[BM] 11
[BOOKMARK MAGAZINE] ฉบับที่ 11 THE CLASSROOM IS BURNING ตั้งต้นด้วยการทบทวบกลับไปที่ระบบการศึกษา เมื่อคำว่า ‘การเรียนรู้’ ไม่ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตของสถาบันการศึกษาอีกต่อไป ทั้งยังเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตลอดชีวิต ผู้เรียน ผู้สอน และนักปฏิบัติการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการศึกษา พวกเขานิยามคำว่า ห้องเรียน ของตัวเองอย่างไร ‘อะไร’ คือปัญหาเรื้อรังที่มองเห็น วิธีแก้ไขมันคืออะไร งานที่ทำท้าทายความคิด ความเชื่อชุดเดิมอะไรในสังคมบ้างหรือไม่ รวมถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อเงื่อนไขของโรคระบาดกำกับให้ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ พวกเขาเหล่านี้จัดการตัวเองอย่างไรบ้าง ระหว่างทางของการพูดคุยร่วมกันครั้งนี้ เป็นเหมือนกระบวนการที่ค่อย ๆ ค้นหาว่าแต่ละคนกำลังเต้นไปกับแรงลมด้วยท่าทางแบบใดกัน โดยที่ยังสามารถยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อโดยไม่สูญสิ้นความเป็นตัวเองไป
เริ่มต้นจากตัวเองในฐานะคนที่เรียนในระบบการศึกษาของไทยมาโดยตลอด กานต์ธิดา บุษบา (แพรว) หนึ่งในสต๊าฟของ BOOKSHOP LIBRARY จึงสังเกต เงี่ยหูฟังและถามคำถามเมื่อสบโอกาสว่าคนรอบตัวโดยเฉพาะผู้ที่ยังต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในชีวิตให้กับการเรียนอยู่ มีความสัมพันธ์ที่ไม่ว่าจะดีหรือเลวร้ายกับการเรียนอย่างไร นำไปสู่การชักชวน มนธิการ์ คำออน (เอิร์น) อดีตนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์และปัจจุบันใช้ชีวิตในฐานะนักสร้างภาพยนตร์ ที่รู้จักตอนแรกในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแรงงานนักเรียนหนัง ที่เคยจัดคลับเฮาส์ ‘นักเรียนหนังถาม – สหภาพคนทำหนังเป็นไปได้ไหม?’ มาให้ความหมายของ ‘ห้องเรียน’ ด้วยกัน เนื่องจากเรียนมาคนละสาย ระหว่างการทำงานพวกเราจึงตั้งคำถามต่อเรื่องที่ไม่เข้าใจ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสนใจของแต่ละคนอยู่บ่อยครั้งพร้อมๆ ไปกับโยนไอเดียว่ามีเรื่องอะไรอีกที่อยากรู้และใครคือคนที่ให้คำตอบได้บ้าง
เนื้อหาเริ่มด้วยภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น ผลงานกำกับของเอิร์นที่เป็นบันทึกเส้นทางการทำวิทยานิพนธ์จบการศึกษาของตัวเอง เล่าผ่านเรื่องราวที่พูดคุยกับทีมงานในกองถ่าย และตามด้วยพอดแคสต์ที่แบ่งออกเป็น 3 ตอนด้วยกัน โดยในตอนแรกเป็นการพูดคุยกับ อภิโชค จันทรเสน (นท) อดีตเพอร์เฟคชั่นนิสต์สายเฆี่ยนตีตัวเอง ที่จะมาพูดคุยประเด็นของสุขภาพใจสุขภาพกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามองว่ามักเป็นประเด็นที่หลงลืมกันบ่อยครั้ง ตอนที่ 2 พูดคุยกับ ณฐพล บุญประกอบ (ไก่) ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ ‘สถาบันการศึกษา’ ความคาดหวังและความผิดหวังผลักให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างไร และในตอนสุดท้ายเราได้คุยกับ Dude, Movie จากเชียงใหม่ กลุ่มที่ไม่ได้จำกัดตัวเองแค่คนฉายหนังเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงว่าจะสร้างคอมมูนิตี้ที่ดียิ่งกว่าขึ้นมาด้วยวิธีอะไรได้บ้าง
