเกี่ยวกับธรรมชาติและสัมผัสที่ได้จากประสบการณ์ของฉันเอง อาจจะเรียกมันว่าเป็นการทำงานคอนเซ็ปชวลหรือเป็นการค้นหาตัวเองก็ได้


BL —
When you move to another country you have a different perception of time or you even see it much more in detail. Like you said that you see the changes in nature divided into weeks. It’s amazing to hear that.


Bume —
One more thing I would like to share is what I read from the book about an Italian tradition to pick unripe walnuts on the 24th of June. The unripe walnuts look like lime. You have to collect it at the right time, so you can use it to make a traditional Italian walnut liqueur that is called nocino. It takes seven months to ferment. You have to open the jar every month to let it burp a bit to get some air, let it ferment until five months, and add more spices. Then you have to ferment further for two more months. 

Another thing you can do with walnuts is pickling the walnuts. I’m very curious about the taste so I searched for the recipe online. There is a British recipe in which they eat it with a piece of steak. The acidity in walnut evolves into a taste palate and it contrasts with its acidity to the piece of steak.

The walnut will turn very black when we pickle it.


BL —
พอคุณย้ายประเทศ คุณก็จะรับรู้เวลาแตกต่างออกไป หรือแม้กระทั่งคุณจะเห็นมันในรายละเอียดมากขึ้น อย่างที่คุณบอกคุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในระดับสัปดาห์ น่าทึ่งมากที่ได้ยินอะไรแบบนี้


บุ๋ม —
อีกอย่างที่ฉันอยากจะเล่าให้ฟัง ฉันอ่านมาจากหนังสือเกี่ยวกับประเพณีการเก็บวอลนัทดิบในทุกๆ วันที่ 24 ของเดือนมิถุนายน วอลนัทดิบมันจะดูเหมือนกับมะนาวน่ะ คุณจะต้องเก็บมันในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ถึงจะสามารถใช้มันทำเหล้าวอลนัทสไตล์อิตาเลียนที่เรียกว่าโนชิโนได้ มันใช้เวลาตั้งเจ็ดเดือนที่จะดองมัน คุณต้องคอยเปิดฝาเหยือกหมักทีละนิดทุกๆ เดือนเพื่อให้อากาศเข้าไปจนกระทั่งครบห้าเดือน จากนั้นก็เติมเครื่องเทศ แล้วดองมันต่ออีกสองเดือน


อย่างอื่นๆ ที่ทำจากวอลนัทได้ก็มีวอลนัทดอง ซึ่งฉันสงสัยในรสชาติของมันมาก ฉันเลยเสิร์ชหาสูตรอาหารออนไลน์ มันมีสูตรอาหารอังกฤษที่เขากินมันกับสเต็ก กรดที่อยู่ในวอลนัทจะเข้าไปตัดรสชาติของกรดในเนื้อสเต็ก ตัววอลนัทดอกมันจะกลายเป็นสีดำๆ พอเราดองมัน


BL —
What are you working on now Dohee?


Dohee —
I’m quite out of the context since I moved back here. But now I’m interested in making illustrations on the real stuff. For example, I’m doing a tied-dye with my t-shirt. And I’m planning to do silkscreen and make
a zine with screen-printing or risograph.

Lately, I’ve been drawing some arts that are inspired by daily affirmations after doing yoga. My yoga teacher teaches me to do affirmation every day and it changes my day every day in a good way. Maybe I’m gonna illustrate it on the zine. So as people see the zin and follow the pages with the affirmation, they can use it as one of the ways to meditate and to be in the present.


BL —
ตอนนี้คุณทำงานอะไรอยู่บ้างโดฮี?


โดฮี —
ฉันค่อนข้างหลุดออกไปจากสิ่งที่ฉันทำที่ไทยตั้งแต่ย้ายกลับมาที่เกาหลี แต่ว่าฉันกำลังสนใจที่จะทำภาพประกอบลงบนสิ่งของ ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้ฉันทำมัดย้อมเสื้อยืดของตัวเอง และกำลังวางแผนว่าจะลองทำซิลค์สกรีน และทำซีน (zine) ด้วยเทคนิคพิมพ์สกรีน ไม่ก็ริโซ่กราฟ

ไม่นานมานี้ ฉันก็วาดภาพประกอบความรู้สึกของฉันหลังทำโยคะด้วย อาจารย์สอนโยคะสอนให้ฉันขอบคุณตัวเอง (affirmation) ในทุกๆ วัน บางทีฉันอาจจะวาดมันออกมาเป็นซีน เพื่อที่คนจะได้ใช้มันโดยการเปิดแต่ละหน้าที่มีคำขอบคุณตัวเองอยู่ พวกเขาสามารถใช้มันเป็นหนึ่งในวิธีทำสมาธิและเพื่อทำให้อยู่กับปัจจุบัน

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 05.3 — DEAR READER, PLEASE READ: SHALL WE READ FURTHER?


Rawiruj Suradin (Rawiruj)
— Could you please introduce yourself? What did you do before founding Further Reading?


Januar Rianto (Januar) —
My name is Januar Rianto, a graphic designer. I run Each Other Company, a graphic design studio. We mainly work for cultural and creative clients, but also commercial clients like hospitality or F&B. Apart from Each Other Company, I also run Further Reading, a publication platform mainly focused on design subjects. Further Reading started two years after we started the studio. We have started the studio in 2015 and Further Reading in 2017. Through Further Reading we do exhibitions, publish printed publications, do curations and programmes both online and offline. We are based in Jakarta, but our contributors are from different places in the world.


รวิรุจ สุรดินทร์ (รวิรุจ) — 
อยากให้แนะนำตัวและเล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณทำอะไร และก่อนที่จะเกิด Further Reading คุณทำอะไรอยู่ก่อนหน้านี้?


จานัวร์ ริยันโต (จานัวร์)
เราชื่อจานัวร์ ริยันโต เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และทำบริษัทออกแบบกราฟิกชื่อ Each Other Company ซึ่งทำงานกับลูกค้าในแวดวงวัฒนธรรมและวงการสร้างสรรค์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีลูกค้าเชิงพาณิชย์ อย่างธุรกิจบริการ ธุรกิจอาหารด้วย นอกจาก Each Other Company เรายังทำ Further Reading แพลตฟอร์มเผยแพร่เนื้อหาที่มีความสนใจหลักเกี่ยวกับการออกแบบ Further Reading เกิดขึ้นในปี 2560 สองปีหลังจากเราเริ่มทำ Each Other Company ในปี 2558 สำหรับ Further Reading เราทำนิทรรศการ ตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ คิวเรทผลงาน และทำโครงการต่างๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เราทำงานที่เมืองจาการ์ตา แต่คนที่ร่วมงานกับเรามาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก


Rawiruj  —
Are there any members in Further Reading that come from the studio? How many people when you have started this? And can you tell us more about your initial involvement in graphic design?


Januar —
I started Further Reading with our team in the studio. We basically share the same interests. At first, we act like the editor of the project. So, we basically share our interests and our reading references together, then we discuss which one to publish, which one to share. So, from the start the team of Further Reading is pretty much the same as our studio team. We had three people when we started. It was me, one designer, and one intern, and we basically talked during lunch. There is the problem of design education in Indonesia. Because it is not much of a critical discourse within the educational system. It is not much of a discussion going on even within the institutions, within the schools or anything. We think that we have to fill in the gap by providing an alternative, so we decided to start Further Reading.

Actually I have never studied graphic design in Indonesia. I took my diploma in graphic design in Kuala Lumpur and then transferred to graphic design in London. But my designers are mostly from Indonesia, they are quite familiar with the education situation here.


