[BM] 09

Unnatural Natural Reasons about Sex: เพศและเหตุผล

POSTED ON 29.05.2021


IN CONVERSATION—

มุกดาภา ยั่งยืนภารดร นภิษา ลีละศุภพงษ์

 

หฤษฏ์ ศรีขาว อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม

 | 

TH

  

“แท้จริงแล้วคำว่าชีววิทยา ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ แล้วก็ไม่เกี่ยวกับภาวะการดำรงอยู่เชิงอัตวิสัยด้วย หากแต่พัวพันอยู่กับสภาพ ปัจจัย และกิจกรรมต่างๆ ที่รายล้อมสรรพชีวิต ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนเอาคำว่าชีววิทยามาใช้เพื่อลดทอนตัวตนของคนข้ามเพศและบรรดาผู้ปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศว่าเป็นพวก ‘ปลอมเปลือก’ ในขณะที่คนอื่นๆ นั้น ‘เป็นธรรมชาติ’ เอาเข้าจริงแล้ว กระบวนการที่เกิดขึ้นคือกลเม็ดอันคารมคมคายในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบรรทัดฐานทางสังคมบางอย่าง […] นี่ไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจในสังคมล้วนๆ”

ข้อความด้านบนมาจากจากหนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) ผลงานแปลของมุก — มุกดาภา ยั่งยืนภารดร ที่แปลจากต้นฉบับของ อลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) เกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชายจริงหญิงแท้ และมายาคติที่ฝังอยู่ในโครงสร้างอำนาจในสังคม มุกเป็นบรรณาธิการภาคภาษาไทยของสำนักพิมพ์ซอย และเป็นเจ้าของโปรเจกต์หนังสือแปลชุด ‘พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย’ ที่จะตีพิมพ์หนังสือที่ช่วยทลายระบอบปิตาธิปไตยในสังคมไทย สนใจวรรณกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ทำให้มุกเลือกเรียนต่อเฉพาะทางเกี่ยวกับ Gender Studies มุกเป็นคนแรกที่เรานึกถึงและอยากจะชวนคุยในแมกกาซีนฉบับนี้ เพราะข้อความในหนังสือนี้เองที่ทำให้เรานึกถึงคำถามที่เราเคยโต้ตอบในชั้นเรียนสนทนาภาษาอังกฤษกับคุณครูเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ เขาตั้งคำถามกับเราว่า ทำไมถึงคิดว่ามีแค่เพศชายและเพศหญิงเท่านั้นที่เป็นเพศตรง ‘ตามธรรมชาติ’? ทำไมความสามารถในการให้กำเนิดถึงเป็นข้อกำหนดเดียวที่เพียงพอแล้วในการตัดสินว่า มีเฉพาะเพศคู่ตรงข้ามนี้เท่านั้นที่ถือเป็นเพศ ‘ตามธรรมชาติ’?

เรื่องของความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นที่เราอยากคุยกับคนอื่นๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนจากกลุ่ม LGBTQ+ รุ่นใหม่ๆ ตอนที่เห็นภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ทจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM เมื่อปี 2563 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเพิท — หฤษฎ์ ศรีขาว และบีม — อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม ทำให้เราคิดว่าอยากร่วมงานกับพวกเขามาตั้งแต่ตอนนั้น ภาพนายแบบใส่ชุดยูนิฟอร์มตำรวจภายใต้ฉากอีโรติกชายรักชายท่ามกลางการบรรยากาศแฟนตาซี เป็นภาพที่เราไม่คุ้นเคยโดยสิ้นเชิง มันเชื้อเชิญให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพแทนของเกย์ และภาพแทนของความเป็นชายในสังคมไทยที่ยังคงติดอยู่ภายใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เพิทเองในฐานะศิลปินและช่างภาพ สนใจเรื่องของอัตลักษณ์และพิธีกรรมที่ถูกใช้ในการควบคุมสังคมมาโดยตลอด ส่วนบีมก็สนใจการโปรโมทกรุงเทพฯ ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ผ่านโปรเจกต์ IWANNABANGKOK© มาตั้งแต่ปี 2558

บทสนทนาในฉบับนี้จึงเป็นการร่วมพูดคุยระหว่างเรา มุก เพิท และบีม เกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติ และไม่เป็นธรรมชาติในเรื่องเพศ ความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศในสังคมและวัฒนธรรม ผ่านเรื่องของภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ยูนิฟอร์ม ซีรีส์วาย มานุษยวิทยา และวรรณกรรม ที่เราแบ่งออกเป็นหกตอนคือ เพศ ธรรมชาติ วัฒนธรรม, แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน และ ฝันเปียกกรุงเทพฯ, ซีรีส์วาย (ไอตัววุ่นวาย), ความผิดบาปของการมีเซ็กส์, จากเล้าเป็ดถึงรางวัลซีไรต์ และ All About Love


เพศ ธรรมชาติ วัฒนธรรม


นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน) —
คิดยังไงกับคำว่าเป็นธรรมชาติ หรือไม่เป็นธรรมชาติ ในเรื่องของเพศกำเนิด (sex) กับเพศสภาพ (gender)

มุกดาภา ยั่งยืนภารดร (มุก) — พูดในทางภาษาศาสตร์ คำว่า nature มีรากมาจากคำละติน natus แปลว่าการเกิด (birth) จากนั้นก็ขยับมาเป็น natura ที่หมายถึงความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ลักษณะโดยทั่วไป จักรวาล ซึ่งมันสื่อรวมๆ ถึง ‘สิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด’ แต่สิ่งนี้เองที่เป็นข้อถกเถียงของนักปรัชญาหลายๆ คน ว่าจริงๆ คนเราเกิดมาเป็นเป็นผืนผ้าสีขาวว่างเปล่า หรือเกิดมาพร้อมคุณลักษณะนิสัยบางประการเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

เราเคยอ่านงานชื่อ Is Female to Male as Nature is to Culture? (2517) ของเชอร์รี่ บี. ออร์ตเนอร์ (Sherry B. Ortner) ที่พยายามสำรวจหลักฐานแบบเป็นสากล ว่าอะไรทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายมีแนวโน้มในการทำกิจกรรมต่างๆ ต่างกัน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการบอกว่าการให้นมของผู้หญิงเป็นกิจกรรมตามธรรมชาติ แต่เรื่องของศาสนา ปรัชญา หรือศิลปะ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นของผู้ชาย ส่วนตัวรู้สึกว่ามันแคบเกินไปที่จะเอาคำว่าธรรมชาติไปผูกอยู่กับกิจกรรมของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว เรามักจะเอาทัศนะของมนุษย์ใส่ลงไปเวลาพูดถึงคำว่าธรรมชาติ ซึ่งมันพัวพันอยู่กับวิธีที่เราคิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับโลก และการที่โลกมีปฏิสัมพันธ์กับเรา การแบ่งเส้นระหว่างบทบาทที่เป็น ‘ธรรมชาติ’ กับ ‘วัฒนธรรม’ แบบนี้จึงเป็นการแบ่งขั้วทวิลักษณ์แบบผิดๆ (false binary) เพราะความหมายมันโอนย้ายถ่ายเทกันไปมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 

