[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 14 — HERE’S ALWAYS HERE

The animals are here
เธอไม่นึกเลยว่าช่วงเวลาของวันสิ้นโลกจะน่าเบื่อ ชื้นแฉะ และยาวนานถึงเพียงนี้ 
สามีบอกว่า สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ รอและดูก่อน




อากาศร้อนอบอ้าวพายุกำลังมาอีกระลอก น้ำท่วมเกิดบ่อยและนานขึ้นทุกที ในที่สุดบ้านของเธออยู่กลางหนองน้ำตลอดทั้งปี รอบตัวไม่มีความเคลื่อนไหวใด นอกจากปลาในน้ำ … เธอมองนกฝูงใหญ่บินผ่านไป  

ผู้คนมักสงสารที่ไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปจากโลก แต่พวกมันครองโลกยาวนานอยู่เป็นร้อยล้านปี เป็นระยะเวลาอันแสนยาวนาน นานเสียจนเธอนึกไม่ออก เธอแน่ใจว่ามนุษย์คงอยู่ไม่ได้นานเท่านั้นหรอก พวกเราเปราะบางเหลือเกิน น้ำท่วมเพียงไม่นาน ผู้คนค่อยๆ เจ็บป่วย ตาย อพยพหนีหายจากชีวิตเราไปหมด สิ่งมีชีวิตในอนาคตจะจดจำเผ่าพันธุ์มนุษย์ว่าอย่างไรกันหนอ สามีบอกว่าเธอคิดฟุ้งซ่าน แค่เรารอดไม่ต้องออกไปหาอาหารให้ลำบากข้างนอกก็น่ายินดีพอแล้ว อย่าไปคิดอะไรมาก แค่นอนรอให้ทุกอย่างกลับมาปกติ

โทรศัพท์ของเธอสั่นท่ามกลางความเงียบสงัดกลางแหล่งน้ำใหญ่…สามีโทรบอกให้เธอรีบกลับบ้าน เขาโวยวายว่ามีตัวเหี้ยขนาดใหญ่เข้ามาในห้องนอนไม่ยอมออกไปไหน เธอไม่เข้าใจว่าเขากลัวอะไรพวกมัน เราอยู่ในพื้นที่น้ำขังกว้างใหญ่มานานจนลืมไปแล้วว่าเฟอร์นิเจอร์ชั้นล่างเคยอยู่ตรงไหนพวกสัตว์กลายเป็นเพื่อนบ้านแทนผู้คนที่อพยพจากไป  เขายังไม่ยอมรับความจริงเสียที 

น้ำท่วมยาวนาน พวกสัตว์หลุดหลงเข้ามาในบ้านบ่อยครั้งตามซอกและรูในบ้านที่แตกพัง ยุง แมงมุม หอยทาก นก หนู เต่า ตุ๊กแก งู คางคก ค้างคาว พวกมันคงแยกพื้นที่ในบ้านและนอกบ้านไม่ออก เธอไม่ได้หวาดกลัวพวกมันเท่าสามี เลยเป็นหน้าที่เธอที่จะต้องจัดการเรื่องพวกนี้ เธอต้องเอาพวกมันออกไปจากบ้านทุกครั้ง

เสียงของสามีพูดรัว เขากำลังตื่นตระหนก บอกว่า เขาคงนอนไม่หลับหากสัตว์บุกรุกที่น่าเกลียดไม่ออกไปจากบ้านก่อน มันอาจมาทำร้ายขณะเขานอนหลับลึก เวลานี้การนอนคือเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเขา เขานอนวันละ 20 ชั่วโมงและพยายามเพิ่มชั่วโมงไปเรื่อยๆ เรื่องอื่นใดในโลก… ไม่สำคัญอีกต่อไป

เธอไม่มีทางเลือกนอกจากรีบกลับบ้านให้สามีสบายใจ เธออยากบอกให้เขารอและดูก่อนบ้าง… เหมือนกับที่เขาชอบบอกเธอ แต่เขาคงจะฉุนเฉียวและน้อยใจ ตราบใดที่เรายังไม่ตาย มันจะไม่กินเราหรอก พวกมันน่ะก็อาจจะสับสน เดินหาอาหารไปเรื่อยไม่ได้มีเจตนาร้าย เธอไม่เข้าใจว่าทำไมสามีของเธอถึงเกลียดกลัวพวกสัตว์เลื้อยคลานนักหนา

“โอเค เดี๋ยวรีบกลับไป” เธอบอกเขา

เธอค่อยๆ พายเรือกลับไปในลำคลองซึ่งเคยเป็นถนนในซอยหมู่บ้าน ซึ่งบัดนี้น้ำท่วมสูง เธอสังเกตว่าบางวันน้ำขุ่น บางวันน้ำใส บางวันน้ำนิ่ง บางวันน้ำไหลเอื่อยๆ บางวันน้ำนิ่งสนิทไร้คลื่น ไม่มีใครขับเรือผ่านไปมา เพื่อนบ้านก็อพยพหายไปหมด บางวันน้ำลดลงเล็กน้อย บางวันน้ำขึ้นสูงเร็วจนน่าวิตก เธอไม่รู้ว่าน้ำมาจากไหนมากมายและน้ำคงอยู่ยาวนานอย่างไม่มีทีท่าว่าจะแห้งเหือดไป

เธอจำได้ว่าในปีแรกที่อากาศเริ่มแปรปรวน บางวันฝนตก บางวันร้อนอบอ้าวจนเหงื่อผุด เธอกับสามีคุยกันเรื่องลมฟ้าอากาศทั้งวันทั้งคืน ติดตามข่าว ตั้งแจ้งเตือน ซับสไครบ์ทุกบริการที่จะช่วยให้รู้ถึงสภาพอากาศล่วงหน้าเพื่อวางแผนชีวิตให้ง่ายขึ้น นั่งฟังพยากรณ์อากาศทุกชั่วโมง ค่าอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วน้ำ ความเร็วลม ความกดอากาศ สามีดูภาพถ่ายจากดาวเทียม และข้อมูลตัวเลขอีกมากมายที่เธอไม่อาจจดจำได้หมด

พอผ่านไปนานเข้าหลายเดือนจนเป็นปี ฝนเริ่มตกต่อเนื่องไม่หยุด ไม่มีที่ให้น้ำระบายไปเพราะน้ำทะเลก็สูงขึ้นด้วย น้ำค่อยๆ สูงจนบ้านไม่เหลือพื้นที่ชั้นล่างไว้ใช้สอย ไม่มีใครสนใจลมฟ้าอากาศอีกต่อไป เราเริ่มหมดเรื่องจะคุย อาหารที่กักตุนร่อยหรอลงเรื่อยๆ ต้นไม้ใหญ่รอบๆ ค่อยๆ ตายลงเพราะรากเน่า บริเวณแถวบ้านของเธอกลายเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่หลายตารางกิโลเมตร พวกเขาโชคร้ายที่ตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดมาซื้อบ้านอยู่แถวนี้

พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยาเป็นภูมิทัศน์ที่เกิดจากกระบวนการธารน้ำ (Fluvial Process) การสะสมของตะกอนแม่น้ำทำให้เกิดเป็นที่ราบกว้างอยู่บริเวณด้านบนของอ่าวไทยสูงเฉลี่ย 2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตะกอนเหล่านี้มากับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน เมื่อสิ้นฤดูฝนและน้ำที่ไหลหลากมาจากพื้นที่ตอนบนลดลง น้ำในพื้นดินในบริเวณนี้จะลดลงแห้งไป

ปรากฏการณ์ฤดูน้ำหลากนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงฤดูฝน ในพื้นราบต่ำเกิดน้ำท่วมได้ง่ายและเป็นเรื่องปกติตามฤดูกาลของพื้นที่นี้มานาน

ส่องดูแผนที่เสี่ยงน้ำท่วม (Coastal Flood Risk) โดย Water Resources Institute
https://felt.com/map/Map-0Kru8lLcQgu58JIO5UgvmA?lat=14.074892&lon=100.488671&zoom=8.862

น้ำท่วมชั้นล่างของบ้านเธอไปนานแล้ว ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากค่อยๆ ตายไป กระแสน้ำขึ้นลงนั้นเคลื่อนย้ายสิ่งของในบ้านไปตามอำเภอใจ เชื้อรา ตะไคร่น้ำ ค่อยๆ กัดกินผนังบ้านที่อับชื้น ซอกมุมในบ้านเกิดเห็ดงอกขึ้นมา ประตูหน้าบ้านหลุดลอยหายไปกับน้ำ เธอเอาเทปมาปิดกระจกหน้าต่างห้องนอนที่ร้าวจากพายุ ลานจอดรถหน้าบ้านกลายเป็นบ่อน้ำ มีจอกแหน บัว และผักตบชวา พอพลบค่ำ พวกยุงนั้นช่างน่ารำคาญใจ

เธอพายเรือไปถึงบ้าน สามียืนอย่างกระวนกระวายใจรออยู่ที่ระเบียงชั้นสอง เธอไม่เห็นเขาออกจากบ้านมานานแล้ว เธอสังเกตว่าเขาพยายามไม่มองข้างนอกบ้าน เขาไม่อยากนึกถึงรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงที่ยังห่อพลาสติกไว้ ราคาของมันเท่ากับเงินเดือนของเขาหลายปีและเขาไม่อยากจะคิดคำนวณต่อไปให้ปวดใจ บัดนี้รถยนต์แห่งอนาคตจมหายลงตรงปัจจุบันที่เคยเป็นที่จอดรถหน้าบ้าน อีกประมาณศอก น้ำจะท่วมถึงพื้นชั้นสอง

เขาไม่ได้ใช้ร่างกายมากนัก จากเคยมีพุงน้อยๆ บัดนี้เขาผอมลง แก้มกลมแดงวาวเวลาดื่มแอลกอฮอล์ ผมค่อยๆ ร่วงจนหัวเถิก เธอต้องเล็มผมให้เขาทุกเดือน ร่างกายของเขาหดฟีบห่อเหี่ยวลงอาจเพราะไม่ได้ใช้งาน เขากินอาหารสำเร็จรูปในปริมาณเท่าที่จำเป็น นอนหลับยาวนานผิวหนังซีดขาวเพราะไม่เจอแดด แต่เธอไม่เคยทักถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่อยากให้เขาไม่มั่นใจในตัวเอง เขาเคยชอบคุยเรื่องงานของตัวเอง ตั้งแต่ไม่มีงาน เขาก็เริ่มเงียบลงเรื่อยๆ และนอนเยอะขึ้น การนอนกลายเป็นงานหลักของเขาไปแล้ว และเธอห้ามรบกวน ตัวเหี้ยในห้องนอนจึงบั่นทอนจิตใจของเขาอย่างมาก แต่เขาก็กลัวมันมากเกินจะจัดการด้วยตัวเอง 

“จู่ๆ มันเข้าไปในตู้ ผมเลยล็อคมันไว้ รีบเอามันออกไปเดี๋ยวนี้” เขาสั่ง เธอพยักหน้ารับทราบ ปีนจากเรือไปที่ระเบียงห้อง เมื่อเข้าไปในห้องนอน เธอได้ยินเสียงก็อกแก็กในตู้เสื้อผ้า เมื่อเปิดออกมา สัตว์ผู้บุกรุกจึงค่อยๆ คลานออกมาให้เธอได้เผชิญหน้ากับ “มัน”เมื่อน้ำสูงขึ้น พวกมันมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ เสาะหาร่างกายผู้ตายและเศษสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร

“มัน” คือ “เหี้ย” สัตว์กินซาก มีลำตัวรวมกับหางยาวพอๆ กับความสูงของเธอ มันจ้องเธอนิ่งด้วยสายตาเย็นชา ดวงตากลมวาวไม่กะพริบ สิ่งมีชีวิตแบบ “มัน” ดำรงอยู่โดยหากินกับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ และซากศพ ผิวหนังดูหยาบกร้านตะปุ่มตะป่ำด้วยเกล็ดจุดขาวดำดูลายตา หน้าตาก็ไม่น่ารักเอาเสียเลย เธอรู้สึกเหมือนกำลังจ้องมองกาลเวลาผ่านดวงตาของมันกลับไปในวิวัฒนาการหลายล้านปี

มันแลบลิ้นใส่เธอ เหี้ยแลบลิ้นเพื่อดมกลิ่น ลิ้นของมันรับรู้ละอองโมเลกุลในอากาศ มันกำลังชิมสภาพแวดล้อมรอบตัว ทุกครั้งที่ตวัดลิ้น เธอรู้สึกเหมือนกำลังถูกประเมิน ภาวนาให้มันรู้ว่านี่ไม่ใช่เหยื่อ เธอและสามีไม่ใช่อาหาร


ตัวเหี้ย (Varanus salvator) เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าขนาดยักษ์ พบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ ความยาว 2.5–3 เมตร ตัวเหี้ยเป็นสัตว์ในตระกูลนี้ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากมังกรโกโมโด (V. komodoensis

โครงสร้างลำตัวประกอบไปด้วยผิวหนังที่มีกระดูกเล็กๆ ภายใต้เกล็ดที่เป็นปุ่มนูนขึ้นมา เกล็ดมีการเชื่อมต่อกันตลอดทั้งตัว ไม่มีต่อมเหงื่อแต่มีต่อมน้ำมันใช้สำหรับการป้องกันการสูญเสียน้ำ ช่วยให้อยู่บนบกได้ยาวนานมากขึ้น มีลิ้นแยกเป็นสองแฉกคล้ายงูใช้สำหรับรับกลิ่นซึ่งสามารถรับรู้ได้ถึงอาหารเป็นระยะทางไกลหลายเมตร หางยาวมีขนาดพอๆ กับความยาวลำตัว เป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการทรงตัวและเคลื่อนที่ หากเทียบตัวเหี้ยกับสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มอื่น พวกมันมีการใช้ออกซิเจนสูงกว่าสำหรับการดำน้ำ

“ออกไป คนจะนอน” สามีตวาดสัตว์ผู้บุกรุก แน่นอนว่าไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับ มันยังคงยืนนิ่งเหมือนพิจารณาดูเธอและเขา มันตวัดลิ้นยาวเป็นพักๆ แน่ล่ะ มันคงไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพูด ตัวของมันไม่ใหญ่ แต่การมีอยู่ของมันทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ห้องนอนคับแคบ

โลกนี้มีสัตว์ที่เรารัก มีสัตว์ที่เราเกลียด และสัตว์ที่เรากินเป็นอาหาร ไม่มีเส้นกั้นแบ่งชัดเจนว่าอะไรคือข้อแตกต่าง ตัวเหี้ยไม่น่ารักเหมือนหมาหรือแมว สัตว์เลื้อยคลานมักเป็นต้นฉบับของสัตว์ตัวร้ายในหนัง ร่างของมันใหญ่กว่าจิ้งจกและตุ๊กแกหลายเท่า สำหรับสามี พวกมันคือสิ่งปนเปื้อนน่ารังเกียจที่ต้องถูกกำจัดโดยเร็ว แต่เขาหวาดกลัวเกินกว่าจะจัดการมันด้วยตัวเอง

สิ่งมีชีวิตแปลกหน้านั้นเคลื่อนตัวช้าๆ มันคลานไปรอบๆ ห้อง หางของมันยาวไม่น้อยตวัดไปมา มันคลานหนีออกไปทางประตูระเบียงที่เปิดไว้ เธอและสามียืนมองมันค่อยๆ ว่ายน้ำไปจนลับตา เขาดูโล่งอก แต่เมื่อเปิดตู้เสื้อผ้าเพื่อเช็คความเสียหาย เขาพบคราบดิน และเมื่อเปิดดูใต้กองเสื้อผ้า พบว่ามีวัตถุกลมรียาวสีขาวขุ่นจำนวนมากวางทับซ้อนกัน  วัตถุนั้นมีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่วางบนมือเธอได้พอดี



“ไอ้ตัวเหี้ยนั่น มันไข่ทิ้งไว้” สามีสบถ เธอสะดุ้ง ผู้คนคงไม่ชอบมันมากนักมาแต่ไหนแต่ไร เขาโกรธมาก เธอไม่รู้ต้องจัดการกับไข่เหล่านี้อย่างไร

เธอเห็นพวกมันบ่อยครั้งนอกหน้าต่าง ว่ายน้ำ หากิน หรือนอนอยู่บนขอนไม้ แต่เธอเพิ่งเคยเห็นไข่มันเป็นครั้งแรก เธอลองหยิบไข่หนึ่งฟองขึ้นมาวางบนมือ ไข่ของมันนิ่ม เปียกชื้นเล็กน้อย สีอ่อนกว่าไข่ไก่ เธอนึกสงสัยว่าไข่ตัวเหี้ยเอาไปทำไข่เจียวได้ไหม จะมีรสชาติเป็นอย่างไร แต่สามีคงไม่ยอมให้เธอกินของแปลกๆ พวกนี้

“คุณครับ พื้นที่แถวนั้น มันก็ท่วมไปหมดแล้ว จะมีสัตว์บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับ” เมื่อเธอโทรไปแจ้งให้คนเข้ามาจัดการ เจ้าหน้าที่สถานีกู้ภัยพูดด้วยเสียงสุภาพแต่ดูรำคาญ ทางการคงไม่มีกำลังคนมากพอ สัตว์เข้าบ้านไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ยังไม่มีใครตาย ใครบาดเจ็บ มีแค่ความไม่สบายใจของสามีที่ทำให้เธออึดอัด

“มันออกไข่มาเยอะเลยนะคะ ช่วยแนะนำได้ไหมว่าต้องจัดการยังไง” เธอขอความเห็น

“ผมว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ถ้ากลัวมาก คุณโยนทิ้งน้ำไปเลยก็ได้มั้งครับ ถ้ารังเกียจ ก็รอให้มันฟักแล้วว่ายออกไปเองก็ได้ครับ” เจ้าหน้าที่พูดประชด อาจเพราะมีเรื่องเร่งด่วนมากมายรอเขาอยู่ ตราบใดที่ไม่มีคนเจ็บ คนตาย เจ้าหน้าที่คงไม่มา

“ค่ะ” เขาวางสายไปก่อนที่เธอจะได้ถามต่อ

ตัวเหี้ยออกลูกเป็นไข่เฉลี่ยคราวละ 30 ฟอง และใช้เวลาฟัก 180-300 วัน ทั้งนี้ตัวเหี้ยจะวางไข่ในปลายฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝน และอาจยาวไปถึงฤดูหนาว จะจับคู่กันโดยไม่เลือกว่าคู่จะต้องเป็นตัวเดิม บางครั้งอาจมีการต่อสู้รุนแรงระหว่างตัวผู้เพื่อแย่งชิงตัวเมีย สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งบนบกและในน้ำ อาจผสมพันธุ์ได้มากกว่าปีละหนึ่งครั้ง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหารและความสมบูรณ์เพศของตัวเมีย การผสมพันธุ์ครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที

นอกจากนี้แล้ว ไข่เหี้ยยังสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำมาต้มให้สุก แล้วใช้เข็มจิ้มให้เป็นรู แช่น้ำเกลือให้ความเค็มซึมเข้าไป แล้วจึงนำไปย่างไฟ มีรสชาติเค็มๆ มันๆ ใช้รับประทานคู่กับมังคุดจะได้รสชาติดี จึงเป็นที่มาของคำพังเพยที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28..

เธอค่อยๆ นับไข่และหาผ้าเก่าๆ มาห่อเอาไว้  สัตว์กินซากออกไข่ไว้ทั้งหมด 28 ฟอง

ข้างนอกเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ กองผ้าอับๆ ในตู้อาจมีผิวสัมผัสคล้ายพื้นดินที่มันตามหา ปกติพวกมันจะขุดหลุมตื้นๆ ในดินเพื่อฝังไข่ ข้างนอกน้ำท่วมสูงเป็นบริเวณกว้าง ไม่มีพื้นดินอีกต่อไป ตัวเหี้ยอาจจะหาแผ่นดินไม่พบ จึงมาไข่ทิ้งไว้ มันไม่รู้หรอกว่าสามีของเธอเกลียดและกลัวพวกมันมากแค่ไหน

สามีบอกให้เธอเอาไข่ทั้งหมดโยนลงน้ำเสีย เขาไม่อยากจะสัมผัสไข่ของมันด้วยซ้ำ เธอเป็นคนจัดการเรื่องพวกนี้ในบ้านเสมอ  มันเพิ่งวางไข่เมื่อครู่ ยังมีเวลาอีกนานกว่าพวกมันจะฟักตัว แม้พวกมันจะว่ายน้ำได้ แต่การจะโยนพวกมันลงน้ำไป ไข่ทุกใบจะจบชีวิตลงไปด้วยน้ำมือเธอ หายไปอย่างไม่มีใครรู้และสนใจ พวกมันจะหมดโอกาสจะได้เติบโต ออกหากิน ผสมพันธุ์ หาที่วางไข่เหมือนแม่ของมัน และมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกที่อุ่นขึ้นภายใต้หนองน้ำอันกว้างใหญ่

ไข่ 28 ฟองในกองผ้า ในสภาพแวดล้อมปั่นป่วนเช่นนี้ จะมีกี่ตัวที่ได้ลืมตาออกจากเปลือกหนามาดูโลก จะมีกี่ตัวที่ได้เติบโต จะมีกี่ตัวที่ได้สืบพันธุ์และวางไข่

ตัวเหี้ยมีฟันที่มีลักษณะที่คล้ายใบเลื่อยเหมาะสำหรับการตัดฉีกกินอาหารโดยเฉพาะ ชอบหากินของเน่าเปื่อย เศษซากอาหาร บางครั้งก็จะกินสัตว์เป็นๆ เช่น ไก่, เป็ด, ปู, หอย, งู, หนู, นกขนาดเล็กถึงกลาง และไข่ของสัตว์ต่างๆ รวมทั้งปลา เหี้ยไม่ใช่สัตว์นักล่า แต่เป็นสัตว์กินซากโดยธรรมชาติ บางครั้งอาจกินเหี้ยขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารได้ ในกระเพาะมีน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรงและแบคทีเรียสำหรับย่อยสลายซากเน่าโดยเฉพาะ

สามีหยิบซองสีขาวออกมาจากตู้ เขาตักผงสีขาวเทลงแก้ว 2 แก้ว บอกเธอว่าวันนี้เขาตั้งใจจะนอนให้ได้ 48 ชั่วโมง เธอช่วยเขาเติมน้ำเปล่า ค่อยๆ คนจนเริ่มเข้าที่กลายเป็นของเหลวสีขาวอมชมพูข้นๆ ทั้งคู่ยกแก้วดื่มของเหลวอย่างรวดเร็ว รสชาติของมันเหมือนน้ำเต้าหู้ มีรสหวาน กลิ่นเหมือนยาสีฟัน แม้จะไม่อร่อยเหมือนอาหารที่เธอคุ้นเคย แต่มันมีทั้งสารอาหารและพลังงาน เธอไม่เคยชอบรสชาติของมัน แต่มันก็สะดวกสบายและเพียงพอให้มีชีวิตอยู่รอด

ตอนต้นปี สามีเอาเงินเก็บก้อนสุดท้ายไปกักตุนสารอาหารแบบผงสำเร็จรูปไว้มากมายโดยไม่บอกเธอก่อน ต่อไปนี้ เขาและเธอจะเปลี่ยนมากินสารอาหารสำเร็จรูป จะไม่ต้องจัดการเรื่องขยะเปียกเน่าเหม็น ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาอาหารขึ้นลง ไม่ต้องกลัวสัตว์จะเข้ามาคุ้ยเขี่ยหาอาหารในบ้าน เขาต้องการตัดตัวแปรไม่แน่นอนในชีวิตออกไปให้หมด เขาและเธอจะมีชีวิตรอดไปได้อีกหลายเดือน

อาหารแห่งโลกอนาคต พวกเราไม่ใช่คนล้าหลัง” สามีย้ำกับเธอ ผงทดแทนอาหารสำเร็จรูปนั้นราคาถูก จัดเก็บง่าย จัดการง่าย คำนวณง่าย เธอรู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กทารกที่กินแค่นมผงก็เพียงพอ ลึกๆ เธอคิดถึงและอยากกินไข่เจียวแต่ก็ไม่ได้บอกเขา

ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement) ถูกออกแบบมาให้ใช้แทนอาหารปกติ โดยมีการควบคุมแคลอรีที่ได้รับให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ซอยเลนท์ อาหารแห่งโลกอนาคต ผลิตภัณฑ์โดย Soylent Nutrition, Inc. เป็นบริษัทอเมริกันที่ผลิตสิ่งทดแทนอาหารในลักษณะแป้ง ผงเขย่า และเป็นแท่ง

ซอยเลนท์ ตั้งชื่อตามอาหารใน Make Room! Make Room! (2509) นิยายไซไฟแนวดิสโทเปีย (ฐานคิดของหนังปี 2516 เรื่อง Soylent Green) สำรวจแนวคิดของโลกในภาวะที่ประชากรล้นโลกและมีทรัพยากรจำกัด ผู้ก่อตั้งร็อบ ไรน์ฮาร์ท (Rob Rhinehart) นำเสนอว่าผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร และเป็นวิธีการราคาถูกที่ทำให้คนบริโภคแคลอรีที่จำเป็นได้เพียงพอ

ในหนังซอมบี้วันสิ้นโลก เราเห็นตัวละครวิ่งหยิบของฟรีในซูเปอร์มาร์เก็ตตามอำเภอใจ ในช่วงวิกฤติ ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นว่างเปล่าไม่มีแม้กระทั่งกระดาษชำระ มีคนเพียงหยิบมือที่สามารถกักตุนอาหารไว้ได้ การสั่งของออนไลน์ไม่ได้ง่ายดายเหมือนก่อน น้ำมันเชื้อเพลิงแพงจนไม่คุ้มกับการขนส่ง บริษัททั้งหลายพากันปิดตัว

น้ำท่วมสูงจนครัวอยู่ชั้นล่างนั้นหมดประโยชน์ไปโดยปริยาย เธอออกไปจ่ายตลาดซื้ออาหารสดได้ยาก เมื่อผู้คนหายไปหมด ในที่สุด เมื่อแก๊สถังสุดท้ายหมด ก็ใช้เวลานานกว่าจะมาส่งทางเรือ ตู้เย็นใช้พลังงานมากเกินไป พลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพลดลงจากท้องฟ้ามืดครึ้มต่อเนื่อง การทำอาหารจึงเป็นเรื่องยากลำบาก

ในสภาพอากาศเช่นนี้ เธอนึกสงสัยเสมอว่าว่ายายจะทำอย่างไร ยายของเธอคงพายเรือออกไปคล่องแคล่วและหาอาหารได้เก่งกว่าเธอและสามี ตอนเธอยังเด็ก เธอเคยไปเยี่ยมยายที่บ้าน ออกไปตามหาว่าไก่ไข่ทิ้งไว้ตรงไหน ยายเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็ก บ้านยายเคยเลี้ยงไก่จำนวนมาก ทำให้มีไข่กินตลอดปี บางวันยายต้องฆ่าไก่เพื่อทำอาหารเลี้ยงคนในครอบครัว เธอขนลุกเมื่อนึกถึงภาพเลือดกระฉูดจากคอไก่ ร่างของไก่อ่อนปวกเปียก ไม่อยากนึกว่ายายที่น่ารักใจดีฆ่าไก่ไปกี่สิบกี่ร้อยตัว เวลานั้นเธอรู้สึกกลัวยายจับใจ

ตอนอาหารขาดแคลนใหม่ๆ สามีลองสั่งไก่มาเลี้ยงบนดาดฟ้า แม้ค่าขนส่งแสนแพงแต่ก็คิดว่าคุ้มค่าเพราะจะได้มีไข่ไว้กินแก้เบื่อแทนอาหารสำเร็จรูป เธอหวังว่าจะไม่อดอยากจนต้องฆ่าพวกมันเพื่อมาปรุงอาหาร เธอดูคลิปฆ่าไก่ด้วยมือเปล่า และตัดสินใจว่าคงฆ่าพวกมันไม่ลง แต่ไม่ทันไร วันรุ่งขึ้น ไก่ก็หายไปหมดเหลือเพียงดาดฟ้าที่ว่างเปล่า สามีโกรธมาก เขาเดาว่าตัวเหี้ยหรืองูคงแอบมากินพวกมันไปหมด จากนั้นเขาและเธอจึงยกเลิกความคิดจะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ แม้จะมีอาหารอยู่ข้างนอกแต่เราไม่เคยต้องออกไปหาเอง มันเป็นเรื่องยากลำบากเกินไป

โลกในหนังสารคดีที่มีเสียงพากย์นุ่มลึกราวเป็นเสียงจากสวรรค์ของพระเจ้าอันอบอุ่นล้วนมีสัตว์มากมายที่น่าตื่นตาตื่นใจ เวลาผู้คนบอกว่าพวกเขารักธรรมชาติ พวกเขามักหมายถึงหมีแพนด้าในป่าลึก โลมาในแม่น้ำอิรวดี ลิงอุรังอุตังในป่าฝนร้อนชื้นเขตศูนย์สูตร นกหายากบนเกาะฮาวาย พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร หาก”ธรรมชาติ”เคลื่อนมาอยู่ติดหลังบ้าน หากเหล่าสัตว์เริ่มบุกรุก แย่งอาหาร และนำพาโรคภัย พวกเขาจะยังยิ้มแย้มบอกว่ารักสัตว์อยู่ไหม พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากธรรมชาตินั้นจะฉีกทึ้งร่างพวกเขาเป็นชิ้นๆ จนไม่เหลือสภาพที่จะจดจำได้

But you’re sleeping, please wake up

 

การจำศีล (Herbernation) คือวิธีการที่สัตว์จะรักษาพลังงานไว้เพื่อให้รอดชีวิตในช่วงฤดูกาลที่รุนแรงและขาดอาหาร การจำศีลมิใช่แค่การนอนหลับแต่รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่นการที่อุณหภูมิลดต่ำลง และการเผาผลาญที่ช้าลง การศึกษาเรื่องกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจำศีลย่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์กับผู้คน ในหนังไซไฟมักมีตีมของการจำศีลสำหรับการเดินทางในอวกาศที่มีระยะไกลและยาวนาน

สัตว์ Ectotherms คือสัตว์พวกที่ได้รับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อุณหภูมิร่างกายขึ้นกับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม สัตว์เหล่านี้ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายเพื่อสร้างความร้อน จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากสารอาหาร

มนุษย์นั้นเป็น สัตว์พวก Endotherms เพราะในชีวิตประจำวัน เรามักเข้าใจว่าคือความแตกต่างระหว่างสัตว์เลือดเย็น เช่น งู และ สัตว์เลื้อยคลาน กับสัตว์เลือดอุ่น เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือสัตว์ปีก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะปลา สัตว์เลื้อยคลาน และแมลงบางชนิดนั้นเป็น สัตว์พวก Endotherms ทั้งหมดหรือบางส่วน

แม้อาหารขาดแคลนหรืออากาศแปรปรวน ร่างกายมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาให้สามารถจำศีลเองได้อัตโนมัติ  

เวลานี้ไม่มีการออกจากบ้านไปทำงานเหมือนรุ่นพ่อแม่ แทบไม่เหลืองานอะไรต้องทำอีกแล้ว สามีค้นพบว่าเวลานอนเป็นช่วงเวลาเดียวที่ทำให้เขาไม่เครียด ไม่กังวล เขาค่อยๆ ฝึกร่างกายให้นอนได้ยาวนานเป็นสิบๆ ชั่วโมงผ่านคำแนะนำของเทรนเนอร์การนอนทางวิดีโอคอล เขาเข้าร่วมกลุ่มออนไลน์แข่งขันเก็บชั่วโมงนอน เสมือนเป็นกีฬาเก็บแต้มประเภทหนึ่ง

สามีหยิบกระปุกยานอนหลับออกมา เขาบอกว่ามันเป็นรุ่นทดลองใหม่ เขากินยานอนหลับสีฟ้าอ่อนเข้าไปสามสี่เม็ดและดื่มน้ำตาม อวดเธอว่า มันคือเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ช่วยให้มนุษย์ลดกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ลดความอยากอาหาร ลดการใช้พลังงาน ลดอุณหภูมิร่างกายทำให้คนสามารถเข้าใกล้ภาวะจำศีลได้ ร่างกายของพวกเขาเข้าใกล้สัตว์จำศีลเพื่อหลบหนีจากสภาพอาหารขาดแคลนหรือสภาวะแวดล้อมอันตราย 

เธอมองดูสามีค่อยๆ สะลึมสะลือ สวมเฮดเซ็ทที่มีภาพและเสียงน้ำไหลช่วยให้ผ่อนคลาย เอนตัวลงนอนบนเตียง ห่มผ้าหนานุ่มใยสังเคราะห์ เพียงครู่เดียว สามีก็ส่งเสียงกรนเบาๆ เขาหลับสนิทในที่สุด แม้เธอจะรู้สึกเหงาเหมือนอยู่ตัวคนเดียว แต่นี่คือความสุขเดียวที่เขามี เขาบอกเธอว่าคราวนี้จะนอนหลับให้ได้สักสองวันเต็ม 

