[BM] 05.2
มีสตูดิโอที่รับพิมพ์ริโซ่กราฟจากประเทศไทยห้าที่ที่เข้าร่วม BKKABF CO-OP ในปีนี้ พวกเขารวมตัวกันในนามริโซ่บางกอก ได้แก่ Witti Studio, Haptic Editions, Smoove, Poop Press และ Together Design and Risograph Studio การรวมตัวกันของทั้งห้าสตูดิโอ ทำให้เราเห็นเครือข่ายของชุมชนโรงพิมพ์รายย่อยที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ที่คอยสนับสนุนการทำงานของนักออกแบบ หรือกลุ่มคนที่สนใจพิมพ์ผลงานด้วยตนเอง (self-publish) แบบไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์
ถึงแม้จะมีความสนใจในเทคนิคการพิมพ์แบบเดียวกัน แต่ละสตูดิโอก็มีแนวทางในการดำเนินการต่างกัน ที่ทางที่เครื่องพิมพ์ริโซ่ถูกจัดวางในสตูดิโอ หรือโลเคชั่นของสตูดิโอ ต่างก็สะท้อนความสนใจของผู้ก่อตั้ง มีทั้งตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนชาวญี่ปุ่นย่านสุขุมวิท ตลาดแถวเจริญกรุง พื้นที่ส่วนตัวที่เป็นโรงงานของที่บ้าน ในแง่มุมของสถานที่ น่าสนใจว่าเราจะได้เห็นเครื่องพิมพ์ริโซ่ หรือสตูดิโอเหล่านี้เป็นศูนย์กลางชุมชนในการผลิตเนื้อหาที่ผู้คนในพื้นที่สนใจร่วมกันได้หรือไม่ในอนาคต และพื้นที่ของการตีพิมพ์รูปแบบนี้จะขยายตัวออกนอกเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไปอีกไกลแค่ไหน
สำหรับบทสนทนาในครั้งนี้ ปัญจพร ไชยชมภู จากหายหายและหลายๆ ใบ หนึ่งในสมาชิก BKKABF CO-OP ศิลปินผู้สนใจการเล่าเรื่องผ่านการเขียนและผลิตหนังสือทำมือ ได้มีโอกาสเยี่ยมชม และพูดคุยกับแต่ละสตูดิโอถึงที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นของสตูดิโอ เบื้องหลังของการเลือกสรรพื้นที่ที่จะใช้ดำเนินการ การจัดการพื้นที่ รวมทั้งถ่ายภาพสถานที่ เพื่อนำมาเล่าถึงสิ่งที่พบเจอระหว่างการเยี่ยมชมด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เฉพาะตัวของเธอเอง
Together Design and Risograph Studio
Studio is a knowledge.
เครื่องพิมพ์ริโซ่ของหมอกใหม่ที่สุด ตั้งใจไว้ว่าจะย้ายเครื่องไปเรื่อยๆ ก่อนจะค้นพบว่ามันหนัก
ยางอินเดียของหมอกสีเขียวอมฟ้า เห็นแล้วอยากเอาผ้าชุบน้ำเช็ดให้ใบสะอาดเกลี้ยง
“ไม่ชอบปริ้นท์ ไม่ชอบทำไฟล์”
มีความรู้อยู่มากมายที่นอนรออยู่ในตัวของหมอกตลอดเวลา การนั่งหาข้อมูลเพื่อมาทำสิ่งที่ไม่ได้ชอบขนาดนั้นเป็นเรื่องสนุกเหลือเกิน
Poop Press
Studio as a playground
มีพี่ลีต้อนรับหน้าทางเข้าอยู่ห้าคน จริงๆ มีพี่ลีคนเดียวก็พอแล้ว และน่าจะไม่มีใครทำซ้ำได้แล้ว
พี่ลีเป็นคนแรกที่ทำริโซ่สตูดิโอในไทย ในสมัยที่ยังไม่มีชื่อ และไม่มีใครรู้จักว่ามันคืออะไร แต่พี่ลีและเพื่อนๆ รู้
สตูดิโอสีสันสุดไขว่คว้า แสบตาสำหรับคนที่มองไม่เห็น
พี่ลีเชื่อใจให้คนอื่นใช้งานเครื่องพิมพ์ของตัวเองอยู่เสมอ เหมือนกับที่เชื่อเครื่องพิมพ์ เครื่องเดิมให้พิมพ์งานให้เป็นประจำ อะไหล่จากเครื่องพิมพ์เครื่องแรก ยังคงมีชีวิต อยู่ในเครื่องพิมพ์เครื่องใหม่ แม้ไม่สดใสนัก แต่ก็เอาใจไปวางไว้ได้ไม่เสียหายอะไร
จริงๆ แล้ว ดูเหมือนพี่ลีจะไม่สามารถไม่พอใจอะไรได้เลย
ไฟแช็ค
สีอะครีลิค
สายชาร์จ
ใบปลิว Speedy Grandma
หนังสือที่เพิ่งพิมพ์เสร็จ
เทปสีน้ำเงิน
เทปสีเหลือง
ไม้แขวนเสื้อ
มีทุกๆ อย่างวางอยู่บนโต๊ะของพี่ลี
Witti Studio
Studio is a space within.
