[BM] 05.2

RISO TOWN: THE SENSE OF PLACE OF THE RISOGRAPH STUDIOS

POSTED ON 11.09.2020


IN CONVERSATION—

หายหายและหลายๆ ใบ TOGETHER DESIGN AND RISOGRAPH STUDIO POOP PRESS

 

WITTI STUDIO HAPTIC EDITIONS SMOOVE

 | 

TH

  

มีสตูดิโอที่รับพิมพ์ริโซ่กราฟจากประเทศไทยห้าที่ที่เข้าร่วม BKKABF CO-OP ในปีนี้ พวกเขารวมตัวกันในนามริโซ่บางกอก ได้แก่ Witti Studio, Haptic Editions, Smoove, Poop Press และ Together Design and Risograph Studio การรวมตัวกันของทั้งห้าสตูดิโอ ทำให้เราเห็นเครือข่ายของชุมชนโรงพิมพ์รายย่อยที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ที่คอยสนับสนุนการทำงานของนักออกแบบ หรือกลุ่มคนที่สนใจพิมพ์ผลงานด้วยตนเอง (self-publish) แบบไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์

ถึงแม้จะมีความสนใจในเทคนิคการพิมพ์แบบเดียวกัน แต่ละสตูดิโอก็มีแนวทางในการดำเนินการต่างกัน ที่ทางที่เครื่องพิมพ์ริโซ่ถูกจัดวางในสตูดิโอ หรือโลเคชั่นของสตูดิโอ ต่างก็สะท้อนความสนใจของผู้ก่อตั้ง มีทั้งตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนชาวญี่ปุ่นย่านสุขุมวิท ตลาดแถวเจริญกรุง พื้นที่ส่วนตัวที่เป็นโรงงานของที่บ้าน ในแง่มุมของสถานที่ น่าสนใจว่าเราจะได้เห็นเครื่องพิมพ์ริโซ่ หรือสตูดิโอเหล่านี้เป็นศูนย์กลางชุมชนในการผลิตเนื้อหาที่ผู้คนในพื้นที่สนใจร่วมกันได้หรือไม่ในอนาคต และพื้นที่ของการตีพิมพ์รูปแบบนี้จะขยายตัวออกนอกเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไปอีกไกลแค่ไหน

สำหรับบทสนทนาในครั้งนี้ ปัญจพร ไชยชมภู จากหายหายและหลายๆ ใบ หนึ่งในสมาชิก BKKABF CO-OP ศิลปินผู้สนใจการเล่าเรื่องผ่านการเขียนและผลิตหนังสือทำมือ ได้มีโอกาสเยี่ยมชม และพูดคุยกับแต่ละสตูดิโอถึงที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นของสตูดิโอ เบื้องหลังของการเลือกสรรพื้นที่ที่จะใช้ดำเนินการ การจัดการพื้นที่ รวมทั้งถ่ายภาพสถานที่ เพื่อนำมาเล่าถึงสิ่งที่พบเจอระหว่างการเยี่ยมชมด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เฉพาะตัวของเธอเอง


Together Design and Risograph Studio

Studio is a knowledge.


ชื่อของ Together Design and Risograph Studio ถูกตั้งขึ้นเพราะหมอกอยากให้คนอื่นๆ ได้มาเรียนรู้วิธีการพิมพ์ริโซ่ด้วยกัน เราจึงได้เห็นหมอกขนเครื่องพิมพ์ไปที่งาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา เท่าที่รู้ ก็ยังไม่เคยมีคนยกเครื่องไปตั้งในงานแบบนี้ และอาจจะไม่มีใครทำถ้าไม่ใช่หมอก

เราไปหา Together Design ถึงบ้านของหมอกที่สมุทรสาคร บ้านของหมอกเป็นโรงงานผลิตสินค้าขนาดใหญ่ และสตูดิโอที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังนั้นเอง เราสังเกตว่าตัวพื้นที่ที่ใช้ทำงาน ถูกแบ่งออกจากส่วนที่เป็นของของที่บ้าน มีคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ และราวตากงานวางเรียงกัน เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำงานที่เป็น One Man Studio

“ไม่ชอบทำไฟล์เลย”

สวนทางกับสตูดิโออื่นๆ ที่เอ็นจอยกับทุกโปรเสส ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่าน หมอกเลยศึกษาเรื่องการพิมพ์ริโซ่ด้วยตัวเองค่อนข้างเยอะและแทบไม่เคยถามสตูดิโออื่นๆ เลย หมอกโชว์สมุดที่สะสมความรู้ทั้งหมดให้เราดูและก็ค้นพบว่าเป็นคนที่ขยันมากคนนึง สิ่งที่หมอกสนใจและสนุกกับมันมากที่สุดคือช่วงรีเสิร์ช จึงไม่แปลกใจที่หมอกจะอยากแบ่งปันสิ่งที่รู้มาให้กับคนอื่นๆ เพราะมันเยอะมากจริงๆ