เขาคะยั้นคะยอให้เธอมาร่วมกิจกรรมแต่เธอปฏิเสธ เขาเล่าว่าบางคนสามารถนอนหลับได้ยาวนานหลายวันเพราะบางคนอาศัยอยู่ในเขตแล้งที่อาหารขาดแคลน เธออาจเป็นคนหัวโบราณเพราะยังชินกับการนอนวันละ 7-8 ชั่วโมงเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ การนอนยาวนานทำให้เธอปวดหัวและเมื่อยตัวในวันรุ่งขึ้น 

เธอไม่เข้าใจว่าการนอนนั้นช่วยอะไรนอกจากทำให้เวลาผ่านไปไวขึ้น สามีบอกว่านั่นแหละคือเป้าหมายสำคัญ นอนเพื่อให้เวลาร้ายๆ ผ่านไป เขาอธิบายว่ามันก็เหมือนเวลาเราดูหนังไซไฟ ตัวละครนั้นจำศีลยาวนานหลับไปขณะที่เดินทางข้ามกาแลกซี สภาพอากาศที่ย่ำแย่นั้นเหมือนเวลาที่เรานั่งเครื่องบินตกหลุมอากาศ หรืออยู่ในเรือท่ามกลางคลื่นสูง หรือต้องเดินทางไกล เราก็แค่หลับไปให้นานพอที่จะไม่ต้องรู้สึกอะไร ไม่ต้องหวาดกลัว และตื่นขึ้นเมื่อถึงปลายทาง



ในเช้าวันถัดมา อากาศร้อนมากจนเธอเหงื่อตก เธอตื่นขึ้น เปิดหน้าต่างดู ระดับน้ำลดลงมาเล็กน้อย ทุกอย่างนิ่งสงบ มีเพียงเสียงนกร้องข้างนอก เธอเปิดหน้าต่างเพื่อระบายความร้อน แดดข้างนอกจ้า เธอรู้สึกหิว

จนถึงวันที่สามแล้วสามีก็ยังไม่ตื่น ครั้งนี้เขาหลับสนิทแม้มีเสียงพายุรุนแรงอยู่หลายชั่วโมงในช่วงที่ผ่านมา การนอนครั้งนี้เป็นครั้งที่ยาวนานที่สุดของเขา

เธอแอบเข้าไปในห้องที่เงียบและมืดสลัวของสามี ร่างของเขานอนนิ่ง เมื่อเธอเอาปลายนิ้วแตะผิวหนังของเขา หัวใจเธอแทบหยุดเต้น เนื้อตัวของเขาเย็นเฉียบผิดกับอากาศร้อนอบอ้าว เมื่อเธอเปิดไฟจึงพบว่าผิวหนังของเขาซีดและเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว เธอเขย่าแขนเขา ร่างของเขาแข็งทื่อ วินาทีนั้นเธอเห็นความตายอยู่ตรงหน้า เมื่อเธอเอามือไปอังตรงจมูกเขาไม่หายใจเสียแล้ว เขาได้จากไปแล้วอย่างเงียบเชียบ

เธอเปิดดูข่าว มีรายงานว่า มีคนมากมายตายเพราะฮีทเวฟฉับพลันโดยที่ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า อากาศแปรปรวนเหนือการคาดคะเนของพยากรณ์อากาศ แม้สามีของเธอพยายามจำกัดตัวแปรความเสี่ยงในชีวิต แต่เขาอาจเปราะบางกว่าที่ตัวเองคิด ร่างของหลายคนที่ตายถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยว ข่าวบอกให้ระวัง อาจมีสัตว์กินซากที่ทำงานไวกว่าเจ้าหน้าที่ไปถึงก่อนเพื่อรุมแทะร่าง นึกถึงคำที่สามีบอกไว้ว่า ไม่มีใครอยากตายไปโดยไม่มีใครรับรู้ และถูกทิ้งไว้จนกลายเป็นอาหารของสัตว์

ฝนหยุดตกเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน น้ำเริ่มลดไปเล็กน้อย พยากรณ์อากาศบอกว่าหน้าแล้งยาวนานอาจกำลังมาแทนที่

คลื่นความร้อน (Heatwave) คือช่วงเวลาที่อากาศร้อนอย่างผิดปกติ โดยทั่วไปมักเกิดยาวนานประมาณ 1-2 วัน โดยอุณหภูมิต้องอยู่นอกเหนือจากตัวเลขปกติของพื้นที่นั้นๆ ตามที่เก็บบันทึกไว้ตามฤดูกาล

แม้ฮีทเวฟอาจจะดูเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่รุนแรงและน่าตกใจเหมือนภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ อย่างพายุเฮอริเคน ไต้ฝุ่น น้ำท่วม แต่ฮีทเวฟทำให้คนตายในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่าภัยพิบัติอื่นๆ เกี่ยวกับสภาพอากาศรวมกันเสียอีก

อุณหภูมิกระเปาะเปียก (Wet Bulb Temperature)คือ อุณหภูมิของอากาศที่วัดได้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ที่กระเปาะถูกหุ้มด้วยผ้าเปียก ความชื้นในอากาศและความร้อนผนวกกันเป็นตัวแปรสำคัญในการที่คนเราจะรับรู้อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมในอากาศ 

มนุษย์ปกติสามารถมีชีวิตรอดในสภาวะอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสพร้อมกับความชื้นสัมพัทธ์ 75% ได้ประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะร่างกายมนุษย์นั้นรักษาอุณหภูมิในร่างกายโดยการขับเหงื่อ แต่หากอุณหภูมิแตะขีดอันตราย ร่างกายจะไม่สามารถคลายความร้อนลงได้ อุณหภูมิร่างกายจะสูงต่อเนื่องและอาจเสียชีวิต จึงทำให้มนุษย์ไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศร้อนและชื้นรุนแรงได้ 

https://www.theguardian.com/science/2022/jul/31/why-you-need-to-worry-about-the-wet-bulb-temperature

เขาตายอย่างเป็นทางการทั้งบนเตียงและในเอกสาร เธอลงทะเบียนการเสียชีวิตของเขาในระบบ เธอเพียงแค่ถ่ายรูปและวิดีโอร่างกายของเขาเพื่อยืนยัน กระบวนการเสร็จสิ้นง่ายดายไปอย่างง่ายดายรวดเร็วสมเป็นโลกสมัยใหม่ ต่อให้เขาตายไปแล้วในเอกสาร ร่างกายของเขายังแน่นิ่งอยู่บนเตียงขนาด 6 ฟุตตรงหน้า เธอนั่งดูร่างกายของสามีอย่างเลื่อนลอย เธอต้องทำอย่างไรต่อไป

สามีของเธอเป็นหนึ่งในคนมากมายที่จากไป ร่างกายของเขาต้องรอเพราะเตาเผาศพไม่ว่างไปอีกหลายวัน การเผาศพนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การฝังดินก็ยากเพราะมีพื้นดินเหลือไม่มากในบริเวณนี้  

เธอต้องรออีกนานกว่าจะมีรอบเรือมารับศพเขาไปเผา เขาบอกให้เธอทำใจเพราะคนอื่นๆ ก็ต้องรอเหมือนกัน ระหว่างรอเธอจัดงานศพออนไลน์ให้สามี มีคนมาร่วมไม่มากนัก  มีคนเข้ามาแสดงความเสียใจบ้าง พวกเขาอาจหลับอยู่ บางคนอาจตายไปโดยที่เธอไม่ทราบ หรือเลิกติดตามข่าวคราวคนรู้จักไปเสียแล้ว

ระหว่างรอ ระบบได้ส่งวิดีโอและแผ่นภาพอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับร่างกายของสามี เธอเปิดดูคลิปวิดีโอตัวอย่างการเน่าสลายของซากหมู นี่คือขั้นตอนเดียวกันกับการเน่าสลายที่กำลังดำเนินไปอย่างเงียบเชียบโดยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในร่างกายของสามี

หากอากาศร้อนและแห้งก็คงดี ร่างกายเขาอาจจะกลายเป็นมัมมี่และย่อยสลายช้าลง แต่อากาศกลับเริ่มร้อนและชื้นขึ้นอย่างรุนแรง เธอลากร่างกายของสามีไปห้องน้ำ ถอดเสื้อผ้า เอาฝักบัวชำระร่างกาย อาบน้ำให้เขาอย่างสะอาดหมดจด หวังว่าพวกแมลงนักย่อยสลายจะยังไม่ทราบถึงการตายนี้ เธอเอาน้ำหอมกลิ่นที่เขาชอบฉีดพรมลงร่างเพื่อกลบกลิ่น

การเน่าสลายของซากศพนั้นเป็นกระบวนการต่อเนื่อง อาจใช้เวลาตั้งแต่หลายสัปดาห์ไปจนหลายปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เราสรุปขั้นตอนของการเน่าเปื่อยออกเป็นขั้นต่างๆ ขึ้นกับสภาพทางกายภาพของศพสัตว์ที่ทดลอง จากการใช้ลูกหมูหนัก 40 กิโลกรัมเพื่อสาธิตการเน่าสลาย เนื่องจากปริมาณสัดส่วนไขมัน ขนบนร่างกาย และความสามารถของซากในการดึงดูดแมลงนั้นใกล้เคียงกับร่างกายมนุษย์

The living pig ในร่างกายสัตว์ที่มีชีวิต ในลำไส้มีแบคทีเรีย โปรโตซัว ไส้เดือนฝอยหลากชนิด สิ่งมีชีวิตเหล่านี้พร้อมจะมีชีวิตใหม่หากร่างกายของสัตว์นั้นตายลงไป

Initial decay (0-3 วัน) แม้ร่างกายจะดูสดในช่วงแรกจากภายใน ภายในแบคทีเรียในร่างกายได้เริ่มกัดกินส่วนต่างๆ โดยเริ่มจากลำไส้ จากนั้นจึงค่อยๆ กัดกินส่วนอื่นๆ  เอ็นไซม์​สำหรับย่อยอาหารจึงค่อยๆ แผ่ขยายไปทั่วร่างและทำลายผนังของเซลล์ เมื่อเสียชีวิตร่างกายจะดึงดูดแมลงให้วางไข่ในร่างกาย

Putrefaction (4-10 วัน) แบคทีเรียเริ่มทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์ จนมีของเหลวในร่างกาบ เกิดแก๊สต่างๆ ในช่องว่างของร่างกาย เริ่มมีกลิ่นรุนแรง ซึ่งดึงดูดแมลงหลากหลายชนิด ทำให้ร่างกายขึ้นอืด

Black putrefaction (10-20 วัน) ในขั้นนี้ ร่างกายที่อืดบวมจะพังลงในที่สุด ทำให้ร่างกายแบนยุบลงไป ส่วนของร่างกายที่เปิดออกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ ในขั้นนี้จะมีกลิ่นเน่าเหม็นรุนแรง ปริมาณของเหลวในร่างกายจะระบายออกและซึมเข้าไปในพื้นดินรอบๆ พวกแมลงและไรจะกัดกินของเหลวนี้ได้ แมลงจะเริ่มกัดกินเนื้อ แต่หากไม่มีแมลงแบคทีเรียก็จะค่อยๆ กินทั้งร่างกาย

Butyric fermentation (20-50 วัน) ส่วนเนื้อค่อยๆ หายไป และร่างกายเริ่มแห้ง มีกลิ่นคล้ายเนยจากกรดบิวทิริก ร่างกายที่สัมผัสกับพื้นดินจะถูกปกคลุมด้วยเชื้อรา

Dry decay (50-365 วัน) ร่างกายจะเริ่มแห้งและเน่าช้าลงมาก ผมและขนค่อยๆหายไป ทิ้งไว้เพียงโครงกระดูก

อ่านเพิ่มเติม: Stages of decomposition https://australian.museum/learn/science/stages-of-decomposition/

เจ้าหน้าที่ยังไม่ติดต่อมา แบคทีเรียในร่างกายของสามีเริ่มรอไม่ได้ พวกแมลงเริ่มมาแม้เธอพยายามเอาผ้าห่อเขาไว้อย่างมิดชิด กระบวนการย่อยสลายในร่างกายอันเงียบเชียบของเขาอาจเริ่มทำงาน เวลาผ่านไปร่างกายของสามีเริ่มเปลี่ยนสีและนิ่มลง ตัวเขาเริ่มมีกลิ่น ร่างผอมของเขาเริ่มพองขึ้นเล็กน้อย เธอหวั่นว่าหากร่างกายของเขาเริ่มเก็บของเหลวภายในไว้ไม่ไหวจะมันล้นทะลัก อีกไม่นานพวกสัตว์กินซากคงจะรับรู้และเริ่มมาเป็นแน่ เธอไม่อยากรออยู่ที่บ้านอีกแล้ว เธอตัดสินใจจะพายเรือออกไปหาที่ฝังศพสามีด้วยตัวเอง

เธอว่ายน้ำลงไปห้องเก็บของชั้นล่าง หาเสียมขุดดินอย่างทุลักทะเล ห่อร่างสามีด้วยผ้าปูที่นอนนุ่มที่เขาโปรดปราน หวังว่าจะช่วยลดกลิ่นและซับของเหลวจากร่างกายเขาได้บ้าง หญิงสาวร่างเล็กต้องแบกและลากร่างสามีวางพาดเรือลำเล็กอย่างทุลักทุเลจนเรือโคลงเคลง เธอเตรียมน้ำและอาหารใส่บนเรือ เพราะไม่รู้ว่าภารกิจนี้จะยาวนานเท่าไหร่ เธอค่อยๆ เริ่มพายเรือออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ใจว่า จมูกเริ่มชินกับกลิ่นหรืออากาศภายนอกถ่ายเท

ท่ามกลางหนองน้ำ พื้นดินที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปหลายกิโลฯ หวังว่าบางทีอาจจะมีเรือผ่านมาแล้วช่วยเหลือ สามีได้ออกจากบ้านเป็นครั้งแรกในรอบปี ปกติแล้วเธอเป็นคนที่ออกไปทำนู่นทำนี่ที่เขาต้องการ เขาไม่อยากออกไปเจอโลกภายนอก 

— 

เธอเคยถามสามีว่าหากใครคนใดคนหนึ่งตายไป จะจัดการกับศพกันอย่างไร เขาและเธอไม่มีศาสนา จึงไม่ต้องการพิธีกรรมให้วุ่นวาย มีคนมากมายตายไปโดยไม่มีโอกาสได้ระบุว่าอยากให้จัดการร่างกายเขาอย่างไร  

สามีบอกว่าเขาคงอยากถูกฝังสักที่หนึ่ง หรือเผาให้หายไปได้ก็คงจะดี แต่มองดูหนองน้ำนอกบ้านอันกว้างใหญ่ เธอก็ท้อใจ เธอไม่แน่ใจว่าพื้นดินที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหน เธอเริ่มเข้าใจว่าทำไมตัวเหี้ยถึงมาไข่ทิ้งไว้ในกองผ้า มันเองก็ยังหาพื้นดินเพื่อวางไข่ไม่พบ เธอจะพาร่างสามีไปฝังที่ไหน

ที่ทิเบต ร่างกายคนตายจะถูกวางทิ้งไว้ในที่โล่งเพื่อให้แร้งกิน เพื่อจะได้กลับสู่ธรรมชาติ แม้จะดูโหดร้าย แต่เธอมองว่ามันสวยงาม สามีบอกว่า ช่างเป็นความตายที่เพ้อเจ้อและเป็นภาระให้คนที่มีชีวิตอยู่เหลือเกิน เราต้องใช้เงินและใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเท่าไหร่เพื่อพาร่างเธอไปย่อยสลายให้แร้งกินที่บนภูเขาสูงห่างไกลเหนือระดับน้ำทะเล เธอช่วยเห็นใจคนที่มีชีวิตอยู่บ้างเถอะ เธอบอกว่า ไม่ต้องไปที่ทิเบตก็ได้ ที่อินเดียคนเอาร่างคนตายไปโยนแม่น้ำคงคา

เจ้าของบ้านที่สมุทรปราการได้กลิ่นเหม็นเน่ามา 2 วัน เดินตามกลิ่น ทีแรกนึกว่าหนูตาย ที่ไหนได้ เป็นศพชายวัย 70 ปี ตายมาหลายวัน ตัวเงินตัวทองเป็นฝูงกำลังรุมทึ้ง
อ่านข่าว

เกาะเต่า ประเทศไทย พบร่างนักท่องเที่ยวในป่ากำลังถูกกินโดยสัตว์เลื้อยคลาน คนท้องถิ่นรู้สึกแปลกใจที่มีตัวเหี้ยกลุ่มหนึ่งเข้าออกในป่าหลายรอบ เมื่อสืบจึงพบศพของนักท่องเที่ยวสาวต่างชาติ โดนรุมกินร่างบริเวณด้านหลังหินก้อนใหญ่หลังรีสอร์ตแห่งหนึ่ง
อ่านข่าว

ที่จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านพบตัวเงินตัวทอง รุมแทะศพชายที่ลอยน้ำลำตะคองไปติดกิ่งไม้ กู้ภัย เร่งกู้ร่าง ปรากฎว่า..เป็นศพของชายที่กระโดดน้ำ หายไปต่อหน้าสาวอุดรฯ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 
อ่านข่าว

แต่ถ้าน้ำขึ้นก็โยนหลังบ้านไปเลย สามีบอกว่าเขาไม่อยากเห็นภาพนั้น สามีกลัวจับใจเมื่อนึกว่าเขาอาจจะตายอย่างโดดเดี่ยวและถูกพวกสัตว์เลื้อยคลานแทะร่าง การถูกกินโดยสัตว์อื่นคงเป็นภาพที่ไม่น่าดูเท่าไหร่ หากน้ำลง เขาฝังร่างเธอไว้หลังบ้านก็ได้ เขาบอกว่าตัวเหี้ยอาจจะขุดร่างของเธอไปแทะกินอยู่ดี 

เธอบอกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา หากวันนึงเธอตายไป เธอคิดว่า ไม่เป็นไรหากพวกมันจะกินร่างกายของเธอเป็นอาหาร เธอคงจะไม่ได้อยู่รับรู้อีกแล้ว เรากินสัตว์อื่นได้มากมาย ถ้าเราตายไปแล้วต้องกลายเป็นอาหารของสัตว์อื่นบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เขาขมวดคิ้ว ดูไม่พอใจ ถามเธอว่า หากเขาตายไปเธอจะปล่อยให้เป็นอาหารสัตว์ไหม เธอบอกว่าต้องรอและดูก่อน เขาโกรธเธออยู่หลายวัน เธอสัญญาไม่ได้ว่าจะจัดการกับศพเขาได้ตามต้องการในโลกที่มีสภาพเช่นนี้ เธอไม่รู้เหมือนกันต้องทำอย่างไร และภาวนาให้เธอตายก่อนจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องพวกนี้ ลึกๆ แล้วเธอเชื่อว่าเขาคงเรียกใครสักคนมาจัดการ หรือปล่อยร่างเธอทิ้งไว้แล้วหนีไป เขาเองยังไม่สามารถจัดการได้แม้กระทั่งสัตว์เลื้อยคลานในห้องนอนตัวเอง

สามีทำจมูกยู่ สีหน้าเหยเก เขาเปลี่ยนเรื่องคุย เขาคงไม่อยากคิดถึงเรื่องพวกนี้ พอน้ำท่วม เธอกับเขาเห็นตรงกันน้อยลงเรื่อยๆ แต่เธอมักเงียบไว้และเออออไปกับเขาให้ผ่านไป

คนรู้จักของเธอหย่าร้างมากมาย อาจเพราะสภาพอากาศโลกไม่อำนวยให้คนมีความรัก โลกที่แย่ทำให้ผู้คนสับสนและปั่นป่วน แม้แต่อารมณ์ทางเพศก็เหือดหาย ถึงเธอกับสามียังคงอยู่ด้วยกัน แต่เธอไม่เคยบอกใครว่าเคล็ดลับของชีวิตคู่คือการไม่พูดจา ไม่ทะเลาะ ไม่ถกเถียง 

เวลาผ่านไป เขาและเธอแทบไม่ได้คุยอะไรกันมาก ไม่ได้นอนห้องเดียวกัน แต่เรายังต้องพึ่งพาอาศัยกันในวิกฤติเช่นนี้ แม้เขาจะเป็นคนบอก ส่วนเธอต้องเป็นคนลงมือทำเองเสียทั้งหมด



การพายเรือในระยะทางไม่กี่กิโลเมตรนั้นใช้เวลานานกว่าที่คิด เธออาจไม่ได้ใช้แรงมากนัก เธอค่อยๆ พาเรือไปจนท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้มเข้ม

พอเธอพายเรือออกไปถึงแม่น้ำ มีเรือพลังงานไฟฟ้าลำใหญ่แล่นผ่านเธอไปจนเกิดคลื่นที่ทำให้เรือโคลงเคลง เธอหวั่นว่าร่างของสามีจะหล่นลงน้ำ พวกเขาชะลอเรือเพื่อมองดูเธอ พอคิดได้ว่าในห่อผ้าดูเหมือนจะเป็นคนตาย พวกเขาก็รีบเร่งเรือผ่านไปโดยไม่ไถ่ถาม

เมื่อเธอพายเรือผ่านบ้านตามซอกซอย บางบ้านเปิดหน้าต่างออกมาแอบมองอย่างสงสัย พอดูรู้ว่าเป็นศพคนตาย พวกเขาก็รีบปิดหน้าต่างหนีอย่างรังเกียจ เธอสังเกตเห็นบางบ้านปลูกต้นกล้วยไว้ที่ดาดฟ้า มีคนทำสวนผักลอยน้ำอยู่ตามทาง ขณะที่เธอกับสามีใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้าน กินอาหารสำเร็จรูป โลกข้างนอกได้เปลี่ยนไปแล้ว

เธอเห็นกลุ่มคนออกเรือตกปลาอยู่ตามจุดต่างๆ จึงพายเรือไปถามพวกเขาว่า พื้นดินที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน พวกเขาชำเลืองมองห่อร่างกายของสามีแล้วหัวเราะ บอกให้เธอโยนศพทิ้งน้ำไปเลย เพราะไม่มีใครแคร์แล้วตอนนี้ แต่เธอยืนยันว่าจะพยายามจนถึงที่สุด พวกเขาส่ายหัว บอกให้เธอถอดใจ อีกไม่นานพระอาทิตย์จะตกดินแต่เธอยังไปไหนไม่ได้ไกล ลุงคนหนึ่งแบ่งหอยตัวเล็กๆ ประมาณ 2 กำมือมาให้เธอในถุงพลาสติก พร้อมกับผักบุ้งน้ำอีก 1 กำ พวกเขาชวนเธอออกมาหาปลา หาหอยด้วยกันในวันหน้า เธอพยักหน้าขอบคุณ





เธอไม่ได้ออกจากบ้านมาไกลขนาดนี้นานมากแล้ว สภาพบ้านเรือน ซอย ถนนที่เธอคุ้นเคยได้เปลี่ยนไปหมด

สามีที่แน่นิ่งนั้นไม่มีโอกาสได้เห็นท้องฟ้าสีส้มตรงหน้า เธอหยุดพักมองดูดวงอาทิตย์ตกสะท้อนผิวน้ำ เธอหลงทาง

เธอเห็นปลาในน้ำ มีงูตัวใหญ่ยาวว่ายผ่านและหายไป เหลือเป็นเส้นคลื่นไหวๆ เธอรู้สึกกลัวจับใจแต่มันไม่สนใจเธอด้วยซ้ำ นกสีขาวตัวหนึ่งบินผ่านไป มันพุ่งไปในน้ำอย่างว่องไว คว้าปลาในน้ำ และกลืนลงคออย่างรวดเร็ว จากนั้นก็บินหายไป มันรอดชีวิตไปอีกมื้อ

ในน้ำอาจมีปลามากมายในขณะที่ผู้คนหนีหายไปหมด เธอมีทักษะหาอาหารแย่กว่าพวกนกเสียอีก เธอเหนื่อยและร้อน ร่างกายเปียกเหงื่อผสมกับละอองน้ำจากการพายเรือ เธอร้อนออกจนต้องถอดเสื้อออกเหลือเพียงชุดชั้นใน ชำเลืองดูสามีที่ยังคงเงียบสงัดไร้ความเคลื่อนไหวในห่อผ้า เขาไม่สามารถแสดงความเห็นเวลาเธอแต่งตัวไม่ถูกใจได้อีกแล้ว เขานอนหลับไปตลอดกาลอยู่ในห่อผ้าปูที่นอนสีขาวที่เริ่มเลอะคราบน้ำและฝุ่นโคลน



เธอพักเพื่อดื่มน้ำ ก่อนได้ยินเสียงอะไรบางอย่างทางด้านหลัง เมื่อเธอหันหลังมองไปในน้ำ มีตัวเหี้ยหลายตัวว่ายตามเรือเธอมาอย่างเงียบเชียบ เธอไม่สามารถจดจำได้ว่าในบรรดาตัวเหี้ยในกลุ่ม มีตัวที่มาวางไข่ในห้องนอนเธอหรือเปล่า พวกมันหน้าตาเหมือนกันหมด ดูเฉยชาและเงียบเชืยบ

เธอพยายามพายเรือหนีจนเริ่มหมดแรง พวกมันว่ายน้ำอย่างคล่องแคล่ว ลิ้นของมันแลบออกมาเพื่อรับกลิ่นและรสชาติของศพสามีอย่างไม่เกรงใจ พวกมันคงรู้แล้วว่าร่างในห่อผ้านั้นไม่มีชีวิต บัดนี้ เขากลายเป็นเป้าหมายชิ้นใหญ่ของมันแล้ว เธอหวังว่ามันจะเว้นชีวิตเธอไว้ พวกมันหลายตัวปีนขึ้นมาจนเรือโคลงเคลง เธอพยายามใช้ไม้พายตีเพื่อไล่ แต่พวกมันไม่สนใจ พวกมันลากห่อร่างสามีลงน้ำไป แกะห่อผ้าอย่างรวดเร็วจนร่างเขาจมลงไปในผืนน้ำสีเข้ม พวกมันว่ายตามไป ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรอบตัวเธอกลับมาเงียบสงบลงอีกครั้ง

—      

บัดนี้สามีได้หายไปเป็นส่วนหนึ่งกับผืนน้ำที่เขาเกลียด ไม่ว่าเขาจะพอใจหรือไม่ก็ตาม ร่างกายของเขาได้กลายเป็นถุงพลังงานชั้นดีของเหล่าตัวเหี้ย ร่างที่มีทั้งไขมันและเนื้อเยื่อคงทำให้พวกมันอิ่มไปได้หลายวัน ร่างกายของเขาอาจย่อยสลาย บางส่วนจมลงไป บางส่วนกลายเป็นอาหารของปลาในน้ำ บางส่วนอาจกลับขึ้นมาเหนือน้ำไปเมื่อมีนกมากินปลาอีกที หรือเมื่อมีใครสักคนตกปลาพวกนั้นไป เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเป็นกิจวัตร แค่ครั้งนี้เธอได้เป็นพยาน

เธอเสียใจที่ทำตามสัญญาไม่ได้ เธอไม่อาจพาร่างเขาไปฝังในพื้นดินหรือไปเผาได้ตามที่เขาต้องการ แม้มันอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่เธอได้พยายามถึงที่สุดแล้ว เขาไม่ได้ตายอย่างโดดเดี่ยว มีเธออยู่เพื่อเฝ้าดูจนนาทีสุดท้าย อีกล้านปีข้างหน้า พื้นดินตรงนี้อาจแห้งไปกลายเป็นพื้นดิน เขาอาจโชคดี กลายเป็นซากมัมมี่ให้นักโบราณคดีในอนาคตมาขุดพบ ชายไร้นามผู้ตายในยุคสมัยที่กรุงเทพฯ เคยเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ รวมเป็นผืนเดียวกับระดับน้ำทะเลที่ท่วมสูง

เธอหยุดพายเรือ นั่งถอนหายใจ มองดูพระอาทิตย์กำลังตก เขาตายไปในวันฟ้าปลอดโปร่ง เธอไม่มีเหลือใครให้คุยเรื่องดินฟ้าอากาศด้วยอีกต่อไป 

เธอคิดถึงเขาสมัยที่น้ำยังไม่ท่วม วางแผนอนาคตร่วมกัน เธอกับสามีตัดสินใจจะไม่มีลูก ไม่อยากให้ใครต้องเกิดมาในสภาพอากาศเช่นนี้ โลกแสนจำกัดและแตกต่างกับตอนที่เธอและเขาเคยรู้จักเหลือเกิน แม้จะไม่เห็นด้วยกันในทุกเรื่อง แต่เธอและเขาก็ทำดีที่สุดแล้ว

เธอพยายามคิดถึงเขาในช่วงแรกๆ ที่เคยเป็นคนใจดีและอบอุ่น พอสภาพอากาศย่ำแย่ ในช่วงปีสุดท้าย เขากลายเป็นเด็กชายที่เอาแต่ใจ กินแต่อาหารผง กังวลไปแทบทุกอย่าง นอนทั้งวัน ขี้โวยวาย บางทีก็กลายเป็นทารกแบเบาะที่พูดพึมพำในสิ่งที่เธอไม่เข้าใจ เธอเหมือนมีลูกมากกว่าสามี แต่เธอเองไม่เคยมีลูกจริงๆ เลยไม่แน่ใจว่าการมีลูกนั้นจะรู้สึกเช่นนี้ไหม



เราอยู่กลางหนองน้ำกว้างใหญ่ มีสัตว์และต้นไม้มากมายข้างนอก เธออยากออกไปตกปลา ลองหาอาหารรอบๆ บ้าน ดูอาจมีผักบางอย่างกินได้ แต่เขาส่ายหัว มันเป็นเรื่องที่โง่เขลา เราจะเอาตัวเองไปเสี่ยงทำไม พลังงานที่เราต้องออกไปหาอาหาร นั้นไม่คุ้มกับอาหารที่ได้มาหรอก เขาบอกเธอว่า เราไม่รู้หรอกว่าอะไรกินได้ไม่ได้ หากกินแล้วป่วยหรือตายคงลำบาก เราไม่ควรต้องมาหาอาหารเหมือนพวกสัตว์โง่เง่าข้างนอก พวกมันเหนื่อยต้องออกหากินทั้งวันทั้งคืน แยกอาหารกับซากพลาสติกยังไม่ออก

วุ่นกับความตายของสามี เธอลืมนึกถึงไข่เหี้ย 28 ฟองในกองผ้า 

เขาไม่มีโอกาสได้เห็นพวกมันมากมายยั้วเยี้ยเต็มบ้านให้รบกวนจิตใจ

บัดนี้เขาไม่อยู่เพื่อมองดูพวกมันค่อยๆ ฟักออกจากไข่  ลืมตาเกิดมาในโลกอย่างโดดเดี่ยว เงียบเชียบ ไม่มีชื่อ ไม่มีครอบครัว ไม่มีใครสนว่าพวกมันเกิดหรือตายไป กว่าจะเติบโต พวกมันบางตัวอาจไม่รอด อาจถูกกิน กินกันเอง มีผู้โชคดีไม่กี่ตัวเท่านั้นที่จะอยู่รอดจนได้ผสมพันธุ์และวางไข่  หากเธอโยนทิ้งน้ำไปเสีย ความเป็นไปได้ของพวกมันทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้น

ต่อไปนี้เธอต้องอยู่คนเดียวในหนองน้ำ เธออาจอดตาย หรือเธออาจจะรอด ท้องฟ้าเริ่มมืดลง  เธอคาบไฟฉายและค่อยๆ พายไปข้างหน้าในความมืด อีกไกลกว่าเธอจะพายไปถึงบ้าน เธอเริ่มหมดแรง แขนของเธอล้า ร่างกายเหนอะหนะจากเหงื่อที่แห้ง เริ่มนึกอะไรไม่ค่อยออก

ท้องของเธอร้อง เธอหิว พรุ่งนี้เธอจะกินอะไรดี 
เธอสงสัยว่าไข่หนึ่งฟองมีพลังงานกี่กิโลแคลอรี 
… ถ้าไข่จะเหลือสัก 20 ฟองคงไม่เป็นไร

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 13 Photo Essay—What Do You See?

