STUDIO VISIT • BAAN NOORG COLLABORATIVE ARTS & CULTURE

04/19/2022

สำหรับงานฝั่งศิลปะวัฒนธรรมที่มีชุนชนและบริบทของพื้นที่เป็นตัวบทตั้งต้น วิธีการทำงานร่วมกันแบบใดบ้างที่จะตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มากที่สุด ?

สำหรับ บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนหนองโพธิ์ ราชบุรี ผู้ที่เน้นการทำงานด้านภัณฑารักษ์และโปรเจกต์งานศิลปะที่ร่วมกันชุมชนมองว่าในทุกการทำงานของพวกเขา “พอเลือกที่จะทำงานที่เป็น research based สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการศึกษาค้นคว้า เพราะว่ามันจะต้องหาที่มาความสำคัญของสิ่งต่างๆ”

ก่อนบ้านนอกฯ จะก่อตั้งขึ้นมาในปี 2554 จิระเดช และ พรพิไล มีมาลัย เล่าให้เราฟังว่าพวกเขาทำงานในฐานะศิลปินคู่มาอยู่แล้วในนาม jiandyin (จิแอนด์ยิ่น) มาตั้งแต่ปี 2545 “แต่ก่อนหน้าที่จะเป็น jiandyin เราก็มีแสดงงานเป็นศิลปินเดี่ยว แสดงร่วมกันในนิทรรศการกลุ่มที่มีเรากับยิ่น แสดงที่ Tadu สมัยก่อนที่ยังอยู่ที่อาร์ซีเอ แล้วถึงเป็นหลังจากนั้นแหละที่ทำงานร่วมกัน” 

 

 

ในปี 2553 พวกเขาได้รับทุนจาก ACC (Asian Cultural Center) ของนิวยอร์กทำโปรเจกต์งานรีเสิรช์และศิลปะ โดยพำนักอยู่ที่ ISCP (International Studio & Cultural Program) ตรงนั้นเองที่ทั้งคู่ได้ทำความรู้จักศิลปินจากประเทศอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือศิลปินจากไต้หวัน ซึ่งต่อมาหลังจากจบทุนพวกเขาก็ได้ร่วมงานกับ OCAC (Open-Contemporary Art Centre, ไต้หวัน) จัดวงสนทนา เลคเชอร์ นิทรรศการ รวมถึงโปรแกรมศิลปินในพำนักระหว่างไทย-ไต้หวัน โดยบ้านนอกฯ ก็เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้เอง “หลังจากเรากลับจากไต้หวัน มาถึงบ้านเราที่ราชบุรีก็เริ่มหน่วย NPKD หรือ หนองโพธิ์คิดดี ขึ้นมาเป็นหน่วยย่อย เป็นการทำโปรเจกต์ในชุมชนร่วมกับเยาวชนในพื้นที่ซึ่งกลุ่มเด็กเหล่านี้ก็เริ่มจากเด็กแถวบ้านที่พ่อแม่ให้มาเรียนภาษา มานั่งทำการบ้านที่นี่ หลังจากนั้นจึงเกิดงาน Flim Festival ฉายหนังกลางแปลงขึ้นมา เกิดโปรเจกต์อื่นๆ ตามมาโดยบางงานก็ใช้ practice ทางศิลปะที่ตนเองมีสร้างกิจกรรม และต่อมาทีมบ้านนอกก็ได้รับเชิญไปคิวเรทงานอื่นๆ ด้วยในไทยและต่างประเทศ”

ด้วยความที่ทีมได้รู้จักและติดต่อกับคนมากขึ้นไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่ยังรวมไปถึงหน่วยงานที่ศิลปินสังกัดหรือคอลเลกทีฟที่เขาร่วมอยู่ มันจึงขยายผลเรื่องการทำงานคอลเลกทีฟของบ้านนอกฯ อย่างในโปรเจกต์ Ring Project #1: Metaphors About Islands ที่อยู่ภายใต้ Jakarta Biennale 2021 ทีมก็ได้ส่งศิลปินรุ่นใหม่เข้าร่วมแสดงงาน พลอย หนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมโปรเจกต์นี้ได้แลกเปลี่ยนว่า “เนื่องจากเป็นการทำงานแบบจับคู่ระหว่างศิลปินอินโดนีเซียที่มาจาก Gudskul เข้ากับศิลปินต่างชาติ จึงมีปัญหาเรื่องการสื่อสารเรื่อง การใช้ภาษาอยู่ เกือบทุก collaboration มีปัญหาหมด ของเราน่าจะโชคดีที่ศิลปินฝั่งนู้นสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องเวลาอยู่ เพราะทุกคนมีงานประจำ ซึ่งศิลปินฝั่งนู้นแต่ละคนก็มีคอลเลกทีฟของตัวเองแยกย่อยส่วนตัวออกไปอีก”  แล้วงานเบียนนาเล่ที่จาการ์ตาเป็นยังไง ? “ที่นั่นเขาเรียกตัวเองว่าเป็นพังก์ เป็นอะไรก็ได้ สำหรับพวกเขาความหมายของเบียนนาเล่คืองานศิลปะร่วมสมัยที่เกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี แต่มันไม่มีกรอบความคิดแบบตะวันตก ไม่ได้มีศิลปินชื่อดังที่ต้องใช้งบอิมพอร์ทเข้ามา ซึ่งทีมงานที่บริหารเบียนนาเล่ของจาการ์ตาก็คือคนจาก Gudskul ซึ่งพวกเขาก็คือคนรุ่นใหม่ที่ได้ทำงานจริง ได้ลงสนาม ได้ลองบริหารจัดการ และงานของพวกเขาก็แทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างร้านอาหาร ป้ายรถเมล์ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งมันก็จะกลับไปคำถามที่ว่า เขาคิดถึงเรื่องความเป็นคอมมูนิตี้สูงกว่าการที่จะให้ศิลปะมันไปอยู่บนหิ้ง” 