ภาพถ่ายที่พิมพ์ด้วยริโซ่ของหมอกเหมือนจริง

ภาพที่ Together Design พิมพ์ ส่วนมากจะเป็นภาพถ่าย เพราะหมอกเพิ่งค้นพบวิธีแยกสีให้ตรงที่สุด(หมอกว่าอย่างนั้น) เมื่อวางภาพพิมพ์ไว้ในห้องที่ใช้ทำงานแล้ว ให้ความรู้สึกแปลกดี นอกจากนั้นหมอกยังเก็บแผ่นแม่พิมพ์ของแต่ละสี แต่ละงานเอาไว้ด้วยกัน ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไรต่อ จนเรารู้สึกว่า Together Design ไม่ได้มีพื้นที่ที่เป็นสตูดิโออย่างชัดเจน แต่เป็นความรู้ทั้งหมดที่หมอกมีและพร้อมจะนำออกไปแบ่งให้คนอื่นจริงๆ



เครื่องพิมพ์ริโซ่ของหมอกใหม่ที่สุด ตั้งใจไว้ว่าจะย้ายเครื่องไปเรื่อยๆ ก่อนจะค้นพบว่ามันหนัก 



มาทำด้วยกัน อยากให้มาทำด้วยกัน เป็นเหตุผลที่หมอกขนเครื่องพิมพ์ไปทำเวิร์กชอปข้างนอก ไม่รู้ว่าอะไรคุ้มค่ากว่ากัน 


ขยะที่สวยงามในสายตาของคนทำสิ่งพิมพ์เท่านั้น หมอกรวมมันเอาไว้ด้วยกันทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่ามันจะจบลงตรงไหน ขี้สายรุ้ง 



ยางอินเดียของหมอกสีเขียวอมฟ้า เห็นแล้วอยากเอาผ้าชุบน้ำเช็ดให้ใบสะอาดเกลี้ยง 



หมอกพูดได้ 3 ภาษา และแยกสีของภาพได้มากกว่า 3 สี นั่นทำให้ภาพถ่ายของหมอกเหมือนจริงมากกว่าภาพของใครๆ 


อนุสาวรีย์ของหมอก 


ฝูงกระดาษนอนทับถมกันกลายเป็นสายรุ้งที่มีจุดเกรนตามขนาดที่เครื่องพิมพ์จะปรับได้ ไม่ว่าสายรุ้งจะขาดหายไปกี่สี ก็สวยในสายตาของหมอกอยู่เสมอ 



“ไม่ชอบปริ้นท์ ไม่ชอบทำไฟล์”
มีความรู้อยู่มากมายที่นอนรออยู่ในตัวของหมอกตลอดเวลา การนั่งหาข้อมูลเพื่อมาทำสิ่งที่ไม่ได้ชอบขนาดนั้นเป็นเรื่องสนุกเหลือเกิน 



ยอดมนุษย์เหมือนจริงอาศัยอยู่บนกระดาษของหมอก ถ้าอยู่ในโลกเวทมนตร์ พวกเขาคงขยับได้ตามใจ





Poop Press

Studio as a playground


เชื่อว่าคนที่ทำริโซ่ทุกคน ไม่น่าจะมีใครไม่รู้จักพี่ลี ผู้ก่อตั้ง Poop Press สตูดิโอทำริโซ่ที่แรกของไทย ก่อนหน้านี้ที่จะมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง Poop Press เป็นเพียงการตั้งอยู่ของเครื่องปริ้นท์ ที่ไม่ว่าจะย้ายไปไหน ที่นั่นก็กลายเป็นสตูดิโอได้ทันที

พี่ลีได้เครื่องปริ้นท์เครื่องแรกมาจากเพื่อนที่เคยทำริโซ่มาก่อน และเริ่มนำมาเผยแพร่ให้คนรู้จักโดยการจัดเวิร์กชอป และเซอร์วิส ที่อนุญาตให้คนได้มาลองใช้เครื่องเพื่อทำซีน(zine) ตอนนั้นจัดอยู่ที่แกลเลอรี่ Speedy Grandma พี่ลีเล่าว่าในช่วงเดือนแรกยังไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่ะเมื่อทำไปสักระยะ คนติดต่อเข้ามาเยอะจนต้องจัดเป็นรอบและจองคิวล่วงหน้ากันเลยทีเดียว

เมื่อได้มีพื้นที่เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นชั้น 2 ของแกลเลอรี่ Soy Sauce Factory ก็ได้เวลาที่จะมีเครื่องปริ้นท์เครื่องใหม่มาทดแทนเครื่องเก่าที่พังไป ความสัมพันธ์ระหว่างพี่ลีกับเครื่องปริ้นท์คงเป็นเหมือนเพื่อนที่รู้จักกันมานาน เพราะผ่านการซ่อมและทำความเข้าใจกันมาหลายยก และการเปิดให้คนเข้ามาทำเวิร์กชอปกับเครื่องนี้ ก็เหมือนการแนะนำคนเพื่อนสนิทให้คนอื่นๆ ได้รู้จักและทำความเข้าใจกัน

Poop Press ทำงานไม่เหมือนใคร และบางงานก็คงเป็นไดเรกชั่นที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ ถ้าพูดสั้นๆ ก็คงบอกว่าเป็นงานที่มันมากๆ การใช้สีและเลือกคำพูด ทุกอย่างออกมาในชิ้นงานและถูกแปะวางอยู่ทุกพื้นที่ของสตูดิโอ เมื่อเทียบกับสตูดิโออื่นๆ แล้ว ที่นี่ถือว่าเป็นที่ที่มีเสียงจากสิ่งของเยอะที่สุด ไม่ใช่เสียงดังโหวกเหวกจนฟังอะไรไม่ออก  แต่เป็นเสียงเหมือนผับดีๆ สักที่ที่เปิดเพลงถูกใจไปซะหมด