From Montika Kham-on <kmontika@gmail.com>
Date: Feb 11, 2022, 10:36 PM
Subject: The Classroom is Burning
To: Kantida (kantida@bangkokcitycity.com)
สวัสดีค่ะพี่แพรว
พี่แพรวยังคงจำหนังสือ Letters: The Classroom is Burning, let’s dream about a School of Improper Education ที่ให้เอิร์นเป็นของขวัญได้ไหมคะ มันเป็นเรื่องราวของตัวละครสามคนที่เขียนอีเมลเพื่อพูดคุยถกเถียงในประเด็นการศึกษา ทันทีที่เอิร์นอ่านจบ เอิร์นก็รีบร่างจดหมายนี้ขึ้นมาด้วยความตื่นเต้น เพราะรู้สึกว่าพวกเรานั้นไม่ต่างอะไรจากตัวละครในเรื่องราวนี้เลย
ในวันแรกที่เอิร์นรับสายจากพี่แพรวและเราแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นการศึกษา เอิร์นพรั่งพรูเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับประสบการณ์ในรั้วมหาลัยว่าเราทั้งโกรธ ทั้งผิดหวังแค่ไหน ไม่ต่างจากตัวละคร Sul ในหนังสือเล่มนี้ที่เขียนจดหมายถึงเพื่อนว่าเธอไม่ได้รับการตอบรับจากการสมัคร fellowship ด้วยน้ำเสียงเดียวกัน
“มหาวิทยาลัยตายแล้ว”
นั้นคือคำที่จั่วหัวเรามาตลอด จนอาจคับคล้ายว่าเป็นคำสาปแช่งไปเสียแล้ว
เราฝังใจและเชื่อเหลือเกินว่าสถาบันการศึกษาไม่ใช่สถานที่ที่เราสามารถฝากความหวังได้อีกต่อไป ยิ่งเจอกับภาวะโรคระบาดเข้าไป กลายเป็นว่าการเรียนรู้ทุกอย่างถูกแช่แข็ง ทิ้งผู้เรียนอยู่ในสูญญากาศของความเวิ้งว้างนั้น เราจึงมุ่งหวังว่าการเปิดพื้นที่ของการพูดคุยแลกเปลี่ยนนี้จะช่วยละลายน้ำแข็งก้อนนั้นออกไปไม่มากก็น้อย
แต่แล้ว ความคิดเราก็เปลี่ยนไปเมื่อเราเริ่มได้พูดคุยกับผู้คน เราตระหนักรู้ได้มากขึ้นสถาบันการศึกษาในทุกที่ล้วนแต่มีข้อจำกัดของตัวเอง ครูผู้สอนไม่อาจรู้ทุกอย่าง กลับกัน การเรียนรู้นอกห้องเรียนต่างหากที่สามารถทลายข้อจำกัดที่มหาลัยไม่สามารถมีได้ เราจึงต้องรื้อถอนความคิดของตัวเองใหม่เกี่ยวกับคำว่าการศึกษา การเรียนรู้ในสถาบันมาตลอดสิบเจ็ดปีทำให้เราสูญเสียจินตนาการเกี่ยวกับการศึกษาในรูปแบบอื่นไปแล้ว อะไรคือการศึกษาบ้าง เรานึกถึงตัวอย่างในหนังสือที่เล่าถึง ครูชาวอินโดนีเซียให้เด็กนักเรียนของเขานั่งดูคลื่นเป็นชั่วโมงแล้วเขาจึงค่อยสั่งโจทย์ให้นักเรียนของเขาทำท่าทางตามคลื่น แบบนี้เราเรียกว่ามันเป็นการศึกษาได้ไหม? เพราะการศึกษาแท้จริงแล้วคือการเรียนรู้ และ ประโยคที่ว่า let’s dream about a School of Improper Education จึงเป็นชื่อเรื่องที่เหมาะสมที่สุด เพราะคำว่า improper หรือไม่เหมาะสม ในที่นี้ไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับเหมาะสม เป็นระเบียนแบบแผนของความเป็นสถาบัน แต่มันคือทางเลือกในการเรียนรู้อีกทาง และเป็นทางที่เราสามารถใช้วิพากษ์การศึกษาอันเป็นแบบแผนของสถาบันได้