ชาร์ทสีของใครก็คงไม่น่าภูมิใจเท่าการมีชาร์ทสีของตัวเอง สตูดิโอที่ถูกเก็บอยู่ในใจกันสองคนมาหลายปี เมื่อถูกเก็บจนได้ที่ ก็ออกผลมาเป็นกระดาษหน้าตาแปลกบนผนังของห้องจนแทบไม่ได้คิด ว่าก่อนหน้านี้ผนังเคยเป็นหรือยังเป็นสีอะไร
ที่ที่เหมาะสม ไม่เคยมีภาพที่ชัดเจนเป็นจนกว่าจะกลายเป็นเรื่องจริง อาจารย์ผึ้งเคยบอกว่า เมื่อเวลามาถึง ทุกอย่างจะเข้าที่ของมันเอง บางเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จตอนนี้ อาจจะยังไม่เจอที่ของมันก็ได้
เครื่องพิมพ์เป็นเหมือนจักรวาลที่บิดได้ไม่มีที่สิ้นสุด มีแค่เราที่ต้องเรียนรู้และหาทางบิดมันเอง ทุกสตูดิโอมีจักรวาลเป็นของตนเอง ที่ Witti ก็มีอยู่หนึ่ง
Haptic Editions
Studio is a designer as a space.
Haptic Editions พูดเสียงเบาไม่ใช่เพราะเขินอาย แต่เป็นเพราะไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับใคร ทุกเรื่องเข้าใจกันดีในหัวของพี่ตะวัน
กระดาษของพี่ตะวันถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกระดาษที่ใช้แล้วและยังไม่ได้ใช้ กระดาษใช้แล้วถูกเก็บเป็นระเบียบ หอมใหม่เหมือนเพิ่งออกจากเครื่องพิมพ์ กระดาษที่ยังไม่ถูกใช้ นิ่งและหอมเหมือนเพิ่งดึงออกมาจากรีม
สะท้อนโลกข้างนอกออกไปให้หมด
Smoove
Studio is a personal space.
