จากประวัติศาสตร์บอกเล่าของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันที่ถูกทอเข้ากับผลงานประติมากรรมจัดวางในนิทรรศการ A Trail at the End of the World. โดย ดุษฎี ฮันตระกูล สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการผสานทับซ้อนกันของความหลากหลายทางชีวภาพที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมมานุษยวิทยา
กิจกรรม SUNDAY WALK ครั้งที่ 2 ในตอน A Trail at the End of the World. เป็นการเดินพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมไปกับวิทยากรภายในนิทรรศการ ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่บริเวณสวนด้านล่าง ใต้ถุนบ้าน ไปจนถึงชั้นบนของเรือนพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน โดย ดุษฏี ฮันตระกูล และนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์แรงงาน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาเมือง ระบบทุนที่ได้ผลประโยชน์จากการทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการของรัฐต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการแรงงาน ประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประเทศในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงผลกระทบของโควิด–19 ที่ส่งผลต่อทั้งระบบนิเวศวิทยา และระบบนิเวศของการจัดการองค์กรเพื่อรองรับการว่างงานของแรงงาน
อ่านรายละเอียดนิทรรศการได้จากสิ่งพิมพ์ประกอบกิจกรรม A Trail at the End of the World.
เกี่ยวกับศิลปิน
ดุษฏี ฮันตระกูล เป็นศิลปินที่สร้างงานประติมากรรม ภาพลายเส้น และเรื่องเล่า ที่อยู่บนจุดตัดระหว่างทัศนศิลป์ โบราณคดี นิเวศวิทยา และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
เกี่ยวกับวิทยากร
ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เป็นนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์แรงงานและเป็นผู้ริเริ่มพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยซึ่งตั้งขึ้นในปี 2536