และถ้าความเหมาะสมการศึกษานั้นคือการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยกฏระเบียบตามแบบแผนที่สถาบันกำหนดมาในหน้ากระดาษ การเรียนรู้จากคนที่เขาเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ (Master) ก็คงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเหมือนที่เราเลือกทำกับการพูดคุย podcast ในโปรเจกต์นี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการในการถกเถียงนั้นก็ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ไปเรียบร้อยแล้วกลายเป็นว่า process ของ podcast มันกลายเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของเอิร์น
และในฐานะคนที่ร่วมงานกับพี่แพรวมาเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากบทสนทนาของเราเกี่ยวกับโปรเจกต์พี่แพรว ช่วงเวลาว่าง ๆ พี่แพรวมักจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบทสนทนาของผู้คนที่เดินเข้ามาในร้านหนังสือ ความพยายามเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนกับคนที่เข้ามาในพื้นที่ทุกคน ทุกเรื่องราวที่พูดคุยกันในที่แห่งนั้นล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ในความทรงจำของพี่แพรวเสมอมา และนั้นทำให้เอิร์นได้รู้ว่า พี่แพรวได้สร้างหลักสูตรการศึกษาของตัวเองขึ้นมาในชีวิตของตัวเองอยู่ในทุกๆ วันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เอิร์นยังคงจดจำน้ำเสียงตื่นเต้นและความตั้งใจของพี่แพรวได้เป็นอย่างดีว่าอยากจะถ่ายทอด ความสนใจ ความสุข ความทุกข์ ความหวัง ในบทสนทนาเหล่านั้นมากแค่ไหน
เราเห็นคนคนหนึ่งที่เฝ้ามองการผ่านมาผ่านไปของผู้คนในร้านหนังสือ แต่จิตวิญญาณได้เดินทางต่อไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของผู้คน ชีวิตและการเรียนรู้ที่ไม่ได้แยกออกจากกัน เหมือนดั่งประโยคที่จริงที่สุดในหนังสือเล่มนี้ “There is no line between life and study.”
ด้วความคิดถึง,
เอิร์น
THE CLASSROOM IS BURNING EP.1 พูดคุยกับ อภิโชค จันทรเสน
“เราไปรับรู้เรื่อง creative process ที่ต่างจากส่ิงที่คณะและเมืองไทยสนใจเลย จริงๆ ที่เราพูดถึงทีสิสว่าเป็นปราการด่านสุดท้ายของชีวิตนักศึกษา เป็นตัวอย่างที่ดีมากของระบบความคิดที่ไม่ได้คิดถึง creative process แต่คิดถึง end result คิดถึงงานชิ้นสุดท้าย ความซวยของคนทำงานครีเอทีฟส่วนนึงคือ เราทำงาน 100 ส่วน แต่สิ่งที่คนมาเห็นจริงๆ คือ 5 ส่วนในร้อยนั้น เขาไม่รู้หรอกว่าที่เหลือเราทำอะไรไปบ้าง เราเฆี่ยนตีตัวเองขนาดไหน แทนที่เราจะไปสนใจที่ final product เราลองมาสนใจที่ตัว process ระหว่างทางมั้ย ในตอนแรกที่เราพูดไปว่า ไม่มีใครไปแคร์อะ ซึ่งมันฟังดูแย่ แต่จริงในทางเดียวกัน มันก็ดีเพราะมันไม่มีใครแคร์ไงว่าในระหว่างนี้เราไปเละเทะอะไรยังไงแค่ไหน หรือทำในที่คนอื่นคิดว่าเละแต่จริงๆ มันคือ process ของเรา”— อภิโชค จันทรเสน