การแบ่งบทบาททางเพศโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็คือการควบคุมประชากรของรัฐเพื่อตอบสนองทุนนิยม ภาพโมเดลสุดคลาสสิกของคนขาวในสังคมตะวันตกที่ผู้ชายทำงานนอกบ้านส่วนผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกก็คือแนวคิดแบบปิตาธิปไตยนั่นแหละ ซึ่งมันไปตอกย้ำตำแหน่งแห่งที่ของลำดับชั้นทางสังคม การเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงานจากการออกไปทำงานนอกบ้าน ไปอยู่ในแวดวงชนชั้นปกครอง เช่นไปเป็นผู้ออกกฎหมาย ไปอยู่ในสภา ไปเป็นผู้นำประเทศ อำนาจในการออกนโยบายก็ตกเป็นอำนาจของผู้ชาย ซึ่งไปกำกับวิถีชีวิตของคนในสังคมให้ติดอยู่ใต้เลนส์แบบเดียว 

ส่วนตัวเราคิดว่าคำว่าธรรมชาติเองไม่ได้บริสุทธิ์ เพราะมันเปื้อนอิทธิพลอันเป็นผลจากชีวิตทางสังคมของมนุษย์ เลยไม่ค่อยเชื่อเวลาบอกว่าอะไรเป็นไปโดยธรรมชาติเท่าไหร่


แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน
และ ฝันเปียกกรุงเทพฯ


หฤษฎ์ ศรีขาว (
เพิท) — ผมเพิ่งอ่าน แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน ที่มุกแปลไปครึ่งเล่ม ชอบมากๆ รู้สึกว่าน่าจะดีถ้าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กประถม มันน่าจะช่วยหลายๆ คนได้ ช่วงมัธยมหรือมหาลัยฯ ผมมีความต้องการที่จะนิยามเพศของตัวเอง แนวคิดของฟูโกต์ (มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)) เรื่องการประกอบสร้างของหญิงชายมันช่วยผมได้มากเลย ผมอ่านมันจากหนังสือ เพศ (เพศ:จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ (2559)) ของอาจารย์ธเนศ (ธเนศ วงศ์ยานนาวา) ที่พูดถึงการใช้เรื่องเพศมาควบคุมสังคม เช่นหลายสังคมในยุคก่อนสมัยใหม่ มีการใช้กิจกรรมทางเพศในฐานะพิธีกรรมในการก้าวผ่านจากเด็กชายไปสู่ชายหนุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องทางธรรมชาติ หรืออย่างในแซมเบีย (Sambia) ที่เด็กอายุประมาณเจ็ดถึงสิบขวบต้องดื่มน้ำอสุจิของผู้ใหญ่ทุกคืน จนพวกเขาอายุประมาณสิบสี่ถึงสิบหก วัยที่สามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้ถึงจะหยุดดื่ม เพราะพวกเขามีแนวคิดว่าน้ำอสุจิจะทำให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ มันคือการเชิดชูอำนาจความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ของแท้ หรือในสังคมจีนเองก็เพิ่งมาซีเรียสกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงมากขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งในหนังสือของอาจารย์ธเนศตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์แบบนี้พอรับได้ในจีน ตราบใดที่มันไม่มากระทบอำนาจนำของผู้ชาย 

อีกอย่างที่ผมสนใจในหนังสือของมุกคือเรื่องของการเติบโต ตอนเด็กเราใส่กระโปรงได้เพราะคนมองว่าเป็นแค่การละเล่น แต่พอโตแล้วเราทำแบบนั้นไม่ได้ เรื่องเพศกับการเติบโตตามธรรมชาติคืออะไร เส้นแบ่งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่คืออะไร ทำไมตอนเด็กผู้ชายจับมือกันได้ แต่โตมาแล้วทำไม่ได้


รูป 1 — แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) (2564) แปลโดยมุกดาภา ยั่งยืนภารดร จากต้นฉบับของอลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon) เกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชายจริงหญิงแท้ และมายาคติที่ฝังอยู่ในโครงสร้างอำนาจในสังคม


รูป 2 — เพศ:จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ (2559) โดยธเนศ วงศ์ยานนาวา ตั้งคำถามกับความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สัมพันธ์กับเรื่องศีลธรรม จริยธรรม และการที่เรื่องเพศที่ถูกใช้ในการควบคุมสังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

มุก — ตอนที่แปลเล่มนี้ก็กลับมาตกตะกอนว่าประเด็นเรื่องการเติบโตเป็นสิ่งที่คับแคบในความคิดของเราตอนเด็กเหมือนกัน เพราะถูกบรรทัดฐานทางสังคม คำพูดของผู้ใหญ่ หรือคนรอบตัวกำกับว่าเราควรจะต้องเติบโตไปเป็นแบบไหน เราอยากให้ทุกคนรู้และโอบรับการเติบโตในแบบอื่นๆ อาจจะต้องมาจินตนาการคำว่า ‘การเติบโต’ กันใหม่ ถามว่าถ้าไม่ใช่การเติบโตจาก a ไป b แต่เป็น a ไป c ได้มั้ย เส้นทางของการเติบโตไม่ใช่การกระโดดจากจุดนึงไปอีกจุด มันคือการค่อยๆ เดินไปและพบเห็น จดจำ โอบรับสิ่งรายล้อมข้างทาง ซึ่งจริงๆ แล้วนี่เป็นประเด็นของกลุ่มทรานส์ (trans) ด้วย เวลาเราเรียกคนข้ามเพศแบบนี้ มันมีนัยยะของการพลิกจากหนึ่งไปเป็นอีกหนึ่ง แต่จริงๆ ความเป็นทรานส์มันไม่ใช่การพลิก แต่เป็นการค่อยๆ สั่งสมวิธีการแสดงออก (expose) ตัวเองแบบต่างๆ แน่นอนว่าจินตนาการถึงตัวตนแบบนี้เป็นอะไรที่สำคัญ แต่คนไม่ค่อยนึกถึงอัตลักษณ์ในแง่นี้เท่าไหร่ เรามักจะมองไปที่จุดหมายปลายทางว่าเขา ‘ข้ามเพศ’ ไปเป็นเพศอะไร แต่ไม่ได้ย้อนกลับไปดูมากนักว่าเส้นทางที่ผ่านมาของเขามันคืออะไรและเป็นยังไงบ้าง ซึ่งมันอาจจะเผยให้เห็นอะไรที่สำคัญมากไม่แพ้กันเลย

อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม (บีม) — เราว่าแต่ละคนให้ความหมายเกี่ยวกับเพศไม่เหมือนกัน ล่าสุดเราดูข่าวคนนึงที่เป็นเกย์ เขาโดนผู้หญิงเรียกว่าเป็นข้ามเพศ ถึงมันจะสุภาพ แต่คนๆ นั้นกลับไม่แฮปปี้ เรารู้สึกว่าความหมายของแต่ละคนที่รู้สึกกับตัวเองไม่เหมือนกัน เรารู้สึกว่าคำที่ใช้เรียกเพศอาจจะยังไม่พอด้วยซ้ำไป เพราะความต้องการแต่ละคนมันเยอะมาก

ยีน — ในอินสตาแกรมของ IWANNABANGKOK© แต่ละคนให้ความหมายต่อเพศตัวเองผ่านการแต่งตัวและการแสดงออกหลากหลายมากจริงๆ ซึ่งสำหรับเรามันเป็นภาพแทนของคนรุ่นใหม่มากๆ วัยรุ่นในเจเนอเรชั่นซี (z) ไม่ได้สนใจการแบ่งแยกเพศขนาดนั้น 

บีม — สำหรับ IWANNABANGKOK© มันเป็นการเอาวัยรุ่นมาโปรโมทกรุงเทพฯ เราไม่ได้ย้ำประเด็นเรื่องเพศ แทบไม่ได้พูดถึงเลย หลายคนบอกว่าแบรนด์เราเป็น LGBTQ+ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้น เราหมายถึงทุกๆ คน


รูป 3 — สกรีนชอตจากอินสตาแกรมเพจ IWANNABANGKOK©

ยีน — ถึงจะไม่ได้พูดเป็นหลักใน IWANNABANGKOK© แต่ใน BANGKOK WET DREAM ค่อนข้างชัดเจนและจริงจังขึ้นเรื่องเพศใช่มั้ย?

