[BM] 10

LISTEN TO COOPERATION, LISTEN TO LIBERATION

POSTED ON 31.07.2021


IN CONVERSATION—

ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ ธนาธย์ รสานนท์ ศรัณย์รัชต์ สีลารัตน์

 

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง พันแสน คล่องดี

 | 

TH

  

เนื้อหาของฉบับนี้เป็นการสำรวจความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนดนตรีทั้งในแง่ของการร่วมมือกันและการต่อต้าน ความสนใจในดนตรีของฉบับนี้เป็นผลจากการที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ได้จัดโปรแกรมการแสดงดนตรีในชื่อ Nowhere Special Radio ที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Nowhere Special โดยศิลปิน เต้ ภาวิต Nowhere Special Radio ประกอบไปด้วยเพลย์ลิสต์ที่รวบรวมโดยเต้ ภาวิต และวิดีโอการแสดงดนตรีในพื้นที่ของนิทรรศการโดยศิลปินรับเชิญหลากหลายรูปแบบ ที่ถูกออกอากาศทุกวันศุกร์ในช่วงจัดแสดงนิทรรศการ การได้ฟังมากขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่จะทำแมกาซีนฉบับนี้ เพื่อที่จะฟังทั้งดนตรีและฟังความคิดของนักดนตรีจากหลายพื้นที่ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองและสังคมมีประเด็นให้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันทุกวัน

หนึ่งในนักดนตรีที่ได้เข้าร่วมแสดงใน Nowhere Special Radio คือ Beam Wong หรือ ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ (เม้ง) ทำให้ได้รู้จักกับเพลงของเม้ง และความสนใจที่หลากหลายของเขาทั้งการทำภาพยนตร์ การวาดรูป และการเขียน จึงชวนเม้งมาเป็นผู้ดำเนินการสนทนากับศิลปินที่เราลงความเห็นว่าสนใจร่วมกัน

พวกเรารู้สึกสนใจศิลปินที่ร่วมมือกันเพื่อที่จะให้เสียงของพวกเขายังคงถูกฟังในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับดนตรีที่มีเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง การสร้างคอมมูนิตี้ของคนทำดนตรีในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน การจัดออนไลน์อีเว้นท์ การเข้าร่วมการประท้วง การร่วมลงชื่อในการเรียกร้องสิทธิ ไปจนถึงการออกมาแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมือง ความร่วมมือเพื่อเสรีภาพในการฟังและความร่วมมือเพื่อการต่อต้านความไม่เป็นธรรมในระบบที่บิดเบี้ยว

เนื่องจากเราสนใจในทั้งการฟัง และเห็นว่าจำเป็นที่เราจะต้องรับฟังกันให้มากขึ้น ในฉบับนี้จึงคิดออกมาในรูปแบบของพอดคาสต์ตั้งแต่เริ่มต้น โดยจะเป็นการพูดคุยกับนักดนตรีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือโปรดิวเซอร์ นักดนตรี และดีเจ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในแวดวงออนไลน์อีเว้นท์ในช่วงนี้ โดยมีทั้งศรัณย์รัชต์ สีลารัตน์ (ฟ้า) จากกลุ่ม Co-SOLID ธนาธย์ รสานนท์ (พีท) จาก blozxom ส่วนอีกกลุ่มคือนักดนตรีที่ทำงานกับเนื้อหาทางดนตรีที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง ทั้ง พันแสน คล่องดี (แคน) จากวง DOGWHINE และพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง (เดื่อง) ศิลปิน นักดนตรี และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งในช่วงเวลานี้


รูปแบบของความร่วมมือ


ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ (เม้ง)
อยากถามทั้งพี่พีทกับฟ้า ช่วยอธิบายก่อนได้มั้ยว่า Co-SOLID กับ blozxom คืออะไรในความคิดของตัวเอง? 

ศรัณย์รัชต์ สีลารัตน์ (ฟ้า) — Co-SOLID ก็คือคอมมูนิตี้นั่นแหละ จุดเริ่มต้นมันมาจากตอนช่วงโควิดปีที่แล้ว พี่เบนซ์ Giantsiam ที่เป็นดีเจกับเป็นโปรโมเตอร์เขารู้จักดีเจรุ่นอายุยี่สิบต้นๆ ประมาณเจ็ดแปดคน เขาตั้งคำถามว่าทำไมซีนนี้ดีเจไม่ค่อยไปคอนเนคกัน เวลาไปงานก็ไม่ค่อยเข้าไปคุยกันเยอะ เหมือนต้องมีตัวเชื่อม เขาเลยคิดว่าถ้าชวนน้องๆ พวกนี้มารวมกันอาจจะเกิดอะไรขึ้น ก็เลยจัดงานเดบิ้วท์ขึ้นที่ Never Normal ให้ทุกคนมาเล่น หลังจากวันนั้นพี่เบนซ์ก็ถามว่ามีใครสนใจอยากทำต่อบ้าง สรุปว่ามีฟ้า มีไรอัน มีเอสเธอร์ ตกลงกันว่าอยากทำต่อ พอได้มาทำร่วมกันเลยรู้ว่าแต่ละคนสนใจเพลงอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเองแต่ไปด้วยกันได้ อย่างไรอันก็จะเป็นสายมิวสิกเนิร์ด สายเทคโนโลยี อย่างฟ้าก็จะเป็นสายปาร์ตี้ สายคอนเสิร์ตโกเออร์ เอสเธอร์ก็จะมีแอททิจูดแบบสายออร์แกนิค สายรักสิ่งแวดล้อม พอสามลอจิกมารวมๆ กันก็เกิดเป็นโปรเจกต์ต่างๆ ทั้งเล่นคลับ ทั้งนิทรรศการ โดยไม่ได้จำกัดกรอบสถานที่เล่น ส่วนมากพอมีบริบทอะไรที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์เราก็ทำกันเลย

เม้ง — แปลว่าหลักๆ คือการรวมกันของสามคนนี้?

ฟ้า — ที่จริงรวมกันได้เจ็ดแปดคนเลยนะ แต่ว่าช่วงเริ่มต้นโปรเจกต์เมื่อปีที่แล้ว บางคนเขาก็ทำอย่างอื่นหรือบางคนก็โฟกัสการเป็นดีเจในแบบของเขาซึ่งมันแน่นอนกว่า อาจจะไม่ได้มีเวลามาแชร์ไอเดียกันเท่าพวกเรา แล้วตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Co-SOLID คืออะไร รู้แค่ว่าเราสามคนคุยกันเรื่องเพลงบ่อยมาก เจอกันบ่อย แชร์ไอเดียกันตลอด คุยเรื่องอีเว้นท์ เรื่องงานต่างๆ ไปฟังเพลงด้วยกัน ไปงานอีเว้นท์ด้วยกัน ตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าถ้ามาเข้าทีมจะต้องใช้เวลากับทีมอะไรแค่ไหน ต้องทำงานยังไง รู้แค่ว่าสนุกดี 

เม้ง — Co-SOLID มีความหมายว่าอะไร ทำไมถึงตั้งชื่อนี้? 

ฟ้า — ตอนนั้นฟ้าเป็นคนคิดนี่แหละ ฟ้ารู้สึกว่ายังไงก็ต้องมีคำว่าโค เพราะมันเป็นช่วงโควิดด้วย

เม้ง — (หัวเราะ) อ๋อ นึกว่าโคออเปอเรชั่น (cooperation)

ฟ้า — มันทั้งโคออเปอเรชั่น โคจร คอลแลป (collaboration) คอลเลจ (college) เพราะทุกคนยังเรียนมหาลัยฯ อยู่ ตอนนั้นคิดถึงหลายโคมาก เลยต้องมีคำว่าโคแน่ๆ อีกอย่างถ้าออกแบบเป็นโลโก้ตัวเคิฟมันน่าจะสวย เลยเอาโคขึ้นต้น ส่วนตัวฟ้าชอบคำว่าโซลิด (solid) อยู่แล้ว ก็เลยเป็น Co-SOLID เลยแล้วกัน

เม้ง — จริงๆ แล้วโควิดมันก็มีผลต่อการตัดสินใจรวมกลุ่มด้วยใช่มั้ย?

ฟ้า — ใช่พี่ เพราะว่าที่ผ่านมาเราไปอีเว้นท์ เราไปข้างนอกได้ แต่พอมันมาถึงจุดที่ไปไหนไม่ได้ คำถามคือ หนึ่ง ปาร์ตี้ยังจำเป็นกับเราอยู่มั้ย สอง อิเล็กทรอนิกส์มันเป็นอะไรนอกจากปาร์ตี้ได้บ้าง อิเล็กทรอนิกส์คือชีวิตประจำวันไปแล้วสำหรับพวกฟ้า แต่ก็ใช่ค่ะ โควิดเป็นจุดสำคัญเลย 

เม้ง — แปลว่ามันถูกคิดเป็นออนไลน์ตั้งแต่แรก?

ฟ้า — ใช่ เพราะข้อจำกัดเรื่องล็อกดาวน์ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าถ้าไม่มีโควิด จะเกิดเป็นโปรเจกต์ไลฟ์สตรีมแบบนี้มั้ย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่พลาดถ้ามีจังหวะจัดในคลับได้

เม้ง — แล้วสำหรับพี่พีท นิยามของ blozxom คืออะไรครับ?

ธนาธย์ รสานนท์ (พีท) — มันซิมเปิ้ลมากๆ เป็นการให้เพื่อนที่อยู่แวดวงทำงานสร้างสรรค์โดยเฉพาะด้านดนตรีมารู้จัก แลกเปลี่ยน ทำอะไรร่วมกัน โดยเน้นที่ว่ามาจากคนละเมือง คนละรัฐ คนละประเทศ ก่อนหน้านี้เราใช้ชื่อว่า Pink Flower อาจจะดูหวานนิดนึง แต่เราอยากได้ชื่อประมาณดอกไม้ คำว่า pink ที่ใช้ไม่ได้หมายถึงสีชมพูอย่างเดียว แต่ในคำกริยาหมายถึงการแหวก แตกต่าง ตอนหลังอยากเปลี่ยนให้มันง่ายขึ้นแต่ยังอยากได้ความรู้สึกเบ่งบานและแหวกออกไป เลยได้มาเป็นคำว่า blossom แต่ก็คิดว่าถ้าไม่ใช่ b-l-o-s-s-o-m จะใช้แบบไหนดี เลยพยายามหาคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน จนไปเจอคำว่า apex ที่แปลว่าไปสุด และคำว่า zenith ที่แปลว่าแหวกออกไปสุด รู้สึกชอบตัว x กับตัว z ในสองคำนี้เลยเอามาใส่แทน ss ที่อยู่ตรงกลางในคำว่า blossom

ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่า blozxom จะเป็นฟิสิคอลหรือดิจิทัลอย่างใดอย่างนึง ความจริงมันมาก่อนโควิด ตอนเราไปอยู่อเมริกาช่วงสั้นๆ เราเริ่มทำอีเว้นท์ขึ้นมาครั้งหนึ่งผ่าน Pink Flower พอกลับมาไทยสักพักโควิดก็เริ่มมา ก็เลยต้องเป็นออนไลน์ blozxom เลยมีว็บไซต์ แล้วก็มีอีเว้นท์ชื่อ E.DEN ด้วยในตอนเริ่มต้น เป็นการแจมโดยใช้โปรแกรมหลายๆ อัน ใช้ซูม (Zoom) สไกป์ (Skype) โดยที่มีเต้ (เต้ ภาวิต) ช่วยทำโปสเตอร์ ตอนนั้นมีตั๋งที่ช่วยทำวิชวลให้จากเมลเบิร์น มีเพื่อนที่ทำดนตรีเชิงทดลองแนวแอมเบียนต์จากแอลเอ แล้วก็มีเพื่อนที่นิวยอร์ก มีมินท์ ภาวิดา ที่อยู่กรุงเทพฯ เพื่อนจากญี่ปุ่นที่เคยชวนไปเล่นงานเดียวกันที่โตเกียว พอมีกลุ่มเพื่อนตรงนี้เราก็ให้พวกเขามาแลกเปลี่ยนกัน ที่ผ่านมาก็ให้ชัค เพื่อนที่แอลเอเล่นสดแล้วตั๋งก็ทำวิชวลสดจากเมลเบิร์น เหมือนกับว่าซิงโครไนซ์กัน จริงๆ มันจะมีความเหลื่อมๆ อยู่ เม้งพอจะรู้ใช่มั้ยว่าถ้าแจมดนตรีกันออนไลน์ พวกโปรแกรมต่างๆ มันจะเหลื่อมกัน ภาพมันอาจจะโกงได้นิดหน่อย แต่ดนตรีแค่นิดเดียวมันก็รู้สึกแล้วว่าจังหวะมันไม่แมทช์กัน แจมแอมเบียนต์อาจจะพอได้ถ้าไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของจังหวะ พอจะอิมโพรไวซ์ได้ แบบบางทีพุ่งเข้ามา เป๊ะบ้างไม่เป๊ะบ้าง

เม้ง — แต่มันก็ไปด้วยกันได้ 

พีท — มันคือการแจมกันระหว่างคนทำงานต่างสาย หลักๆ คือสายวิชวลกับดนตรี แล้วเราก็ดูฟีดแบค คนที่แสดงได้เข้ามาแชทกันสักพักนึงด้วยเวลาที่เราเปลี่ยนซีนหรือเปลี่ยนโชว์ คนมันเชื่อมต่อกัน เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างประสบความสำเร็จประมาณนึง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีคนดูเยอะมาก แต่มันทำให้ตัวศิลปินที่อยู่กันคนละเมืองและคนละรัฐเกิดผู้ติดตามต่อกันไปเรื่อยๆ

ในส่วนของ blozxom sessions จะมีดนตรี มีศิลปิน ดีเจ ที่หมุนเวียนไม่ให้อยู่ในเมืองๆ เดียว พยายามดึงคนที่มีไอเดียดนตรีที่น่าสนใจ โดยการสลายเส้นแบ่งของอะไรต่างๆ ทั้งเรื่องของรัฐ ชาติ ชาติพันธุ์ เพศ เราพยายามที่จะเฉลี่ยไปในเรื่องของสังคมด้วย ในขณะเดียวกันก็ซัพพอร์ตดนตรีที่ค่อนข้างอยู่นอกเมนสตรีม ส่วนในอนาคตก็อาจจะพัฒนาส่วนที่เป็นค่ายเพลง ปล่อยอะไรที่ blozxom เป็นคนผลักดันออกมาด้วย แต่ก็ยังคงไอเดียของการแลกเปลี่ยนระหว่างกำแพงของรัฐ

เม้ง — ในฝั่งของ Co-SOLID มีคอนเนคกับต่างประเทศ หรือข้ามพรมแดนบ้างมั้ย?

