ONLINE 03 • BOOK LAUNCH 'TABLES | FACTORIES' BY HO RUI AN

19.02.2022

16:00–18:00

กิจกรรมเปิดตัวหนังสือโดย โฮ รุย อัน และณัฐ ศรีสุวรรณ

BOOK LAUNCH ‘TABLES | FACTORIES’ BY HO RUI AN เป็นกิจกรรมเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของโฮ รุย อัน ‘Tables | Factories’ และการพูดคุยร่วมกับศิลปิน ดำเนินรายการโดยณัฐ ศรีสุวรรณ ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การแสดง สู่นิทรรศการ และการตีความออกมาในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ การที่ศิลปินสร้างความหมายใหม่ให้กับภาพ และเล่าเรื่องออกมาผ่านสิ่งพิมพ์ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากนิทรรศการ โดยจัดขึ้นที่พื้นที่ของนิทรรศการ ‘THE ECONOMY ENTERS THE PEOPLE’ โดยโฮ รุย อัน ในวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16:00–18:00 น. ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

“กระบวนการในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ เริ่มจากการดูภาพถ่ายของโต๊ะประชุมขนาดใหญ่ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งจากจีนและสิงคโปร์นั่งเรียงล้อมวงประชุมร่วมกันในระหว่างภารกิจการมาศึกษาดูงานหลายครั้งของรัฐบาลจีนในช่วงทศวรรษที่ 1990 ขณะที่ภาพเหล่านี้อาจดูเหมือนภาพธรรมดาๆ ในเวลาปัจจุบัน แต่การปรากฏตัวของเหล่านักปฏิวัติในยุคเหมาในฐานะเทคโนแครตนั้น นับเป็นการเริ่มต้นครั้งประวัติการณ์ของมโนภาพทางการเมืองอันโดดเด่น  ในช่วงเวลาที่ “เศรษฐกิจ” เข้าแทนที่การต่อสู้ทางชนชั้นในฐานะวาระหลักในการปกครองของจีน

บนโต๊ะตัวนี้เอง ที่กลุ่มเทคโนแครตผู้ได้ปลดแอกตนเองออกจากมวลชน ได้ก่อกำเนิดแนวคิดเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมเพื่อวางกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ประกาศการปฏิรูปดังกล่าวใน ค.ศ. 1978  อย่างที่พวกเขายืนยันว่าเศรษฐกิจแบบตลาดจะเข้ากันได้กับสัญญาประชาคมที่มีอยู่ กลุ่มนักปฏิรูปชี้ชัดถึงการหันไปสู่ตลาดในฐานะการตัดสินใจที่ไม่ได้เกิดจากวิธีการที่ “มองไม่เห็น” ซึ่งตลาดใช้จัดสรรปันส่วนทรัพยากรที่มีอยู่ หากทว่า ตัดสินใจโดยสันนิษฐานบนความโปร่งใสที่คาดว่าจะเห็นจากการไหลเวียนของข้อมูล ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะช่วยเปิดเผยสิ่งที่รัฐในระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียวมองไม่เห็นมาก่อน

กระนั้นแล้ว เท่าที่กระบวนการของ “การแสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง” ตามที่กลุ่มนักปฏิรูปว่าไว้นั้น เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการแบ่งแยกในหลายมิติ กล่าวคือ ในมิติการแบ่งแยกรัฐแบบพรรคการเมืองเดียวออกจากมวลชน แบ่งแยกข้อมูลออกจากอุดมการณ์ แบ่งแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่รับประกันการมองเห็นโดยรวมที่โต๊ะตัวนี้มอบให้ คือการปกปิดสิ่งที่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏเป็นข้อมูลเพื่อให้ตรรกะของตลาดยังได้รับการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน

บนพื้นฐานแนวคิดนี้เอง ที่โรงงานสามารถถูกตีความได้ว่าเป็นที่มาที่ถูกลืมเลือนของโต๊ะและเป็นพื้นที่ภายในที่ไม่อาจเข้าแทรกแซงได้ และประตูโรงงานที่วางกรอบพื้นที่ภายในโรงงานนั้น คือขีดจำกัดของศักยภาพของตลาดในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา ประตูโรงงานที่ถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดพื้นที่แรงงานในอุตสาหกรรมและซุกซ่อนการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานจากสายตาโลกสาธารณะ นับเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดที่เทคโนแครตจะเข้าถึงโลกของแรงงานภายใต้แนวคิดการผลิตแบบทุนนิยมได้ ดังที่เห็นได้ในระหว่างพิธีเปิดโรงงาน ดังนั้น ในการนำเสนอเรื่องราวผนวกผสานกันระหว่างโต๊ะและโรงงาน รวมทั้งการวิเคราะห์ระบอบ (อ) ทัศนิวิสัยของทั้งสิ่งทั้งสองในบริบทของสิงคโปร์และจีนในยุคปฏิรูป ภาพถ่ายและข้อเขียนเหล่านี้พยายามทำความเข้าใจว่าโลกที่ดูเหมือนไม่ต่างกันที่เกิดขึ้นบนและภายในสิ่งทั้งสองนี้ แท้จริงแล้วเรียกร้องต่อกันและกันในการผลิตสร้างสภาวะร่วมสมัยไร้ความมั่นคงของเรา สภาวะที่สำนึกรับรู้ทวีมากขึ้นจนความมองเห็นได้เข้าแทนที่เสรีภาพจากการแสวงหาผลประโยชน์ ในฐานะสิ่งที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้มากที่สุดแล้วหลังการปฏิวัติได้สิ้นสุดลงก่อนเวลาอันสมควร ” — โฮ รุย อัน

‘Tables | Factories’ มีวางจำหน่ายในรูปแบบ pre-order จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในราคาพิเศษ 860 บาท (ฟรีค่าจัดส่งในประเทศ) จากราคาปกติ 1,120 บาท หนังสือพร้อมจัดส่งในวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยสามารถสั่งซื้อได้ทางหน้าร้าน กล่องข้อความ และบนเว็บไซต์ https://bookshoplibrary.com/product/tables-factories/

เกี่ยวกับผู้ร่วมสนทนา

โฮ รุย อัน 
เป็นศิลปินและนักเขียนที่ทำงานข้ามศาสตร์สาขาระหว่างศิลปะร่วมสมัย ภาพยนตร์ การแสดง และทฤษฎี เขาทำงานโดยใช้สื่อการบรรยาย เรียงความ และภาพยนตร์เป็นหลัก เขาสำรวจเกี่ยวกับวิธีการสร้าง หมุนเวียน และสูญหายไปของภาพในบริบทของโลกาภิวัตน์และการปกครอง

ณัฐ ศรีสุวรรณ
ศิลปินและภัณฑารักษ์อิสระที่ทำงานและพำนักระหว่างกรุงเทพฯ ประเทศไทย และเบอร์ลิน/ไลป์ซิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มปฏิบัติการศิลปะ เจริญ คอนเทมโพรารี่ส์ ในประเทศไทย ผลงานและความสนใจของเขาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างโลกาภิวัตน์และความทันสมัยที่ประกอบสร้างขึ้นในประเทศหลังอาณานิคมกับระบบนิเวศน์ในวงการศิลปะร่วมสมัย