ที่บ้านทำกิจการน้ำแข็งมาได้ประมาณสามสิบปี แม่เล่าให้ฟังว่าไปรับคนงานมาจากสำนักงานแรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายคนทำได้แค่ไม่ถึงหนึ่งเดือนก็ปีนหน้าต่างห้องพักแอบหนีไปตอนกลางดึก ทนทำงานหนักขนาดนี้ต่อไปไม่ไหว แม่กับเตี่ยต้องไปตามหาให้กลับมาทำงานก่อน เพราะทำกันเองแค่สองคนกับคนงานที่เหลืออีกไม่ถึงหยิบมือก็ทำไม่ไหวเหมือนกัน ในปี 2537 ย้ายกิจการจากตึกแถวในตลาดย่านลำลูกกาไปขายอยู่ในเต็นท์สองหลังที่ทางตลาดย่านคลองหลวงเตรียมไว้ให้ แต่ด้วยสถานะทางการเงินติดลบในตอนนั้น กิจการที่ควรจะไปได้ด้วยดีอย่างราบรื่นก็ถูกคนมีเงินที่สามารถจ่ายเงินให้กับตลาดได้มากกว่า แย่งที่ทำมาหากินไป แม่กับเตี่ยต้องไปวิ่งเต้นขอความช่วยเหลืออยู่เดือนสองเดือน และเป็นจังหวะที่ทางตลาดติดต่อมาอีกครั้ง เลยได้ขายน้ำแข็งในตลาดย่านคลองหลวงต่อ 

แม่บอกว่าค่าแรงคนงานอยู่ที่สามพันต่อเดือน ห้าสิบบาทถึงหนึ่งร้อยบาทต่อวัน แล้วแต่ว่าพวกเขาเป็นงานหรือยัง ขยันหรือไม่ค่อยขยัน แต่กว่าจะได้ถึงสามพันบาทก็ต้องทำงานมานาน และสามารถอยู่แทนเจ้าของร้านเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ตอนนี้ค่าแรงเริ่มต้นตามค่าแรงขั้นต่ำและปรับขึ้นให้เรื่อยๆตามเนื้องานและความขยัน แต่ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมสวัสดิการอื่นๆ ซะทีเดียว

คุยกับคนงานอายุ 46 และ 17 ถามคำถามเดียวกันคือ ทำไมถึงมาประเทศไทย และ ยังคิดว่ายังเป็นการมาหาอนาคตที่ดีกว่าไหม คำตอบที่ได้คือ มาหางานทำ และ สภาพของประเทศไทยในตอนนี้ยังคงเป็นอนาคตที่ดีกว่าที่จะต้องอยู่ในประเทศของตัวเอง ไม่ว่าจะต้องอยู่อย่างผิดกฎหมาย เป็นประชาชนชั้นล่างสุด ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับสิทธิ์และสวัสดิการที่ควรจะได้ ก็ยังดีกว่าอยู่ในประเทศของตัวเอง จะต้องหาหนทางอยู่ในประเทศไทยต่อไปให้ได้ ไม่ว่าจะโดนนายจ้างกดขี่ข่มขู่มากแค่ไหนก็ตาม 

คนที่ใช้แรงงานหนักหรือ manual labor ในประเทศไทยส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือจากประเทศเพื่อนบ้าน ต่อให้รู้ก็ไม่กล้าทักท้วงเพราะกลัวจะโดนไล่ออก หรือ โดนส่งกลับประเทศตัวเอง กลุ่มคนแรงงานในประเทศไทยอ่อนแอมากเพราะไม่มี labor union ยิ่งมีรัฐบาลและนายทุนที่เกื้อหนุนกันยิ่งเป็นไปได้ยากที่ labor union จะเกิดขึ้น เพราะถ้ามี labor union เมื่อไหร่ ชนชั้นแรงงานที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะมีพลังในการรวมตัวเรียกร้องสิทธิ์และสวัสดิการได้มากขึ้น ซึ่งทางนายทุนหรือในที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นนายจ้าง ก็ไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เพราะได้กำไรน้อยลง รัฐบาลเหมือนจงใจออกกฎข้อบังคับซับซ้อนในการเตรียมเอกสารขอใบอนุญาตทำงาน เพราะส่วนใหญ่พวกเขาจะส่งเงินกลับบ้าน และถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันน้อย รัฐบาลเห็นว่าเงินไหลออกจะประเทศมากก็พยายามจะชลอมันลงด้วยสร้างความยุ่งยากในขั้นตอนดำเนินการ

สองสามวันหลังจากที่เอารูปให้คนงานดู ทุกคนหาเวลาไปตัดผมโกนหนวดดูแลตัวกันนิดหน่อย เท่าที่กำลังเงินจะเอื้ออำนวย ถ้าพวกเขามีพอมีเวลาและเงิน คงจะดูแลตัวได้กันดีกว่านี้ ไม่ต้องรอจนมีคนมาขอถ่ายรูป เห็นตัวเองในรูปแล้วถึงคิดได้ว่าต้องดูแลตัวเองแล้ว การที่คนคนคนหนึ่งจะดูแลตัวเองได้ไม่ควรเป็นเอกสิทธิ์ที่คนมีเงินเท่านั้นถึงจะทำได้

ทั้งหมดนี้เขียนมาจากความเข้าใจส่วนตัว กับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน และ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกิจการของที่บ้าน รูปถ่ายคือความอิดโรยที่เเกิดขึ้นกับคนงานภายในหนึ่งวันทำงาน ตั้งแต่ตอกบัตรเข้าทำงาน หลังพักเที่ยง และ ก่อนกลับบ้าน

ผลงานภาพถ่าย What do you see ? (2565) เป็นส่วนขยายโปรเจกต์ Our Relation to Labor (2562) ที่ฐิติภัคทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผลงานชุดนั้นเป็นภาพถ่ายเล่าเรื่องคนงานหลากหลายช่วงวัยที่ทำงานและอาศัยอยู่กับกิจการโรงน้ำแข็งของที่บ้าน

ฐิติภัคเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาในนิยตสารออนไลน์  [BOOKMARK MAGAZINE] ฉบับที่ 13 ไม่ย่ิงแข่งยิ่งแพ้ | Work Until You Drop

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 13—ไม่แข่งย่ิงแพ้ | Work Until You Drop

สรวิศ ชัยนาม

การพูดคุยเริ่มต้นกับ สรวิศ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อเป็นการทำความเข้าใจว่าหากจะวิพากษ์สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นไปตามเงื่อนไขของทุนนิยมจะสามารถมองผ่านวิธีคิดแบบใดได้บ้าง นอกจากนี้หนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ออกมา นอกจากใช้สำหรับศึกษาอ้างอิงในการทำนิตยสารฉบับนี้แล้วยังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานของทุนนิยมผ่านกรณีศึกษาหลายรูปแบบมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นป๊อปคัลเจอร์อย่างภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ กรณีตำแหน่งทางวิชาการของผู้สอนในระดับอุดมศึกษา ประเด็นเรื่องการศึกษารวมถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน 


กานต์ธิดา —
การวิเคราะห์การทำงานของทุนนิยมผ่านวิธีคิดของมาร์กซิสช่วยให้เราเห็นหรือเข้าใจประเด็นปัญหาด้านใดบ้าง ?


สรวิศ — มี 3 อย่างกว้างๆ ที่สายมาร์กซิสเห็นและตั้งคำถามกับทุนนิยม ประเด็นแรกคือทุนต้อง
ขยายวงไปเรื่อยๆ ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ทำให้ไม่มีขีดจำกัดและล้นเกินตลอดเวลา และ ทุนก็พยายามเล่นกับความสนใจของคนซึ่งเป็นของมีจำกัด เพราะอย่างนั้นมันก็จะแย่งชิงให้เราสนใจมัน

ต่อไปคือพื้นฐานหนึ่งของมาร์กซิสที่พยายามบอกว่า เพื่อที่จะโตไปได้เรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องทำลายสิ่งที่จำเป็นสำหรับตัวเอง ซึ่งมันเป็นความย้อนแย้ง สิ่งที่มันทำลายก็อย่างเช่น แรงงาน หรือสิ่งแวดล้อม ยิ่งทุนเติบโตเร็วขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลต่อสิ่งที่เป็นปัจจัยการผลิต โจทย์ของมาร์กซิสเลยถามว่า ราคาของการเติบโตนี้ใครเป็นคนจ่าย ผลประโยชน์ของการค้าตกอยู่กับใคร

และสุดท้ายคือทุนจะแตกต่างจากระบบการเมืองอื่นๆ เช่นเผด็จการ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือศักดินา เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่ ไม่ได้รู้สึกว่าทุนมากดทับตัวเอง มันแตกต่างจากระบบส่วนใหญ่ที่พยายามไม่ให้เรามองตัวเองเป็นปัจเจก แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ทุนมันไม่ค่อยค่อยสนใจด้วยซ้ำว่าเราเชื่ออะไร ต่อให้ในหัวเราต่อต้านทุนนิยม รู้สึกไม่ชอบมันเลย แต่ทุนไม่สนใจ ไม่ชอบก็เรื่องของมึง เพราะในทางปฏิบัติก็ต้องดำรงอยู่ภายใต้มัน ยังต้องทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีกิน อดตาย ไม่มีบ้านอยู่ มันแทบไม่เรียกร้องให้เราในฐานะปัจเจกศรัทธาในตัวมันด้วยซ้ำ ซึ่งต่างจากระบอบอื่นๆ ที่ต้องศรัทธาในผู้นำ ต้องศรัทธาในชาติ แต่อันนี้เรามักจะไม่ค่อยเห็นในการทำงานของทุนนิยม


กานต์ธิดา —ในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญเลยคือแรงงานที่ดูเหมือนว่านับวันจะยิ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเจรจาต่อรองอะไรสักอย่างซึ่งก็มีตัวอย่างที่สำเร็จบ้างเช่นการก่อตั้งสหภาพแรงงานของ Amazon ได้จนสำเร็จ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร?

สรวิศ — ถ้าลองย้อนกลับไปดูช่วงปี 1945 เข้าไปสู่ 1970 นิดๆ ช่วง 3-4 ทศวรรษนี้เป็นยุคทองของทุนนิยมที่หมายถึงทุนเติบโตได้ดี แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง สาเหตุหนึ่งเพราะมีสิ่งที่เรียกว่าภัยคอมมิวนิสต์ เป็นปัจจัยสำคัญที่บีบบังคับให้ชนชั้นนำและทุนต้องประนีประนอมกับแรงงาน ยอมได้กำไรน้อยลงหน่อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ยอมเสียภาษีสูงดีกว่าเพื่อเอาไปซัพพอร์ตค่าบ้าน ค่าโรงพยาบาล ค่าโรงเรียน เพราะพูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่ยอมแล้วแรงงานปฏิวัติล่ะ หรือฝักใฝ่สังคมนิยมล่ะ นี่จึงเป็นภาพสะท้อนอำนาจของแรงงานในยุคนั้น ยุคที่ทุกคนยังโต้เถียงอยู่ในอากาศกันอยู่เลยว่าอนาคตจะเป็นทุนนิยมหรือแบบไหน

ตัวตัดก็จะเป็นยุค 70 ที่เริ่มเข้าสู่เสรีนิยมใหม่ เป็นเวลาได้เอาคืนของฝั่งทุน สหภาพแรงงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง ยิ่งรวยยิ่งเสียภาษีน้อยลง พรรคฝ่ายขวาหรือพรรคฝ่ายทุนต่างก็แข่งกันว่าจะลดภาษี มันไม่มีภัยคอมมิวนิสต์แล้วที่จะทำให้ชนชั้นนำหวาดระแวง แล้วยิ่งเป็นการผลิตในแบบ sub-contracting มันก็จะทำให้แรงงานต่อรองไม่ได้ จริงๆ มันก็คือการ Race to the Bottom แข่งขันสู่ดุลต่ำสุดของค่าแรง รวมถึงการทำให้มันสามารถดูดเงินทุนเข้ามา ไม่ว่าจะ ผ่านกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม มาตรการภาษีหรือ มาตรการเรื่องโรงงาน

แต่สุดท้ายสหภาพก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ประเด็นคือต้องหาทางกู้สหภาพขึ้นมาในหลากหลายแวดวง มันเป็นสิ่งเบสิคอันหนึ่งที่ทำให้แรงงานไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว เป็นความรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเผชิญมันไม่ใช่ของใครของมันนะ มันไม่ใช่แค่เรื่องของกูนะ แต่ยังมีคนอีกมากมาย ทางออกก็ไม่ใช่แค่ให้กูไปสอพลอเจ้านายเพื่อได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ทางออกมันต้องเป็นสำหรับทุกคนด้วย เหมือนว่าถ้าทุกคนได้ กูก็จะได้



กานต์ธิดา —ในหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ (2564) ของอาจารย์มีตอนที่อธิบายว่าทุนนิยมยุคปลาย “ทำให้เราทุกคนเป็นปีศาจ” ได้อย่างไร ไว้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะการที่บอกว่าทุนนิยมเบี่ยงเบนความสนใจของเราให้ไปจากความรุนแรงของมันให้มาอยู่ที่เรื่องของตัวเอง ว่าเราต้องคอยฝึก ต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ

สรวิศ — 
ในโลกที่แรงงานอ่อนแอ วาทกรรมการเรียนรู้ทั้งชีวิต ถูกนำมาใช้ควบคุมจนทำให้แรงงานนั้นเปราะบางไม่มีความมั่นคง โดนบีบบังคับมากขึ้น มันน่าประหลาดว่าในโลกที่งานเหี้ยไปมากขึ้นเรื่อยๆ งานที่แย่ งานฟรีแลนซ์ ไม่มั่นคง เงินเดือนน้อย มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีไปพร้อมกับวาทกรรมที่บอกว่าคุณต้องมี passion ในการทำงาน ต้องรักในงานที่ทำ ถ้าเจองานที่คุณรัก คุณจะไม่รู้สึกเลยว่ากำลังทำงานอยู่ ทุกวันจะมีแต่ความสุข ชิบหายเลย มึงกำลังขูดรีดตัวเองอยู่ มึงเป็นทาสเลย

คือปัจจุบันเหมือนกับว่าเรามองตัวเองเป็นปัจเจก เป็นผู้ประกอบการที่ต้องลงทุนกับชีวิตตัวเอง ต้องคอยเพิ่มทักษะตลอดเวลา นี่คือโลกของเสรีนิยมใหม่ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นไม่มีอีกแล้วชนชั้นแรงงาน เราไม่ควรพูดถึงชนชั้นอีกต่อไปแล้ว ทุกคนเป็นผู้ประกอบการหมด ทุกคนเป็นนายทุนหมดแล้ว เพียงแต่มีนายทุนใหญ่แล้วก็มีนายทุนย่อยอย่างคุณและผมที่ลงทุนกับชีวิตไปวันๆ และหวังว่ามันจะออกดอกออกผลเป็นที่ต้องการของทุนและมาจ้างงานเรา 



กานต์ธิดา — แล้วถ้าพูดถึงงานในแง่ของเวลาที่ใช้ไป มองว่าไอเดียเรื่อง Work-Life Balance เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความต่างของช่วงอายุด้วยมั้ย?

สรวิศ — 
ก็มีส่วนนะ รุ่นแรกๆ ที่พูดถึง Work-Life Balance คือผู้หญิงในโลกสังคมนิยม ผู้หญิงรัสเซียและค่ายสังคมนิยมที่เริ่มทำงานมาตั้งแต่หลังปี 1917 ที่บอกว่าทำไงดี ทำงานนอกบ้านกลับมายังเจองานในบ้านอีก

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่สนใจหรือพูดเรื่องนี้มากขึ้นเพราะงานมันกินเข้าไปในชีวิตเขามากขึ้นเรื่อยๆ มันมากกว่ารุ่นเก่า อย่างถ้ากลับไปในยุคฟอร์ด (Fordism) การทำงานแบบเข้า 9 โมงเช้า ออก 5 โมงเย็น มันคือยุคทองที่เลิกงานก็ไปทำทุกอย่างที่ต้องการ เสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้ถูกแตะโดยงาน มันไม่ใช่แค่เพราะเป็นการทำงานในระบบโรงงานเพียงอย่างเดียวแต่เป็นแนวคิดสังคมนิยมด้วยที่บอกว่า ชีวิตที่ดีคือ 8 ชั่วโมงของการทำงาน 8 ชั่วโมงของการสันทนาการ และ 8 ชั่วโมงของการหลับนอน แต่ในปัจจุบันมันไม่ใช่ ต้องทำงานหนัก นี่คือความหมายของชีวิตเรา พวกเราจะไม่นอน เหมือนบรรดาประธานบริษัทในตำนานมากมายที่ทำงาน 16 ชั่วโมง 
แต่อย่าลืมว่าพวกเขากลับไปบ้านก็มีคนดูแล มีคนรถ และอะไรอีกมากมาย แล้วก็เรื่องของเทคโนโลยีด้วยที่ทำให้งานกินเข้ามาในห้องนอนเรา 

สิ่งที่น่าสนใจคงเป็นว่าเทคโนโลยีที่ดีขึ้นมันกลับทำให้เราทำงานมากขึ้น แล้วเทคโนโลยียังถูกนำมาใช้ข่มขู่แรงงาน แทนที่จะเป็นเครื่องมือปลดปล่อยแรงงาน ยกระดับชีวิตให้ผู้คนมีเวลาว่างมากขึ้น กลับกลายเป็นถูกนำมาใช้กดขี่ขูดรีด หรือจริงๆ ในช่วงโควิดที่ทุกคนทำงานอยู่ในบ้านแล้วบอกว่าทำงานแบบหยืดหยุ่น มันกลับกลายเป็นขูดรีดตัวเองมากขึ้น ออฟฟิศคือบ้าน เส้นแบ่งแทบไม่มีเลย แล้วยิ่งถ้าคำนึงเรื่องเพศสภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง แม่ ดูแลลูก ลูกอีก ทำงานบ้านอีก


กานต์ธิดา —
อันนี้ยังไม่นับรวมถึงประเด็นเรื่องแรงงานล้นตลาด มีคนทำงาน แต่ไม่มีงานให้ทำ

สรวิศ — มันเป็นเพราะปรากฏการณ์อันหนึ่งภายใต้เสรีนิยมใหม่นะ หลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นยุคที่เศรษฐกิจเติบโตช้ามากๆ ความเหลื่อมล้ำทวีคูณ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตช้า นั่นหมายความว่าอัตราจ้างงานก็น้อย ดังนั้นมันเลยเป็นโอกาสที่คนจะทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมาเยอะมาก หรือโอกาสที่จะไม่มีมีงานประจำทำเลย แล้วทำงานพาร์ทไทม์แทนอันนี้ก็เยอะมากๆ ผมคิดว่าต้องเอาประเด็นนี้มาวิจารณ์การศึกษามั้ง หรือวิจารณ์ความเชื่อที่ว่า ยิ่งเรียนสูง ยิ่งเรียนดีจะยิ่งมีงานทำที่ดี นี่ไม่จริงใช่มั้ย เพราะว่าจบสูง แต่ตลาดไม่ได้สร้างงานให้คน


กานต์ธิดา —
ย้อนกลับไปที่อาจารย์พูดว่าเดี๋ยวนี้ไม่คุยเรื่องชนชั้นกันแล้ว อยากให้อธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่าเพราะสาเหตุหรือเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ในบางครั้งคนเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแรงงาน

สรวิศ — ผมตอบอ้อมๆ ละกันว่าแล้วอะไรที่ทำให้เราไม่คิดถึงชนชั้นบ้าง อะไรที่ทำให้เราเข้าใจชนชั้นไปในบางรูปแบบ ที่ไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อควบคุมหรือโค่นล้มทุน ความคิดมากมายที่ปัดความรับผิดชอบไปให้ปัจเจกและทุกคนเป็นผู้ประกอบการ ที่ต้องรู้จักลงทุนสะสมต้นทุนชีวิต ต้องคิดบวก เพื่อดึงสิ่งดีๆ มาสู่ตัวเอง สิ่งนี้มันดึงเราให้ออกห่างจากชนชั้น ดึงให้ออกห่างจากการที่มองว่าทุนนั้นครอบงำเราอย่างไร สิ่งนี้มันทำให้เรารู้สึกว่ามีเสรีภาพเกินความเป็นจริง มันทำให้ไม่เห็นกรงขังที่ขังเราอยู่ว่าทุนมีอิทธิพลกับชีวิตคุณอย่างไร รวมถึงเราไม่สามารถจินตนาการถึงโลกที่แตกต่างจากนี้ได้ด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าถ้าคุณอยากได้อะไรดีๆ คุณต้องยอมรับให้มีการกดขี่  ต้องยอมให้มีสิ่งที่เรียกว่า 1% แล้วก็มี 99% ที่เหลือที่เป็นฐานล่าง ถ้าอยากมีไอโฟนใช้ อยากมีอาหารอร่อยกิน จะต้องยอมรับความเหลื่อมล้ำ มันเป็นเรื่องน่าประหลาดมั้ยล่ะว่าโลกที่เท่าเทียมมันจะสร้างไอโฟนไม่ได้หรอ ทำไมโลกที่เท่าเทียมมันจะสร้างเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วเป็นมิตรกับมนุษย์ไม่ได้

ผมรู้สึกว่ามันมีอะไรมากมายที่ดึงเราออกจากความคิดเรื่องชนชั้นรวมถึงเรื่องความเสมอภาค ถามต่อว่าอะไรที่ทำให้เรายอมรับทุนได้ง่ายขึ้น แทนที่เราจะพูดถึงความเท่าเทียมกัน เราก็ไปพูดแค่ โอกาสที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมันก็ไม่เหมือนกัน เพราะมันเป็นแค่โอกาสที่ต้องแย่งชิงอยู่ดี


กานต์ธิดา — หมายความว่าเมื่อใดที่เราไม่พูดถึงหรือมองข้ามเรื่องแรงงานไป เรื่องอื่นๆ ก็อาจจะหล่นหายไปด้วย?

สรวิศ — เวลาพูดถึงความเสมอภาคในความหลากหลาย ลิเบอรัลทั่วๆ ไปที่พูดถึงความแตกต่าง ก็จะบอกว่าโลกมันแฟร์นะ ตราบใดที่ 1% หรืออาจจะ 10% เลยก็ตาม มี LGBTQI+ สัก 15% มันมีคนผิวดำสัก 10% มันมีผู้หญิงสัก 5% มันมีศาสนานู้นนี้สัก 5% แล้วอะไรอีกมากมาย แต่ความเหลื่อมล้ำมันก็ยังมีอยู่ภายใต้เรื่องพวกนี้ มันเป็นภาษาที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำอยู่ต่อไปได้

ถ้ากลับไปเรื่องนี้ เวลาที่พูดถึงความเสมอภาค ก็จะบอกว่าถ้างั้นผู้หญิง LGBTQI+ หรือเพศทางเลือกอะไรก็ตามก็จะต้องเท่าเทียม ได้เงินเท่ากับผู้ชาย แต่โจทย์ก็คือ เงินเดือนเท่ากัน โอเค แต่ถ้างานหรือถ้าเงินเดือนมันเหี้ยมากๆ คุณจะไปเรียกร้องความเท่าเทียมแบบนั้นหรือ มันเลยเป็นการเพิ่มมิติในส่วนนี้เข้ามา เพราะไม่งั้นก็กลายเป็นว่า ทุกคนแม้จะเท่าเทียมกัน ชีวิตก็ย่ำแย่ทั้งหมดอยู่ดี เวลาเราบอกว่าอยากให้ทุกคนมีหน้าที่การงานเงินเดือนเท่ากันคือ เยี่ยม แต่โจทย์คืองานนั้นมันจ่ายเท่าไหร่ แรงงานมันอ่อนแอแค่ไหน ถ้าเราบวกชุดความคิดนี้เข้าไปทำให้ค่าแรงมันสูงขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น สิ่งที่เรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมมันจะมีความหมายขึ้นรึเปล่า


กานต์ธิดา —
บทความชิ้นหนึ่งในหนังสือ ขัดขืนร่วม (2563) เรื่อง “การเมืองปฏิปักษ์และปฏิบัติการทางศิลปะ” ของช็องตัล มูฟฟ์ (Chantal Mouffe) เสนอไว้อย่างน่าคิดต่อว่าปฏิบัติการทางศิลปะและวัฒนธรรมเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแทรกแซงและลดทอนอำนาจนำได้ สำหรับอาจารย์เองคิดว่ามีอะไรที่สามารถลดทอนอำนาจของทุนได้บ้างมั้ย?

สรวิศ — ทุนเติบโตได้ด้วยอำนาจรัฐมาแต่ไหนแต่ไร อำนาจรัฐจำเป็นต่อการสร้างอาณานิคม จำเป็นต่อการสร้างจักรวรรดินิยม อำนาจรัฐสำแดงผ่านสนธิสัญญา ผ่านข้อตกลงผ่านการสร้างองค์กรระหว่างประเทศและด้านการค้ามากมาย โจทย์ใหญ่มากๆ ที่ต้องกลับไปดูคืออำนาจรัฐ มันเป็นฟอร์มของรัฐที่รับใช้ทุน แล้วคนก็นึกไปว่ามันมีได้ฟอร์มเดียว สมรภูมิที่สำคัญมากๆ คือต้องพยายามปรับฟอร์ม ปรับโฉม แย่งชิงอำนาจรัฐให้รับใช้สังคมมากกว่ารับใช้ทุน 

เมื่อคนเลิกพูดถึงทางเลือกอื่นนอกจากทุนนิยม เมื่อคอมมิวนิสต์สลายไปในสหภาพโซเวียต พรรคฝ่ายซ้ายหายไป แล้วมันก็จะอยู่แค่ระหว่างกลาง ลิเบอรัล กับฝ่ายขวา ซึ่งมันจะขยับไปขวามากขึ้น แล้วมันก็จะมีลิเบอรัลขวา เกมส์นี้ไม่มีทางชนะเลย เพราะว่ามันมีแต่เกณฑ์ไปทางขวามากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมโลกมันสวิงไปทางขวามากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามองในแบบผมก็จะบอกว่าดังนั้นเลยต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ต้องเปิดฉากให้ซ้ายกลับมาให้ได้เพื่อให้มันเทไปอีกทางมากขึ้น ตราบใดที่ไม่มีฝ่ายซ้าย ข้อถกเถียงก็จะยังเป็นข้อถกเถียงภายใต้ทุนนิยมเหมือนเดิม เพราะฝ่ายขวาก็เอาทุน พวกที่อยู่ตรงกลางก็เอาทุน  ส่วนพวกลิเบอรัลก็อย่างที่บอก ตราบใดที่ 1% ความหลากหลาย แต่นี่มันก็เอาทุน มีแต่ทุนกับทุนที่เถียงกันอยู่ ต้องเปิดฝั่งซ้ายขึ้นมาเพราะนี่เป็นสิ่งที่เดียวบอกว่ามันไม่เอาทุน ก็เลยเป็นสิ่งที่เดียวที่บอกว่ามีทางเลือกอื่นนะเพื่อที่จะไปให้พ้นทุนนิยม


กานต์ธิดา —
โลกที่ไปพ้นทุนนิยมเป็นอย่างไรในความคิดเห็นของอาจารย์ ?

สรวิศ — ถ้านึกถึงทางเลือกนอกจากทุนนิยม ก็จะนึกถึงสังคมนิยม ต้องคิดถึงคอมมิวนิสต์ อันนี้คืออัตโนมัติแล้วใช่มั้ย มันเป็นทางเลือก แต่โจทย์ปัจจุบันคือ พยายามทำลายทางเลือกอันนี้โดยบอกว่ามันนำไปสู่หายนะ แล้วก็ต้องพยายามทำลายทางเลือกที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วบอกว่าโลกมันเป็นได้แค่นี้ เป็นได้แค่ทุนนิยม มันไม่มีทางเป็นอื่นได้ คือมันก็คงจะยากเพราะคุณกำลังจะแตกหักกับโลกที่เป็นทุนมาหลายร้อยปี แต่แทนที่จะบอกว่า เห้ยเรามาพยายามใหม่ เราทำได้ดีกว่านี้ เราเรียนรู้จากประสบการณ์อันนี้ จากความผิดพลาดอันนี้ แล้วก็เราสามารถทำได้ดีกว่าเดิม แต่หลังสงครามเย็นมันก็จะถูกปัดไปเลยว่า ไม่ต้องพยายามอีกแล้ว มันมีความเป็นไปได้หนึ่งเดียวก็คือทุนนิยมเอง 

ผมแค่รู้สึกว่ามันแปลกประหลาดที่จะบอก ทำไมเราจะไม่พยายามอีกครั้งวะ หรือทำไมเราจะไม่สามารถเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ได้เลยหรอ จากข้อผิดพลาดของกลุ่มคนมากมายในอดีต มันไม่ใช่แค่ประเทศเดียวนะ มีจีน มียุโรปตะวันออก มีนานาประเทศ ถ้าย้อนกลับไปศตวรรษที่แล้ว รวมถึงในไทยด้วย มันน่าแปลก


 

เครดิตภาพ: ฐิติภัค ธีระตระกูล

ฐิติภัค ธีระตระกูล 

ก่อนที่จะได้คุยกับฐิติภัคถึงการทำงานร่วมกันในนิตยสารออนไลน์ฉบับนี้  เรารู้จักเธอก่อนหน้าจากการเป็นหนึ่งในผู้เข้าชมนิทรรศการที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความสนใจและสิ่งที่แต่ละคนทำอยู่ ความสนใจที่มีต่อการทำงานภาพถ่าย ลากยาวไปจนถึงการลงถนนประท้วง ประเด็นเรื่องแรงงาน และการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเธอเองในช่วงเวลาหนึ่งก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่ประเทศนี้ ทำให้เราสนใจอยากคุยกันต่อว่าจากเธอในอดีตที่ตัวอยู่ห่างจากบ้านเกิดไปชั่วคราวจนกลับมาเพื่อดูแลกิจการของที่บ้านต่อ เธอเห็นอะไรบ้าง?

นอกจากบทสัมภาษณ์แล้วยังมีเรื่องสั้นและผลงานภาพถ่ายเล่าเรื่อง What do you see ? (2565) ที่เราขอให้ฐิติภัคช่วยตีความออกมาผ่านมุมมองของเธอเอง

กานต์ธิดา — เส้นทางของโปรเจกต์ภาพถ่ายเป็นมาอย่างไร ตั้งแต่ชุดแรก One who makes up story  (2556) ที่เริ่มถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงงานน้ำแข็งของที่บ้านและทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ฐิติภัค — ในตอนแรกที่ทำไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นเรื่องที่เราทำต่อเนื่อง มันเริ่มต้นจากการที่เราอยากถ่ายรูป และลองถ่ายจากสถานที่ใกล้ตัว จนเอากลับไปให้อาจารย์และเพื่อนในคลาสดู ก็มีการถามว่าพวกเขาเป็นใคร ทำไมเขามาถึงทำงานใช้แรง แล้วใช้ชีวิตกันยังไง อยู่ที่ไหนกันบ้าง ซึ่งเอาจริงบางคำถามเป็นสิ่งที่เราแทบไม่ได้นึกถึงเลย เหมือนเป็นการโดนสะกิดว่าสิ่งที่เราถ่ายมามันไม่ใช่แค่กิจการของที่บ้านแต่ภาพของเราสามารถเล่าอะไรได้มากกว่านั้น ซึ่งทำให้คิดแล้วว่าตั้งแต่โตมาเราเห็นอะไรในกิจการนี้บ้าง เห็นการต้องจ่ายส่วย เห็นบิลมาที่บ้านว่าต้องจ่ายสถานีตำรวจไหนเท่าไหร่ เห็นการที่แม่กับเตี่ยต้องออกจากบ้านไปกลางดึกเพื่อประกันตัวคนงานออกจากสถานี

แต่งานของเรามันตีอ้อมๆ มาตลอดเพราะกลัวกระทบกับที่ธุรกิจครอบครัว แต่อยากทำต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สามารถเล่าปัญหาได้ตรงๆ ได้เลยว่างานที่ทำเกี่ยวกับกับคอร์รัปชั่นในตำรวจ เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ เราอยากทำตรงนี้เพราะมันเป็นการที่โตมากับความไม่เข้าใจว่าว่าแรงงานคืออะไร แรงงานข้ามชาติคืออะไร กฎหมายที่ดูแลเป็นยังไง เพราะที่บ้านก็ทำกิจการนี้มาสามสิบกว่าปี แล้วเราก็ค่อยๆ มาทำความเข้าใจมันทีหลัง มันก็ปลดล็อกกับประเด็นเรื่องพริวิลเลจที่บางคนมีกับงานเรา ให้ไม่ต้องไปรู้สึกผิดในการทำงานตรงนี้ สำหรับเราวัตถุประสงค์ที่ดีและความจริงใจ ในสิ่งที่ทำสำคัญมากกว่า



กานต์ธิดา — ด้วยความที่ลูกจ้างของโรงงานจะเป็นแรงงานต่างชาติหมดเลย คิดว่าได้เห็นจุดไหนบ้างที่คิดว่ายังเป็นปัญหา ?