ฟ้า — มีค่ะ ส่วนมากจะมาจากรุ่นพี่ในวงการแนะนำต่อๆ กันมา หรือบางทีก็มีพวกต่างชาติเขาเห็นเราในไอจี ในยูทูป ก็ติดต่อเข้ามาให้ทำโปรเจกต์ต่างๆ อย่างล่าสุดไรอันก็ไปช่วยโปรเจกต์ของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Underground Creators Community อย่างที่ผ่านมาก็จะมีคลับที่เจ้าของเป็นต่างชาติเช่น 12×12 หรือ Jam ก็มีการทาบทามไปเล่น เอาจริงๆ ดีเจชาติอื่นที่อยู่ในไทยก็มีเยอะ แล้วพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในซีนอยู่แล้ว


นิยามทางดนตรี


เม้ง —
เมื่อกี้ทั้งพี่พีทและฟ้ามีการพูดถึงคำว่านอกเมนสตรีมหรือคำว่าอันเดอร์กราวน์ด้วย แต่ด้วยความที่มันเป็นโลกอินเทอร์เน็ตที่ทุกอย่างเชื่อมกันหมด รู้สึกว่าคำพวกนี้มันถูกทำลายไปแล้วมั้ย เราเข้าใจนะว่ามันก็มียังมีความเฉพาะกลุ่มอะไรบางอย่างของดนตรีแบบที่พวกเราเล่น แต่รู้สึกมั้ยว่ามันเบลอมากขึ้น หรือคิดยังไงกับมัน?

ฟ้า — ทุกคนใน Co-SOLID คิดตรงกันว่าในยุคอินเทอร์เน็ต บางทีคำนี้อาจจะไม่ต้องพูดถึงขนาดนั้นแล้วก็ได้ ทุกวันนี้แต่ละคนมีเส้นทางในการฟังเพลงหลากหลายมาก อินเทอร์เน็ตเหมือนเกทเวย์ในการเจอเพลง ซึ่งจะไปทะลุอะไรบ้างก็ไม่รู้ ล่าสุดฟ้าเห็นดีเจที่เบอร์ลินที่ชื่อ FJAAK คือเค้าเล่นเทคโนแบบดีพๆ เลยนะ แต่ว่าวิธีนำเสนออารมณ์ทางศิลปะ (artistic expression) ของเขาในการแสดงวิชวลหรือกราฟิกมันดูปั่นๆ แล้วก็สว่างสดใสมาก ลบภาพเทคโน ที่ทั้งดีพและดาร์กออกไปเลย คนดูเยอะด้วย อย่างนี้ก็น่าตั้งคำถามว่าจะเรียกอันเดอร์กราวน์อยู่มั้ย บางทีสมัยก่อนอาจจะโฟกัสกันแค่คนนี้เล่นฌอง (genre) นี้แนวนี้ถึงเรียกว่าอันเดอร์กราวน์ ซาวน์แบบที่ไม่คอมเมอร์เชียล แต่ทุกวันนี้มันหลากหลายขึ้น เพราะว่าเรามีทั้งภาพและเสียง มีทุกอย่าง มันเกิดการแสดงออกที่มากกว่าซาวน์แล้ว ซึ่งมันอาจจะข้ามผ่านคำว่าอันเดอร์กราวน์หรือเมนสตรีมไปแล้ว

เม้ง — เรารู้สึกว่าคำว่าอันเดอร์กราวน์ หรือว่าอินดิเพนเดนท์ หรือว่าเมนสตรีม จริงๆ มันคือการเรียกเชิงการตลาดด้วยซ้ำไป อาจจะหมายถึงกลุ่มตลาด หรือว่าหมายถึงพื้นที่ในการเล่นถ้าเป็นสมัยก่อน แต่ว่าสิ่งนี้กลายเป็นนิยามของซาวน์ขึ้นมาก็มี สนใจเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วนิยามมันน่าจะถูกเบลอไปหมดแล้ว?

ฟ้า — คนในซีนเองตอนนี้ก็กำลังพยายามที่จะเลิกพูดอะไรอย่างนี้อยู่นะ หลายๆ คนเรียกอิเล็กทรอนิกส์เป็นแดนซ์มิวสิกแต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ ก็คิดว่าหรือจะเรียกอัลเทอร์เนทีฟแดนซ์มิวสิกกันดี ให้มันก้าวผ่านคำว่าอันเดอร์กราวน์หรือเมนสตรีมกันบ้าง

เม้ง — พี่พีทมองเรื่องนี้ว่ายังไง?

พีท — แม้แต่คำว่าเอ็กซ์เปอริเมนทัล (experimental) ก็ตาม เอาจริงๆ ทุกแนวมันก็สามารถทดลองได้ มันขยายไปทุกพรมแดนไม่ใช่แค่ดนตรีด้วย เราพยายามไม่ใช้คำว่าเอ็กซ์เปอริเมนทัล คำว่าอันเดอร์กราวน์ หรือคำอื่นๆ เพราะดนตรีก็คือดนตรี แต่การแบ่งแบบ Top Best Experimental Electronic Album This Year หรือ Top Best of the Year หรือการแบ่งประเภทของหนังตามฌองมันเป็นอะไรที่ทุนนิยมมาก การไปแบ่งประเภทก็คือการสร้างคีย์เวิร์ดที่เป็นศูนย์รวมของสิ่งๆ นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วในฐานะคนทำ เราไม่ได้คิดถึงฌองเลย การแบ่งประเภทมันคือการสร้างลำดับชั้น และจัดการชนชั้นในพื้นที่สร้างสรรค์ 

ยกตัวอย่างคนที่ทำเฮ้าส์มิวสิกหรือเทคโน ก็ได้ ในตอนเริ่มเขายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเขาทำแนวนี้อยู่ เทคโน มันเริ่มจากคนผิวดำในดีทรอยท์ (Detroit) ที่ตอนแรกก็ยังเล่นฟังก์เล่นดิสโก้กันอยู่ ก่อนที่จะมีคนเอาเครื่องทำจังหวะเข้ามาทำให้ได้ซาวน์ที่ล้ำขึ้น ลองไปเสิร์ชในยูทูป จะมีวิดีโอปาร์ตี้ในแวร์เฮ้าส์ช่วงปีแปดศูนย์ที่เล่นดนตรีเทคโน เล่นเฮ้าส์ยุคแรกๆ ซึ่งเป็นหัวใจของเส้นแบ่งฌองในตอนที่มันยังไม่เป็นฌองขึ้นมา แต่เมื่อคนในซีนหรือคนจัดรายการวิทยุเอาไปพูดถึงก็เลยเกิดเป็นฌอง แต่ฌองจะเริ่มมีปัญหาพอมันเกิดความไม่ชัดเจน เช่นเพลงของศิลปินที่ชื่อ fire-toolz ที่ในเพลงๆ เดียว อยู่ดีๆ ก็เป็นเมทัล อยู่ดีๆ ก็เป็นนิวเอจ แล้วช่วงนิวเอจก็ว้ากแบบแบล็กเมทัลเข้าไปอีก

เม้ง — ฌองทำให้เราเสิร์ชอะไรง่ายขึ้นใช่มั้ย? ผมรู้สึกว่าการจัดประเภทมันทำให้คนมารวมกันง่ายขึ้นรึเปล่า? หมายถึงในฝั่งที่มีประโยชน์น่ะ มันทำให้เกิดคอมมูนิตี้ง่ายขึ้น ก่อนที่เราจะสลายเส้นแบ่งอันนั้นออก

ฟ้า — มันก็เป็นวิธีการนึงที่ทำให้เราหาอะไรเจอ อาจจะเจอซาวน์ประเภทที่เราชอบ แต่เห็นด้วยกับพี่พีทประมาณนึงเลย ทุกวันนี้ขนาดเล่นดีเจเซ็ทแต่ละคนจะนิยามได้มั้ยว่าเพลงนี้เพลงนี้ฌองอะไร บางทีมันก็บอกไม่ได้แล้วนะ บางทีซาวน์อินดัสเทรียลแต่โครงสร้างไม่ใช่ ฟ้าคิดว่ามันเป็นแค่หนทางนึงที่จะได้เจอในสิ่งที่เราชอบ

เม้ง — เราโอเคกับการมองว่ามันเป็นแค่เกทเวย์นะ แต่มันไม่ควรถูกเอามาล็อกกับซาวน์ เรารู้สึกว่าเกิดการล็อกซาวน์ในโลกอินเทอร์เน็ตในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อย่างอินดี้ป๊อปมันเหมือนกันไปหมดเลย มันเกิดเป็นซาวน์กีตาร์บางอย่าง

ฟ้า — มองในมุมว่าถ้าเราได้จัดงานหรือเป็นโปรโมเตอร์ เราไม่ต้องล็อกไอเดียด้วยการใช้คำเหล่านี้ก็ได้

พีท — ด้วยความเป็นแนวมันก็มีประโยชน์ในการเข้าไปดูภาพรวมของซาวน์นั้นๆ เชื่อมโยงไปสู่ศิลปินคนนี้คนนั้นที่มันกระจายอยู่ในซาวน์ของฌองนั้นฌองนี้ได้ แล้วก็อาจจะช่วยให้คนสามารถค้นหาอะไรได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นความจริงที่ตายตัว 

เม้ง — เอาเป็นว่าผมไม่มองเป็นฌอง แต่ใช้คำว่าเฉพาะกลุ่มแล้วกัน มองทิศทางการทำงานกับดนตรีในแนวทางของตัวเองยังไง? วางแผนว่าจะไปต่อแบบไหน? และผลักดันมันยังไงต่อในโลกที่มีโควิด?

ฟ้า — อยากทำให้อิเล็กทรอนิกส์มิวสิกเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น อย่างล่าสุด Co-SOLID ไปเล่นที่คาเฟ่จังหวัดตรัง เราต้องทำการบ้านก่อน เราดูก่อนว่าลำโพงร้านนั้นเหมาะกับซาวน์แบบที่เราเล่นในคลับมั้ย เราทำการบ้านเพราะเราแคร์คนฟัง แคร์บริบท ไม่ได้อยากจะยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างเดียว อยากให้คนฟังแฮปปี้ด้วย ล่าสุดที่เล่นก็เลือกซาวน์ที่เหมาะกับคาเฟ่ เพลงไหนหนักไปก็จะไม่เล่น ถ้ามีโอกาสให้ไปเล่นในสถานที่อื่นๆ ก็สามารถทำได้ โดยจะเอาสถานที่กับคนฟังเป็นตัวตั้ง แล้วเอาดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในแบบที่เราคิดว่าเหมาะตาม ฟ้าคิดว่า right music right people right time มันถึงจะถูกต้อง 

เม้ง — อย่างงาน Velox ที่ Co-SOLID จัดกับคนหลายๆ คน ถึงแม้มันจะขึ้นอยู่กับดีเจว่าเขาอยู่ที่ไหน และเป็นออนไลน์ มันก็ดูแคร์สเปซประมาณนึงเลย สเปซมันเกี่ยวมากๆ เลยใช่มั้ย?

ฟ้า — เกี่ยวมากพี่ เป็นลอจิกที่เราแคร์มากๆ การเล่นที่ไหนคือหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญมาก ทีม Co-SOLID ทุกคนเป็นสายเบื้องหลังด้วย เพราะทุกคนจบนิเทศฯ มา เราจะแคร์งานที่มันออกไปมากๆ ว่าคอนเซปต์คืออะไร ว่ามันจะมีผลยังไง

เม้ง — เราเข้าใจนะว่าออนไลน์มันมีแง่มุมของวิชวล แต่ในแง่ของสเปซคนส่วนใหญ่จะคิดตอนเล่นสด แต่ถ้าเป็นออนไลน์นี่คิดถึงสเปซยังไง?