พื้นที่ของ Poop Press ถูกจัดสรรอย่างคร่าวๆ เช่น เครื่องปริ้นท์ ชั้นกระดาษ โต๊ะทำงานและเวิร์กชอป และชั้นหนังสือที่รวมผลงานที่เคยทำและหนังสือที่สะสมไว้ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำสตูดิโอเป็นของตัวเอง เราประทับใจมากกับการที่พี่ลีสามารถทำให้ห้องนี้เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนตัวของพี่ลีเอง แต่ยังเปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอโดยที่ไม่ทำให้รู้สึกเกร็งเลย แทบทุกมุมของสตูดิโอจะมีป้าย ข้อความ โน๊ต แปะอยู่เต็มไปหมด ไม่ใช่แค่เพื่อการสื่อสารระหว่างคนที่เข้ามาทำงานภายในสตูดิโอ แต่รวมไปถึงอะไรก็ตามที่บ่งบอกความเป็น Poop Press ต่างก็ถูกจับมารวมกัน และพร้อมที่จะถูกย้ายและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ



มีพี่ลีต้อนรับหน้าทางเข้าอยู่ห้าคน จริงๆ มีพี่ลีคนเดียวก็พอแล้ว และน่าจะไม่มีใครทำซ้ำได้แล้ว

พี่ลีเป็นคนแรกที่ทำริโซ่สตูดิโอในไทย ในสมัยที่ยังไม่มีชื่อ และไม่มีใครรู้จักว่ามันคืออะไร แต่พี่ลีและเพื่อนๆ รู้ 



มีเครื่องดนตรีแขวนอยู่หน้าประตู ถ้าคนเราเจอต้อนรับกันด้วยเสียงเพลงก็คงจะดี ต่อให้เสียงดังยังไง ก็คงไม่ดังเกินกว่าหูจะรับไหว อันที่จริง คิดว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้สร้างมาเพื่อหูของพี่ลีคนเดียว เพราะพอขึ้นไปแล้ว เราก็ไม่ได้ยินอะไรเลย 


หนังสือที่พิมพ์ด้วยริโซ่เล่มแรกที่ซื้อมายังตั้งอยู่ตรงนี้ รวมกับหนังสือเล่มอื่นๆ หนังสือหลายเล่มรวมกันออกมาเป็น Poop Press ที่ไม่เหมือนใครเลย 


ระเบิดออกมากลายเป็นห้องและสีทั้งหมดที่อยู่บนผนัง บางทีอาจจะไม่ต้องวางแผนอะไร ห้องนี้ก็ถูกทาสีด้วยตัวมันเอง 



สตูดิโอสีสันสุดไขว่คว้า แสบตาสำหรับคนที่มองไม่เห็น 


พี่ลีเชื่อใจให้คนอื่นใช้งานเครื่องพิมพ์ของตัวเองอยู่เสมอ เหมือนกับที่เชื่อเครื่องพิมพ์ เครื่องเดิมให้พิมพ์งานให้เป็นประจำ อะไหล่จากเครื่องพิมพ์เครื่องแรก ยังคงมีชีวิต อยู่ในเครื่องพิมพ์เครื่องใหม่ แม้ไม่สดใสนัก แต่ก็เอาใจไปวางไว้ได้ไม่เสียหายอะไร 


จริงๆ แล้ว ดูเหมือนพี่ลีจะไม่สามารถไม่พอใจอะไรได้เลย 



ทานอาหารสบายใจในห้องแอร์แม้ไม่มีใคร



ไฟแช็ค

สีอะครีลิค 

สายชาร์จ 

ใบปลิว Speedy Grandma 

หนังสือที่เพิ่งพิมพ์เสร็จ 

เทปสีน้ำเงิน 

เทปสีเหลือง 

ไม้แขวนเสื้อ 

มีทุกๆ อย่างวางอยู่บนโต๊ะของพี่ลี 



กับที่บางที แค่เดินเข้าไปก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นพื้นที่ของใคร กลิ่นของเจ้าของพื้นที่ลอยฟุ้งในอากาศอยู่เสมอ 




Witti Studio

Studio is a space within.


Witti Studio ถูกสร้างขึ้นมาจากความชอบที่สะสมมาอย่างใจเย็นของอาจารย์ผึ้ง วิทมน นิวัติชัย และอาจารย์สันติ ตันสุขะ ด้วยความที่ได้รู้จักอาจารย์ทั้งสองท่านมาตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้พอจะเข้าใจจังหวะในการทำงานและวิธีเลือกของอาจารย์อยู่บ้าง และเมื่อได้ก้าวเข้าไปในสตูดิโอ จึงรู้สึกเหมือนได้ก้าวเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นตัวตนของอาจารย์ทั้งสองจริงๆ

