STUDIO VISIT 01 • MAL STUDIO

18.05.2022

กิจกรรมเยี่ยมชมสตูดิโอ 01 • มอล สตูดิโอ

ถ้าถามสมาชิก Mal Studio ว่าพวกเขาคิดว่าตัวเองมีจุดร่วมอะไร คำตอบแบบตรงไปตรงมาคือ “ความเนิร์ด ความกี๊กในอะไรก็ได้ ประเด็นสังคม การเมือง ศาสนา วิทยาศาสตร์” และมากไปกว่านั้นคือ “ชอบความเท่ ชอบอะไรที่มันเฟี้ยวๆ ที่มันไม่เหมือนกัน ซึ่งเราว่ามันดีที่สามารถเปิดโหมดรับการรับความต่างกันได้มากกว่าที่เราเคยมีปกติ”

Mal Studioใช้พื้นที่ของตึกสำนักงานแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 31 เพื่อเปิดร้านสัก จัดอีเวนท์ เวิร์คช็อป นิทรรศการ และห้องสมุด มีสมาชิกทั้งหมด 4 คนคือ ณณฐ ธนพรรพี (จั้ม) ชารีรัส ชูศักดิ์ (เจน) วสวัตติ์ สมโน (เกี้ยง) และทิวไพร บัวลอย (ทิว) การรวมตัวของพวกเขาเริ่มต้นจากการเห็นหน้าค่าตากันคร่าวๆ ตามนิทรรศการหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ  จนต่อมาได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น การเจอกันแต่ละครั้งนอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์และคิดทำโปรเจกต์ด้วยกันแล้ว มันยังทำให้ค้นพบความสนใจใหม่ๆ ของตนเองด้วย อย่างจั้มเองซึ่งเป็นศิลปิน และผลงานที่ผ่านมาของเขาส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องผ่านงานภาพเคลื่อนไหวมาตลอด จนได้รู้จักเกี้ยง อดีตนักเรียนแพทย์ที่เปลี่ยนมาสายโปรแกรมเมอร์ ผู้ที่สนใจในดิจิทัลอาร์ทและโค้ดดิ้ง “ในช่วงระหว่างที่ทำโปรเจกต์มันทำให้เห็นความสนใจของเกี้ยงที่ไม่เหมือนเรา แต่เราก็เพิ่งรู้ตัวว่าเราชอบมันเหมือนกัน มันก็เลยเกิดการแลกเปลี่ยน เออจริงๆ งานที่เราทำอยู่ มันสามารถไปแบบอื่นได้ สามารถมีแนวคิดแบบอื่นอีก”

ก่อนหน้านี้พวกเขาจะนัดเจอกันตามคาเฟ่หรือไปเช่าห้องประชุม จนถึงช่วงที่เจนกำลังมองหาพื้นที่ใหม่สำหรับร้านสัก ไอเดียการตั้งสตูดิโอจึงเกิดขึ้น จากตอนแรกที่เป็นห้องโล่งจึงกลายเป็นพื้นที่รวมความสนใจของทุกคนเอาไว้ เจนเล่าเพิ่มเติมว่าสตูดิโอแห่งนี้ตั้งต้นมาจากความชอบส่วนตัว 100%

“เราชอบสถานที่ที่มีความสบายตัวและสามารถทำอะไรอย่างอื่นได้นอกจากมาสัก หรือมานั่งรอคนสัก อย่าง Mal ก็จะมีโซนสัก โซนอ่านหนังสือ นั่งทำงาน และกาแฟ ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรารัก เราต้องการให้สถานที่ทำงานของเราล้อมรอบไปด้วยกิจกรรม หรือสิ่งต่างๆที่เราชอบ เพราะมันคือที่ๆเราใช้ชีวิต” 


คนที่แวะเวียนเข้ามาในสตูดิโอแห่งนี้มีหลายกลุ่ม พวกเขาอาจจะเป็นลูกค้าที่ตั้งใจมาเพื่อสัก มาเพื่อดูนิทรรศการหรือมาเวิร์กช็อป แต่เพราะที่นี่แบ่งพื้นที่ใช้งานหลายส่วน จึงเป็นไปได้ว่าเหล่านี้อาจจะได้อะไรติดตัวกลับไปโดยไม่ได้คาดคิดไว้ตอนแรก อย่างโซนห้องสมุดเองนอกจากเป็นพื้นที่รวมความสนใจของสมาชิกแล้วยังใช้เพื่อต้อนรับคนที่เข้ามา “ห้องสมุดตรงนี้มันก็จะเป็นการรวมความชอบของพวกเราทุกคนเลย ซึ่งมันหลากหลายมากๆ พอเรามีพื้นที่ตรงกลาง เราก็เปิดให้คนมาแชร์ มาอ่าน มาดูได้ มันก็เหมือนสร้างพื้นที่ให้คนมาจอยกัน จุดสำคัญหนึ่งของโซนหนังสือมันคือสามารถแชร์ความสนใจกับคนที่เรารู้จักได้มากขึ้น เช่น สมมติเราชวนเพื่อนมากินกาแฟ เราก็แชร์ว่าเออมึงน่าจะชอบเล่มนี้ แล้วมันก็นำไปสู่การคุยเรื่องต่างๆ ที่มันมีในหนังสือ ซึ่งเราว่ามันดีนะ” 

