BOOKSHOP LIBRARY
[BOOKMARK MAGAZINE]

Back

[BM] 12

TYPO/INFO/GRAPHIC

POSTED ON 06/01/2022 IN CONVERSATION—
น้ำใส ศุภวงศ์ อานนท์ ชวาลาวัณย์ พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ ธนัช ธีระดากร Wanwai Shum พชร์ เอื้อเชิดกุล iannnnn อิสระ ชูศรี

เริ่มต้นจากความสนใจสำรวจภูมิทัศน์ของตัวอักษรไทยในช่วงเวลาร่วมสมัยผ่านพื้นที่ภายนอกแวดวงออกแบบ ด้วยความสนใจอยากรู้ว่าตัวอักษรที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเขียนหรือตัวพิมพ์ โดยผู้คนที่ไม่ได้ยึดถือการออกแบบเป็นอาชีพมีหน้าตาเป็นยังไง หนึ่งในทีมงานของ BOOKSHOP LIBRARY นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน) จึงชวนน้ำใส ศุภวงศ์ (จั๊ก) นักออกแบบกราฟิกที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนพื้นที่อยู่บ่อยๆ ที่เราเห็นแววว่าสนใจใคร่รู้ในประเด็นหลากหลาย มาทำงานร่วมกันในครั้งนี้

ด้วยความสนใจในการทำงานกับข้อมูล ทั้งเก็บข้อมูล วิเคราะห์ ไปจนถึงออกแบบนำเสนอข้อมูลด้วยกราฟิกของจั๊ก ร่วมกับความสนใจในบทสนทนาของ BOOKSHOP LIBRARY พวกเราได้มองหาชุดข้อมูลที่จะนำมาทำงานสำรวจภูมิทัศน์ตัวอักษรนี้โดยคิดกันว่าพื้นที่แบบไหนที่จะรวบรวมตัวอักษรเอาไว้อย่างเป็นกลุ่มก้อนและมากพอที่จะทำให้เห็นบรรยากาศของช่วงเวลาต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มองหาผู้คนที่เราอยากจะชวนพูดคุยเพื่อบันทึกข้อมูลในรูปแบบบทสนทนา

คุยกันว่าพื้นที่ประท้วงเมื่อสองปีที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในแง่ที่เป็นเสมือนกับ container ของตัวอักษรบนป้ายที่เขียนขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ที่ตอนนี้ถูกแปะป้ายไปแล้วว่าเป็นพวกสามกีบ จึงเริ่มสำรวจป้ายผ่านแฮชแท็กยอดนิยมในการประท้วง และนึกถึงไปถึงผู้ที่รวบรวมสิ่งของสามัญจากการประท้วงที่บรรจุด้วยข้อความสื่อสารทางการเมืองอย่าง ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ ว่าน่าจะเป็นคนที่สังเกตเห็นตัวอักษรเหล่านี้บนสิ่งของที่เขาได้รวบรวมมา จึงได้พูดคุยกับอานนท์ ชวาลาวัณย์ (แว่น) ผู้ก่อตั้ง

ในระหว่างที่เก็บข้อมูลด้วยกันก็พบว่าความเห็นจากคนที่มองตัวอักษรอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่คนนอกวงออกแบบนั้นก็สำคัญ จึงสนใจพูดคุยกับนักออกแบบรุ่นราวคราวเดียวกันที่คุ้นเคย ที่เห็นว่าพวกเขาทำงานด้วยความสนใจขยายขอบเขตทั้งการออกแบบตัวอักษรและไทโปกราฟี ได้แก่ Wanwai Shum (วันไว ชุม) พชร์ เอื้อเชิดกุล (เพชร) และพูดคุยกับพร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ (บูม) ที่สนใจประวัติศาสตร์การออกแบบตัวอักษรมาช่วยทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานที่ควรมองเมื่อตั้งใจจะศึกษาเกี่ยวกับตัวอักษร และยังมีศิลปิน ธนัช ธีระดากร ที่มาช่วยเสริมความน่าสนใจในเรื่องการมองตัวอักษรผ่านมุมมองแบบนักมานุษยวิทยาและการทำงานศิลปะ