อาจารย์ผึ้งและอาจารย์สันติได้เริ่มโปรเจกต์เล็กๆ ในใจไว้ตั้งแต่ช่วงที่เข้ามาร่วมงานกันที่หลักสูตร CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อค้นพบว่าจังหวะการทำงานและภาพในใจค่อนข้างใกล้เคียงกัน โปรเจกต์การทำสตูดิโอ ริโซ่ ปริ้นท์ติ้ง จึงเริ่มขึ้นมาอย่างเนิบช้าหลายปีก่อนที่จะมาเป็น Witti Studio อย่างทุกวันนี้ ในขณะที่จุดเริ่มต้นของหลายๆ สตูดิโอ จะเริ่มจากเครื่องปริ้นท์เป็นหลัก แต่ไม่ใช่กับ Witti Studio ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่า ถ้าไม่ได้สตูดิโอที่เหมาะสม จะไม่ลงทุนซื้อเครื่องเด็ดขาด ทั้งสองจึงเริ่มมองหาพื้นที่ที่ถูกใจอยู่นานหลายปี จนกระทั่งได้มาเจอ Jouer โครงการน่ารักๆ ติดถนนสุขุมวิท ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่และเพื่อนฝูงในวงการที่หลงรักรายละเอียดของการใช้ชีวิตที่คล้ายๆ กัน

เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านเก่า แบบที่ครอบครัวใหญ่จะอยู่รวมกันในรั้วเดียว ส่วนหลังที่ Witti Studio อยู่ คือบ้านหลังในสุด ในส่วนของห้องนอนและห้องน้ำ อีกครึ่งหนึ่งของบ้านคือห้องนั่งเล่นและห้องรับแขก ตอนนี้เป็นสตูดิโอของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Kaoi และแบรนด์เสื้อผ้า Even for Everyone เมื่อได้รู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นห้องนอนมาก่อน ก็รู้สึกได้ว่าตัวบ้านถูกออกแบบมาเพื่อการพักผ่อนจริงๆ เดิมทีห้องนอนจะมีหน้าต่างใหญ่รอบด้าน ที่ตอนนี้ได้ถูกเจาะเป็นประตูทางเข้าสตูดิโอ และมีทางเดินลึกเข้าไปสู่ห้องน้ำที่มีอ่างอาบน้ำทรงเก่า ที่ยังคงสภาพเดิมได้ดีมาก จนรู้สึกอยากลองลงไปนอนแช่น้ำสักที ตลอดทางเดินไปห้องน้ำ มีพื้นที่ที่ถูกเจาะเข้าไปเพื่อวางชั้นหนังสือ ชั้นตากกระดาษ และชั้นใส่กระดาษ ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เมื่อได้พูดคุยกับอาจารย์จึงรู้ว่า ที่ตรงนี้เคยเป็นตู้เสื้อผ้าบิวด์อินมาก่อน แต่ถูกรื้อออกไป และยังมีช่องบนหลังคาที่ถูกทำเป็นกรอบกระจกเพื่อให้แสงทอดลงมาอีกด้วย ทุกองค์ประกอบของบ้านหลังเดิมเหมือนถูกสร้างมาเพื่อรองรับสตูดิโอในวันที่เจ้าของเดิมย้ายออกไปแล้ว เพื่อให้ตัวบ้านยังคงรักษาบรรยากาศที่สงบ ร่มรื่นเอาไว้ได้

เมื่อ Witti Studio เข้ามาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ หน้าต่างบานใหญ่ถูกแทนที่ด้วยประตูและกระจกที่เป็นเหมือนหน้าร้าน มองเข้าไปเห็นบรรยากาศการทำงานคึกคักของทั้งสองคน พื้นไม้ยังคงรักษาเสียงเอี๊ยดอ๊าดเบาๆ เมื่อเดินผ่าน ห้องนอนที่(คงจะ)น่านอนมากๆ ในวันหยุด กลับมามีสีสันด้วยการตกแต่งสตูดิโอของทั้งคู่ ทั้งงานที่ทำเองและงานของนักออกแบบคนอื่นๆ ทุกพื้นที่ดูสนุกสนานแต่ไม่โหวกเหวก คล้ายปาร์ตี้เล็กๆ ที่รวมเพื่อนที่รู้ใจมาไว้ด้วยกัน ภาพในใจที่ถูกวาดไว้คร่าวๆ ตั้งแต่ต้นได้ถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมาด้วยการคัดสรรอย่างตั้งใจและไม่รีบร้อน

ถ้าให้อธิบายพื้นที่ของ Witti Studio แบบสั้นๆ คงจะสรุปได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราว ร่มรื่น พิถีพิถันและเหมาะสม



ชาร์ทสีของใครก็คงไม่น่าภูมิใจเท่าการมีชาร์ทสีของตัวเอง สตูดิโอที่ถูกเก็บอยู่ในใจกันสองคนมาหลายปี เมื่อถูกเก็บจนได้ที่ ก็ออกผลมาเป็นกระดาษหน้าตาแปลกบนผนังของห้องจนแทบไม่ได้คิด ว่าก่อนหน้านี้ผนังเคยเป็นหรือยังเป็นสีอะไร 



ชั้นวางหนังสือ
ชั้นตากกระดาษ
ชั้นเก็บกระดาษ
โต๊ะทำงาน
โต๊ะวางของ
อ่างล้างหน้า
อ่างอาบน้ำ

ทุกอย่างอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่เคยเป็นห้องนอน
บางชิ้นมาก่อน บางชิ้นมาทีหลัง
เข้ามาอยู่ในที่ที่เหมือนเตรียมไว้สำหรับปัจจุบัน 


กระดาษเล็กกระดาษน้อย
กระดาษของเล็ก กระดาษของน้อย
วันนึงจะไม่ใช่กระดาษเล็กกระดาษน้อย
วันนึงจะไม่ใช่กระดาษของเล็กหรือกระดาษของน้อย 


