Description
แนะนำสิ่งพิมพ์คัดสรรจาก BOOKSHOP LIBRARY จำนวน 5 เล่ม ประจำเดือนสิงหาคม 2566 หนังสือและนิตยสารที่นำเสนอประเด็นทางสังคมการเมืองผ่านบทความวิเคราะห์หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องบทบาทของสถาบันการปกครอง ผลกระทบของสงครามที่ถูกเล่าผ่านภาพถ่าย ระบบกฎหมาย ไปจนถึงลัทธิการบริโภคนิยมที่ถูกนำเสนอในรูปแบบงานศิลปะ
- 1) Territory
ราฟาเอล ยากอบซาเด (Rafael Yaghobzadeh)
หนังสือภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2014 ราฟาเอลได้บันทึกสถานการณ์ในยูเครนและแง่มุมต่างๆ ในสังคม เช่น การปฏิวัติในเคียฟ การลงประชามติในไครเมีย สงครามในดอนบาส ในเดือนตุลาคม 2020 เขาได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด จากเหตุการณ์รความขัดแย้งในนากอร์โน-คาราบัคหนังสือเล่มนี้เขาได้ผสมผสานงานเขียนและภาพถ่ายเข้าด้วยกัน เขาอุทิศให้กับโครงการสารคดีในยุโรปตะวันออก ในคาบสมุทรบอลข่าน และในตะวันออกกลาง หนังสือเล่ม Territory นี้เขาได้ใช้ภาพในการเป็นเครื่องมือพาผู้อ่านไปสู่ดินแดนความแตกแยกทางพื้นที่ สายไฟฟ้า เศษคาร์บอนที่ฟุ้งกระจายในท้องฟ้า รูปปั้นเลนนินที่ถูกทำลาย ปลอกกระสุน นำเสนอชุดภาพถ่ายที่ปรับไฮไลท์สีแบบกลับด้าน เป็นอีกหน้าตาของประวัติศาสตร์และโศกนาฏกรรม
ราคา 1,800 บาท
สั่งซื้อได้ที่ https://bookshoplibrary.com/product/territory/
- 2) เมื่อช้างในห้องถูกเปิดเผย
เขียนโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
- > การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ ความจำเป็นของยุคสมัย
- > การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ : จาก “คณะราษฎร” 2475 ถึง “ราษฎร” 2563
- > จากกรณีประสิทธิ์ เจียวก๊ก ถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตัวอย่างบทในหนังสือเล่มนี้ที่รวบรวมข้อเขียน บทความ บทอภิปราย การบรรยาย และบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่ 2549 จนถึง 2565 ของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ที่อยู่ในที่ต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วารสารวิชาการ หนังสือเล่ม เว็บไซต์ เพจเฟสบุ๊ค คลิปวิดีโอบันทึกการเสวนา เสมือนเป็น “บันทึกการเดินทาง” ของการรณรงค์ต่อสู้เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แต่ละช่วงแต่ละตอน สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองและผูกโยงเข้ากับวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน
ราคา 200 บาท
สั่งซื้อได้ที่ https://shorturl.at/gFNZ0
- 3) ตุลาการธิปไตย ศาล และการรัฐประหาร
ผลิตโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล, สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณและธีรวัฒน์ ขวัญใจ, นิฐิณี ทองแท้, นพพล อาชามาส, สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ และณัฐกร วิทิตานนท์
คณะรัฐประหารไม่อาจรักษาอำนาจได้อย่างมั่นคงและยาวนาน หากสถาบันทางสังคมไม่เข้ามามีส่วนรับรองและบังคับใช้ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีสถานะเสมือนกฎหมาย รวมถึงปฏิเสธที่จะตรวจสอบความชอบธรรมของกฎหมายเหล่านั้น การกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญอันเป็นกรอบกติกาในการอยู่ร่วมกันของสังคม ผลกระทบเหล่านี้อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานในอนาคต แม้คณะรัฐประหารจะลงจากอำนาจไปแล้วก็ตาม