บีม — ใน BANGKOK WET DREAM เราสนใจโฮโมอีโรติก (homoerotic) แล้วก็ยูนิฟอร์ม มันพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เริ่มต้นจากยูนิฟอร์มตำรวจ มาเป็นชุดลูกเสือ ชุดนักเรียน ตอนนั้นช่วงเวลาที่ปล่อยมันออกมามันไปประสบกับช่วงที่มีประท้วง ซึ่งมีเรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และนักเรียนเลวที่ออกมาพูดเรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียนพอดี


รูป 4 — ภาพจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM

เพิท — จริงๆ ตอนทำ BANGKOK WET DREAM มันสะใจดี เพราะภาพความเป็นชายในสังคมไทยมันแข็งทื่อมาก ผมแค่หมั่นไส้ อยากทำลายมัน เอาจริงๆ ผมสนใจภาพรวม ยกตัวอย่างหนัง Call Me by Your Name (2560) ที่หนังมันดูได้ทั้งชายหญิง และทุกคนสามารถที่จะชื่นชมมันได้ ผมคิดว่าผมอยากจะให้ภาพถ่ายความเป็นชายมันสามารถถูกชื่นชมได้ ภาพโฮโมอีโรติก เป็นภาพที่เวลาผู้ชายดูอาจจะยังเคอะเขิน ผมคิดว่าเป้าหมายของผมคือการสร้างภาพแทนของเกย์ที่ไม่ต่างกับภาพแทนของชายหญิง ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมันมีภาพของเกย์แบบคนรุ่นก่อน และมันแคบไป

ยีน — ตอนเห็น BANGKOK WET DREAM ครั้งแรกทำให้นึกถึง Tom of Finland อยู่เหมือนกัน ที่เป็นภาพวาดแนวอีโรติกของเกย์ในชุดเครื่องแบบรัดรูปที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุคเจ็ดศูนย์ เรื่องชุดตำรวจเราคิดว่าอิมแพคมาก แล้วชุดยูนิฟอร์มอื่นๆ ที่วางแผนไว้ว่าจะใช้อีกมีอะไรบ้าง

เพิท —​ คอนเซปต์คือทำให้สุดๆ ไปเลย ผมมองว่าผมจะทำทุกชุด ทำระยะยาว ทุกชุดที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมไม่รู้ว่ามันแอบเชยไปมั้ย ต่างประเทศทำเยอะแล้ว แต่เราก็อยากทำให้เกิดในไทย ผมก็อยากรู้ว่ามันจะพ้นไปจากนี้ได้ยังไง


รูป 5 — Tom of Finland เป็นผลงานภาพวาดแนวอีโรติกระหว่างชายชายของทอม (Tom) หรือ ตูก้า วาลิโอ ลาคโซเน็น (Touka Valio Laaksonen) (2463-2534) ศิลปินชาวฟินแลนด์ เขาเข้าร่วมเป็นทหารกับกองทัพของฟินแลนด์ (ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายนาซี) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพวาดของเขาได้แรงบันดาลใจจากชุดยูนิฟอร์มของทหารและเรือนร่างของผู้ชายในชุดหนัง เกิดข้อถกเถียงว่าผลงานของทอมเป็นการเชิดชูภาพของอำนาจนิยม หรือลดความศักดิ์สิทธิ์ที่มากับภาพจำของยูนิฟอร์มที่มีความเป็นชายแท้กันแน่ อย่างไรก็ตามผลงานของเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในสหรัฐอเมริกา และเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาราวทศวรรษที่ 1970 Tom of Finland กลายเป็นภาพอัตลักษณ์ของเกย์ในศตวรรษที่ 20 และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของกลุ่ม LGBTQ+

ยีน — ตอนเห็นชุดลูกเสือทำให้เรานึกถึงการก่อตั้งลูกเสือของรัชกาลที่ 6 แล้วก็เรื่อง นายใน (“นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 (2556)) 

มุก — เรื่อง นายใน เป็นการตีแผ่ให้ฟังถึงชีวิตความเป็นอยู่ของข้าหลวงผู้ชายฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่ 6 เช่นเรื่องที่มีการสร้างตำหนักให้กับคนที่ทรงโปรดมากๆ บางคนบอกว่ามันเป็นข่าวลือเล็กๆ ในราชวงศ์ แต่เราไม่ชอบที่จะให้เรียกแบบนั้น เพราะมันจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องผิดบาป 

บีม — ตอนที่ทำเราไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นนะ แค่มันเป็นยูนิฟอร์มที่น่าสนใจ ถ้าเทียบกับชุดนักเรียนชายทั่วไป เราสนใจในความเป็นคอสตูมของมัน


รูป 6 — ภาพจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM


รูป 7 — กองเสือป่าก่อตั้งขึ้นในปี 2454 โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็กพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีลักษณะคล้ายทหารรักษาดินแดนของอังกฤษ (Territory Army) เป็นอาสาสมัครที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศในขณะที่ทหารออกไปรบ เครื่องแต่งกายของเสือป่ามีรายละเอียดคล้ายเครื่องแบบทหารเสือฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13-14 เช่นการสวมกางเกงขี่ม้า หรือกางเกงขาสั้นแล้วสวมถุงเท้าดำยาวถึงเข่า มีริบบิ้นปล่อยชายห้อยด้านข้าง สวมหมวกสักหลาดปีกกว้างพันรอบด้วยริบบิ้นลายเสือและปักขนนกสีขาว ส่วนเครื่องแต่งกายของเด็กชายลูกเสือ ใช้รูปแบบที่มาจาก The Boy Scouts Association ของบาเดน-เพาเวลล์ (Baden Powell) ผู้ก่อตั้งลูกเสือในอังกฤษ เป็นเสื้อเชิ้ตคอปกสีกากี กางเกงขาสั้น ถุงเท้ายาวถึงเข่า หมวกสักหลาดปีกกว้างคาดเชือกใต้คาง และผ้าผูกคอที่มีสัญลักษณ์ของหมู่กองที่ลูกเสือนั้นสังกัด (อ้างอิง https://www.gqthailand.com/style/article/boy-scouts-and-the-wild-tigers / https://scoutsmarts.com/scout-uniform-history-and-importance/)




ซีรีส์วาย (ไอตัววุ่นวาย)


มุก —​
ปัญหาเรื่องความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศหรือโฮโมโฟเบีย (homophobia) เป็นวิธีคิดของความเป็นชายที่มันแข็งมากๆ วิธีที่จะทลายสิ่งเหล่านี้ต้องทำไปพร้อมๆ กับสร้างการรับรู้ ไม่ว่าจะผ่านศิลปะ ภาพถ่าย วรรณกรรม ความจริงความเป็นชายหญิงมันลื่นไหลได้มากกว่านั้น มันทำให้นึกถึงภาพของเกย์ในไทยที่ค่อนข้างติดกรอบจากการผลิตซ้ำภาพในสื่อกระแสหลัก พวกซีรีส์วายต่างๆ ถึงจะบอกว่ามันสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และให้ภาพในเชิงบวกกับ LGBTQ+ แต่เราไม่แน่ใจเพราะมันก็ยังอยู่ในกรอบและเส้นเรื่องที่จำกัดอยู่ดี แทนที่จะทำให้สังคมยอมรับได้มากขึ้น กลายเป็นการไปตีกรอบให้การแต่งตัวและการแสดงออกบางแบบเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับ ซีรีส์หลายเรื่องมันผลิตซ้ำภาพจำที่ไม่สร้างประโยชน์กับคนใน LGBTQ+ คอมมูนิตี้เลย เราต้องการคนทำสื่อที่เข้าใจ ไม่ก็มีประสบการณ์ตรง ส่วนใหญ่มันยังเป็นสายตาของคนนอกที่มองเข้าไปอยู่