ฟ้า — ถึงจะเป็นออนไลน์แต่ดีเจที่เล่น ณ ตรงนั้นก็เพอร์ฟอร์มออกมาจากสเปซตรงนั้นอยู่ดี ถ้าเพอร์ฟอร์มตรงนั้นมันใช่ คนที่ดูออนไลน์ที่บ้านก็จะรู้สึกได้ อย่างงาน Velox ที่จัดไป พวกไลท์ติ้ง อาร์ทไดเรคชั่น มีผลต่อดีเจตอนเล่นมาก ถ้าไม่มีการจัดไฟหรือการจัดสถานที่ก็อาจจะเพอร์ฟอร์มไม่ออกก็ได้ และมันมีผลต่อเซ็ทแน่นอน 

เม้ง — แล้วทางฝั่ง blozxom คิดแผนการในช่วงนี้หรือว่าต่อๆ ไปยังไงบ้าง?

พีท — อาจจะเริ่มมีโปรเจกต์ที่ผลิตขึ้นมาโดยมี blozxom เป็นตัวผลักดัน หรือเริ่มมีโปรดักชั่นที่จะปล่อยอัลบั้มเพลงออกมาเป็นแพ็กเกจ ก็อาจจะเน้นไปทำดนตรีเยอะหน่อยเพราะเราเข้าใจมันเยอะที่สุด แล้วอาจจะมีการรวบรวมและทำค่ายเพลงขึ้นมา ยังไงก็ตาม blozxom ก็จะยังเป็นคอมมูนิตี้ของคนทำงานสร้างสรรค์ที่เราจะคอยขยายมันออกไปเรื่อยๆ และจะเร่ิมมีออริจินัลโปรเจกต์หรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจาก blozxom เองด้วย

เราอยากให้งานที่ผลิตออกมาสามารถที่จะออกไปอยู่ที่อื่นๆ บนโลกได้ด้วย เราอยากให้มันไปอยู่หลายๆ ที่ในโลก แต่ก็คิดว่าการที่มันไปอยู่ในโซนอเมริกาหรือยุโรปตะวันตกน่าจะช่วยได้ ในแง่ที่ว่ามันยังเป็นพื้นที่ที่ร่ำรวยทั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มันก็ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องประวัติศาสตร์ของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี จากการเป็นเจ้าอาณานิคมที่มันดึงเอาทรัพยากรโลกไปอยู่ที่นั่น เรามีความคิดว่าเราต้องแลกเปลี่ยนอะไรกันบ้าง ต้องบอกว่าในประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าอาณานิคม ประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้น หรือกึ่งอาณานิคม มันพึ่งพาการนำเข้ามากกว่าการส่งออก เราเลยคิดถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนขึ้นมาว่าน่าจะดี ดีกว่าการที่เราแค่จับจ่ายใช้สอยกันเองอยู่ในพื้นที่ มันอาจจะช่วยให้พื้นที่แข็งแรงก็จริง แต่ว่ามันก็อาจจะแข็งแรงขึ้นอีกถ้าเกิดการแลกเปลี่ยนกับข้างนอกด้วย 

เรามีไอเดียของการเป็นทูตที่เป็นอิสระจากรัฐของประเทศใดประเทศนึงด้วย เช่นการที่คนไทยทำงานสร้างสรรค์จากทุนเกอเธ่ (Goethe-Institut) ของเยอรมัน หรือทุนจากเจแปนฟาวน์เดชั่น (The Japan Foundation) ซึ่งก็เป็นภาษีของคนในประเทศที่ให้ทุน เรามองว่ามันน่าจะมีทางเลือกออกไปจากตรงนั้นได้โดยที่ไม่ต้องโยงกับเรื่องของรัฐต้นทาง เราอยากสร้างอะไรที่มันกระจายศูนย์ในเชิงวัฒนธรรม ไม่รู้ว่าสามารถทำถึงจุดนั้นได้มั้ยแต่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่อยากทำไปด้วย 

ในส่วนของ  blozxom ที่จะทำต่อก็คือพัฒนาเว็บไซต์ให้มีมากกว่าแค่บล็อกหรือบทความ อยากให้มีส่วนที่คนเข้ามาคอลแลบ หรือสามารถเข้ามาร่วมทำอะไรได้แบบเรียลไทม์ ก็จะเป็นในแง่ของการพัฒนาซอฟแวร์ให้เกิดการเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น

เม้ง — หาทุนจากไหนเหรอพี่ตอนนี้?

พีท — ตอนนี้คือกินเงินตัวเองอยู่ (หัวเราะ) แต่ว่ามันก็ต้องหา ตอนนี้เหมือนยังไม่มีองค์กรที่ตายตัว การจะได้ทุนก่อนอื่นเราต้องทำตัวอย่าง ทำโมเดลให้มันเคลียร์ ตอนนี้มันยังกระจัดกระจาย ยังเป็นแค่ไอเดียที่เราพูดออกไปอยู่

เม้ง — แล้วเรื่องของทุนในฝั่ง Co-SOLID ล่ะ?

ฟ้า — เหมือนกัน


ลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์


เม้ง —
ในแง่นึงในการที่มีอินเทอร์เน็ต มันเลยทำให้ต้นทุนถูกลงด้วยมั้ย? การเป็นแพลทฟอร์มออนไลน์ทำให้ต้นทุนมันลดลงมั้ย สมมติเทียบการทำผ่านยูทูปกับการไปจัดงาน? มองเรื่องนี้ว่ายังไง?

ฟ้า — ฟ้าคิดว่ามันอาจจะไม่เกี่ยว บางคนที่ถนัดทำเป็นสตรีมมิ่งแล้วทำอย่างสม่ำเสมอ ต้องซื้อเพลงบ่อย เขาหารายได้จากแพลทฟอร์มออนไลน์ เขาก็อาจจะลงทุนกับการทำกราฟิก การทำโชว์ในแบบที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งก็มีราคาในรูปแบบของมัน ส่วนการจัดงานจริงก็ใช้ต้นทุนตั้งแต่ต่ำไปถึงสูง อยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ถ้าถามว่าอะไรต้นทุนสูงกว่าน่าจะแล้วแต่งานเลยว่าวัตถุประสงค์คืออะไร 

พีท — เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ถ้าทำดีเจเซ็ทขึ้นมาในยูทูป โดยมีลิขสิทธิ์ของดนตรีหรือของศิลปินคนอื่นในช่องปุ๊ปมันจะไม่ทำเงินละ เพราะเวลาเราอัพโหลดลงยูทูป มันจะสแกนก่อนเลยว่ามีเพลงอะไร ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเพลงพวกนั้น ดีเจเซ็ทมันจะทำเงินไม่ได้นะ เงินพวกนี้มันจะถูกเอาไปให้กับศิลปินที่ถูกตรวจเจอในวิดีโอ แล้ววิดีโอนั้นก็จะถูกห้ามไม่ให้สร้างรายได้ พวกไลฟ์เซ็ทอาจจะหาเงินได้ แต่ก็ต้องมียอดวิวที่เยอะมากประมาณนึงเลย ซึ่งก็ต้องไปพึ่งพาความป๊อปปูล่าอยู่ดี 

เม้ง — ผมอยากรู้เรื่องหลักการของลิขสิทธิ์เพลงในดีเจเหมือนกัน เพราะทั้ง blozxom และ Co-SOLID มีดีเจเซ็ททั้งคู่ ฟ้าเคยเล่าว่ามันต้องซื้อเพลงตอนเล่นดีเจเซ็ท แล้วเราเอาไฟล์นั้นไปเล่นในยูทูป เฟซบุ๊ค หรือในสตรีมมิ่งอะไรก็ตามแต่ มันก็ยังจะตรวจจับแล้วป้อนเงินให้กับศิลปินเจ้าของลิขสิทธิ์เหล่านั้นใช่มั้ย? แล้วเพลงคนอื่นที่เราเล่นโดนเอาออกมั้ย? หลักการทางลิขสิทธิ์มันเป็นยังไง?

พีท — โดนครับ 

ฟ้า — (หัวเราะ) ฟ้ารู้สึกว่ายังไม่มีใครเคลียร์เรื่องนี้ได้เลย ทีแรกเคยมีคนบอกว่าถ้าเพลงนั้นดังมากๆ มีโอกาสสูงที่จะโดนตัดออกจากยูทูป แต่งาน Velox ล่าสุด เซ็ทของฟ้าโดนตัดไปหนึ่งเพลงเต็มๆ โดยที่ไม่ใช่เพลงดังอะไร ตัดฉึบไปเลย แล้วพี่บางคนใน Velox ก็โดนตัดไปสองเพลง เลยไม่ชัวร์เหมือนกัน อาจจะเป็นที่บางค่ายมากกว่าที่บอกว่าไม่ให้เล่นในประเทศไหนเลย หรือไม่ให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ 

พีท — เออใช่ มันมีสัญญาอะไรอย่างนั้นอยู่ ของ blozxom ก็มีเซ็ทนึงที่เราให้เพื่อนที่ไซ่ง่อนถ่ายแล้วทำมาเป็นดีเจเซ็ทซึ่งก็มีประมาณสองสามเพลงเลยที่ถูกบล็อกทุกพื้นที่ นโยบายของเพลงพวกนี้จะทำให้ยังดูได้สองสามวันก่อนที่มันจะหายไป จะยังไม่ทำทันทีตอนสแกนครั้งแรก

เม้ง — ผมนึกว่าหลักการคือ พอเราซื้อไฟล์มาแล้วเนี่ย ไฟล์ที่เราเล่นจะถูกตรวจว่าซื้อในฐานะดีเจแล้ว ลิขสิทธิ์ก็ถูกต้องแล้ว

พีท — มันไม่เกี่ยวกับไฟล์ต้นทางแล้วไง เพราะสุดท้ายมิกซ์ที่เราเรคคอร์ดมามันก็กลายเป็นไฟล์ใหม่อยู่แล้ว เราจะซื้อไม่ซื้อก็ไม่เกี่ยวแล้ว

เม้ง — อ๋อ เพิ่งรู้นะเนี่ย งั้นดีเจเซ็ทแต่ละครั้งก็แอบแรนด้อมว่าจะโดนเอาออกกี่เพลง 

ฟ้า — ใช่หวยจะไปออกที่ใครบางคน โดนบล็อกที่ประเทศแบบเซอร์เบีย อะไรแบบนี้ แต่บางทีก็บล็อกทุกประเทศ บอกไม่ถูกเลยทั้งเพลงดังเพลงไม่ดัง

เม้ง — แต่พวก Boiler Room หรือ Vinyl Factory มันเกิดการดีลได้เพราะว่ามันเหมือนเป็นค่ายด้วยรึเปล่า?

พีท — ถ้ามันใหญ่พอก็เหมือนจะดีลได้ เช่น Boiler Room สามารถลงเป็นเซ็ทในเฟซบุ๊คได้ ถ้ามันใหญ่พอมันจะมีพลังที่จะโน้มน้าว ไม่เชิงว่าโกง แต่มันก็จะมีนโยบายที่ละเว้นไว้ให้พวกองค์กรที่ดูน่าเชื่อถือ

เม้ง — คนที่ซื้อไฟล์คุณภาพถูกลิขสิทธิ์กับคนที่ดาวน์โหลดไฟล์มาฟรี ถ้าเอาไปเล่นดีเจเซ็ทก็จะมีโอกาสถูกเอาออกเท่ากันเลยสิ

พีท — ใช่ แต่ว่าบางทีถ้าเซ็ทที่ดีเจคนนั้นเล่น ถ้าเป็นแนวที่ต้องการพิทช์ ต้องการทำบีทแมชท์ ก็อาจจะตรวจไม่เจอ เพราะบางทีเพลงมันเปลี่ยนพิทช์ เหมือนเวลาเราใช้ Shazam (แอปพลิเคชั่นจับเสียงหรือคลื่นเพลงเพื่อตรวจสอบว่าคือเพลงอะไร) จับเซ็ทดีเจสักคนแต่ไม่เจอทั้งๆ ที่มีเพลงนั้น เป็นเพราะคอมพิวเตอร์หาค่าสัญญาณความถี่จากพิทช์ที่ถูกเปลี่ยนไม่เจอ มันก็มีได้หลายปัจจัย

เม้ง — ในที่สุดมันก็เกี่ยวกับค่าย องค์กรที่สังกัด ดีเจในสังกัดไหนอยู่ดี

พีท — มันก็เกี่ยวโยงกันหมดน่ะ ค่ายเพลง นโยบายของแพลทฟอร์ม หรือตัวศิลปิน ก็ต้องลุ้นเอาเอง แต่อย่างของ blozxom จากที่ทำดีเจเซ็ทก็ไม่ได้มีอะไรที่โดนบล็อกไปเลยทีเดียว จะมีก็แต่ของที่จัดที่ไซ่ง่อน ที่โดนเอาออกไป

เม้ง — แปลกดี ผมเพิ่งรู้เรื่องลิขสิทธ์ิในเชิงดีเจ ว่าหลักการมันเป็นแบบนี้ 

ฟ้า — พอมันมีเพนพอยท์เรื่องนี้ คนก็ย้ายแพลทฟอร์มไปอยู่ทวิช (Twitch) กันหมดเพราะไม่โดนตัด


การแลกเปลี่ยนระหว่างขอบเขตลวง


เม้ง —
พูดถึงการแลกเปลี่ยนในโลกกันนิดนึง อย่างล่าสุดที่พี่เจ้ยเพิ่งได้พรีเมียร์ Memoria ที่คานส์ มันชุบชูใจมาก ผมฟังในคลับเฮ้าส์วันนั้นที่มีคนมาเปิดห้องคุย มีคนใช้คำว่าปล่อยให้พี่เจ้ยเป็นพลเมืองโลกไปเถอะ ปล่อยให้เขาทำงานไป ทั้งคู่มีความเห็นว่ายังไงกับการเป็นพลเมืองโลก เพราะทั้ง blozxom และ Co-SOLID มันก็มีไอเดียของสิ่งนี้อยู่?

