TOP PICKS! APRIL 2023

แนะนำสิ่งพิมพ์คัดสรรจาก BOOKSHOP LIBRARY จำนวน 9 เล่ม ประจำเดือนเมษายน ในเดือนนี้เรานำเสนอหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่อยู่ภายใต้แนวคิด “งานภาพถ่าย” ที่สะท้อนแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละเล่ม ชวนให้ผู้อ่านได้ค้นพบความหมายหรือมิติในงานรับชมงานภาพถ่ายที่ไม่เหมือนเดิม สอดคล้องไปกับนิทรรศการใหม่ของบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ Thru the Straits of Demos  โดยศิลปิน กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ที่พร้อมเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2566

The Naked Eye (2013) โดย ชาร์ลส์ ซาทชิ (Charles Saatchi) 

เรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้คือการนิยามภาพ “ไวรัล” ที่มาก่อนกาลในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ เพราะในเล่มบรรจุไปด้วยการรวบรวมภาพถ่ายที่ “กึ่งเหนือจริง” จากทั่วโลก ทั้งช้างกลับหัว เมฆลอยอยู่ในทางเดินพิพิธภัณฑ์ จระเข้งับชิ้นส่วนแขนมนุษย์ ภาพที่ดูผิดปกติแต่ล้วนเป็นของจริงทั้งหมดนี้ถูกนำเสนอควบคู่กับบทความที่ว่าด้วยเรื่องราวเบื้องหลังเหตุการณ์นั้นๆ ข้อเท็จจริง และประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ 

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเราในเวลาเปิดทำการ

Dialogues with Memory Objects (2018) โดย แพม วิรดา

หนังสือที่แพม วิรดา พาไปสำรวจ ‘ความทรงจำ’ ผ่านรูปแบบที่จับต้องได้มากที่สุดอย่างภาพถ่าย การเก็บสะสมอดีตด้วยภาพถ่ายที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้วางแผนมาก่อนนี้ได้รับการนำเสนอคู่กับเนื้อหาที่นำมาจาก The Book of Symbols หนังสือที่เป็นเหมือนกับพจนานุกรมของต้นแบบภาพของโลกในยุคโมเดิร์น ทำให้ผู้อ่านสามารถมีปฏิสัมพันธ์ในการจำแนกบทสนทนาระหว่างภาพและความหมาย เรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวม ปัจจุบันและประวัติศาสตร์ ความทรงจำส่วนบุคคลของวิรดา นำเสนอความบังเอิญที่ตรงกับต้นแบบที่เป็นสากลของภาพจาก The Book of Symbols ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นถึงความหมายเดียวกันหรือต่างกัน ผู้ชมในฐานะบุคคลที่ 3 จะตั้งคำถามกับรอยต่อที่ไม่ชัดเจนที่ร้อยเรียงหนังสือภาพเล่มนี้เข้าไว้ด้วยกัน

ราคา 700 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่

Excerpts Taken From Bangkok Real Estate Advertising (2016) โดย มิติ เรืองกฤตยา 

หนังสือบทกวีที่รวบรวมเอาคำโปรยโฆษณาที่พบได้ตามหัวมุมถนน ทำการถอดออกมาจากบริบทเดิมและเปลี่ยนให้กลายเป็นหนังสือบทกวีที่มีความหมายเพื่อสรรเสริญเมือง มิติ เรืองกฤตยา ศิลปินและช่างภาพได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการตั้งคำถามต่อตัวเองในฐานะช่างภาพที่เมื่อเห็นคำโฆษณาเหล่านี้แล้วเกิดความสนใจ ด้วย “ความเป็นเมือง” นั้นเป็นหนึ่งในประเด็นการทำงานของเขาอยู่เสมอ โดยนอกจากเนื้อหาแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับการจัดวางตัวอักษร การออกแบบ ตัวเลือกกระดาษและวิธีการพิมพ์ เพื่อนำเสนอรูปเล่มออกมาให้ดีที่สุดด 

ราคา 400 บาท สั่งซื้อได้ที่นี่ 

Collection angès b. (2008) โดย อานยาส เบ (angès b) 