รวิรุจ —
สมาชิกที่อยู่ใน Further Reading มาจากสตูดิโอด้วยรึเปล่า? คนที่เกี่ยวข้องในตอนเริ่มต้นมีกี่คน? อยากให้ช่วยเล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการออกแบบกราฟิก


จานัวร์ —
เราเริ่ม Further Reading ร่วมกับทีมในสตูดิโอ เพราะพวกเรามีความสนใจที่ตรงกัน ในช่วงเริ่มต้นพวกเราทำหน้าที่เป็นเหมือนบรรณาธิการของโปรเจกต์ เรามีเรื่องที่สนใจร่วมกันและแชร์แหล่งข้อมูลของสิ่งที่เราอ่านกัน จากนั้นเราเริ่มมาคุยกันว่าสิ่งไหนควรถูกแชร์ หรือถูกเผยแพร่ออกไป ในตอนเริ่มต้นทีมของ Further Reading คือทีมเดียวกันกับทีมของสตูดิโอ เราเริ่มต้นกันสามคนคือ ตัวเรา ดีไซน์เนอร์อีกคน และอินเทิร์น คุยกันในช่วงเวลาอาหารกลางวัน มันมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องการออกแบบในอินโดนีเซีย ปัญหาคือเราไม่มีการพูดคุย ถกเถียงในเชิงวิพากษ์เท่าไหร่ในวงการการศึกษา ทั้งในโรงเรียน หรือสถาบันต่างๆ พวกเรารู้สึกว่าเราต้องเติมเต็มช่องว่างนี้โดยการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจ นั่นคือจุดที่ทำให้เราตัดสินใจทำ Further Reading

ความจริงแล้วเราไม่เคยเรียนกราฟิกดีไซน์ในอินโดนีเซีย เราเรียนกราฟิกดีไซน์ในกัวลาลัมเปอร์ และย้ายไปเรียนที่ลอนดอน แต่นักออกแบบของเราส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย และพวกเขาก็ค่อนข้างคุ้นเคยกับสถานการณ์ด้านการศึกษาที่นี่ดี


Rawiruj —
We can see that for your studio and Further Reading, you have a very different goal for them. What are their starting points? And why do you become interested in texts, stories and research?


Januar —
I think the starting point was when I found the studio in 2015. Before I started Each Other Company I was working in the small graphic design studio where it mostly deals with art, like art catalogues or art exhibition identity. Because it was my first official job when I returned to Indonesia, so at the time I was not really exposed to the industry as a whole. So, for my own studio I would like to explore graphic design as a discipline, graphic design like my time back in the university in Kuala Lumpur and London. The studio started with two main focuses, fifty percent we want to focus on client projects. And because of the size of the studio we have to come up with a side project. So it is to balance out between the commercial and the idealism side of the studio, to see it as an important practice for us to not just do commercial works but also keep exploring, keep developing our criticality, our design thinking. We produce various side projects, and one of them is Further Reading. It is one of the most recognizable projects, so we try to grow it, to make it more serious. Now we treat it as a new entity.


รวิรุจ —
เราเห็นได้ชัดว่าคุณมีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างสตูดิโอและ Further Reading จุดเริ่มต้นเหล่านั้นคืออะไรและทำไมคุณถึงหันมาสนใจในตัวบท เรื่องราว และงานวิจัย?


จานัวร์ —
เราคิดว่าจุดเริ่มต้นมาจากการเริ่มทำ Each Other Company ในปี 2558 ก่อนที่จะเริ่มทำสตูดิโอนี้ เราทำงานในสตูดิโอกราฟิกเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับศิลปะ อย่างการทำแคตตาล็อกศิลปะ หรือการผลิตอัตลักษณ์ให้กับนิทรรศการศิลปะ แต่เพราะนั่นเป็นงานแรกที่เราทำหลังจากกลับมาอินโดนีเซีย เวลานั้นเราเลยยังไม่ได้รู้จักวงการมากนัก พอได้มาทำสตูดิโอของตัวเองเราก็เลยอยากสำรวจความเป็นไปได้ในการทำงานกราฟิกดีไซน์ในเชิงวิธีการทางกราฟิกดีไซน์เหมือนตอนที่ได้ทดลองในมหาวิทยาลัยที่กัวลาลัมเปอร์และลอนดอน สตูดิโอมีความสนใจหลักสองอย่าง ครึ่งหนึ่งเราโฟกัสกับงานของลูกค้า และด้วยขนาดของสตูดิโอเราอยากมีการทำโปรเจกต์เสริมด้วย มันเลยกลายเป็นการหาสมดุลระหว่างงานด้านพาณิชย์ และแง่มุมเชิงอุดมคติของสตูดิโอ เพื่อมองหาความสำคัญของการทำงานที่ไม่ใช่แค่โปรเจกต์เชิงพาณิชย์ แต่ยังคงทำการสำรวจ พัฒนาวิธีคิดเชิงวิพากษ์ และวิธีคิดทางการออกแบบ ควบคู่กันไป เราทำโปรเจกต์เสริมหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ Further Reading และมันกลายเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด เราเลยอยากจะพัฒนาและจริงจังกับมันมากขึ้น ตอนนี้เรามองมันเป็นเหมือนกับพื้นที่ใหม่


Napisa Leelasuphapong (Napisa) —
I would like to go back a little bit. You said that you share references between your colleagues. Where do those references come from? Having an educational background in design, we see the problem in design education here in Thailand too, the problem that we may lack the references, especially good resources for those references, like a place for books, magazines, and researches on design.


Januar —
We were lucky because when we started Further Reading all of us like stories. Basically we have a lot of bookmarks on our web browsers, and we started from there, curated our own references, and discussed which one to publish. The name Further Reading is part of the textual references. It was a quick reference, we want it to be short but also substantial. At first most of our references came from other publications, other books and magazines, or references that are already available on the internet. Because we think that there are a lot of references that are not really well exposed to the readers. I think it is important to bring literature to the surface so people can have access to the reading. That is what we do for the online platform. We slowly do more segments, we do the projects like Bookmark, Bookshelf etc. Then we start to invite our friends to share their own reading references.


Pic.1 — Bookshelf project by Further Reading posted on an instagram. In this image are the books recommended by Alice Rawsthorn including Radical Technologies: The Design of Everyday Life by Adam Greenfield, Invisible Women by Caroline Criado-Perez, Radical Help by Hilary Cottam, AK47: The Story of the People’s Gun by Michael Hodges, Irma Boom: The Architecture of the Book by Irma Boom.

In 2018 we came up with our own contents by doing a printed publication called
Further Reading Print No.1. The starting point was that during my trip to London last year I rarely saw design books or design magazines from Southeast Asia, so from that trip me and my team thought it would be a good idea to have a space for people from the region, people from Asia to bring out their voices. 


Pic.2 — Further Reading Print No.1, the first printed publication by Further Reading.