สำหรับฝั่งงานทดลองของจั้ม เกี้ยง และทิวที่เชื่อมเรื่องเทคโนโลยีและศิลปะเข้าด้วยกัน ภายใต้การทำงานผ่านคอลเลกทีฟชื่อ  JAAG (Joint Artist Amateurs Group) พวกเขาได้ทดลองเริ่มด้วยด้วย ‘ไบท์ ไบท์ บิท บิท: สัญญาณจากเคอร์เนลที่สูญหาย’ กิจกรรมสำหรับงานแกลเลอรี่ไนท์เมื่อปลายปี 2563 ที่นำมาซึ่งความงุนงงปนเซอร์ไพรส์กับคนจำนวนมากที่เข้ามา โดยฝั่งร้านสักทำกาชาปองแทตทูและฝั่งเทคก็จะเล่นดนตรีพร้อมโชว์วิชวล และหลังจากนั้นจัดนิทรรศการกลุ่มครั้งแรกของสตูดิโอ ‘จำนองฝัน บัญชีอนาคต ’ เปิดงานไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนิทรรศการนี้ตั้งต้นจากความสนใจในเรื่องวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต ผนวกรวมเข้ากับบรรยากาศของ Alternative Reality ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ “เราคิดว่าคนรุ่นเรารับประสบการณ์เรื่องนี้อยู่แล้ว เช่นของบางอย่างในบ้านหายไป บรรยากาศในบ้านเปลี่ยนไป หรือบางทีได้รับรู้เรื่องราวจากคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เราเลยจินตนาการว่าถ้าไทยกลายเป็นเสือตัวที่ห้าขึ้นมาจริงๆ ถ้ามันไม่เกิดวิกฤต ไม่ต้องเป็นหนี้ IMF ประเทศมันจะเป็นอีกทางนึงรึป่าว”

การทำงานศิลปะ สิ่งที่ง่ายสุดคือการพูดความอยากออกมา แต่ในทางปฏิบัติจริงแค่ความต้องการอย่างเดียวไม่สามารถหาเลี้ยงชีวิตได้ การได้มาซึ่งทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่พวกเขามองว่าในบางครั้งการรอคอยก็ไม่เป็นผล เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งก็จะมีคอนเนกชั่นในวงของตัวเอง จึงเป็นเรื่องยากที่กลุ่มทางวัฒนธรรมใหม่ๆ จะได้ทุนสนับสนุน “ทางที่เป็นไปได้มากกว่าคือการไปคอนเนกกับหน่วยงานของเอกชน มันคือการหาโมเดลไปเรื่อยๆ อย่างต่างประเทศเองที่บริษัทเทคโนโลยีต่างๆที่สนใจเทคอาร์ตก็เข้ามาให้ทุนสนับสนุนมากขึ้นอย่าง พวกฮุนไดหรือ thoughtworks ที่มีเปิดโปรแกรมเรสซิเด้นท์ซี่และรวมไปถึงมองหาโมเดลใหม่เช่นการขายของหรือทำงานร่วมกันกับซักที่หนึ่ง เราก็ว่ามันเป็นไปได้หลายแบบ อย่างการรวมตัวกันเป็นคอลเลกทีฟในไทยถือว่าเป็นโมเดลที่เหมาะ แต่หลักๆ คือเรื่องเงินสนับสนุน จากที่เคยทำมา ทุกคนพร้อมที่จะอินพุต เพอร์ฟอร์มร่วมกัน แต่แค่ว่าพอทำไปเรื่อยๆ แล้วมันไม่มีอะไรมาเสริมด้านอื่นนอกจากด้านความรู้สึกที่ได้ทำ มันก็ทำให้เบิร์นเอาท์ไป กลายเป็นว่าไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง” 

สมาชิก Mal Studio จากซ้ายไปขวา: วสวัตติ์ สมโน (เกี้ยง) ณฐ ธนพรรพี (จั้ม) ชารีรัส ชูศักดิ์ (เจน) และทิวไพร บัวลอย (ทิว)

สำหรับพวกเขาศิลปะคือ “สิ่งที่ต้องทลายกำแพงออกไป มันคือการทำอะไรที่อาจจะถูกตั้งคำถามว่าทำสิ่งนี้ทำไม แต่พอศิลปะมันมีเหตุผลให้ทำได้ เพื่อที่ว่ามันจะไปสปาร์คอะไรบางอย่างให้คนเอาไปใช้ต่อได้เอง” และด้วยความที่แต่ละคนมีความสนใจหลายเรื่อง เราเลยคาดว่าในหัวของพวกเขาต้องมีคิดโปรเจกต์ต่อไปหรือกิจกรรมที่อยากให้เกิดขึ้นอีกซึ่งทาง Mal Studio บอกว่า “จริงๆ อยากทำหลายอย่าง มันก็น่าชวนจัด group reading หรือชวนเพื่อนที่รู้ว่ามันสนใจประเด็นเรื่องนั้นมาทอล์ค แต่พวกเราเองต้องจัดการเวลาให้ได้ดีกว่านี้ (หัวเราะ)”