BOOKSHOP LIBRARY
[BOOKMARK MAGAZINE]

Back

[BM] 13

ไม่แข่งยิ่งแพ้ | Work Until You Drop

POSTED ON 09/30/2022 IN CONVERSATION—
สรวิศ ชัยนาม กนกวรรณ ตระกูลยิ่งเจริญ วิภาวี กิตติเธียร ฐิติภัค ธีระตระกูล

นึกย้อนไปถึงคำถามที่จินตนาการอยู่บ่อยครั้งเมื่อตอนยังใช้ชีวิตในสนามฝึกหัดอย่างสถาบันการศึกษาว่า ถ้าได้ทำงานในส่ิงที่ชอบจะดีขนาดไหน? การใช้เวลาเพื่อคิดเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นถึงความไร้เดียงสาในอดีต แต่ยังย้ำให้จำได้ว่าไฟในการอยากลงมือทำอะไรสักอย่างโดยที่ไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องมันรู้สึกอย่างไร

นิตยสารออนไลน์ [BOOKMARK MAGAZINE] ฉบับที่ 13 ยิ่งแข่งยิ่งแพ้ | Work Until You Drop มีเรื่องราวว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนที่มีต่องานและเวลา กานต์ธิดา บุษบา หนึ่งในทีม BOOKSHOP LIBRARY ได้สัมภาษณ์ผู้ร่วมสนทนา 4 คน โดยหวังว่าการคุยนี้จะทำให้สามารถวิพากษ์เรื่องชีวิตการทำงานได้อย่างมีพลวัตมากขึ้นและออกไปไกลขึ้นกว่าการที่เป็นเรื่องของปัจเจก แต่มันยังเกี่ยวโยงกับคนอื่นในสังคม เมืองที่อยู่อาศัย รวมถึงโครงสร้างระดับใหญ่ที่คอยควบคุมเข้าไปในจนถึงร่างกายและความคิดของผู้คน

ผู้สนทนาทั้ง 4 คนได้แก่ สรวิศ ชัยนาม ที่คุยเรื่องแรงงานผ่านมุมมองของฝ่ายซ้าย บทสนทนากับเขาชวนให้ฉุกคิดถึงการทำงานของทุนนิยมและอะไรบ้างที่มาจำกัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฐิติภัค ธีระตระกูล ในบทบาทหน้าที่ของการเป็นศิลปินและการเป็นสมาชิกของครอบครัวที่รู้เห็นและมีประสบการณ์ในประเด็นเรื่องการทุจริตและแรงงานข้ามชาติ กนกวรรณ ตระกูลยิ่งเจริญ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่าโครงสร้างของระบบสังคมที่เอื้อหนุนให้ประชาชนรู้สึกถึงความมั่นคงในชีวิตนั้นเป็นอย่างไร และ วิภาวี กิตติเธียร ในฐานะตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อในความเป็นไปได้ในตัวคน สามารถแสดงออกมาผ่านการลงมือทำจริงในรูปแบบใดได้บ้าง

สรวิศ ชัยนาม

การพูดคุยเริ่มต้นกับ สรวิศ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อเป็นการทำความเข้าใจว่าหากจะวิพากษ์สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นไปตามเงื่อนไขของทุนนิยมจะสามารถมองผ่านวิธีคิดแบบใดได้บ้าง นอกจากนี้หนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ออกมา นอกจากใช้สำหรับศึกษาอ้างอิงในการทำนิตยสารฉบับนี้แล้วยังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานของทุนนิยมผ่านกรณีศึกษาหลายรูปแบบมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นป๊อปคัลเจอร์อย่างภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ กรณีตำแหน่งทางวิชาการของผู้สอนในระดับอุดมศึกษา ประเด็นเรื่องการศึกษารวมถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน 

เครดิตภาพ: ฐิติภัค ธีระตระกูล

ฐิติภัค ธีระตระกูล

ก่อนที่จะได้คุยกับฐิติภัคถึงการทำงานร่วมกันในนิตยสารออนไลน์ฉบับนี้  เรารู้จักเธอก่อนหน้าจากการเป็นหนึ่งในผู้เข้าชมนิทรรศการที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความสนใจและสิ่งที่แต่ละคนทำอยู่ ความสนใจที่มีต่อการทำงานภาพถ่าย ลากยาวไปจนถึงการลงถนนประท้วง ประเด็นเรื่องแรงงาน และการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเธอเองในช่วงเวลาหนึ่งก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่ประเทศนี้ ทำให้เราสนใจอยากคุยกันต่อว่าจากเธอในอดีตที่ตัวอยู่ห่างจากบ้านเกิดไปชั่วคราวจนกลับมาเพื่อดูแลกิจการของที่บ้านต่อ เธอเห็นอะไรบ้าง?