บีม —​ เราคิดว่าซีรีส์วาย มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้หญิง ภาพเกย์ในซีรีส์มันคนละเรื่องกับเกย์จริงๆ เคยดู POSE (2561-2564) มั้ย อันนั้นทำเพื่อสะท้อนสังคมจริงๆ มันเป็นซีรีส์เกี่ยวกับ LGBTQ+ ในปี 2530 ในนิวยอร์ก เนื้อหามันน่าชื่นใจ


รูป 8 — POSE (2562-2564) เป็นซีรีส์มิวสิคัลแนวดราม่าเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ+ ในปี 2530 ในนิวยอร์ก ตัวละครหลักเป็นสาวข้ามเพศที่สร้างคอมมูนิตี้ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Ball Culture ที่กลุ่ม LGBTQ+ จะมารวมตัวกันเพื่อแข่งขันเต้นรำหรือทำการแสดงต่างๆ ด้วยคอสตูมแดรก (Drag)

ยีน — เพิ่งได้ดู Happiest Season (2563) มันเป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้เกี่ยวกับเลสเบี้ยนที่มีปัญหาเรื่องเปิดเผยตัวตนกับครอบครัว เราว่าในซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศมันช่วยสื่อสารประเด็น LGBTQ+ ได้มีประโยชน์ดี


รูป 9 — Happiest Season (2563) เล่าถึงคู่เลสเบี้ยน ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการการเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวหัวอนุรักษ์นิยม ในขณะที่ต้องไปเยี่ยมบ้านเกิดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ยีน — ส่วนเรื่องวาย เราเคยฟัง The Daily Topics ตอน วาย101 ที่คุณอรรถ บุนนาค มาเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมวาย ซึ่งมันน่าสนใจดีเหมือนกันนะ และมันยาวนานกว่าที่คิด และจำได้ว่าดูอีกตอนนึงของอาจารย์วาสนา (วาสนา วงศ์สุรวัฒน์) เกี่ยวกับการผลิตซีรีส์วายในไทยที่มันเพิ่มมากขึ้น ส่วนนึงมาจากที่จีนในช่วงประมาณปี 2559 เซ็นเซอร์ฉากเลิฟซีนในซีรีส์วายที่ผลิตในประเทศ คนจีนเลยมุดวีพีเอ็น (vpn) ออกมาดูซีรีส์ไทยกันเยอะ เพราะมีฉากที่น่าตื่นเต้นมากกว่า

มุก — ด้วยความที่จีนมันใหญ่ และประชากรบนอินเทอร์เน็ตเขาแอคทีฟมาก เขาหาทางซอกแซกออกมาดูได้ เราว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจดี มองในเชิงการเมืองระหว่างประเทศได้ด้วย การที่ไทยทำสื่อ LGBTQ+ เยอะทำให้ดูเป็นมิตรกับเพศหลากหลาย ดูเกย์เฟรนด์ลี่ แต่จริงๆ แล้วสังคมเรายอมรับความหลากหลายทางเพศได้แค่ไหน เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไขมั้ย คนยังมีอคติบางอย่างอยู่มั้ย รัฐพร้อมที่จะโอบรับสิทธิเสรีภาพของคนที่มีความหลากหลายทางเพศผ่านนโยบาย หรือกฎหมายต่างๆ มากน้อยแค่ไหน ในญี่ปุ่นเองถึงแม้จะผลิตสื่อที่เรียกว่า Boy’s Love หรือ BL ออกมาเยอะมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นจริงๆ กับกลุ่มคนเหล่านี้มันต่างกันเลย 

บีม — BANGKOK WET DREAM ส่วนนึงก็มาจากการล้อเลียนซีรีส์วาย อย่างชื่อตัวละครในภาพที่เราทำออกมาก็มีชื่อสารวัต ซึ่งมันเป็นชื่อตัวละครจากซีรีส์ที่ดังมากตอนนั้น (2gether: The Series (เพราะเราคู่กัน) (2563)) แล้วก็จะเรียกตัวเอกอีกตัวว่าตัววุ่นวาย ถึงภาพมันจะออกมาดูแรงในงานของเรา แต่เราอยากให้คนมองมันเหมือนหนังวาย ให้มันน่ารัก ให้ฟีลแบบคนดูซีรีส์วาย

มุก — ยูนิฟอร์มตำรวจมันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจนิยมด้วยแหละ พอมันมีความไวลด์ผสมกับอีโรติกมันอาจจะดูแรง แต่มันก็ดึงดูดตาน่าสนใจและชวนให้หยุดดู


รูป 10 — 2gether: The Series (เพราะเราคู่กัน) (2563) เป็นซีรีส์แนวโรแมนติกดราม่าของสองตัวละครหลัก ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจนเกิดกระแสคู่จิ้น และ #คั่นกู ขึ้นอันดับหนึ่งทวิตเตอร์ในทุกคืนที่ออกอากาศ


ความผิดบาปของการมีเซ็กส์


เพิท — ในงาน BANGKOK WET DREAM อีกอย่างที่ผมสนใจมากก็คือเรื่องการมีเซ็กส์ ที่ถูกเอามาแทนความหมายแบบลบ การแสดงออกเช่นการเลียรองเท้า หรืองานของวสันต์ สิทธิเขต ที่เอานักการเมืองมาเย็ดกัน บางทีมันเก่า และผมก็แค่รู้สึกว่าเวลาคนพูดถึงการเมือง ทำไมต้องใช้เรื่องการมีเซ็กส์เป็นภาพแทนของสิ่งที่ไม่ดี ไม่สุภาพด้วย ทำไมการจูบกันมันถึงผิด

มุก — ตรงนี้กลับมาตั้งคำถามเรื่องธรรมชาติได้อีก ทั้งๆ ที่คนชอบบอกว่าเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่กลายเป็นว่าในสังคมปัจจุบันมันเป็นหัวข้อต้องห้าม เกิดการใส่คุณสมบัติไม่ดี ความร่าน ความแพศยา พ่วงไปกับการมีเพศสัมพันธ์ และยังถามได้อีกว่าท้ายที่สุดแล้วเซ็กส์หลุดออกจากธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน เมื่อเราเอาความชอบหรือสิ่งเร้าอารมณ์ต่างๆ ไปผูกกับเซ็กส์ อย่างเรื่องเลียรองเท้า เฟติช (fetish) ในการมีเซ็กส์ หรือความพึงพอใจรูปแบบอื่นๆ ในกิจกรรมทางเพศ


รูป 11 — ภาพจากโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM

บีม — เฟติชมันเป็นธรรมชาติมั้ย เช่นในหนังโป๊ก็มีหลายรูปแบบ

มุก — หรือว่าต้องโดนฉี่ใส่ เราว่ามันเยอะมากจริงๆ เราอาจจะตอบไม่ได้ว่ายังไง แต่ประเด็นคือไม่ไปตัดสินมากกว่า ถ้าพูดกันตามชีววิทยา เวลาเราบอกว่าธรรมชาติเต็มไปด้วยความหลากหลาย ถ้าอย่างนั้นเรื่องของรสนิยมทางเพศก็หลากหลายได้เหมือนกัน

เพิท — ความผิดในเรื่องการมีเซ็กส์ มันมาจากประวัติศาสตร์การควบคุมคนโดยใช้เพศเป็นเครื่องมือเยอะมาก