มีแสงลอดเข้ามาจากกรอบกระจกที่ติดอยู่บนหลังคา ห้องนี้เคยเป็นห้องนอน ถ้าตื่นขึ้นมาคงเห็นแสงอาทิตย์พอดี 



ที่ที่เหมาะสม ไม่เคยมีภาพที่ชัดเจนเป็นจนกว่าจะกลายเป็นเรื่องจริง อาจารย์ผึ้งเคยบอกว่า เมื่อเวลามาถึง ทุกอย่างจะเข้าที่ของมันเอง บางเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จตอนนี้ อาจจะยังไม่เจอที่ของมันก็ได้ 



มีเพื่อน มีพี่ มีน้อง มีลูกศิษย์ มีคนที่ไม่เคยรู้จักกันฝากร่องรอยเอาไว้บนผนังเต็มไปหมด มีชื่อบ้างไม่มีชื่อบ้าง 



เครื่องพิมพ์เป็นเหมือนจักรวาลที่บิดได้ไม่มีที่สิ้นสุด มีแค่เราที่ต้องเรียนรู้และหาทางบิดมันเอง ทุกสตูดิโอมีจักรวาลเป็นของตนเอง ที่ Witti ก็มีอยู่หนึ่ง 



แม้แต่ขยะยังถูกจัดการให้เป็นระเบียบ เพราะทุกอย่างควรมีที่ที่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ถาวรหรือชั่วคราว เดินกลับออกมาจากสตูดิโอพร้อมกับหัวใจที่หายใจเบาๆ บางทีที่ของเราอาจจะยังไม่เจอ 




Haptic Editions

Studio is a designer as a space.


Haptic Editions เป็นห้องแบบมีหน้าร้านเล็กๆ มีกระจกสองด้านที่กั้นโลกภายนอกออกจากสตูดิโอ ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปยังสตูดิโอของพี่ตะวัน ก็ลืมไปแล้วว่าพื้นที่ตรงนี้อยู่ใจกลางทองหล่อ เราถูกต้อนรับด้วยเครื่องปริ้นท์และชั้นตากงานที่มีขนาดใหญ่จนเหมือนเป็นอนุสาวรีย์ของสตูดิโอ

เงียบ แต่ไม่อึดอัด

ด้วยความที่พี่ตะวันทำสตูดิโอนี้เพียงคนเดียว จึงสามารถจัดการพื้นที่ได้โดยสะดวก แต่ก็ยังมีระบบในการทำงานที่สอดคล้องกับการจัดวางเครื่องมือ เริ่มตั้งแต่เครื่องปริ้นท์ ชั้นตากงาน ชั้นวางของ และชั้นเก็บกระดาษและเศษกระดาษ ตรงกลางเป็นโต๊ะทำงานสองตัว ใหญ่พอที่จะวางงานได้หลายชิ้นและสามารถทำเวิร์กชอปกลุ่มเล็กๆ ได้พอดี

เราสังเกตว่าที่นี่แทบจะไม่มีการแปะโพสต์อิท เพื่อสื่อสารข้อความภายในสตูดิโอเลย ตอนนั้นจึงได้เข้าใจว่าการการทำงานของพี่ตะวัน สามารถสื่อสารกับตัวเองได้เลยโดยไม่ต้องผ่านโน๊ตอะไร เราถามพี่ตะวันอีกครั้งว่าทำไมถึงแทบไม่มีตัวอย่างงานปริ้นท์แปะอยู่บนผนัง อย่างที่เคยเห็นสตูดิโออื่นๆ ทำ พี่ตะวันเล่าว่าอยากให้สตูดิโอนิ่งที่สุด เพื่อที่เมื่องานใหม่ถูกผลิตออกมา จะส่งเสียงและสีสันของตัวมันได้ดีที่สุดโดยไม่ถูกรบกวนจากงานอื่น ส่วนตัวอย่างงานที่ผ่านๆ มา ก็ถูกจัดเก็บในแฟ้มอย่างเรียบร้อยและเป็นระเบียบ แต่ก็ใช่ว่าที่นี่จะเงียบสนิทสักทีเดียว ถึงแม้ไม่มีเสียงคนพูดจากสิ่งของ แต่ยังมีเสียงของต้นไม้เล็กๆ ที่ถูกวางไว้มุมห้อง ทำให้สตูดิโอกลายเป็นห้องเล็กๆ ที่มีชีวิตขึ้นมา

สตูดิโอเป็นสีเทากลาง

เราอาจจะเคยเห็นสตูดิโอออกแบบหลายที่ที่เลือกใช้สีนิ่งๆ อย่างสีดำ ขาวหรือสีของไม้ แต่สำหรับพี่ตะวัน Haptic Editions ถูกทาด้วยสีเทา ชั้นวางของขนาดใหญ่เป็นสีเทาและดูแข็งแรงแต่ไม่แข็งทื่อ ทำให้เรานึกถึงสไตล์การออกแบบจากยุโรปตอนบนที่เคยเห็นในหนังสือบ่อยๆ เราค่อนข้างมั่นใจว่าสตูดิโอเล็กๆ นี้ คือการกลายร่างของพี่ตะวันจากคนสู่สเปซ และแม้ว่า Haptic Editions จะกำลังย้ายไปทำสตูดิโอในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เราก็เชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นตัวตนของพี่ตะวันในมุมที่กว้างขึ้นและละเอียดขึ้นเหมือนกัน