นภิษา ลีละศุภพงษ์ (นภิษา) —
ขอย้อนกลับไปที่คุณบอกว่าคุณแชร์แหล่งข้อมูลหนังสือหรือบทความระหว่างกันในสตูดิโอ แหล่งข้อมูลพวกนั้นมาจากไหน? ด้วยความที่เราก็เรียนเกี่ยวกับการออกแบบมาเหมือนกัน เราเห็นปัญหานี้เช่นกันในประเทศไทย ซึ่งอาจเกิดจากการที่เราขาดแหล่งข้อมูลอ้างอิง โดยเฉพาะแหล่งทรัพยากรและการเข้าถึงสำหรับข้อมูลพวกนั้น อย่างสถานที่ที่มีหนังสือ นิตยสาร หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกราฟิกดีไซน์


จานัวร์ —
พวกเราโชคดีที่ Further Reading เริ่มต้นจากความสนใจในเรื่องราวเหมือนกัน ทำให้เรามีบุ๊คมาร์คในเว็บเบราเซอร์เยอะมาก เราเลยเริ่มจากตรงนั้น คัดเลือกแหล่งอ้างอิงของพวกเรา และคุยกันว่าอันไหนที่ควรจะเผยแพร่ออกไป ชื่อ Further Reading เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการพูดถึงการอ้างอิงตัวบท แหล่งอ้างอิงพวกนี้ถูกรวบรวมขึ้นแบบเร็วๆ เราอยากให้มันสั้นแต่ได้ใจความ จุดเริ่มต้นแหล่งอ้างอิงเหล่านั้นมาจากสิ่งพิมพ์อื่นๆ หนังสือ หรือนิตยสารซึ่งมีอยู่ในอินเทอร์เน็ต เพราะพวกเรารู้สึกว่ามีแหล่งอ้างอิงจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้ผู้อ่านได้เห็นทั่วไป เราคิดว่ามันสำคัญที่งานเขียนควรถูกทำให้พบเห็นได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้อ่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ เราค่อยๆ เพิ่มส่วนอื่นๆ เข้าไป อย่าง Bookmark Bookshelf และอื่นๆ จากนั้นเราก็ชวนเพื่อนที่รู้จักเข้ามาแชร์แหล่งข้อมูลที่พวกเขามี


รูป 1 — โปรเจกต์ Bookshelf โดย Further Reading โพสต์บนอินสตาแกรม ในภาพคือหนังสือที่แนะนำโดย อลิส รอวสตอน ได้แก่ Radical Technologies: The Design of Everyday Life โดย อดัม กรีนฟีลด์ Invisible Women โดย คาโรลีน ครีอาโด เปเร่ Radical Help โดย ฮิรารี คอทแทม AK47: The Story of the People’s Gun โดย มิคาเอล ฮอด์จ Irma Boom: The Architecture of the Book โดย เออร์มา บูม

ปี 2561 เราเริ่มสร้างเนื้อหาขึ้นเองผ่านการทำสิ่งพิมพ์ Further Reading Print No.1 ซึ่งเริ่มมาจากทริปที่ลอนดอนเมื่อปีที่แล้วที่เราแทบไม่เห็นหนังสือหรือนิตยสารที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย จากทริปนั้นทำให้พวกเราคิดว่าน่าจะดีถ้าเราสร้างพื้นที่ให้กับผู้คนในภูมิภาค ผู้คนในเอเชีย ให้สามารถแสดงตัวตนพวกเราออกไปได้


รูป 2 — Further Reading Print No.1 สิ่งพิมพ์เล่มแรกโดย Further Reading


Napisa —
That should be the reason you did the open call for the publication. What about your role in this
Further Reading Print No.1 publication project?


Januar —
I was more in design and creative directing in the past, and I also did some curations. So, I think what I can do best is to help edit all these texts and then come up with editorial concepts or editorial approaches for the publication. We also  have in our team a writer, so a few of the content in the publication are from our team, some articles and photo essays in the publication.


นภิษา —
เหตุผลในการเปิดโอเพ่นคอล (open call) ให้กับหนังสือเล่มนี้คงมาจากตรงนั้น ในส่วนของบทบาทคุณในโปรเจกต์สิ่งพิมพ์
Further Reading Print No.1 นี้มีอะไรบ้าง?


จานัวร์ —
เรามีประสบการณ์ในการออกแบบ กำหนดทิศทางของงานสร้างสรรค์ และเคยคิวเรทผลงานมาก่อน เราคิดว่าบทบาทที่เราทำได้ดีที่สุดในตอนนี้คือช่วยเรียบเรียงเนื้อหา และวางคอนเซปต์ของงานบรรณาธิการสำหรับสิ่งพิมพ์เล่มนี้ ในทีมเรามีนักเขียนอยู่ด้วย ดังนั้นเนื้อหาบางส่วนของเล่มนี้ก็มาจากทีมของเราเอง อย่างพวกบทความและภาพเล่าเรื่อง (photo essay)


Napisa —
So, it is a combination of making the contents by your team, editorial design and content selection.


Januar —
Yeah, what we did with the open call is basically to get the writings and the perspectives from people that we have not known yet but we can see they have interesting points of view. Apart from that, we also invited some of our friends that we know their practices reflected the theme of the publication. There are various methods for the content of the publication.


นภิษา —
ในเล่มเลยเป็นการผสมระหว่างเนื้อหาที่มาจากทีมคุณเอง การออกแบบงานบรรณาธิการ และการคัดเลือกเนื้อหา


จานัวร์ —
ใช่ การที่เราเลือกเปิดรับเนื้อหาแบบโอเพ่นคอล เป็นเพราะเราต้องการได้งานเขียนที่มีมุมมองจากผู้คนที่เราอาจไม่รู้จักมากนัก แต่ทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจ นอกจากนั้นเรายังชวนเพื่อนๆ ที่เรารู้ว่างานของพวกเขาสะท้อนถึงสาระสำคัญของโปรเจกต์ เราใช้วิธีการหลากหลายในการได้มาซึ่งเนื้อหาของสิ่งพิมพ์เล่มนี้


Napisa —
I have your publication here. I can see that you had an interview with the
Southland Institute from Los Angeles, Signals from the Periphery from Tallinn, Temporary Academy for Un/Re/ Learning from Manila. And I can see that actually many contributors are not from Southeast Asia. How do you come in contact with them? I can see from the interviews you asked the same questions with different design collectives or institutions. You have done all of them with online communications or you also meet some of them in person?


Januar —
The interview section in the first issue of our publication came about from the book that I bought when I went to London. The book is Extra-curricular by Jacob Lindgren, published by Onomatopee. It is about design collectives and some sort of design education alternatives. It is a compilation of interviews on and around the topic of self-organised learning, curriculum, experiments and alternatives in graphic design education.


Pic. 3-5 — Extra-curricular by Jacob Lindgren published by Onomatopee.

We think that the subject is suitable for our first issue so we basically sent them an email introducing ourselves who we are, what is Further Reading and what we are trying to do with it. We also explained what the theme of the publication is about and then started from there. It started from the email and then we asked if there were available for an interview.

We basically want to use the same question for the interview and try to get the perspectives from Europe, Southeast Asia and the US. And then you can see, maybe, the differences or similarities between practices from different places.

The interviews happened through emails. We asked the questions mainly with email and sometimes it was going back and forth if we needed some clarifications. It was less interactive but still interactive.


นภิษา —
เรามีหนังสือเล่มนี้อยู่กับเราตรงนี้ เห็นว่ามีการสัมภาษณ์
Southland Institute จากลอสแอนเจลิส Signals from the Periphery จากเมืองทาลลินน์ Temporary Academy for Un/Re/ Learning จากมะนิลา และเรายังเห็นว่ามีผู้เข้าร่วมอีกหลายคนที่ไม่ได้มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณติดต่อพวกเขาเหล่านี้ด้วยวิธีการอะไร?  เรายังเห็นว่าคุณใช้คำถามสำหรับการสัมภาษณ์ชุดเดียวกันกับทุกคน คุณสื่อสารออนไลน์กับทุกคนหรือมีการสัมภาษณ์แบบเจอตัวกันด้วย?