มุก — มันก็มีแนวคิดที่แยกความเป็นมนุษย์เป็นของสูงส่ง แต่การมีเซ็กส์เป็นของต่ำเหมือนกัน ส่วนนึงก็มีรากมาจากแนวคิดของชนชั้นสูงในยุคกลางในตะวันตกแหละที่เชิดชูความรักเหนือความสำราญจากการมีเพศสัมพันธ์ ในยุคที่ร่วมสมัยขึ้นมาก็เกิดความคิดที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านพิธีกรรมซึ่งรับรองโดยรัฐ อย่างการแต่งงานแล้วเท่านั้น แล้วมันยังเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการควบคุมประชากรด้วย อย่างในยุควิคตอเรียน การกำกับการสืบพันธุ์ทำให้ผู้หญิงชนชั้นสูงต้องรักษาพรมจรรย์ ต้องมีการใส่กางเกงในเหล็ก (chastity belts) เพื่อกันไม่ให้ช่วยตัวเองและไม่ให้มีอวัยวะเพศชายสอดใส่เข้ามาได้ มันเป็นหลักฐานที่ชัดมากๆ ว่าเรื่องเพศสัมพันธ์โดนสังคมกำกับควบคุมมาแต่ไหนแต่ไร

เพิท — นอกจากเรื่องเพศก็มีเรื่องของลำดับชั้นทางสังคมด้วย ที่ผมอ่านจากหนังสือของอาจารย์ธเนศ มันมีความผิดในเรื่องของการมีเซ็กส์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันในประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องความผิดระหว่างชนชั้น อย่างสังคมญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 17 ผู้ชายที่มักเป็นชนชั้นสูง เช่นกษัตริย์หรือภิกษุในนิกายเซน สามารถมีอะไรกับผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายก็ได้ แต่พวกผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือในสังคมกรีกโบราณที่โด่งดังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายด้วยกันเองการมีแนวคิดคล้ายๆ กับในญี่ปุ่น ผู้ชายที่มีสถานะสูงกว่าต้องเป็นฝ่ายกระทำเท่านั้น บทบาทของผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำที่ไม่เป็นไปตามลำดับชั้นทางสังคมจะถือว่าเป็นความผิด


จากเล้าเป็ดถึงรางวัลซีไรต์


ยีน —​
แล้วในแวดวงวรรณกรรมเป็นยังไงบ้าง ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นวรรณกรรมไทยที่พูดถึงประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเท่าไหร่?

มุก —​ ยังไม่พูดถึงวรรณกรรมเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในแวดวงวรรณกรรมในไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียถือว่าโตค่อนข้างช้า หนังสือถูกตีพิมพ์ออกไปก็ยาก แล้วรัฐก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องการเขียนมากเท่าไหร่ แถมจะเขียนอะไรสักอย่างยังต้องสอดรับไปกับการถามว่าคนอ่านอยากอ่านอะไร เรายกตัวอย่างซีไรต์ (S.E.A. Write) น่าจะชัดที่สุด ว่ากันตามตรงค่อนข้างมีกรอบในการยอมรับงานเขียนชิ้นไหนว่าเป็นวรรณกรรมควรค่าแก่การอ่าน เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดเดิมๆ มีอำนาจแบบเดิมๆ ทำให้ในแวดวงวรรณกรรมกระแสหลักมันไม่ค่อยมีคนผลิตงานที่พูดถึงความรักแบบอื่นนอกจากเรื่องความรักแบบชายหญิง งานเขียนนอกบรรทัดฐานความรักแบบชายหญิงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตมากกว่า นิยายชายรักชายในพื้นที่อย่างเล้าเป็ด, เว็บบอร์ด Dek-D, ธัญวลัย, Fiction Log หรือ readAwrite มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เลยพูดไม่ได้ว่าเราผลิตงานด้านนี้น้อย แค่หลักแหล่งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามขนบเท่านั้นเอง นักเขียนรุ่นใหม่ๆ เห็นแล้วว่าการพิมพ์หนังสือแบบดั้งเดิมกับสำนักพิมพ์ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะสื่อสารความคิดของพวกเขา พื้นที่ออนไลน์ยังทำให้งานเขียนถูกมองเห็นได้มากกว่าจนเกิดงานตีพิมพ์เอง (self-publish) เยอะขึ้นมาก หลายคนพบเจองานน้ำดีที่มีคุณภาพทั้งในแง่เนื้อหา ภาษา วรรณศิลป์ จากโลกออนไลน์ แถมมันยังให้ชื่อเสียงกับนักเขียนได้มากกว่าในแวดวงสิ่งพิมพ์ คิดว่าหนังสือจะไม่หายไปหรอก แต่อาจจะมีอะไรเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับการอุบัติขึ้นของคอนเทนต์ออนไลน์จำนวนมากด้วย


รูป 12 — Queer Publishing – A Family Tree Poster Edition (2562) เป็นโปสเตอร์ที่แสดงภาพของสิ่งพิมพ์เควียร์ตั้งแต่ปี 2423 จากโปรเจกต์วิจัยโดยเบิร์นฮาร์ด เซลล่า (Bernhard Cella) ภาพของสิ่งพิมพ์ที่เลือกมามุ่งเน้นไปที่ภาพที่สร้างอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตแบบเควียร์ งานตีพิมพ์เอง (self-publish) นอกกระแส ถูกใช้ในการสื่อสารโดยกลุ่มวัฒนธรรมย่อยมาอย่างยาวนาน และตื่นตัวมากในตะวันตกในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 ในรูปแบบของซีน ไม่ว่าจะเป็นซีนจากกลุ่มวงดนตรีพังก์ เฟมินิสต์ รวมไปถึงกลุ่ม LGBTQ+

มุก — มองไปที่แวดวงการศึกษา อย่างในโรงเรียนถ้ายังพูดถึงนิยายไทยที่เราได้เรียนกันก็มีอยู่ไม่กี่คน ถ้าไม่ใช่งานของเจ้า ก็อาจจะเป็นนักเขียนเก่ามาก อารมณ์ ว.วินัจฉัยกุล หรือ ทมยันตี ซึ่งมันก็ล้าหลังไปเยอะแล้ว ส่วนตัวคิดว่าน่าจะต้องเร่ิมหยิบจับงานใหม่มาให้เด็กเรียนมากขึ้น ถ้าจะบอกว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคม เราก็อยากเห็นพลวัตของงานเขียนไทยไปปรากฏในแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย

หนังสือนอกเวลาสมัยที่เราเรียนก็น่าจะเป็น อยู่กับก๋ง (2519) ฉันอยู่นี่…ศัตรูที่รัก (2501) เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (2515) ตอนนี้ไม่รู้เปลี่ยนไปอ่านอะไรกัน แต่สำหรับเราที่เคยได้อ่านมัน มันประเพณีนิยมมาก วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลของไทยในปัจจุบันน่าจะได้รับการเผยแพร่มาสู่วงการศึกษาบ้าง


รูป 13 — (จากซ้ายไปขวา) อยู่กับก๋ง (2519) โดยหยก บูรพา เป็นเรื่องราวของเด็กที่เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่กับก๋งที่อพยพมาจากจีน, ฉันอยู่นี่…ศัตรูที่รัก (2501) โดย ส. เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 6 เรื่องที่เล่าถึงวิถีชีวิตของเด็กและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (2515) โดยทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมในอดีตในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึง 7

เพิท —​ ช่วยแนะนำวรรณกรรมที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ให้หน่อยได้มั้ย