Haptic Editions พูดเสียงเบาไม่ใช่เพราะเขินอาย แต่เป็นเพราะไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับใคร ทุกเรื่องเข้าใจกันดีในหัวของพี่ตะวัน 



อนุสาวรีย์ของสตูดิโออยู่ถัดจากเครื่องพิมพ์ที่รอรับอยู่หน้าทางเข้า ใหญ่เสียจนคิดว่าจะเสียงดัง แต่ไม่เลย งานที่ตากอยู่บนตะแกรงต่างหากที่ส่งเสียง 


มักมีคนทักผิดว่าเครื่องพิมพ์ริโซ่คือเครื่องถ่ายเอกสารอยู่บ่อยๆ แต่เครื่องพิมพ์ริโซ่มาไกลเกินกว่าจะกลับไปเป็นเครื่องถ่ายเอกสารได้อีกแล้ว 



กระดาษของพี่ตะวันถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกระดาษที่ใช้แล้วและยังไม่ได้ใช้ กระดาษใช้แล้วถูกเก็บเป็นระเบียบ หอมใหม่เหมือนเพิ่งออกจากเครื่องพิมพ์ กระดาษที่ยังไม่ถูกใช้ นิ่งและหอมเหมือนเพิ่งดึงออกมาจากรีม 



Post It แผ่นเดียวในสตูดิโอถูกแปะไว้อย่างโดดเดี่ยวบนชั้นที่มีระเบียบและเทากลาง แผ่นอื่นๆ ถูกแปะอยู่ในสายตาของพี่ตะวันคนเดียวเท่านั้น 


สตูดิโอขนาด 1 คนเดินสบาย กำลังจะถูกขยายเป็นขนาดหลายคนเดินสบายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อนุสาวรีย์จะถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ แต่ก็เชื่อว่ามันจะยังคงเด่นที่สุดในห้องอยู่เสมอ สตูดิโอใหม่อาจจะเป็นสีเทากลางเหมือนเดิม หรือไม่เหมือนเดิมก็ไม่รู้เหมือนกัน 



สะท้อนโลกข้างนอกออกไปให้หมด 



RISO PRINT GUIDE LEAFLET HERE
ไม่ใช่ว่าจำไม่ได้ว่าวางมันไว้ที่ไหน แต่มันสวยดีก็ไม่ทิ้ง 


เหมือนห้องนิทรรศการที่แสดงโลกของพี่ตะวันเอาไว้ มองจากระยะไกลก็ยังคงสงบดี Haptic Editions เป็นอย่างไร พี่ตะวันก็เป็นอย่างนั้น 




Smoove

Studio is a personal space.


พี่เบลบอกเราไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าบ้านพี่เบลเป็นโรงพิมพ์ แต่ภาพในหัวของเรายังไม่ชัดขนาดนั้นจนไปถึงสถานที่จริง โรงพิมพ์นี้เป็นของครอบครัวที่ทำมาตั้งแต่ก่อนพี่เบลเกิด ตัวบ้านและส่วนที่เป็นโรงพิมพ์อยู่ติดกัน ส่วน Smoove Studio ก็อยู่ที่ชั้นสองของบ้านที่พี่เบลโตขึ้นมา

รู้อยู่แล้วว่าจะกลับมาทำสตูดิโอที่บ้าน

เพราะไม่มีที่ไหนสะดวกไปกว่านี้และพี่เบลเองก็ยังไม่ได้ทำ Smoove แบบเต็มเวลา ห้องนี้เลยจะถูกใช้พิมพ์งานในเวลาว่างและวันหยุด หรือบางครั้งก็เอาไว้ให้เพื่อนๆ ได้มารวมตัวกัน ห้องนี้จึงไม่ได้มีแค่เครื่องพิมพ์และอุปกรณ์การทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหนังสือที่ชอบ โซฟา แก้วกาแฟ และของสะสมอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ตัวห้องถึงแม้จะอยู่ภายในบ้านแต่ก็มีหน้าต่างที่มองออกไปเห็นตัวบ้านส่วนอื่น พี่เบลใช้มู่ลี่มาปิดเอาไว้ เหมือนกับเป็นการคั่นพื้นที่ของ Smoove และพื้นที่บ้านออกจากกัน เราชอบห้องแบบนี้มาก โดยเฉพาะพื้นไม้ขัดมัน พอดูภาพรวมกับของภายในห้องแล้ว ก็ทำให้ได้เข้าใจว่านี่คือส่วนผสมของพี่เบลที่มาจากที่บ้านและตัวตนที่ได้ไปเติบโตข้างนอก เราคิดแบบนี้เสมอกับทุกสตูดิโอที่ได้ไป ไม่มีที่ไหนเหมือนกันเลย

สตูดิโอที่กำลังเติบโต

Smoove กำลังโต โตจากพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำในสิ่งที่ชอบ ที่พี่เบลเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าชอบสิ่งพิมพ์เพราะโตในโรงพิมพ์หรือโชคดีที่เกิดมาในโรงพิมพ์กันแน่ 



ใครๆ ก็มีผนังส่วนตัวกันทั้งนั้น 



กระดาษว่างพิมพ์ยามว่างหลังเลิกงานและวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์