พีท — เรามองได้ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาก็เป็นพลเมืองโลกอยู่แล้ว แต่ถูกครอบด้วยกำแพงของรัฐ 

เม้ง — แล้วฟ้าคิดยังไงกับคำว่าพลเมืองโลก พอทั้งคู่เป็นคอมมูนิตี้ของการเชื่อมต่อคน นอกจากในประเทศแล้วมันอาจจะไปถึงต่างประเทศได้? 

ฟ้า — ก็คุยกันใน Co-SOLID ตลอดว่าเรามีทรัพยากรอะไรกันบ้างในตัวเอง ไม่ได้เอาคำว่าไทยมาใช้ หรือคำว่าชาติมาใช้ขนาดนั้น ถ้ามีโอกาสก็จะแลกเปลี่ยนเรื่องวัฒนธรรมกับคอมมูนิตี้อื่น ล่าสุดคุยกันว่าอยากหยิบเอาคอนเทนต์เรื่องคัลเจอร์ช็อคของต่างประเทศมาเหมือนกัน 

เม้ง — ในแง่ไหน 

ฟ้า — อย่างล่าสุดเห็นว่า Mixmag ก็มีเขียนเรื่องเกี่ยวกับเพลงอิเล็กทรอนิกส์ที่ bpm (beats per minute) มากกว่า 120 โดนแบนในยิมอะไรแบบนี้

เม้ง — จริงป่ะ 

ฟ้า — ใช่ๆ เค้าบอกว่ามีโอกาสที่คนออกกำลังในยิมไปพร้อมกับเพลงที่มันเร็วเกินอาจจะหัวใจวาย หายใจไม่ทัน เราก็อยากจะเสพข่าวสาร เรื่องอื่นๆ รอบตัว ผสมกับเรื่องเพลง หรือว่ามองโลกไปให้ไกลมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างประมาณนั้นมากกว่า ไม่ได้ว่าจะต้องพัฒนาซีนในไทยเฉพาะเรื่องเพลงแบบเอาเป็นเอาตาย หรือว่าคนไทยต้องยังไง เป็นการพยายามทำความเข้าใจโลกไปด้วยกันมากกว่า

พีท — อืมๆ เราค่อนข้างเห็นด้วย ว่ามันไม่ใช่การแบ่งระหว่างไทยหรือต่างชาติขนาดนั้น การบอกว่าทำอะไรให้โลกแต่ไม่ได้ทำอะไรให้กับประเทศไทย หรือในทางกลับกัน มันดูจะไม่เชื่อมกัน เหมือนกับเราพยายามกีดกันอีกพื้นที่นึง เราคิดว่าควรจะมองว่าเราเป็นมนุษย์คนนึงที่อยู่ในเส้นแบ่งของรัฐชาติที่ถูกสร้างขึ้น ดังนั้นแล้วเราสามารถที่จะแลกเปลี่ยนกันในฐานะมนุษย์คนนึง เป็นการเชื่อมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่มีแอตทิจูดคล้ายกัน แล้วก็ขยายความคล้ายกันนี้ของมนุษย์ต่อไปเรื่อยๆ


ชุมชนจินตกรรม


เม้ง —
แต่เราก็ไปปฏิเสธอำนาจของพื้นที่ไม่ได้ ณ ตอนนี้ ผมเลยอยากถามว่าประเทศไทยตอนนี้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเยอะมากในช่วงโควิด รวมถึงมีศิลปินและนักดนตรีออกมาเคลื่อนไหวด้วย มองบทบาทตัวเองยังไง และมีความคิดเห็นยังไงกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้?

พีท — มันก็มีทั้งศิลปินที่เรารู้จักกันอยู่แล้วอย่างพี่เดื่อง (พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง) ที่เขาทำงานเกี่ยวกับดนตรีหรือซาวน์ ซึ่งการสร้างงานของเขาเห็นได้ชัดว่าคือการเอาเพลงหรือเอาเสียงพูดจากการเมืองไทยมาใช้โดยตรง พูดถึงประเทศนี้แบบตรงๆ สำหรับ blozxom มันอาจจะไม่ได้พูดเจาะจงโดยตรงถึงการเมืองไทยแบบนั้น เราพยายามแสดงออกในวิธีแบบเรา เราไม่ได้เชื่อในอำนาจรัฐไทยแบบที่มันเป็นตอนนี้ และเรามองไปถึงระดับที่มันเป็นรัฐชาติด้วย ความเป็นรัฐชาติที่พยายามจะใช้ประโยชน์จากคน 

เบเนดิกส์ แอนเดอร์สันเคยเขียนถึงขบวนการชาตินิยมว่ามันไล่เรียงมายังไง (แนะนำให้อ่าน Imagined Community โดย เบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน) และเราชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมืองทั้งของไทยและที่อื่นๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้วและประเทศที่ไม่เหลือประชาธิปไตยเลย อย่างซีเรีย หรือว่าพม่า ประเทศไทยตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงประมาณนึง เกิดการประท้วง เกิดการตื่นตัว มันคงไม่ตื่นตัวไม่ได้ถ้าจะชัดเจนขนาดนี้ว่าประเทศเราเป็นประเทศมาเฟีย ซึ่งมันเป็นมานานแล้วด้วย แต่เป็นมาเฟียแบบสงวนท่าทีในพื้นที่ของรัฐไทยที่จะไม่ฆ่ากันโต้งๆ เหมือนพม่า แต่เป็นการฆ่าด้วยวิธีละมุนละม่อม คอมโพรไมซ์แบบแยบยล เช่นการใช้กฎหมาย การอุ้มหายอย่างวันเฉลิม เหมือนทำให้กลัวแล้วค่อยๆ ตัดกำลัง 

กลับมาที่พื้นที่การทำงานสร้างสรรค์ เราว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่เวลาเราพูดว่าคนในพื้นที่ไม่ซัพพอร์ตไอเดียของคนทำงานสร้างสรรค์ มันอาจจะไม่ใช่เพราะปัจเจกซะทีเดียวแต่อาจจะเป็นที่สังคม หรือบทบาทของรัฐที่ปกครองในตอนนั้นมันบังคับให้คนอยู่ในกรอบ อะไรที่แปลกไป ใหม่ไป เป็นสิ่งที่เสี่ยง คนก็ไม่กล้าใช้เงินกับสิ่งหล่านั้น เพราะพื้นที่ที่มันไม่มีเสรีภาพและความเสมอภาคจริงๆ มันไปจำกัดมวลรวมของสังคม คล้ายกับที่ฟ้าบอกว่าฟ้าต้องการผลักดันเพลงที่ไม่ใช่แบบเดิม แต่การผลักดันนี้มันต้องเกิดควบคู่กับการบริหารจัดการของรัฐด้วย ทำไมวัฒนธรรมแบบนึงมันโตในพื้นที่นึงได้แต่ไม่โตในอีกพื้นที่นึงเป็นสิ่งที่เราตั้งคำถาม 

blozxom มองดนตรีในแง่ของวัฒนธรรมที่ถูกการเมืองแบบรัฐชาติที่ครอบไว้อยู่ และเราต้องการที่จะไม่ให้มีสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวกำกับอีกต่อไป

เม้ง — ฟ้ามองเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสิ่งที่พี่พีทพูดยังไง?

ฟ้า — พอพี่พีทพูดถึงเรื่องมาเฟียเสตทก็รู้สึกเห็นด้วย เอาง่ายๆ เลย แค่ในวงการเพลงอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังมีลอจิกของการเป็นมาเฟียอยู่ ที่ว่าถ้าจะเล่นงานนี้ต้องรู้จักคนนี้ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่ง Co-SOLID ที่ผ่านมาพยายามจะเอาเรื่องนี้ทิ้งไป โดยหาจุดร่วมแค่อย่างเดียวก็คือผลงาน เซ็ท เราจะฟังผลงานของเขาเวลาเราจะเลือกคนที่จะมาเล่นดีเจ ถ้าเราไปเจอดีเจในซาวน์คลาวด์ (SoundClound) ที่อาจจะไม่เคยเล่นที่คลับ แต่ผลงานเซ็ทเค้ามันสามารถเอาไปเล่นได้ในที่ที่เราจะจัดเราก็ชวน เราพยายามจะทิ้งความคิดที่ว่าชวนคนนี้มาคนจะเยอะนะ เราไม่ได้แคร์ตรงนั้น โฟกัสกันที่ผลงาน หรืออย่างง่ายที่สุดเราก็เป็นเหมือนคนฟังคนนึงที่อยากได้ยินคนนั้นคนนี้เล่นก็เลยชวนมาสนุกด้วยกัน เพราะยังไงพื้นฐานที่สุดก็คงเป็นการสนับสนุนอิสระทางความคิดกันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ในฐานะคนทำงาน คงจะทำได้มากที่สุดก็คือการเปิดกว้าง ทุกคนควรมีโอกาสในการแสดผลงานในแบบของตัวเอง



ดนตรีและการเมือง


เม้ง —
ผมรู้สึกว่างานของทั้งคู่มันค่อนข้างชัดเจนว่าเกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นซาวน์ที่ผมรู้สึกว่าไม่ได้เล่าเรื่องแบบเพลงทั่วไป ไม่ใช่เมนสตรีม เลยอยากรู้ถึงมุมมองของพี่เดื่องกับแคนว่ามองว่ามันส่งสารออกไปในรูปแบบไหน?

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง (เดื่อง) — อืม ใครก่อนครับ? (หัวเราะ)

พันแสน คล่องดี (แคน) — ผมหรอ (หัวเราะ) เหมือนจริงๆ แล้ว DOGWHINE ตอนตั้งต้นน่ะพี่ ผมตั้งใจจะทำทั้งดนตรีแนวแจ๊ส เพราะว่ามันเคยเป็นดนตรีที่เป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นสูง และดนตรีแนวพังก์ที่มีความขบถ เลยลองเอาทั้งสองแบบมามิกซ์กันดู อาจจะเคยมีมาแล้วล่ะ แต่ผมคิดว่าในประเทศไทยมันยังไม่ได้เป็นวงกว้างขนาดนั้นน่ะครับ ผมเลยสนใจการผสมผสานของสองแนวนี้มากๆ 

เม้ง — เหมือนมันก็มีเรื่องชนชั้นในซาวน์ด้วยใช่มั้ย?

แคน — ประมาณนั้น ผมอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แล้วก็ความหมายของเพลงก็พยายามจะเล่าเรื่องสังคมน่ะครับ อัลบั้มที่แล้วเป็นการพูดถึงสังคม ณ ปัจจุบันที่ตัวผมเผชิญ แต่ในอัลบั้มนี้ผมพูดเรื่องการแก้อดีตหรือไทม์ไลน์อดีต ส่วนเรื่องซาวน์ ผมเลือกพวกเอฟเฟกต์ที่มันขยี้ๆ บดแบบแหลกๆ พังๆ เละๆ แต่ว่าเล่นเป็นสเกลแบบแจ๊ส อะไรอย่างนี้ครับ ให้มันมีความงงๆ นิดนึง  

เม้ง — ทำไมถึงเลือกเขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษด้วย?