จานัวร์ —
แนวคิดในส่วนของบทสัมภาษณ์ในเล่มแรกนี้มาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่เราซื้อมาเมื่อตอนไปลอนดอน ชื่อว่า
Extra-curricular โดย ยอคอบ ลินด์เกรน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Onomatopee เกี่ยวกับกลุ่มนักออกแบบ และกลุ่มการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ในลักษณะทางเลือก มันประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ทั้งโดยตรงและรอบๆ เรื่องการจัดการการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลักสูตร การทดลอง และการศึกษากราฟิกดีไซน์แบบทางเลือก


รูป 3-5 — Extra-curricular โดย ยอคอบ ลินด์เกรน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Onomatopee

พวกเรารู้สึกว่าหัวข้อนี้เข้ากันได้กับหนังสือเล่มแรกที่พวกเราจะทำ เราเลยส่งอีเมลไปแนะนำตัวกับกลุ่มที่เราสนใจว่า Further Reading คือใคร และพวกเรากำลังทำอะไร รวมถึงอธิบายว่าสาระสำคัญของหนังสือเกี่ยวข้องกับอะไร เราเริ่มจากอีเมลตรงนั้นและคุยกับคนที่เราต้องการสัมภาษณ์ว่าสะดวกให้พวกเราสัมภาษณ์รึเปล่า

เราต้องการใช้คำถามที่เหมือนกันเพื่อดูมุมมองต่างๆ ทั้งจากยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกา จากบทสัมภาษณ์เราอาจได้เห็นสิ่งที่เหมือนหรือแตกต่างกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ 

บทสัมภาษณ์เกิดขึ้นผ่านอีเมลและมีการถามตอบไปมาหากเราต้องการคำอธิบายบางอย่าง มันอาจจะไม่เกิดการโต้ตอบโดยทันที แต่ก็ยังมีการปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในนั้น


Rawiruj —
How do you decide which content should go online and which content should be published in a physical form?


Januar —
That was our discussions in the first place. Because we started the online first and it was mainly a reposting from other people’s writings, we only curated and republished, and then printed publication came about because a lot of our friends and our readers asked about original contents like some new writings, some new works. So we discussed the idea internally and decided to differentiate the content between the online and the publication. The way we differentiate, I think, was mostly based on the medium we are working on. For the online, it has to be quicker, faster content. What we do online is basically very loose, very casual, we do not have a specific theme. It could be any subject. And for the print, we have more time to select which one is more suitable, we want to focus on one specific theme and really dig deep into the subject. I think this is the main difference, the print may have more in-depth perspectives, in-depth analysis. People could read the print and have different experiences than the online and also different experiences from our other projects like our curations and exhibitions.


รวิรุจ —
คุณเลือกยังไงว่าเนื้อหาอันไหนควรจะถูกลงในแพลตฟอร์มออนไลน์และอันไหนควรตีพิมพ์ลงในหนังสือ?


จานัวร์ —
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันตั้งแต่แรก จากการที่เราเริ่มต้นจากออนไลน์ ด้วยวิธีการรีโพสต์เนื้อหาจากงานเขียนของคนอื่น เราทำหน้าที่คัดเลือก และตีพิมพ์ซ้ำ หลังจากนั้นเรามาทำสิ่งพิมพ์เพราะเพื่อนและผู้อ่านหลายคนของเราถามหาถึงเนื้อหาต้นฉบับ งานเขียนใหม่ๆ และผลงานใหม่ๆ พวกเราคุยเรื่องนี้กันภายในทีมและคิดว่าเราควรแยกเนื้อหาระหว่างออนไลน์และสิ่งพิมพ์ วิธีการแยกโดยหลักคือดูจากสื่อที่เราใช้ สำหรับออนไลน์ เนื้อหาย่อมเร็วกว่า กระชับกว่า สิ่งที่เราทำสำหรับออนไลน์ค่อนข้างยืดหยุ่นกว่า และไม่มีธีมหลัก สามารถเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ได้ แต่สำหรับสิ่งพิมพ์ เรามีเวลามากกว่าในการคัดเลือกว่าเนื้อหาอันไหนเหมาะสม เราต้องการมุ่งประเด็นไปในสาระสำคัญที่ชัดเจน และคิดให้ลึกลงในเรื่องนั้นๆ เราคิดว่านี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด สิ่งพิมพ์มีมุมมองที่ลึกซึ้งมากกว่า การวิเคราะห์ที่ลงลึกมากกว่า คนอ่านสามารถอ่านหนังสือที่เราทำและได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากแพลตฟอร์มออนไลน์และโปรเจกต์อื่นๆ ที่เราทำ อย่างการคิวเรทหรือการทำนิทรรศการ


Rawiruj —
What about the reader? I think it is easier for an online platform to reach more audiences, but for the printed publication how do you distribute it and how the reader can reach it? What is the main channel to bring it out?


Januar —
We mainly distribute through art book fairs, it is our main channel. And through art book fairs we get to meet people who actually own a bookshop. It was started from there and then for now we work with a few bookstores and independent bookshops. There are independent bookshops in Indonesia in major cities like Jakarta, Bandung, Surabaya. And we also try to distribute in the region, in Singapore through Basheer, also in Shanghai and South Korea. So it is basically through friends. Some bookshops reached out to us too, because they follow us on instagram. They know us from our online platform.


รวิรุจ —
แล้วเป้าหมายเรื่องผู้อ่านล่ะ เราคิดว่ามันง่ายกว่าแน่ๆ สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า แต่สำหรับสิ่งพิมพ์ คุณกระจายมันออกไปสู่ผู้อ่านยังไง หรือผู้อ่านจะเข้าถึงมันได้จากทางไหนบ้าง ช่องทางหลักที่เผยแพร่โปรเจกต์สิ่งพิมพ์นี้ออกไปคืออะไร?


จานัวร์ —
หลักๆ ของการกระจายหนังสือคือผ่านงานหนังสือศิลปะ อันนี้คือช่องทางหลักของพวกเรา และจากงานหนังสือศิลปะเหล่านั้น ทำให้เราได้พบคนที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือ จากจุดเริ่มต้นตรงนั้นทำให้ตอนนี้เราทำงานร่วมกับร้านหนังสือ และร้านหนังสืออิสระ มีร้านหนังสืออิสระในเมืองใหญ่ๆ ของอินโดนีเซียอย่าง จาร์กาตา บันดุง ซูราบายา และเรายังกระจายมันออกไปในภูมิภาคด้วย อย่างในสิงคโปร์ผ่านร้านหนังสือ Basheer รวมถึงในเซี่ยงไฮ้และเกาหลีใต้ นั่นคือผ่านกลุ่มเพื่อนๆ ร้านหนังสือบางร้านก็ติดต่อมาหาเรา เพราะพวกเขาติดตามเราในอินสตาแกรม พวกเขารู้จักเราผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม


Rawiruj —
How active is independent book publishing in Indonesia? And has Further Reading ever been introduced to bigger audiences, like joining art book fairs in other countries?


Januar —
For independent publishing, actually we had zine festivals in the past, like photocopy zine with very diverse content, mostly on music and art subjects. And there is the Jakarta Art Book Fair which I’m also part of. We want to build the ecosystem, for bolder subjects like design, photography, maybe more writings, more texts. In terms of the scene, we don’t have a lot of bookshops, like design or art related bookshops. But I think there are several shops that sell books online. The scene I think is bigger for the art in general like art exhibition, but for the publishing I think there are more works to be done. It needs more supports, more developed ecosystem. But it is a good starting point that we have something like the Jakarta Art Book Fair. Because there are a lot of independent publications, independent zine makers, so I think they need a platform which can accommodate all that. And for approaching broader audiences, we joined Singapore Art Book Fair, and Shanghai Art Book Fair last year.


รวิรุจ —
วงการหนังสืออิสระในอินโดนีเซียมีความตื่นตัวแค่ไหน และ Further Reading ได้ออกไปหากลุ่มผู้อ่านที่กว้างขึ้นอย่างการไปร่วมงานหนังสือศิลปะที่ประเทศอื่นบ้างรึเปล่า?


