SUNDAY WALK 01 • TO NOT FORGET

08.11.2020

9:00 - 12:00 hrs

A walking activity by Thanavi Chotpradit and Paphop Kerdsup

กิจกรรม SUNDAY WALK 01: TO NOT FORGET ครั้งแรก เกิดขึ้นจากเนื้อหาใน [BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 06 — HOW TO NOT FORGET: IN COMMEMORATION OF THINGS PAST ซึ่งเปิดประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของความทรงจำ อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน และสถานที่แห่งการรำลึก เพื่อศึกษาความหมายและการมีอยู่ของสัญลักษณ์เหล่านี้ ว่ายึดโยงและแปรเปลี่ยนไปตามโครงสร้างอำนาจในสังคมของผู้ที่สามารถเปล่งเสียงได้ดังกว่ายังไง 

อ้างถึงสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ ในบทสนทนา จึงเกิดเป็นกิจกรรมการลงไปสำรวจพื้นที่จริง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และสร้างความทรงจำใหม่ผ่านการเดินสำรวจร่วมกัน ถนนราชดำเนินกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากเป็นถนนที่นับว่าประกอบสร้างด้วยสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ทับถมกันอยู่หลายชั้น นับตั้งแต่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นถนนเชื่อมวังเดิมบริเวณวัดพระแก้วเข้ากับวังใหม่บริเวณพระราชวังดุสิตในปี 2479 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าที่ถูกใช้เป็นสถานที่ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเกิดขึ้นของอาคารพาณิชย์ตลอดสองข้างทางในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์พฤษภา 2535 จนถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนหลากหลายรูปแบบที่กำลังคุกรุ่น ถนนเส้นนี้เป็นพื้นที่แห่งการทั้งรื้อและสร้าง ที่ยึดโยงกับการปะทะกันของอุดมการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด

อ่านรายละเอียดกิจกรรมได้จากสิ่งพิมพ์ประกอบกิจกรรม — SUNDAY WALK 01: TO NOT FORGET

เกี่ยวกับวิทยากร

ธนาวิ โชติประดิษฐ (ธนาวิ) เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยจากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้ เธอยังเป็นภัณฑารักษ์อิสระและหนึ่งในทีมบรรณาธิการวารสารวิชาการเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia ขอบเขตความสนใจของธนาวิครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในประเทศไทยกับความทรงจำศึกษา พิธีกรรมรำลึกเกี่ยวกับสงครามและการเมืองไทย

ปภพ เกิดทรัพย์ (กราฟ) เป็นนักเขียนและบรรณาธิการ แม้ได้รับการฝึกฝนเพื่อเป็นสถาปนิก แต่การทำงานของเขามักโคจรอยู่โดยรอบรูปแบบอื่นๆ ของการผลิตสร้างทางสถาปัตยกรรม อาทิ การเขียน การเล่าเรื่อง หรือการพูดคุย ความสนใจของเขาข้องเกี่ยวกับการพยายามจัดการและทำความเข้าใจสื่อหลากรูปแบบในฐานะหนทาง/เครื่องมือสำหรับ ‘อ่าน’ สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมสรรสร้าง