แคน — จริงๆ แล้วผมอยากสื่อสารให้มันไปไกลที่สุดน่ะพี่เม้ง เลยคิดว่าถ้าใช้เป็นภาษาอังกฤษ คนต่างชาติก็น่าจะเข้าใจมันได้ด้วย คนไทยก็เข้าใจด้วย

เม้ง — อ๋อ เป็นความตั้งใจเลย

แคน — ใช่ครับ ตั้งใจ คำที่ใช้ก็ไม่ได้ยากหรือลึกซึ้งขนาดนั้น อยากให้มันไปไกลมากว่า เลยเลือกใช้ภาษาอังกฤษ 

เม้ง — พี่เดื่องล่ะครับ

เดื่อง — จริงๆ แล้วเราเริ่มทำเพลงเมื่อปี 2558 แล้วก็สนใจว่าจะเจอเสียงใหม่ๆ ได้ยังไง หรือเสียงนี้มันทำปฏิกิริยาอะไรกับตัวเรา เราสนใจที่มันถูกใช้ควบคุมการเต้นของคน ควบคุมความรู้สึกของคนตั้งแต่เริ่ม ตอนนี้ออกมาสามอัลบั้มแล้ว อัลบั้มแรกชื่อว่า BLACK COUNTRY เป็นนอยซ์หนักๆ แล้วค่อยเอาเสียงมามิกซ์กัน มันก็จะนัวๆ หน่อย ส่วนอัลบั้มที่สองมีชื่อว่า SO SLEEP เป็นการทำเพลงที่พูดถึงเรื่องพ่อ ไทม์ไลน์การเสียชีวิตของพ่อเราตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลจนถึงสวดในงานศพ มันเหมือนกับอัลบั้มแรกเลยที่คอนเซปต์ของตัวอัลบั้มมันไม่ได้ฟิกซ์ ไม่ได้คอนโทรลเสียงเพลงด้วยคอนเซปต์แต่ผันเปลี่ยนไปตามอารมณ์มากกว่า 

แต่พอไปอัลบั้มที่สาม Absolute C.O.U.P. เราพยายามจะสร้างคอนเซปต์ขึ้นมา โดยที่ในแต่ละเพลงจะเป็นการพูดถึงองค์กร หรือสถาบันที่มันเกี่ยวของกับรัฐประหารในแต่ละครั้ง แล้วค่อยสร้างเพลงแต่ละเพลง มันก็จะมีโครงสร้างที่ค่อนข้างชัดเจน เหมือนกับเราสร้างคอนเซปต์ขึ้นมาเพื่อครอบเพลงนั้น สมมติว่าเราพูดเรื่องทหารอย่างในเพลง ArArMyMy เราได้สร้างพาร์ทไว้สี่พาร์ท พาร์ทแรกพูดเรื่องเพลงที่เกี่ยวกับทหาร พาร์ทสองพูดเรื่องเสียงที่เกี่ยวกับทหาร พาร์ทสามพูดเรื่องการทำงานของทหาร เช่นเรื่องทหารเกณฑ์ การซื้อเรือดำน้ำ การใช้งบประมาณ พาร์ทสี่จะเป็นการพูดเรื่องการตาย เช่นเรื่องการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ สรุปคร่าวๆ เพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มจะแบ่งเป็นสี่พาร์ทคือ ดนตรี เสียง งาน และความตาย

เม้ง — ข้อสังเกตอีกอย่างในอัลบั้มที่สามของพี่ คือมีการใช้แซมพ์ (sampling) เพลงของรัฐอยู่เยอะ อย่างในเพลง MoMoNarNarChy ก็เหมือนจะมีเมโลดี้ของเพลงสรรเสริญใช่รึเปล่า? อยากรู้ว่าในกระบวนการทำงาน สมมติว่าพี่วางคอนเซปต์เสร็จพี่เอาแซมป์ตั้งต้น หรือว่าคิดอย่างอื่นก่อน แล้วสิ่งอื่นๆ ค่อยมาประกอบสุดท้ายเพื่อให้คอนเซปต์มันชัดขึ้น?

เดื่อง — เราใช้แซมพ์เฉพาะพวกเพลงที่มันมีเนื้องร้อง หรือว่าเสียงที่มันเกิดจากคน แต่ส่วนใหญ่เราเขียนโน้ตขึ้นมาใหม่ อย่างเพลงสรรเสริญ หรือว่าที่ได้ยินเป็นเสียงพิณ เสียงแคน นั้นถูกเขียนขึ้นมาใหม่โดยใช้ซินธิไซเซอร์ เราจะเรียบเรียงด้วยเบสของมันก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไร แล้วหลังจากนั้นค่อยเข้าไปดูโครงสร้างของเพลงสี่พาร์ทที่เราบอก ส่วนเลเยอร์ที่มันซ้อนเข้าไปคือเลเยอร์ของดนตรีพื้นบ้าน ถ้าสังเกตมันจะมีดนตรีที่เป็นพื้นบ้านในแต่ละแนวของเพลงอีสาน เพลงกันตรีมก็มี เพลงใต้ก็มี เพลงเหนือก็มี เราพยายามจะเอาทั้งสี่ภาคเข้ามาอยู่ในเส้นนี้น่ะครับ 

เม้ง — อย่างพี่เดื่องเขามีการวางโครงเรื่องที่ชัดเจน เผลอๆ ทั้งอัลบั้มเลย ทุกอัลบั้มที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ามีการเรียงลำดับเรื่อง แคนมองว่าสำหรับ DOGWHINE เรามีวิธีการเล่าเรื่องยังไงบ้าง? และอยากรู้ว่าการแจม การเล่นกับคนอื่นมันมีผลกับการเล่าเรื่องนี้ด้วยมั้ย?

แคน — อัลบั้มที่กำลังทำอยู่มันจะมีเส้นเรื่องเหมือนกันคือ อดีต ปัจจุบัน แล้วก็อนาคต แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นเรื่องสังคม เป็นเรื่องของผมที่เจอกับสังคม หรือสังคมที่ผมเผชิญ ณ ตอนนั้น เช่นเพลงล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมา (Masquerade ball) มันเป็นเรื่องของรัชกาลที่ 5 เรื่องการล่าอาณานิคม การเลิกทาส เป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาแล้วผมเอามาตีความต่อ เหมือนเขียนประวัติศาสตร์ใหม่น่ะครับ 

ส่วนการแจม ถ้าเป็นพาร์ทกีตาร์สองตัวแบบนี้ผมเป็นคนคิดเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ให้เพื่อนลองเล่นในแบบคาแรกเตอร์ของเขาดู แล้วตัดสินว่าได้หรือไม่ได้ ส่วนถ้าเป็นแซ็กผมจะบอกแค่อารมณ์เฉยๆ ออกตัวก่อนเพราะว่าผมไม่ได้รู้สเกลแจ๊สนะ (หัวเราะ) ใช้ความรู้สึกล้วนๆ เลยครับ บอกเขาว่าอยากได้มู้ดโทนประมาณไหน แล้วก็ให้เขาเป่ามา อัดมา แล้วฟังว่าเข้ากับเครื่องอื่นมั้ย

เม้ง — อันนี้ก็น่าสนใจ เพราะนอกจากคอนเซปต์แล้ว พาร์ทดนตรีก็จะมีเรื่องอารมณ์อยู่ด้วย สองอัลบั้มแรกของพี่เดื่องจากที่เล่าก็อิงจากอารมณ์ ผมอยากถามทั้งคู่ต่อว่าบาลานซ์สิ่งที่เป็นอารมณ์กับเนื้อหาที่เป็นการเมืองหรือเชิงสังคมยังไง?

แคน — อย่าง DOGWHINE ตัวที่มันขับอารมณ์ก็คือข้อเท็จจริง (fact) อัลบั้มที่แล้วคือข้อเท็จจริงเป็นส่วนใหญ่เลยครับพี่ จะมีความทีเล่นทีจริงแซมๆ มานิดนึง อย่างท่อนพีคก็จะแหลมไปเลย ส่วนกีตาร์จะเน้นเสียงคีย์ กับเสียงที่มันประหลาดๆ ผมไม่รู้คนฟังรู้สึกยังไง แต่ผมฟังแล้วรู้สึกสับสน เหมือนจะเพราะแต่ก็ถูกรบกวน ซาวน์มันก่อก่วน แล้วอยู่ๆ ก็มีเสียงแซ็กที่เพราะๆ หวานๆ เข้ามา แล้วอยู่ๆ ก็กลับมาเร็ว มีความงงๆ อยู่ในตัวเพลงโดยส่วนใหญ่ครับ ผมไม่เรียกว่าบาลานซ์ดีกว่าพี่ ในแต่ละเพลงผมจะหนักไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง (หัวเราะ) แบบหนักทางพาร์ทดนตรีไปเลย หรือว่าหนักทางอารมณ์ไปเลย

เดื่อง — ตั้งแต่อัลบั้มแรกเลยเราจะใช้หูอย่างเดียวเลยที่จะฟังว่ามันทำให้เรารู้สึกแบบไหน ที่สำคัญคือเราสนใจว่ามันทำปฏิกริยายังไงกับสมอง หมายความว่าค่อนข้างจะเป็นเรื่องสัมผัสด้วย ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เนี่ยมันจะใช้โวลุ่มของลำโพงเยอะ ของมวล ของเบส ของคีย์ เราสนใจว่า การทำงานของซาวน์ที่ทำให้ลอยได้ หรือกดให้ต่ำลงได้ ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดอารมณ์อย่างเดียว แต่มันเล่นกับหูในตอนที่เสียงมันเปลี่ยน ปฏิกิริยาของหูมันเปลี่ยน มันเป็นสิ่งที่เรามองเวลาเราทำเพลง เพราะเราทำอยู่ทั้งในเครื่องซินธิไซเซอร์และในคอมฯ ในสองอัลบั้มแรกเราจะหูอย่างเดียวเลยว่ามันเข้ากับสิ่งนี้ยังไง แต่พออัลบั้มสามเนี่ยก็จะเป็นเรื่องของการคิดคอนเซปต์ 

การเอาคอนเซปต์มาครอบคือความท้าทายว่าเราจะจัดการกับมันยังไง สี่พาร์ทอย่างที่เล่าให้ฟังมันเรียงด้วยคอนเซปต์ ไม่ได้เรียงด้วยโน้ต เมโลดี้ หรือเสียงเลย เวลาเราทำงานก็จะไปหาเพลงที่ต้องการใช้มา แล้วดูว่ามันมีดนตรีแบบไหนบ้างที่มันเข้า ก็จะเอามาวางเตรียมไว้แล้วก็ตัด คือเราตัดฟุต (ฟุตเทจ) เยอะมาก แซมพ์ของแต่ละพาร์ทไว้เยอะมาก แล้วก็เลือกจากแต่ละพาร์ท การจะร้อยมันเข้ากันคือความยาก เพราะว่ามันมาจากคนละโทน แต่เราก็จะพยายามท้าทายกับอาการของคนฟังด้วย 

ยกตัวอย่างที่เราบอกว่าในสองอัลบั้มแรกมันคือการเล่นกับโสตประสาท แต่อัลบั้มล่าสุดมันคือการที่ดึงอารมณ์คนดูไปมา ในหนึ่งเพลงแต่ละพาร์ทที่กำลังจะเปลี่ยนและในพาร์ทนี้จะบอกว่าจะเล่าเรื่องอะไร ในแต่ละเพลงเลยจะไม่มีมู้ดแอนด์โทน มันแทบจะเหมือนๆ กันคือดึงไปดึงมา วิธีการเรียบเรียงจะเอาจากความรู้สึกว่าอันนี้มันควรจะต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเพลงนี้เป็นเพลงเบา เพลงนี้เป็นหนัก เพลงนี้จะทำให้ฮึดสู้ แต่คือทุกๆ เพลงมันจะมีช่วงฮึด ช่วงเบา ช่วงขึ้น อยู่ในเพลงเดียวกันหมดเลย ช่วงช้า ช่วงเศร้า มันจะอยู่ในเพลงเดียวกันไปเลย มันก็เลยไม่เกิดการบาลานซ์แบบที่ดนตรีมันควรจะเป็น 

เม้ง — ผมพูดได้มั้ยว่าในแง่ซาวน์มันมีความปะทะกันนิดนึง?

เดื่อง — มันจะไม่ปะทะเพราะว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มันจะมีเลเยอร์ คือทุกๆ ดนตรีก็มีเลเยอร์แหละแต่อิเล็กทรอนิกส์จะมีเลเยอร์ที่ซ้อนไปเรื่อยๆ ยี่สิบเลเยอร์ก็ยังได้ มันสามารถเอารายละเอียดของสิ่งนึงไปอยู่ซ้ายสุด ขวาสุด มันสามารถทำได้ในซินธิไซเซอร์ ทำได้ในแซมพลิ้งเลย สำหรับเราเวลาเล่นก็คือการเล่นสดนั่นแหละ มันไม่ใช่การปะทะกัน แต่มันเป็นการเปลี่ยนโซนของหู

เม้ง — เมื่อกี้ที่ฟังแคนก็มีการผสมเหมือนกันนะ มันคล้ายของพี่เดื่องมั้ย ใช้คำว่าดึงกันไปดึงกันมาได้รึเปล่า แคนมองว่ายังไง?

แคน — ถามว่าดึงกันไปกันมามั้ยผมไม่มั่นใจ ผมคิดว่าอยู่ที่คอนเซปต์ของเพลงแต่ละเพลงด้วย บางเพลงอาจจะโดนดึงหายไปเลย (หัวเราะ) หรือถ้าจะดึงขึ้น ก็ขึ้นสุดเลย แบบดึงกันไปกันมาก็น่าจะมีอยู่ในอัลบั้ม แต่การทำงานจะต่างกับของพี่เดื่องตรงที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มันสามารซ้อนเลเยอร์ได้ แต่สำหรับวงผม ผมคำนึงถึงการเล่นสดด้วยครับพี่ พยายามจะเอาให้จบในชิ้นเดียว เอาให้เป๊ะไปเลย เพราะกลัวว่าตอนเล่นสดมันเล่นได้ไม่เหมือนแล้วอารมณ์จะไม่ได้

เม้ง — เข้าใจๆ ดูทั้งคู่จะใส่ใจกับความเล่นสดประมาณนึงเลย

แคน — ผมเคยดูพี่เดื่องเล่นสดโคตรมัน 


ดนตรีในที่ชุมนุม


เม้ง —
ใช่พี่ ผมอยากดูพี่เดื่องเล่นสดอีก (หัวเราะ) ผมอยากให้แชร์หน่อยในฐานะที่เคยเล่นสดกันในม็อบ พูดกันตรงๆ ถ้าเป็นวงเพื่อชีวิตไปเล่นผมจะไม่แปลกใจนะ แต่พอผมเห็นรูปพี่เดื่องเล่นหน้าอนุสาวรีย์ หรือ DOGWHINE ตอนนั้นผมตกใจมาก เห็นเอฟเฟกต์ในบรรยากาศทางการเมืองในนั้นยังไง เพราะงานเรามันก็พูดเรื่องการเมืองด้วย?

