TOP PICKS! MARCH 2023

แนะนำสิ่งพิมพ์คัดสรรจาก BOOKSHOP LIBRARY จำนวน 6 เล่ม ประจำเดือนมีนาคม ภายใต้แนวคิด Archive ที่ว่าด้วยวิธีการบันทึกข้อมูลและนำเสนอเนื้อหาออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับโปรเจกต์ WAREHOUSE โดยบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ซึ่งเป็นแสดงผลงานแบบข้ามศาสตร์ในกระบวนการทำนิทรรศการ ระบบการสร้างความรู้ และกระบวนการการจัดเก็บข้อมูลของแกลเลอรี่ ระหว่างวันพุธที่ 8 – วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566

1. THE CONJUNCTION OF SELVES LOVE FOR HISTORY & SIMULATION CULTURE (IN 26 PAGE) โดยนวิน หนูทอง

หนังสือภาพขนาด 26 หน้าที่เป็นผลลัพธ์ของการพยายามทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และโลกแห่งการจำลอง อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “ผมใช้เวลานานมากในการทำความเข้าใจแต่ละอัน (ประวัติศาสตร์ และ simulation) แต่ก็ยังไม่เข้าใจสักทีนะ ครั้งนี้เลยลองใหม่ คิดว่ามันคงเข้าใจมากขึ้น ผ่านการหาจุดตัดของมันผ่านการทำเล่มนี้”

ราคา 250 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่

2. DNA #6 Carrier Bag Fiction [en] เขียนโดย HKW – Haus der Kulturen der Welt, ซาราห์ ชิน, มาธิยาส ซีสเค่ (บรรณาธิการ)

บทความโดยเออร์ซูล่า เค. เลอ กวิน (Ursula K. Le Guin) ในปี 2529 ที่ชื่อว่า ‘The Carrier Bag Theory of Fiction’ เสนอเรื่องราวของเทคโนโลยีสตรีนิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การยังชีพร่วมกัน และจินตนาการถึงกระเป๋าถือติดตัวขึ้นใหม่ในฐานะเครื่องมือในการเล่าถึงเรื่องราวที่เหมือนจริงอย่างน่าประหลาด การเขียนใหม่และภาพใหม่ตอบสนองต่อปฏิบัติการเล่าเรื่องของเลอ กวิน ในการสร้างโลกผ่านการรวมตัวและจับมือไปด้วยกัน

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเรา

3. This Page is Intentionally Left Blank เขียนโดย ปรัชญา พิณทอง และ ธนาวิ โชติประดิษฐ

สูจิบัตรส่งท้ายนิทรรศการ This page is Intentionally Left Blank โดย ปรัชญา พิณทอง คิวเรทโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ ภายในเล่มประกอบไปด้วยบทความจากคิวเรเตอร์ ภาพถ่ายประกอบนิทรรศการ รวมไปถึงสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นข้อเขียนร่วมกัน (co-writer) ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมกิจกรรม ลาก-เส้น-ต่อ-จุด ประกอบไปด้วยนักเขียน นักวิจัย รวมไปถึงนักศึกษา จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ

ราคา 300 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่

4. Fanzine โดย Teal Triggs

หนังสือที่เป็นการนำเสนอ Fanzine หรือวัฒนธรรมการสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กเพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมใต้ดินหรือหลงใหลในสิ่งเดียวกัน ครอบคลุมทั้งวงดนตรี การ์ตูน งานออกแบบตัวอักษร สิทธิสัตว์ ไปจนถึงการดื่มเบียร์  ทำขึ้นแบบ DIY การใช้กรรไกร กาว ลวดเย็บ ภาพที่ผ่านการถ่ายเอกสารมาซ้ำๆ ทำให้สไตล์ของแฟนซีนได้กลายเป็นที่นิยมในวัฒนธรรมป๊อป หนังสือเล่มนี้นำเสนอไปผ่านงานภาพประกอบกว่า 750 ชิ้น ที่เก็บรวบรวมมาตั้งแต่ช่วงปี 1930 ซีนที่นำเสนอความชอบหนังสือไซไฟ มาจนถึงช่วงยุค 1980 ที่เราได้เห็นซีนที่บันทึกเหตุการณ์การประท้วงทางการเมืองในหลายแห่งทั่วโลก

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเรา

5. Under the Radar: Underground Zines and Self-Publications 1965-1975 บรรณาธิการเล่มโดย Jan-Frederik Bandel, Annette Gilbert, Tania Prill

ในช่วงระยะเวลาสิบปีระหว่างยุค 60-70 สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างสรรค์ผลงานสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายรูปแบบ มีกลุ่มคนที่เข้าไป “รบกวน” การสร้างเนื้อหาของกลุ่มมืออาชีพด้วยการไม่ระบุว่าตัวเองเป็นสำนักพิมพ์ ศิลปินกราฟิก หรือนักออกแบบ แต่เลือกสร้างงานพิมพ์ที่มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างผัสสะการรับรู้ใหม่ๆ” “ขยายเขตแดนแห่งจิตสำนึก” หรือ “ชุดความจริงทางเลือก” การทำงานสิ่งพิมพ์ในลักษณะใต้ดินในช่วงเวลานั้นได้เป็นแหล่งที่มาของสไตล์เฉพาะตัวในเชิงการออกแบบที่เกิดขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมงานพิมพ์และแบ่งหัวข้อตามลักษณะร่วม อย่างเช่น วัฒนธรรมที่แปลกแตกต่าง ดีไซน์ที่ล้น ข้อความกำกวม หลักการสื่อสาร ภาพโป๊ เพื่อให้ผู้อ่านได้เดินทางไปสู่โลกของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความหลากหลายในช่วงเวลานั้น

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเรา

6. It Had Something To Do With Telling Of Time เขียนโดย Annee Grøtte Viken

การใช้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือในการสำรวจหนทางใหม่ในการคิดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับอวกาศ พื้นที่ว่างระหว่างภาษาและภาพ เรื่องเล่าในรูปแบบนิยายทำหน้าที่ถักทอถ้อยคำระหว่างนักเขียนและผู้อ่าน ภายในเล่มคือบทภาพยนตร์ซึ่งประกอบด้วยเจ็ดองก์ ซึ่งเกิดขึ้นจากรายละเอียดของพื้นที่ทางกายภาพที่ดึงมาจากนวนิยายเจ็ดเรื่อง แต่ละองก์เป็นบทสนทนาระหว่างพื้นที่และผู้เล่าเรื่องหรือตัวเอกของนวนิยายเรื่องนั้นๆ พื้นที่สมมุติในนวนิยายเหล่านี้ยืนยันการมีอยู่ ทั้งในแง่ของปัจเจกและส่วนรวม เชื้อเชิญผู้อ่านเข้าสู่การเดินทางจากถ้ำที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติไปจนถึงโลกดิสโทเปียที่กำเนิดขึ้นโดยมือมนุษย์

ราคา 370 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่