ฐิติภัค —​ มีเรื่องของเวลาการทำงาน ถ้าเป็นงานทั่วไปกำหนดไว้ว่าทำงาน 8 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมง ส่วนถ้าแรงงานหนักห้ามเกิน 7 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมง ซึ่งระบบของโรงงานที่บ้านก็เห็นว่ามันมีปัญหา มันต้องมีการจัดเวลาพักที่ดีกว่านี้ คือร่างกายเขาโอเคสามารถทำงานได้ แต่เขาไม่สามารถทำงานที่ใช้แรงหนักในระยะเวลาที่ติดต่อกันนานๆ ได้ ใครจะไปไหว แต่ที่บ้านไม่ได้มองมันเป็นปัญหา สิ่งที่เราพยายามจะทำคือปรับยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น แต่จะไปติดกับที่บ้านซึ่งเขามีชุดความคิดอีกแบบหนึ่งที่มองว่าทุกคนควรทำงานตลอดเวลาที่มีอยู่ 

สมมติว่าทำงาน 4 ชั่วโมงก่อนพักกินข้าว มันก็จะมีช่วงเวลาดาวน์ไทม์ที่ไม่ได้ยุ่ง ช่วงที่ไม่ได้ทำงานตรงนั้นเขาก็จะต้องหาอะไรมาให้คนงานทำ มาย์เซ็ทของเขาคือจ่ายเงินมาให้เธอทำงาน เธอก็ต้องทำทุกวินาที อีกเรื่องคือจำได้ว่าหลังรัฐประหารปี 2557 ระบบจัดการแรงงานข้ามชาติยังไม่ชัดเจนว่าต้องการเอกสารอะไรบ้าง เรากลับมาอยู่บ้านและมาช่วยดูตรงนี้ แล้วสถานการณ์คือใบสมัครเปลี่ยนทุกสองสามอาทิตย์และเรียกเก็บเงินใหม่ทุกครั้ง  หรืออีกกรณีคือขับรถจากตลาดย่านคลองหลวงมาแล้วเห็นป้ายที่ใหญ่มากเขียนเป็นภาษาไทยเนื้อความประมาณว่า “แรงงานที่เข้ามาทำงานตามสัญญา MOU ครบ 4 ปี สามารถอยู่และทำงานต่อได้อีก 2 ปี” เราก็เอ๊ะว่าแล้วคนที่ต้องการชุดข้อมูลตรงนี้มากที่สุดเนี่ย เขาจะรับรู้ตรงนี้มั้ย แล้วมันก็ประเด็นสวัสดิการ พวกเขามีเหมือนคนไทยเลย คือลาหยุด ลาป่วยได้ มีกองทุนสุขภาพ แต่เขาไม่รู้ แต่ความไม่รู้นั้นเขาก็ไม่กล้าถามเพราะกลัว เราเลยว่าความกลัวตรงนี้มันเป็นปัญหา

กานต์ธิดา — แล้วมันมีช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมันส่งผลกับความสันพันธ์นี้บ้างหรือเปล่า?

ฐิติภัค — ช่วงเวลาก่อนที่อองซานซูจีจะโดน House arrest รอบ 2 รู้สึกได้เลยว่าความสัมพันธ์มันเท่ากันเลย เพราะเขารู้ว่าเราต้องการเขา มันเป็นครั้งแรกเลยที่รู้สึกได้ว่าเขามีสิทธิ์มีเสียง แต่ว่าหลังจากนั้นมาก็เจอโควิดแล้วก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม เราเลยบอกที่บ้านว่า เขามีทางเลือกนะ อะไรที่เราปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมได้ เราก็ต้องทำ เพราะเราก็ต้องการเขา มันควรเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไม่ใช่ว่าใครได้ประโยชน์


กานต์ธิดา — แล้วความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับที่บ้าน เป็นยังไง?​ ความคาดหวังที่จะต้องทำกิจการที่บ้านต่อหรือมุมมองที่เขามีกับงานในปัจจุบันเองก็ตาม

ฐิติภัค — เราไม่รู้ว่าพวกเขาชอบขายน้ำแข็ง หรือเขาชอบไอเดียของการที่มันเป็นของที่ซื้อมาขายไปได้มากกว่า ไม่ต้องเก็บไว้นาน เพราะน้ำแข็งมันละลายตลอด เรามองว่าเขาชอบไอเดียตรงนี้ คือขายของไป ได้เงินมาก็เอาไปใช้ทำอย่างอื่นต่อ เราคิดว่าเขาทำตรงนี้โดยที่เขาไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบอะไร ทีนี้มันก็เลยจะเกิดปัญหาขึ้นมาว่าเวลาคุยกับที่บ้านเวลาบอกว่า เราสามารถมาดูแลจัดการธุรกิจตรงนี้ได้ แต่ก็ขอเวลาทำงานของตัวเองด้วย หรือบางทีเวลาเราไปม็อบ ก็จะบอกว่างั้นก็ไปรับเงินกับอุดมการณ์แล้วกัน คือโตมากับการที่ว่าเออบ้านเราไม่ได้เป็นกงสีนะ แต่ความจริงคือโคตรกงสีเลย แล้วตอนแรกไม่ได้เงินเดือนด้วย แต่ไปไฟท์มาว่าไม่ได้ จะต้องมีเงินเดือนเพื่อเราจะต้องมาบริหารเอง จัดการชีวิตในอนาคตตัวเองว่าจะเอาไปทำอะไร และมันมีมุมมองที่ว่าถ้าไปทำงานที่อื่น ที่ไม่ใช่ของที่บ้าน เราจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจเท่านั้นถึงจะโอเค ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาคือเรามีชุดความคิดและความต้องการที่ต่างกันมากๆ พอต้องการอะไรที่มันคนละขั้วกันก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่ 

กนกวรรณ ตระกูลยิ่งเจริญ

จากความสนใจส่วนตัวในเรื่องงานสถาปัตยกรรมและการเปลี่ยนแปลงของเมือง ทำให้เราตัดสินใจติดต่อไปยังคนที่รู้ว่าจะช่วยเราจัดการความคิดและหาคำตอบกับประเด็นบางอย่างได้ กนกวรรณ คือคนที่เราเคยอ่านผลงานแปลเรื่อง Experience Architecture (2561) ของเธอมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ดังนั้นพอถึงเวลาค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำนิตยสารออนไลน์ฉบับนี้ เราจึงสนใจที่อยากจะมองเรื่องการทำงานผ่านความสัมพันธ์ที่เรามีสถาปัตยกรรมและเมือง

กานต์ธิดา — จากประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ชีวิตในประเทศอื่นที่มีรูปแบบการจัดเมืองที่ดูแล้วน่าจะแตกต่างจากกรุงเทพฯ เลยอยากให้ช่วยยกตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่าง 3 สิ่งนี้ สถาปัตยกรรม รัฐ และทุนให้หน่อยว่ามันเกี่ยวโยงกันในรูปแบบใดบ้าง ?

กนกวรรณ — เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมตรงๆ จะเป็นโครงการบ้าน (Housing) เป็นระบบที่รัฐผลิตออกมา เพราะถ้าลองดูหลายรัฐในยุโรปส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องคือ ระบบการศึกษา ที่พักอาศัย และระบบสุขภาพ ทั้งสามอย่างนี้เป็นเรื่องหลักที่คนจะต่อสู้หรือต่อรองเพื่อให้ได้มา และต้องสู้ต่อไปเพื่อที่จะรักษาสามสิ่งนี้เอาไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายๆ ประเทศเช่นออสเตรียเองที่ระบบสวัสดิการสังคมค่อนข้างดี ต้องเจอปัญหากับต้นทุนของ 3 เรื่องนี้ที่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า กองทุนที่เตรียมไว้น่าจะเอาไม่อยู่ ซึ่งก็ต้องมาหาโมเดลปรับแก้กันใหม่

และในการเข้ามาของทุน กรณีของมรดกทางวัฒนธรรมในอิตาลีจะค่อนข้างชัด ในด้านหนึ่งแหล่งมรดกวัฒนธรรมถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเรียนรู้ให้กับทั้งนักท่องเที่ยวและสังคมท้องถิ่น ถึงแม้ว่าอิตาลีจะเป็นประเทศที่มีจำนวน World Heritage Site ที่สูงที่สุดในโลก สูสีกับจีน แต่ปมปัญหาที่ต้องหาทางแก้มาโดยตลอดคือ แหล่งมรดกวัฒนธรรมจำนวนมากเหล่านี้ แต่ละที่มีต้นทุนในการดูแลรักษาสูง รัฐจัดการดูแลไม่ไหวต้องให้เอกชนเข้ามาจัดการ ดังนั้นการเข้ามาของเอกชนจึงมีหลายโมเดลมากเช่นปรับโครงสร้าง ตัดสับงานต่างๆ ให้คนอื่นเข้ามาแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและทำให้เกิดการหารายได้แบบเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น หรือกรณีที่มีการจัดการค่อนข้างโอเคแต่ก็มีดีเบท เหมือนกันคือ Tod’s รับเป็นผู้อุปภัมถ์ระยะยาวให้กับโคลอสเซียมเพื่อให้มีเงินซ่อม ถ้าลองคิดเป็นแคมเปญโฆษณา หลังจาก Tod’s เริ่มแคมเปญนี้ไปแล้ว คนมองโคลอสเซียมก็จะนึกถึงหน้าเจ้าของ มันผูกกันไปเลย แล้วยิ่งตัดสินใจไม่โชว์โลโก้เข้าไปอีกมันเป็นอีกเลเวลของการโฆษณาในฝั่งแบรนด์ลักชัวรี่ ซึ่งเขาถือว่าต้องการสื่อสารกับกลุ่มคนที่เลือกแล้ว แล้วกลุ่มคนที่เลือกแล้วย่อมมีความรู้มากพอที่จะรู้ว่าสินค้าปรากฏอยู่ตรงไหน ฉะนั้นบางครั้งเวลาเราเห็นภาพทุนนิยม เราก็อยากให้เห็นเฉดการทำงานของทุนนิยม ด้วยเหมือนกัน 


กานต์ธิดา — แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถบาลานซ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดี มันจะเป็นอย่างไร? 

กนกวรรณ — สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเรื่องของคุณภาพ อย่างในเวียนนาเองจะมีกรณีที่คนควบคุมจะไม่ใช่สถาปนิกแต่เป็นคนอื่นเช่นผู้รับเหมา ผลลัพธ์คือคุณภาพที่ลดต่ำลงของคอนเซ็ปต์ของที่พักอาศัย ทั้งๆ ที่มันควรจะออกแบบมาเพื่อสนับสนุนคนที่จะเป็นประชากรแรงงานที่จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนเมืองต่อไป เพราะว่านั่นคืออนาคต คนคืออนาคตของเมือง


กานต์ธิดา —
 
ถ้าถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับคนล่ะ ? ในช่วง 2-3 ปีมาที่คนไม่สามารถออกใช้พื้นที่สาธารณะได้ยอย่างอิสระถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ต้องอยู่บ้านมากขึ้น มองว่ามันเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างไหม?

กนกวรรณ — สถาปัตยกรรมของ Austrian Avant-garde เคยประกาศขึ้นมาว่า ‘Everything is Archicture’ โดยเสนอคอนเซ็ปต์ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับความเป็นบ้านว่าสามารถไปได้พร้อมกับสื่อกลางหรือก็คือเทคโนโลยีได้ อาจจะเป็นหน้าจอซึ่งคือทีวีในยุคนั้น หรือจะเป็นมือถือในยุคนี้ คอนเซ็ปต์แต่ก่อนคือมนุษย์รู้สึกตัวเองอยู่บ้านก็ตอนที่เรารู้สึกว่าเชื่อมต่อกับอะไรสักอย่าง เชื่อมต่อกับโครงข่ายสังคม เชื่อต่อกับสภาพแวดล้อมเพราะว่าอาจจะเป็นที่ที่เรารู้สึกคุ้นเคย

แต่พอปัจจุบันที่มีเรื่องความไม่ชัดเจนของการทำงานและการพักเข้ามา สภาพของการทำงาน 7 วัน การทำงาน 24 ชั่วโมง การพักจากความเครียด เช่นอย่างทริกการนอกพัก 20 นาที หรือการ meditate เองก็ตาม คุณทำเพื่ออะไร It’s not meditation for meditation. แต่ว่าคุณทำเพื่อให้คุณเป็นคนที่ productive มากขึ้นกว่าเดิม มันเป็นการพยายามหาวิธีที่ค่อยๆ optimize แต่ละหน่วยในชีวิตของตัวเองเพื่อให้เป็นคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  กระบวนการพวกนี้มันคือการเพิ่มแรงขับในทุก ๆ อะตอมของความคิดเลย


กานต์ธิดา — มันกลายเป็นว่าในบางครั้งมันมีความรู้สึกผิดที่จะพัก รู้สึกผิดที่จะหยุดเกิดขึ้นมาด้วย 

กนกวรรณ — เรามองว่ากลุ่ม Creative class ซัฟเฟอร์หนักสุด หรือคนที่ทำงานแบบมีเวลาหยืดหยุ่นที่ดันลืมไปว่าคุณต้องจ่ายอีกเพียบกับสิ่งที่ตามมา เหล่านี้คือคนที่เจ็บปวดกับการยึดถือและถูกขับด้วยคุณค่าที่จะต้องสร้างความแตกต่างให้ตัวเอง ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะตำแหน่งแห่งที่ของคุณไม่ชัดเจนในตลาดงาน ในความหยืดหยุ่นที่ดูเหมือนชิลมันถูกขับด้วยแรงขับเกือบอีกเท่าตัว เพราะคุณต้องการสร้างผลลัพธ์บางอย่างที่มันแตกต่างออกไป คุณรู้สึกว่าคุณกำลังแลกเวลานอนของคุณกับสิ่งที่มันมีค่ามากกว่าเงิน เพราะว่าสิ่งที่คุณกำลังทำไม่ใช่สร้างเงินแต่จริงๆ มันคือตัวตนคุณ ฉะนั้นแล้วมันคือจุดเทรดของคนกลุ่มหนึ่งเลยทีเดียว

กานต์ธิดา — นั่นหมายความว่าคุณค่าของงานมันสามารถอธิบายได้หลายแบบมาก แล้วถ้าในกรณีถ้าต้องแลกวันหยุดจริงๆ มันมีวิธีเจรจาอย่างไรบ้าง หรือรัฐเข้ามาสนับสนุนยังไง?

กนกวรรณ — ตอนที่อยู่ออสเตรีย การแลกวันอาทิตย์คือเรื่องใหญ่ การคุยงานวันเสาร์คือคอขาดบาดตาย ฉะนั้นการให้คุณค่ากับงานมันขึ้นอยู่กับสังคมด้วยเหมือนกันนะ ตอนไปอยู่อินส์บรูกซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว พื้นฐานคนมีรายได้ค่อนข้างสูง ค่าครองชีพสูงกว่าเวียนนา ที่นี่จะมีการแบ่งการทำงานและการพักผ่อนค่อนข้างชัดเจน เลยเป็นเหตุว่าตอนที่อิเกียมาเปิดใหม่ๆ ต้องเจรจาเพื่อที่จะเปิดวันอาทิตย์ ซึ่งสรุปดีลกับสหภาพแรงงานแล้วได้ค่าแรงเป็นสองเท่าบวกวันหยุดเพิ่ม ซึ่งถือว่าเป็นตุ้นทุนที่บวกเพิ่มขึ้นมาสูงมากของอิเกีย แต่มันเป็นกฎของทางออสเตรียเพื่อที่จะปกป้องสิทธิเวลาทำงาน แล้วมันเป็นการเทรดว่าถ้าจะเปิดวันอาทิตย์ คุณก็ต้องจ่ายเพิ่ม 

หรืออย่างการเป็นอาจารย์ที่ออสเตรียก็มีสหภาพ ในสัญญาจ้างก็จะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ไว้คร่าวๆ แต่ไม่ได้บังคับ แต่เพื่อเป็นไอเดียได้ว่าถ้าคุณถูกจ้าง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คุณจะจัดการเวลายังไง แล้วเขาก็ไม่อยากให้ทำงานเกินเวลา ไม่อยากต้องจ่ายค่าล่วงเวลาด้วยเหตุผลว่าถ้ามันไปถึงจุดที่ต้องทำโอที มันอาจทำให้เกิดสภาพผิดปกติในทางกายหรือทางจิตใจ ​ซึ่งท้ายที่สุดในระยะยาว คุณก็จะเป็นหน่วยแรงงานที่มีคุณภาพสูงอยู่พักนึงแล้วก็ลดต่ำ แล้วถ้ามาเกลี่ยดู มันก็ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิมสักเท่าไหร่



กานต์ธิดา —
นึกถึงประเด็นที่อ่านเจอมาเรื่องความพร้อม เราต้องมีความพร้อมแค่ไหนในการใช้ชีวิต

กนกวรรณ​ — อย่างที่บอกว่ารัฐจะสนับสนุน 3 เรื่องซึ่งพอคิดเป็นแบบนี้ปุ๊ปก็หมายความว่า สุขภาพ คุณจะต้องเฮลท์ตี้ทั้งแบบร่างกายและสมอง อันที่สองคือการเรียนรู้ เช่นถ้าเราในฐานะที่เป็นหน่วยแรงงานหนึ่งได้ซื้อหนังสือ ลงคอร์สเรียนเพิ่ม หรือออกเดินทางก็จะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ เพราะสำหรับรัฐมันเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีกับตัวคุณเองแล้วก็ดีกับสังคม เรื่องสุดท้ายคือที่พักอาศัย เพื่อให้ทุกคนมั่นคงตั้งครอบครัวได้ ไม่งั้นจะเกิดปัญหาประชากร เพราะคนไม่กล้ามีลูก เพราะค่าใช้จ่ายสำหรับการมีลูกมันสูงเกินกว่าจะเอาตัวรอดได้ ซึ่งถ้ารัฐตอบได้ไม่ครบลูปก็จะเจอปัญหาอย่างที่ไต้หวันเจอตอนนี้คือปัญหาอัตราประชากรเกิดใหม่น้อยลง สังคมมีแต่ผู้สูงอายุที่จำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นในอาเซียน สิงคโปร์ก็เหมือนกัน พยายามดีดจำนวนประชากรตัวเองขึ้นมา คือเอเชียจะเจอปัญหาเรื่องคนรุ่นใหม่ไม่กล้ามีลูกเพราะไม่มีความมั่นคงในหลายๆ ด้าน มันคือดีเบทของคนยุคปัจจุบัน 



กานต์ธิดา — จะสามารถจัดการประเด็นปัญหาพวกนี้ได้อย่างไรบ้าง?

กนกวรรณ — มันอาจจะกลับไปไอเดียเรื่องคอมมอนส์ (commons) ด้วยความที่เราจะมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในทุกๆ อณูของการคิด ทุกครั้งที่เราเริ่มคิดอะไรก็ตามมันจะถูกทำให้ลีนเพื่อประสิทธิภาพที่มากขึ้น พอกลับมาตรงนี้แล้วไอเดียของเรื่องคอมมอนส์ก็จะน้อยลง ลองสังเกตว่าคนที่คิดในลักษณะนี้เขาจะไม่กลับมาคิดว่าปัญหาอยู่ที่ระบบโครงสร้าง เพราะเค้าคิดแก้ปัญหาในเชิงปัจเจกแทน มันเป็นการเอาตัวรอดในฐานะปัจเจกมากๆ 

เราเลยมีคำถามมากกว่าว่าในสภาพที่สังคมกำลังผลักเราไปในระดับนั้น เราจะเหลือช่องทางแค่ไหนในการที่จะสร้างคอมมอนส์ตรงนี้ขึ้นมา ยังเหลือวิธีที่คุณจะแชร์อะไรร่วมกัน แชร์วิธีคิดร่วมกัน หรือจริงๆ เราก็เริ่มทำจากในย่านบ้านเราเองได้ก่อน แล้วทำยังไงได้บ้างนะ หรือว่ามันทำไม่ได้ แล้วมันไม่ควรทำ ก็ยังอยู่กับคำถามอะไรประมาณนี้อยู่



วิภาวี กิตติเธียร 

ในฐานะของคนใช้บริการขนส่งสาธารณะ เรายังคงจำความรู้สึกของความโกลาหลช่วงงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพในปี 2560 ได้อย่างแม่นยำเมื่อต้องเผื่อเวลาการเดินทางมากขึ้นเพราะเส้นทางเดินรถแตกต่างไปจากเดิม หลังจากนั้นเราเริ่มได้เห็นป้ายรถเมล์ที่แปลกตาไปและคิดในใจว่าน่าจะมีป้ายที่เป็นประโยชน์แบบนี้ในอีกหลายที่ หลายปีต่อมาในช่วงสถานการณ์โควิด—19 ก็ได้เห็นหลายภาคส่วนพยายามช่วยให้ธุรกิจรายเล็กอยู่รอดต่อไปได้และหนึ่งในนั้นคือการรวมร้านอาหารแถวย่านเมืองเก่า เราถึงบางอ้อว่าหลายๆ โปรเจกต์ที่เห็นผ่านตามาเกิดจากความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่ขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้งานจริงมากที่สุด

กานต์ธิดา — ก่อนที่จะไปถึงกระบวนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง หรือที่เรียกว่า Citizen Centric ของสาธารณะ อยากรู้คร่าวๆ ว่าจุดเริ่มต้นก่อนหน้านั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร? 

วิภาวี — ตอนงานพระราชบรมศพที่การเดินทางไม่เหมือนเดิม ถนนหลายเส้นปิด หาที่จอดรถไม่ได้ ทุกคนหลงทาง ไม่ใช่แค่ฝรั่งแต่คือคนไทยที่พยายามจะเข้ามาบริเวณนี้ ไอเดียโครงป้ายรถเมล์จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้มันสามารถถ่ายทอดข้อมูลอะไรบางอย่างเพื่อเอาชีวิตรอดในเมืองได้ ในโครงการนั้นมีกระบวนการที่รวมอาสาสมัครมาทั้งสำรวจป้ายหรือออกแบบ กลายเป็นว่าเราได้โมเดลการสร้างการมีส่วนร่วมอะไรบางอย่างมา ความท้าทายมันคือการที่เราเอาคนที่มีความหลากหลายมากมาคุยกันในประเด็นเรื่องเดียว พอโปรเจกต์เริ่มมีชื่อเสียง ก็มีคนสนใจชวนไปทำงานในประเด็นอื่นที่ไม่ใช่แค่ป้ายรถเมล์อย่างเดียว เราเลยได้เริ่มรวม archive ของความรู้ในแต่ละเรื่องขึ้นมา ที่มาของคำว่า ‘สาธารณะ’ มันคือกระบวนการในการรวมคน มันไม่ใช่แค่ประเด็น แต่คำว่าสาธารณะทั้งหมดมันคือกระบวนการ ที่จะชวนคนมาออกแบบพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี stakeholder มากกว่า 1 คนแน่ๆ


กานต์ธิดา — กระบวนการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือ Citizen Centric เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนในการจะพัฒนาพื้นที่ที่หลายๆ คนอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติบางครั้งอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะบาลานซ์ความต้องการของทุกคน บทบาทของสาธารณะคืออะไร ?

วิภาวี — กระบวนการของเราที่เรียกว่า Citizen Centric มันจำเป็นต้องมีประชาชนเสมอเพราะในการสร้างพื้นที่ ภาคประชาสังคมสำคัญมาก เพราะว่ารัฐคุยกับประชาชนเองสเปซจะกว้าง แต่การมีพื้นที่แบบสาธารณะมันจะเป็นเหมือนไปคุยกับบุคคลที่สาม แล้วเราก็สร้างพื้นที่ สร้างบรรยากาศ สร้างรูปแบบการแลกเปลี่ยนที่กิดประโยชน์จริงๆ


กานต์ธิดา —  เคยอ่านบทสัมภาษณ์หนึ่งที่บอกว่าบทบาทหน้าที่ของสาธารณะคือเป็นผู้ประสานงาน หรือ Facilitator และในกระบวนการของการประสานเองก็เป็นเรื่องที่ดูท้าทายเพราะแต่ละฝ่ายก็จะมีความต้องการที่ต่างกัน 

วิภาวี — คำว่า Facilitator แปลเป็นประสานงานคิดว่าถูกมากเลยแต่มันต้องเป็นประสานงานที่เห็นความเป็นไปได้ตลอดเวลา เพราะมันเป็นประโยชน์มากๆ กับการทำงานแบบนี้ เพราะเวลาเราคุยกับใคร เขาเห็นหน้าเราแล้วก็รู้สึกเออมึงไม่ได้จะมาเอาอะไรจากกูนี่หว่า บทบาทของการเป็น Facilitator ตรงนี้มันคือการเป็นเพียงพื้นที่จริงๆ ที่ให้คนมาโยนสิ่งต่างๆ ให้  หลายโปรเจกต์ที่ทำสำเร็จเราว่ามันเกิดจากความเชื่อในความเป็นไปได้เสมอ เพราะเอาจริงเหมือนเราไปทำหน้าที่แทนรัฐนะ เหมือนเราเป็คนแฮกเมืองที่ไม่เคยอยู่ในระบบ ไม่ได้รู้เรื่องนี้มาก่อน อย่างงานดีไซน์ของป้ายรถเมล์ที่ปกติเวลาเขาโควทเงินค่าป้ายเป็นงบประมาณจัดจ้าง จะไม่มีค่าดีไซน์เลย เขาไม่ได้ทำการบ้านเรื่องออกแบบกัน แล้วพอเราไปเพิ่มงานให้เค้า มันต้องหาช่องทางทุกอย่างที่เป็นไปได้ว่าต้องเสนอใคร ต้องเป็นระดับนโยบายมั้ย ซึ่งถามว่าถ้าประชาชนทั่วไปอยากจะเรียกร้องหรือมีไอเดียแล้วเดินดุ่มๆ เข้าไป โอกาสปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่สูงมากเพราะว่าสิ่งนี้มันไม่ได้อยู่ในโครงสร้างเค้า 

แต่ว่าพอเราเชื่อว่ามันดีเพราะว่ามันมาจากความคิดของคนหลายคน เราจึงต้องดันให้มันเกิดให้ได้ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ต้องคุยกับใคร ต้องไปหามุมไหน creative pressure ช่วยกดดันได้รึป่าว มันอยากทำให้ทุกๆ การแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ทุกๆ การประชุมเสวนามันมีผลลัพธ์จริงๆ เราเบื่องานสัมนาที่แบบทำไปทำไม  ได้รีพอร์ทเฉยๆ เราว่ามันเหนื่อย


กานต์ธิดา —  มีงานเขียนชิ้นหนึ่งในหนังสือ ‘Living the City: Of Cities, People and Stories’ (2564) ที่ตั้งประเด็นไว้น่าสนใจว่า ใครเป็นคนสร้างเมือง? เวลาพูดถึงเรื่องเมืองหมายถึงเมืองของใคร? เพราะในบางกรณี ต่อให้เริ่มต้นด้วยการขอความเห็นจากหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชน แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจปล่อยไฟเขียวตอนท้ายสุดท้ายก็ยังคงเป็นนักการเมืองอยู่ดี

วิภาวี — เรามองว่าอำนาจมันมีได้เพราะอีกฝ่ายนึงให้เหมือนกันนะ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองเป็น actor เพราะต้องตัดสินใจ แต่ถ้าเราไม่ได้คิดว่าการเปลี่ยนแปลงของเราจะต้องพึ่งพาเขาต้องรอเขาอย่างเดียว เขาก็ไม่มีอำนาจ แต่ในทางเดียวกัน มันเริ่มจากการตั้งต้นเสมอว่าทำไปเพื่ออะไร  มันจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรในพื้นที่

สุดท้ายแล้วในการรวมตัวมันจะมีจุดร่วมกันได้น้อยมาก แต่เราพยายามเรียกก้อนนั้นว่าเป็น ‘Small Change Big Move’ คือ เปลี่ยนอันเดียวแต่ทุกคนมี awareness กับเรื่องนี้หมด เป็นจุดร่วมของทุกคนที่เห็นว่านี่คือพื้นที่ตรงกลางที่มีไอเดียร่วมกัน อย่างน้อยในเรื่องนึงก็ดี แล้วค่อยดูมามันค่อยๆ ขยายผลไปต่อได้อีกมากน้อยแค่ไหน


กานต์ธิดา —  ด้วยความที่ต้องคุยกับหลายฝ่ายและเชื่อมทุกความต้องการเข้าหากัน คิดว่ามีการประณีประนอมในส่วนความต้องการของตัวเองไหม?

วิภาวี — เราว่าตอนวิจัยเราไม่ยอมถอยนะ เรา take side เลย



กานต์ธิดา —  การเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกรณีย่านเมืองเก่าจะเห็นการเข้ามาของทุนชัดเจน คิดอย่างไรกับตรงนี้บ้าง? 

วิภาวี — เราว่าระบบทุนนิยมไม่เคยพูดเรื่องว่าจะทำยังไงกับคนตกรถ จะทำยังไงกับคนที่ตามไม่ทันการพัฒนาหรือคนที่ยังไม่สามรถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขนาดนั้น มันพูดเรื่องเงินเรื่องทุนล้วนๆ ใครมา ใครไป ใครคุ้ม ใครกำไร ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ เช่นเคสเวิ้งนาครเกษมหรือว่ากับหน่วยงานรัฐเองในเคสป้อมมหากาฬ หรือพื้นที่นางเลิ้ง เราว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นภายใต้กระแสของทุนนิยมทั้งหมดที่เห็น potential พื้นที่ อยากซื้ออยากเอามาทำอะไรบางอย่าง แต่ว่ามันดันถูกลืมไปว่าศักยภาพของพื้นที่ที่เขาพูดถึงกัน มันมาจากคนที่เราจะเอาออกไปนั่นแหละ มันคือเรื่องเดียวกัน อยากจะอยู่เมืองเก่าแต่เธอจะเรียกเมืองเก่าได้ยังไง ถ้าเธอไม่มีงานคราฟท์แบบเก่าอยู่ในนี้แล้ว เมืองเก่ามันไม่ใช่แค่โลเคชั่น


กานต์ธิดา —  อีกอย่างเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนานคือการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะ เช่นการจะอยู่ต่อหรือออกไปของร้านค้าบนทางเท้า

วิภาวี —ในมุมการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะเองก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ถ้ามองจากการใช้พื้นที่ ยังไงสะพานเหล็กก็ต้องไป แต่ถ้ามองว่าที่นี่คือ ‘Let the Boy Die’ เป็นพื้นที่ที่เด็กทุกคนใฝ่ฝันถึงมาโดยตลอด นี่คือเขาทำลายพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่มาก เงินหายไปเท่าไหร่จากการที่ไม่มีตรงนี้แล้ว หรือการจัดระเบียบปากคลองตลาดเพราะว่ารถติด อยากให้รถใช้ถนนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปากคลองตลาดคือพื้นที่สีแดงเข้ม ไม่มีเศรษฐกิจที่ไหนโตได้พื้นที่นี้อีกแล้ว 

ถามว่าความยากระหว่างการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจให้เข้มข้นได้ขนาดนี้กับการทำให้รถหายติด อะไรยากกว่ากัน ทำไมเราถึงรื้อพื้นที่เศรษฐกิจออก มันมีวิธีการจัดการอื่นได้เยอะมาก มากกว่าการทวงพื้นที่ถนนคืน ร้านค้าต้องไปหมด เราว่าร้านค้า แผงลอย มันเป็นการแสดงออกถึงความเข้นข้นของความเจริญเหมือนกันนะ แต่มันไม่ได้ถูกจัดการ แต่การจัดการที่ว่าไม่ได้หมายความว่า เธอไป มันมองได้หลายมุม


กานต์ธิดา —  นึกถึงการปรับโฉมพื้นที่ แม้จะชั่วคราวแต่ก็น่าสนใจอย่างของ Cartier ที่เข้าไปจัดในหัวลำโพง ซึ่งก็เป็นอีกพื้นที่ขนาดใหญ่ที่อยู่ภายในแผนพัฒนาพื้นที่ของทั้งทางภาครัฐและเอกชน

วิภาวี —
สถาปัตยกรรมของหัวลำโพงสวยอยู่แล้วแต่จัดการไม่ดีเลย ข้างในเอาป้ายที่มีล้านฟอนท์มาอยู่ด้วยกัน คือพื้นที่มันสามารถสวยได้มากกว่านั้น แล้วพอ Cartier ไปจัดส่ิงหนึ่งที่รู้สึกคือมันเป็นเรื่อง sense of style เขาไม่ได้มาทำให้ไม่เหลือความเป็นหัวลำโพง มันดึง aesthetic หัวลำโพงมาทำให้เห็นชัดมากๆ เราเลยรู้สึกว่าถ้าเป็นกรณีแบนนี้มันควรจะอยู่ร่วมกันได้

สะท้อนกลับไป เราว่าหน่วยงานรัฐควรให้คุณค่ากับงานออกแบบกับงานศิลปะมากกว่านี้ อาจจะไม่ต้องขับเคลื่อนเมืองให้เป็นเมืองศิลปะขนาดนั้นก็ได้ แต่ก็ไม่ต้องไม่มีขนาดนี้ก็ได้เหมือนกัน เราว่าเรื่อง aesthetic ของเมืองเป็นเรื่องสำคัญเหมือน คนไม่ต้องจำแค่ธงชาติ ไม่ต้องจำแค่สีต้นไม้ประจำชาติ มันไม่ต้องมีแลนด์มาร์คอันใหญ่ก็ได้ มันสามารถเป็นบริบทซ่อนๆ เข้ามาได้  ซึ่งดีไซเนอร์พวกนี้จะไปอยู่ฝั่งภาคเอกชนหมดเลย เพราะอาจจะรู้สึกว่าถ้าไปอยู่กับหน่วยงานรัฐ ค่าแรงจะเท่าไหร่ งานจะถูก appreciate ยังไง มันเลยก็น่าจะบาลานซ์กันด้วย

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 12 — TYPO/INFO/GRAPHIC

อานนท์ ชวาลาวัณย์ (แว่น)

ในตอนเริ่มต้นรีเสิร์ช เราคิดว่าอยากจะสำรวจตัวอักษรผ่านพื้นที่นอกแวดวงออกแบบ และสถานที่ที่เราสนใจที่สุดก็คือพื้นที่ประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อสองปีที่ผ่านมา เราคิดว่าน่าจะดีถ้าได้สำรวจผ่านวัตถุสิ่งของจากพื้นที่ประท้วงที่บรรจุด้วยข้อความสื่อสารทางการเมือง จึงติดต่อไปยังคุณแว่น ผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์สามัญชน ที่สะสมสิ่งของสามัญจากการชุมนุม โดยมุ่งไปที่เรื่องของเสื้อยืด ที่เรามองว่าเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวผู้คน ถึงแม้จะเน้นไปที่เรื่องของเนื้อหาที่ปรากฏในสิ่งของ แต่การพูดคุยครั้งนี้ก็ทำให้ได้มุมมองที่น่าสนใจในการทำงานต่อกับเรื่องของตัวอักษร


แว่น —
ผมเป็นพวกสะสมเสื้อยืดแต่ไม่ใส่ สมัยเรียนก็มีใส่บ้าง เสื้อไล่ทักษิณก็มี เสื้องานรำลึกสามจังหวัด เสื้อ 14 ตุลา เสื้อสืบ นาคะเสถียร เช กูวารา ดาวแดง ถ้าอธิบายตามศัพท์สมัยนี้ก็คือเป็นพวกเบียว อยากใส่ให้คนรู้ว่าเราสนใจการเมืองโว้

ยีน — รู้สึกว่าเสื้อยืดการเมืองก็สนุกดีเวลาเห็น เหมือนมีมสเสที่มีความแอบๆ บอก?

