Top Picks! September 2023

 

Category:

Description

แนะนำสิ่งพิมพ์คัดสรรจาก BOOKSHOP LIBRARY จำนวน 5 เล่ม ประจำเดือนกันยายนนี้ พร้อมนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจอย่างการจัดเก็บ (Archive) ที่มีความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ การจัดเก็บเรื่องราว ประสบการณ์ ข้อมูลสำคัญ เอกสารทางประวัติศาสตร์ ผ่านหนังสือและนิตยสารที่นำเสนอด้วยภาพถ่ายจนถึงบทสัมภาษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบและความสำคัญของการบันทึก นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ว่าด้วยการเปิดเผยให้เห็นผลกระทบของรัฐบาลเผด็จการที่ส่งผลกับระบบการศึกษาของไทย เดิมพันด้วยอำนาจและทักษะการเรียนรู้ของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 และเล่มสุดท้ายที่ชวนอ่านประจำเดือนนี้คือประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก ที่พาสำรวจเรื่องราวการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกรีกตามแต่ละช่วงเวลา พร้อมบริบทที่เกี่ยวข้องที่เล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

1. Die Tomorrow, Archives A. Archives B.

“ทำหนังทุกวันนี้จะคิดว่าแต่ละเรื่องเหมือนเป็นคอลเลกชั่นแห่งความทรงจำในแต่ละช่วงของชีวิตตัวเอง หนังจะออกมาดีหรือไม่ดีอันนี้ไม่รู้ แต่ที่สุดคือว่ามันเป็นอะไรมากกว่าหนังดีไม่ดีไปแล้ว เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต , just one part of life ไม่ใช่ผลงานแข่งขันประชันอะไรเลย”

หนังสือรวบรวมภาพถ่ายเบื้องหลังและถ้อยคำเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Die Tomorrow(2560) กำกับโดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ภาพยนตร์อิสระที่ว่าด้วยวันธรรมดาหนึ่งวันก่อนหน้าที่ความตายจะมาถึง ประกอบด้วยเรื่องราวที่สร้างจากความทรงจะช่วงระหว่างปี 2555-2559 จำนวน 6 เรื่องที่แยกจากกันแต่อยู่ภายใต้คอนเซปต์เดียวกัน ภายในเล่มนี้ จึงเป็นการนำเสนอภาพนิ่งและประกอบด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยแนวคิดการกำหนดโครงสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่มาไอเดียตั้งต้นของการเริ่มต้นบทภาพยนตร์ จากภาพนิ่ง วิดีโออินสตอลเลชัน นิทรรศการ บทเพลง ตลอดจนประสบการณ์ส่วนตัวและเหตุการณ์จริงของผู้กำกับเองที่ล้วนเป็นแรงบันดาลใจในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้

ราคา 450 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่ 

2. นิตยสาร NANG ฉบับที่ 9: Archival Imaginaries บรรณาธิการโดย โบโน โอลกาโด (Bono Olgado) และ รูฟุส เดอ แรม (Rufus de Rham)

NANG ฉบับที่ 9 อุทิศให้กับ Archival Imaginaries โดยได้เชิญผู้ดูแลบันทึก ศิลปิน นักสร้างภาพยนตร์ ภัณฑารักษ์ และนักวิชาการของวงการภาพยนตร์เอเชีย มาร่วมเดินทางไปบนเส้นทางแห่งการ “สำรวจภูมิทัศน์ของการจัดเก็บบันทึก” และนำเสนอจินตนาการของบันทึกและจินตนาการผ่านบันทึก—จากภาพยนตร์สู่ศิลปะ จากปัจเจกสู่ส่วนรวม จากส่วนตัวสู่สถาบัน จากอะนาลอกสู่ดิจิทัล จากที่มีอยู่สู่ความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้

ในฉบับนี้ยังมีบทสนทนาระหว่างก้อง ฤทธิ์ดี และโดม สุขวงศ์ ที่ว่าด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ที่เป็นแรงผลักดันในการเข้ามาดูแลหอภาพยนตร์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ มีบทความที่ครอบคลุมทั้งเอกสาร บทสนทนา เรื่องราว และงานเขียนสร้างสรรค์ พิจารณาพลังและข้อจำกัดของทั้งบันทึกและการบันทึก ในการทำเช่นนี้มันเผยให้เห็นอดีตทางเลือกบางอย่างที่สิ่งเหล่านี้อาจเปิดใช้งาน และการคาดคะเนอนาคตที่สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิด พวกเขาหวังที่จะเปิดอดีตอย่างสร้างสรรค์เพื่อการวิพากษ์และยืนยันความเป็นไปได้สำหรับอนาคต สำหรับพวกเขาแล้วในการที่จะประเมินกันใหม่ และตอบสนองต่อสถานะปัจจุบันของพวกเขา และเน้นย้ำความสำคัญของมรดกภาพยนตร์และสื่อ ผ่านการจินตนาการถึงบันทึก พวกเขาชี้เป้าไปที่อะไรที่พวกเขาหวังว่าจะทำให้มันเป็นจริง