THE CLASSROOM IS BURNING EP.2 พูดคุยกับ ณฐพล บุญประกอบ
“เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่ได้จากการทำสารคดีคือ process ในการจับมือและปล่อยมือ มันคือการ กูมีเป้าแบบนี้ แต่ พอกูไปเจอสิ่งที่แม่งเป็นหัวใจสำคัญ หรือเป็นสิ่งที่น่าสนใจจริง ๆ เราต้องยอมปล่อยมือจากส่ิงที่เราทำมาทั้งหมด ฟุตเทจที่ถ่ายมา 100 ชั่วโมงทิ้งหมด แม่งเป็นเรื่องปกติมากในการทำสารคดี แล้วเราว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่กล้า แล้วก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่กูลงทุนไปแล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่สเตปนึงน่ะ ในการพาเราไปสู่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ที่ซ่อนอยู่ในสเตปนั้น ชอบเปรียบเทียบมันคือเหมือนทาร์ซานโหนเถาวัลย์ คือต้องยอมปล่อยมือจากเถาวัลย์แรกเพื่อไปต้นที่สองให้ได้ ไม่งั้นก็โหนอยู่กับที่” — ณฐพล บุญประกอบ
THE CLASSROOM IS BURNING EP.3 พูดคุยกับ Dude, Movie
“เรามองว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการทำคอมมูนิตี้หรือว่าการเกิดขึ้นของคอลเลกทีฟคือ การหาคนที่แบบ ‘เชี้ย มึงคิดเหมือนกูหรอวะ’ ให้เข้ามาจอย ให้เข้ามาทำงาน บรรยากาศของคอลเลกทีฟมันอาจจะเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปอย่างตลอดเวลา เราสนใจว่ากระบวนการอะไรที่ทำให้คนมาอยู่ร่วมกันแล้วมันแข็งแรงแล้วก็อยู่ได้นาน ซึ่งถ้าในอนาคตเราว่า ถ้าปัญหามันยังคงอยู่ การขับเคลื่อนแบบเป็นคอลเลกทีฟมันอิมแพคกว่าขับเคลื่อนอย่างโดดเดี่ยว เสียงหนึ่งอะเนอะถ้ายิ่งมันเยอะเท่าไหร่แล้ว มีเดียมของมันที่จะใช้ มันยิ่งมากขึ้น เรารู้สึกว่าคอลเลกทีฟพอมันเห็นผลว่า ‘เออว่ะ กลุ่มนี้ทำเรื่องนี้แล้วมันเรียกร้องได้จริง’ แสดงว่าอีกกลุ่มหนึ่งก็จะยิ่งหาคน ยิ่งหาทีมมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนั้นๆ ต่อไป”— Dude, Movie
CONTRIBUTORS
ณฐพล บุญประกอบ (ไก่)
ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เอหิปัสสิโก (Come and See, 2562) และผู้ร่วมเขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง One for the road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (2565) ณฐพลสนในประเด็นทางสังคมเฉพาะเรื่อง ด้วยความต้องการอยากจะเข้าใจถึงที่มาที่ไป เหตุผลในการกระทำของคนและการเกิดขึ้นของส่ิงต่างๆ งานของเขาจึงเล่าผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหวประเภทสารคดี
https://www.nottaponboon.com
ภาพปกโดย มนธิการ์ คำออน
เรียบเรียงโดย กานต์ธิดา บุษบา และ มนธิการ์ คำออน
พิสูจน์อักษรโดย นภิษา ลีละศุภพงษ์
ตัดต่อพอดแคสต์โดย พันแสง คล่องดี และ กานต์ธิดา บุษบา
ขอบคุณ Speedy Grandma ในการเอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับอัดเสียง