BOOKSHOP LIBRARY
[BOOKMARK MAGAZINE]

Back

[BM] 09

Unnatural Natural Reasons about Sex: เพศและเหตุผล

POSTED ON 05/29/2021 IN CONVERSATION—
มุกดาภา ยั่งยืนภารดร นภิษา ลีละศุภพงษ์ หฤษฏ์ ศรีขาว อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม

“แท้จริงแล้วคำว่าชีววิทยา ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ แล้วก็ไม่เกี่ยวกับภาวะการดำรงอยู่เชิงอัตวิสัยด้วย หากแต่พัวพันอยู่กับสภาพ ปัจจัย และกิจกรรมต่างๆ ที่รายล้อมสรรพชีวิต ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนเอาคำว่าชีววิทยามาใช้เพื่อลดทอนตัวตนของคนข้ามเพศและบรรดาผู้ปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศว่าเป็นพวก ‘ปลอมเปลือก’ ในขณะที่คนอื่นๆ นั้น ‘เป็นธรรมชาติ’ เอาเข้าจริงแล้ว กระบวนการที่เกิดขึ้นคือกลเม็ดอันคารมคมคายในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบรรทัดฐานทางสังคมบางอย่าง […] นี่ไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจในสังคมล้วนๆ”

ข้อความด้านบนมาจากจากหนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) ผลงานแปลของมุก — มุกดาภา ยั่งยืนภารดร ที่แปลจากต้นฉบับของ อลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) เกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชายจริงหญิงแท้ และมายาคติที่ฝังอยู่ในโครงสร้างอำนาจในสังคม มุกเป็นบรรณาธิการภาคภาษาไทยของสำนักพิมพ์ซอย และเป็นเจ้าของโปรเจกต์หนังสือแปลชุด ‘พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย’ ที่จะตีพิมพ์หนังสือที่ช่วยทลายระบอบปิตาธิปไตยในสังคมไทย สนใจวรรณกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ทำให้มุกเลือกเรียนต่อเฉพาะทางเกี่ยวกับ Gender Studies มุกเป็นคนแรกที่เรานึกถึงและอยากจะชวนคุยในแมกกาซีนฉบับนี้ เพราะข้อความในหนังสือนี้เองที่ทำให้เรานึกถึงคำถามที่เราเคยโต้ตอบในชั้นเรียนสนทนาภาษาอังกฤษกับคุณครูเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ เขาตั้งคำถามกับเราว่า ทำไมถึงคิดว่ามีแค่เพศชายและเพศหญิงเท่านั้นที่เป็นเพศตรง ‘ตามธรรมชาติ’? ทำไมความสามารถในการให้กำเนิดถึงเป็นข้อกำหนดเดียวที่เพียงพอแล้วในการตัดสินว่า มีเฉพาะเพศคู่ตรงข้ามนี้เท่านั้นที่ถือเป็นเพศ ‘ตามธรรมชาติ’?

เรื่องของความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่เราอยากคุยกับคนอื่นๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนจากกลุ่ม LGBTQ+ รุ่นใหม่ๆ ตอนที่เห็นภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ทจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM เมื่อปี 2563 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเพิท — หฤษฎ์ ศรีขาว และบีม — อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม ทำให้เราคิดว่าอยากร่วมงานกับพวกเขามาตั้งแต่ตอนนั้น ภาพนายแบบใส่ชุดยูนิฟอร์มตำรวจภายใต้ฉากอีโรติกชายรักชายท่ามกลางการบรรยากาศแฟนตาซี เป็นภาพที่เราไม่คุ้นเคยโดยสิ้นเชิง มันเชื้อเชิญให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพแทนของเกย์ และภาพแทนของความเป็นชายในสังคมไทยที่ยังคงติดอยู่ภายใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เพิทเองในฐานะศิลปินและช่างภาพ สนใจเรื่องของอัตลักษณ์และพิธีกรรมที่ถูกใช้ในการควบคุมสังคมมาโดยตลอด ส่วนบีมก็สนใจการโปรโมทกรุงเทพฯ ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ผ่านโปรเจกต์ IWANNABANGKOK© มาตั้งแต่ปี 2558

บทสนทนาในฉบับนี้จึงเป็นการร่วมพูดคุยระหว่างเรา มุก เพิท และบีม เกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติ และไม่เป็นธรรมชาติในเรื่องเพศ ความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศในสังคมและวัฒนธรรม ผ่านเรื่องของภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ยูนิฟอร์ม ซีรีส์วาย มานุษยวิทยา และวรรณกรรม ที่เราแบ่งออกเป็นหกตอนคือ เพศ ธรรมชาติ วัฒนธรรม, แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน และ ฝันเปียกกรุงเทพฯ, ซีรีส์วาย (ไอตัววุ่นวาย), ความผิดบาปของการมีเซ็กส์, จากเล้าเป็ดถึงรางวัลซีไรต์ และ All About Love

เพศ ธรรมชาติ วัฒนธรรม

แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน และ ฝันเปียกกรุงเทพฯ

ซีรีส์วาย (ไอตัววุ่นวาย)

ความผิดบาปของการมีเซ็กส์

จากเล้าเป็ดถึงรางวัลซีไรต์

All About Love

เครดิตภาพ

CONTRIBUTORS

มุกดาภา ยั่งยืนภารดร (มุก)
ผู้แปลหนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond Gender Binary) โดยสำนักพิมพ์ซอย จบปริญญาโทด้าน gender studies จาก UCL ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการโครงการแปลหนังสือเกี่ยวกับเพศภาวะและเควียร์ในโปรเจกต์ชื่อ damned be patriarchy พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย สนใจงานเฟมินิสม์สายสังคมนิยม การเมืองของเรือนร่าง และวัฒนธรรมวิพากษ์ผ่านเลนส์รื้อรากอาณานิคม

damned be patriarchy พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย เป็นโปรเจกต์งานแปลหนังสือ 5 เล่มที่มา ‘งัดข้อ’ กับการผลิตสร้างความรู้ใต้ระบอบปิตาธิปไตย ทั้งการเมืองของสตรีนิยม การพังทลายมุมมองเพศแบบทวิลักษณ์ เรือนร่างของเควียร์ การตั้งคำถามกับความสุขที่พัวพันกับการกดทับในหลายมิติ ไปจนถึงทฤษฎีของความรักที่มักได้รับการพูดถึงอยู่ในพื้นที่ของผู้ชาย (ที่มีคนรักต่างเพศ ผิวขาว และเป็นชนชั้นนำมีการศึกษา) ด้วยการสอดส่องและวิพากษ์โครงสร้างอำนาจในสังคมผ่านประวัติศาสตร์ เรื่องราวและเรือนร่างขออัตลักษณ์อันหลากหลาย และตอนนี้ตีพิมพ์ออกมาแล้วสองเล่มคือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond Gender Binary) และ ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% (Feminism for the 99%)

หฤษฎ์ ศรีขาว (เพิท)
เรียนจบสาขาการถ่ายภาพจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในปี 2560 และ Nuova Accademia di Belle Arti ที่ประเทศอิตาลีในปี 2562 
ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระและศิลปินที่ทำงานด้านภาพถ่ายเป็นหลัก 
ประเด็นที่หฤษฎ์สนใจอย่างต่อเนื่องมักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างการถ่ายภาพกับโฆษณาชวนเชื่อ 
ในปี 2563 เขาร่วมกับ IWANNABANGKOK© สร้างโปรเจกต์ที่ชื่อ BANGKOK WET DREAM 
โดยมุ่งความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างแฟชั่น ยูนิฟอร์ม ร่างกายและการเมือง

อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม (บีม)
ผู้ก่อตั้ง IWANNABANGKOK© กำลังพยายามทำหลายๆ วิธีที่จะอัพเดทภาพลักษณ์กรุงเทพฯ ให้เด็ก สนุก ใหม่ และสร้างสรรค์ขึ้น ผ่านความร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง เราเชื่อในกรุงเทพฯ และรู้ว่าคนรุ่นใหม่จะนำเมืองนี้จะไปได้อีกไกล

นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน)
หนึ่งในผู้ดูแลร้านหนังสือ BOOKSHOP LIBRARY เรียบเรียง [BOOKMARK MAGAZINE] คอยพาคนจากหลากสาขาอาชีพมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนา

ภาพปกและภาพประกอบระหว่างตอนโดย BANGKOK WET DREAM

เรียบเรียงโดย นภิษา ลีละศุภพงษ์
พิสูจน์อักษรโดย ศุภมาศ พะหุโล, กานต์ธิดา บุษบา