TOP PICKS! MAY 2023

แนะนำสิ่งพิมพ์คัดสรรจาก BOOKSHOP LIBRARY จำนวน 5 เล่ม ประจำเดือนพฤษภาคม หนังสือและนิตยสารที่ต่างนำเสนอมุมมองอันหลากหลายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเล็ก-ใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ มีทั้งกล้าหาญไปจนถึงผิดพลาด ประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะการขับเคลื่อนของคนกลุ่มเล็กๆ เส้นสายที่โยงใยระบบการเมืองเข้ากับการถูกผลักด้วยระบบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความล่มสลายในหลายพื้นที่ที่กลายมาเป็นบทเรียนสำคัญให้กับคนรุ่นหลัง


Contra Issue 03—Ruin (2020)โดย จอร์จ โบรดี้, ลูคัส จิลส์ และโจ ทาวน์ (กองบรรณาธิการ)

Contra เป็นนิตยสารไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรทางศิลปะที่ศึกษาความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างวัฒนธรรมทางสายตาและความขัดแย้ง สำหรับฉบับที่ 03 นำเสนอเนื้อหาภายใต้แนวคิดหลักอย่าง Ruin หรือ ‘การทำลายล้าง’ ว่าด้วยความพินาศ ซากปรักหักพัง รวบรวมเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการทำลายและการสิ้นสุด ทั้งยังรวมถึงเรื่องราวของการคืนชีพและการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นในฟุกุชิมะต่อชุมชนในเขตกีดกันทางนิวเคลียร์ การปฏิวัติโรจาวา ไปจนถึงวัฒนธรรมภาพหลังการระบาดใหญ่


ผู้ที่สนใจสามารถซื้อนิตยสารได้ในราคา 955 บาท สั่งซื้อได้ที่
https://bit.ly/3APlXd6 


The Funambulist Issue 29: State of Emergency (2020) บรรณาธิการโดย เลโอโปลด์ แลมเบิร์ต 

The Funambulist เล่มที่ 29 States of Emergency ฉบับที่กองบรรณาธิการได้แจ้งกับผู้อ่านว่าได้เลือกหัวข้อนี้ไว้ล่วงหน้าหลายเดือนก่อนที่นโยบายในการตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะเกิดขึ้น แต่หลายๆ หัวข้อก็ยังเกี่ยวกับ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” เนื้อหาเล่มนี้ถูกนำเสนอเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจบริบทของนโยบายเหล่านี้ ภายใต้ประวัติศาสตร์ของความรุนแรงของรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อาณานิคม 

The Funambulist เป็นนิตยสารที่สำรวจการเมืองของพื้นที่และตัวตน (Politics of space and bodies) สร้างแพลตฟอร์มที่เสียงของนักกิจกรรม นักวิชาการ นักปฏิบัติ ดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกันผ่านพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดต่างๆ กัน ในรูปแบบของบันทึก บทสัมภาษณ์ ผลงานศิลปะ และงานออกแบบ 


ผู้ที่สนใจสามารถซื้อนิตยสารได้ในราคา 400 บาท สั่งซื้อได้ที่
https://bit.ly/3LP7Tqh


FUTURE: ว่าด้วยเวลาประวัติศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระบบทุนนิยมดิจิทัล (2022)

เมื่อความคิดด้าน “เวลา” ของมนุษย์ ที่ดูจะมีความเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ พัฒนาทางปรัญชา ศาสนาและเทคโนโลยี ได้สะท้อนให้เห็นความคิดต่อ “เวลา” ที่เปลี่ยนแปลงไป และแม้มนุษย์จะยังไม่สามารถควบคุม “เวลา” ได้ หากแต่ก็สามารถคาดการณ์แนวโน้มแห่ง “อนาคต” ของมนุษย์ได้อยู่ไม่มากก็น้อย ภายในเล่มมีหัวข้อที่น่าสนใจอย่างมาก เช่น “เวลา” ในฐานะภววิทยาแห่งชีวิต: ว่าด้วย “อนาคต” จาก Antonio Negri, ประวัติศาสตร์ “อนาคต” ในศิลปะอวองต์-การ์ดรัสเซีย หรือองค์ประธานแบบนิรนามในฐานะการโต้กลับต่อระบบทุนนิยม