มุก — มีเล่มนึงของนักเขียนไทยที่ใช้นามปากกาว่า Moonscape ที่ชื่อ Blue Hour สมุดบันทึกกับแท่งถ่าน คิดว่าหนังสือแนววัยผู้ใหญ่ตอนต้น (young adult) ในโลกตะวันตกมีพูดถึงเรื่องตัวละครเอกที่เป็น LGBTQ+ เยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นแนวก้าวข้ามวัย (coming of age) อย่างที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างก็มี Simon vs. the Homo Sapiens Agenda (2558) ที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Love, Simon (2561) อีกเรื่องที่หลายคนชอบกันแต่ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านก็มี Aristotle and Dante Discover the Secret of the Universe (2555) 

ถ้าให้แนะนำภาพยนตร์ เราเห็นงานเชิงนี้เพิ่มขึ้นเยอะเหมือนกัน ตั้งแต่ Carol (2558), Portrait of a Lady on Fire (2562) หรือ The Half of It (2563) อะไรแบบนี้ ส่วนซีรีส์ที่ชอบมากๆ ที่พูดถึงประเด็น LGBTQ+ ได้ดีมากๆ น่าจะเป็น Sex Education (2562-ปัจจุบัน) กับเรื่อง POSE (2561-2564) ที่บีมก็ชอบ การที่สื่อทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์มันมีจำนวนเพิ่มขึ้น ก็อาจจะสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมได้เหมือนกัน จากที่เมื่อก่อนแทบไม่มี หรือถ้ามีก็เป็นไปในเชิงตอนจบไม่สมหวัง


รูป 14 — (จากซ้ายไปขวา) Simon vs. the Homo Sapiens Agenda (2558) โดย เบ็คกี้ แอลเบอร์ทาลลี (Becky Albertalli) นิยาย LGBTQ+ มีตัวละครเอกเป็นหนุ่มวัยรุ่นที่เป็นเกย์ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการเปิดเผยตัวตน การถูกกลั่นแกล้ง และการมีความรัก, Aristotle and Dante Discover the Secret of the Universe (2555) โดย เบนจามิน อาลีเร ซาเอนซ์ (Benjamin Alire Saenz) เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มสองคนที่เติบโตขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวในครอบครัวชาวละตินอเมริกัน ที่ค่อยๆ ทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคม


รูป 15 — Love, Simon (2561) ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ Simon vs. the Homo Sapiens Agenda (2558)


รูป 16 — Carol (2558) เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงสาวแต่งงานแล้วที่กำลังจะหย่าร้างกับสามีเพราะถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์กับเพื่อนสาว การหย่าร้างนำไปสู่ความสัมพันธ์ครั้งใหม่ และการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิของความเป็นแม่คืนมา


รูป 17 — Portrait of a Lady on Fire (2562) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของหญิงสาวคู่หนึ่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ฝ่ายหนึ่งเป็นจิตกรที่ได้รับการว่าจ้างให้มาวาดภาพของอีกฝ่ายซึ่งเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่กำลังจะถูกจับคลุมถุงชน


รูป 18 — The Half of It (2563) เป็นหนังแนวก้าวข้ามวัย ที่เกี่ยวกับการยอมรับตัวตนของตัวเองของตัวละครวัยรุ่นหญิงว่าชอบเพศเดียวกัน หลังจากถูกเพื่อนชายจ้างให้เขียนจดหมายรักให้กับผู้หญิงที่เขาแอบชอบ


รูป 19 — Sex Education (2562-ปัจจุบัน) ซีรีส์ที่พูดถึงเพศศึกษาผ่านตัวละครหลักที่เปิดให้คำปรึกษาเรื่องเซ็กส์ในโรงเรียนไฮสคูล และกลุ่มตัวละครวัยรุ่นเพศหลากหลาย ที่แต่ละคนค่อยๆ ค้นหาอัตลักษณ์และทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตนเอง เพื่อน คนรัก และครอบครัว

มุก — ขอย้อนกลับไปเรื่องวรรณกรรมในหลักสูตร มันยากที่คนในกระทรวงศึกษา หรือครูอาจารย์จะเอาเรื่องพวกนี้ไปสอน เพราะเขายังต้องทำความเข้าใจในการจะนำเสนอเรื่องพวกนี้กันอยู่เลย  เขายังต้องกลับไปรื้อความคิดเดิมๆ ว่าเขาไม่สามารถพูดเรื่องรักร่วมเพศในโรงเรียนได้เพราะจะเป็นการไปสนับสนุนให้เด็กไปเป็นเกย์ เราคิดว่าวัยรุ่นปัจจุบันเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายและถูกต้องได้มากกว่าด้วยซ้ำ เวลาเห็นเด็กออกมาประท้วงกันในม็อบหรือพูดถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การต่อต้านกฎระเบียบเรื่องการแต่งตัว เป็นหลักฐานว่าเขาสามารถใช้ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับมาเอามาตกผลึกทำความเข้าใจตัวตนของตัวเอง และสิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมือง และในฐานะมนุษย์ได้ดีขึ้น

ยีน — ช่วงนี้เห็นโรงเรียนหญิงล้วนออกมาแชร์กันเยอะมากเกี่ยวกับกฎระเบียบที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล พอพูดถึงโรงเรียนหญิงล้วน ทำให้นึกถึงเรื่องเลสเบี้ยน ส่วนตัวเรารู้สึกว่าพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนหรือทำความเข้าใจเลสเบี้ยนมันถูกพูดถึงน้อยกว่าเกย์  เราสงสัยว่าการแสดงออกแบบเป็นผู้ชายของเลสเบี้ยนบางกลุ่ม มันสวนทางกับทิศทางการเคลื่อนไหวที่พยายามจะทำลายระบบอำนาจนำที่มีชายเป็นใหญ่รึเปล่า และมันจริงรึเปล่าว่าการแต่งตัวและแสดงออกแบบผู้ชายของเขามันไปผูกโยงกับอำนาจแบบผู้ชาย ปัญหามันอยู่ที่เราไม่เข้าใจความต้องการของกลุ่มเลสเบี้ยนในสังคมจริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่พูดถึงกันน้อย มันถูกตีความและตัดสินจากพฤติกรรมภายนอกมากกว่า

มุก — ใช่ จริงๆ ไม่ใช่แค่ในไทย ในต่างประเทศด้วย พอพูดเรื่องโฮโมเซ็กส์ชวลแล้วมันไปยึดกับเพศแบบชายชายก่อน ก่อนจะรีเคลมเพื่อรวมเพศอื่นๆ เข้าไปด้วย

ยีน — แต่ในภาพรวม ดูเหมือนว่าทางเลือกของเพศสภาพ เพศวิถี LGBTQ+ และการยอมรับในสังคมโดยทั่วไปในประเทศไทยดูจะเปิดกว้าง ถ้าเทียบกับหลายประเทศในโลก ที่ถึงกับมีการใช้คำว่า against the law of nature ในกฎหมายที่ใช้เอาผิด กับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ใช่ชายหญิงตามเพศกำเนิด เช่นในอินเดีย หรือเลบานอน แล้วยังงี้เรายังจำเป็นที่จะต้องคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศกันอยู่มั้ย?