คู่ขนานไปกับการพูดคุยกับบรรดาศิลปินนักออกแบบ ก็เกิดความคิดที่ว่าพื้นที่อีกแห่งที่น่าสนใจที่รวบรวมประวัติศาสตร์ตัวอักษรไทยในรูปแบบของฟอนต์เอาไว้ก็คือเว็บไซต์ f0nt.com จั๊กได้ลองดึงข้อมูลจากเว็บไซต์มาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลง เช่นเรื่องของความนิยมในรูปแบบตัวอักษรในแต่ละช่วงเวลา และได้ติดต่อ iannnnn หรือคุณแอน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2004 เพื่อแบ่งปันเกี่ยวกับแวดวงการออกแบบฟอนต์ที่เริ่มต้นจากการเป็นมือสมัครเล่น ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการมีอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

กลับมาที่ป้ายสามกีบจากการประท้วงที่รวบรวมกันไว้ คนสุดท้ายที่ได้ชวนคุยคือคุณอิสระ ชูศรี นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ที่เคยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาษาและการชุมนุมเอาไว้ผ่านสื่อต่างๆ ในครั้งนี้จึงสนใจชวนคุณอิสระคุยว่าแล้วในแง่มุมของรูปแบบการเขียนตัวอักษร คุณอิสระมองมันสัมพันธ์กับภาษายังไง

ผลลัพธ์ทั้งหมดทั้งมวลของการรีเสิร์ชนี้เราได้รวบรวมออกมาในรูปแบบของอินโฟกราฟิกและบทสนทนา ที่แล้วแต่ว่าผู้อ่านจะเลือกเส้นทางไหนในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิทัศน์ของตัวอักษรร่วมสมัย ที่เราได้รวบรวมเอาไว้ในแมกาซีนฉบับนี้

อานนท์ ชวาลาวัณย์ (แว่น)

ในตอนเริ่มต้นรีเสิร์ช เราคิดว่าอยากจะสำรวจตัวอักษรผ่านพื้นที่นอกแวดวงออกแบบ และสถานที่ที่เราสนใจที่สุดก็คือพื้นที่ประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อสองปีที่ผ่านมา เราคิดว่าน่าจะดีถ้าได้สำรวจผ่านวัตถุสิ่งของจากพื้นที่ประท้วงที่บรรจุด้วยข้อความสื่อสารทางการเมือง จึงติดต่อไปยังคุณแว่น ผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์สามัญชน ที่สะสมสิ่งของสามัญจากการชุมนุม โดยมุ่งไปที่เรื่องของเสื้อยืด ที่เรามองว่าเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวผู้คน ถึงแม้จะเน้นไปที่เรื่องของเนื้อหาที่ปรากฏในสิ่งของ แต่การพูดคุยครั้งนี้ก็ทำให้ได้มุมมองที่น่าสนใจในการทำงานต่อกับเรื่องของตัวอักษร

พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ (บูม) 

น่าจะดีที่ได้ทำความเข้าใจถึงพื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกับนักออกแบบและคนอื่นๆ ในสายงานที่เกี่ยวข้อง บูมเป็นคนแรกๆ ที่เราอยากชวนคุยเพราะทำงานวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ตัวอักษรอย่างจริงจังตั้งแต่ยังทำงานอยู่ที่คัดสรร ดีมาก และตอนนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาโทเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรโดยตรงที่ Type Media, KABK, กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ธนัช ธีระดากร

จากคำแนะนำของทีมงานว่าธนัช ศิลปินที่เคยร่วมงานกับบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ก็สนใจเรื่องของตัวอักษร ถึงแม้ว่าผลงานจะออกมาเป็นงานทดลองกับเสียงและภาพที่ไม่ได้แสดงถึงตัวอักษรตรงๆ แต่ความคิดเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาพแทนและอัตลักษณ์ความเป็นชาติก็เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับตัวอักษรไทยที่น่าสนใจที่ธนัชชวนตั้งคำถาม

Wanwai Shum (วันไว ชุม)

จากข้อสันนิษฐานว่าความคุ้นชินในการเขียนภาษาบ้านเกิดของนักออกแบบ น่าจะส่งอิทธิพลต่อการมองตัวอักษรและการใช้งานตัวอักษรต่างกัน จึงนึกถึงวันไว นักออกแบบกราฟิกชาวจีน ปัจจุบันทำงานอยู่ในเนเธอร์แลนด์กับ Studio Dumbar ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการทดลองกับตัวอักษรของเธอนั้นมาจากประสบการณ์เขียนอักษรด้วยพู่กันจีนในสมัยที่เรียนในโรงเรียนตอนเด็กๆ 