ความที่เคยได้ยินเรื่องเล่ามว่าในคนทำงานศิลปะในอินโดนีเซีย มีเยอะมากขนาดที่เดินชนไหล่กันได้ คนที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในยอกยาการ์ตาร์เกือบสองปีอย่างโบว์ จึงเสริมให้ฟังว่า “ตอนไปอยู่ที่นู่นจะได้เจอศิลปินกลุ่มมากว่า เจอคอลเลกทีฟแทบทุกวัน เหมือนเขาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน อาจจะเป็นเพราะเมือง เพราะศาสนาด้วย ศิลปินเดี่ยวก็มีแต่พวกเขาจะทำงานในสตูดิโอมากกว่า” 

นอกเหนือจากโปรเจกต์ข้างต้น บ้านนอกฯ ได้เป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมจัดแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะ documenta ครั้งที่ 15 ซึ่งปีนี้ได้กลุ่มคอลเลกทีฟ ruangrupa จากอินโดนีเซียมาเป็นภัณฑารักษ์ พวกเขาตั้งหลักการทำงานครั้งนี้โดยตั้งต้นที่ lumbung (ลุมบุง) คำภาษาอินโดนีเซียที่แปลว่ายุ้งข้าว ซึ่งการทำเกี่ยวข้าวของอินโดนีเซียจะเป็นลักษณะที่ทุกคนเอาข้าวที่เกี่ยวแล้วมากองรวมๆ กันไว้แล้วค่อยแจกจ่ายออกไป ทาง ruangrupa นำเรื่องนี้มาปรับใช้ในการทำงาน “ทุกครั้งหลังจากจบประชุมออนไลน์ทุกๆ 2 อาทิตย์ซึ่งมีมาตลอดเป็นเวลาเกือบปี เขาก็เอาเรื่องที่คุยที่แลกเปลี่ยนกันไปใส่ใน lumbung ออนไลน์ซึ่งมันก็จะเพิ่มผลผลิตไปเรื่อยๆ มันจะเห็นว่า documenta ใกล้จะเปิดอยู่แล้วแต่ยังมีคำถามบางคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ ก็ประชุมอยู่นี่แหละเพื่อหาข้อมูลไปใส่ในยุ้ง แล้วคอนเซ็ปต์ lumbung มันก็เป็นแนวคิดที่ขับเคลื่อนให้ศิลปินในยุ้งทำงานที่เป็นความยั่งยืนเกี่ยวกับพื้นที่ของตน ซึ่งของบ้านนอกฯ เราก็เลือกฟาร์มวัวโดยจับคู่ฟาร์มวัวหนองโพธิ์เข้ากับที่คาสเซิล ทำงานร่วมกันและใช้มันเป็นตัวบทตั้งต้นเพื่อขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ  ”  

เป็นระยะเวลา 10 กว่าปีที่บ้านนอกฯ ทำงานมา มีสมาชิกที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาและออกไปรวมไปถึงโปรเจกต์บางชิ้นที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและกำลังจะเข้ามาใหม่ในอนาคต สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ต้องเจออยู่ตลอดนี้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มันจึงไม่มีวิธีการทำงานร่วมกันรูปแบบเดียวที่จะนำมาใช้เป็นคำตอบสุดท้าย “พอมันขยายวงมาเป็นระดับคอลเลกทีฟก็ต้องร่วมมือกับคนอื่น  อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เราคาดหวังร้อยเปอร์เซนต์ แต่มันเปิดพื้นที่ให้มีการโต้แย้ง เป็นการหาความลงตัวบางอย่างว่ามันมีวิธีอะไรได้บ้างในการทำงานร่วมกัน เพราะว่าพอมีการโต้แย้งอยู่ในกระบวนการทำงาน มันก็เป็นอะไรที่แตกต่างจากที่เราคิดแบบเดิม ซึ่งก็ practice แบบนี้มาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน”

เครดิตภาพ