มุก — คิดว่าจำเป็นแน่นอน เราคิดว่าการยอมรับในไทยเกิดขึ้นในลักษณะที่เราเรียกว่าเป็น ‘การยอมรับแบบมีเงื่อนไข’ คืออยู่ภายใต้กรอบที่ค่อนข้างจำกัดกับภาพจำของเพศหลากหลายแบบนึง รวมถึงมีอคติหลบในที่ยังแฝงฝังอยู่ ถ้ามองกันตามกฎหมาย ไทยเราไม่มีบทลงโทษกระทำความผิดฐานเป็นเพศหลากหลายก็จริง แต่สิทธิเสรีภาพ อย่างเรื่องการแต่งงาน สวัสดิการคู่ชีวิต บริการทางสาธารณสุข และอคติที่สะท้อนออกมาตามแผนนโยบายต่างๆ มันก็ยังชัดมาก การผลักดันเรื่องเพศหลากหลายมันเลยไม่ใช่แค่การทำให้คนรับรู้แค่ว่า สังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศอยู่นะ แต่จะทำยังไงให้คนในสังคมรู้สึกว่านี่ก็เป็นประเด็นสำคัญในชีวิต  แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มของเพศหลากหลายก็ตาม

ก็เลยนำมาสู่หนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชายฯ ที่อยู่ในซีรีส์ พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย อยากให้มันเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ไปสะกิดอะไรในใจคนอ่าน คงไม่ใช่ว่าทุกคนจะไฟแรงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศทันทีหลังอ่านจบ แต่อย่างน้อยที่สุด การอ่านมันเชื่อมผสานชีวิตของเราเข้ากับชีวิตของคนเพศหลากหลายอย่างอลก หนังสือเล่มนี้แง้มประตูให้เราได้เห็นการโดนลิดรอนสิทธิหรือการตกเป็นเป้าของอคติด้วยเหตุแห่งเพศ การเริ่มจากการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสายตาของคนอีกคนที่มีหัวใจและมีชีวิตเหมือนเรา อาจจะนำไปสู่อะไรที่ยิ่งใหญ่ขึ้นก็ได้ ตั้งแต่การโอบรับและทำความเข้าใจมิติชีวิตอันแตกต่างหลากหลาย ไปจนถึงการให้การศึกษาและปรับปรุงนโยบายในระดับที่กว้างขึ้น เรายังอยู่ห่างไกลจากสังคมที่ยอมรับเพศหลากหลายได้โดยปราศจากเงื่อนไขอยู่ ถ้าถามเรานะ


All About Love


ยีน —
ตอนนี้หนังสือแปลจากโปรเจกต์ พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย ออกมาสองเล่มแล้วคือ แด่การผลัดทิ้งฯ กับ ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% (Feminism for the 99%) ต่อจากนี้จะเป็นเล่มอะไรอีกบ้าง แล้วนอกจากนี้มุกทำโปรเจกต์อื่นๆ ไปด้วยมั้ย

มุก — ตอนนี้ทำอยู่โปรเจกต์เดียวเลยคืออันนี้ ซึ่งตอนนี้ก็มาได้ครึ่งทางแล้ว กำลังปิดเล่มที่สามในซีรีส์ที่ชื่อว่า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด (The Promise of Happiness (2553)) ต่อจากนี้ก็จะเป็นเล่ม Trans* (2561) กับ All About Love (2561)

ทั้งห้าเล่มจะมีมวลใกล้เคียงกัน ทั้งหมดจะเป็นนักเขียนที่เราไม่ค่อยได้ยินชื่อนัก ทั้งคนผิวสี หรืออินเดียนอเมริกัน ซึ่งคนเหล่านี้ผลิตผลงานเกี่ยวกับเรื่องเพศออกมากันเยอะมาก สองเล่มแรกเป็นเล่มที่เราเคยได้อ่านอยู่แล้ว ส่วนเล่มที่สาม จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด (The Promise of Happiness) โดยซารา อาเหม็ด (Sara Ahmed) เกี่ยวกับการพยายามทำความเข้าใจ ‘ความรู้สึกมีความสุข’ ในสังคมปัจจุบัน โดยหยิบยืมความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เช่นประวัติศาสตร์สีผิวและอาณานิคม สตรีนิยม ทฤษฎีเควียร์ มาใช้เป็นเครื่องมือสำรวจเรื่องของความสุขที่ส่งผลต่อการกระทำและทิศทางการใช้ชีวิตของเรา ส่วนเล่มที่สี่ Trans* เป็นเล่มที่เรากับพี่เจน (ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ซอย) สนใจแนวคิดของนักเขียน แจ็ค ฮาลเบอร์สตัม (Jack Halberstam) ซึ่งเป็นนักเขียนทรานส์เม็น โดยในเล่มนี้เป็นเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทรานส์ ที่เปลี่ยนจากมุมมองว่าเป็นอาการทางจิตสู่มุมมองว่าเป็นเรื่องของความลื่นไหนทางเพศ เล่มสุดท้าย All About Love: New Visions เป็นงานเขียนของเบลล์ ฮุคส์ (Bell Hooks) เกี่ยวกับความรักในโลกสมัยใหม่ในแง่มุมต่างๆ ที่พยายามจะแยกตัวออกจากวิถีปฏิบัติของความรักในสังคมที่ยังอยู่ภายใต้แนวคิดปิตาธิปไตย


รูป 20 — ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% (Feminism for the 99%) (2564) แปลโดย อรชร ดำรงจิตติ จากผู้เขียน ชินเซีย อารุซซา (Cinzia Arruzza), ติถี ภัฏฏาจารย์ (Tithi Bhattacharya), แนนซี่ เฟรเซอร์ (Nancy Fraser) รวบรวมแถลงการณ์ของเฟมินิสม์กระแสใหม่ที่ต่อต้านทุนนิยม มุ่งเน้นแนวคิดเชิงสังคมนิยม และผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศโดยการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง


รูป 21 —​ (จากซ้ายไปขวา) The Promise of Happiness (2553) โดยซารา อาเหม็ด เกี่ยวกับการพยายามทำความเข้าใจ ‘ความรู้สึกมีความสุข’ ในสังคมปัจจุบัน, Trans* (2561) โดยแจ็ค ฮาลเบอร์สตัม เป็นเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทรานส์, All About Love (2561) โดยเบลล์ ฮุคส์ เกี่ยวกับความรักในโลกสมัยใหม่ในแง่มุมต่างๆ

ยีน — นอกจาก IWANNABANGKOK© กับ BANGKOK WET DREAM ตอนนี้บีมทำอะไรอยู่บ้าง

บีม — ตอนนี้ก็มีอีกโปรเจกต์ชื่อ bangkoknaughtyboo เป็นความร่วมมือกับ shapeshifteronline สร้างอินฟลูเอนเซ่อแบบเวอร์ชวลขึ้นมา ปีนี้ตั้งใจว่าจะโฟกัสสองโปรเจกต์นี้และทำมันออกมาให้ดีขึ้น ส่วน BANGKOK WET DREAM กำลังจะมีถ่ายเซ็ทใหม่ ซึ่งน่าจะออกมาในอีกสองสามเดือน ใช้ชื่อว่า ไอควายน้อย


รูป 22 — ตัวละครจาก bangkoknaughtyboo

ยีน — เข้าใจว่าโปรเจกต์ BANGKOK WET DREAM เกิดขึ้นก่อนที่เพิทจะไปเป็นศิลปินพำนักที่เบอร์ลิน ตอนไปเบอร์ลินไปทำอะไร แล้วตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

