[BM] 13 ไม่แข่งยิ่งแพ้ | Work Until You Drop
Photo Essay—What Do You See?
30.09.2022
เรื่องและภาพโดย ฐิติภัค ธีระตระกูล
EN
|
TH
ที่บ้านทำกิจการน้ำแข็งมาได้ประมาณสามสิบปี แม่เล่าให้ฟังว่าไปรับคนงานมาจากสำนักงานแรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายคนทำได้แค่ไม่ถึงหนึ่งเดือนก็ปีนหน้าต่างห้องพักแอบหนีไปตอนกลางดึก ทนทำงานหนักขนาดนี้ต่อไปไม่ไหว แม่กับเตี่ยต้องไปตามหาให้กลับมาทำงานก่อน เพราะทำกันเองแค่สองคนกับคนงานที่เหลืออีกไม่ถึงหยิบมือก็ทำไม่ไหวเหมือนกัน ในปี 2537 ย้ายกิจการจากตึกแถวในตลาดย่านลำลูกกาไปขายอยู่ในเต็นท์สองหลังที่ทางตลาดย่านคลองหลวงเตรียมไว้ให้ แต่ด้วยสถานะทางการเงินติดลบในตอนนั้น กิจการที่ควรจะไปได้ด้วยดีอย่างราบรื่นก็ถูกคนมีเงินที่สามารถจ่ายเงินให้กับตลาดได้มากกว่า แย่งที่ทำมาหากินไป แม่กับเตี่ยต้องไปวิ่งเต้นขอความช่วยเหลืออยู่เดือนสองเดือน และเป็นจังหวะที่ทางตลาดติดต่อมาอีกครั้ง เลยได้ขายน้ำแข็งในตลาดย่านคลองหลวงต่อ
แม่บอกว่าค่าแรงคนงานอยู่ที่สามพันต่อเดือน ห้าสิบบาทถึงหนึ่งร้อยบาทต่อวัน แล้วแต่ว่าพวกเขาเป็นงานหรือยัง ขยันหรือไม่ค่อยขยัน แต่กว่าจะได้ถึงสามพันบาทก็ต้องทำงานมานาน และสามารถอยู่แทนเจ้าของร้านเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ตอนนี้ค่าแรงเริ่มต้นตามค่าแรงขั้นต่ำและปรับขึ้นให้เรื่อยๆตามเนื้องานและความขยัน แต่ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมสวัสดิการอื่นๆ ซะทีเดียว
คุยกับคนงานอายุ 46 และ 17 ถามคำถามเดียวกันคือ ทำไมถึงมาประเทศไทย และ ยังคิดว่ายังเป็นการมาหาอนาคตที่ดีกว่าไหม คำตอบที่ได้คือ มาหางานทำ และ สภาพของประเทศไทยในตอนนี้ยังคงเป็นอนาคตที่ดีกว่าที่จะต้องอยู่ในประเทศของตัวเอง ไม่ว่าจะต้องอยู่อย่างผิดกฎหมาย เป็นประชาชนชั้นล่างสุด ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับสิทธิ์และสวัสดิการที่ควรจะได้ ก็ยังดีกว่าอยู่ในประเทศของตัวเอง จะต้องหาหนทางอยู่ในประเทศไทยต่อไปให้ได้ ไม่ว่าจะโดนนายจ้างกดขี่ข่มขู่มากแค่ไหนก็ตาม
คนที่ใช้แรงงานหนักหรือ manual labor ในประเทศไทยส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือจากประเทศเพื่อนบ้าน ต่อให้รู้ก็ไม่กล้าทักท้วงเพราะกลัวจะโดนไล่ออก หรือ โดนส่งกลับประเทศตัวเอง กลุ่มคนแรงงานในประเทศไทยอ่อนแอมากเพราะไม่มี labor union ยิ่งมีรัฐบาลและนายทุนที่เกื้อหนุนกันยิ่งเป็นไปได้ยากที่ labor union จะเกิดขึ้น เพราะถ้ามี labor union เมื่อไหร่ ชนชั้นแรงงานที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะมีพลังในการรวมตัวเรียกร้องสิทธิ์และสวัสดิการได้มากขึ้น ซึ่งทางนายทุนหรือในที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นนายจ้าง ก็ไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เพราะได้กำไรน้อยลง รัฐบาลเหมือนจงใจออกกฎข้อบังคับซับซ้อนในการเตรียมเอกสารขอใบอนุญาตทำงาน เพราะส่วนใหญ่พวกเขาจะส่งเงินกลับบ้าน และถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันน้อย รัฐบาลเห็นว่าเงินไหลออกจะประเทศมากก็พยายามจะชลอมันลงด้วยสร้างความยุ่งยากในขั้นตอนดำเนินการ
สองสามวันหลังจากที่เอารูปให้คนงานดู ทุกคนหาเวลาไปตัดผมโกนหนวดดูแลตัวกันนิดหน่อย เท่าที่กำลังเงินจะเอื้ออำนวย ถ้าพวกเขามีพอมีเวลาและเงิน คงจะดูแลตัวได้กันดีกว่านี้ ไม่ต้องรอจนมีคนมาขอถ่ายรูป เห็นตัวเองในรูปแล้วถึงคิดได้ว่าต้องดูแลตัวเองแล้ว การที่คนคนคนหนึ่งจะดูแลตัวเองได้ไม่ควรเป็นเอกสิทธิ์ที่คนมีเงินเท่านั้นถึงจะทำได้
ทั้งหมดนี้เขียนมาจากความเข้าใจส่วนตัว กับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน และ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกิจการของที่บ้าน รูปถ่ายคือความอิดโรยที่เเกิดขึ้นกับคนงานภายในหนึ่งวันทำงาน ตั้งแต่ตอกบัตรเข้าทำงาน หลังพักเที่ยง และ ก่อนกลับบ้าน
ผลงานภาพถ่าย What do you see ? (2565) เป็นส่วนขยายโปรเจกต์ Our Relation to Labor (2562) ที่ฐิติภัคทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผลงานชุดนั้นเป็นภาพถ่ายเล่าเรื่องคนงานหลากหลายช่วงวัยที่ทำงานและอาศัยอยู่กับกิจการโรงน้ำแข็งของที่บ้าน
ฐิติภัคเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาในนิยตสารออนไลน์ [BOOKMARK MAGAZINE] ฉบับที่ 13 ไม่ย่ิงแข่งยิ่งแพ้ | Work Until You Drop