แคน — ผมไปเล่นวันที่ 14 ตุลา (2563) ตอนนั้นเหมือนพี่เดื่องจะเป็นคนชวน (หัวเราะ) 

เม้ง — อ้าว เหรอ (หัวเราะ)

แคน — ใช่ พี่เดื่องชวนไปเล่นที่หน้ากระทรวงศึกษาฯ เวทีของ Free Arts ผมเล่นวงสุดท้ายก่อนฉายหนัง ตอนนั้นเล่นๆ อยู่ก็มีตำรวจเข้ามาสองฝั่งแล้วพี่ (หัวเราะ) ตอนเล่นอยู่เขายังไม่เข้ามาแต่พอเล่นเสร็จตำรวจก็เข้ามาเลย ขับรถเข้ามาก่อน มือเบสวงผมถอดเสื้อแล้วยืนขวาง ตอนแรกก็ตกใจครับพี่ ไม่รู้จะทำยังไงดี ไม่เคยอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น แต่ก็ผ่านไปได้

เม้ง — เครียดเหมือนกันนะ

แคน — คืนนั้นผมเก็บเครื่องดนตรีอะไรเรียบร้อยแล้วก็อยู่กับคนแถวนั้น มันมีหนังเรื่อง The Kingmaker (2562) ฉายด้วย ผมนั่งดูจนตีสองนิดๆ ก็ได้ยินว่าเค้าเริ่มสลายการชุมนุมแล้ว มันแย่มากพี่เพราะคนแถวนั้นยังหลับอยู่เลย ลุง ป้า รถเข็นขายของยังพักกันอยู่เลย แต่ตำรวจก็เข้ามาเรื่อยๆ ผมต้องวิ่งปลุกคนแถวนั้นเป็นเส้นยาวมาก แล้ววิ่งหนีออกไปเส้นนางเลิ้ง บรรยากาศรวมๆ ไม่อยากพูดว่าสนุกได้เต็มปาก มันค่อนข้างเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีเลยซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เราใช้ดนตรีเพื่อเอนเตอร์เทนคนแถวนั้นได้ก็จริง แต่สำหรับผมวันนั้นคือไม่โอเคแล้ว

เม้ง — เหมือนกับว่าจำได้แต่เรื่องสลายการชุมนุมไปเลย

แคน — ใช่ๆ คือส่วนนึงผมอยากให้คนตรงนั้นอยู่จนจบด้วยซ้ำ ไม่ได้จบแค่ดนตรีแต่จบการชุมนุมน่ะ รู้สึกว่าพอรูปแบบงานกลายเป็นเฟสติวัลผมไม่มั่นใจว่าคนที่มาจะอยู่จนถึงท้ายกิจกรรมรึเปล่า วันนั้นที่ผมเลือกอยู่เพราะผมรู้สึกว่าไม่อยากทิ้งคนดูเลยนั่งอยู่จนจบ ก็ตามนั้นแหละพี่ เครียดเลยวันนั้น พี่เดื่องก็เครียด

เม้ง — แล้วฝั่งของพี่เดื่องเป็นยังไงบ้าง?

เดื่อง — เดี๋ยวค่อยกลับมาเล่าเรื่อง 14 ตุลานะ (หัวเราะ) เรามองว่าเพลงมันควรจะมีทุกแบบ การที่เรามาเรียกร้องหรือว่ามาทำงานการเมือง ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวเราเองหรือว่าสิ่งที่เราสนใจเข้ามาสู่จุดมุ่งหมายเดียว เพราะว่าประชาธิปไตยในคำจำกัดความของเราคือต้องหลากหลายมากพอที่จะทำให้ทุกมิติได้เข้ามา เรารู้สึกว่าทุกๆ แนวดนตรีควรจะต้องถูกรวมเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง อย่างท่ีเบอร์ลินมันก็มีเฟสติวัลการประท้วง มีการเดินขบวนที่ใช้เพลงเทคโน ครั้งแรกที่เราเล่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเราก็รู้สึกอยากเล่นในสิ่งที่เราสนใจนะ อย่างน้อยที่สุดมันหลากหลาย ก็ไม่คิดว่าฟีดแบคมันจะดีขนาดนั้นในแง่ที่ว่าคนรู้สึกกับเพลงอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าที่เราคิด ไม่ได้มองว่ามันแนวทดลองหรืออะไรนะ เราคิดว่าเพลงมันก็คือเพลงนั่นแหละ การที่ได้เห็นคนจับใจความของเพลงที่เราเล่นได้หลายส่วนทั้งตอนปี่ไฉนกลองชนะ ที่เอามาจากเพลงมโหรีของงานศพของกษัตริย์ หรือว่าเพลงที่มีเสียงแคนในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แบบคิกหนักๆ ทำให้รู้สึกว่าเสียงไม่มีพรมแดนในการทำความเข้าใจ เขาได้ยินเสียงนั้นด้วยการเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นด้วย มันทำให้เรารู้สึกว่าดนตรีแนวไหนก็ควรได้รับการสนับสนุน เพราะมันคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน วันที่ 14 เราชวน DOGWHINE เพราะเรารู้สึกว่าเล่นสดได้ดี ดีกว่าในเพลงอีก 

แคน — (หัวเราะ) 

เดื่อง — วันที่ 14 เป็นวันที่เรารู้สึกว่ามันโหดเหี้ยมมาก

แคน — เขาตัดไวไฟด้วยนะพี่ วันนั้นต่อไวไฟเข้ามิกซ์เซอร์ไม่ได้

เดื่อง — ใช่ๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องด่ากันต่อไป เพราะว่าเราใช้สิทธิเสรีภาพของเรา แต่เราก็ยังคิดว่าทุกแนวดนตรีควรจะแสดงออกได้ในพื้นที่ของม๊อบ เพราะมันคือพื้นที่ของการเรียกร้องสิทธิทุกประเภท


คอลเอาท์


เม้ง —
คิดยังไงกับการออกมาเคลื่อนไหวของนักดนตรี มันมีนักดนตรีออกมาเคลื่อนไหวบ้างแล้ว ทั้งในฝั่งของพี่เดื่องหรือของ DOGWHINE เองตั้งแต่ตอนประท้วง แล้วตอนนี้ก็มีนักดนตรีกระแสหลักออกมาด้วย มองเรื่องน้ียังไงบ้าง? 

เดื่อง — เรามองนักดนตรีทุกคนเท่ากัน หมายความว่าเราไม่ได้มองว่าใครเป็นเมนสตรีม ใครเป็นอินดี้ ใครเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เรามองว่าเวลาคอลเอาท์ ทุกๆ คนมันสำคัญ แต่แน่นอนว่าในการกระจายเสียงหรือเรื่องของภาพลักษณ์คนที่อยู่ในกระแสหลักก็จะได้รับมากกว่า 

สำหรับเราประชาธิปไตยมันต้องทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เลือกในทุกรูปแบบจนเกิดกลุ่มก้อนของตัวเองจากคนที่สนใจเพลงแบบเดียวกัน เรารู้สึกว่าการที่นักดนตรีทุกรูปแบบออกมาคอลเอาท์อยู่บนระนาบเดียวกันทำให้เราสามารถที่จะเลือกได้ว่าเราสนใจอะไร ในอนาคตมันอาจจะเหมือนกับในยุโรปก็ได้ที่คนสามารถเลือกฟังในสิ่งที่คุณชอบโดยที่ไม่มีใครมาตัดสินว่าคุณฟังเพลงอินดี้หรือคุณฟังเพลงตลาด

เม้ง — เข้าใจนะ แต่พี่มองว่าไทยไปถึงจุดไหนแล้วในเรื่องนี้? 

เดื่อง — แต่ก่อนนี้เล่นในไทยด้วยคนดูเกินห้าสิบก็ดีใจตายแล้วสำหรับเพลงแบบเรา ในยุโรปอาจจะหลักร้อยหลักพัน แต่ตอนที่อยู่ในม็อบมันทำให้เราได้มีโอกาสเล่นต่อหน้าคนดูอย่างต่ำสามหมื่นกว่าคนในวันนั้น ด้วยเนื้อหาที่ไม่มีคำร้อง ไม่มีคำปลุกใจ แต่มีคนเฮฮา งงไปด้วยเต้นไปด้วย ยังสนุกไปด้วยกัน เรารู้สึกว่าคนน่าจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นในอนาคต และดนตรีหรืองานศิลปะที่มันไปสู่อนาคตก็ต้องถูกทดลองอะไรใหม่ๆ มันกำลังเป็นอย่างนั้นอยู่

เม้ง — แล้วแคนมองว่ายังไง?

แคน — เรื่องแรกก่อน ตอนนี้เราเห็นศิลปินหลายๆ คนออกมาแล้ว เพราะว่าปัญหามันเป็นวงกว้างจริงๆ แล้วมันจวนตัวจัดเลยๆ สำหรับคนในวงการดนตรี ผมรู้สึกโอเคนะครับที่คนออกมาคอลเอาท์ถึงปัญหาตรงนั้น แต่ก็ไม่อยากให้เขาลืมปัญหาที่แท้จริงด้วยว่ามันคืออะไร ผมไม่สามารถไปบอกคนได้ว่าออกมาคอลเอาท์ตรงนั้นตรงนี้หรอกครับ คนเรามันเป็นฟันเฟืองแหละพี่ ทำได้ในสิ่งที่เราอยากจะทำ แค่อยู่ในหลักเดียวกันหรือปลายทางเดียวกันผมว่าดีกว่า คนเหล่านั้นเขามีกระบอกเสียงที่ใหญ่กว่าแน่นอนครับพี่ อย่างที่พี่เดื่องพูดตอนแรก ผมเห็นด้วยกับพี่เดื่องหมดเลย (หัวเราะ)

เม้ง — แล้วอย่างที่พี่เดื่องพูดเรื่องความเมนสตรีม อินดี้ อะไรแบบนี้ แคนมองซีนตอนนี้เป็นยังไง?  หรือมีมุมมองคล้ายๆ พี่เดื่องว่ามันหายไปหมดแล้ว? รู้สึกว่าคนเปิดรับแนวดนตรีใหม่ๆ มากขึ้นมั้ย?

แคน — มันอาจจะเป็นเรื่องร้ายนะครับพี่ ที่ว่าแนวดนตรีมันค่อนข้างจะผูกขาดนิดนึง เหมือนกับแน่นอนว่าเพลงรักต้องดังน่ะครับ ผมเคยเรียนกับอาจารย์คนนึง เขาบอกว่าถ้าอยากรู้ว่าประเทศนั้นเป็นยังไงให้ดูศิลปะบ้านเขา อย่างช่วงนี้ที่คนฟังเพลงการเมืองเยอะเพราะมันมีปัญหาที่แทบจะกอดคอขี่ไหล่เราแล้ว คนเลยต้องการอะไรที่ปลุกใจแน่นอน ผมคิดว่าแนวดนตรีตอนนี้มันน่าจะใกล้ถึงยุครีเซ็ทได้แล้วนะครับพี่ คนอาจจะเลือกฟังอะไรที่ไม่ใช่เพลงรักแล้ว เขาอาจจะต้องการเปิดรับสิ่งใหม่และมีเวลาหาอะไรใหม่ถ้าคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น วันนี้ไถฟีดก็เจอแต่ข่าวการเมือง ข่าวโควิด การปล่อยเพลงออกมาตอนนี้คนไม่น่าจะสนใจแน่นอน ผมคิดว่าต้องแก้ที่คุณภาพชีวิตของประชาชนก่อน แล้วให้ประชาชนเลือกเองว่าจะเสพดนตรีแนวไหน หรือว่าจะทำอะไรต่อนะครับพี่ 

เม้ง — คือความหลากหลายน่าจะมาเองทีหลัง หลังจากที่พวกเราไม่ตายล่ะนะ (หัวเราะ)

แคน — ใช่ๆ ความหลากหลายน่าจะมาเองหลังจากที่ชีวิตเราดีขึ้น ผมเชื่อแบบนั้น แต่ว่าผมเชื่อแน่นอนว่าจะมีพื้นที่ให้กับวงที่มีแนวดนตรีแตกต่างจากเดิม และมีพื้นที่ให้เขาก้าวขึ้นมามากขึ้น


ขับเคลื่อนเพื่อเสรีภาพ


เม้ง —
ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ทั้งเรื่องม๊อบ เรื่องวัคซีน เรามองว่ามันคือข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถสื่อสารเรื่องอื่นได้มั้ย? หรือมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องสื่อสาร ณ ตอนนี้เพราะคนไม่ได้อยากฟังเรื่องอื่น?