จานัวร์ —
สำหรับวงการหนังสืออิสระที่นี่ เราเคยมี เทศกาลซีน (zine festival) ในอดีต อย่างซีนที่ทำขึ้นจากการถ่ายเอกสาร โดยมีเนื้อหาที่หลากหลายซึ่งโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับดนตรี และศิลปะ ตอนนี้มี
Jakarta Art Book Fair ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน พวกเราต้องการสร้างระบบนิเวศ ของหัวข้อที่ชัดเจน อย่างการออกแบบ ภาพถ่าย อาจรวมถึงงานเขียนที่มากขึ้น โดยภาพรวมเราไม่ได้มีร้านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและศิลปะมากนัก แต่เราคิดว่ามีอยู่จำนวนหนึ่งที่สามารถหาซื้อได้จากร้านหนังสือออนไลน์ เราคิดว่าโดยรวมแล้ววงการศิลปะอย่างการจัดนิทรรศการจะใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับวงการสิ่งพิมพ์ สำหรับวงการสิ่งพิมพ์มีหลายเรื่องที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ วงการนี้ต้องการการสนับสนุน และ ระบบนิเวศของมันควรถูกพัฒนามากขึ้น แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เรามี Jakarta Art Book Fair เพราะมีสิ่งพิมพ์อิสระ และกลุ่มคนทำซีนจำนวนมาก เราคิดว่าควรจะมีแพลตฟอร์มที่สามารถรวบรวมทุกอย่างไว้ด้วยกันได้ ส่วนการเข้าถึงกลุ่มคนอ่านที่กว้างขึ้น เราได้ไปร่วมงาน Singapore Art Book Fair และ Shanghai Art Book Fair เมื่อปลายปีที่ผ่านมา


Rawiruj —
Are there any difficulties in terms of the language of the content? I think sometimes local contents in local languages are difficult to translate. Something is lost, or can not be properly replaced by other languages. How do you think it is best to present it to broader audiences?


Januar —
We would like to reach out to broader audiences, maybe international audiences. So we started using English for our Instagram. The print also carries the same purpose, so we continue to use English. But if you noticed, there is one article in the printed publication that is written in Indonesia. We did actually translate the article but we feel that a lot of meaning has been reduced by translating them. So we try to keep the article in its original language and also because our publication is in the form of a magazine I think it still suitable to have different languages in one publication. But we think of refining the translation and maybe update the article with translated pages in the coming updated version.

There is certainly a challenge in translating local content to English. We are close with our contributors in its original language, so we make sure that the content in Indonesia version is already correct for its meaning and we only translate it into English. I think it is important to have local contents in English because it also introduces our content to a broader audience. To use English to communicate our local contents is a tool to introduce our value to the west. It works like a bridge to fill in the gap in the discourse, to keep our locality in the conversation.


รวิรุจ —
มีความยากในเรื่องของภาษาของเนื้อหาบ้างมั้ย เราคิดว่าบางครั้งเนื้อหาเฉพาะในพื้นที่ ที่มีการใช้ภาษาเฉพาะอาจมีความซับซ้อนในการแปล บางอย่างอาจหายไประหว่างการแปล หรือไม่ก็ไม่สามารถหาคำในภาษาอื่นมาทดแทนกันได้ คุณคิดว่าวิธีการนำเสนอที่ดีที่สุดสำหรับผู้อ่านในวงกว้างคืออะไร?


จานัวร์ —
พวกเราต้องการเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้าง ซึ่งอาจรวมถึงผู้อ่านทั่วโลก เราเลยเริ่มจากการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับอินสตาแกรม สิ่งพิมพ์ก็มีเป้าหมายอันนี้เช่นเดียวกัน เราเลยเลือกใช้ภาษาอังกฤษ แต่ถ้าลองอ่านดูจะเห็นว่ามีบทความหนึ่งในหนังสือที่ใช้ภาษาอินโด บทความนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วแต่พวกเรารู้สึกว่าความหมายหลายอย่างขาดหายไป เราเลยเก็บบทความนี้ไว้ในภาษาเดิมตามที่มันถูกเขียน และด้วยความที่สิ่งพิมพ์นี้มีลักษณะแบบนิตยสาร เราคิดว่ามันก็เหมาะสมที่จะมีภาษาอื่นรวมอยู่ด้วยในเล่มเดียวกัน แต่พวกเราก็คิดกันถึงการแก้ไขตัวบทความที่แปลไว้ และเราอาจจะอัพเดทบทความนี้ในเล่มอัพเดทที่จะเกิดขึ้นโดยการเพิ่มหน้าที่แปลเข้าไป

ความท้าทายเกิดขึ้นแน่นอนในการแปลเนื้อหาเฉพาะพื้นที่ให้เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความที่เราสนิทกับผู้ทำงานชิ้นนี้ในภาษาดั้งเดิม พวกเราเลยตรวจดูให้มั่นใจว่าเนื้อหาในภาษาอินโดเดิมนั้นมีความหมายต่างๆ ถูกต้อง ก่อนที่จะนำมาทำการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราคิดว่าการแปลเนื้อหาเฉพาะพื้นที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นสำคัญสำหรับการเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านที่กว้างขึ้น การใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเนื้อหาเฉพาะพื้นที่เป็นเครื่องมือที่จะนำเสนอคุณค่าของพวกเราสู่ตะวันตก เครื่องมือที่ทำงานเหมือนเป็นสะพานข้ามช่องว่างของการสื่อความ เพื่อให้ถิ่นที่อยู่ของเราคงอยู่ในวงสนทนา


Napisa —
Do you mean this article Hybrid Modernism: Koleksi Label Produk dari Tahun 1950-an sampai dengan 1970-an written in Indonesian in Further Reading Print No.1? I think the images of these local packaging are interesting. Can you tell me about it?


Pic. 6 — Hybrid Modernism: Koleksi Label Produk dari Tahun 1950-an sampai dengan 1970-an written in Indonesian, spread from the article in Further Reading Print No.1.


Januar —
It was mainly an article that talks about modernity, especially in graphic design. 

The author of the article is a curator and a writer. He works a lot in art and cultural projects, so in this article he investigates graphic design modernism through packaging. The discussion is that modernity has never completely evolved, or has never completely fit in into our culture. He called it fifty percent modernity, so it has never fully completed. The reason it has never fully developed in our country is because we have such a diverse culture. In the packaging images you will see like Indonesia language, Chinese scripts, and also some English words. He specifically talked about the images, about these superhero images, how companies in Indonesia use superhero images to sell local contents. So it was mostly like a cross reference. In short, I think it is a proof that modernism has never fully embedded into our society because of our own locality, as it does happen in many southeast asian countries


นภิษา —
คุณหมายถึงบทความชิ้นนี้
Hybrid Modernism: Koleksi Label Produk dari Tahun 1950-an sampai dengan 1970-an ที่เขียนเป็นภาษาอินโดใน Further Reading Print No.1 ใช่มั้ย? เราคิดว่าภาพของแพคเกจเหล่านี้น่าสนใจ คุณช่วยเหล่าให้ฟังหน่อยว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร?


รูป 6 — หน้าตัวอย่างจากบทความ Hybrid Modernism: Koleksi Label Produk dari Tahun 1950-an sampai dengan 1970-an ที่ตีพิมพ์ใน Further Reading Print No.1


จานัวร์ —
บทความนี้พูดถึงความเป็นสมัยใหม่ (modernity) โดยเฉพาะในกราฟิกดีไซน์ ผู้เขียนเป็นคิวเรเตอร์และนักเขียน เขาทำโปรเจกต์หลายอย่างเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม สำหรับในบทความนี้เขาสำรวจความเป็นสมัยใหม่ในกราฟิกดีไซน์ผ่านบรรจุภัณฑ์ ข้อถกเถียงคือ ความเป็นสมัยใหม่นี้ไม่เคยได้มีวิวัฒนาการอย่างเต็มที่ หรือไม่เคยเข้ากันได้กับวัฒนธรรมของพวกเรา ผู้เขียนเรียกมันว่าเป็นเพียงห้าสิบเปอร์เซนต์ของความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ สาเหตุที่มันไม่เคยพัฒนาอย่างเต็มที่ในประเทศของเราก็เพราะวัฒนธรรมอันหลากหลายของอินโดนีเซีย ในรูปบรรจุภัณฑ์จะเห็นภาษาอินโด ตัวอักษรจีน และคำภาษาอังกฤษ เขายังพูดถึงรูปภาพ โดยเฉพาะรูปภาพซูเปอร์ฮีโร่และวิธีการที่บริษัทในอินโดนีเซียใช้ภาพซูเปอร์ฮีโร่ในการขายเนื้อหาท้องถิ่น มันเหมือนกับแหล่งอ้างอิงที่โยงไปสู่อย่างอื่น เรารู้สึกว่ามันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นสมัยใหม่ไม่เคยฝังตัวอยู่ในสังคมเราจริงๆ เพราะความเฉพาะตัวของท้องถิ่นเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