หนังสือเล่มนี้คือการรวม 6 บทความจากเวทีการนำเสนอผลงานวิชาการ “ตุลาการธิปไตย ศาล และการรัฐประหาร” นำเสนอ 5 ประเด็นสำคัญพร้อมบทวิเคราะห์ภาพรวมของระบบ คสช. อันมีตุลาการธิปไตยเป็นผู้พิทักษ์
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเราในเวลาเปิดทำการ
- 4) Magic Centre
ฟิลิปเป้ ปิรอตเตและฟาเบียน เชินไนค์ (บรรณาธิการ)
สิ่งพิมพ์ประกอบนิทรรศการในชื่อเดียวกัน Magic Centre โดยศิลปินจากจาร์การ์ตา อินโดนีเซีย อะเด ดาร์มาวัน (Ade Darmawan) เนื้อหานิทรรศการว่าด้วยการนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์จากอินโดนีเซียด้วยชื่อเดียวกันนี้ ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ที่มีบทบาทอย่างมากในสังคมอินโดนีเซียช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นที่รู้จักผ่านการตีพิมพ์หนังสือที่มอบสัญญากับผู้อ่านว่าจะช่วย ‘เพิ่มพูนความสามารถทางปัญญา’ ให้กับผู้อ่านได้ หนังสือเหล่านี้นำเสนอคำตอบให้กับผู้เข้าชมที่มีความหวังว่าจะนำพาไปสู่การเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์แบบและเอาชนะความท้าทายของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้ อะเดเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มศิลปิน ruangrupa ในอินโดนีเซีย คอลเล็กทีฟที่ริเริ่มการจัดกิจกรรม อีเวนต์ นิทรรศการ รายการวิทยุ และสำนักพิมพ์ ทำให้กลุ่มศิลปินแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของวงการศิลปะของคนรุ่นใหม่
หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ระหว่างเขาและ ฟิลิปเป้ ปิรอตเต ผู้เป็นบรรณาธิการ และบทความพิเศษ A quotidian parable เขียนโดย ดร.อากุง ฮูจัตนิกา (Dr.Agung Hujatnika) บทความวิพากษ์การทำงานด้านศิลปะและนิทรรศการ ในเล่มยังมีรูปหน้าปกของหนังสือหลายเล่ม อาทิ เล่ม Multipurpose Life, Knowing yourself, Practical hypotism หรือ Willpower in business
ราคา 1,315 บาท
สั่งซื้อได้ที่ https://bookshoplibrary.com/product/ade-darmawan-magic-centre/
- 5) การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด: เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
เขียนโดย อะกิระ ซุเอะฮิโระ
ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เดินตามเส้นทางเศรษฐกิจเสรีของสหรัฐอเมริกาพร้อมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ประเทศเหล่านี้ยกเว้นญี่ปุ่นล้วนพัฒนาอุตสาหกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน จนก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจำทยในฐานะส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนได้รับการขนานนามว่า “มหัศจรรย์แห่งเอเชียตะวันออก” จนเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ลุกลามสู่ความล้มสลายอย่างไม่น่าเชื่อ
หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาเศรษฐกิจไทยในบริบทของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและเศรษฐกิจโลก แสดงให้ผู้อ่านได้เห็นว่าความสำเร็จและความล้มเหลวของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องของตำนานเสื่อผืนหมอนใบของบรรดาเจ้าสัวหรือความสามารถของเทคโนแครตที่มักประกาศว่าปราศจากผลประโยชน์ส่วนตน แต่มีปัจจัยภายนอกมากำหนด อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกที่ไม่ได้เติบโตจากการเปิดกลไกให้ตลาดทำงานเต็มที่ แต่เกิดจากความสามารถทางสังคมในการสร้างเทคโนโลยีด้วย
ราคา 650 บาท
สั่งซื้อได้ที่ https://shorturl.at/gjyzD