ใครๆ ก็มีผนังส่วนตัวกันทั้งนั้น
เครื่องพิมพ์ชื่อญี่ปุ่นในบ้านคนจีน ต้องปรับตัวให้เข้ากับการอาศัยอยู่บนโรงพิมพ์
ตู้เอกสารเก่าของอากงถูกส่งมาให้พี่เบลใช้ต่อ ในลิ้นชักแถมความรู้เก่าๆ มาด้วย ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน โชคดีที่มีอากง
CONTRIBUTORS
หายหายและหลายๆ ใบ
ปัญจพร ไชยชมภู (เอ๋ย) เป็นนัก(ชอบ)เขียน ที่สนใจในรายละเอียดของมนุษย์และความคิดของตัวเอง เรื่องสั้นทั้งหมดจึงเกิดจากประสบการณ์และการบิดเบือนความจริงเพื่อบันทึกชีวิตของตนเองเอาไว้ นอกจากนั้นวิธีการทำหนังสือทั้งหมดจะเกิดจากความคิดที่ว่าหนังสือไม่จำเป็นต้องยาก จึงจะได้เห็นผลงานที่ใช้วิธีการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เรียบง่ายแต่น่าสนใจอยู่เสมอ
เฟซบุ๊ก: หายหายและหลายๆ ใบ
ริโซ่บางกอก
1 – Together Design and Risograph Studio
Together Design and Risograph Studio ให้ความสาคัญในกระบวนการคิด และการออกแบบ เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนให้กับทุกๆ ปัญหา งานออกแบบและผลิตภัณฑ์ของ Together จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาชุมชนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เราเชื่อในคุณค่าและเรื่องเล่าของผู้ผลิตและผู้ให้บริการในท้องถิ่น เพราะสำหรับเราการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างชุมชน เป็นกุญแจสาคัญสู่ความสำเร็จในระยะยาว
เฟซบุ๊ก: Together Design & Risograph Studio
หวั่น-หยี หลิน (หมอก) เป็นนักออกแบบสื่อสารที่เกิดที่ประเทศไต้หวัน แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย เธอมีความสนใจส่วนตัวในเรื่องการสร้างชุมชนและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เธอสามารถที่จะแก้ปัญหาและค้นพบการออกแบบที่ยั่งยืนได้จากทุกๆ ความท้าทาย การทดลองและการเล่นสนุกเป็นวิธีการในการเรียนรู้และเพิ่มพลังสร้างสรรค์ แรงขับเคลื่อนในแต่ละวันของเธอคือเนยถั่วและซูชิ (แต่ไม่ได้กินพร้อมกันนะ)
2 – Poop Press (พูพ เพรส)
Poop Press (พูพ เพรส) คือ สำนักพิมพ์อิสระก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2559 ด้วยจุดประสงค์ที่จะนำเสนอความสวยงาม’ในรูปแบบอื่น’ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และเชื่อในการอิสรภาพของการผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยตัวเอง โดยใช้เทคนิคการพิมพ์ริโซ่กราฟในการผลิตผลงาน ดำเนินการโดย อัญชลี อนันตวัฒน์ ที่ทั้งเป็นผู้ก่อตั้ง ผู้พิมพ์ ผู้เย็บเล่ม และผู้จัดจำหน่าย โดยทำการคัดเลือกผลงานจากทั้งศิลปินและนักออกแบบทั้งที่ผลิตผลงานในรูปแบบสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว หรือผ่านการชักชวนให้ทดลองผลิตด้วยกัน
เฟซบุ๊ก: Poop Press
อัญชลี อนันตวัฒน์ (ลี) เป็นอาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นศิลปินและผู้ร่วมก่อตั้งแกลเลอรี่ Speedy Grandma และ สำนักพิมพ์ Poop Press ลีมีความสนใจในการนำเสนอรูปแบบทางเลือกอื่นๆ ในการแสดงออกทางวัฒนธรรม เชื่อว่าเราสามารถใช้ท่าทางที่ไม่ซีเรียส พูดถึงเรื่องที่สำคัญๆ ได้ดีไม่แพ้ท่าทางแบบอื่น อัญชลีมีความตั้งใจในการสร้างพื้นที่เพื่อจะได้ร่วมทำงานกับคนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะสนุกดี
3 – Witti Studio (วิตตี้ สตูดิโอ)