Napisa —
It reminds me of the book by a Thai designer/writer, Pracha
Suveeranont, Thai Thai, it was published almost ten years ago. He writes about the visual language in design works and advertisements that have ‘Thai Thai’ condition. ‘Thai Thai’ is Thai street culture or vernacular culture. Using ‘Thai Thai’ by doubling the previous word, in Thai language is to dilute the meaning of the word itself. For example, when you say ‘Dang dang’ (dang means red in Thai), it means something that is not really red. This Thai street culture became widely researched and gained more popularity among the designers than traditional Thai style during that period of time. He analysed this phenomenon through various kinds of design medium whether movie poster, advertisement, and packaging. The book also contains an article referring to The Others Within by Thongchai Winichakul, a Thai academic. He writes about the way Siamese elites in the time of colonization look at Thai villagers as ‘the other’ imitating the way the westerner looks at Their colonized people.


Pic. 7 — ไทยๆ (Thai Thai) by Pracha Suveeranont


Pic. 8 — Images inserted in the article The Others Within by Thongchai Winichakul, the photographs of Mr.Khanang dressed as a ‘Ngo’, a character in Thai literature Ngo Pa written by His Majesty King Chulalongkorn (King Rama V).

Talking about this book, it’s a long time ago I couldn’t find a book that really deals with design culture by Thai author. This country is also lacking this kind of content.

You said in the beginning that you want to interact with other disciplines. Why do you want to do that? It is my observation that a lot of graphic designers are interested in this kind of initiating project that goes beyond the traditional graphic medium, like doing an exhibition. Why do you think a lot of graphic designers are interested in this kind of work?


Januar —
Because graphic design is such a facilitating discipline, so we basically, in a way, a communicator for other disciplines. Back in the day, I worked in a design studio that works quite a lot on art. We basically did exhibition identity or art catalogue for them. Graphic design is mainly facilitating art to communicate to the public, so I think because of this means of the discipline that makes most graphic designers interested in exploring the potential of working with other disciplines because graphic design is never really working on itself. 

In a broader sense, graphic design has always existed around other disciplines. Even doing a publication, we are working with a printer, a bookshop, a contributor etc., and contributors are also from different backgrounds, different disciplines, like art, architecture. So I think that is a reason it is, in a way, so flexible.


นภิษา —
มันทำให้ฉันนึกถึงหนังสือชื่อ
ไทยๆ โดยนักออกแบบและนักเขียนชาวไทย ชื่อประชา สุวีรานนท์ ตีพิมพ์เมื่อเกือบสิบปีก่อน เขาเขียนถึงภาษาภาพในงานออกแบบและโฆษณาที่มีความเป็น ‘ไทยๆ’ คือความเป็นไทยแบบชาวบ้าน ที่เห็นได้ตามท้องถนน การใช้คำว่า ‘ไทยๆ’ โดยเติม ‘ๆ’ ประชาให้เหตุผลว่าเป็นการทำให้ความเป็นไทยเจือจางลง คล้ายๆ กับการพูดว่าอะไรสีแดงๆ ก็คือไม่ใช่สีแดงซะทีเดียว ‘ไทยๆ’ เป็นปรากฎการณ์ที่ก้าวมาเป็นองค์ความรู้ที่ดูเหมือนจะโดดเด่นเป็นไทยมากกว่าไทยประเพณี เขาเขียนถึงมันผ่านการวิเคราะห์งานสร้างสรรค์หลายแขนง เช่น โปสเตอร์ภาพยนตร์ โฆษณา บรรจุภัณฑ์ ในเล่มยังมีข้อเขียนที่ดึงมาจากบทความ The Others Within โดยธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการไทยที่เขียนถึงการมองชาวบ้านเป็น ‘คนอื่น’ ของชนชั้นนำสยามในยุคล่าอาณานิยม ที่หยิบยืมแนวคิดต่างชาติมาใช้มองคนไทยด้วยกันเองด้วย


รูป 7 — ไทยๆ โดยประชา สุวีรานนท์


รูป 8 — ภาพในบทความชื่อ The Others Within โดย ธงชัย วินิจจะกูล เป็นภาพถ่ายของคนัง ที่แต่งตัวเป็น ‘เงาะ’ ตัวละครในนวนิยายเรื่อง เงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พูดถึงแล้วก็ทำให้คิดว่านานมาแล้วที่เราไม่ได้อ่านบทความเกี่ยวกับการวัฒนธรรมการออกแบบจากนักเขียนไทย ประเทศเราก็ขาดสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน

คุณบอกว่าในตอนเริ่มว่าคุณอยากที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสาขาวิชาอื่น ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ฉันสังเกตว่ามีนักออกแบบหลายคนที่สนใจคิดค้นโปรเจกต์ของตัวเองที่ออกไปจากกรอบของการทำกราฟิกโดยปกติ อย่างเช่นการทำนิทรรศการ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร  นักออกแบบถึงสนใจทำงานเหล่านี้?


จานัวร์ —
เพราะกราฟิกดีไซน์เป็นสาขาวิชาที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสิ่งอื่น นั่นทำให้เราเป็นผู้ที่สื่อสารให้กับสาขาวิชาอื่นๆ ย้อนกลับไปเมื่อเรายังทำงานในสตูดิโอออกแบบซึ่งทำงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับศิลปะ เราทำอัตลักษณ์ของนิทรรศการและแคตตาล็อกศิลปะสำหรับนิทรรศการ กราฟิกดีไซน์เป็นศิลปะของการสนับสนุนเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ เราคิดว่าเป็นเพราะจุดหมายของสาขาวิชานี้ที่ทำให้กราฟิกดีไซเนอร์จำนวนมากสนใจในการสำรวจการทำงานกับสาขาวิชาอื่นๆ เพราะจริงๆ แล้วกราฟิกดีไซน์ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับตัวมันเอง

ในมุมมองที่กว้างกว่านั้น กราฟิกดีไซน์มีตัวตนอยู่รอบสาขาวิชาอื่นๆ อย่างการทำสิ่งพิมพ์ขึ้นมา เราต้องทำงานกับโรงพิมพ์ ร้านหนังสือ นักเขียนที่มาร่วมงาน ฯลฯ และผู้ที่มาร่วมงานเหล่านั้นก็มีภูมิหลังที่ต่างกัน อยู่ในสาขาวิชาที่ต่างกัน เช่น ศิลปะหรือสถาปัตยกรรม ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่เราคิดว่าทำให้กราฟิกดีไซน์มีความยืดหยุ่นสูง


Napisa —
I think the flexibility of graphic design makes it more invisible, because we work with a content that does not come from ourselves. 

To do something else besides the practice of graphic design discipline, like doing an exhibition, can help make the content that is chosen by ourselves and we are interested in become visible.

Moreover, by doing a self-initiated exhibition we open an opportunity to work with a group of people who don’t come from the commercial sector. And this can bring more possibility of experimentation on the discipline.


Waterproof Exhibitions begins by the idea of creating a space for topics that we are interested in. For our first exhibition, Bibliomania, we want to present the possibility of artists’ books. My own interest is about book space as exhibition space, books as an art object, and the way we can see it as something else in order to experiment with its form by new methods.

Although the interest is in unconventional experimentations of a book form, like the sausage book of Dieter Roth, as a graphic designer when I have to do my own work or even a client work about book I am more inclined to the idea of book in its simplicity and looks for the possibility under the limitation of the typical printer. I got The Form of the Book Book published by Occasional Papers from Antwerp Art Book Fair. There is one chapter of the book that mentions the superfluous designs on many art-related books. I am interested in finding the balance of placing artworks or artwork’s images on the space of a book either in terms of form, layout and typography.


Pic. 9 — Literature Sausage (Literaturwurst) by Dieter Roth,
1969.


Pic. 10-11 — The Form of Book Book edited by Sara De Bondt and Fraser Muggeridge, published by Occasional Papers.

Do you see any urgent or crucial needs in the field of graphic design and publishing in Indonesia, or even in the broader context? What are you working on right now? And what are you reading right now?


Januar —
The urgency in Indonesia, for me, is mainly to provide the alternative reading references. What we have in design schools right now compared to twenty years ago is still the same, it was mainly graphic design as a commodity, in a commercial aspect. I think it is important to provide some alternatives, so that it is not self-referential. We can still explore the potential of graphic design as a discipline, but it is not only for commercial work. We can also do cultural stuff and things beyond commercial. I’m not sure about urgency in other countries but maybe in Southeast Asia it is still the same.

In Asia, graphic design starts to gain some popularity compared to the west because design has originated from the west and they have been doing it like forever. So, I think particularly in Asia, we still have some rooms, some space to develop the way the discipline could be, or should go to. 

For the recent project we are working on, one is the second printed publication which is due to be available in September. And also we have been working with an exhibition in Guangzhou, the exhibition is focused on graphic design from East Asia, and my work particularly is about common reading within Southeast Asia. What creatives are reading here? We are reading a lot from the west, or we are reading from our local culture. The project investigates the way we read, the way graphic design is read, and also the influences of that. It is an ongoing project and the exhibition is the starting point. Like I said there is a lot of room graphic design can be developed, particularly in Southeast Asia, so it is important to see what we read, what we consume basically, and then what we produce out of it.

I’m not reading much lately, mostly due to crippling tasks we have to do at the studio (works for our clients) as well as editing contents for the upcoming Further Reading Print No.2, which I consider an irony (not being able to read as much, as Further Reading progresses, compared to what we did in the beginning). But some of my recent reads include: Are We Human? Notes on an Archaeology of Design Paperback by Beatriz Colomina and Mark Wigley, and Design as an Attitude by Alice Rawsthorn.
 
Pic. 12-13 — Are We Human? Notes on an Archaeology of Design Paperback by Beatriz Colomina and Mark Wigley.


Pic. 14 — Design as an Attitude by Alice Rawsthorn


นภิษา —
โดยส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าการที่มันยืดหยุ่น ทำให้การทำงานของกราฟิกดีไซน์เองไม่ถูกมองเห็นเท่าไหร่ เมื่อเราทำงานเพื่อส่งเสริมสิ่งอื่นที่ไม่ได้มีเนื้อหามาจากเราเอง 

ฉันคิดว่าการพยายามที่จะทำอย่างอื่นนอกไปจากการทำงานในสาขาวิชา อย่างการทำนิทรรศการ ทำให้เราได้มีพื้นที่ในการค้นคว้าประเด็นที่เราสนใจจริงๆ เพื่อทำให้ถูกมองเห็นว่ากราฟิกดีไซเนอร์เองก็มีสิ่งที่สนใจและอยากพูดถึงด้วยเหมือนกัน 

ในขณะเดียวกันการทำนิทรรศการก็เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานกับกลุ่มคนที่เราสนใจในบริบทที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมันช่วยทำให้เราได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ อย่างไร้ข้อจำกัด 

Waterproof Exhibitions ก็เกิดขึ้นมาด้วยความคิดว่าเราอยากที่จะมีพื้นที่พูดเรื่องที่เราสนใจ อย่างในนิทรรศการแรกที่ชื่อ Bibliomania เราอยากนำเสนอความเป็นไปได้ของสิ่งพิมพ์ศิลปิน โดยส่วนตัวแล้วฉันสนใจการทำหนังสือโดยศิลปิน วิธีคิดเกี่ยวกับพื้นที่ของหนังสือในฐานะเป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการ หนังสือในฐานะวัตถุทางศิลปะ การมองมันเป็นสิ่งอื่นเพื่อที่จะเข้าไปทดลองกับรูปแบบของมันด้วยวิธีการใหม่ๆ

ถึงแม้ว่าจะสนใจการตีความใหม่ๆ และการทดลองที่นอกกรอบของศิลปิน อย่างงานหนังสือไส้กรอกของดีเธอ โรท (Dieter Roth) ในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์เอง เมื่อจะต้องผลิตผลงานของตัวเอง หรือทำงานให้กับศิลปิน ฉันกลับสนใจรูปแบบที่เรียบง่ายของหนังสือ และการหาความเป็นไปได้ที่น่าสนใจภายใต้ข้อจำกัดของโรงพิมพ์ ฉันได้หนังสือชื่อ The Form of the Book Book ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Occasioanl Papers มาจาก Antwerp Art Book Fair มีตอนหนึ่งพูดถึงประเด็นว่าหนังสือเกี่ยวกับศิลปะหลายเล่ม ถูกตีความผ่านการออกแบบเกินผลงานของศิลปิน โดยส่วนตัวแล้วฉันสนใจการหาสมดุลในการจัดการกับงานศิลปะของศิลปินบนพื้นที่ของหนังสือ ทั้งในแง่ของรูปแบบ และการจัดวางภาพและตัวอักษร


รูป 9 — Literature Sausage (Literaturwurst) โดย ดีเธอ โรท, 2512


รูป 10-11 — The Form of Book Book เรียบเรียงโดย ซาร่า เดอ บนด์ และ เฟรเซอร์ มักเกอริจด์ ตีพิมพ์โดย Occasional Papers.

คุณเห็นว่ามีเรื่องเร่งด่วนหรือเรื่องจำเป็นในแง่ของกราฟิกดีไซน์และการตีพิมพ์ในอินโดนีเซีย หรือในมุมที่กว้างกว่านั้นบ้างมั้ย? โปรเจกต์ที่คุณกำลังทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้าง และตอนนี้คุณกำลังอ่านอะไรอยู่?


จานัวร์ —
  เรื่องเร่งด่วนในอินโดนีเซียสำหรับเราคือการมีทางเลือกในแหล่งการอ่านอื่นๆ สิ่งที่เรามีอยู่ในโรงเรียนดีไซน์ตอนนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่เคยมีเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา นั่นคือกราฟิกดีไซน์ในฐานะสินค้า ในมุมมองเชิงพาณิชย์ เราคิดว่ามันสำคัญที่เราต้องมีทางเลือกอื่นๆ เพื่อไม่ให้เราเอาแต่อ้างอิงตัวเอง เราสามารถสำรวจความเป็นไปได้ของกราฟิกดีไซน์ในฐานะสาขาวิชา ที่ไม่ได้ทำแค่เพียงงานเชิงพาณิชย์ เราสามารถทำงานในเชิงวัฒนธรรมได้ด้วย เราไม่แน่ใจกับเรื่องเร่งด่วนในประเทศอื่นๆ แต่สำหรับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจกำลังเจอปัญหาแบบเดียวกัน ในเอเชีย กราฟิกดีไซน์เริ่มได้รับความสนใจเมื่อเทียบกับตะวันตก เพราะในตะวันตกซึ่งเป็นที่ที่กราฟิกดีไซน์เกิดขึ้นนั้น พวกเขาทำมันมานานมากแล้ว และเราคิดว่าโดยเฉพาะในเอเชียเรายังมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาสิ่งที่สาขาวิชานี้สามารถเป็นได้ หรือแนวทางที่มันควรจะดำเนินไปอยู่

