BOOKSHOP LIBRARY
ACTIVITY

Back

EXHIBITION 05 • BOOK NOMAD AT BANGKOK ART BOOK FAIR 2022

11/25/2022

13:00–21:00

Artists' Publication Showcase

‘Book Nomad’ ริเร่ิมโดย abC Art Book in China เป็นนิทรรศการจัดแสดงสิ่งพิมพ์ศิลปะเคลื่อนที่ โดยมีเส้นทางจากไทเป สิงคโปร์ กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ และจบลงที่สถานที่จัดงาน abC Art Book Fair ณ เซี่ยงไฮ้ สิ่งพิมพ์จากแต่ละพื้นที่จะถูกเพิ่มเข้าไปในนิทรรศการของแต่ละเมืองก่อนส่งต่อไปแสดงยังเมืองถัดไป เพื่อเชื่อมสัมพันธ์และเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดอันหลากหลายผ่านการตีพิมพ์ส่ิงพิมพ์ศิลปะในทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ก่อนจะจบลงในเดือนมกราคม 2566

BOOKSHOP LIBRARY ร่วมงานกับ abC มาตั้งแต่ปี 2563 โดยส่งหนังสือศิลปินที่ตีพิมพ์โดย BANGKOK CITYCITY GALLERY เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ abC Art Book Fair Beijing Online ในปี 2563 และ 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิดในขณะนั้นทำให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปยังเทศกาลฯ ได้  

ถึงแม้ว่าหลายประเทศในเอเชียในตอนนี้จะเริ่มเปิดให้เดินทางถึงกันได้ แต่สำหรับประเทศจีนที่ยังคงมีความยากลำบาก การรับเชิญเข้าร่วมโปรเจกต์ ‘Book Nomad’ ของ BANGKOK ART BOOK FAIR และ BOOKSHOP LIBRARY จึงเป็นการร่วมสนับสนุนการข้ามผ่านข้อจำกัด เพื่อสร้างการเชื่อมต่อทางความคิดในพื้นที่เอเชีย เช่นเดียวกับที่บรรณาธิการของหนังสือ ART AND SOLIDARITY READER (2565) แคทยา การ์เซีย-แอนตอน ได้กล่าวไว้ว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในช่วงเวลานี้คือเรื่องเร่งด่วนที่ชุมชนศิลปะควรต้องพิจารณาร่วมกัน

สำหรับหนังสือที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้จากประเทศไทย ได้ผ่านการคัดเลือกจาก Open Call ที่จัดขึ้นในเดือนกันยายน 2565 และผ่านการชักชวนของทีมงาน BOOKSHOP LIBRARY ภายใต้ธีม ‘Asianess’ ซึ่งคัดสรรเรื่องราวที่กินความตั้งแต่เรื่องเล่าในชีวิตประจำวัน ประวัติศาสตร์ส่วนตัว ไปจนถึงประวัติศาสตร์ของประเทศ หนังสือจำนวน 5 เล่ม จากศิลปิน 5 คน ได้จัดแสดงภายในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 25—27 พฤศจิกายน 2565 และจัดแสดงในจุดหมายถัดไปที่ KL Art Book Fair 2022 ในกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 2—4 ธันวาคม 2565 และสุดท้ายที่ abC Art Book Fair ในเดือนมกราคมปี 2566 ในเซี่ยงไฮ้ ความเป็นเอเชียจะถูกพูดถึงร่วมกันอย่างไร ภายใต้วิธีการทำงานผ่านสิ่งพิมพ์ศิลปะจากหลายประเทศในเอเชียเป็นสิ่งที่เราสนใจ 

รายการหนังสือจากประเทศที่ผ่านมาอย่างจีน ประกอบขึ้นจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมการเมือง วัฒนธรรมย่อย และศิลปะ เช่น Dispatches from TETRIS: A March from the highlands to the Mountain City and the Island (2564) ตีพิมพ์โดย Institution for Provocation (IFP) พื้นที่ศิลปะอิสระในปักกิ่ง จากโปรเจกต์ในชื่อเดียวกันที่เร่ิมต้นในปี 2563 ซึ่งกลุ่มศิลปิน นักวิจัย ภัณฑารักษ์ และนักข่าว ได้ออกเดินทางร่วมกัน 15 วันไปยังสถานที่ 7 แห่งในซีหนิง ชายแดนจีนและทิเบต และร่วมถกเถียง พูดคุยเกี่ยวกับบริบทสภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและสังคม เรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติ หรือการก่อร่างขึ้นใหม่ของพื้นที่นอกเขตเมือง 

หนังสือที่จัดแสดงที่ Pon Ding ไทเปประเทศไต้หวัน มาจากโปรเจกต์ศิลปะของหลากหลายศิลปิน เช่น A Firetime Story (2564) โดย เอวา ลิน ที่ซึ่งศึกษาเมืองทางใต้ของไต้หวัน พื้นที่ของคนพื้นถิ่นไถตง เพื่อจินตนาการถึงโลกในระดับจิตวิญญาณ และความรู้ที่เกิดขึ้นผ่านผัสสะทางร่างกายและความทรงจำที่ย้อนแย้งกับความรู้และตรรกะในปัจจุบัน 

หนังสือที่จัดแสดงที่ Temporary Unit ในสิงคโปร์ ส่วนมากเป็นหนังสือศิลปิน ที่ทำให้เห็นถึงรูปแบบการเล่าเรื่องหลากหลายในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น The Great Pretenders (special issue for the 26th Phylliidae Convention) (2552) โดยโรเบิร์ต จ้าว เหรินฮุย ศิลปินที่ทำงานกับภาพถ่าย โดยในโปรเจกต์นี้จำลองหนังสือของเขาเป็นวรสารวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอภาพของแมลงทั้งที่มีอยู่จริงและจินตนาการขึ้น

ส่วนหนังสือที่สมทบเข้ามาในส่วนของกรุงเทพฯ นั้นมีจำนวน 5 เล่ม มีทั้งผลงานจากศิลปิน นักออกแบบและนักวิจัย ที่สนใจถ่ายทอดเรื่องราวและวัฒนธรรมของพื้นที่ ประกอบไปด้วย Our Table (2565) โดยนัชชา เตชะจันตะ ที่เล่าถึงวัฒนธรรมการรับประทานอาหารร่วมกันของครอบครัวไทย ผ่านมุมมองของสมาชิกแต่ละครอบครัว Weather Report (2565) โดยพรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ งานเขียนและภาพประกอบในรูปแบบบันทึกที่ถ่ายทอดความรู้สึกของการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย Whisper game (จากบุรุษสรรพนามที่ 1 สู่บุรุษสรรพนามที่ 3) (2565) โดยอธิปัตย์ พุกศรีสุข เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ครอบครัวที่สัมพันธ์กับประเด็นสังคมการเมืองและอิทธิพลชาตินิยมในช่วงสงครามเย็น และ The Art of Thai Comics—A Century of Strip and Strips (2564) โดยนิโคลาส เวร์สแตปเปิน (Nicolas Verstappen) งานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยแบบคอมิคที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปี 2443-2563