อานยาส เบคือแฟชั่นดีไซเนอร์ นักสะสมงานศิลปะและเจ้าของแกลเลอรี่ ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์และผู้ที่มีความสนใจต่อภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมรวบความหลงใหลกว่า 30 ปีของเธอในรูปแบบของหนังสือภาพถ่าย นำเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปในสิ่งที่เรียกว่าการสร้างสรรค์และแวดวงศิลปะผ่านคอลเล็กชั่นงานศิลปะร่วมสมัยที่เธอรวบรวมไว้ เริ่มจากงานภาพภ่ายของศิลปินระดับโลกอย่าง Brassaï ไดแอน อาร์บัส (Diane Arbus) หรือเฮเลนน เลวิทท์ (Helen Levitt) ผลงานศิลปะสุดคลาสสิกและร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นวิลเลียม เอกเลสตัน (William Eggleston) แอนดี้ วอร์ฮอล์ ( Andy Warhol) จนถึงช่างภาพสตรีทอย่างมาร์ติน พารร์ (Martin Parr)

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเราในเวลาเปิดทำการ

Cindy Sherman: A Play of Selves (2008) โดย ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman)

ช่างภาพหญิงที่เป็นที่รู้จักจากการถ่ายภาพ self-portraits ที่นำตัวเองเปลี่ยนไปเป็นบุคคลต่างๆ ด้วยการแต่งหน้า เสื้อผ้า การแสดงละคร ไปจนถึงการสวมใส่อวัยวะเทียม ซินดี้ เชอร์แมน คือช่างภาพคนนั้นที่เป็นไอคอนแห่งยุคสมัย ผลงานของเธอตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของภาพถ่ายที่แสดงออกมาผ่านการฝืนธรรมชาติของการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพของผู้หญิงที่ได้รับการส่งเสริมผ่านสื่ออย่างรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และนิตยสารต่างๆ ว่าสิ่งที่เห็นนั้นมีค่าเท่ากับสิ่งที่เป็น ซึ่งไม่อาจเป็นจริงเสมอไป หนังสือ ‘A Play of Selves’ ประกอบด้วยภาพถ่าย 72 ชุด ในรูปแบบงานพิมพ์ขาวดำที่เธอนำตัวเองเป็นแบบในการจัดฉากเพื่อถ่ายภาพ แสดงเป็นตัวละครที่หลากหลายและเล่าเรื่องราวใหม่ในอย่างที่ต้องการ

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเราในเวลาเปิดทำการ

So Present, So Invisible. Conversation on Photography (2018) โดย เดวิด คัมพานี (David Campany)

นักเขียนและภัณฑารักษ์  เดวิด คัมพานี เปิดวงสนทนาร่วมพูดคุยกับศิลปินระดับโลกกว่า 15 คนเกี่ยวกับขั้นตอนการสร้างสรรค์ที่หลากหลายและความสัมพันธ์ของพวกเขากับการถ่ายภาพ บทสนทนาเหล่านี้จึงมีความหมายมากกว่าการสัมภาษณ์ทั่วไป แต่เป็นการเปิดเผยความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างศิลปะกับการถ่ายภาพ การถ่ายภาพกับโลก และถ้อยคำกับความคิด อย่างที่เขาเขียนไว้ในบทนำของเล่มว่า “ไม่ว่าจะคุยยาวหรือสั้น การสนทนาเหล่านี้ก็เป็นแบบปลายเปิด ทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายไหนรู้ว่าเราจะไปที่ไหนหรือจะจบลงที่ใด นั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของการสนทนาเสมอ” 

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเราในเวลาเปิดทำการ

POEM 19 20 21

หนังสือเล่มใหม่ในซีรีส์โฟโต้บุ้คโดย กรกฤช เจียรพินิจนันท์ โฟโต้บุ๊คที่ได้ผสมผสานคุณสมบัติการสัมผัสจับต้องได้เข้ากับประสบการณ์การรับรู้ของผลงาน ทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมเพิ่มเติมอีกชั้น การจัดเรียงข้อความและรูปภาพของศิลปินประกอบด้วยภาพเหมือนบุคคลในสภาพแวดล้อม ภาพถ่ายทิวทัศน์ ภาพแคนดิด และภาพถ่ายสเตจด์  เผยให้เห็นเรื่องราวของสวนลุมพินี การเดินทางสู่คอคอดกระ และชีวิตประจำวันท่ามกลางความเหนื่อยหน่ายของการปิดเมืองในช่วงของการแพร่ระบาด 

ราคา 2,000 บาท สั่งซื้อ POEM 19, POEM 20 และ POEM 21 ได้ที่นี่