NANG คือนิตยสารแนวทดลองที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์และวัฒนธรรมการดูหนังในเอเชีย ก่อตั้งโดย Davide Cazzaro การก่อตั้งนิตยสารที่เกิดจากความหลงใหลใน 2 สิ่งคือ ภาพยนตร์และสิ่งพิมพ์อิสระของเขา โดย NANG แต่ละเล่มจะมีบรรณาธิการรับเชิญเข้ามาดูแลเนื้อหาภายใต้ธีมหลักที่กำหนดไว้

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านนิตยสารเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเราในวันและเวลาเปิดทำการ

3. Publishing as Method: Ways of Working Together in Asia บรรณาธิการโดย ลิม คยอง ยง (Lim Kyung Yong) และ เฮเลน จุงยอน คู (Helen Jungyeon Ku) 

หนังสือรวมบทสัมภาษณ์ผู้ผลิตหนังสือ สิ่งพิมพ์ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้บริบทศิลปะร่วมสมัยที่นำเสนอแง่มุมทางประวัติศาสตร์และแนวปฏิบัติการพิมพ์ บทสนทนาระหว่างผู้สัมภาษณ์กับผู้จัดพิมพ์ ศิลปิน ภัณฑารักษ์ คอลเล็กทีฟ พื้นที่จัดจำหน่าย และนักออกแบบ กว่า 34 ราย ที่มาร่วมกันแชร์มุมมองเกี่ยวกับแนวทางการทำงานเกี่ยวกับเนื้อหา การพิมพ์ บริบททางการเมืองที่ส่งผลต่อสิ่งพิมพ์ การคิวเรทบรรณาธิการรับเชิญ ไปจนถึงโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากหลายสำนักพิมพ์ที่คัดสรรมาอยู่ในเล่มนี้ ภายในเล่มมีบทสัมภาษณ์ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายหนังสือจากกรุงเทพฯ อย่าง BOOKSHOP LIBRARY ด้วยเช่นกัน

Publishing as Method จัดทำเนื้อหาตั้งแต่ในช่วงปี 2020 แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของปฏิบัติการทางศิลปะในยุคหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 โดย Publishing as Method เป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับการตีพิมพ์ขนาดเล็กในเอเชีย มีกลุ่มสำนักพิมพ์ mediabus จากกรุงโซล เกาหลีใต้ เป็นผู้ผลิตเนื้อหาและดีไซน์

ราคา 950 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่

4. เลาะตะเข็บอำนาจประวัติศาสตร์การศึกษาไทย: ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการศึกษาในสังคมไทย จากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ  การรัฐประหาร  และระบบราชการ  ตั้งแต่  พ.ศ. 2490-2562 เขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ผลงานชิ้นสำคัญของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ ตีแผ่อำนาจไม่ชอบธรรมและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านหลักโครงสร้างการศึกษาไทย หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า พลังความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม มาจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐที่มีฐานสำคัญมาจาก “การรัฐประหาร” ที่มีบทบาทในสังคมการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา ผลพวงดังกล่าวทำให้ระบบการศึกษาและกลไกลสนับสนุนอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนผ่านสู่ยุคต่าง ๆ ความรุนแรงที่หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ผลพวงจากการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษาของไทย ที่สะท้อนจากโครงสร้างอำนาจนิยมทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเผด็จการและระบบราชการมายาวนาน ซึ่งบางเครือข่ายธำรงอำนาจทางการเมืองและจัดทรัพยากรอยู่ในมือได้

ราคา 380 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่

5. ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก เขียนโดย เอกสุดา สิงห์ลำพอง

เนื้อหาในเล่มเรียบเรียงตามยุคสมัย เริ่มต้นจากการอธิบายประวัติศาสตร์กรีกในยุคก่อนประวัติศาสตร์และกึ่งประวัติศาสตร์โดยสังเขปเพื่อให้เข้าใจบริบทเบื้องต้นของพื้นที่ หลังจากนั้นผู้เขียนจึงพาเราเจาะลึกไปที่ศิลปะกรีกโบราณ ตั้งแต่สมัยเรขาคณิตไล่มาจนถึงยุคเฮเลนิสติก ส่งท้ายเล่มด้วยบท “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” ยุคสมัยถัดมาที่มีการช่วงชิงและแผ่ขยายอำนาจ ทั้งทางการเมือง ความรู้ และวัฒนธรรม โดยหลักแล้วในทุกบทผู้เขียนจะยกตัวอย่างงานศิลปกรรมที่นับได้ว่าเป็นไอคอนิกแห่งยุคพร้อมกับอธิบายให้เห็นถึงบริบททางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมเฉพาะกาล ตั้งแต่เรื่องภาษา รูปแบบการใช้งานพื้นที่สาธารณะและการปกครองเมือง การถ่ายเททางวัฒนธรรมไปจนถึงอุดมคติต่อเรื่องสุนทรีย์ศาสตร์ ความเชื่อและความเป็นมนุษย์

ราคา 380 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่