พชร์ เอื้อเชิดกุล (เพชร)

จากความสนใจเรื่องน้ำเสียงที่ยังขาดไปในตัวอักษรไทย จึงอยากพูดคุยกับนักออกแบบตัวอักษรที่สนใจการออกแบบตัวอักษรไทยรุ่นใหม่ๆ ไม่นานมานี้ก็ได้มีโอกาสเห็นผลงานของสตูดิโอออกแบบเปิดใหม่ชื่อว่า Recent Practice หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจคือตัวอักษรที่ชื่อว่า ‘หวย (2020)’ โดย เพชร หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอ จึงได้ติดต่อเพื่อพูดคุยถึงความคิดเห็นที่มีต่อการออกแบบตัวอักษรไทยในเวลานี้

เราต่างคุ้นเคยกับการโหลดฟอนต์จากแฟลตฟอร์ม f0nt.com มาตั้งแต่สมัยยังไม่ได้เรียนออกแบบอย่างจริงจัง เมื่อได้มีโอกาสค้นคว้าเรื่องตัวอักษรทำให้เราคิดว่าอยากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในแพลตฟอร์มทั้งในเชิงความหลากหลายของรูปฟอร์ม ความนิยมในการออกแบบและดาวน์โหลดไปใช้งาน ในพื้นที่ที่เรียกว่าอยู่ก้ำกึ่งระหว่างมืออาชีพและมือสมัครเล่นของนักออกแบบตัวอักษร

iannnnn (แอน)

วิเคราะห์ด้วยข้อมูลที่ดึงมาจากแพลตฟอร์ม เราได้นำข้อสังเกตและข้อสงสัยไปสอบถามกับผู้ก่อตั้งคุณแอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ iannnnn ว่าแพลตฟอร์มตั้งแต่เริ่มเปิดเว็บไซต์มาตั้งแต่ปี 2004 เว็บ f0nt ได้เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

ย้อนกลับมามองหลังจากการได้คุยกับคุณแว่นจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน นอกจากวัตถุสิ่งของในพื้นที่ประท้วง ป้ายที่ถูกชูในที่ประท้วงนั้นก็น่าสนใจในแง่ที่ว่ามันรวบรวมข้อความสื่อสารทางการมืองด้วยตัวอักษรอันหลากหลาย จึงลองสำรวจผ่านแฮชแท็กยอดนิยมจากที่ประท้วง ไม่ว่าจะเป็น #ออกไปอีสัส #ผนงรจตกม เพื่อที่จะดูว่าข้อความเหล่านั้นถูกเขียนหรือพิมพ์ขึ้นด้วยตัวอักษรบนป้ายกันในรูปแบบไหนบ้าง

อิสระ ชูศรี

เราถอยออกมามองจากตัวอักษรสู่เลเยอร์ของภาษา ด้วยคำถามที่ว่าภาษาที่ใช้ในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมานั้นเป็นยังไง สัมพันธ์กับท่าทีในการเขียนตัวอักษรบนป้ายยังไงบ้าง เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอิสระ ชูศรี นักภาษาศาสตร์ที่สนใจภาษากับการชุมนุม มาช่วยตอบคำถามและสำรวจเพิ่มเติมว่าป้ายประท้วงของอีกฝั่งนั้นหน้าตาเป็นยังไง

CONTRIBUTORS

น้ำใส ศุภวงศ์ (จั๊ก)
เป็นนักออกแบบกราฟิกมาประมาณ 7 ปี ในช่วง 4 ปีหลัง ความสนใจในการทำอินโฟกราฟิกพุ่งแซงแขนงอื่น เพราะรู้สึกถูกจริตกับส่วนผสมระหว่างศิลปะและความวิชาการในงานสายนี้

อานนท์ ชวาลาวัณย์ (แว่น)
ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน มีความฝันสูงสุดว่าวันหนึ่งประวัติศาสตร์ของสามัญชนจะถูกเขียนและจดบันทึกโดยสามัญชน เพื่อที่อนาคตจะเป็นของสามัญชนอย่างแท้จริงและเท่าเทียม

พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ (บูม)
นักออกแบบตัวอักษร ทั้งภาษาไทยและเทศ ปัจจุบันศึกษาต่อปริญญาโทอยู่ที Type Media, KABK, กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนหน้านี้เป็นนักออกแบบตัวอักษรประจำที่บริษัทคัดสรรดีมาก สนใจในการศึกษาที่มาที่ไปและประวัติความเป็นมาของตัวอักษร นำไปสู่การได้มีโอกาสพูดในสัมมนาไม่ว่าจะเป็น AtypI Conferennce (โตเกียว 2019) เกี่ยวกับที่มาที่ไปของตัวอักษรไม่มีหัว Bits Conference (เชียงใหม่ 2019) และ Typographics (Online 2021)

ธนัช ธีระดากร
การทำงานศิลปะและดนตรีของธนัชตั้งอยู่บนฐานของการค้นคว้าความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ รวมไปถึงหัวข้อรอบๆ วัฒนธรรมย่อย/ป็อป/ภาพ ตำนานท้องถิ่น และผลกระทบของเทคโนโลยี การสร้างเรื่องเล่าขึ้นผ่านเสียงและการจัดวางองค์ประกอบภาพเป็นการค้นหาวิธีการใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการมองไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างสังคม เทคโนโลยี พวกเรา และประวัติศาสตร์ ข้ามผ่านสื่อตั้งแต่เสียง การแสดง ภาพ และผลงานจัดวาง

Wanwai Shum (วันไว ชุม)
นักออกแบบกราฟิกที่พำนักอยู่ที่รทเทอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ กำลังทำงานเป็นนักออกแบบวิชวลให้กับ Studio Dumbar ไม่ว่าจะเป็นการทำงานให้กับโปรเจกต์ของสตูดิโอหรือโปรเจกต์ส่วนตัว วันไวชื่นชอบที่จะค้นหาความซับซ้อนและจังหวะที่จะสามารถปรากฏผ่านภาพ และสนใจฝึกฝนวิธีการทำงานออกแบบสื่อสารของตัวเอง ให้สามารถข้ามศาสตร์ของวัฒนธรรมและสาขาอาชีพได้

พชร์ เอื้อเชิดกุล (เพชร)
นักออกแบบตัวอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ Recent Practice ร่วมกับ ณิชา กีรติพันธวงศ์ ทำงานร่วมกันเพื่อสำรวจแนวทางและความเป็นไปได้ใหม่ๆในการนำเสนอรูปและภาษาของแบบ ผ่านบทบาทของตัวอักษร รวมถึงการวิเคราะห์และแปลความคิด เพื่อสร้างน้ำเสียงที่ตรงกับสิ่งที่ศิลปิน ผู้ประกอบการ นักวิจัย องค์กร หรือสถาบัน ต้องการสื่อสาร ด้วยงานออกแบบที่พัฒนามาจาก รูป แบบ ตัวอักษร

iannnnn (แอน)
ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม f0nt.com ตั้งแต่ปี 2004 เริ่มต้นทำแพลตฟอร์มจากความชื่นชอบในการสร้างตัวอักษรเป็นงานอดิเรก

อิสระ ชูศรี
อดีตผู้สอนและนักวิจัยสาขาวิชาภาษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยผู้มีอาชีพเสริมเป็นนักแปล ความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาษา และการแปลข้ามภาษาโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ทำให้เขาผันตัวเองมาเป็นนักแปลอาชีพเต็มตัว บางเวลาเขาเขียนเกี่ยวกับการตีความภาษาและวรรณกรรมในมิติทางการเมืองโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์

นภิษา ลีละศุภพงษ์ (ยีน)
หนึ่งในผู้ดูแลร้านหนังสือ BOOKSHOP LIBRARY ที่มีแบคกราวน์ทางด้านกราฟิกดีไซน์ คอยพาคนจากหลากสาขาอาชีพมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนา

ภาพปกโดย น้ำใส ศุภวงศ์
ภาพอินโฟกราฟิกโดย น้ำใส ศุภวงศ์

เรียบเรียงโดย นภิษา ลีละศุภพงษ์ และน้ำใส ศุภวงศ์ 
พิสูจน์อักษรโดย นภิษา ลีละศุภพงษ์ กมลกานต์ โกศลกาญจน์