SUNDAY WALK 03 • Get Your Back Off the Fourth Wall…

07.03.2021

14:00–16:00 น.

กิจกรรมเยี่ยมชมนิทรรศการ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS โดย นวิน หนูทอง และ สฤณี อาชวานันทกุล

เราจะสามารถหาเศษเสี้ยวของกำแพงที่แบ่งโลกจริงกับโลกเสมือนเจอมั้ย? ถ้าโลกจริงกับโลกในเกมมันหลอมรวมจนไม่ต่างกันแล้ว เราจะเล่นเกมไปทำไม?

หนึ่งในวิธีการทำงานในนิทรรศการ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 30 มีนาคม 2564 ของ นวิน หนูทอง คือการเข้าไปหยิบยืมสิ่งของจากโลกเสมือนในเกมออกมาจัดเรียงใหม่ เพื่อตามหาลำดับความสำคัญของความจริงของประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ในเกม และประวัติศาสตร์นอกเกม และสิ่งที่ถูกนำออกมาข้างนอกโดยศิลปินนั้นถูกมองอย่างไรในสายตาของเกมเมอร์อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการอิสระด้านการเงิน และเป็นที่รู้กันว่าเป็นนักเล่นเกมตัวยง

กิจกรรม SUNDAY WALK• Get Your Back Off the Fourth Wall… เป็นการพาไปสำรวจนิทรรศการ THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS โดย นวิน หนูทอง และ สฤณี อาชวานันทกุล พร้อมพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ เช่นความสนใจของนวินถึงสัญญะของหนังสือในเกมที่ไม่อาจถูกเปิด แต่มักถูกใช้เป็นภาพแทนของขุมพลังและความรู้ เรื่องของศาสตร์แห่งการศึกษาเกมหรือที่เรียกว่า Ludology หนึ่งในสาขาของวัฒนธรรมศึกษาที่พูดถึงเกมประเภทต่างๆ ผ่านวิธีการศึกษาทางคติชนวิทยา มรดกทางวัฒนธรรม สังคมวิทยา และจิตวิทยา มุมมองในการสร้างเกม ผู้เล่นในเกม และบทบาทของเกมในสังคมและวัฒนธรรม คำถามที่ว่าการที่ผู้คนหลบหลีกจากความจริงผ่านการเล่นเกมกันมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์โรคระบาด ที่ทำให้ตลาดเกมโตขึ้นอย่างมากนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร

เกี่ยวกับ • นวิน หนูทอง (แทน) 
จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังสาขาการผลิตสื่อภาพยนตร์ แต่สุดท้ายชอบการจัดการนิทรรศการและการทำงานศิลปะมากกว่า แทนสนใจในเรื่องของอดีต เรื่องเล่า ตำนาน ที่เข้าไปอยู่ในสื่อทางวัฒนธรรม อย่างเกม การ์ตูน ภาพยนตร์ และการที่เทคโนโลยีส่งผลต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

เกี่ยวกับ • สฤณี อาชวานันทกุล (ยุ้ย)
จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เอกเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เอกการเงิน ปัจจุบันทำงานวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืนในฐานะกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ณ พรมแดนความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจที่ยั่งยืน พลังพลเมือง และเกม ในศตวรรษที่ 21 สฤณีเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมจนสามารถเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม
https://en.wikipedia.org/wiki/Home_of_the_Underdogs
http://www.facebook.com/SarineeA
https://steamcommunity.com/id/Fringer

STAFF’S JOURNAL
โดย นภิษา ลีละศุภพงษ์ ร่วมกับ รวิรุจ สุรดินทร์

THE IMMORTALS ARE QUITE BUSY THESE DAYS ของนวิน หนูทอง ได้แบ่งพื้นที่ของห้องจัดแสดงหลักออกเป็นสองส่วน ส่วนด้านหน้าจัดแสดงวิดีโอจัดวาง และส่วนด้านหลังจัดแสดงศิลปวัตถุ