ผู้ที่สนใจสามารถซื้อหนังสือได้ในราคา 200 บาท สั่งซื้อได้ที่ https://bit.ly/3pu0jss


ขัดขืนร่วม: ข้อเขียนว่าด้วยศิลปะและการเมืองในยุคแห่งการหยิบฉวยสุดขีด
(2021) บรรณาธิการโดยอารีแอน คุปเฟอร์แมน สุทธวงษ์, ลาร่า ฟาน เมเทอเรน, บาร์ท วิซซิงค์ และสินา วิทยวิโรจน์

หนังสือ “ขัดขืนร่วม: ข้อเขียนว่าด้วยศิลปะและการเมืองในยุคแห่งการหยิบฉวยสุดขีด” ได้รวบรวมข้อเขียนจำนวน 8 ชิ้นจากนักปฏิบัติการจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฎีการเมือง สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาพยนตร์และการแสดง ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาแตกต่างกัน งานเขียนแต่ละชิ้นอยู่ทั้งในท่าทีของบทวิพากษ์ บ้างแลกเปลี่ยนข้อเสนอ บ้างเป็นคำแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาชวนให้คิดพิจารณาถึงศิลปะและเครือข่ายความสัมพันธ์ของตัวมันที่เชื่อมโยงกับเรื่องอำนาจทางการเมืองและเงินทุน จุดยืนของการเป็นพื้นที่ ‘สาธารณะ’ รวมถึงทิศทางการทำงานและความรับผิดชอบต่อสังคม

ตัวอย่างสถานการณ์หรือกิจกรรมที่พูดถึงในงานเขียนคือสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ที่ได้ทำการสลับขั้วเปลี่ยนหัวเป็นหางโดยใช้ศิลปะเป็นอาวุธในการต่อต้านความไม่ชอบธรรมในสังคมรวมถึงตั้งคำถามกลับมาถึงศักยภาพของศิลปะเอง ไม่ว่าจะด้วยกลยุทธ์สานสร้างความสามัคคีของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ หรือจุดประกายให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้วยกัน

ผู้ที่สนใจสามารถซื้อหนังสือได้ในราคา 80 บาท สั่งซื้อได้ที่ https://bit.ly/42fnHrG   


ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ (2019)โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (เขียน), บัญชา สุวรรณานนท์ (แปล)

การโกหกหลอกลวงที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบดังที่ปฏิบัติกันอยู่ในบรรดารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นมิใช่ความจำเป็นเฉพาะหน้าแบบทหารต้องล่อลวงข้าศึก ดังที่อ้างกันในบางครั้งหากแต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นสิ่งที่จะยังดำรงต่อเนื่องอยู่แม้เมื่อไม่จำเป็นต้องมีค่ายกักกันและตำรวจลับแล้วก็ตาม

ความเรียงคัดสรร 22 บท โดย จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียนนวนิยายอมตะ แอนิมอล ฟาร์ม และ หนึ่งเก้าแปดสี่ มีความหลากหลายในเนื้อหา แต่ล้วนสะท้อนความหลักแหลมและแน่วแน่ในสำนึกทางสังคมตั้งแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณค่าของหนังสือเสรีภาพในการแสดงความเห็นและหน้าที่ปัญญาชนออร์เวลล์ยังมั่นคงกับการต่อต้านเผด็จการและชัดเจนในการวิจารณ์ปัญหาสังคมด้วยสายตาเที่ยงธรรมไม่ลำเอียงและในขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ให้กับความรื่นรมย์ของชีวิตเช่นการดื่มชา

ความคิดเห็นของออร์เวลล์ไม่เคยตกยุคและเป็นที่สนใจในยามที่หลายสังคมในโลกยังไม่หลุดพ้นจากการปกครองโดยเผด็จการ

ผู้ที่สนใจสามารถซื้อหนังสือได้ในราคา 350 บาท สั่งซื้อได้ที่ https://bit.ly/42hMaMT