สำหรับโปรเจกต์ล่าสุดที่เรากำลังทำอยู่นั้น หนึ่งในนั้นคือสิ่งพิมพ์เล่มสองที่กำลังจะเผยแพร่ในเดือนกันยายน และพวกเรากำลังทำงานร่วมกับนิทรรศการในกวางโจว ซึ่งมุ่งความสนใจไปที่กราฟิกดีไซน์ในเอเชียตะวันออก และงานของเราในนิทรรศการนั้นเกี่ยวกับการอ่านโดยทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่นักสร้างสรรค์จากเอเชียตะวันออกเฉียใต้อ่านคืออะไร พวกเราอ่านสิ่งที่มาจากตะวันตกหรือจากวัฒนธรรมของเราเองเป็นส่วนใหญ่ โปรเจกต์นี้สำรวจวิธีการอ่านของพวกเรา เรื่องว่ากราฟิกดีไซน์ถูกอ่านอย่างไร และอิทธิพลที่ทำให้เกิดวิธีการเหล่านั้น มันเป็นโปรเจกต์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และนิทรรศการนี้เป็นจุดเริ่มต้น อย่างที่บอกว่ากราฟิกดีไซน์สามารถพัฒนาได้อีกมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นทำให้การศึกษาถึงสิ่งที่เราอ่าน สิ่งที่เราบริโภค และสิ่งที่เราผลิตออกมาจากสิ่งเหล่านั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ

เราไม่ค่อยได้อ่านหนังสือมากนักช่วงนี้ เป็นเพราะต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการสะสางงานต่างๆ ที่เรามีที่สตูดิโอ (โปรเจกต์ของลูกค้า) รวมไปถึงงานเรียบเรียงเนื้อหาของ Further Reading Print No.2 ที่กำลังจะออก ฟังดูย้อนแยงที่เราไม่สามารถอ่านได้มากเท่ากับที่ Further Reading มันเติบโตขึ้น เทียบกับตอนที่เราเริ่มทำมัน แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่เพิ่งอ่านไปก็มี Are We Human? Notes on an Archaeology of Design Paperback โดย เบทริซ โคลอมินา ร่วมกับ มาร์ค วิกลีย์ และ Design as an Attitude โดยอลิซ รอวสตอน


รูป 12-13 — Are We Human? Notes on an Archaeology of Design Paperback โดย เบทริซ โคลอมินา และ มาร์ค วิกลีย์


รูป 14 — Design as a Attitude โดย อลิซ รอวสตอน


Napisa —
The visual of the advertisements here in Bangkok are very vibrant  and competitive. The city landscape is mostly conquered by this type of graphic; a large billboard with half of it occupied by flawless beauty of celebrities selling the products they represent. Talking about graphic designers here people, in general, would have no idea of the one who works for cultural sectors more than advertising. That is why I am interested in what Further Reading does which is a great alternative to the graphic design scene in Southeast Asia. A good example of how we can think about it in a different way. How do you see Further Reading in the future?


Januar —
I prefer to keep it small, because then we have better quality discussions and internal value. And for me, we can navigate quickly within a small team. But for the direction of Further Reading as a publishing platform we would like to work together with designers or architects in the future. Maybe come up with a publication about them, develop some projects together apart from making publications. I think it is also important to keep promoting reading. Reading as a habit, especially in the country. It is important for the designer to read, because more substantial ideas come from reading. What we are trying to do in the next step is to familiarize reading through various media. May be not only through online, instagram, printed publications, but also through some activities, exhibitions, and installations. Something that is more familiar to people. Because reading in itself here in our country is somehow perceived as an intellectual thing, so it is not very approachable. 

Maybe in the future we will do some kind of a podcast or merchandise that is related to reading. It is just a way to make it more familiar, or to make it more relevant. I think the importance is the dissemination of the information rather than the format. If we think it irrelevant to publish a printed publication in the future, maybe we can just do like a podcast or exhibition. What we are trying to do through Further Reading is to make sure that the information is well distributed through various exploration of media rather than just fixed into one or two.


นภิษา —
ภาพของงานโฆษณาในกรุงเทพฯ มันทั้งจัดจ้านและแย่งกันโดดเด่น ทิวทัศน์ของเมืองถูกเอาชนะด้วยกราฟิกประเภทที่อยู่บนบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ที่เกินครึ่งเป็นภาพของคนมีชื่อเสียงที่สวยงามไร้ที่ติขายสินค้าที่พวกเขาเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยทั่วไปแล้วถ้าพูดถึงกราฟิกดีไซเนอร์ที่นี่ คนทั่วไปจะเข้าใจว่าทำงานในสายโฆษณามากกว่าสายวัฒนธรรม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันสนใจในสิ่งที่ Further Reading ทำมากๆ เพราะมันช่วยให้เห็นทางเลือกในวงการกราฟิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าไปในทิศทางอื่นๆ ได้ด้วย เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้คนเห็นการทำงานกราฟิกที่ต่างออกไป คุณเห็น Further Reading เป็นยังไงในอนาคต?


จานัวร์ —
เราอยากทำให้กลุ่มมันเล็ก เพราะมันทำให้พวกเราเกิดการถกเถียงที่มีคุณภาพและสร้างคุณค่าภายใน พวกเราสื่อสารกันได้รวดเร็วกว่าในทีมเล็ก แต่ในส่วนของทิศทาง Further Reading ในฐานะแพลตฟอร์มเผยแพร่เนื้อหา ในอนาคตพวกเราอยากทำงานกับดีไซเนอร์และสถาปนิก อาจเป็นการทำสิ่งพิมพ์บางอย่างเกี่ยวกับพวกเขา หรือพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกันนอกเหนือไปจากสิ่งพิมพ์ เราคิดว่าเรื่องการสนับสนุนการอ่านก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ทำให้การอ่านเป็นนิสัยโดยเฉพาะในประเทศนี้ การอ่านเป็นสิ่งสำคัญสำหรับดีไซเนอร์ เพราะแนวคิดที่แข็งแรงมักเกิดขึ้นจากการอ่าน สิ่งที่พวกเราจะทำต่อไปคือการทำให้คนคุ้นเคยกับการอ่านผ่านมีเดียที่หลากหลาย อาจไม่ใช่แค่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อินสตาแกรม สิ่งพิมพ์ แต่รวมถึงกิจกรรม นิทรรศการ อินสตอลเลชั่น หรือสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคย เพราะการอ่านในประเทศเราถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนมีสติปัญญา ทำให้รู้สึกว่ามันเข้าถึงยาก

ในอนาคตพวกเราอาจทำพอดแคสต์ หรือ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน วิธีการที่ทำให้คนคุ้นเคยหรือรู้สึกว่าการอ่านมีความสำคัญมากขึ้น เราคิดว่าสิ่งสำคัญคือการทำให้ข้อมูลกระจายออกไปมากกว่าตัวรูปแบบของสื่อ ถ้าเราเห็นว่าการทำสิ่งพิมพ์ไม่ได้มีความสำคัญเราอาจเปลี่ยนมาทำพอดแคสต์ หรือนิทรรศการ สิ่งที่พวกเราต้องการจากการทำ Further Reading คือการทำให้ข้อมูลถูกเพยแพร่ออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทดลองในมีเดียต่างๆ มากกว่าการยึดติดอยู่กับสื่อเพียงไม่กี่อย่าง



Free pdf. download, available in Thai and English at DEAR READER, PLEASE READ: SHALL WE READ FURTHER?

ดาวน์โหลดฟรีในรูปแบบ pdf. ทั้งภาษาไทยและอังกฤษได้ที่ DEAR READER, PLEASE READ: SHALL WE READ FURTHER?