กิจกรรม SUNDAY WALK• Get Your Back Off the Fourth Wall… เป็นกิจกรรมพาชมนิทรรศการโดยนวิน และวิทยากรรับเชิญ สฤณี อาชวานันทกุล ชื่อของกิจกรรม Get Your Back Off the Fourth Wall มาจากคำที่วิทยากรรับเชิญเล่าให้เราฟังถึง ‘the fourth wall’ หรือกำแพงที่สี่ ว่ามันเป็นคำที่ใช้ในแวดวงภาพยนตร์และเกมเพื่อที่จะอธิบายกำแพงที่มองไม่เห็นที่แบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน ซึ่งในบางครั้งภาพยนตร์และเกมทดลองทลายมันเพื่อเชื่อมทั้งสองโลกเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่นการที่ตัวละครในภาพยนตร์หันมาคุยกับผู้ชม หรือเกมที่เมื่อเล่นไปสักพักจะเกิดภาพที่ดูเหมือนว่ากำลังถูกแฮกหน้าจอซึ่งทำให้ผู้เล่นเกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกจริงหรือในเกมกันแน่

การพาชมนิทรรศการในครั้งนี้ เริ่มต้นจากห้องด้านหน้า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยืนล้อมรอบๆ ตัวการ์ตูนสีเขียวที่ตั้งอยู่บนพื้น ที่ดูเหมือนว่ากำลังพยายามดึงเอากรอบที่เป็นเส้นแบ่งพื้นที่ของห้องด้านหลังเข้ามายังห้องด้านหน้า เป็นนัยถึงพื้นที่ที่แยกจากกันของนิทรรศการและความสนใจในคำว่า ‘threshold’ ที่ถูกใช้งานในแวดวงภาพยนตร์ที่แบ่งระหว่างพื้นที่หนึ่งกับพื้นที่อื่นๆ นวินหยิบยืมเอาวิธีการทางโบราณคดีในเกมหรือที่เรียกว่า Archaeogaming การขุดค้นทางโบราณคดีเกี่ยวกับเกมที่ศึกษาทั้งในพื้นที่ของโลกในเกมและโลกนอกเกมมาใช้ในการทำงาน ผู้ร่วมกิจกรรมใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระยะหนึ่งในห้องด้านหน้า โดยพากันเดินไปคุยหน้าภาพวาดบนกล่องไฟที่นวินเล่าถึงความสนใจในประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์การเล่าเรื่อง นวินมักจะเล่าถึงเรื่องเล่าของการกลับมาของพระเยซู ว่าชุดเรื่องเล่านั้นมันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไร กลุ่มผู้เข้าร่วมเดินผ่านวิดีโอวิหารที่เปลือยโครงสร้างเหมือนเซลล์พืชที่ค่อยๆ ฟอร์มตัวเองขึ้นมาไปสู่ประตูที่พาไปสู่ห้องด้านใน และเลือกที่จะหยุดใช้เวลาอยูที่โต๊ะที่เต็มไปด้วยการ์ดรูปภาพ โต๊ะนี้ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นแผนที่ของนิทรรศการ บนการ์ดแต่ละใบบรรจุด้วยภาพของศิลปวัตถุที่ถูกจัดแสดงในห้องนี้ ที่การจัดวางถูกใช้เพื่อสำรวจความสัมพันธ์และเรื่องราวเบื้องหลังของแต่ละองค์ประกอบของสิ่งของ สฤณีชวนคุยถึงเกมกับเวลา ที่เกมบางประเภทอ้างอิงเวลาจริงซึ่งให้ประสบการณ์ที่น่าสนใจในแง่ที่มันทำให้เราลืมเส้นแบ่งของโลกจริงและโลกในเกมได้ชั่วขณะหนึ่ง เพราะโดยปกติแล้วเกมจะมีเวลาที่ดำเนินไปเร็วกว่ามาก ซึ่งมันทำให้นึกถึงเกมอย่าง Civilization ที่เรื่องเวลาเป็นส่วนสำคัญในการเล่น การสร้างเกมเกี่ยวกับการสร้างอารยธรรม ในการออกแบบคงต้องจัดการเวลาที่ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างที่สมเหตุสมผลพอที่จะทำให้มันสนุกที่จะเล่นด้วย การ์ดใบหนึ่งบนโต๊ะเป็นภาพวาดจากเกม Civilization ที่หน้าตาคล้ายกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นวินเล่าว่าภาพของทักษิณถูกเอาไปใช้เป็นต้นแบบภาพวาดพ่อขุนรามคำแหงในเกม มันไม่ใช่ความตั้งใจของผู้ผลิตในการล้อเลียนการเมืองไทย เป็นแค่ความบังเอิญที่นักวิจัยใช้อ้างอิง แต่เขาก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจอยู่ดีไม่ว่าจะด้วยภาพนี้มันหาง่าย หรือมีนัยยะที่แท้จริงที่เราก็ไม่อาจล่วงรู้ นวินพาเราไปต่อที่โต๊ะที่รวบรวมของสะสมจากเกม World of War Craft ซึ่งเขาเล่าให้ฟังอีกว่าหุ่นจำลองสัตว์ประหลาดบางชิ้นมีส่วนที่ถูกทิ้งจากการผลิต ซึ่งถูกเอามาขายทอดตลาดในเอเชียแบบลดราคา ก่อนที่จะเดินไปต่อที่รูปปั้นสิงห์เยื้องไปทางด้านหลังของโต๊ะ World of War Craft ที่เป็นเป็นรูปปั้นจำลองจากเกม Street Fighter ผลิตโดยบริษัท Sideshow ที่จะปรากฏตัวพร้อมกับตัวละครชื่อ Sagat (สกัด) นักสู้ที่อ้างอิงศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยในเกม นวินเล่าว่าคำอธิบายและความเชื่อมโยงของสิ่งของในนี้สามารถอ่านได้บนเว็บไซต์ https://www.busyimmortal.com ซึ่งเป็นงานที่นวินทำร่วมกับเพื่อนนักสังคมวิทยา ที่ใช้วิธีการวิจัยแบบสังคมวิทยาในการศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งของมาใช้กับนิทรรศการของนวิน