นอกจากบทสัมภาษณ์แล้วยังมีเรื่องสั้นและผลงานภาพถ่ายเล่าเรื่อง What do you see ? (2565) ที่เราขอให้ฐิติภัคช่วยตีความออกมาผ่านมุมมองของเธอเอง

กนกวรรณ ตระกูลยิ่งเจริญ

จากความสนใจส่วนตัวในเรื่องงานสถาปัตยกรรมและการเปลี่ยนแปลงของเมือง ทำให้เราตัดสินใจติดต่อไปยังคนที่รู้ว่าจะช่วยเราจัดการความคิดและหาคำตอบกับประเด็นบางอย่างได้ กนกวรรณ คือคนที่เราเคยอ่านผลงานแปลเรื่อง Experience Architecture (2561) ของเธอมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ดังนั้นพอถึงเวลาค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำนิตยสารออนไลน์ฉบับนี้ เราจึงสนใจที่อยากจะมองเรื่องการทำงานผ่านความสัมพันธ์ที่เรามีสถาปัตยกรรมและเมือง

วิภาวี กิตติเธียร

ในฐานะของคนใช้บริการขนส่งสาธารณะ เรายังคงจำความรู้สึกของความโกลาหลช่วงงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพในปี 2560 ได้อย่างแม่นยำเมื่อต้องเผื่อเวลาการเดินทางมากขึ้นเพราะเส้นทางเดินรถแตกต่างไปจากเดิม หลังจากนั้นเราเริ่มได้เห็นป้ายรถเมล์ที่แปลกตาไปและคิดในใจว่าน่าจะมีป้ายที่เป็นประโยชน์แบบนี้ในอีกหลายที่ หลายปีต่อมาในช่วงสถานการณ์โควิด—19 ก็ได้เห็นหลายภาคส่วนพยายามช่วยให้ธุรกิจรายเล็กอยู่รอดต่อไปได้และหนึ่งในนั้นคือการรวมร้านอาหารแถวย่านเมืองเก่า เราถึงบางอ้อว่าหลายๆ โปรเจกต์ที่เห็นผ่านตามาเกิดจากความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่ขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานจริงมากที่สุด

CONTRIBUTORS

สรวิศ ชัยนาม
นอกจากจะดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรวิศยังเขียนหนังสือหลายเล่มที่ว่าด้วยทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีการเมือง รวมไปถึงความสัมพันธ์และการทำงานของทุนนิยมกับชีวิตมนุษย์ในหลายแง่มุม เช่น จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัฒน์ (2555)  Slavoj Zizek : ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย (2558) หรือ ทำไมต้องตกหลุมรัก : Alain Badiou ความรัก และลอบสเตอร์ (2564)

ฐิติภัค ธีระตระกูล
ศิลปินที่สนใจประเด็นเรื่องการทุจริตและแรงงานข้ามชาติ โดยทำงานผ่านภาพถ่ายเป็นหลัก ผลงานของเธอที่ทำเป็นซีรีส์ต่อเนื่องอย่างโรงงานน้ำแข็งซึ่งเป็นกิจการของที่บ้านนอกจากจะทำให้เห็นความสันพันธ์ระหว่างคนแล้วยังทำให้เห็นตำแหน่งระหว่างการเป็นคนใน-คนนอกของศิลปินเองทั้งในขอบเขตของพื้นที่ส่วนตัวและสังคมวงกว้าง

กนกวรรณ ตระกูลยิ่งเจริญ
นักวิจัยและนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมร่วมสมัย เธอสนใจความสัมพันธ์และการทำงานของสถาปัยกรรม ร่างกาย เทคโนโลยี โดยวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวผ่านทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานศิลปะ กนกววรณมีผลงานเขียนในนิตยสาร Wallpaper* ฉบับภาษาไทย Art4D รวมถึงแปลงานเขียนเช่น Enzo Mari, 25 modi per piantare un chiod (2559) ของเอนโซ มาริ (Enzo Mari) และ  Experiencing Architecture (2561) ของสตีน ไอเลอร์ ราสมุสเซน (Steen Eiler Rasmussen)

วิภาวี กิตติเธียร
นักวิจัยและผู้ร่วมก่อตั้ง สาธารณะ (SATARANA) หน่วยงานภาคประชาสังคมที่ประกอบไปด้วยยูนิตย่อยที่ดูแลหลายประเด็นเช่น Trawell, Mayday!, ATTENTION และ Locall  พวกเขาเชื่อว่าทุกคนเป็นเจ้าของเมืองร่วมกันและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

ภาพปกโดย กานต์ธิดา บุษบา และ สุธิดา กมลคุณากร

ออกแบบโดย นภิษา ลีละศุภพงศ์

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย กานต์ธิดา บุษบา

ร่วมหาขัอมูลโดย สุธิดา กมลคุณากร