Witti Studio (วิตตี้ สตูดิโอ) คือสตูดิโอสร้างสรรค์งานออกแบบ และให้บริการงานพิมพ์ด้วยเครื่องริโซ่กราฟ เริ่มต้นขึ้นในปี 2562 โดย วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ จากความหลงใหลในสิ่งพิมพ์ กระบวนการพิมพ์ริโซ่กราฟ และงานออกแบบซึ่งทั้งสองมีร่วมกัน ด้วยความตั้งใจที่จะให้สตูดิโอเป็นพื้นที่ของการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับงานสิ่งพิมพ์ และความเชื่อที่ว่าการออกแบบที่ดีจะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
เฟซบุ๊ก: witti.studio
วิทมน นิวัติชัย (ผึ้ง) ขอนิยามตัวเองว่าเป็นนักสร้างสรรค์+ครู ร่ำเรียนและเริ่มจากความชำนาญทางภาพพิมพ์ในสตูดิโอภาพพิมพ์ชั้นนำ มีโอกาสได้รับทุนศิลปินในพำนัก เป็นอาจารย์พิเศษรับเชิญในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจึงทำให้การสอนหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ สิบปีที่ผ่านมามีความสนใจในการผสมผสานเทคนิคและขบวนการแบบดั้งเดิมเข้ากับวัสดุ, เทคโนโลยีการพิมพ์ การทำแบบสมัยใหม่ ทำให้ได้ทดลองเป็นนักวาดภาพประกอบ ทำผลิตภัณฑ์ที่นำความชำนาญเชิงช่างมารวมกับการออกแบบที่สอดคล้องกับชีวิตร่วมสมัย ทำสตูดิโอริโซ่กราฟ และร่วมถึงงานสร้างสรรค์อีกหลากหลายรูปแบบ
สันติ ตันสุขะ เป็นนักออกแบบที่มีประสบการณ์ออกแบบหลากหลายสาขา เคยทำงานในสตูดิโอสถาปนิก บริษัทสตาร์ทอัพ แฟชั่นแบรนด์ และเป็นฟรีแลนซ์ให้กับสตูดิโอออกแบบในอเมริกา และอังกฤษ เคยเป็นรองบรรณาธิการนิตยสาร Wallpaper* Thai Edition และเป็นอาจารย์พิเศษด้านดีไซน์ เขาเชื่อว่าการออกแบบอยู่รอบๆ ตัวเราในทุกมิติ และการออกแบบที่ถูกคิดและทดลองมาอย่างดี สามารถนำมาปรับใช้ได้กับแง่มุมต่างๆ ของชีวิตประจำวัน และช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้
4 – Haptic Editions
Haptic Editions ก่อตั้งขึ้นในปี 2561 เป็นสตูดิโอที่ให้บริการพิมพ์ริโซ่กราฟ และบริการงานออกแบบแบบครบวงจร ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต เราอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจงานพิมพ์ และการตีพิมพ์ผลงานตัวเองผ่านการจัดเวิร์กชอปและการทำงานร่วมกัน
เฟซบุ๊ก: Haptic Editions
ตะวัน อิทธิจารุกุล (ตะวัน) เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และยังเป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอริโซ่กราฟและสตูดิโอออกแบบชื่อ Haptic Editions เธอสนใจในงานฝีมือและสิ่งพิมพ์พอๆ กับที่สนุกกับกระบวนการออกแบบที่ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด และนำมันมาใช้อย่างสร้างสรรค์ในการผลิตผลงาน
5 – Smoove
Smoove เป็นเหมือน Printing Lab บนบ้านที่เราสามารถทดลองการพิมพ์ Risograph โดยที่ไม่เคอะเขิน เราสนับสนุนให้คนทุกเพศทุกวัยกล้าที่จะปล่อยของ ทดลองหรือทำงานมันส์ๆเพื่อมีชิ้นงานเป็นของตัวเอง
อินสตาแกรม: Smoove
สลิลา โตรักตระกูล (เบว) กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ผูกพันกับโรงพิมพ์มาตั้งแต่เด็กๆ เบวคิดว่าถึงแม้จะออกแบบบนดิจิตอลแต่ท้ายที่สุดการได้สัมผัสสิ่งพิมพ์เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็เป็นสิ่งที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับงานนั้นๆอยู่ดี
ภาพถ่ายโดยหายหายและหลายๆ ใบ (ปัญจพร ไซยชมภู (เอ๋ย))
พิสูจน์อักษรโดย ศุภมาศ พะหุโล, นภิษา ลีละศุภพงษ์, กานต์ธิดา บุษบา