แคน — ถ้าสำหรับผม ตอนนี้ผมขับเคลื่อนด้วยสภาพสังคมไปแล้วล่ะ (หัวเราะ) รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเครื่องจักรไปแล้วยังไงก็ไม่รู้ ถ้ารัฐบาลเหี้ยก็ต้องโดนด่าแน่นอนอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นเชื้อไฟในการทำงานมากขึ้นนะพี่ ผมรู้สึกมันที่ได้ด่า รู้สึกมันที่ได้ใส่อารมณ์ตัวเองลงไปในงาน ทำให้มันดูซอฟท์ลง หรือให้มันอ้อมหลังไปตบหัว ในผลงานของเราเราไม่ได้ด่าเค้าตรงๆ นะครับ ถ้าคนในอีกสิบยี่สิบปีกลับมาฟัง เขาจะได้รู้เลยว่ารัฐบาลปีนี้ ยุคนี้ ที่มีวงนี้ด่าก็เพราะรัฐบาลเหี้ย คิดว่ามันไม่ได้เป็นข้อจำกัดให้ผมพูดอะไรได้หรือไม่ได้ ผมก็ยังพูดได้เสมอ 

เม้ง — พี่เดื่องมองว่ายังไง? 

เดื่อง — สำหรับเราเวลาเคลื่อนไหวทางการเมืองเราไม่ได้ไปในฐานะศิลปิน เราไปในฐานะประชาชน เป็นภาพที่เราเป็นประชาชนคนนึงไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม แต่ในการทำงานศิลปะมันก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำงานเกี่ยวกับการเมือง เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเราในช่วงเวลานี้ แล้วเราก็โดนผลกระทบจากการเมืองตรงๆ มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเบื่อหรือทำให้ทำเรื่องอื่นไม่ได้ เอาง่ายๆ คือแพชชั่นในชีวิตเรามีสองอย่าง หนึ่งคือเราอยากใช้ชีวิตปกติให้ได้ในสังคมที่ดีกว่านี้ อยากทำอะไรก็ได้ อยากรู้สึกว่าเศรษฐกิจดี อยากแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ นี่คือแพชชั่นหนึ่งที่รู้สึกว่าอยากทำไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม จะให้ออกไปประท้วง ออกไปเขียนด่า ออกไปพูดคุย ออกไปอะไรก็แล้วตาม สองคือเราอยากที่จะเห็นอนาคตใหม่ๆ เห็นสิ่งใหม่ๆ เราไม่อยากอยู่กับที่ ไม่อยากรู้สึกว่ามันไม่มีอนาคต อยากเจอเพลงใหม่ๆ เสียงใหม่ๆ งานใหม่ๆ ดูส่ิงที่เราตื่นตาตื่นใจ ได้ดูงานศิลปะที่ดี ได้ดูหนังดีๆ เรารู้สึกสองสิ่งนี้มันเคลื่อนไปพร้อมกันสำหรับเรา 

การทำสิ่งใหม่มันเป็นสิ่งยากเพราะว่าต้องรู้ว่าควรจะรวมอะไรเข้าด้วยกัน แบบไหนที่มันทำให้เห็นอนาคตใหม่ๆ ไม่รู้ว่าจะทำได้รึเปล่า ในงานเพลงเราคิดถึงสิ่งนี้เสมอมันก็เลยเป็นเพลงที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง (หัวเราะ) แต่ว่าในเชิงการทดลอง เราทำงานกับโครงสร้างดนตรีเพื่อที่จะเห็นสิ่งใหม่ๆ ในเพลงของเราเสมอ

เม้ง — ขอถามถึงสเตปต่อไปนิดนึงแล้วกัน ในเชิงซาวน์ก็ได้หรือสิ่งที่อยากพูดก็ได้ มอง DOGWHINE เป็นยังไงหรือว่าอยากเล่นอะไรใหม่ ณ ตอนนี้?

แคน — กลัวพูดไปพี่ขำ แต่มันก็ได้อยู่นะ (หัวเราะ) ตอนนี้ผมอยากเล่นกับวงออร์เครสตรามากเลยพี่ ผมพยายามดูคลิปที่มีคอนดักเตอร์ หรือวงที่มันใหญ่ๆ ผมไม่รู้หรอกว่าจะมีโอกาสเล่นมั้ย ผมว่ามันมีความหลากหลายจริงๆ เครื่องนี้มันเล่นแบบนี้ เครื่องนั้นมันเล่นแบบนั้น แต่สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นกลุ่มก้อน แล้วเพลงมันดันเพราะอีก ผมพยายามจินตนาการว่าถ้าเราอยู่ในจุดนั้นได้เราจะทำอะไร เราจะเรียบเรียงยังไง เราจะเล่นแบบไหน ผมก็ไม่มีสกิลดนตรีนะ ไม่ได้เรียนดนตรีมาเหมือนกัน แค่อยากทำ อันนั้นน่าจะแปลกใหม่สำหรับผมนะ พยายามรีเสิร์ชกับทำการบ้านอยู่ครับพี่ น่าจะอีกสักสองสามปี

เม้ง — เหมือนเคยเห็นมีศิลปินเทคโน ที่เล่นกับออร์เคสตรานะ ชื่อเจฟ มิลส์ (Jeff Mills) พูดถึงออร์เคสตราก็น่าสนใจ พี่เดื่องอยากเล่นกับออร์เคสตราบ้างมั้ย?

เดื่อง — ยัง ตอนนี้ยัง (หัวเราะ) 

เม้ง — ซาวน์มันดูใหญ่เนอะ

แคน — แล้วมันดูหลากหลายจริง ถ้าจะพูดเรื่องความหลากหลาย ผมว่านี่แหละ ใช่เลย (หัวเราะ)

เดื่อง — ออร์เครสตรามันมีความสกิลน่ะ อย่างการเล่นดนตรีแบบ DOGWHINE มันมีสกิล เยอะด้วย ในการสร้างทำนอง จังหวะ แต่ว่าอย่างของเรา สิ่งที่เราสนใจมากกว่าคือการไปเล่นกับชนเผ่าหรืออะไรที่เป็นเสียงอื่น เสียงของชนเผ่า เสียงแบบแอฟริกัน มันมีความพื้นถิ่น แต่ว่าออร์เคสตรามีแพทเทิร์นที่ต้องมีสกิลอย่างน้อยที่สุดก็ต้องรู้โน้ต รู้คอร์ดในการเรียบเรียงมัน แต่เรารู้สึกว่าความพริเมทีฟ (primitive) มันน่าสนใจอีกแบบนึงนะ (หัวเราะ) 

เม้ง — เพลงแบบพวกมองโกลอะไรแบบนี้มั้ย?

เดื่อง — อย่างเครื่องดนตรีแปลกๆ ในลาวอะไรแบบนี้ คือมันเยอะมากพวกวงดนตรีชนกลุ่มน้อย

เม้ง — เวิลด์มิวสิก (World Music) อะไรแบบนั้นรึเปล่าพี่?

เดื่อง — มันไม่ใช่แบบเวิลด์มิวสิก มันคือการเล่นใหม่ อย่างค่ายเพลงอิเล็กทรอนิกส์ในอูกันดาที่มีซาวน์แบบแอฟริกันยุคใหม่น่ะ เวิลด์มิวสิกมันให้ความรู้สึกเป็นดนตรีของชนกลุ่มน้อยที่โหยหาอดีต แต่แบบสมัยใหม่คือมันมาจากโลกใบเดียวกัน แต่ใช้เสียงกับเทมโปจากโลกของตัวเอง ซึ่งมันเท่าเทียมกันมากกว่าสำหรับเรา 

เม้ง — เข้าใจครับ เวิลด์มิวสิกเป็นอะไรที่ตะวันตกเอามาขายความเป็นชนกลุ่มน้อยด้วยซ้ำ


ขับเคลื่อนเพื่อเท่าเทียม


เม้ง —
พูดถึงเรื่องต่างประเทศ ช่วงนึงพี่เดื่องเคยไปเล่นต่างประเทศใช่มั้ย? อย่าง DOGWHINE มีเข้าไปเกี่ยวกับเฟสติวัลในฝั่งต่างประเทศบ้างมั้ย? ผมรู้สึกว่า การเชื่อมต่อกับโลกมันกว้างขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ต เรามองพื้นที่ทางดนตรีของเรายังไง? อยากขยายไหม? เราวางแผนอะไรกับมันบ้าง? 

แคน — เคยแค่มีติดต่อมา แต่ว่าติดช่วงโควิดครับพี่ งานอะไรสักอย่าง น่าจะของไต้หวันหรือเกาหลีนี่แหละ จริงๆ ผมอยากเป็นกระบอกเสียงนะพี่ ถ้าได้ไปเล่นตรงนั้นจริงๆ อยากมีชื่อเสียงเพื่อจะกลับมาคอลเอาท์เพื่อทำอะไรซักอย่างต่อที่นี่ครับ อยากเป็นกระบอกเสียงที่ใหญ่ขึ้น

เดื่อง — จริงๆ เราก็หากินด้วยการเล่นดนตรีต่างประเทศ ในสามสี่ปีที่ผ่านมาเราได้เงินจากที่นั่น แล้วปีที่แล้วก็เป็นปีที่แย่มาก จริงๆ เราต้องทัวร์ด้วย แต่ก็โดนแคนเซิลหมด สถานการณ์มันบังคับให้เราไปเล่นที่นั่นเพราะว่ามันได้เงินไง มันใช้ชีวิตอยู่ได้ เราไม่ได้อยากไปเล่นต่างประเทศเพราะอยากมีชื่อเสียงแต่มันคือการได้เห็นว่ามีคนซัพพอร์ทคุณ มีกลุ่มคนที่ฟังเพลงของคุณจริงๆ ที่พร้อมจะจ่ายเงินให้คุณ อย่างเราไปทัวร์ยุโรปยี่สิบประเทศ ไม่ว่าจะไปสโลวาเนีย เซอร์เบีย ก็มีกลุ่มคนที่ฟังเพลงอิเล็กทรอนิกส์แบบที่เราทำ เราอยากเห็นสิ่งนี้ในไทย 

กับการเมือง เราไม่เชื่อเรื่องคนดังแล้วจะทำให้เสียงเราใหญ่ขึ้น แต่แน่นอนเราก็หมั่นไส้พวกคนดังอยู่แล้ว (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าไม่อยากเป็นคนดังเพราะว่าจะมีคนหมั่นไส้กับสิ่งนี้ แล้วเราก็จะรำคาญเวลามีคนสรรเสริญเยินยอกัน มันทำให้ความเป็นคนของอีกคนนึงมันหายไป เสียงเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นลม แต่กับอีกคนกลับเป็นดินที่พร้อมจะถล่มได้ เราไม่เชื่อสิ่งนั้น 

การออกนอกประเทศ มันคือการทำให้เราเปิดโลก ทำให้เราเห็นว่าถึงคุณภาพบางอย่างที่น่าสนใจกว่าในไทย ต่างประเทศจะใส่ใจกับการซาวน์เช็คของเรามากกว่า ไม่เหมือนกับที่ไทยที่จะบอกว่าเล่นอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องซาวน์เช็ค เสียบปลั๊กแล้วเล่นได้เลย การไปทัวร์ทำให้เราเรียนรู้ความเป็นสากลมากขึ้นว่าต้องซาวน์เช็คยังไงต้องคุยกับซาวน์เอ็นจิเนียร์ยังไง ต้องดูห้องแมพยังไง ประสบการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในประเทศไทย

เม้ง — พี่เดื่องบอกว่ามันสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วย คนที่ทำงานนอกกระแสหลัก ณ ตอนนี้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพด้วยเงินทุนต่างประเทศอย่างเดียวรึเปล่า?

