กษัตริย์คือ(อะ)ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน
เดวิค เกรเบอร์, นิกา ดูบรอฟสกี (เขียน), เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (แปล)
ภาษาไทย
2563
จัดทำโดย อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์
กรุงเทพฯ, ไทย
16.7 x 24 ซม, 118 หน้า, ขาว/ดำ, ออฟเซ็ต, เย็บกี่ไสกาว, ปกอ่อน
‘กษัตริย์คือ(อะ)ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน’ หนังสือขนาดสั้นกระชับ ที่จะพาเราไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับข้อคำถามพื้นฐานว่า ‘กษัตริย์คืออะไร’ ผ่านมิติและมุมมองทางด้านการศึกษาสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ ในลักษณะของการทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ ไม่ได้ลงลึกเข้าไปในรายละเอียดมากนัก เพื่อให้สอดรับกับชื่อของหนังสือและเป้าประสงค์ของหนังสือที่ว่า ‘สำหรับเยาวชน’
โดยที่เนื้อหาของหนังสือ ‘กษัตริย์คือ(อะ)ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน’ เป็นการเขียนในลักษณะของการ ‘ตั้งคำถาม’และ ‘ตอบคำถาม’ โดยผู้เขียน เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยบางประการที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจคำว่า ‘กษัตริย์’ในระดับความหมายพื้นฐาน อาทิ กษัตริย์คืออะไร กษัตริย์มาจากไหน กษัตริย์รักษาอำนาจของตนไว้ได้อย่างไร กษัตริย์กับความเป็นเด็ก กษัตริย์กับตัวตลก ฯลฯ ที่เรียกได้ว่าเป็นคำถามพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เรียกกันว่า ‘กษัตริย์’
นอกจากนั้นแล้ว ‘กษัตริย์คือ(อะ)ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน’ ยังได้ชี้ชวนให้เราทำความเข้าใจภาพรวมถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับสังคมในปัจจุบัน ว่าในสภาวะเปลี่ยนผ่านสถาบันปรับรูปแบบของตัวเองอย่างไร และยิ่งในปัจจุบันที่คำถามเกี่ยวกับกษัตริย์ในฐานะของ ‘ครอบครัวหนึ่ง’ และในฐานะของ ‘คนคนหนึ่ง’ เพิ่มมากยิ่งขึ้นแล้วนั้น การปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงบทบาทของสังคมหนึ่ง ๆ เปลี่ยนบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไปอย่างไร โดยเฉพาะกับบางประเทศที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์อยู่อีกต่อไปแล้ว บทบาทของสิ่งที่คล้ายคลึ่งกับ ‘กษัตริย์’ ในสังคมนั้นยังคงปรากฎอยู่ในที่ใดหรือไม่? และหากยังคงปรากฎอยู่ มันปรากฎอยู่ในลักษณะเช่นใดกัน?