เพิท —​ ก่อนที่จะไปเบอร์ลิน นอกจาก BANGKOK WET DREAM ผมทำโปรเจกต์ของตัวเองด้วย งานก่อนๆ ของผมจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพถ่ายกับโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในไทย ผมไปถ่ายภาพเศษรูปปั้นปูนปลาสเตอร์ตัวเล็กๆ ที่ถูกใช้เป็นโปรโตไทป์ของรูปปั้นขนาดจริง ที่ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นของกษัตริย์ที่ช่างสิบหมู่ ความจริงผมตั้งใจที่จะหารูปปั้นที่ใช้ประดับพระเมรุของรัชกาลที่ 9 ผมสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างรูปถ่ายกับความจริง และรูปปั้นกับความจริง และสนใจในรูปปั้นที่ปั้นจากภาพสองมิติ เพราะมันมีองศาของข้อเท็จจริงที่จำกัด จริงๆ แล้วมันมีความเชื่อเกี่ยวกับการปั้นประติมากรรมว่าทำได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นๆ เสียชีวิต รูปถ่ายเลยเป็นสิ่งที่ใช้ในการอ้างอิงโดยประติมากร ซึ่งก็ต้องอาศัยจินตนาการด้วยส่วนนึง และสุดท้ายจินตนาการของนักปั้นก็กลายเป็นสิ่งแทนความจริง ผมรู้สึกว่าขั้นสุดยอดของภาพจำก็คือประติมากรรม มันเป็นภาพแทนลัทธิราชาชาตินิยมแบบเก่าจริงๆ

ตอนอยู่ที่ไทยผมศึกษาการปั้นหุ่นแบบศิลป์ พีระศรี ซึ่งมันสะท้อนแนวคิดชาตินิยมแบบอิตาลี แต่ตอนไปเบอร์ลิน ผมถึงเริ่มสนใจเรื่องร่างกาย และได้เจอกับรูปปั้นอีกตัวที่เรียกว่า Transparent Man ที่ทำขึ้นจากแก้วที่เผยให้เห็นตับไตไส้พุงด้านใน ผมขอเข้าไปถ่ายรูปที่ German Hygiene Museum ในเดรสเดน (Dresden) ที่จัดแสดงรูปปั้นพวกนี้ ผมสนใจในมิติด้านความงามของมันที่ไปโยงใยกับเรื่องการเมืองในประวัติศาสตร์กับเรื่องของร่างกายมนุษย์ เช่นร่างกายของนักกีฬาที่ต้องรับใช้ชาตินิยมโดยการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ในขณะเดียวกันผมก็พยายามที่จะจินตนาการไปถึงยุคสมัยข้างหน้าด้วย


รูป 23 — ภาพจากรีเสิร์ช Transparent Man

งานของผมใน BANGKOK WET DREAM กับงานส่วนตัวจะใช้คนละสำเนียง ผมมองว่า BANGKOK WET DREAM เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผมได้พูดเรื่องเดียวกันด้วยความมั่นใจแบบโฉ่งฉ่าง มันเป็นพื้นที่ที่ผมได้ทดลองทั้งด้านเทคนิคและการวิจัย ซึ่งพอมันตกผลึกผมสามารถเอามันไปใช้ในงานส่วนตัวได้ ผมมองมันเป็นการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานระหว่างสองพื้นที่นี้กลับไปกลับมา

ตอนนี้ผมกับพี่บีมกำลังเห็นลู่ทางของ NFT คิดว่าน่าจะผลิตโปรดักส์ขึ้นมาทดลองขายในโลกนั้น อาจจะเป็นผ้าขนหนูแบบสามมิติ ตอนนี้เราก็พยายามที่จะสำรวจความเป็นไปได้ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน


เครดิตภาพ


รูป 1 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 2 — ภาพจาก goodreads
รูป 3 — ภาพจาก IWANNABANGKOK©
รูป 4 — ภาพจาก BANGKOK WET DREAM
รูป 5 — ภาพจาก ICA
รูป 6 — ภาพจาก BANGKOK WET DREAM
รูป 7 — ภาพจาก silpa-mag
รูป 8 — ภาพจาก The Standard
รูป 9 — ภาพจาก beartai
รูป 10 — ภาพจาก Sanook
รูป 11 — ภาพจาก BANGKOK WET DREAM
รูป 12 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 13 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 14 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 15 — ภาพจาก The Momentum
รูป 16 — ภาพจาก Medium
รูป 17 — ภาพจาก mainakmisra
รูป 18 — ภาพจาก The Orion 
รูป 19 — ภาพจาก Unilad
รูป 20 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 21 — ภาพจาก BOOKSHOP LIBRARY
รูป 22 — ภาพจาก bangkoknaughtyboo
รูป 23 — ภาพจาก หฤษฎ์ ศรีขาว

CONTRIBUTORS

มุกดาภา ยั่งยืนภารดร (มุก)
ผู้แปลหนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond Gender Binary) โดยสำนักพิมพ์ซอย จบปริญญาโทด้าน gender studies จาก UCL ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการโครงการแปลหนังสือเกี่ยวกับเพศภาวะและเควียร์ในโปรเจกต์ชื่อ damned be patriarchy พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย สนใจงานเฟมินิสม์สายสังคมนิยม การเมืองของเรือนร่าง และวัฒนธรรมวิพากษ์ผ่านเลนส์รื้อรากอาณานิคม

damned be patriarchy พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย เป็นโปรเจกต์งานแปลหนังสือ 5 เล่มที่มา ‘งัดข้อ’ กับการผลิตสร้างความรู้ใต้ระบอบปิตาธิปไตย ทั้งการเมืองของสตรีนิยม การพังทลายมุมมองเพศแบบทวิลักษณ์ เรือนร่างของเควียร์ การตั้งคำถามกับความสุขที่พัวพันกับการกดทับในหลายมิติ ไปจนถึงทฤษฎีของความรักที่มักได้รับการพูดถึงอยู่ในพื้นที่ของผู้ชาย (ที่มีคนรักต่างเพศ ผิวขาว และเป็นชนชั้นนำมีการศึกษา) ด้วยการสอดส่องและวิพากษ์โครงสร้างอำนาจในสังคมผ่านประวัติศาสตร์ เรื่องราวและเรือนร่างขออัตลักษณ์อันหลากหลาย และตอนนี้ตีพิมพ์ออกมาแล้วสองเล่มคือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond Gender Binary) และ ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% (Feminism for the 99%)

หฤษฎ์ ศรีขาว (เพิท)
เรียนจบสาขาการถ่ายภาพจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในปี 2560 และ Nuova Accademia di Belle Arti ที่ประเทศอิตาลีในปี 2562 
ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระและศิลปินที่ทำงานด้านภาพถ่ายเป็นหลัก 
ประเด็นที่หฤษฎ์สนใจอย่างต่อเนื่องมักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างการถ่ายภาพกับโฆษณาชวนเชื่อ 
ในปี 2563 เขาร่วมกับ IWANNABANGKOK© สร้างโปรเจกต์ที่ชื่อ BANGKOK WET DREAM 
โดยมุ่งความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างแฟชั่น ยูนิฟอร์ม ร่างกายและการเมือง

อดิศักดิ์ จิราศักดิ์เกษม (บีม)
ผู้ก่อตั้ง IWANNABANGKOK© กำลังพยายามทำหลายๆ วิธีที่จะอัพเดทภาพลักษณ์กรุงเทพฯ ให้เด็ก สนุก ใหม่ และสร้างสรรค์ขึ้น ผ่านความร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง เราเชื่อในกรุงเทพฯ และรู้ว่าคนรุ่นใหม่จะนำเมืองนี้จะไปได้อีกไกล

นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน)
หนึ่งในผู้ดูแลร้านหนังสือ BOOKSHOP LIBRARY เรียบเรียง [BOOKMARK MAGAZINE] คอยพาคนจากหลากสาขาอาชีพมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนา

ภาพปกและภาพประกอบระหว่างตอนโดย BANGKOK WET DREAM

เรียบเรียงโดย นภิษา ลีละศุภพงษ์
พิสูจน์อักษรโดย ศุภมาศ พะหุโล, กานต์ธิดา บุษบา