แว่น — มันแล้วแต่ โชว์ตรงๆ เลยก็เยอะ ถ้าต้องตีความเยอะอาจจะผิดวัตถุประสงค์ของเสื้อยืดการเมืองหรือเปล่า เพราะคนใส่คือคนที่ต้องการประกาศว่านี่คือจุดยืนของกู ถ้าคนดูแล้วไม่เข้าใจก็อาจจะไม่ต่างกับเสื้อยืดทั่วไป อันนี้มุมผมนะ เสื้อในฐานะเครื่องมือรณรงค์ทางการเมืองจะประสบความสำเร็จ มสเสต้องเข้าใจง่าย เพราะคนเดินผ่านมีเวลามองแค่แป๊บเดียว

ยีน — จากที่เก็บสะสมมา มีแมสเสแนวไหนบ้าง พอจะจับเป็นกลุ่มก้อนได้มั้ย?

แว่น — คือเสื้อที่เก็บจะเป็นเสื้อที่ทำขายกันในม็อบ ที่เห็นเยอะก็จะมีโลโก้ของกลุ่มที่มีอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองบางอย่าง รูปบุคคลสำคัญ เช่น กำนันสุเทพ (สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย) สามเกลอ (วีระ มุสิกพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เสธ.แดง

ยีน — ตัวเก่าสุดที่เก็บคือของปีไหน?

แว่น — น่าจะมีประมาณปี 2548-2549 (สมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) แต่ว่าเป็นคนอื่นให้มา 

ยีน — มีเกณฑ์ในการเก็บมั้ย?

แว่น — จะเป็นเกณฑ์กว้างๆ ว่าอยากเอาของทุกฝักฝ่าย ทุกกลุ่มเคลื่อนไหว แต่ที่เข้าถึงได้จริงๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสามกีบ เสื้อแดง ส่วนฝั่งกปปส. มันยากที่จะไปเจอน่ะ แต่ถ้าเจอก็เอา จริงๆ ก็ไม่ใช้หลักวิชาการอะไรในการเลือก เป็นอัตวิสัย อย่างไปม็อบมีเสื้อ 58 แบบ เราก็อาจจะมีกำลังซื้อแค่ 5 ถึง 10 แบบ แต่ก็จะพยายามคละข้อความให้มันกว้างๆ หน่อย เนื่องจากพิพิธภัณฑ์มันยังไม่ได้มีความเป็นองค์กรแข็งแรงขนาดนั้น ยังใช้ความชอบส่วนตัวเลือกอยู่

จั๊ก — ตอนนี้มีเสื้ออยู่กี่ตัว?

แว่น — น่าจะเกือบ 500 ตัว ใบปลิวหาเสียงก็เก็บ ถ้าเอามาเรียงๆ กันน่าจะได้เห็นว่าความต้องการของประชาชนแต่ละยุคสมัยมันคืออะไร มันก็สะท้อนผ่านคำสัญญา นี่คือหลักฐานชั้นต้นเลยของพวกที่เรียนประวัติศาสตร์การเมือง

จั๊ก — พิพิธภัณฑ์นี้ทุนเป็นของต่างชาติหรือเปล่าคะ?

แว่น — แน่นอนฮะ ผมมันพวกชังชาติ (หัวเราะ) ทีนี้พูดอย่างจริงจัง สำหรับผมงานพิพิธภัณฑ์มันก็เป็นเหมือนการโฆษณาชวนเชื่ออย่างอ่อนๆ เป็นการบอกเล่าความยิ่งใหญ่ ความดีงามบางอย่างผ่านวัตถุสิ่งของและสร้างอารมณ์ร่วมผ่านการเล่าเรื่อง การจัดวาง แต่งสี แต่งกลิ่นอะไรแบบนั้น 

ในมุมของรัฐที่มีแนวคิดอำนาจนิยม สิ่งที่รัฐจะนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่รัฐอุดหนุนก็น่าจะสะท้อนอุดมการณ์คุณค่าแบบอนุรักษ์นิยมหรืออำนาจนิยม ส่วนของสะสมของพิพิธภัณฑ์สามัญชน อย่างพวกเสื้อหรือป้ายจากม็อบ ซึ่งบ่อยครั้งมีเนื้อหาท้าทายรัฐ หรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐ ของเหล่านั้นคงไม่ถูกรัฐรับรองหรือยอมรับว่าเป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรอก ในระยะสั้นการทำโครงการของผมก็เลยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่เขาสนใจงานด้านนี้จากต่างประเทศ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้มากมายอะไร และแน่นอนทิศทางการทำงาน การเก็บของ ทุกอย่างทางพิพิธภัณฑ์เป็นคนตัดสินใจเลือกเองโดยที่คนที่สนับสนุนการทำงานของเราไม่ได้มามีสิทธิ์กำกับอะไรตรงนั้น 

และที่สำคัญพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้ตั้งใจจะท้าทายอำนาจของรัฐหรือไปท้าทายว่าประวัติศาสตร์ หรือของที่รัฐบันทึกและเก็บรักษามันไม่มีค่า เราแค่หวังว่าสิ่งที่เราทำจะช่วยเติมเต็มให้การบันทึกประวัติศาสตร์มันครบถ้วนขึ้นเท่านั้นเอง และถ้าในอนาคตจะมีผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์จากในประเทศเราก็จะยินดียิ่งหากเป็นการสนับสนุนที่ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของเรา

ยีน — เสื้อยืดนับเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของของที่คุณแว่นเก็บ?

แว่น — 30 เปอร์เซ็นต์น่าจะได้มั้ง

จั๊ก — เพราะมันเป็นของที่ผลิตง่ายหรือเปล่า

แว่น ใช่ และมันเก็บง่าย มีคนทำเยอะ ช่วงโควิดมีเพจทำเสื้อการเมืองเต็มเลย เมื่อก่อนจะมี 3-4 เพจที่ผมตามอยู่

จั๊ก — มีเพจอะไรบ้างคะ?

แว่น — Shirtpaganda อันนี้ก็เป็นคนใน ม็อบ ก.ไก่ เสื้อยืดการเมือง

จั๊ก —ป็นสามกีบหมดเลยใช่มั้ย?

แว่น — ใช่ครับ ฝั่งกปปส. ไม่ค่อยเห็นเลยนะ

จั๊ก — เหมือนช่วงกปปส. แบรนด์แฟชั่นทำให้เยอะ รู้สึกว่าเสื้อธงชาติถูกกปปส. ยึดครองความหมายไปแล้ว ไม่แน่ใจคนอื่นเป็นมั้ย หรือพี่เฉยๆ

แว่น — ผมว่ามันกว้างกว่านั้นนะ กปปส. เป็นกลุ่มคนที่ชูอุดมการณ์ชาตินิยม พันธมิตรก็ชูอุดมการณ์ชาตินิยม ธงก็ถูกนำมาใช้ แต่กปปส. อาจจะใช้เยอะหน่อยก็เป็นไปได้ นปช. เองก็มีการโบกธงชาติ แง่นึงเวลาที่คุณชูธงชาติคือคุณแสดงออกว่าต่อต้านรัฐบาลแต่คุณไม่ได้ต่อต้านประเทศ มันเป็นการแสดงความชอบธรรมบางอย่าง ม็อบนปช. ม็อบไหนๆ ก็ชูธงชาติ อาจจะยกเว้นการชุมนุมของราษฎรที่ธงชาติไม่ได้ถูกชูเป็นพรอพหลักหรือชูอย่างกว้างขวางแต่มีการชูธงอื่น เช่น ธงสีรุ้ง หรือธงพันธมิตรชานม อาจเป็นเพราะคุณค่าที่เขาชูไม่ได้อยู่ที่ธงชาติหรือขวานไทยแบบข้าคือที่หนึ่งในใต้หล้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต่อต้านการมีอยู่ของรัฐชาตินะ ถ้าเราไปดูจากแมสเสจที่มันออกมาจากที่ชุมนุมก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีการปฏิเสธความเป็นชาติ เพียงแต่เขาชวนตีความคำว่าชาติใหม่ให้มีความหมายกว้างขึ้น ให้ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น ในมุมของผมนะ

จั๊ก — เสื้อจากการประท้วงที่เก็บไว้เก่าที่สุดคือครั้งไหน อย่าง 6 ตุลานี่ไม่มีใช่มั้ย?

แว่น — ไม่มีแน่นอนครับ ยุคนั้นอาจจะมีเสื้อแต่ผมไม่ทราบ วัฒนธรรมเสื้อยืดสกรีนข้อความอันนี้บอกไม่ได้จริงๆ ว่ามาจากยุคไหน ยุคพฤษภา35 นี่ไม่แน่ใจว่ามีมั้ย แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมี ยุค 6 ตุลาอาจจะมีก็ได้เพราะเสื้อยืดมันก็มีแล้ว เทคโนโลยีบล็อกสกรีนก็ไม่ใช่อะไรที่ล้ำสมัย ขณะนั้นน่าจะทำได้แล้ว แต่ไม่เคยเห็นเองกับตา

ยีน — การใส่เสื้อยืดมันสะท้อนความเป็นกลุ่มก้อนด้วยหรือเปล่า?

แว่น — คิดว่านะ อย่างมีเสื้อตัวนึงที่ส่งไปให้ในโจทย์ว่า เสื้อแบบไหนที่ถ้าเป็นคนไม่ตามการเมือง ดูคงไม่เข้าใจ เป็นเสื้อที่กลุ่ม คนอยากเลือกตั้ง ที่ถูกดำเนินคดีทำใส่กันเองเวลาไปรายงานตัว เสื้อ MBK39 อะไรแบบนี้ ตอนนั้นการเมืองมันไม่ได้ป็อขนาดนี้ไง ถ้าตอนนี้ใส่คนอาจจะไม่ได้เก็ต เทียบกับว่าถ้าใส่เสื้อหมุดคณะราษร เสื้อสามกีบไปเดิน แล้วให้ลุงป้ามา พนักงานออฟฟิศ หรือคนเดินผ่านไปมาทายเทียบกัน เชื่อว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ทายเสื้อสามกีบถูก แต่เสื้อ MBK ไม่รู้หรอก อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของเสื้อเฉพาะกลุ่ม อย่างผมเวลาไปสังเกตการณ์ชุมนุมหรือไปเก็บของสะสมก็จะหลีกเลี่ยงไม่ใส่เสื้อลายที่แสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองเพราะไปในฐานะพิพิธภัณฑ์

จั๊ก — ขอถามนอกเรื่องเสื้อยืด คือนอกจากเสื้อยืดมันก็จะมีสติกเกอร์ที่เห็นเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ พี่เห็นอย่างอื่นอีกมั้ย

แว่น — พัด กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคยทำอยู่ แล้วก็มีซองกันน้ำที่เขาทำไปแจกตรอกข้าวสารช่วงสงกรานต์ เป็นรูปหน้ประยุทธ์จมูกยาว ปฏิทินคนก็ทำกันเยอะ พรรคการเมืองก็ทำกัน ตอนปี 2564 ก็เห็นกลุ่ม “Prachathipatype กับ HeadacheStencil ก็ทำปฏิทินปีที่คนเท่ากัน ปฏิทินป๋วย ปฏิทินคืนชีพ 12 คณะราษฎรเวอร์ชั่อเมริกันคอมิค ประชาไทน่าจะเป็นคนแรกๆ เลยมั้งที่ทำปฏิทิน มีปฏิทินไข่แมว จะเห็นว่ามีการใส่วันสำคัญที่ปฏิทินกระแสหลักไม่นับ เช่นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์บนปฏิทิน สติกเกอร์จริงๆ เฉพาะกลุ่มนะ ไม่ได้ประจำวันขนาดนั้น นาฬิกาแขวนก็มีทำ พรรคการเมืองชอบทำ มีนาฬิการูปทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือถ้ายุคเก่าแก่เลยก็มีชามกินข้าวสังกะสีต่อต้านคอมมิวนิสต์ 

สติกเกอร์นี่ผมว่าเฉพาะกลุ่มกว่าเสื้อนะ คือคนที่อายุน้อยหน่อยอาจจะมีวัฒนธรรมการเอาสติกเกอร์มาติดคอมพิวเตอร์ ไอแพด เพื่อแสดงออกทางการเมือง ส่วนคนที่มีอายุหน่อยอาจจะไม่ได้นิยมติดสติกเกอร์อะไรแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ซื้อหรือไม่สะสมนะ เพียงแต่เสื้อยืดอาจจะเป็นอะไรที่เขาคุ้นชินในการหยิบมาใช้มากกว่า

ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง การทำของพวกนี้มันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย พอการเมืองมันกลายเป็นป็อปคัลเจอร์ แมสเสจทางการเมืองก็สามารถเอามาแปลงเป็นสินค้าได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นการค้าเพื่อเอากำไรอะไรขนาดนั้น อย่างองค์กรที่ทำงานเคลื่อนไหวการทำสินค้ารณรงค์ขายมันคือวิธีหนึ่งในการทำให้แมสเสจของเขาขยายออกไป ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้ผู้ที่อยากสนับสนุนได้มีช่องทางในการสนับสนุนการทำงานด้วย แต่การขายของที่ระลึกพวกนั้นก็อาจจะไม่ได้ถึงขั้นเป็นงบประมาณหลักสำหรับการทำงาน

พร้อมพรรณ ศุขสุเมฆ (บูม) 

น่าจะดีที่ได้ทำความเข้าใจถึงพื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกับนักออกแบบและคนอื่นๆ ในสายงานที่เกี่ยวข้อง บูมเป็นคนแรกๆ ที่เราอยากชวนคุยเพราะทำงานวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ตัวอักษรอย่างจริงจังตั้งแต่ยังทำงานอยู่ที่คัดสรร ดีมาก และตอนนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาโทเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรโดยตรงที่ Type Media, KABK, กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์


ยีน —
ฟอนต์กับไทป์มันต่างกันมั้ย?

บูม — ฟอนต์คือฟอร์แมต เหมือนกับ mp3 mp4 เป็นดิจิทัลฟอร์แมต ส่วนไทป์หรือเต็มๆ คือไทป์เฟส (typeface) คือหน้าตาของตัวอักษร เพราะมีหน้าตาแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเลยมีชื่อของหน้าตา

ยีน — ถ้าพูดถึงการเรียนออกแบบตัวอักษรทุกวันนี้มันมีอะไรบ้าง?

บูม — การเรียนออกแบบตัวอักษรทุกวันนี้สามารถทำได้หลายทาง ถึงแม้ว่าในไทยยังไม่มีคอร์สอนอย่างเป็นทางการแบบจบมาได้ดีกรีหรือใบประกาศ แต่ก็สามารถศึกษาได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลทั้งในอินเทอร์เน็ต หรือหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษร ทุกวันนี้เราสามารถเรียนรู้พื้นฐานหรือเริ่มลองได้โดยการเข้าร่วมเวิร์กชอปต่างๆ ถึงแม้ว่าการทำเวิร์กชอปเกี่ยวกับตัวอักษรทุกวันนี้ จะเป็นเลทเทอริ่ง (lettering) ขั้นพื้นฐานหรือการเรียนเขียนตัวอักษรแบบวิจิตร แต่ถ้าเป็นไทป์ดีไซน์ (type design) พื้นฐานจริงๆ มันลึกมาก มันคือการสร้างผลงานขึ้นมาชิ้นนึง เช่น เบสิกละติน A-Z ตัวอักษรที่ยุโรปกลางทั่วไปใช้กัน เช่นตัวที่มีเครื่องหมายแสดงการออกเสียง (diacritic) ต่างๆ ที่ใช้ในภาษาฝรั่งเศสหรือเยอมัน ตัวพวกนี้ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมกันหน่อยว่าหน้าตาแบบไหนคุ้นชินหรือว่าเป็นที่ยอมรับของเจ้าของภาษานั้นๆ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ดูมีเยอะ แต่มันทำได้ทุกวันนี้ข้อมูลมีให้เข้าถึงได้ พอเราได้ผลงานมา นักออกแบบฟอนต์หรือไทป์ดีไซเนอร์ก็มีทั้งที่เขาเอาฟอนต์ไปฝากขาย มีทั้งมือโปรมือสมัครเล่น ถ้าตั้งตัวเองเป็นมืออาชีพก็จะเรียกตัวเองเป็นไทป์ฟาวดรี (type foundry) หรือค่ายฟอนต์

ยีน — ไทป์ฟาวดรีมันมีที่มายังไง คนขายไทป์เขาขายกันยังไงเหรอ?

บูม — ถ้าตามหลักประวัติศาสตร์มันเป็นเมทัลไทป์ (metal type) ก่อนเนอะ หลังจากท่ีกูเตนเบิร์กคิดค้นแท่นพิมพ์ (ราวปี 1450 หรือ พ.ศ. 1993) ถ้าเป็นในยุโรปแต่ละประเทศก็จะมีช่างฝีมือเหมือนเป็นคราฟท์แมนในการทำเมทัลไทป์ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นเป็นเครื่องจักร มีทั้งการแกะตะกั่วด้วยมือ การทำพันช์คัตเตอร์ (punch cutter) การหล่อแม่พิมพ์ขึ้นมา โปรๆ วันนึงก็ทำได้ 4 ตัว แล้วก็จะใส่เป็นเคส (case) ไว้ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่าอัปเปอร์เคส (upper case) กับโลวเวอร์เคส (lower case) เวลาขายก็จะแบ่งเป็นบริษัทฟาวดรี (foundry) เวลาซื้อไทป์ก็จะซื้อเป็นเคส ส่วนมากการซื้อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไทป์ฟาวดรีปิดตัว หรือพันช์คัตเตอร์ตายไป สิ่งที่เป็นเคสที่เหลืออยู่ก็จะกระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ หรือเวลาขายก็ขายทั้งตึกเลย รูปแบบของเมทัลไทป์ที่เป็นเครื่องจักรหล่อกับที่คราฟท์แมนหล่อก็จะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน เช่นถ้าเป็นเครื่องจักรต้องผลิตแบบจำนวนมาก (mass production) แค่กด a เครื่องก็จะหล่อตัวอักษรออกมา ใช้เสร็จก็เอาไปหลอมใหม่ได้ 


รูป 1 — ภาพวาดของระบบการหล่อตัวอักษรของกูเตนเบิร์กในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตัวปั๊มเหล็กกล้า (A.) ถูกใช้เพื่อปั๊มลงไปในแมทริกซ์ (B.) ทองเหลืองที่อ่อนนุ่มกว่า หลังจากนั้นก็นำแมทริกซ์ไปประกอบกับโมลด์ (C., D., E) ที่สามารถแยกออกได้เป็นสองชิ้นเพื่อหล่อตัวอักษรขึ้นมา


รูป 2 — ภาพวาดของเครื่องพิมพ์ยุคแรกที่คิดค้นโดยกูเตนเบิร์ก


รูป 3 — เคสที่เป็นที่มาของการเรียกตัวอักษรว่า อัปเปอร์เคส กับ โลวเวอร์เคส

หลังจากนั้นก็เปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคโฟโต้ไทป์เซ็ทติ้ง (phototypesetting) หรือเครื่องพิมพ์ฉายแสง ก่อนเข้าสู่ดิจิทัล

การจัดประเภทตัวอักษร (type classification) ตามหน้าตาและวิธีการสร้างตัวอักษร เกิดขึ้นโดย AtypI (The Association Typographique Internationale) ก็จะแบ่งเป็นช่วงตามวิวัฒนาการของหน้าตา ในตอนแรกๆ มาจากก๊อปปี้ลายมือมาเป็นตัวตะกั่วก่อนเพื่อให้เกิดการพิมพ์ซ้ำได้ง่าย ลายมือบิดเบี้ยวประมาณไหนก็จะคัดออกมาตามนั้น ซึ่งเรียกว่าโอล์ด สไตล์ (Old Style) ประเภทต่อมาเรียกว่าทรานสิชันนอล (Transitional) จะเป็นฟอนต์ที่เก็บรายละเอียดขึ้นมานิดนึงให้ดูสมมาตรและเห็นความผิดพลาดจากมนุษย์น้อยลง หลังจากนั้นจะเป็นยุคโมเดิร์น (Modern) อย่างตัวอักษรพวก Didot หรือ Bodoni ที่เกิดจากการเปลี่ยนเครื่องมือ จากปากกาหัวตัดมาปากกาหัวแหลม (pointed nib) จากการที่คนเริ่มหาสิ่งใหม่และอะไรที่เป็นแฟชั่นขึ้น ต่อมาก็จะเป็นตัวสแลบ เซอรีฟ (Slab Serif) หรือตัว egyptian และซาน เซอรีฟ (Sans Serif) ต่อมา หน้าตาของแต่ละแบบก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ทุกวันนี้ AtypI เองก็จัด Type Conference ทุกปีตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็จะเป็นออนไลน์ จริงๆ ของไทยเราก็มีอย่าง BITS Conference เท่าที่รู้ตอนนี้เป็นที่เดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานเหล่านี้เขาก็จะเชิญนักออกแบบตัวอักษร หรือคนในวงการที่เกี่ยวข้องมาพูดถึงแง่มุมต่างๆ ของตัวอักษร ถ้าอยากรู้เนื้อหาคร่าวๆ หาฟังย้อนหลังได้เลยจากยูทูป

ตัวอักษรในยุคเก่าก่อนดิจิทัล บางตัวที่ยังไม่ถูกดิจิไทซ์ก็ยังมีอยู่เยอะ เมื่อคนเกิดความสนใจอยากเอามาดิจิไทซ์ เราจะเรียกสิ่งนี้ว่ารีไววัล (revival) หรือการเอาฟอนต์เก่ามาทำใหม่ มีทั้งเหมือนเก่าเลยและตีความใหม่ แก้จุดที่เห็นต่างอยากปรับปรุง หรือใช้เป็นแรงบันดาลใจจากฟอนต์เก่าๆ ก็มี แต่เรื่องพวกนี้ต้องดูลิขสิทธิ์ให้ดีก่อนทำโดยเฉพาะแบบที่เหมือนเก่าเลย หรือเอาแบบเก่ามาตีความใหม่


รูป 4 — เครื่องมือที่ใช้ทำโฟโต้ไทป์เซ็ทติ้ง


รูป 5 — Digi Grotesk เป็นตัวอักษรแบบดิจิทัลตัวแรกที่ถูกออกแบบขึ้นในปี 1968 

ย้อนกลับมาเรื่องการออกแบบตัวอักษร จะมีช่วงพรีโปรดักชั่นซึ่งก็คือช่วงที่เราตามหาว่าสิ่งนี้เราจะเอาไปใช้ยังไง เช่นจะเอาไปใช้เป็นตัวพาดหัว (display type) เป็นชื่อเรื่อง (titling type) หรือเอาไปใช้เป็นตัวเนื้อความ (text type) มันจะมีฟังก์ชั่นต่างกันชัดเจน ความจริงตัวพาดหัวเป็นอะไรก็ได้ไม่ต้องฟังก์ชั่นมาก เพราะมันทำหน้าที่แค่ดึงดูดความสนใจ พอไซส์ใหญ่แล้วมันเล่นได้เยอะ แต่ทันทีที่มันเป็นเนื้อความ มันจะต้องการมากกว่านั้น เพราะว่าคนเราเวลาอ่านเราจะชินกับอะไรที่เราคุ้นเคย ไทป์มันคือการแปลภาษาใช่มั้ย เหมือนเราเอามาเข้ารหัส (encode) คนอ่านเป็นคนถอดรหัส (decode) มันเลยจะมีหน้าตาของรูปร่างและรูปทรงที่คนจะคุ้นชินอยู่ เพราะปกติคนเราไม่ได้อ่านตัวหนังสือเป็นคำๆ แต่สายตาจะกวาดไปเรื่อยๆ ความจริงแล้วเราจำเป็นกลุ่มคำ หน้าตาตัวอักษรมีผลมากที่จะทำให้เราอ่านเร็วหรืออ่านช้า ถ้าหน้าตาตัวอักษรมันแปลกมากๆ แปลว่าระหว่างที่เราอ่านเราต้องหยุดดูทุกครั้งว่าตัวนี้ตัวอะไร เราจะต้องใช้สมองเยอะมาก อันนี้คือเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์นะ

ถ้าเราเอาตัวอักษรขนาดเล็กมาขยายเป็นใหญ่เราจะเห็นรายละเอียดแปลกๆ เพราะจริงๆ
การออกแบบตัวอักษรมันจะมีเรื่องของการลวงตา เช่นเส้นที่หนาบางไม่เท่ากันเพื่อหลอกตาให้มันดูเท่ากัน สิ่งเหล่านี้เราจะเรียกว่าออพติคอล คอเรคชั่น (optical correction) มันก็จะเยอะขึ้นไปอีกเวลามันเป็นตัวเนื้อความ มันไม่มีทางที่จะออกแบบให้ทุกอย่างเท่ากันแบบเมทริกร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเส้นตั้งต้อง 10 เส้นนอนต้อง 10 ปกติเส้นนอนจะบางจากเส้นตั้งเพื่อลวงตาให้มันดูหนาเท่านั้น ทุกอย่างมันเฉลี่ยด้วยตา อาจเริ่มด้วยเมทริกได้ แต่เวลาที่ออกแบบจริงๆ เราจะต้องคำนึงถึงเท็กซ์เจอร์ภาพรวมไทป์เฟซว่าได้เกรย์แวลู่ (grey value) เท่ากันรึเปล่า มีอะไรสะดุดมั้ย หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงโปรดักชั่น พอได้แบบตัวอักษรเราก็เอามาขยายให้มันครบทุกช่องตัวพิมพ์ เช่นตัวภาษาอังกฤษ ตัวภาษาไทย วรรณยุกต์ต่างๆ ตัวเลข รวมถึงสัญลักษณ์ (symbols) และเครื่องหมายวรรคตอน (puctuation) จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย นั่นก็คือโพสต์โปรดักชั่น ขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการเช็คข้อมูล เติมข้อมูล เพื่อให้มันครอบคลุมการใช้งานในโปรแกรมที่หลากหลาย

ยีน — แล้วรูปแบบตัวอักษรไทยมันเริ่มต้นยังไง ในประวัติศาสตร์ไทย?

บูม — ขอเล่าจากละตินคอมแพร์กันละกัน แบบตัวอักษรละตินคือเกิดจากเครื่องมือ จากปากกาแบบต่างๆ มันจะมีทฤษฎีนึงที่อยู่ในเล่ม The stroke ของเกอเร็ท นอร์ทไซด์ (Gerrit Noordzij) เป็นกึ่งไบเบิ้ลของชาวไทป์ ทฤษฎีของเขาคือเครื่องมือมันส่งอิทธิพลให้เกิดหน้าตาของแบบ เช่นการใช้ปากกาหัวตัดเขียน มันก็จะให้เส้นหนาบาง วิธีการเขียนและเครื่องมือส่งผลต่อแบบ

ซึ่งมันก็เป็นเหตุเป็นผลนะ ถ้าเราเอาทฤษฎีนี้มาใส่ในตัวอักษรของไทย
(ซึ่งจริงๆ ยังไม่มีใครเขียนไว้อย่างจริงจังว่าทำไมหน้าตาเป็นแบบนี้) ถ้าดูตามรากภาษาประกอบกันคือเริ่มต้นมาจากตัวอักษรเขมร เครื่องมือที่ใช้เขียนคือเข็มจรดบนใบลาน หน้าตาที่เอามาจากตัวเขมรตอนเริ่มจะเป็นหัวลูปเล็กมากๆ พอเป็นช่วงอยุธยาก็จะเป็นอีกข้อสันนิษฐานนึงเลย หัวลูปมันจะวิจิตรกว่า ถ้าเทียบยุคในยุโรปคือยุคเรเนซองส์ เกิดการตกแต่งที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น คิดว่ามันทำให้ตัวอักษรไทยเอียงนิดนึง มีตวัดหางด้วย ก่อนที่รูปแบบจะลดความซับซ้อนลงในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนมาถึงทุกวันนี้ บูมเข้าใจว่ามันเกี่ยวกับการโคโลไนซ์แหละ แม้กระทั่งตัวนริศ ตัวอักษรไม่มีหัวที่เขาเคลมกันว่าเป็นของไทย ก็เกิดจากปากกาหัวตัดซึ่งมาจากเทคโนโลยีที่ต่างชาตินำเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเริ่มใช้กันในวังก่อน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นตัวนริศที่ใช้กันนอกวัง บูมเคยบรรยายเรื่องวิวัฒนาการของตัวไม่มีลูปของไทย เพราะต้องทำเลคเชอร์ตอนทำงานอยู่กับคัดสรร ดีมาก แต่ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานอยู่ มันต้องมีหลักฐานมาอุดช่องว่างตรงนี้มากกว่านี้ 


รูป 6 — ภาพตัวอย่างการเขียนตัวอักษรด้วยปากกาหัวตัดโดยกรมพระยานริศฯ ที่เป็นที่มาของตัวอักษรแบบไม่มีหัวที่เรียกกันว่าตัวนริศ

ยีน — ตัวนริศมาจากกรมพระยานริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ใช่มั้ย? เขาก็เป็นสถาปนิกด้วยนี่ เขาดูจะอยู่ในทุกวงการออกแบบเลย

บูม — ใช่ เขาเป็นคนที่ทำทุกอย่าง อันนี้ขอเล่าแบบไม่พีซีแล้วกันนะ ลึกไปกว่านั้นที่ดูเหมือนเขาทำทุกอย่าง ถ้าดูในหนังสืออาร์ไคฟ์ของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2019 (Prince Naris: A Siamese Designer) รวบรวมโดยหลานของเขา จะมีสเก็ตช์แบบที่เห็นการเขียนด้วยดินสอต่างๆ เข้าใจว่าเขาน่าจะมีลูกมือด้วยแต่ไม่มีใครรู้ เพราะมันไม่ได้ถูกบันทึกไว้ ซึ่งก็เดาได้ว่าจริงๆ อาจจะมีช่างฝีมือคนอื่นอีก เพราะเมื่อก่อนถ้าใครมีฝีมือก็จะถูกส่งเข้าวัง แต่ก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นรายบุคคล เราเลยไม่มีทางที่จะเห็นชื่อของช่างฝีมือท้องถิ่นเลย และบันทึกก็ยังมีไม่มากเพราะคนส่วนใหญ่ยังอ่านออกเขียนไม่ได้ อีกอย่างคือการเขียนบันทึกในสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 นั้น นอกจากต้องรู้ภาษาแล้วก็ทำได้ยาก โทษของการเขียนบันทึกมันก็มีอยู่ ถ้าถูกฟ้องจากที่เขียนอะไรไม่ถูกใจผู้ใหญ่ก็มีสิทธิจะถูกตัดมือกันไป ดังนั้นการบันทึกโดยชาวบ้านทั่วไปมันเลยหายาก

ยีน — เคยอ่านเรื่องที่ว่าการบันทึกเป็นของชนชั้นนำในวารสารอ่าน


รูป 7 — บทความเรื่อง ‘บันไดแห่งความรัก: เธอลิขิตชีวิต บนหลุมศพสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เขียนโดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในวารสาร อ่าน ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 คอลัมน์ ‘อ่านใหม่/Reread’ ที่พูดถึงวรรณกรรมในรูปแบบบันทึก และการเขียนบันทึกที่จำกัดอยู่ในแวดวงชนชั้นสูง วิเคราะห์กันว่าที่มาของรูปแบบการเขียนบันทึกในไทย ได้รับอิทธิพลจากการเขียนไดอารีของฝรั่งที่เข้ามาในสยามช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 แต่เดิมงานเขียนของไทยที่ใกล้เคียงกับบันทึกประจำวันนั้นอยู่ในรูปจดหมายเหตุโหร และให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่รายล้อมกษัตริย์และราชวงศ์เป็นหลัก ในตะวันตกรูปแบบการเขียนนี้เกิดขึ้นคู่ขนานกับสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัจเจก เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ส่วนตัวของคนธรรมดาสามัญ แต่สำหรับกลุ่มชนชั้นนำสยามที่รับเข้ามาช่วงแรกได้เปลี่ยนมุมมองในฐานะปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นไพรเวทเซลฟ์ให้เป็นการนำเสนอตัวตนต่อสาธารณะซึ่งเป็นพับลิกเซลฟ์แทน

บูม — แต่พัฒนาการต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมาจากเจ้า เช่น ช่วงรัชกาลที่ 5 ก็เป็นช่วงรวมศูนย์ มีโรงเรียนเกิดขึ้นทั่วประเทศ (โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย พ.ศ. 2427) โดยมีเป้าหมายว่าเราต้องซิวิไลซ์นะ ก็เลยเกิดโรงเรียนช่างฝีมือขึ้น เพื่อทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นของไทย หรือที่จะสามารถเอามาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ 

ยีน — คนที่สอนเรื่องตัวอักษรก็อยู่ในโรงเรียนช่างฝีมือนั้นใช่มั้ย?