เครื่องพิมพ์ชื่อญี่ปุ่นในบ้านคนจีน ต้องปรับตัวให้เข้ากับการอาศัยอยู่บนโรงพิมพ์ 



ตั้งแต่เกิดมาก็เจอโรงพิมพ์ ไม่รู้ว่าพี่เบลเกิดมาเพื่อชอบสิ่งพิมพ์ หรือโรงพิมพ์หลอมให้ชอบสิ่งพิมพ์ 


เก้าอี้ดีไซน์เนอร์ก็ไม่สู้เก้าอี้ไม้ของที่บ้าน นั่งแล้วเหมือนกำลังจะได้กินข้าวเย็นพร้อมหน้า 


แก้วน้ำที่สะสมมาก็ย้ายมาอยู่ในห้องนี้รวมกับสิ่งอื่นๆ ที่หลงรัก กระบวนการเปลี่ยนรูปทรงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราส่องกล้องกลับไปดู เห็น Smoove กำลังก่อตัว 



ตู้เอกสารเก่าของอากงถูกส่งมาให้พี่เบลใช้ต่อ ในลิ้นชักแถมความรู้เก่าๆ มาด้วย ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน โชคดีที่มีอากง 




ผสมบ้านและตัวเองเข้าด้วยกัน แล้วนำเข้าไปในเครื่องพิมพ์ในเวลาไม่นาน จะได้กระดาษสีสดใสประทับใจไม่รู้ลืม 


หน้าต่างและมูลี่กั้นบ้านออกจากสตู / กั้นสตูออกจากบ้าน เพื่อให้พี่เบลเปลี่ยนจากตัวเองเป็นสถานที่อย่างช้าๆ แต่มั่นคง 


กระดาษเก็บอยู่ในลิ้นชัก LUCKY ตู้เดิมที่เคยเก็บกระดาษของครอบครัว แยกเป็นชั้นใครชั้นมัน แต่ครอบครัวยังอยู่ด้วยกัน พื้นที่ของ Smoove เป็นห้องนี้มาตลอด แยกออกจากตัวบ้านแค่ประตูกั้น เป็นพื้นที่ส่วนตัวในพื้นที่ส่วนตัว 

CONTRIBUTORS

หายหายและหลายๆ ใบ
ปัญจพร ไชยชมภู (เอ๋ย) เป็นนัก(ชอบ)เขียน ที่สนใจในรายละเอียดของมนุษย์และความคิดของตัวเอง เรื่องสั้นทั้งหมดจึงเกิดจากประสบการณ์และการบิดเบือนความจริงเพื่อบันทึกชีวิตของตนเองเอาไว้ นอกจากนั้นวิธีการทำหนังสือทั้งหมดจะเกิดจากความคิดที่ว่าหนังสือไม่จำเป็นต้องยาก จึงจะได้เห็นผลงานที่ใช้วิธีการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เรียบง่ายแต่น่าสนใจอยู่เสมอ
เฟซบุ๊ก: หายหายและหลายๆ ใบ

ริโซ่บางกอก
1 – Together Design and Risograph Studio
Together Design and Risograph Studio ให้ความสาคัญในกระบวนการคิด และการออกแบบ เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนให้กับทุกๆ ปัญหา งานออกแบบและผลิตภัณฑ์ของ Together จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาชุมชนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เราเชื่อในคุณค่าและเรื่องเล่าของผู้ผลิตและผู้ให้บริการในท้องถิ่น เพราะสำหรับเราการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างชุมชน เป็นกุญแจสาคัญสู่ความสำเร็จในระยะยาว
เฟซบุ๊ก: Together Design & Risograph Studio

หวั่น-หยี หลิน (หมอก) เป็นนักออกแบบสื่อสารที่เกิดที่ประเทศไต้หวัน แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย เธอมีความสนใจส่วนตัวในเรื่องการสร้างชุมชนและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เธอสามารถที่จะแก้ปัญหาและค้นพบการออกแบบที่ยั่งยืนได้จากทุกๆ ความท้าทาย การทดลองและการเล่นสนุกเป็นวิธีการในการเรียนรู้และเพิ่มพลังสร้างสรรค์ แรงขับเคลื่อนในแต่ละวันของเธอคือเนยถั่วและซูชิ (แต่ไม่ได้กินพร้อมกันนะ)

2 – Poop Press (พูพ เพรส)
Poop Press (พูพ เพรส) คือ สำนักพิมพ์อิสระก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2559 ด้วยจุดประสงค์ที่จะนำเสนอความสวยงาม’ในรูปแบบอื่น’ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และเชื่อในการอิสรภาพของการผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยตัวเอง โดยใช้เทคนิคการพิมพ์ริโซ่กราฟในการผลิตผลงาน ดำเนินการโดย อัญชลี อนันตวัฒน์ ที่ทั้งเป็นผู้ก่อตั้ง ผู้พิมพ์ ผู้เย็บเล่ม และผู้จัดจำหน่าย โดยทำการคัดเลือกผลงานจากทั้งศิลปินและนักออกแบบทั้งที่ผลิตผลงานในรูปแบบสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว หรือผ่านการชักชวนให้ทดลองผลิตด้วยกัน
เฟซบุ๊ก: Poop Press