เดื่อง — เอาจริงๆ แล้วเราคิดว่าเราเลี้ยงชีพในประเทศไทยไม่ได้ แต่เราสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้ อย่างในปี 2563 เราก็มีทำ Neighbours Collective กับเพื่อน เอาเงินที่ได้มาจากการไปเล่นต่างประเทศมาชวนนักดนตรีที่ดังๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเล่น แล้วก็จ่ายเงินทุกอย่างให้เป็นเรทปกติ มีค่าที่พัก เพอร์เดียม ค่าตัวศิลปิน ทุกอย่างที่เวลาเราไปต่างประเทศแล้วเราได้รับ เราใช้สเกลนั้นเลย แล้วก็เจ๊งระนาว แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราทำได้ เรารู้สึกว่าส่ิงนี้ต้องถูกสร้างให้เป็นมาตรฐานขึ้นมา มันไม่ใช่แค่การจะจัดงานนึงก็ชวนเพราะเป็นเพื่อนกัน มาสุมหัวกัน เล่นแล้วได้เงินน้อยนิด แบบนั้นก็ทำได้ แต่ถ้าเราอยากให้มันเป็นระบบจริงๆ ก็ควรจะต้องสร้างมาตรฐานของวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ฝั่งเล่นสดเขามีมาตรฐานกันมานานแล้วล่ะ เฟสติวัลก็มี แต่เราอยากให้ดนตรีแบบเราได้รับการดูแลด้วยสแตนดาร์ดเท่ากับแบบอื่นเหมือนในฝั่งยุโรป ตัวเราเองไม่คิดว่าที่นี่จะหาเลี้ยงชีพได้ด้วยสิ่งนี้ได้ในเร็ววัน แต่ว่าในอนาคต เมื่อคนมันอยากเจอสิ่งใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบ้านเมืองเซ็ทระบบได้ เมื่อมีรัฐสวัสดิการ เมื่อมันมีพื้นที่ทางสังคม เมื่อรัฐมีคลับให้กับคนหนุ่มสาว หรือว่ามีสวัสดิการให้กับประชาชน รัฐที่มันเริ่มสมบูรณ์ เริ่มที่จะตั้งตัวได้ เริ่มมีประชาธิปไตยเต็มใบ มันจะค่อยๆ ดีขึ้นสำหรับเรา ถ้าหวังกับรัฐที่มันเป็นเผด็จการแบบนี้ก็คงจะอีกนาน

แคน — ในส่วนของวง ผมมองว่ามันยังหากินไม่ได้แน่นอน เพราะยิ่งคนเยอะเราก็หารกันเยอะ เวลาจัดอีเว้นท์ใหญ่ๆ ผู้จัดเขาก็ต้องหวังการขายบัตรอยู่แล้ว ซึ่งฐานแฟนเพลงผมมีไม่ถึงสองร้อยเลยด้วยซ้ำ เขาก็ไม่ได้จ้างในราคาที่จะได้กำไร พอจ้างในราคาถูกแล้วต้องหารกันอีก อย่างวงผมมีตั้งหกเจ็ดคน บางทีหารออกมาได้แค่ค่ารถ เป็นมาสองสามปีได้ ผมเพิ่งจะมารับค่าตัวเต็มๆ ปีที่แล้วเอง แล้วก็โดนโควิด กำลังจะตั้งตัวได้แล้วต้องมาโดนเรื่องนี้อีก ผมเลยมองอย่างเดียวกับพี่เดื่องว่าบ้านเมืองต้องเซ็ทระบบจริงๆ จังๆ ให้ความสำคัญกับทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ควรได้รับสวัสดิการ ควรมีพื้นที่ให้เขาเล่น หรือมีอะไรให้เขารู้สึกอุ่นใจกับสิ่งที่เขาทำ 

ผมมองว่าช่วงสี่ห้าปีนี้อาจจะไม่ได้แน่นอนครับพี่ กว่าจะเซ็ทระบบและหลายๆ อย่าง ผมเชื่อว่าอีเว้นท์ที่กลับมาจัดได้คงต้องมีเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่จัดๆ เลย สปอนเซอร์น้ำดื่มหรือเบียร์ ซึ่งมันก็จะมีวงที่ผูกขาดอยู่แล้วเพราะพวกเขาทำเงินได้แน่นอน วงเล็กๆ อย่างผม หรือคนรอบข้างผม เหมือนถูกหลอกมาตลอดเลยว่าต้องเล่นด้วยแพชชั่น ได้เล่นยังดีกว่าไม่ได้เล่น ผมกลับมาตระหนักรู้ว่ามันไม่ได้นะ ผมก็ไม่ได้มีเงินอะไรมากมาย อย่างน้อยก็ควรจะได้ค่าแรงขั้นต่ำห้าร้อยพันนึงมั้ย กลไกลพวกนี้ก็ต้องย้อนกลับไปตอนต้นเลยคือเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าคนมันมีเงินก็คงพร้อมซัพพอร์ทแน่นอน เหมือนอย่างเช่นงานหางบัตรมันก็ยังมีอยู่ มันอยู่ที่ใจแหละซึ่งผมไม่ได้ว่านะ แต่ผลกระทบกับตัวนักดนตรีก็คือต้องเตรียมใจไว้แล้วว่าอาจจะเข้าเนื้อ หรืออาจจะได้น้อย ซึ่งผมไม่ค่อยอยากให้เกิดในยุคนี้ ผมอยากให้ได้รับผลตอบแทนทั้งคนมาเล่น ทั้งคนจัด ทั้งผู้ชมครับ 

เม้ง — ณ ตอนนี้คงหวังพึ่งรัฐไม่ได้อยู่แล้ว เรามองว่าการรวมกันเป็นคอมมูนิตี้มันจะช่วยเรื่องนี้มั้ย? การรวมตัวกันมันช่วยอะไรได้มั้ย?

แคน — ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี แน่นอนว่าการรวมกลุ่มมันต้องมีความหลากหลาย เช่นคนนี้อาจจะมีแนวคิดตรงนี้ คนนั้นอาจจะมีแนวคิดตรงนั้น แล้วเอามาคุยกับ ระดมความคิดกัน มันน่าจะเกิดเรื่องที่ดีกว่า เช่นถ้าพูดกันตรงๆ ผมไม่ได้มีคอนเนกชั่นทางดนตรีเลย ผมเรียนถ่ายรูปมาที่ลาดกระบัง เป็นวงจากลาดกระบัง มหาลัยฯ ที่ไม่มีคณะดนตรีเลยด้วยซ้ำ แต่ที่ผมได้มาเล่นและผมได้เจอคนก็เพราะว่าคอมมูนิตี้ของเด็กฝั่งศิลปากร เด็กฝั่งมหิดลที่มาเจอผมตามงาน ชวนไปทำนั่นทำนี่ ถ้าเกิดเป็นคอมมูนิตี้นักดนตรีก็อาจจะดี เพราะบางคนก็อาจจะมีสเปซให้เล่น บางคนก็อาจจะมีเครื่องดนตรีที่พอจะทำไลฟ์เซสชั่นปล่อยออกไปก่อนไม่ให้วงมันหายไปน่ะครับ

เม้ง — มองมั้ยว่าสิ่งนี้มันช่วยเราได้แค่ไหนในระบบทั้งหมดที่มันยังแย่อยู่ มองว่าเรามีอำนาจต่อรองมากขึ้นแค่ไหน? 

แคน — เหมือนอย่างที่เขาบอกกันเลยพี่ ว่าประชาชนต้องช่วยกันเอง มันคือความจริงร้อยเปอร์เซนต์ พี่เดื่องว่าไงพี่ ผมว่ายากมากเลย

เดื่อง — ก็ช่วยกันเองแหละ แต่มันช่วยได้แค่ช่วงเวลานึง ในการช่วยกันเองมันก็ต้องช่วยตัวเองด้วย คอมมูนิตี้มันก็จำเป็นอยู่แล้วในซีนดนตรีปกติน่ะนะ แต่ต้องอย่าลืมว่าคอมมูนิตี้มันต้องมีมาตรฐานด้วย ไม่ใช่แค่คุณภาพของงาน แต่หมายถึงมาตรฐานการให้ค่าแรง มาตรฐานของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เหมือนอย่างที่แคนบอกว่า คนบอกให้เราเล่นด้วยแพชชั่น คอมมูนิตี้มันก็ไม่ควรเป็นเรื่องของแพชชั่นอย่างเดียว มันควรจะมีระบบที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ถึงจะเป็นคอมมูนิตี้ที่ดี คุณต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราจะได้เงินแบบไหน เราจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นมั้ย หรือทำให้เห็นภาพหลากหลายมากขึ้นยังไง เพราะคอมมูนิตี้มันไม่ได้หมายความว่าต้องมองไปทางเดียวกันนะ คอมมูนิตี้คือการที่สามารถปรับตัวเมื่อเจอสิ่งใหม่ๆ และสามารถพัฒนาไปได้ มันควรเป็นภาพแบบนั้นสำหรับเรา 

อย่างที่เราบอกคือประเทศไทยมันช่วยตัวเองมาตลอดอยู่แล้ว แต่การช่วยเหลือแบบพวกเรามันก็ทำได้ในระยะเวลาจำกัด ซึ่งมันไม่ได้ทำให้ปัญหามันหายไปไหนเลย เรารู้สึกว่าเราช่วยกันเองมาเยอะมากแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ต้องให้เขามาช่วยแล้วล่ะ ต้องเรียกร้องให้เขามาช่วย มันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลแล้ว ในยุคนึงเคยคิดว่าการทำสิ่งนี้มันเวิร์กนะ แต่ในจุดที่ทุกคนเจอปัญหาร่วมกัน เห็นเลยว่ายากมากที่จะบอกให้เราไปช่วยกันเองโดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลก็ได้ เราคิดว่าอาจจะช่วยกันเองก่อนแล้วค่อยไปตีรัฐบาล มันต้องคิดดีๆ นะ อะไรแบบนี้  

เม้ง — มันก็คือเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ก่อน แบบนั้นรึเปล่า? 

เดื่อง — มันเปลี่ยนแปลงภาพเล็กมาตลอดเวลา แต่มันต้องดันไปจนถึงภาพใหญ่ให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ สะท้อนภาพใหญ่ออกไปให้ได้ ไม่ได้อยู่แค่ในปัญหาของตนเอง ไม่ได้อยู่แค่ในปัญหาของปัจเจกหรือกลุ่มใดกลุ่มนึง เหมือนที่บอกว่านักดนตรีที่ออกมาคอลเอาท์ ความจริงต้องทำไปให้ไกลถึงการเปลี่ยนแปลงระบบของสังคมด้วยไม่ใช่แค่ถึงจุดที่ได้รับเงินอุดหนุน หรือว่าการเรียกร้องเรื่องชุมชนอะไรบางอย่าง มันก็ควรไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม เพราะว่าสุดท้ายเมื่อคุณได้สิ่งที่เรียกร้องมาแต่ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง คุณก็จะเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำอีกรอบนึงอยู่ดี ถ้าไม่เปลี่ยนระนาบที่มันใหญ่ มันก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ มันก็จะกลับมาวนเวียนอยู่อย่างนี้ เพราะว่าคนที่มันทำให้คุณเป็นแบบนั้นมันยังอยู่ที่เดิม

CONTRIBUTORS

ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ (เม้ง)
ศิลปินที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทำงานในชื่อ Beam Wong ผ่านสื่อหลายรูปแบบ ซึ่งโดยส่วนมากจะมีลักษณะเป็นงานทดลอง เขายังทำงานประจำเป็นผู้กำกับและคนตัดต่อวิดีโอโฆษณา
Beam Wong

ธนาธย์ รสานนท์ (พีท)
โปรดิวเซอร์ด้านดนตรี นักดนตรีและดีเจ ร่วมสร้างโปรเจกต์ blozxom ที่ค้นคว้า พัฒนา  ผลิตผลงานกับเพื่อนจากพื้นที่สร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไป รวมถึงแลกเปลี่ยนและแนะนำเพื่อนๆ จากเมืองต่างๆ ในโลกที่สร้างสิ่งที่น่าสนใจ น่าค้นหา หรือแปลกใหม่
blozxom

ศรัณย์รัชต์ สีลารัตน์ (ฟ้า)
ดีเจ และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-SOLID ในขณะเดียวกันก็กำลังใช้ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ที่เรียนมาช่วยส่งเสริมและสร้างสรรค์โปรเจกต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และซีนเพลงเต้นรำ Co-SOLID เป็นคอมมูนิตี้ของคนคลั่งไคล้เพลงเต้นรำ ที่ตั้งใจว่าจะนำพาเพลงอิเล็กทรอนิกส์ สื่อสารออกไปให้ไกลและเข้าถึงผู้คนได้อย่างหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
Co-SOLID

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง (เดื่อง)
ศิลปิน นักดนตรี และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นำเสนอผลงานที่ไม่ยึดติดกับเทคนิคและสื่อด้วยวิธีการที่ทั้งเสียดสีและมีอารมณ์ขัน เกี่ยวกับเรื่องของประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมป๊อป เขาเริ่มทำดนตรีจากความสนใจในปฏิกิริยาของการฟังที่หล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และมักจะทำเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ทางการเมือง การสร้างดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และเสียงจากเครื่องดนตรีและวัฒนธรรมท้องถิ่น
Iconoclaster
pisitakun.bandcamp

พันแสน คล่องดี (แคน)
จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นนักร้องนำและมือกีตาร์ของวงดนตรีฟิวชั่น DOGWHINE ที่ทำร่วมกับสมาชิกอีก 4 คน (กษิดิศ เงินคงพันธ์ (ต๊อด), ณัฐวรรธน์ โชติวิจักขณ์ (ปั้น) สรวิศ อุทยารัตน์(แบงค์) และ ปราชญ์ ภคธารา (เฟิร์ส)) แคนมองว่าตัวเองเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีหน้าที่ในการ “พูด” และใช้เครื่องมือที่เรียกว่าดนตรี “พูด” ในสิ่งที่เขาเห็นว่าจำเป็นต้องพูด
DOGWHINE

ภาพปกโดยธีรภาส ว่องไพศาลกิจ (เม้ง)

เรียบเรียงโดย นภิษา ลีละศุภพงษ์
พิสูจน์อักษรโดย กานต์ธิดา บุษบา