บูม — ใช่ อย่างช่างที่อยู่ในช่วงยุควาดโปสเตอร์หนังก็มาจากโรงเรียนช่างฝีมือ มันจะมีเฟซบุคเพจอันนึงชื่อ Thai Movie Posters ยุคนั้นตัวอักษรไทยสวยมาก กราฟิกต่างๆ ก็เห็นได้ชัดถึงการได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ แต่ก็ทำให้เราเห็นว่าเรามีช่างฝีมือของเรา ตอนนั้นลองคุยกับนักสะสมจากเพจอันนั้น เขาเคยแนะนำให้ไปเจอคนที่เป็นช่างเขียนโปสเตอร์ เขาก็เล่าให้ฟังว่ายุคนั้น มันก็จะแบ่งเป็นคนวาดภาพ และคนวาดตัวอักษร มือเขียนอักษรก็จะมีที่มือฉมังอยู่ไม่กี่คน เอาภาพอะไรมาก็เขียนข้อมูลใส่เข้าไปได้หมด ช่างเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นที่รู้จักกันก็อย่างเปี๊ยก โปสเตอร์ เหม เวชกร แต่คนที่เป็นคนเขียนตัวอักษรอย่างเดียวเรายัชื่อหาไม่เจอ

ยีน — แล้วบูมทำอะไรอยู่ตอนนี้?

บูม — ตอนนี้บูมเรียนออกแบบตัวอักษรอยู่ที่ Type Media ที่ KABK กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เรามาชอบไทป์ดีไซน์ตอนที่ไปเรียนป.โทใบแรกที่สวิสฯ ตอนนั้นบูมได้เริ่มเรียนออกแบบตัวอังกฤษก่อน แล้วจากนั้นก็ค่อยๆ หย่อนขาเข้าวงการ ก็ยื่นไปฝึกงานในฟาวดรีต่างประเทศ จากนั้นก็อยากจะเรียนรู้การทำตัวภาษาไทยก็เลยกลับมา และไปสมัครงานที่คัดสรรดีมากเพื่อที่จะดูว่าไทป์ภาษาไทยทำงานยังไง แล้วก็โชคดีระหว่างที่ทำงานที่นั้น เขาก็ให้ทำรีเสิร์ชต่างๆ ควบคู่กับการทำงานไปด้วย ทำได้สามปีช่วงนั้นเป็นช่วงที่เลิร์นนิ่งเคิร์ฟตั้งมาก ได้รู้ทั้งการออกแบบตัวไทยและมีเวลาค้นคว้าประวัติศาสตร์ตัวอักษรไทยเยอะขึ้น แต่พอกลับมาที่ตัวละตินหรือตัวภาษาอังกฤษเราก็รู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ รู้สึกว่าต้องการเรียนตัวละตินเพิ่มเติมเลยมาสมัครเข้าเรียนโทอีกใบที่นี่

ธนัช ธีระดากร

จากคำแนะนำของทีมงานว่าธนัช ศิลปินที่เคยร่วมงานกับบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ก็สนใจเรื่องของตัวอักษร ถึงแม้ว่าผลงานจะออกมาเป็นงานทดลองกับเสียงและภาพที่ไม่ได้แสดงถึงตัวอักษรตรงๆ แต่ความคิดเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาพแทนและอัตลักษณ์ความเป็นชาติก็เป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับตัวอักษรไทยที่น่าสนใจที่ธนัชชวนตั้งคำถาม


ธนัช —
ผมสนใจไทโปกราฟีผ่านมุมมองแบบนักมานุษยวิทยา ผมสนใจศึกษาวัฒนธรรมว่ามันเกิดขึ้นยังไง ช่วงเวลาไหนมีวิธีการนำเสนอ
(represent) ข้อมูลแบบไหนที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ส่วนตัวผมไม่ได้สร้างไทป์ขึ้นมาใหม่แต่ศึกษาสิ่งที่อยู่รอบๆ มันมากกว่า เวลาที่ผมมองไทโปกราฟีผมมองเป็นภาพเดียวกันของแต่ละช่วงเวลา แล้วแต่ว่าผมอินอะไร เช่นตอนที่ผมสนใจเครื่องเสียงรถยนต์ที่ไทย แง่นึงผมก็มองไปที่สติกเกอร์ของชุมชนรถแต่งที่เขาทำขึ้นมา และเรียนรู้จากเขาผ่านการมองจากเขา รีเสิร์ชของผมหลายครั้งจะเกี่ยวกับการลงพื้นที่ โดยเฉพาะเวลาที่ผมอยู่ในบริบทประเทศไทย แต่ทุกวันนี้ผมสนใจอีกแง่มุมนึง ถ้าเราลงพื้นที่ไม่ได้เราก็ใช้เทคโนโลยีแทน ช่วงหลังๆ ออนไลน์อาร์ไคฟ์สำหรับผมเป็นเหมือนพอร์ทอล (portal) ในการมองโลก ผมสนใจผลลัพธ์ต่างกันที่ขึ้นอยู่กับว่าเรามองไปที่สื่อแบบไหนและมองมันโยงกันหมด เหมือนเป็นเครือข่ายอะไรสักอย่าง 

ยีน — ตอนทำเรื่องชุมชนรถแต่งคือก่อนที่จะไปเรียนต่อใช่มั้ย ส่วนออนไลน์อาร์ไคฟ์เข้าใจว่าทำหลังจากไปเรียนที่ Werkplaats (Werkplaats Typografie)?





รูป 1-2 — ภาพจากการค้นคว้าในโปรเจกต์ ‘Dance Non-Stop Mix (2016)’ 

ธนัช — ใช่ เรื่องออนไลน์อาร์ไคฟ์คือยุคที่ผมมาอยู่ในบริบทของวัฒนธรรมตะวันตก ก่อนที่ผมจะมาเรียนต่อ เวลาอยู่ในโรงเรียนกราฟิกดีไซน์ไทย ผมคอยสังเกตเวลานั่งเรียน ดูว่าเขาสอนอะไรเรา ดูว่าองค์ความรู้นั้นมาจากไหน ผมพยายามจะทำความเข้าใจให้ถึงรากของมัน จะมีรากหรือไม่มีรากผมก็ไม่แน่ใจ พอเรียนไปผมพบว่าในองค์ความรู้กราฟิกดีไซน์ที่เข้ามาใช้สอนในบ้านเรารวมถึงเรื่องไทโปกราฟี ส่วนหนึ่งเป็นความรู้แบบหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงหลังปฏิวัติการพิมพ์ด้วย หลังจากที่หมอบรัดเลย์เริ่มใช้ระบบการพิมพ์และกระดาษแบบเลทเทอร์เพรส (letter press) ในประเทศไทย

ยีน — เพิ่งซื้อหนังสือมาอ่าน (สยามพิมพการ (พิมพ์ครั้งที่ 2, พ.ศ. 2565)) พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย เนื้อหาเริ่มเข้มข้นขึ้นจากตอนแท่นพิมพ์เข้ามาในไทยช่วงประมาณรัชกาลที่ 3-4 บรรณาธิการของเล่มคือคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นนักประวัติศาสตร์

ธนัช — ผมเคยเข้าไปดูอยู่เพราะเขามีพูดถึงเส้นทางดนตรีในบ้านเราอยู่ ฟังไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ อ่านไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าตอนนี้ต้องมองทุกอย่างหลายๆ ด้าน ย้อนไปตอนผมเรียนที่ไทย ตอนนั้นมันก็มีดีเบตที่ไทยหาว่าอะไรคือวัฒนธรรมไทย อะไรไม่ไทย เป็นประเด็นการถกเถียงเชิงอัตลักษณ์ เวลามันมีข้อถกเถียงอันนี้ขึ้นมาปุ๊ป ใครที่จะเป็นคนเคลมความถูกต้องได้ ขึ้นอยู่กับอะไร? อันนี้เป็นคำถามกลับไปของผม ถึงจะกลับไปอ้างอิงนู่นอ้างอิงนี่ ผมก็สงสัยว่ามันอ้างอิงจากอะไรอีก อย่างตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐไทยก็พยายามที่จะเคลมเรื่องอัตลักษณ์ของความเป็นชาติในหลายๆ แง่มุม อย่างเช่นเสาไฟที่เป็นพญาครุฑ พญานาค ที่เป็นทองๆ ฟอนต์แบบเรารักในหลวง รูปหัวใจ หรือฟอน์แบบแหลมๆ ผมก็พยายามหาว่ามันจริงมั้ย และใช้เวลาไปส่วนนึงหาว่าที่มาของภาพแทน (representation) แบบนั้นมาจากไหน ผมมองมันเป็นเหมือนทางเข้า เป็นประตู เป็นพื้นผิวที่รองรับสัญญะ ไทโปกราฟีก็เป็นสัญญะรองรับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ


รูป 3-4 — อัตลักษณ์ความเป็นชาติที่สะท้อนออกมาในสิ่งของและตัวอักษรในมุมมองของธนัช เช่น เสาไฟกินรี ตัวอักษรที่ใช้กับตราสัญลักษณ์ ‘เรารักในหลวง’

ยีน —
ไทโปกราฟีเป็นหนึ่งในสิ่งที่รีเสิร์ช แต่จริงๆ แล้วสนใจภาพแทนโดยรวมของความเป็นชาติ?

ธนัช — โดยรวมผมสนใจภาพแทนของความเป็นชาติ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ มันโยงกันหมด และเรื่องเทคโนโลยีที่มันเข้ามาเอื้อให้ภาพแทนเหล่านั้นเกิดขึ้น

ยีน —
 สนใจเทคโนโลยีของช่วงเวลาไหนเป็นพิเศษมั้ย?

ธนัช — ช่วง 1990-1991 ที่ผมเกิดและต่อมาเรื่อยๆ ช่วงที่เรียกว่าพรีอินเทอร์เน็ตกับโพสต์อินเทอร์เน็ตไปจนถึงเมตาเวิร์ส ผมพยายามจะเข้าใจองค์ความรู้ที่มันไหลเวียนอยู่ในโลก ซึ่งส่วนนึงมันมาจากตะวันตก ผมก็อยากจะรู้ว่าผมต้องเจอกับอะไรถ้ามาเรียนที่ตะวันตก อยากเอาตัวเองมาจุ่มดูในจุดนี้ว่ารู้สึกยังไงก็เลยตัดสินใจมาเรียน

ตอนอยู่ที่ไทยผมได้สัมผัสกับระบบการศึกษาดีไซน์ในไทยแล้วพบว่าการเมืองของภาพแทนในกราฟิกดีไซน์มันเต็มไปหมด ในโรงเรียนผมเห็นการเมืองอย่างนึงแต่นอกโรงเรียนมันไม่ใช่ลอจิกแบบเดียวกันเลย เช่นชุมชนรถแต่ง ร้านสติกเกอร์ เขาไม่ได้มีวิธีการออกแบบเหมือนที่ผมได้เรียนเลย ผมเลยอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คาดว่าอาจจะเป็นเรื่องของอินเทอร์เน็ตรึเปล่า เขาใช้อะไรก็ได้ เอาอะไรมาผสมกันก็ได้ มันเลยเป็นที่มาของความสนใจเรื่องความเข้าใจผิด บิดเบือนให้เป็นเรื่องตลกหรือชวนคิด ไทโปกราฟีคือการให้ข้อมูลก็จริง แต่ถ้าเราเอามาใช้สร้างความสับสนโดยจับนู่นชนนี่ เราจะอ่านอะไรได้บ้างที่ไม่ใช่เพียงแค่อ่านผ่านตัวหนังสือ

ผมขอโชว์ Are.na ให้ดู อันนี้เป็นเหมือนอาร์ไคฟ์ที่ผมสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด หลักๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องบทบาทของวัฒนธรรมทางสายตา (visual culture) กับภาพแทน ผมสนใจว่ามันเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีคิด อุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมโดยรวมของประเทศประเทศหนึ่งยังไง รวมไปถึงอิทธิพลตะวันตกที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่มาตั้งแต่การสร้างแผนที่ การสร้างอัตลักษณ์ที่มากับแนวคิดชาตินิยม การพรีเซ็ทเรื่องการอ่านสัญญะ ภาพแทน และผมก็สนใจว่าเราไปเข้าใจสิ่งนั้นได้ยังไง 

ผมขุดไปเรื่อยๆ และพบว่าผมสนใจปรากฏการณ์ที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็สามารถผลิตภาพได้โดยไม่ต้องเข้าไปในกระบวนการศึกษากราฟิก อย่างปรากฏการณ์เรื่องมีมที่มากับการชุมนุม มันเป็นตรรกะเดียวกับการมองชุมชนรถแต่งเสียง ผมเห็นว่าหลังจากเกิดโควิดมีมเหล่านี้มีพลังมาก ในการทำให้คนคิดไปกับมันไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ในเรื่องของการต่อต้านระบบอำนาจนำ เวลารัฐไทยเห็นว่ามีคนสามารถทำอะไรแบบนี้กันเองได้เขาก็เริ่มสร้างเทคโนโลยีบ้าง ผมเจอเอกสารหลายส่วนมากๆ ที่พูดถึงว่ารัฐไทยสร้างทวิตมากระจายข้อมูลปลอมหรือที่รู้กันว่าคือไอโอ (IO:  Information Operation หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร”) ทำให้ถูกปิดไปหลายแอคเคาท์ ผมไม่เคลมว่าเอกสารจริงหรือปลอม แต่ผมแค่เห็นว่ามันมีเอกสารที่หลุดออกมาเยอะมาก 

ในผ้าเฮดสคาร์ฟที่เราทำ ถ้าสแกนก่อนหน้านี้มันจะไปเจอเว็บไซต์ที่พูดถึงไอโอ แต่ตอนนี้มันหายไปแล้ว นี่คือสาเหตุที่เราสนใจเก็บข้อมูลไว้ก่อนเลย เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตความคิดเกี่ยวกับพื้นที่จัดเก็บมันมีสิทธิ์ที่จะหายไปเลย มีนักทฤษฎีคนนึงพูดว่ามันคือยุคจบสิ้นของประวัติศาสตร์ อันนี้คือไฟล์ .pdf ที่เราเจอตอนนั้น (แชร์สกรีน) แต่กลับไปที่แหล่งข้อมูลตอนนี้จะเข้าไม่ได้แล้ว มันจะขึ้นว่า “เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติปรับปรุงใหม่” 


รูป 7-9 — ผ้าคลุมศีรษะจากโปรเจกต์ ‘DOOM LOOP: DISRUPTIVE COLORATION/MEMORY PARASITE (2021)’ ที่ธนัชรวบรวมเนื้อหาและภาพที่กระจัดกระจายจากช่วงเวลาหลากหลายเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ รวมไปถึงรัฐชาติ 

ธนัช — จริงๆ ประเด็นหลักๆ ที่เราสนใจพูดตรงๆ เลยก็คือ Psychological Operations (PSYOP) และที่รัฐไทยทำคือ Information Operation (IO) มันมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพรีโปรแกรมสมองเรา เพราะเราอยู่ภายใต้เน็ตเวิร์กที่เชื่อมสมองเราต่อกันไปหมด สองวันที่แล้วไปเจอเรื่อง Collective Unconsciousness มาแต่ยังไม่ได้เซฟ มันพูดถึงว่าภายใต้ภาพที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน มันพรีเช็ทความเชื่อและค่านิยมของเรา เช่นทำให้เชื่อว่าแว่นเป็นสีชมพูได้เท่านั้น ผมรู้สึกว่าในโลกที่มันหมุนเร็ว (acceleration) มันพาเราไปไกลมาก แต่ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจว่าสีชมพูคืออะไรให้ได้ก่อน ผมเจอบทความหนึ่งในบีบีซีที่บอกว่าข้อมูลที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตมันขยายตัวเป็นร้อยเป็นพันเท่าแล้วในแหล่งจัดเก็บ ปัญหาคือเวลาของมันทับถมกันขึ้นไปเรื่อยๆ เราอาจจะละเลยเรื่องของรากฐานของมันที่เป็นแก่นของของสิ่งนั้น อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นมากๆ ที่ตัวเราเองจะต้องเข้าใจ ไม่งั้นเราจะเกิดอคติกับสิ่งต่างๆ เยอะมาก 

ผมสนใจเรื่องการสร้างรูปทรงของความเชื่อ เรื่องเล่าที่มันเกี่ยวกับการลดทอนสู่ความมินิมัล ทั้งความงามและเป้าหมาย แต่ในการผลิตงานผมสนใจการทำให้มันซับซ้อนมากขึ้น ที่บอกว่าลดทอน คือผมสนใจการทับถมกันขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผมทำคือผมจะลากเส้นโคจรไปที่ประวัติศาสตร์ของมันแล้วเอาทั้งหมดมากองไว้หน้ามัน ผมจะพยายามเอาของมาชนกัน เหมือนทำรีมิกซ์ในเพลง สำหรับคนทำเพลง การรีมิกซ์มันมีอะไรคล้ายกันอยู่ อย่างตอนที่ผมทำเรื่องดนตรีแด๊นซ์ในบ้านเราตอนปี 2016 ชื่อ Dance Non-Stop Mix ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผัสสะ สิ่งที่เข้ามากระทบกับสมองทำให้เรารู้สึกขัดแย้ง โปรเจกต์นี้มาจากตอนที่เราเปิดเพลงของเราอยู่ที่บ้าน แล้วตรงข้ามบ้านเป็นอู่มอเตอร์ไซค์ เขาเปิดเพลงบีทหนักๆ ตอนที่เรานั่งทำงานเปิดเพลงอยู่ที่บ้านชิลล์ๆ เราเลยสนใจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการขยายการรับรู้ทางความคิดผ่านการกระทำสิ่งเหล่านี้

ถ้าผมพูดไปเรื่อยๆ มันจะเหมือนรากไร้ระเบียบ แต่ผมเป็นยังงี้แหละเพราะผมคิดว่าทุกอย่างเกี่ยวกันหมด 

Wanwai Shum (วันไว ชุม)

จากข้อสันนิษฐานว่าความคุ้นชินในการเขียนภาษาบ้านเกิดของนักออกแบบ น่าจะส่งอิทธิพลต่อการมองตัวอักษรและการใช้งานตัวอักษรต่างกัน จึงนึกถึงวันไว นักออกแบบกราฟิกชาวจีน ปัจจุบันทำงานอยู่ในเนเธอร์แลนด์กับ Studio Dumbar ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการทดลองกับตัวอักษรของเธอนั้นมาจากประสบการณ์เขียนอักษรด้วยพู่กันจีนในสมัยที่เรียนในโรงเรียนตอนเด็กๆ 


ยีน —
การทำงานไทโปกราฟีและกราฟิกของคุณได้รับอิทธิพลมาจากการคัดตัวจีนด้วยพู่กันใช่มั้ย?

วันไว — ใช่เลย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นเลยที่ฉันได้รู้จักกราฟิกดีไซน์และไทโปกราฟี การเรียนเขียนพู่กันจีนมันค่อนข้างมีพิธีรีตรองและเป็นศิลปะ ตอนที่ฉันเรียนไทโปกราฟีที่ยุโรป สิ่งที่พวกเขาแคร์มักจะเกี่ยวกับเรื่องส่วนโค้งส่วนเว้าหรือเคิร์นนิ่ง (kerning) แต่สำหรับฉันตอนที่เรียนเขียนตัวจีนมันเกี่ยวกับจังหวะและการใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปมากกว่า เหมือนการสร้างชิ้นงานศิลปะ ฉันคิดว่ามันคือจุดแตกต่างหลักในการเรียนเกี่ยวกับไทโปกราฟีทั้งสองฝั่ง

ยีน — จุดแตกต่างนี้ส่งผลต่อการทำงานของคุณมั้ย?

วันไว — ส่งผลมากเลย ยกตัวอย่างเช่นการทำงานกับ Studio Dumbar ฉันได้รับโอกาสให้ทำโปรเจกต์ที่ให้อิสรภาพในการสร้างสรรค์ เขายินดีที่จะให้ฉันทำงานกับรูปทรง ทดลองกับจังหวะที่สามารถผสมผสานกับตัวอักษรละติน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลย แต่สำหรับคนที่มีพื้นหลังทางวัฒนธรรมต่างกัน การที่พวกเขาได้เห็นว่าพวกรูปทรงหรือจังหวะมันสามารถเข้าไปอยู่ในไทโปกราฟีได้ด้วยมันน่าสนใจ ฉันคิดว่ามันเปลี่ยนวิธีการทำงานส่วนตัวของฉันมากเหมือนกัน

ยีน — ฉันเห็นว่าตัวอักษรที่คุณสร้างขึ้นมามันลื่นไหลมาก

วันไว — ใช่ เพราะฉันชอบที่จะทำให้มันเหลวๆ น่ะ อาจจะเป็นเพราะที่ยุโรปทุกอย่างมันเป็นเส้นตรงมาก และสนใจในรายละเอียดเล็กๆ ในขณะที่ฉันชอบมองภาพใหญ่มากกว่า ดังนั้นเลยสนใจว่าสโตรกของเส้นมันจะอยู่ยังไงรอบๆ รูปภาพ หรือมันจะเป็นรูปทรงแปลกๆ ได้ยังไงบ้าง


รูป 1 — โลโก้ที่วันไวออกแบบให้กับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ชื่อว่า Unknown Art

จั๊ก — สนใจที่คุณบอกว่าตัวอักษรจีนมันคือเรื่องของอารมณ์ สำหรับในไทยมันมีสองวิธีที่เห็นในการทำงานไทโปกราฟี จะมีแบบที่สนใจฟังก์ชั่นมากๆ เน้นเรื่องการอ่าน และอีกแบบคือทดลองมากๆ ไปเลย สงสัยว่ามันมีความเป็นระบบฐานสองแบบนี้ในจีนมั้ย?

วันไว — โดยทั่วไปแล้วการทำงานไทโปกราฟีมันก็ควรจะอ่านได้ แต่ส่วนตัวฉันสนใจการทดลองมากกว่าในการที่จะสามารถเอาตัวตนใส่ลงไปได้ด้วย คนส่วนใหญ่ของฝั่งออกแบบย่อมอยากที่จะให้มันอ่านได้และมีสัดส่วนที่ดี แต่ถ้าพูดถึงการออกแบบตัวอักษรขึ้นมาเป็นไทป์เฟซชุดหนึ่ง เนื่องจากตัวอักษรจีนมันเยอะมากและแต่ละตัวมันต่างกันมาก ทุกชิ้นมีองค์ประกอบหลายๆ รูปทรงมารวมกัน แต่ละองค์ประกอบก็มีความหมายในตัวมันเองอีก มันใช้เวลานานมากที่จะทำตัวอักษรที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา สำหรับฉันการทำให้มันทดลองไปเลยมันสนุกและง่ายมากกว่า (หัวเราะ) 

ตัวอักษรจีนก็มีทั้งซานเซอรีฟ (San serif) และเซอรีฟ (Serif) สำหรับเซอรีฟมันเกี่ยวกับจังหวะ เพราะรูปทรงมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงมันมีเยอะมาก อย่างเช่นเวลาคุณพิมพ์มันออกมา มันเล็กที่สุดได้แค่ไหน ช่องว่างของแต่ละเส้นมันต้องทำยังไง ฉันว่ามันเป็นงานที่มากเกินไปหน่อยสำหรับคนๆ เดียว รวมๆ แล้วก็น่าจะใช้เวลาสัก 5 ปีในการทำตัวอักษรขึ้นมาสักชุดนึง

ยีน — ฉันตามดูสัมภาษณ์ของคุณอยู่ใน It’s Nice That คุณบอกว่าคุณมีโอกาสได้ทำงานแบบทดลองมากขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้เป็นยังไงบ้าง กำลังทดลองอะไรอยู่?

วันไว — ฉันได้ทำโปรเจกต์แรกกับเพื่อน ยู่-เฉิน เฉา (Yu-Cheng Hsiao) ที่ตอนนี้อยู่ปักกิ่ง ในโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘2020 Calendar (2020)’ เราทำอะไรที่ทดลองมากๆ ด้วยการก่อสร้างตัวอักษรจีนเลข 1-12 ออกมาเป็นปฏิทิน เราพบว่ามันน่าสนใจที่ได้เห็นมันเป็นภาพที่ทุกส่วนถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากตัวอักษรจีน เพราะตัวอักษรจีนจริงๆ แล้วมันเป็นภาพนะ เราเลยคิดว่ามันสามารถมองด้วยมุมที่หลากหลายมากกว่าความหมาย ฉันคิดว่าการมองมุมอื่นๆ นั้นช่วยสร้างภาพใหม่ และภาพใหม่นี้มันคือการทดลองทางไทโปกราฟี 


รูป 2-3 — โปรเจกต์ ‘2020 Calendar’ ที่นำตัวอักษรเลข 1-12 ที่เขียนด้วยตัวอักษรจีนมาสร้างรูปทรงใหม่

สำหรับตอนนี้ ฉันสนใจว่าฉันจะสามารถทดลองเชิงไทโปกราฟีกับตัวอักษรละตินได้มากขึ้นยังไง ประกอบกับทำวิจัยว่าพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปมันส่งผลต่อวิธีที่ผู้คนเขียนยังไง มันเปลี่ยนรูปทรงของตัวอักษรไปยังไง การรีเสิร์ชนั้นเรียบง่ายมาก แค่สังเกตการเขียนด้วยเครื่องมือที่ต่างกัน เมื่อคนใช้ปากกาที่ไม่ได้มีหมึกเยอะมากเขียน เราจะเห็นความแรนด้อมของจังหวะ อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่ฉันกำลังรวบรวมอยู่ เพราะฉันคิดว่าความแรนด้อมมันน่าสนใจเมื่อประยุกต์เข้ากับการออกแบบไทโปกราฟีที่เน้นความเป๊ะมากๆ 

ยีน — คุณดูจะสนใจการทดลองกับรูปทรงของตัวอักษร อะไรพวกนี้มันเกี่ยวข้องกับงานที่ผ่านๆ มาของคุณมั้ย ฉันจำได้ว่าคุณทำงานเกี่ยวกับภาพดิจิทัลที่พังทลาย?

วันไว — ก็ไม่เชิง ในงานเก่าๆ ฉันสนใจโค้ดกับข้อผิดพลาดและภาษาในโลกดิจิทัล ตอนนี้ฉันกลับมามองการเขียนด้วยมือมากกว่า มันเป็นอะไรที่เป็นคนละวิธีการกันเลยในการทำความเข้าใจไทโปกราฟี ก่อนหน้านี้ฉันคิดว่าฉันสนใจชีวิตในโลกดิจิทัลที่มันส่งผลหรือสร้างประเภทของภาษาใหม่ๆ ให้กับเรา ซึ่งมันสามารถเข้าใจได้ผ่านรหัสแบบสุ่มหรือตัวเลขแบบสุ่ม ฉันสนใจว่าภาษาหรือภาพที่ไม่คาดคิดนั้นถูกผลิตออกมาโดยคอมพิวเตอร์ยังไง

จั๊ก — ที่คุณบอกว่ารวบรวมตัวอักษรพวกนั้นคือรวบรวมมาจากไหนบ้างเหรอ คุณสนใจในลายมือของคนใช่มั้ย แล้วที่มาของลายมือพวกนั้นมาจากไหน?

วันไว — ส่วนมากจากเพื่อนนะ แต่ละคนลายมือต่างกันมาก ทั้งจากสตูดิโอ หรือเพื่อนๆ เวลาหยิบปากกาขึ้นมาแบบแรนด้อม ก็สามารถสร้างรูปทรงใหม่ๆ ได้

ยีน — คุณได้รับอิทธิพลเรื่องการมองไทโปกราฟีจากภายนอกบ้างมั้ยตอนที่อยู่ที่จีน? อย่างในภาษาไทยฉันตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อสักยี่สิบปีที่แล้วคนเริ่มเขียนลายมือแบบน่ารักกันเต็มไปหมด สันนิษฐานว่ามาจากอิทธิพลของลายมือน่ารัก (maru-moji) ที่มากับวัฒนธรรมคาวาอิและสินค้าเครื่องเขียนญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามเย็น (หลัง 1970) และเข้ามาถึงไทยช่วงที่ญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันไว — ไทโปกราฟีที่ส่งผลกับฉันคือสิ่งที่ฉันเห็นจากฮ่องกง จริงๆ แล้วตอนเด็กๆ หรือแม้กระทั่งตอนนี้ ฉันได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเยอะมากจากฮ่องกง ฮ่องกงเป็นสถานที่ที่ทดลองและทำอะไรที่สนุกอย่างมากในเชิงไทโปกราฟี ไม่ว่าจะเป็นกับทีวี บนท้องถนน หรือหนังสือพิมพ์ ฉันได้เห็นฟอนต์หลากหลายและแตกต่างกันมากๆ ทั่วเมือง ซึ่งมันส่งอิทธิพลต่อการทำงานไทโปกราฟีของฉันมากทีเดียว


รูป 4 — ภาพของตัวอักษรจีนที่ใช้ในป้ายและสื่อต่างๆ ในฮ่องกงในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ที่หล่อหลอมวิธีการมองตัวอักษรของวันไว

จั๊ก — แยกออกระหว่างงานออกแบบของนักออกแบบฮ่องกงกับนักออกแบบจีนได้ด้วยเหรอ? 

วันไว — ฮ่องกงจะเชิงพาณิชย์กว่าและมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าในเชิงงานออกแบบ มันเป็นเมืองที่ค่อนข้างนานาชาติ และชาวตะวันตกอยู่ที่นั่นเยอะมาก เขาเลยรู้เรื่องการออกแบบมากกว่าที่จีน ที่จีนแผ่นดินใหญ่ก็รู้มากขึ้นเกี่ยวกับการออกแบบแล้วนะ แต่ว่าก็ยังคงติดกับมาตรฐานความสวยงามแบบเดียว แต่นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ เริ่มทดลองมากขึ้นแล้วล่ะ ฉันคิดว่าตอนนี้งานในจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มน่าสนใจกว่าในฮ่องกงแล้ว แต่ก่อนหน้านี้สมัยที่ฉันยังอยู่ที่โรงเรียน ฉันพบกว่าฮ่องกงก้าวหน้ากว่าที่จีนมาก

ยีน — แล้วสามารถแยกการออกแบบในแต่ละภูมิภาคของจีนได้มั้ย?

วันไว — ค่อนข้างเศร้าที่มันคล้ายๆ กันทุกอย่าง ถ้ามองไปที่ฮ่องกงหรือไต้หวันคุณจะเห็นความแตกต่างมากกว่าในการออกแบบ ฉันรู้สึกว่าฉันต้องคอยมองหาสิ่งต่างๆ จากที่อื่น เพราะถ้ามองไปแต่ที่องค์กรใหญ่ๆ ในจีน มันจะค่อนข้างเหมือนกันหมด และทุกที่ใช้ Helvetica อย่างเพียนเพียนที่คุณเคยสัมภาษณ์เขาทำงานน่าสนใจมากนะ แต่คุณจะพบได้จากสตูดิโอเล็กๆ มากกว่านั่นแหละ

ยีน — ในประเทศไทยก็เป็นอะไรคล้ายๆ แบบนั้นนะ

จั๊ก — โดยเฉพาะในวงโฆษณา

วันไว — สำหรับฉันการได้เห็นคาแรกเตอร์ในงานมันน่าสนใจกว่ามาก 

จั๊ก — ในโอกาสแบบไหนหรือประเภทงานแบบไหนที่คุณเอาตัวอักษรจีนเข้าไปใช้ในงานบ้างที่ยุโรป?

วันไว — สำหรับคนตะวันตกเขาไม่เข้าใจภาษา ดังนั้นเขาเลยชื่นชมมันผ่านรูปฟอร์ม สำหรับพวกเขาอาจจะเรียกว่าเอ็กซอติก การเป็นคนเอเชียที่เรียนหรือทำงานในยุโรปมันไม่มีโอกาสเท่าไหร่ที่จะมีโอกาสได้แสดงศักยภาพผ่านรูปแบบไทโปกราฟีจากภาษาของตัวเอง ฉันคิดว่าน่าจะดีถ้ามีโอกาสได้ใช้มันเพื่อพูดถึงวัฒนธรรมเอเชียมากขึ้น


รูป 5 — ภาพผลงานอัตลักษณ์นิทรรศการ ‘Ancestral Fortune (2021)’ ให้กับพื้นที่ทางศิลปะ MAMA ในรตเตอร์ดัม คิวเรตโดยฮันนี่ ไกรวีร์ ศิลปินอิสระและคิวเรเตอร์ชาวไทยที่พำนักอยู่ที่รตเตอร์ดัม

พชร์ เอื้อเชิดกุล (เพชร)

จากความสนใจเรื่องน้ำเสียงที่ยังขาดไปในตัวอักษรไทย จึงอยากพูดคุยกับนักออกแบบตัวอักษรที่สนใจการออกแบบตัวอักษรไทยรุ่นใหม่ๆ ไม่นานมานี้ก็ได้มีโอกาสเห็นผลงานของสตูดิโอออกแบบเปิดใหม่ชื่อว่า Recent Practice หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจคือตัวอักษรที่ชื่อว่า ‘หวย (2020)’ โดย เพชร หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอ จึงได้ติดต่อเพื่อพูดคุยถึงความคิดเห็นที่มีต่อการออกแบบตัวอักษรไทยในเวลานี้


ยีน
มองภาพรวมของตัวอักษรไทยยังไง?

เพชร — ขอมองเทียบกับช่วงก่อนที่เราจะมาโฟกัสที่การออกแบบตัวอักษรละกัน ซึ่งคือสามสี่ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่าประมาณปี 2020 หลังจากที่เรากลับมาจากเรียนต่อที่ Maryland Institute ก็เห็นคนทำเยอะขึ้นมากๆ แต่สิ่งที่สวนทางคือความหลากหลายของรูปแบบและคุณภาพ มันไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นตามจำนวนคนที่สนใจ แต่มันก็คงกำลังเติบโตอยู่ ก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก

จั๊ก — ที่ว่าเยอะขึ้นดูมาจากไหนบ้าง?

เพชร — เราเห็นจากที่คนแชร์เรื่อยๆ พวกรายย่อยที่มีจำนวนเยอะขึ้น อย่าง fontcraft หรืออย่างเว็บ f0nt เรานึกว่าจะตายแล้ว เพราะมีแต่หน้าเก่าๆ มาอัพเดท แต่แบบ อ้าว ไม่ตายว่ะ อยู่ๆ มันก็บูมขึ้นมาในช่วงสองปีนี้ แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามาจากไหน แล้วก็เห็นมีเพจ in font of หรือว่ากลุ่ม Prachatipatype เราว่ามันมีสื่อเกี่ยวกับฟอนต์เยอะขึ้นเฉยเลย ทั้งที่ก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรขึ้นมา ก็แปลกดี

ยีน — หรือคนมีเวลามากขึ้นช่วงโควิด เลยมีเวลาว่างทำ?

เพชร — เออ มีสิทธิ์

จั๊ก — กลับมาที่เรื่องสวนทางกับคุณภาพคือยังไงนะ?

เพชร — พอจำนวนมันเพิ่มขึ้น แทนที่คุณภาพมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปตาม มันกลับมีอยู่เท่าเดิม

จั๊ก — ช่วยเล่าแบบ 101 ให้ฟังหน่อยว่าเวลาจะดูคุณภาพ เราดูจากคุณสมบัติอะไรบ้าง?

เพชร — ภาษาไทยดูง่ายมากเลย มันจะมีพวกสระ วรรณยุกต์ทับยั้วเยี้ยไปหมดเลย ภาษาไทยเป็นการทำที่เหนื่อยเพราะมันต้องใช้ส่วนของคุณภาพเยอะมากๆ แล้วพอไม่ทำมันจะเห็นชัดมาก ทั้งเรื่องสระลอย สระจม วรรณยุกต์ลอย จม เช่น สระ อุ ที่หางของ ญ ยังไม่ถูกจัดการ ก็ทับกัน หรือพวก ใ ไ ที่ไปเกยกับสระข้างหน้า อันนี้เบื้องต้นนะ 

ยีน — แล้วเรื่องความหลากหลายของฟอนต์ล่ะ?

เพชร — เราว่ามันหลากหลายตั้งแต่ก่อนเราไปเรียนต่อละ มีทั้งลายมือ ทั้งฟอนต์แนวลูกทุ่ง สิบล้อ ตัวริบบิ้น นริศ แล้วพอกลับมาปุ๊บ มันก็ยังวนอยู่เท่านี้ ถ้าเทียบกับเว็บอย่าง dafont หรือ font squirrel ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คล้ายๆ กับ f0nt เราว่าหลากหลายกว่านี้

ยีน — คนออกแบบตัวอักษรมองตัวอักษรเป็นตัวแทนของน้ำเสียงหรือเปล่า?

เพชร — แรกๆ เรามองอย่างนั้นนะ ช่วงที่เรากำลังเปลี่ยนโฟกัสมาทำไทป์ดีไซน์จริงจัง อย่างทีสิสจบที่เมริกา เราก็ยังทำฟอนต์ที่ะท้อนตามอารมณ์ (‘State‘ (2019)) แต่หลังจากจุดนั้น เรามองเป็นอีกแบบไปแล้ว ความเป็นน้ำเสียงก็ยังมีอยู่นะเวลาทำคัสตอมฟอนต์ (custom font คือฟอนต์ที่ถูกทำขึ้นใหม่เพื่อลูกค้าหรือองค์กรนั้นๆ โดยเฉพาะ) เรายังใช้เรื่องน้ำเสียงในการอธิบายลูกค้าเพราะมันเห็นภาพมากกว่า แต่สิ่งที่โฟกัสเพิ่มขึ้นมาคือเราพยายามจะเล่นกับความเป็นไปได้ของรูปทรง ในกรณีที่มันจะส่งผลต่อความสามารถในการอ่าน ว่าเราจะเล่นกับมันได้แค่ไหน เราไปสนุกกับการเล่นกับฟอร์มตรงนี้มากกว่า เหมือนเรารีเสิร์ชไปเรื่อยๆ แล้วเห็นว่าฟอร์มนี้มันยังไม่มีคนทำเลย ถ้าเราทำจะเป็นไงวะ จะมีปัญหาอะไรมั้ย จะอ่านออกหรือเปล่า พอลองแล้วอ่านไม่ออกก็โอเคไม่ทำก็ได้


รูป 1 — ตัวอย่างฟอนต์ State ที่นำเสนอแบบ Variable font  

จั๊ก — ก็คือมีสองทาง หนึ่งคือ Form Follows Function นึกถึงการใช้งานก่อน จะไปใช้บนอะไรบ้าง น้ำเสียงที่ตอบโจทย์การสื่อสาร กับสองคือ Function Follows Form ซึ่งจะเริ่มจากความเป็นไปได้ของรูปทรงแบบที่พี่เชรกำลังสนใจตอนนี้

เพชร — ใช่ๆ งานลูกค้าก็จะเป็นแบบแรก งานส่วนตัวจะเป็นแบบสอง

จั๊ก — แล้วฟอนต์ ‘หวย’ เป็นแบบไหน?

เพชร — จะกึ่งๆ เพราะเรามีโจทย์จากตอนสมัยเรียนเป็นกรอบ แต่ขณะเดียวกันเราก็ดื้อทำตามใจฉันพอสมควร


รูป 2 — น้ำหนักต่างๆ ของฟอนต์หวย

จั๊ก — โจทย์นั้นคืออะไร?

เพชร — ต้องเป็นฟอนต์แบบตัวเนื้อความและต้องกำหนดว่าจะใช้บนสื่อไหน ซึ่งจะต้องกำหนดละเอียดเลย เช่นจะใช้กับนิตยสารกีฬา แล้วเราก็ดื้อไม่ฟังคอมเมนต์เลย คิดว่ามันต้องทำแบบนี้ได้สิวะ

จั๊ก — กำหนดไว้ว่าจะใช้กับสื่ออะไร?

เพชร — เราคิดซื่อๆ เลย ว่าจะใช้บนหวยนี่แหละ เราเริ่มจากรีเสิร์ชว่าหวยตอนนี้ใช้กี่ฟอนต์ ก็เลยเห็นว่าฉิบหายละ 6-7 ฟอนต์เลย ตอนแรกกะจะหยิบหนึ่งตัวมาพัฒนาต่อ แต่ปรากฏว่าหนึ่งใบมันมีฟอนต์ยั้วเยี้ยไปหมดเลย เราก็เลยล้างใหม่ ไม่ต้องใช้บนหวยแล้วก็ได้ แต่ต้องพยายามหาสื่อให้มันอิงกับชาติตัวเอง เพราะเพื่อนคนอื่นก็อิงกับชาติตัวเองหมดเลย เพื่อนจีนทำกับเต้าหู้ยี้ ก็รู้สึกว่าอยากทำไรสนุกๆ แบบนี้บ้าง 


รูป 3 — ภาพรีเสิร์ชตัวอักษรที่นำมาใช้ในการออกแบบฟอนต์หวย

บวกกับเรามีคำถามนึงที่ติดอยู่ในใจมานาน คือทำไมฟอนต์ไทยไม่มีหัวถึงต้องหน้าตาคล้ายภาษาอังกฤษขนาดนั้น เช่น ทำไม ล ต้องใกล้ a ร กับ s ท กับ n รูปทรงมันแปลกกว่านี้ไม่ได้เหรอ ส่วนโค้งมันเยอะกว่านี้ไม่ได้เหรอ แล้วตอนนั้นเราได้เรียนคาลิกราฟี (calligraphy) ของตัวละติน เลยเพิ่งเริ่มเจอว่าการเขียนตัว n มันไม่เหมือนเวลาเขียน ท คือเวลาเขียนตัว n เราต้องลากสองเส้น เกิดการยกปากกา ในขณะที่ ท ไม่ต้องยก ลากเส้นเดียวจบ ก็เลยเกิดไอเดียว่าในเมื่อตัวละตินมีอิทธิพลกับไทยได้ งั้นเราเอาไทยกลับไปมีอิทธิพลกับละตินได้มั้ย โดยที่ไม่ใช่การมีอิทธิพลแบบตรงไปตรงมาหรือจับยัด เลยเลือกเอาประเด็นการเขียนไม่ยกมือของไทยไปใส่ในละติน ซึ่งส่วนใหญ่จะเขียนยกมือ บวกกับเราใช้อ้างอิงจากพวกป้ายลายมือแถวบ้าน ขายที่ดิน ขายหอ ขายคอนโด ลายมือวินมอเตอร์ไซค์ ลายมือคนในตลาด คือถ้ามีใครถามว่าทำไมยังใช้ชื่อหวย เราก็จะบอกว่าเราเอามาจากลายมือคนซื้อหวย เราเอามานั่งดูแล้วก็คิดว่าอยากเก็บวิธีการเขียนแบบไหนไว้ แล้วเอาวิธีที่ได้ไปวาดตัวละติน พอวาดตัวละตินเสร็จ ก็ล้างเรฟเฟอเรนซ์พวกนั้นทิ้งหมด แล้วเอาผลลัพธ์ตัวละตินที่ได้กลับมาวาดภาษาไทย ตัวไทยที่ได้ก็จะไม่เหลือเค้าภาพเรฟเฟอเรนซ์เดิมเลย


รูป 4 — โปสเตอร์ตัวอย่างการใช้งานฟอนต์หวย ทุกน้ำหนักในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ยีน —
ต่างชาติเห็นตัวละตินของหวยแล้วรู้สึกยังไง?

เพชร — สิ่งที่เราอยากให้เขารู้สึกคืออ่านออกเลย ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามันมาจากอะไรก็ได้ เพราะย้อนกลับไปโจทย์แรกที่ต้องทำตัวเนื้อความ ดังนั้นถ้าคนดูแล้วต้องคิดว่านี่ตัวอะไรคือไม่โอเคละ จริงๆ การเขียนแบบไม่ยกมือในตัวละติน จะมีอยู่ในการเขียนคาลิกราฟีแบบที่เรียกว่า Upright Italic แต่ตัวของเราจะไม่ได้คล้ายกับตัวอักษรตระกูลนั้น

จั๊ก — ต่างชาติเห็นตัวละตินแล้วรู้สึกมั้ยว่าคนทำต้องไม่ใช่เจ้าของภาษาแน่เลย

เพชร — ไม่ อิงจากอาจารย์นะ มีบางคนที่รู้สึกว่าคนทำน่าจะรู้วิธีการเขียนตามขนบดี แต่เลือกที่จะไม่ทำตาม และบางคนที่รู้สึกว่ามันต้องเป็นการเขียนที่ผสมมาจากการเขียนของภาษาอื่นแน่เลย หนึ่งในความยากของฟอนต์ลายมือแบบนี้คือ มันมีรายละเอียดที่ต้องตัดสินใจเยอะว่าจะเก็บอะไรไว้บ้าง ถ้าเก็บอะไรไว้ ก็ต้องกระจายใช้ให้ทั่วทั้งระบบ แล้วมันต้องทำไปตรวจสอบไป ว่าพอมาลองเขียนแล้วมันเขียนแบบนี้ได้จริงมั้ย

จั๊ก — สรุปหวยจัดอยู่ในหมวดฟอนต์ลายมือหรอ

เพชร — นั่นดิ คือถ้าต้องติดแท็กก็คงติด handwriting นะ ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่ามันก้ำกึ่งมากๆ จั๊กคิดว่าไง?

จั๊ก — ก็รู้สึกว่ามันคือลายมือนะ แต่ไม่ได้ดิบเท่าฟอนต์ลายมือทั่วไป ดิบในความหมายที่ว่าเอาลายมือที่เขียนมาลงโปรแกรมเลย ซึ่งของพี่เพชรมันแปลงมาเยอะ ไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น

เพชร — ใช่ 

จั๊ก — ซึ่งฟอนต์ที่อยู่กึ่งๆ แบบนี้ดูมีไม่ค่อยเยอะเนอะ

เพชร — เราว่ามันใช้งานยาก คนเลยไม่ค่อยทำ พอทำเสร็จถูกถามว่าจะเอาไปใช้ในไหน เราก็แบบ เออไม่รู้ คือทำสนองไอเดียตัวเองไว้ก่อนเลยงานนี้ พอต้องทำตัวอย่างการใช้งานไปให้คนอื่นดูถึงค่อยมานึกว่าจะใช้บนอะไรบ้างดี

จั๊ก — ตัวที่สะดุดตาสุดในเซ็ตคือ ห อันนี้เป็นตัวไฮไลท์รึเปล่า?

เพชร — ก็คงงั้น แต่จริงๆ ตัวที่เราทำแล้วพอใจกับตัวเองสุดคือ G ทั้งที่หน้าตาออกมาอาจจะดูธรรมดา แต่เราหาวิธีเขียนมันนานมากเลย

จั๊ก — น้ำหนักไหนของหวยที่ภูมิใจนำเสนอสุด?

เพชร — Black 


รูป 5 — เวทหรือน้ำหนักตัวอักษรแบบ Black ของฟอนต์หวย

ยีน — ใช้เครื่องมืออะไรเขียน?

เพชร — ปากกาหัวตัด

ยีน — ใช้เวลาทำนานมั้ย?

เพชร — ถ้าตามปกติ 2 ภาษาก็ 2-3 เดือน แต่ถ้าอังกฤษอย่างเดียวจะเร็วกว่าเพราะเราวาดอังกฤษจนคุ้นละ

ยีน — ชอบทำฟอนต์ไทยมั้ย?

เพชร — ตอนแรกรู้สึกว่าอยากทำมากเลย แต่พอทำไปได้ 2-3 ตัว เริ่มเหนื่อยละ มันมีรายละเอียดที่ต้องเก็บเยอะกว่าที่คิดไว้มาก เยอะกว่าภาษาอังกฤษเยอะเลย โดยเฉพาะส่วนเอ็นจิเนียริ่งที่ทำตอนหลังเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาตอนพิมพ์

จั๊ก — คิดยังไงกับฟอนต์ที่ทดลองมากๆ

เพชร — อิจฉานะ บางทีเราก็อยากทำแบบนั้นบ้าง แต่มันทำไม่ไป เพราะตามันแคร์การอ่านออกไปแล้ว เราก็จะไม่กล้าวาดอะไรที่มันเพี้ยนสุด เหมือนพอรู้หลักการไปแล้ว มันกลับไปไม่รู้ไม่ได้แล้ว

เราต่างคุ้นเคยกับการโหลดฟอนต์จากแฟลตฟอร์ม f0nt.com มาตั้งแต่สมัยยังไม่ได้เรียนออกแบบอย่างจริงจัง เมื่อได้มีโอกาสค้นคว้าเรื่องตัวอักษรทำให้เราคิดว่าอยากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวในแพลตฟอร์มทั้งในเชิงความหลากหลายของรูปฟอร์ม ความนิยมในการออกแบบและดาวน์โหลดไปใช้งาน ในพื้นที่ที่เรียกว่าอยู่ก้ำกึ่งระหว่างมืออาชีพและมือสมัครเล่นของนักออกแบบตัวอักษร

iannnnn (แอน)

วิเคราะห์ด้วยข้อมูลที่ดึงมาจากแพลตฟอร์ม เราได้นำข้อสังเกตและข้อสงสัยไปสอบถามกับผู้ก่อตั้งคุณแอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ iannnnn ว่าแพลตฟอร์มตั้งแต่เริ่มเปิดเว็บไซต์มาตั้งแต่ปี 2004 เว็บ f0nt ได้เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง


จั๊ก —
พอเริ่มมีโซเชียลมีเดียมาก็เริ่มไม่ได้เข้าเว็บอะไรโดยตรง ส่วนมากจะเข้าจากเฟซบุ๊ก แต่พอต้องรีเสิร์ชก็เลยไปดูในเว็บ 
f0nt ดูข้อมูลหลังบ้านอย่างที่ส่งให้คุณแอนดู

แอน — มันละเอียดมากเลยครับ ประทับใจในการทำการบ้าน

จั๊ก — เหมือนเว็บก็เก็บข้อมูลแบบมีสตรัคเจอร์ประมาณนึง ดึงเอาไปใช้ต่อได้เลย แล้วก็เซอร์ไพรส์ในแง่ที่มันแอคทีฟอยู่มาก และมีฟอนต์อัพเดทอยู่เรื่อยๆ นึกว่าคนเลิกปล่อยฟอนต์ในเว็บบอร์ดกันแล้ว เลยอยากถามว่ายุคหลังโซเชียลเป็นต้นมา ลักษณะของคนที่มาใช้งาน f0nt เป็นยังไง และเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

แอน — ความจริงเรื่องที่ผมจะพูดฟังดูแล้วอาจจะเป็นมายเซ็ตโบราณของคนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพราะตัวเว็บฟอนต์มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2004 แน่ะ ตามสแตทที่ดูมา จำนวนฟอนต์ไปพุ่งสุดขีดที่ปี 2005 ที่ใครๆ ก็กระโดดลงมาก็เพราะโนวฮาวภาษาไทยมันยังไม่มี แต่พอมีอินเทอร์เน็ตมันมีคนที่รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เข้ามาแชร์มาช่วยกันทำ เมื่อก่อนทุกคนกระโดดเข้าไปในเว็บบอร์ดเค้าออนกันเหมือนห้องแชทเลยครับ เราจะเห็นว่ามีสองร้อยคนกำลังออนอยู่และนั่งคุยกันอย่างดุเดือด แล้วก็จะมีคนที่เข้ามาเพราะว่าชื่อเว็บฟอนต์แต่จริงๆ แล้วเขาก็สนใจเรื่องดีไซน์ ศิลปะ การถ่ายภาพหรือเทคโนโลีอื่นๆ ด้วย ก็พบว่าเขาก็กระโดดเข้ามาคุยกันเรื่องอื่นๆ ด้วย เหมือนคอมมูนิตี้ทุกวันนี้น่ะ ต้องบอกก่อนว่าตัวเว็บไม่ได้ถูกออกแบบมาเป็นแพลตฟอร์มที่มองอนาคตไปไกลมาก แค่รู้สึกว่าอยากทำ และมองเป็นสหกรณ์ฟอนต์ เอามารวมกันแล้วปล่อยให้แจกฟรี ถ้าใครที่เอาไปใช้แล้วมาบอกก็จะดีใจ กลุ่มคนที่ทำฟอนต์มากที่สุดในเว็บฟอนต์ตอนนั้นจะเป็นเด็กมัธยมถึงมหาลัย มันเป็นเว็บงานอดิเรกจริงๆ 

พอมาปี 2008 กลุ่มคนที่เคยเข้ามาคุยสัพเพเหระเขาไปใช้สื่ออื่น เว็บบอร์ดในประเทศไทยผมว่าสิบแห่งน่าจะตายเก้าแห่ง แต่ตัวเว็บฟอนต์ยังอยู่ได้ และที่อยู่ๆ ก็กลับมาในช่วงนี้ก็คือหมวดที่คนเอาฟอนต์มาซับมิท กับสอบถามเรื่องออกแบบ ทุกวันนี้ก็ยังแอคทีฟเหมือนเดิมและพุ่งกว่าเดิมด้วย เข้าใจว่ามันเป็นร่องของเทคโนโลยีพอดี อย่างที่บอกตอนแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนกว่าจะได้ฟอนต์ฟอนต์นึงขึ้นมานี่หัวผุเลย ต้องพยายามจะหาวิธีแกะฟอนต์ภาษาอังกฤษมาให้มันแสดงผลอย่างถูกต้องกับภาษาไทย แต่พอมีเทคโนโลยี มีโปรแกรมทำฟอนต์ มีไอแพดที่ทำฟอนต์ได้ คนก็เห็นว่ามันทำง่าย แค่กูเกิ้ลหาว่าทำยังไงก็ทำได้แล้ว ในสแปนที่หายไปสิบกว่าปีเนี่ย คนที่ทำจริงๆ เหลือแต่มืออาชีพ เช่นเขาเป็นฟรีแลนซ์ ดีไซน์เนอร์ ฟาวดรีเล็กๆ ที่ทำฟอนต์ขายแล้วก็ปล่อยตัวทดลองมาให้ใช้ดูก่อน ถ้าสนใจก็ค่อยไปซื้อ หรือกลุ่มที่ใหญ่ๆ ไปเลยคือร้านทำป้าย ก่อนหน้านี้คนที่ทำป้ายคือเขียนมือใช่มั้ยครับ วันนึงพอไวนิลมาทุกคนก็กระโดดไปทำไวนิล แล้วทักษะการเขียนมืออันเป็นเอกลักษณ์ของวงการป้าย งานบุญ งานบวชของประเทศไทย งานกระถินก็โดดมาอยู่ในฟอนต์กันเพราะคนทำป้ายเขาเห็นว่ามันทำง่ายนี่นา ใช้แค่โปรแกรมเว็กเตอร์บางตัว มันก็เป็นลูปคล้ายๆ กันน่ะครับ เขาก็เข้ามาดู เอาไปพัฒนาแล้วก็เอามาขาย จนในที่สุดบางคนหันมาทำฟอนต์อย่างเดียว

จั๊ก — เช่นครีเอเตอร์คนไหนนะคะที่ทำป้ายแล้วผันตัวมาทำฟอนต์?

แอน — มีหลายคน เช่นคุณ witawas วัสโวยวาย” หรือ บางลี่โฆษณา เป็นฟอนต์แนวลูกทุ่งไทยที่ฮิตมาเลยในช่วงนึงSBFONT เจเคจิ้ง สิงห์สติกเกอร์ท้ายรถกระบะอะไรยังงี้ มีคนนึงที่เขาทำร้านสติกเกอร์ท้ายรถกระบะแล้วก็ทำสิ่งนั้นมาตลอดเหมือนเป็นลายเซ็นของตัวเอง กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ทำอาชีพประมาณนี้กระโดดเข้ามาทำฟอนต์จริงจัง แล้วก็ทำมาขาย ภาพลักษณ์ของเว็บฟอนต์ที่เป็นลายมือวัยรุ่นหนักๆ เลยก็จะลบหายไปมาเป็นสิ่งนี้แทน 

มันน่าสนใจว่าคนที่ทำในช่วงสิบปีที่สูญหายคือกลุ่มสติกเกอร์ พอเขาไปเผยแพร่กันในกลุ่มมันก็จะมาเยอะ แต่ตอนนี้ก็จะกลับมาที่คนทำลายมือ อย่างที่บอกว่าเพราะมันมีแอพชื่อ iFontMaker ในไอแพด ทุกคนสามารถทำฟอนต์ได้ง่ายๆ เลย สามารถหลับหูหลับตาทำจบในสิบนาทีได้ แต่เทรนด์ของเว็บฟอนต์ตอนนี้มันก็จะมีแนวอัตลักษณ์องค์กร เดี๋ยวนี้กลุ่มสตูดิโอทำอะไรแบบนี้กันเยอะ เช่น fontcraft

จั๊ก — ลองไล่เฟสถ้ายังงั้นแรกๆ เลยจะเป็นเด็กมัธยม มหาลัย อะไรแบบนี้ใช่มั้ยคะ จากนั้นก็เป็นคนสายอาชีพทำป้ายทำอะไรขาย พอเทคโนโลยีง่ายขึ้นก็มาทำดิจิทัลกัน และอยากลองไปดูเลยว่าฟอนต์แนวลูกทุ่งแนวป้ายสติกเกอร์นี่มันเป็นยังไง ตอนแรกยังไม่ดูฟิลเตอร์ดูพวกนั้นละเอียด

แอน — น่ากลัวมาก ชอบชอบ (หัวเราะ) ส่วนเรื่องความนิยม ถ้าดูระดับความพุ่งปี 2019 คิดว่า 1 ฟอนต์ จะปรากฏอยู่ประมาณ 7 วันต่อ 1 ตัวแล้วค่อยๆ ขยับถี่ขึ้นเรื่อยๆ คนก็จะต่อคิวกัน พอปี 2020 ก็ขยับเป็น 5 วันต่อฟอนต์ 4 วันต่อฟอนต์ 3 วัน วันเว้นวัน ล่าสุดคือทุกวันต้องมีฟอนต์ใหม่

จั๊ก — เอ๊ะ การจองคิวมันเหมือนกับว่าถ้าเราโพสต์ของวันนั้นมันจะได้ขึ้นมาเป็นฟอนต์แรกรึเปล่า เขาจองคิวกันยังไง?

แอน — โพสต์ในเว็บบอร์ดข้างหลังเนี่ยแหละ ง่ายๆ เลย เหมือนยืนต่อแถวกันน่ะครับ ไปดูในเว็บบอร์ดได้ ก็มีกติกา ทุกคนก็จะรู้กันว่ามาปั๊บขอจองคิวหนึ่งสองสามสี่ห้า ระบบจองคิวนี้ก็ค่อยๆ ปรับปรุงมาเรื่อยๆ ต้องมีการขอดูด้วยว่าฟอนต์ที่จะอัพมันสมบูรณ์พอที่จะใช้ได้ด้วยรึเปล่า เรื่องดีไซน์ก็แล้วแต่คน

ยีน — คนที่อัพขึ้นไปก็คือคุณแอนเองใช่มั้ย?

แอน — มันยังเป็นระบบบรรณาธิการอยู่เลยครับ ทุกคนสามารถเข้าไปอีดิทฟอนต์เองได้ แต่การอัพต้องผ่านแอดมิน นี่ก็เป็นสิ่งที่เชยนะใน พ.ศ. นี้ แต่คิดว่าปัจจุบันนี้ถือว่ายังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอยู่ ไม่เละไปทางนึง

จั๊ก — คุณภาพต้องประมาณไหน ฟอนต์แบบไหนที่ไม่ให้ผ่านเลย?

แอน — ตัวดีไซน์เราไม่มีปัญหาเลย อยากดีไซน์แค่ไหนก็ได้ บางคนดีไซน์แบบล้ำจักรวาลก็ยังสามารถขึ้นได้ แต่ถ้าพิมพ์ปั๊ปแล้วมีปัญหา เราจะมีการคริติกกันอยู่ข้างหลังนิดนึง เช่นป ปลา กับสระมันตีกัน มันเหมือนมีคนมาช่วยกันดูกันแนะ รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง คนที่เข้ามาใหม่หัดทำ คนที่ทำแล้วมีปัญหาก็จะมาถาม ถ้าใช้ได้ก็ปล่อย ปิดงานได้ รีลีสได้

จั๊ก — การคอมเมนต์นี่มันเกิดขึ้นในเว็บบอร์ดเหรอคะ?

แอน — ใช่

จั๊ก — (หัวเราะ) โอ๊ย อันนี้เอาจริงเซอร์ไพรส์หลายเรื่องมาก 

ยีน — คนที่ยังแอคทีฟนี่อยู่กันมานานแล้วรึเปล่าคะ?

แอน — ก็ไม่เชิง คนเก่าๆ ก็แวะมาบ้าง แต่ด้วยความที่ผมเป็นเจ้าของเว็บผมก็กดเข้าไปดูทุกวัน แต่ถ้าคนทั่วไปออกแบบแล้วไม่ลงตัวซะทีก็จะมีคนเข้ามาช่วยแก้ให้

จั๊ก — แสดงว่าเจ็ดร้อยกว่าฟอนต์ที่มีอยู่ในเว็บตอนนี้ผ่านตาคุณแอนมาหมดแล้วใช่มั้ยคะ เขาจะส่งเป็นไฟล์ฟอนต์มาให้แล้วคุณแอนก็ต้องโหลดมาแล้วก็ลองพิมพ์เหรอคะ?

แอน — ใช่ๆ 

จั๊ก — ดูใช้พลังเยอะกว่าที่คิด

แอน — แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระเลยนะ ผมคิดว่ามันดีที่ผมได้คอนทริบิวท์อะไรสักอย่างให้กับโลก ฟอนต์มันมีลักษณะคล้ายกับซอฟแวร์คือพอปล่อยออกมามันก็ยังมีอะไรให้แก้ได้ บางคนอาจจะโหลดไปใช้แล้วพบปัญหาก็จะคอมเมนต์ตรงใต้โพสต์ หรือเอาไปลงในเพจในทวิตแล้วเราก็มาแจ้งคนทำฟอนต์อีกที ซึ่งมันก็จะมีความเป็นเวอร์ชั่นอยู่นะน่ะตัวฟอนต์นี้

จั๊ก — มีการบอกกันเรื่องการจัดกลุ่มติดแท็กฟอนต์ในเว็บบอร์ดมั้ย?

แอน — มีทั้งเราติดเอง แล้วเขาก็เสนอมาก็มี แท็กมันอาจจะงงๆ นิดนึงนะ เพราะเมื่อสมัยก่อนเคยรื้อเว็บทีนึงตอนที่มีฟอนต์อยู่ประมาณสองสามร้อยตัว ตอนนั้นระดมคนในคอมมูนิตี้มานั่งล้อมวงกัน มีโน้ตบุ๊คมาคนละตัวเพื่อย้ายเว็บจากที่นึงไปที่นึง อาจจะแท็กไม่ได้มาตรฐานบ้าง โทษคนอื่นไว้ก่อน (หัวเราะ)

จั๊ก — มันเคยมีซีนที่แบบทุกคนเอาคอมมาสุมหัวทำด้วยกันด้วย

แอน — ผมถึงได้บอกว่าคอมมูนิตี้มันแข็งแรงขนาดนี้เลยนะ เคยมีทีเคพาร์คเชิญไปสอนทำฟอนต์ ก็ระดมคนไปสิบกว่าคนไปสอนก็มี โดยที่ไม่ได้ตังค์ได้อะไรตอบแทน มันเหมือนเป็นอุปนิสัยของคนในยุคเว็บบอร์ด ขอให้นึกว่ามันเป็นมรดกของอินเทอร์เน็ตยุคสองพันต้นๆ ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ถามว่ามันเชยมั้ยก็เชย แต่มันก็มีบางอย่างที่แข็งแรงพอที่ทำให้มันหลงเหลือมาถึงตอนนี้ แต่ใจจริงก็อยากมีเวลาสักหนึ่งเดือนมาแก้เว็บเหมือนกัน (หัวเราะ) ผมยังรักเว็บอยู่นะ สำหรับคนทำฟอนต์ผมไม่อยากให้มันเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม

ย้อนกลับมามองหลังจากการได้คุยกับคุณแว่นจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน นอกจากวัตถุสิ่งของในพื้นที่ประท้วง ป้ายที่ถูกชูในที่ประท้วงนั้นก็น่าสนใจในแง่ที่ว่ามันรวบรวมข้อความสื่อสารทางการมืองด้วยตัวอักษรอันหลากหลาย จึงลองสำรวจผ่านแฮชแท็กยอดนิยมจากที่ประท้วง ไม่ว่าจะเป็น #ออกไปอีสัส #ผนงรจตกม เพื่อที่จะดูว่าข้อความเหล่านั้นถูกเขียนหรือพิมพ์ขึ้นด้วยตัวอักษรบนป้ายกันในรูปแบบไหนบ้าง

อิสระ ชูศรี

เราถอยออกมามองจากตัวอักษรสู่เลเยอร์ของภาษา ด้วยคำถามที่ว่าภาษาที่ใช้ในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมานั้นเป็นยังไง สัมพันธ์กับท่าทีในการเขียนตัวอักษรบนป้ายยังไงบ้าง เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอิสระ ชูศรี นักภาษาศาสตร์ที่สนใจภาษากับการชุมนุม มาช่วยตอบคำถามและสำรวจเพิ่มเติมว่าป้ายประท้วงของอีกฝั่งนั้นหน้าตาเป็นยังไง


อิสระ —
นักภาษาศาสตร์อาจไม่ได้สนใจรูปทรงตัวอักษรเท่าไหร่ สนใจระบบการเขียนมากกว่า ตัวเขียนในระบบนั้นแทนเสียงหรือแทนความหมายอะไร การเขียนจริงๆ ก็คือการทำเครื่องหมายแทนหน่วยในระบบภาษา เช่นแทนหน่วยเสียง อย่างในภาษาไทยเว้นวรรคก็คือความเงียบ

แต่หน่วยไม่ได้มีแค่เสียงอย่างเดียว หน่วยความหมายก็เป็นหน่วย หน่วยบางทีก็เป็นคำ หน่วยบางทีก็เป็นวลี เป็นประโยค ในภาษาอังกฤษการเว้นวรรคคำทำให้เราเข้าใจหน่วยคำได้ง่ายขึ้น แต่ยากในการแทนค่าเรื่องการหยุดหายใจ แต่ภาษาไทยระบบเขียนมันช่วยให้อ่านออกเสียงได้สมูทกว่า ภาษาไทยเขียนเหมือนพูดมากกว่า 

หน่วยที่เป็นลักษณะทางเสียงว่าออกเสียงด้วยอวัยวะอะไรก็มี อย่างบางภาษาก็ละเอียดกว่าภาษาอังกฤษซะอีก เช่นเกาหลีเนี่ย เพราะมันบอกเลยว่าต้องออกเสียงยังไง ที่คนชอบเล่นมุกตลกหลอกด่าบางคนเขาก็เอาภาษาเกาหลีมาเขียนด่ารัฐบาล เพราะมันง่ายในการที่จะแปลงเสียง ดังนั้นไม่ว่าจะภาษาเขียนหรือภาษาพูดระบบก็คือเครื่องมือกำกับให้ภาษาทำงานนั่นเอง

จั๊ก — อันนี้เป็นสิ่งที่นักภาษาศาสตร์มองย้อนไปและพยายามเข้าใจว่าเขาคิดมาเพื่ออะไรแบบนี้รึเปล่าคะ?

อิสระ — สำหรับนักภาษาศาสตร์เจตนารมณ์ของผู้คิดค้นไม่ได้สำคัญ แต่เป็นการมองย้อนกลับไปว่ามันทำงานยังไง ถ้ามองแบบนี้ภาษาที่ใช้ในปัจจุบันหรือหมื่นปีที่แล้วก็คือภาษาเดียวกัน มันก็คือสัญลักษณ์แทนความคิด เราไม่ได้มองว่าเขาคิดมาเพื่ออะไรแต่มองว่าภาษามันทำงานยังไง

ผมคิดว่าที่คุณถามน่าจะหมายถึงว่ามันถูกเขียนขึ้นมาใช้ทำอะไร ในแง่นั้นก็จะดูว่าเขาเขียนเรื่องอะไร เช่นเรื่องการทำบัญชีค้าขาย จดบันทึกค่าแรงคนงาน การสรรเสริญพระเจ้าก็มี หรือการปกครองก็มี ระบบอักษรที่เก่าแก่ที่สุดบนเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่พบก็คือดินเหนียวในเมโสโปเตเมียเมื่อประมาณ 5000 ปีที่แล้ว

การเกิดขึ้นของภาษาเขียนคุณอาจจะมองหาในแง่ว่ามันเกิดขึ้นเพื่อชดเชยในสิ่งที่ภาษาพูดไม่มี ภาษาพูดต้องพูดกันไง ถ้าผมโทรไปคุณไม่รับสายก็คุยไม่ได้ แต่ถ้าผมส่งข้อความไปตอนแรกคุณไม่เห็นแต่อีก 5 นาที 10 นาทีคุณเห็นน่ะมันก็สามารถสื่อสารได้ ดังนั้นภาษาเขียนมันจะมีความเหลื่อม ไม่ต้องพร้อมหน้า และอาจจะมีอย่างอื่น เช่นแก้ไขได้ ร่างได้ เขียนไปยาวๆ ก็ได้ ไม่เหมือนถ้าเราพูดยาวๆ เราพูดนานขนาดนั้นไม่ได้ ถ้าคุณอยากรู้ความต่างคุณก็ต้องลองเปรียบเทียบเอา เช่นเรื่องของบริบทถ้าเป็นภาษาพูดเรามีบริบทช่วยก็ไม่ต้องพูดเยอะ ภาษาเขียนถ้าบริบทไม่ตรงกันก็ต้องเขียนเยอะหน่อยให้เข้าใจ 

คุณเป็นนักออกแบบอาจจะสังเกต เช่นการใช้เครื่องหมายตกใจในการเขียน ถ้าเป็นการพูดคุณก็ทำเสียงตกใจ หรือพวกอักษรประดิษฐ์แบบนี้ ถ้าอยากจะให้มันเหมือนอ่านการ์ตูน เสียงดังก็ต้องเขียนตัวโตๆ เช่นคำว่าโครม ถ้าคุณอยากแสดงถึงคำนี้คุณก็ต้องทำให้มันบิ๊กเบิ้ม

จั๊ก — ดังนั้นการออกแบบฟอนต์ก็คือการชดเชยน้ำเสียงที่มันไม่มี จุดนึงที่ภาษาเขียนใช้แทนภาษาพูดไม่ได้

จั๊กเคยเข้าไปดูบทความของคุณอิสระอย่างใน The101.world เห็นว่าชอบวิเคราะห์คำต่างๆ ที่อยู่ในบริบทการเมืองโดยดูในเชิงปริมาณด้วย เช่นความเยอะของคำๆ นึง หรือคำไหนชอบอยู่คู่กับคำไหน เวลาดูเรื่องป้ายประท้วงมีข้อสังเกตอะไรที่เป็นเชิงปริมาณมั้ยคะ

อิสระ — มันเป็นภาษาพูดมากขึ้น เช่นการแทนเสียง การใช้คำที่ไม่เป็นทางการ สมัยก่อนต้องดูว่าป้ายที่มันอยู่ในการประท้วงหรือการชุมนุมมันอยู่ในตำแหน่งไหน เช่นในเชิงการออกแบบมันเป็นป้ายอะไร แบ็คดรอป ป้ายเดินขบวน ป้ายผ้า ผ้าคาดหัว พวกนี้ก็มักจะผลิตโดยผู้จัดการชุมนุม โดยมากก็สะท้อนประเด็นเรียกร้อง แต่ว่าปัจจุบันผู้ประท้วงต่างคนต่างทำก็มี แล้วก็ต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง พยายามให้มันเป็นส่วนตัวมากขึ้นทางการน้อยลง การเขียนไม่ต้องถูกต้องตามอักขระวิธี เช่นว้าย ถ้าตามระบบภาษาไทยต้องใช้ไม้โทแต่เขาเลือกใช้ไม้ตรีให้มันได้เสียงที่เขารู้สึกว่าตรงความรู้สึกมากกว่า

จั๊ก — ซึ่งในการประท้วงครั้งอื่นๆ มันเห็นไม่ชัดเท่ารอบนี้ใช่มั้ยคะ เช่นอย่างล่าสุด กปปส. เสื้อแดง

อิสระ — อันนี้มันไม่ใช่เรื่องภาษาอย่างเดียว นอกจากตัวภาษากับระบบเขียน มันก็สัมพันธ์กับสื่อด้วย การแชร์บนสื่อ โซเชียลมีเดียมันไม่มากขนาดนี้นะ ก่อนหน้านี้เสื้อแดงเสื้อเหลืองเขาก็ใช้แมสมีเดียกัน อย่าง Bluesky ASTV ดังนั้นก็จะเน้นความอลังการแบ็คดรอปใหญ่ แต่ตอนนี้ใช้มือถือกัน คอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก ก็ถ่ายทอดกันสดๆ เลยเป็นป้ายใครป้ายมันมากขึ้น มันคงไม่เวิร์กถ้าสิ่งเหล่านี้ไปปรากฏในแมสมีเดีย มันไม่ใช่ประเด็นเชิงวิชวลอย่างเดียวแต่เป็นประเด็นเรื่องสื่อแต่ละประเภทด้วย

จั๊ก — ตอนแรกยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงสนใจป้ายรุ่นใหม่ๆ แต่อย่างที่เมื่อกี้ได้ฟังก็น่าจะเพราะว่ามันเป็นปัจเจกมากกว่าในอดีต 

อิสระ — ความจริงมันก็ยังมีการรวมกลุ่ม แต่อยู่ในลักษณะของแฮชแท็ก มันก็ต้องถูกคิดขึ้นมาโดยฝ่ายผู้จัดทำ ผมลองเปิดดูที่คุณรวบรวมมาอยู่ มันก็เป็นชื่อของการชุมนุม แล้วมันค่อยถูกเอาไปทำเป็นป้ายอีกที ไม่ได้เป็นลักษณะผู้จัดตั้งเอาป้ายมาแจก อันนี้มันสะท้อนธรรมชาติของสื่อ ป้ายที่ถูกเขียนในสมัยนี้มันไม่ได้ต้องการเอามาชูอย่างเดียว มันต้องการให้ภาพกระจาย ใครเขียนปังกว่าก็ถูกแชร์มากกว่า ก็เหมือนเราทำสื่อส่วนตัว ทำไมคนถึงต้องพยายามทำให้ป้ายมันดูแตกต่างกัน คนรุ่นใหม่ไปชุมนุมเขาไปด้วยการแต่งกาย ไปด้วยพรอพที่มีความน่าสนใจ เพราะเขามองตัวเองเป็นสื่อสื่อหนึ่งด้วยเหมือนกัน

จั๊ก — มีจุดร่วมด้วยกันบางๆ ผ่านแฮชแท็กแล้วปล่อยให้คนมีอิสรภาพได้เต็มที่

อิสระ — แฮชแท็กมันสเกลอัพง่าย มันไม่ได้มากำหนดว่าคุณจะต้องใช้อักษรแบบศิลปากร ฟอนต์เดียวกัน สมัยแมสมีเดียมันอาจจะมีฟอนต์มาตรฐานให้ดูมีพลัง แต่ถึงข้อความจะหลากหลายมันก็ต้องมีประเด็นร่วมกันอยู่ เพราะถ้ามันไม่มีประเด็นร่วมกันเลยมันก็ไม่ใช่การชุมนุม ก็คล้ายกับโฆษณา ไม่ได้ตั้งใจให้ตลกแต่ต้องการขายของแล้วจะทำยังไงให้ขายได้ ถ้าไม่ตลกก็เรียกน้ำตา แต่เป้าหมายจริงๆ ของคุณไม่ใช่สิ่งนั้น คุณชุมนุมคุณก็อยากจะเรียกร้องนั่นแหละ แต่อีโมชั่นแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ชอบมันก็จะเป็นในทางนั้น

เอาเข้าจริงผมก็ไม่ค่อยเข้าใจมากเพราะรุ่นผมไม่ได้ใช้คำพูดเกรี้ยวกราด อย่าง 6 ตุลาฯ คุณลองไปดูป้ายเขาสิ เขาใช้คำใหญ่ๆ คำที่สื่อถึงอุดมการณ์ คำสำคัญๆ เช่น เผด็จการ เสรีภาพ อะไรพวกนี้ ไม่ตลกและซีเรียสแน่นอน ความเกรี้ยวกราดมันจะมีความเป็นนามธรรมไม่เป็นของบุคคล แต่เดี๋ยวนี้ความเกรี้ยวกราดของรุ่นใหม่เป็นคำผรุสวาท เป็นอารมณ์ส่วนตัว เป็นอันที่ผมไม่มีวัฒนธรรมร่วมเท่าไหร่ ให้ผมพูดผมพูดไม่ได้ เพราะมันเป็นอารมณ์ของยุคสมัยด้วยไง แต่ผมเห็นในเชิงระบบ ถ้าถามว่าสิ่งนี้คนทุกรุ่นอินมั้ย ก็ไม่นะ

จั๊ก — ถ้าอย่างคนที่เป็นผู้ใหญ่หน่อยก็จะไม่รู้สึกกับอะไรที่เป็นส่วนตัวมากใช่มั้ย?

อิสระ — การสื่อสารก็มีทาร์เก็ตอยู่แล้ว เป้าหมายหลักของเขาก็คงเป็นคนรุ่นเดียวกัน

ตัวอักษรหรือข้อความหรือลักษณะดีไซน์มันจะไปจับกับความรู้สึกแบบไหนเป็นอะไรที่ผมไม่ค่อยแม่นยำ แต่มันต้องมีแน่ๆ แนวโน้มมันก็คือเน้นความรู้สึกมากขึ้น การเมืองเป็นส่วนตัวมากขึ้น ถ้าเป็นตอนนี้คำที่ใช้ก็คงไอสัส ไอเหี้ย กี คำที่ไม่อยู่ในบริบททางการเมืองถูกนำมาใช้มากขึ้น

อารมณ์มันคือตัวนำพาเฉยๆ น่ะ ตัวนำพาทำให้เราตัดสินใจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง ผมดูเรื่องถ้อยคำและคอนเซปต์มากกว่าหน้าตา ผมจะเห็นว่าคอนเซปต์อะไรเน้น อะไรไม่เน้น ในเชิงการออกแบบอาจจะต้องไปดูว่าอารมณ์แบบไหนเยอะกว่า ยั่ว โกรธ โมโห หรือซาบซึ้ง

จั๊ก — อันนึงที่คิดว่าน่าสนใจ คือหลายๆ ครั้ง ป้ายที่เห็นกับน้ำเสียงมันขัดแย้งกันกับเนื้อหา เช่นคำว่าออกไปอีสัส แต่ว่าตัวอักษรหรือการออกแบบที่ใช้กลับเป็นสไตล์น่ารัก ทำให้ดูไม่ค่อยออกว่าคนพูดอยู่ในอารมณ์ไหน จั๊กเดาว่าคนอาจจะเลือกอย่างที่ชอบมากกว่า ไม่ได้เลือกแบบคนที่ถูกเทรนมาว่าต้องเลือกภาพให้ตรงกับน้ำเสียงหรือกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งป้ายในที่ประท้วงโดยมากก็อาจจะมาจากคนที่ไม่ใช่นักออกแบบ 

อิสระ — เราต้องดูอารมณ์โดยรวม ดูว่าสิ่งนี้สะท้อนอะไร สำหรับผมมันคือสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ไม่กลัวรึเปล่า ต่อให้เขียนข้อความที่มีโอกาสจะโดน 112 ก็เป็นไปได้ว่าจะเขียนด้วยสีพาลเทล นั่นก็เพราะกูไม่กลัวไง 

เมื่อก่อนที่ผมเป็นพยานในคดี 112 ก็จะเน้นไปที่การพิสูจน์ว่าข้อความนั้นไม่ได้เป็นความตั้งใจที่จะดูหมิ่น แต่เดี๋ยวนี้ท่าทีในการวิเคราะห์แบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะคนตั้งใจจะติดคุก คนไม่กลัว เขาตั้งใจใช้ข้อความแบบนั้น และหลายครั้งใช้สีพาสเทล อย่างคำว่าออกไปอีสัสบางทีก็สะกดเพื่อสื่อถึงอีกอย่างอย่างชัดเจน อันนี้เป็นอาวุธใหม่ คนรุ่นก่อนเขาคิดว่าไม่ติดคุกได้ก็ดี

สำหรับผมมันไม่คอนทราสต์กันแบบที่คุณมอง ผมมองว่าคงมีความรู้สึกอะไรบางอย่างร่วมกันในเชิงอารมณ์ ที่แน่ๆ คือยั่วล้อ เล่น ทำเรื่องที่น่ากลัวให้เป็นเรื่องไม่น่ากลัวเพราะเขาไม่กลัวจริงๆ ไง ผมตีความแบบนี้นะ มันอาจจะไม่ได้สะท้อนรสนิยมอย่างเดียว ผมคิดว่าการบ้านของคุณในฐานะคนที่สนใจเรื่องออกแบบคือมันมีอารมณ์อะไรโดยรวมบนป้ายเหล่านั้น ผมมองว่าอาจจะไม่ได้สะท้อนรสนิยมอย่างเดียว

จั๊ก  จริงๆ ตอนเก็บสะสมภาพมาดูก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าควรวิเคราะห์จากอะไร คุยกันแล้วได้คีย์เวิร์ดมาเยอะเลย

อิสระ — คุณเก็บมาแต่สามกีบรึเปล่า

จั๊ก ให้ไปเก็บอีกฝั่งด้วยใช่มั้ย?

อิสระ  ไม่ต้องเก็บมาเยอะ แต่เก็บมาเป็นเรฟเฟอร์เรนซ์เพื่อเทียบกัน เอามาทดสอบสมมติฐาน เช่นที่ผมเสนอว่าป้ายของสามกีบมีความปัจเจกใช่มั้ย ถ้าไปดูเทียบกับของฝั่งอนุรักษ์นิยม มันจะเป็นป้ายที่พิมพ์มา อาจจะตีความได้ว่า ป้ายพวกนี้ทำแจกแน่เลย มันอาจจะมีลักษณะที่รวมศูนย์ เพราะมีคนทำให้ ฟอนต์เดียวกัน ข้อความเดียวกัน มีความหลากหลายน้อยกว่า

จั๊ก — แอบกลัวว่าจะหามาได้ไม่เยอะเท่าสามกีบ เพราะไม่รู้จะไปหาจากไหน เพราะก็มักจะอยู่ในวงเอคโค่แชมเบอร์ของตัวเอง

อิสระ — ภาพข่าวก็ได้เพราะเราไม่ต้องการเยอะ เช่น เจอลายมือเยอะกว่ามั้ย รูปแบบของป้ายเป็นยังไง ถ้าเป็นแบบเก่าก็จะเป็นพวกแบนเนอร์ หรือข้อความที่สามกีบใช้ก็อาจจะสั้นๆ แชร์ง่ายๆ แต่ของฝั่งนั้นจะยาวๆ คุณไปหามาเพื่อทดสอบสมมติฐาน อย่างอันนี้ผมก็ตอบจากการสังเกตเหมือนกัน แต่การสังเกตมันยังไม่เป็นระบบ ก็ไม่แน่ใจว่าจะคิดเองเออเองมั้ย อย่างของสามกีบขี้เล่น ยั่วล้อ มีความปัจเจก หลากหลาย เราก็ต้องไปดูว่าอีกฝั่งมันมีลักษณะที่เหมือนกันหรือตรงกันข้าม แต่สมมติฐานก็คือตรงกันข้าม

[BOOKMARK MAGAZINE] ISSUE 11 — THE CLASSROOM IS BURNING

From Montika Kham-on <kmontika@gmail.com>
Date: Feb 11, 2022, 10:36 PM
Subject: The Classroom is Burning
To: Kantida (kantida@bangkokcitycity.com)

สวัสดีค่ะพี่แพรว

พี่แพรวยังคงจำหนังสือ Letters: The Classroom is Burning, let’s dream about a School of Improper Education ที่ให้เอิร์นเป็นของขวัญได้ไหมคะ มันเป็นเรื่องราวของตัวละครสามคนที่เขียนอีเมลเพื่อพูดคุยถกเถียงในประเด็นการศึกษา ทันทีที่เอิร์นอ่านจบ เอิร์นก็รีบร่างจดหมายนี้ขึ้นมาด้วยความตื่นเต้น เพราะรู้สึกว่าพวกเรานั้นไม่ต่างอะไรจากตัวละครในเรื่องราวนี้เลย

ในวันแรกที่เอิร์นรับสายจากพี่แพรวและเราแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นการศึกษา เอิร์นพรั่งพรูเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับประสบการณ์ในรั้วมหาลัยว่าเราทั้งโกรธ ทั้งผิดหวังแค่ไหน ไม่ต่างจากตัวละคร Sul ในหนังสือเล่มนี้ที่เขียนจดหมายถึงเพื่อนว่าเธอไม่ได้รับการตอบรับจากการสมัคร fellowship ด้วยน้ำเสียงเดียวกัน 

“มหาวิทยาลัยตายแล้ว”
นั้นคือคำที่จั่วหัวเรามาตลอด จนอาจคับคล้ายว่าเป็นคำสาปแช่งไปเสียแล้ว

เราฝังใจและเชื่อเหลือเกินว่าสถาบันการศึกษาไม่ใช่สถานที่ที่เราสามารถฝากความหวังได้อีกต่อไป ยิ่งเจอกับภาวะโรคระบาดเข้าไป กลายเป็นว่าการเรียนรู้ทุกอย่างถูกแช่แข็ง ทิ้งผู้เรียนอยู่ในสูญญากาศของความเวิ้งว้างนั้น เราจึงมุ่งหวังว่าการเปิดพื้นที่ของการพูดคุยแลกเปลี่ยนนี้จะช่วยละลายน้ำแข็งก้อนนั้นออกไปไม่มากก็น้อย

แต่แล้ว ความคิดเราก็เปลี่ยนไปเมื่อเราเริ่มได้พูดคุยกับผู้คน เราตระหนักรู้ได้มากขึ้นสถาบันการศึกษาในทุกที่ล้วนแต่มีข้อจำกัดของตัวเอง ครูผู้สอนไม่อาจรู้ทุกอย่าง กลับกัน การเรียนรู้นอกห้องเรียนต่างหากที่สามารถทลายข้อจำกัดที่มหาลัยไม่สามารถมีได้ เราจึงต้องรื้อถอนความคิดของตัวเองใหม่เกี่ยวกับคำว่าการศึกษา การเรียนรู้ในสถาบันมาตลอดสิบเจ็ดปีทำให้เราสูญเสียจินตนาการเกี่ยวกับการศึกษาในรูปแบบอื่นไปแล้ว อะไรคือการศึกษาบ้าง เรานึกถึงตัวอย่างในหนังสือที่เล่าถึง ครูชาวอินโดนีเซียให้เด็กนักเรียนของเขานั่งดูคลื่นเป็นชั่วโมงแล้วเขาจึงค่อยสั่งโจทย์ให้นักเรียนของเขาทำท่าทางตามคลื่น แบบนี้เราเรียกว่ามันเป็นการศึกษาได้ไหม? เพราะการศึกษาแท้จริงแล้วคือการเรียนรู้ และ ประโยคที่ว่า let’s dream about a School of Improper Education จึงเป็นชื่อเรื่องที่เหมาะสมที่สุด เพราะคำว่า improper หรือไม่เหมาะสม ในที่นี้ไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับเหมาะสม เป็นระเบียนแบบแผนของความเป็นสถาบัน แต่มันคือทางเลือกในการเรียนรู้อีกทาง และเป็นทางที่เราสามารถใช้วิพากษ์การศึกษาอันเป็นแบบแผนของสถาบันได้

และถ้าความเหมาะสมการศึกษานั้นคือการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยกฏระเบียบตามแบบแผนที่สถาบันกำหนดมาในหน้ากระดาษ การเรียนรู้จากคนที่เขาเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ (Master) ก็คงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเหมือนที่เราเลือกทำกับการพูดคุย podcast ในโปรเจกต์นี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการในการถกเถียงนั้นก็ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ไปเรียบร้อยแล้วกลายเป็นว่า process ของ podcast มันกลายเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของเอิร์น

และในฐานะคนที่ร่วมงานกับพี่แพรวมาเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากบทสนทนาของเราเกี่ยวกับโปรเจกต์พี่แพรว ช่วงเวลาว่าง ๆ พี่แพรวมักจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบทสนทนาของผู้คนที่เดินเข้ามาในร้านหนังสือ  ความพยายามเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนกับคนที่เข้ามาในพื้นที่ทุกคน ทุกเรื่องราวที่พูดคุยกันในที่แห่งนั้นล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ในความทรงจำของพี่แพรวเสมอมา และนั้นทำให้เอิร์นได้รู้ว่า พี่แพรวได้สร้างหลักสูตรการศึกษาของตัวเองขึ้นมาในชีวิตของตัวเองอยู่ในทุกๆ วันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เอิร์นยังคงจดจำน้ำเสียงตื่นเต้นและความตั้งใจของพี่แพรวได้เป็นอย่างดีว่าอยากจะถ่ายทอด ความสนใจ ความสุข ความทุกข์ ความหวัง ในบทสนทนาเหล่านั้นมากแค่ไหน 

เราเห็นคนคนหนึ่งที่เฝ้ามองการผ่านมาผ่านไปของผู้คนในร้านหนังสือ แต่จิตวิญญาณได้เดินทางต่อไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของผู้คน ชีวิตและการเรียนรู้ที่ไม่ได้แยกออกจากกัน เหมือนดั่งประโยคที่จริงที่สุดในหนังสือเล่มนี้ “There is no line between life and study.”

ด้วความคิดถึง,

เอิร์น

THE CLASSROOM IS BURNING EP.1 พูดคุยกับ อภิโชค จันทรเสน

ก่อนที่จะถึงวันนัดคุยกับผู้ที่ชวนมาร่วมสนทนาด้วยกันคนแรก เรารู้จักชื่อของพี่นทในฐานะนักเขียนบทความออนไลน์เกี่ยวกับภาพยนตร์ หนังสือ และเกมส์ ลงเว็บไซต์สื่อออนไลน์ทั้ง a day และ Filmclub จนได้มาเจอตัวจริงจากการออกบูธของหนังสือรายอิสระ IF WE BURN, ที่งานเทศกาลหนังสือศิลปะกรุงเทพฯ Bangkok Art Book Fair 2021 ในช่วงระยะเวลาการพูดคุยกันสั้นๆ ทำให้เราทราบเพิ่มเติมว่าชายผู้นี้เคยฝึกงานเป็นนักเขียนบทและทำงานอยู่ที่บริษัทผลิตภาพยนตร์ชื่อดัง เขาให้ความเห็นในเรื่องข้อจำกัดในการผลิตภาพยนตร์ไทย และนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ออกจากงานประจำแล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยหลังจากที่กลับมา นอกเหนือจากงานด้านกำกับและเขียนบทแล้ว เขายังมีบทบาทเป็นอาจารย์พิเศษ สอนในสถาบันเก่าที่ตัวเองจบการศึกษา ซึ่งการสลับบทบาทจุดนี้เองที่ทำให้รู้สึกว่าอยากจะถามคำถามกับคนผู้นี้ที่มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าทั้งในสายตาของผู้เรียนและผู้สอน

“เราไปรับรู้เรื่อง creative process ที่ต่างจากส่ิงที่คณะและเมืองไทยสนใจเลย จริงๆ ที่เราพูดถึงทีสิสว่าเป็นปราการด่านสุดท้ายของชีวิตนักศึกษา เป็นตัวอย่างที่ดีมากของระบบความคิดที่ไม่ได้คิดถึง creative process แต่คิดถึง end result คิดถึงงานชิ้นสุดท้าย ความซวยของคนทำงานครีเอทีฟส่วนนึงคือ เราทำงาน 100 ส่วน แต่สิ่งที่คนมาเห็นจริงๆ คือ 5 ส่วนในร้อยนั้น เขาไม่รู้หรอกว่าที่เหลือเราทำอะไรไปบ้าง เราเฆี่ยนตีตัวเองขนาดไหน แทนที่เราจะไปสนใจที่ final product เราลองมาสนใจที่ตัว process ระหว่างทางมั้ย ในตอนแรกที่เราพูดไปว่า ไม่มีใครไปแคร์อะ ซึ่งมันฟังดูแย่ แต่จริงในทางเดียวกัน มันก็ดีเพราะมันไม่มีใครแคร์ไงว่าในระหว่างนี้เราไปเละเทะอะไรยังไงแค่ไหน หรือทำในที่คนอื่นคิดว่าเละแต่จริงๆ มันคือ process ของเรา”— อภิโชค จันทรเสน

THE CLASSROOM IS BURNING EP.2 พูดคุยกับ ณฐพล บุญประกอบ 

 ถ้าให้ลองนึกดูว่ามีใครเล่าถึงประสบการณ์การไปเรียนต่างประเทศด้วยอารมณ์เฟลบ้าง ส่วนตัวเราจะนึกถึงพี่ไก่ เพราะนั่นคือหนึ่งในส่ิงที่ได้จากการไปนั่งฟังวงสนทนา “ห้องเรียน(หนัง)ในฝัน” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วในหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ หลังการฉายภาพยนตร์สารคดีโดย Documentary Club เรื่อง The Graduation (2559) สารคดีว่าด้วยเรื่องราวการคัดเลือกคนเข้าเรียนของสถาบันลา เฟมีส (ฝรั่งเศส) ตัวพี่ไก่กับการเรียนจึงเป็นภาพจำในหัวมาตลอดแทนที่จะเป็นไก่กับสารคดี หรือไก่กับอื่นๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อวาร์ปมาถึงจุดที่กำลังปั้นโปรเจกต์ THE CLASSROOM IS BURNING ชื่อของเขาจึงอยู่ในลิสต์โดยเราและเอิร์นเห็นพ้องต้องกันว่าไม่สามารถขาดคนนี้ไปได้

“เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่ได้จากการทำสารคดีคือ process ในการจับมือและปล่อยมือ มันคือการ กูมีเป้าแบบนี้ แต่ พอกูไปเจอสิ่งที่แม่งเป็นหัวใจสำคัญ หรือเป็นสิ่งที่น่าสนใจจริง ๆ เราต้องยอมปล่อยมือจากส่ิงที่เราทำมาทั้งหมด ฟุตเทจที่ถ่ายมา 100 ชั่วโมงทิ้งหมด แม่งเป็นเรื่องปกติมากในการทำสารคดี แล้วเราว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่กล้า แล้วก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่กูลงทุนไปแล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่สเตปนึงน่ะ ในการพาเราไปสู่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ที่ซ่อนอยู่ในสเตปนั้น ชอบเปรียบเทียบมันคือเหมือนทาร์ซานโหนเถาวัลย์ คือต้องยอมปล่อยมือจากเถาวัลย์แรกเพื่อไปต้นที่สองให้ได้ ไม่งั้นก็โหนอยู่กับที่” — ณฐพล บุญประกอบ

THE CLASSROOM IS BURNING EP.3 พูดคุยกับ Dude, Movie

ในภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง High & Low: The Worst จะมีฉากที่คุณลุงเจ้าของบริษัทผู้รับเหมา พูดกับตัวละครหลักคนนึงที่เข้ามาทำงานพิเศษว่า “เลิกทำตัวเป็นเด็กแล้วรีบโตเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว เด็กๆ ได้แค่วาดฝันก็จบ ผู้ใหญ่สามารถทำให้ฝันเป็นจริงได้” แม้จะมีเนื้อเรื่องที่ว่าด้วยเรื่องการค้นหาตัวตนผ่านกำปั้นของเหล่าเด็กชาย แต่สปิริทของช่วงวัยนั้นถูกใจเรามาก ซึ่งตอนที่ได้เห็นโพสท์อัพเดทโปรแกรมฉายหนัง Dude, French Film Week ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง หรือจะเป็นตอนที่คุยทีม ไม่ว่าจะผ่านหน้าจอ ได้เจอกันตัวเป็นๆ มันทำให้นึกถึงประโยคนี้ของคุณลุงขึ้นมาบ่อยครั้ง ‘ผู้ใหญ่’ สำหรับเราไม่ได้หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตบนโลกนี้มานานกว่า แต่เป็นคนที่พร้อมจะรับความเสี่ยงและรับผิดชอบในการกระทำของตัวเองเสมอ  

“เรามองว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการทำคอมมูนิตี้หรือว่าการเกิดขึ้นของคอลเลกทีฟคือ การหาคนที่แบบ ‘เชี้ย มึงคิดเหมือนกูหรอวะ’ ให้เข้ามาจอย ให้เข้ามาทำงาน บรรยากาศของคอลเลกทีฟมันอาจจะเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปอย่างตลอดเวลา เราสนใจว่ากระบวนการอะไรที่ทำให้คนมาอยู่ร่วมกันแล้วมันแข็งแรงแล้วก็อยู่ได้นาน ซึ่งถ้าในอนาคตเราว่า ถ้าปัญหามันยังคงอยู่ การขับเคลื่อนแบบเป็นคอลเลกทีฟมันอิมแพคกว่าขับเคลื่อนอย่างโดดเดี่ยว เสียงหนึ่งอะเนอะถ้ายิ่งมันเยอะเท่าไหร่แล้ว มีเดียมของมันที่จะใช้ มันยิ่งมากขึ้น เรารู้สึกว่าคอลเลกทีฟพอมันเห็นผลว่า ‘เออว่ะ กลุ่มนี้ทำเรื่องนี้แล้วมันเรียกร้องได้จริง’ แสดงว่าอีกกลุ่มหนึ่งก็จะยิ่งหาคน ยิ่งหาทีมมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนั้นๆ ต่อไป”— Dude, Movie