อัญชลี อนันตวัฒน์ (ลี) เป็นอาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นศิลปินและผู้ร่วมก่อตั้งแกลเลอรี่ Speedy Grandma และ สำนักพิมพ์ Poop Press ลีมีความสนใจในการนำเสนอรูปแบบทางเลือกอื่นๆ ในการแสดงออกทางวัฒนธรรม เชื่อว่าเราสามารถใช้ท่าทางที่ไม่ซีเรียส พูดถึงเรื่องที่สำคัญๆ ได้ดีไม่แพ้ท่าทางแบบอื่น อัญชลีมีความตั้งใจในการสร้างพื้นที่เพื่อจะได้ร่วมทำงานกับคนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะสนุกดี

3 – Witti Studio (วิตตี้ สตูดิโอ)
Witti Studio (วิตตี้ สตูดิโอ) คือสตูดิโอสร้างสรรค์งานออกแบบ และให้บริการงานพิมพ์ด้วยเครื่องริโซ่กราฟ เริ่มต้นขึ้นในปี 2562 โดย วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ จากความหลงใหลในสิ่งพิมพ์ กระบวนการพิมพ์ริโซ่กราฟ และงานออกแบบซึ่งทั้งสองมีร่วมกัน ด้วยความตั้งใจที่จะให้สตูดิโอเป็นพื้นที่ของการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับงานสิ่งพิมพ์ และความเชื่อที่ว่าการออกแบบที่ดีจะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
เฟซบุ๊ก: witti.studio

วิทมน นิวัติชัย (ผึ้ง) ขอนิยามตัวเองว่าเป็นนักสร้างสรรค์+ครู ร่ำเรียนและเริ่มจากความชำนาญทางภาพพิมพ์ในสตูดิโอภาพพิมพ์ชั้นนำ มีโอกาสได้รับทุนศิลปินในพำนัก เป็นอาจารย์พิเศษรับเชิญในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจึงทำให้การสอนหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ สิบปีที่ผ่านมามีความสนใจในการผสมผสานเทคนิคและขบวนการแบบดั้งเดิมเข้ากับวัสดุ, เทคโนโลยีการพิมพ์ การทำแบบสมัยใหม่ ทำให้ได้ทดลองเป็นนักวาดภาพประกอบ ทำผลิตภัณฑ์ที่นำความชำนาญเชิงช่างมารวมกับการออกแบบที่สอดคล้องกับชีวิตร่วมสมัย ทำสตูดิโอริโซ่กราฟ และร่วมถึงงานสร้างสรรค์อีกหลากหลายรูปแบบ

สันติ ตันสุขะ เป็นนักออกแบบที่มีประสบการณ์ออกแบบหลากหลายสาขา เคยทำงานในสตูดิโอสถาปนิก บริษัทสตาร์ทอัพ แฟชั่นแบรนด์ และเป็นฟรีแลนซ์ให้กับสตูดิโอออกแบบในอเมริกา และอังกฤษ เคยเป็นรองบรรณาธิการนิตยสาร Wallpaper* Thai Edition และเป็นอาจารย์พิเศษด้านดีไซน์ เขาเชื่อว่าการออกแบบอยู่รอบๆ ตัวเราในทุกมิติ และการออกแบบที่ถูกคิดและทดลองมาอย่างดี สามารถนำมาปรับใช้ได้กับแง่มุมต่างๆ ของชีวิตประจำวัน และช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้

4 – Haptic Editions
Haptic Editions ก่อตั้งขึ้นในปี 2561 เป็นสตูดิโอที่ให้บริการพิมพ์ริโซ่กราฟ และบริการงานออกแบบแบบครบวงจร ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต เราอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจงานพิมพ์ และการตีพิมพ์ผลงานตัวเองผ่านการจัดเวิร์กชอปและการทำงานร่วมกัน
เฟซบุ๊ก: Haptic Editions

ตะวัน อิทธิจารุกุล (ตะวัน) เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และยังเป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอริโซ่กราฟและสตูดิโอออกแบบชื่อ Haptic Editions เธอสนใจในงานฝีมือและสิ่งพิมพ์พอๆ กับที่สนุกกับกระบวนการออกแบบที่ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด และนำมันมาใช้อย่างสร้างสรรค์ในการผลิตผลงาน

5 – Smoove
Smoove เป็นเหมือน Printing Lab บนบ้านที่เราสามารถทดลองการพิมพ์ Risograph โดยที่ไม่เคอะเขิน เราสนับสนุนให้คนทุกเพศทุกวัยกล้าที่จะปล่อยของ ทดลองหรือทำงานมันส์ๆเพื่อมีชิ้นงานเป็นของตัวเอง
อินสตาแกรม: Smoove

สลิลา โตรักตระกูล (เบว) กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ผูกพันกับโรงพิมพ์มาตั้งแต่เด็กๆ เบวคิดว่าถึงแม้จะออกแบบบนดิจิตอลแต่ท้ายที่สุดการได้สัมผัสสิ่งพิมพ์เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็เป็นสิ่งที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับงานนั้นๆอยู่ดี

ภาพถ่ายโดยหายหายและหลายๆ ใบ (ปัญจพร ไซยชมภู (เอ๋ย))

พิสูจน์อักษรโดย ศุภมาศ พะหุโล, นภิษา ลีละศุภพงษ์, กานต์ธิดา บุษบา