ผู้ร่วมกิจกรรมใช้เวลากันพอสมควรในห้องด้านหลัง ซึ่งถ้าจะให้คุยกันครบจริงๆ น่าจะกินเวลาอีกหลายวัน จึงตัดสินใจที่จะพากันออกไปนั่งคุยต่อที่สวนนอกห้องจัดแสดงหลักเพื่อแชร์กันถึงสิ่งที่ตัวเองเห็นและสนใจ สฤณีมีการยกหัวข้อเรื่องบทบาทของผู้เล่น(เกม)ขึ้นมา โดยเฉพาะเพื่อตั้งคำถามถึงตัวชี้วัดอิสรภาพของผู้เล่น รายละเอียดเกี่ยวกับเกมสามารถที่จะส่งผลต่อประสบการณ์ในการจมดิ่งลงไปกับมัน และเราอาจจะได้ค้นพบเกี่ยวกับบทบาทของมนุษย์ผ่านประสบการณ์การเล่นเกมด้วย เรานึกถึงตอนที่เจอกันครั้งแรกกับสฤณี ที่เธอเสนอคำว่า Ludology ขึ้นมาว่าน่าจะชวนกันคุยในเรื่องนี้ มันเป็นชื่อทางวิชาการของวิชาเกมศึกษา เป็นการศึกษาทั้งท่าทีในการเล่นเกม ผู้เล่น และวัฒนธรรมที่รายล้อมมัน เป็นสาขาหนึ่งของวัฒนธรรมศึกษา การวิจัยในสาขานี้ใช้ยุทธวิธีของการศึกษาคติชนวิทยาและมรดกทางวัฒนธรรม สังคมวิทยา และจิตวิทยา ในขณะที่ตรวจสอบแง่มุมต่างๆ ของการออกแบบเกม ผู้เล่นในเกม และบทบาทของเกมในสังคมหรือวัฒนธรรม

ในตอนท้าย มีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งที่ยกประเด็น NFT ที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนั้นขึ้นมาคุย เขาเล่าว่าเริ่มมีการซื้อขายผลงานศิลปะกันบนโลกออนไลน์ในรูปแบบ NFT ซึ่งย่อมาจากคำว่า Non-Fungible Token หรือสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ ที่ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ผลงานดิจิทัลที่ถึงแม้ว่าจะสามารถผลิตซ้ำได้หลายชิ้น แต่ NFT จะผูกติดอยู่กับต้นฉบับเพียงหนึ่งเดียว เปรียบกับใบรับรองดิจิทัลเพื่อรักษาความเป็นต้นฉบับนั้นเอาไว้ ผู้เข้าร่วมเล่าให้ฟังว่ามีข่าวว่าผลงานของแบงก์ซี (Banksy) ถูกประมูลไปเผาทำลายโดยบริษัทธุรกิจดิจิทัล Blockchain เพราะพวกเขานำผลงานชิ้นนี้ไปเข้ารหัสและเก็บรักษาเป็นข้อมูลดิจิทัลในระบบเทคโนโลยี NFT แล้ว เพื่อสร้างสเตทเมนท์ว่าต้นฉบับที่เป็นวัตถุจับต้องได้อาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป