ไกลกว่าตัวตนความเป็นมนุษย์ คือเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์อันกว้างใหญ่ และเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วถ้าหากพวกเราในฐานะมนุษย์จะคิดและลงมือทำอะไรโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง การเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า ‘แอนโทรโปซีน’ คือช่วงเวลาแห่งการกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม คำนี้ได้ถูกนำใช้ในบริบททางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย นำเสนอมุมมองผ่านทั้งนักวิจัย นักอนุรักษ์ กวี นักปราชญ์ นักการเมือง ตลอดจนนักเคลื่อนไหว
ด้วยความยุ่งเหยิงของโลกปัจจุบันซึ่งอันเป็นผลจากการกระทำของเราทุกคน การเข้าสู่ยุคใหม่นี้จึงจำเป็นต้องมีแนวทางสำหรับทำความเข้าใจ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยการมีส่วนร่วมมากขึ้น เชื่อมโยงระดับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิต เพื่อประยุกต์ใช้ในเชิงสังคม วัฒนธรรม การเมือง และระบบนิเวศที่เราล้วนเป็นส่วนหนึ่งร่วมกัน ทางฝั่งผู้สร้างงานศิลปะก็สามารถใช้ศักยภาพการวิจัย แนวปฏิบัติของศิลปะ การนำเสนอผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ที่นับรวมสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงจร เพื่อสร้างบทสนทนาหรือการคิดเชิงประสบการณ์ให้กับผู้ชม
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ BOOKSHOP LIBRARY จึงได้คัดสรรสิ่งพิมพ์และหนังสือจำนวน 6 เล่ม ที่ว่าด้วยเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ได้รับการมองเห็น จัดเก็บ บันทึก และบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบแตกต่างกัน เพื่อเป็นต้นทางที่ช่วยจุดประกายไอเดียความคิดในการทำงานข้ามศาสตร์ในยุคแห่ง “มนุษยสมัย” ที่มาถึงแล้ววันนี้
1. Vegetation under power. Heat! Breath! Growth!
บรรณาธิการโดยมูลนิธิ Bauhaus Dessau Foundation
Kreismuseum Bitterfeld คือพิพิธภัณฑ์ประจำเทศเมืองบิทเทอร์ฟิลด์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1892 เป็นศูนย์กลางที่ทำหน้าที่บันทึก อนุรักษ์ และถ่ายทอดสิ่งที่เป็นพืชพรรณและสัตว์ประจำถิ่นของภูมิภาค จัดเก็บจากวัตถุจัดแสดง วัสดุ เอกสาร ภาพถ่าย และหนังสือส่วนบุคคล วัตถุพยานที่มีอยู่นี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 รวบรวมโดยนักพฤกษศาสตร์ ฮานส์ เวเบอร์ (Hans Weber) รายการพืชพรรณในภูมิภาค Goitzsche ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ราบน้ำท่วมถึงในอดีต ก่อนที่การพัฒนาเมืองจะกระจายเข้าสู่พื้นที่และพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมถ่านหินเต็มรูปแบบ หนังสือ Vegetation under Power เล่าเรื่องล้อไปกับมอตโต้ของสถาบันบาวเฮาส์ จาก ‘Light! Air! Sun!’ เป็น ‘Heat! Breath! Growth!’ เนื้อหาภายในเล่มว่าด้วยการแสดงให้เห็นถึงข้อควรกังวลเกี่ยวกับการนำทรัพยากรมาใช้เมื่อเมืองต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว การทำลายสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยใหม่ พร้อมนำเสนอกลุ่มความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มุ่งค้นหาวัฒนธรรมที่อิงกับธรรมชาติ ไปจนถึงเรื่องพัฒนาของเครื่องครัวและสารเคมีที่เกินความสามารถของตามนุษย์จะเห็น แต่มันได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรอาหารเรียบร้อยแล้ว
ซื้อหนังสือได้ในราคา 450 บาท
สั่งซื้อได้ที่นี่
2. Planet B – Climate Change and the New Sublime
เขียนโดย นิโคลัส บูร์โรด์ (Nicolas Bourriaud)
ความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างมนุษย์กับดาวเคราะห์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การเกิดขึ้นของภาวะโลกร้อนได้เปลี่ยนแปลงวิธีการ “จ้องมอง” ของศิลปินต่อเหตุการณ์ทางธรรมชาติ ภัณฑารักษ์อย่างนิโคลัส บูร์โรด์ ได้เชิญชวนศิลปินจากทั่วโลกมาตั้งคำถามถึงความร่วมสมัยของแนวคิดโรแมนติกในยุคแอนโทรโปซีน ปัจจุบันนี้ที่ “ซับไลม์” (ในด้านสุนทรียศาสตร์ หมายถึงความยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ศีลธรรม สติปัญญา สุนทรียศาสตร์ จิตวิญญาณ หรือศิลปะที่ยากเกินจะเลียนแบบได้) เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 21 องค์ประกอบทางความคิดสำหรับศิลปินมีแต่เรื่องทุนนิยม ระบบอุตสาหกรรม ลัทธิการบริโภค วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องความสวยงามของธรรมชาติอย่างในอดีต ซับไลม์เวอร์ชั่นอัพเดตจึงต้องปรับแนวทางเป็นสุนทรียศาสตร์ร่วมสมัย ไม่มีความเป็นโรแมนติกเหมือนศตวรรษที่ 18 แต่ต้องแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ภายในเล่มประกอบด้วยบทความขนาดย่อยที่วิเคราะห์เคียงคู่ไปกับผลงานศิลปะจากศิลปินหลากหลายคน
(Planet B – Climate Change and the New Sublime เป็นบทสุดท้ายของซีรีส์นิทรรศการที่เริ่มต้นนิทรรศการแรกคือ The Great Acceleration. Art in the Anthropocene (จัดแสดงที่ไทเป เบียนนาเล่ ปี 2014) ตามมาด้วย Crash Test. The Molecular Turn และ The 7th continent)
ซื้อหนังสือได้ในราคา 825 บาท
สั่งซื้อได้ที่นี่
3. Anthropocene บทวิพากษ์แห่งมนุษย์และวิกฤติสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน
บรรณาธิการโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
รวบรวมบทความวิชาการที่ช่วยสร้างเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับ “มนุษยสมัย” หรือ Anthropocene ในประเทศไทย การนำเสนอแนวคิดในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี รัฐศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง การจัดการตัวเองท่ามกลางวิกฤตที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกได้อีกต่อไป กระแสการศึกษา “หลังมนุษยนิยม (Posthumanism)” จึงเป็นพื้นที่แห่งการศึกษาใหม่ๆ ที่ให้ความสนใจต่อส่ิงที่ไม่ใช่มนุษย์ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต 7 บทความในหนังสือเล่มนี้จึงชวนผู้อ่านเข้าไปสำรวจมิติต่างๆ ของหลังมนุษยนิยม ตั้งแต่โลกวิชาการมาร์กซิสต์ ชาติพันธุ์วรรณาของพื้นที่คุ้มครอง ไปจนถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในวรรณกรรมอีสาน
ซื้อหนังสือได้ในราคา 350 บาท
สั่งซื้อได้ที่ https://shorturl.at/sFHSY
4. Atlas Menor #2 — Posthuman Bodies
บรรณาธิการโดย สถาบันการศึกษาด้านยุคหลังธรรมชาติ (Institute for Postnatural Studies)
หนังสือ 2 ภาษา อังกฤษและสเปน
ซีนที่ประกอบด้วย 3 เล่มย่อย ผลิตขึ้นภายใต้คอนเซปต์ที่ว่าด้วยการศึกษามนุษย์ในยุคหลังธรรมชาติ เพราะรู้ว่าวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของวิทยาศาสตร์คือการพัฒนาระบบการแบ่งแยกสิ่งมีชีวิต โดยนำเสนอในมิติของการทำ “แผนที่ร่างกายมนุษย์” ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับการระบุพิกัดต่างๆ ทางร่างกายด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ผ่านผลงานของศิลปิน 4 คนคือ อันเดรีย มูเนียอิน (Andrea Muniain) นำเสนอไอเดียเรื่อง “ร่างกายบนแผ่นพลาสเตอร์บอร์ด” ระบุส่วนประกอบร่างกายผ่านโฟโตแกรมเมทรี (ศาสตร์การสำรวจรังวัดเพื่อทำแผนที่แผนผังของบริเวณนั้นๆ จากการใช้รูปถ่าย) ให้เป็นแบบจำลองสามมิติดิจิทัล บลังก้า ปูฆาลส์ (Blanca Pujals) สำรวจไปยังประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศและดินแดนที่ร่างกายของเราอาศัยอยู่ ควิเมรา โรซา (Quimera Rosa) การแสดงเพอร์ฟอร์มานซ์ศิลปะผ่านการแฮ็คทางชีวภาพเข้าร่างกาย ด้วยการทดลองที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการฉีดคลอโรฟีลด์เข้าเส้นเลือดดำ สุดท้ายกับ มาเรีย บวย (María Buey) และมาเรีย โมลินา (María Molina) พูดคุยกันเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องรูปร่าง เพื่อทำความเข้าใจว่าจิตใจของคนเรานั้นสามารถรวมเอาส่วนเสริมของไซบอร์กเข้ามาส่วนหนึ่งในท่าทางร่างกายได้อย่างไร
ซื้อหนังสือได้ในราคา 580 บาท
สั่งซื้อได้ที่นี่
5. the LOST species: Great Expeditions in the Collections of Natural History Museums
เขียนโดย คริสโตเฟอร์ เคมป์ (Christopher Kemp)
ธอเรียส (Thorius) ซาลาแมนเดอร์ตัวเล็กไม่มีปอดที่มาจากพื้นที่เม็กซิโกตอนใต้ ตัวผอมกว่าไม้ขีดและมีขนาดเล็กจิ๋ว ลิงซากีลิงต้นไม้จากป่าฝนบราซิลที่มีใบหน้าเหมือนเคลือบสีขาวเอาไว้ โอลิงกีโต (olinguito) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลเดียวกับแรคคูน หน้าตาดูเหมือนพังพอนผสมตุ๊กตาหมี ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองของเทือกเขาแอนดีส เหล่าสัตว์หน้าตาไม่คุ้นเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ แต่กลับไม่สามารถค้นพบได้ในป่าเหมือนอย่างที่ถูกระบุไว้ ผู้วิจัยลงพื้นที่พบสัตว์มหัศจรรย์เหล่านี้ที่ลิ้นชักในห้องใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ นักเขียนอย่างคริสโตเฟอร์พาผู้อ่านไปสำรวจ ขุดค้นประวัติศาสตร์ผ่านถาดเก็บตัวอย่าง เปิดลิ้นชักและโถเก็บของสะสม สวมบทเป็นนักสืบตามล่าสายพันธุ์ใหม่ที่สูญหายไปแล้วในความเป็นจริง สัตว์เหล่านี้ช่วยเตือนว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ก็เป็นเพียงงเศษเสี้ยวของความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเท่านั้น หนังสือ the LOST species บอกเล่าเรื่องราวการค้นพบสายพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ สัตว์แต่ละชนิดกับนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ค้นพบ
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือได้ที่ห้องสมุดของเราในเวลาเปิดทำการ
6. Beloved Beasts
เขียนโดย มิเชล ไนจ์ฮัสซ์ (Michelle Nijhuis)
ไม่ใช่แค่สัตว์ที่กำลังสูญพันธ์ุเท่านั้นที่เผชิญกับความยากลำบากในโลกที่กำลังสิ้นสูญ แต่เหล่านักอนุรักษ์เองก็ต้องทำงานหนักไม่แพ้กันในการต้องอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ให้อยู่รอดต่อไป ทั้งที่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ผ่านมา สังคมอุตสาหกรรมและโลกาภิวัตน์ที่รวดเร็วผลักดันให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หนังสือ Beloved Beasts นักข่าวด้านวิทยาศาสตร์ มิเชล ไนจ์ฮัสซ์ เฝ้าติดตามขบวนการเพื่อปกป้องและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อรักษาสายพันธุ์กระทิงอเมริกันและนกอินทรีหัวล้าน ไปจนถึงความพยายามระดับโลกเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ในวงกว้างขึ้น เธอบรรยายถึงบทบาทของนักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหว เช่น อัลโด ลีโอโปลด์ (Aldo Leopold) และราเชล คาร์สัน (Rachel Carson) กลุ่มคนที่ก่อตั้งองค์กรด้านการอนุรักษ์ที่สำคัญ เช่น Audubon Society และ World Wildlife Fund หนังสือเล่มนี้ยังเล่าถึงความยากลำบาก เช่นการต้องเผชิญหน้ากับด้านมืดของการอนุรักษ์สมัยใหม่ ซึ่งมีทั้งการเหยียดเชื้อชาติและยังติดอยู่กับลัทธิล่าอาณานิคม ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ก็เปรียบเหมือนแผนภูมิแนวทางการอนุรักษ์ที่ปกป้องสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมถึงสายพันธุ์อย่างมนุษย์เราเองด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือได้ที่ห้องสมุดของเราในเวลาเปิดทำการ